วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เห็นอย่างบัณฑิต

เห็นอย่างบัณฑิต

ปรทารํ  ชเนตฺตึว,    เลฑฺฑุํว  ปรสนฺตกํ;
อตฺตาว  สพฺพสตฺตานํ,    โย  ปสฺสติ  ส  ปณฺฑิโต.

ผู้ใดเห็นเมียคนอื่นเป็นเหมือนแม่ผู้ให้กำเนิด   เห็นทรัพย์สมบัติผู้อื่นเป็นเหมือนก้อนดิน   และเห็นสัตว์ทั้งปวงเป็นเหมือนตนเอง   ผู้นั้น ชื่อว่า เป็นบัณฑิต.

(ธรรมนีติ ปัญญากถา ๕๖, มหารหนีติ ๕๘)

ศัพท์น่ารู้ :

ปรทารํ (ทาระของผู้อื่น, ภริยาคนอื่น) ปร+ทาร > ปรทาร+อํ

ชเนตฺตึว ตัดบทเป็น ชเนตฺตึ+อิว (ดุจว่าเป็นมารดา, แม่, ผู้ให้กำเนิด) ชเนตฺตี (หญิงผู้ยังบุตรให้เกิด, แม่) ชเนตฺตี+อํ = ชเนตฺตึ, ส่วน อิว ศัพท์เป็นนิบาตบอกอุปมา แปลว่า ดุจ, เหมือน, เพียงดัง.

เลฑฺฑุํว ตัดบทเป็น เลฑฺฑุํ+อิว (ดุจก้อนดิน), เลฑฺฑุ+อํ = เลฑฺฑุํ

ปรสนฺตกํ (ทรัพย์ของผู้อื่น, สมบัติของคนอื่น) ปร+สนฺตก > ปรสนฺตก+อํ

อตฺตาว ตัดบทเป็น อตฺตา+อิว (ดุจว่าตน, เสมือนตัวเอง) อตฺตา ศัพท์นี้ในปทรูปสิทธิ เป็นปฐมา. และอาลปนะ. เอกพจน์, ในหมวดทุติยา. เอกพจน์ มีรูปเป็น อตฺตํ, อตฺตานํ เป็นไปได้ไหมว่า อตฺตาว อาจตัดบทเป็น อตฺตํ+อิว, หรือเขียนได้อีกว่า อตฺตํว จะได้ไหม? ฝากผู้ช่วยกันคิดและเทียบหลักการกันดูนะครับ.

สพฺพสตฺตานํ (สรรพสัตว์ ท.) สพฺพ+สตฺต > สพฺพสตฺต+นํ คิดเอาง่าย ๆ ว่า คงจะสัมพันธ์ฉัฏฐีวิภัตติเป็นกรรม. ส่วนในมหารหนีติ เป็น สพฺพภูตานิ ถือว่าเหมาะสมดีกว่า.

โย (ใด) ย+สิ สัพพนาม

ปสฺสติ (ย่อมเห็น, ย่อมมอง) √ทิส+อ+ติ ภูวาทิ. กัตตุ.

ส = โส (นั้น) ต+สิ > โส สัพพนาม เป็นพยัญชนะสนธิ ลบสระโอ และลง อ อาคม & โลปญฺจ ตตฺรากาโร. (๓๙)

ปณฺฑิโต (บัณฑิต, ผู้มีปัญญา) ปณฺฑิต+สิ

อีกสำนวนหนึ่งจาก โลกนีติไตรพากย์ ของ เสฐียรโกเศศ-นาคประทีป ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้

ผู้ใดเห็นภริยคนอื่นเสมือนแม่บังเกิดเกล้า  แลเห็นสมบัติผู้อื่นเสมือนก้อนดิน เห็นสรรพสัตว์เสมือนหนึ่งตนเอง ผู้นั้นเป็นบัณฑิต.

อีกสำนวนหนึ่ง จากราชนีติ ธรรมนีติ โดย นายทอง หงศ์ลดารมภ์ (มหากิม) ท่านแปลไว้น่าฟัง ดังนี้...

ผู้ใดเห็นภริยาคนอื่น เหมือนแม่บังเกิดเกล้า  เห็นสมบัติผู้อื่นเหมือนก้อนดิน และเห็นสัตว์อื่นเท่ากับตน ผู้นั้นแลเป็นบัณฑิต.

