วันพฤหัสบดีที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2566

อวิชชาพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่ามีวิจิกิจฉาเป็นศีรษะ

 

อวิชชาพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่ามีวิจิกิจฉาเป็นศีรษะ

จริงอยู่ ความมืดมน ความหลงลืม และโอฆะ (กิเลสที่ท่วมทับจิตใจของหมู่สัตว์) คืออวิชชา จัดเป็นภัยใหญ่  เพราะเหตุนั้น อวิชชา จึงชื่อว่าตมะ (ความมืด, ความเศร้าหมอง, ความเขลา)  ตมะ (ความมืด) พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่ามีวิจิกิจฉา (ความเคลือบแคลงสงสัย) เป็นศีรษะ

ดังพระบาลีว่า

ตมนิทฺเทเส วิจิกิจฺฉาสีเสน อวิชฺชา กถิตา ฯ  "ตมนฺธกาโร, สมฺโมโห, อวิชฺโชโฆ มหพฺภโย"ติ วจนโต หิ อวิชฺชา ตโม นาม  ฯ

แปลว่า

“อวิชชาพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยความมีวิจิกิจฉาเป็นศีรษะ ฯ จริงอยู่ เพราะพระบาลีว่า “ความมืดมน ความหลงลืม โอฆะคืออวิชชา เป็นภัยใหญ่ ดังนี้ เพราะเหตุนั้น อวิชชา จึงชื่อว่าตมะ ฯ

เพราะฉะนั้น จงตัดความเคลือบแคลงสงสัย ๘ ประการต่อไปนี้ ออกจากจิตใจเสียเถิด คือ

๑. สงสัยในพระพุทธเจ้า (ว่าพระพุทธเจ้ามีตัวตนจริงหรือ พระพุทธเจ้ามีพระพุทธคุณจริงหรือ)

๒. สงสัยในพระธรรม (ว่ามรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ มีจริงหรือ พระธรรมนี้จะนำให้ออกจากทุกข์ได้จริงหรือ)

๓. สงสัยในพระสงฆ์ (ว่าพระอริยสงฆ์มีจริงหรือ ผลแห่งทานที่ถวายแก่พระสงฆ์มีจริงหรือ)

๔. สงสัยในสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา ว่ามีจริงหรือ ผลานิสงส์แห่งการศึกษาปฏิบัติในสิกขา ๓ นี้มีจริงหรือ)

๕. สงสัยในขันธ์ที่เป็นอดีต (สงสัยชาติที่แล้วมีจริงหรือ)

๖. สงสัยในขันธ์ที่เป็นอนาคต (สงสัยว่าชาติหน้ามีจริงหรือ)

๗. สงสัยในขันธ์ที่เป็นอดีตและอนาคต (สงสัยว่าชาติที่แล้วและชาติหน้ามีจริงหรือ)

๘. สงสัยในปฏิจจสมุปบาท (ธรรมที่เป็นเหตุเป็นผลอาศัยกันเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไปโดยไม่ขาดสายเลยนั้นมีจริงหรือ)

สาระธรรมจากอรรถกถา วิภังคปกรณ์ ขุททกวัตถุวิภังค์ ติกนิเทศ (ตมนิทเทส)

พระมหาวัชระ เชยรัมย์ (ติกฺขญาโณ) วัดสามพระยา กรุงเทพ ฯ

    


ใจคนพาล

ใจคนพาล

ตปฺปเต  ยาติ  สมฺพนฺธํ,    ทฺรวํ  ภวตฺยวนตํ;
มุทุ ​ ทุชฺชนจิตฺตํ  น,    กึ  โลเหน  ปมียเต.

แผ่นเหล็กถูกเผา ถึงความเหลวละลาย,  กลายเป็นวัสดุคดงอได้
ส่วนใจของคนพาลไม่เคยอ่อนเลย   จะเปรียบกับเหล็กได้อย่างไรเล่า.

(ธรรมนีติ ทุชชนกถา ๑๒๔, มหารหนีติ ๑๓๐)

ศัพท์น่ารู้ :

ตปฺปเต (เผา, ไหม้, ส่องแสง, เดือนร้อน, ถูกทรมาน; อิ่มใจ, ยินดี) √ตป+ย+เต ทิวาทิคณะ กัตตุวาจก ในที่นี้ควรแปลเป็น กัมมวาจก „ถูกเผา“

ยาติ (ถึง, ไป) √ยา+อ+ติ ภูวาทิ. กัตตุ.

สมฺพนฺธํ (ความเกี่ยวเนื่อง, ความผูกพันธ์กัน, ท่อนเหล็ก, เหล็กพืด) สํ+พนฺธ > สมฺพนฺธ+สิ ส่วนในมหารหนีติ เป็น สนฺธานํ แปลเหมือนกัน สนฺธาน เป็น นปุงสกลิงค์ แต่ สมฺพนฺธ โดยมากเป็น ปุงลิงค์

ทฺรวํ (ของเหลว, ละลาย) ทฺรว+อํ เป็นกรรมใน ยาติ แต่ถ้าเอาเป็นวิกัตตาใน ภวติ ต้องเป็น ทฺรว+สิ. อนึ่ง ศัพท์นี้บังเอิญไปค้นเจอในอภิธานัปปทีปิกา คาถาที่ ๘๐๔. ในมหารหนีติ เป็น ทโว.

ภวตฺยวนตํ ตัดบทเป็น ภวติ+อวนตํ (ย่อมเป็น+คดงอ, น้อมเอียง)

มุทุ (อ่อน, นุ่ม, อ่อนโยน) มุทุ+สิ

ทุชฺชนจิตฺตํ (จิตของทุรชน, ใจของคนชั่ว) ทุชฺชน+จิตฺต > ทุชฺชนจิตฺต+สิ

น (ไม่, หามิได้) นิบาตบอกปฏิเสธ

กึ (อะไร, หรือ) นิบอกบอคำถาม

โลเหน (เหล็ก, โลหะ) โลห+นา แปลง นา วิภัตติเป็น เอน

ปมียเต (ถูกประมาณ, ถูกนับ, ถูกอุปมา) ป+√มา+ย+เต > ภูวาทิ. กัมม. ในมหารหนีติ เป็น อุปมียเต.

ส่วนในมหารหนีติ คาถา ๑๓๐ มีข้อความคล้ายกัน ดังนี้

ตปฺปเต  ยาติ  สนฺธานํ,   ทโว  ภวติวนตํ;

มุทุํ  ทุชฺชนจิตฺตํ  กึ,    โลเหน  อุปมียเตฯ

แผ่นเหล็กถูกความร้อนเผาย่อมถึงความอ่อนได้ และย่อมกลายสภาพที่คดงอได้

ส่วนใจคนพาลไม่เคยอ่อนเลย   จะเอาเหล็กเทียบกันได้อย่างไรเล่า.

อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้

เหล็กพืดถูกเผาร้อนเข้ายังอ่อนไปได้ แต่ใจของ

ทุรชนไม่มีอ่อนเลย ดั่งฤาจะเอาเหล็กเข้ามาเปรียบ.

อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้...

เหล็กพืด ถูกร้อนเข้ายังอ่อนได้  แต่ใจทรชนไม่มีอ่อนเลย  

จะเอาเหล็กมาเปรียบได้แลหรือ.

_______

Credit: Palipage: Guide to Language - Pali

อ่านบทความเกี่ยวข้องเพิ่มเติม👉 เห็นผิดเป็นพาล , คนพาลสำคัญผิด , ลบรอยบาป , ลักษณะคนโง่ , ลักษณะคนเลว , ใจคนชั่ว ,  หม้อน้ำพร่อง , ขัดสีถ่าน , บัณฑิตตกต่ำ , คุณของคนพาล , ว่าเขาเป็นเสียเอง , คนชอบหาเรื่อง

1. อาจริยกถา แถลงอาจารย์ , 2. สิปปกถา - แถลงศิลปะ  , 3. ปัญญากถา - แถลงปัญญา , 4. สุตกถา - แถลงความรู้ , 5. กถากถา - แถลงถ้อยคำ , 6. ธนกถา - แถลงทรัพย์ , 7. เทสกถา - แถลงประเทศ , 8. นิสสยกถา - แถลงนิสัย , ๙. มิตตกถา - แถลงมิตร