Credit: Palipage: Guide to Language - Pali 

4. สุตกถา - แถลงความรู้ , ๓. ปัญญากถา - แถลงปัญญา 👇   

57. ผู้มิใช่บัณฑิต, 56. เห็นอย่างบัณฑิต, 55. ความลับของบัณฑิต, 54. ชนที่ไม่ควรถือโทษ, 53. สภาที่ไม่เป็นสภา, 52. บัณฑิต ๓ ประเภท51. บุตร ๓ จำพวก, 50. แกล้งเป็นจะเห็นธรรม, 49. ดูฟังอย่างปราชญ์, 48. วิถีของนักปราชญ์, 47. ผู้นี้เป็นบัณฑิตได้ฤา, 46. บัณฑิตกับคนพาล, 45. พูดเล่นอาจเป็นจริง, 44. คบคนดีย่อมมีผล43. คนชอบพูดแต่ส่วนดี, 42. นักปราชญ์ก็เศร้าหมองได้41. ไม่มีใครสมบูรณ์ทุกอย่าง, 40. สิ่งบัณฑิตไม่ควรดูหมิ่น, 39. บัณฑิตธรรม ๓ ประการ, 38. ลักษณะของบัณฑิต,  37. สรีระกับคุณความดี, 36. ควรฝึกตนเองก่อน, 35. คำชมที่ควรชัง, 34. พระราชากับนักปราชญ์, 33. รู้อย่างบัณฑิต, 32.  ประโยชน์ ๒ อย่าง, 31. ธรรมของบัณฑิต ๗ อย่าง30. สิ่งที่ควรละเว้น ๑๑ อย่าง, 29. เมื่อบัณฑิตเห็นภัย28. ฟังเป็นเห็นสุขคาถากาสลัก  จะ ภะ กะ สะ

1. อาจริยกถา แถลงอาจารย์ ,  2. สิปปกถา - แถลงศิลปะ ,  ๓. ปัญญากถา - แถลงปัญญา ,  4. สุตกถา - แถลงความรู้,  5. กถากถา - แถลงถ้อยคำ ,  6. ธนกถา - แถลงทรัพย์ , 7. เทสกถา - แถลงประเทศ


ภาพ :  นักรบตะวันออก

พระมหาเจดีย์ศรีเวียงชัย จ.ลำพูน

วัดมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย ตามตำนานเล่ากันว่า ก่อนเกิดการสร้างพระมหาเจดีย์ศรีเวียงชัยที่วัดแห่งนี้ หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา ได้พบมูลโคขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในสมัยที่ทรงมาใช้ชาติเป็นโคพระโพธิสัตว์ และมูลโคนี้ได้กลายสภาพเป็นพระบรมธาตุ หลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา จึงมีความตั้งใจที่จะสร้างพระมหาเจดีย์ครอบทับไว้ ณ สถานที่แห่งนี้ ด้วยเกรงว่าต่อไปในภายภาคหน้า หากไม่ทำอะไรสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้จะมีชาวบ้านมาสร้างบ้านเรือนเพื่ออาศัยอยู่ด้วยความไม่รู้ จึงเกิดเป็นวัดแห่งนี้ขึ้น

วัดมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย ภายในโดดเด่นสง่างามด้วย พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยสีทอง ตั้งเด่นตระหง่าน จนสามารถเห็นได้แต่ไกลทางหน้าทางเข้าวัด พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยนี้ มีรูปทรงคล้ายชเวดากองจำลอง ถือเป็นสถาปัตยกรรมทางพระพุทธศาสนาศิลปะล้านนาที่สร้างด้วยศิลาแลงมีขนาดฐานกว้าง เท่ากับ 1 ไร่ และมีความสูง 64.39 เมตร โดยหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนาเป็นผู้ริเริ่มให้มีการออกแบบและสร้างเพื่อเป็นพุทธเจดีย์ของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ อันจะเป็นพุทธเจดีย์ของภัทรกัป ให้ลูกหลานคนไทยได้กราบไหว้เป็นแห่งแรกของประเทศไทยและเป็นแห่งที่ 2 ของโลก

ที่มา : https://www.lamphun.go.th/




Previous Post
Next Post

0 comments: