วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

พระศาสนาห้าพันปี (๑)

พระศาสนาห้าพันปี (๑)

ศาสนาของพระพุทธโคดม-คือพระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้-เป็นที่เข้าใจกันว่า จะมีอายุยืนยาวอยู่ได้ ๕,๐๐๐ ปี

นักนิยมการถกเถียงได้เถียงและถกกันมานานแล้วว่า ตัวเลข “๕,๐๐๐ ปี” เอามาจากไหน ใครว่า เป็นพระพุทธพจน์หรือเปล่า หรือว่าพูดกันไปคิดกันไปเอง

ญาติมิตรที่สนใจประเด็นนี้ ขอแนะนำให้ถอยไปตั้งหลักที่ “ครุธรรมของภิกษุณี” ตรงนั้นมีต้นเรื่องอันเป็นพระพุทธพจน์ (ศึกษาได้ที่ ภิกขุนีขันธกะ วินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๗ ข้อ ๕๑๘) เจอต้นเรื่องแล้ว ต่อจากนั้นจะแตกแขนงไปที่ไหนๆ อีก ก็คงตามไปได้ไม่ยาก 

ที่จะว่าต่อไปนี้ ขออนุญาตไม่ร่วมถกเถียงด้วยในประเด็นนั้น

ที่ว่าพระพุทธศาสนาจะมีอายุยืนยาวอยู่ได้ ๕,๐๐๐ ปีนั้น เราส่วนมากก็จะวาดภาพรวมๆ ว่า นับจากนี้ไปอีกประมาณ ๒,๕๐๐ ปี โลกก็จะไม่รู้จักพระพุทธศาสนา 

ภาพสุดท้ายที่ท่านบรรยายไว้คือ ผู้ที่ได้นามว่า “ภิกษุ” รูปสุดท้ายถอดผ้ากาสาวะออกจากกายแล้วครองเพศคฤหัสถ์ อันเป็น “ลิงคอันตรธาน” คือการสูญสิ้นอวสานแห่งเพศสงฆ์ และคือการสูญสิ้นอวสานแห่งพระพุทธศาสนาด้วย

ภาพแรกและภาพสุดท้าย เห็นชัด

แต่ภาพในระหว่างกลางๆ กว่าจะไปถึงภาพสุดท้าย ผมว่าเราไม่ค่อยสนใจที่จะคิดคำนึงกันเท่าไรนัก   ทั้งๆ ที่เราท่านในทุกวันนี้กำลังเป็นตัวแสดงอยู่ในภาพระหว่างกลางๆ ที่ว่านั้น

ถ้าจะลองจับตาดูเฉพาะจุด จุดที่ควรพิจารณาเป็นตัวอย่างซึ่งจะช่วยให้มองเห็นภาพในอนาคตได้ชัดขึ้นก็น่าจะเป็น “วิถีชีวิตสงฆ์” ซึ่งเป็นภาพตัวแทนแห่งพระพุทธศาสนาที่เด่นชัดกว่าจุดอื่น

วิถีชีวิตสงฆ์มีเรื่องสำคัญอยู่ ๒ เรื่องเท่านั้น คือ ๑ เรื่องที่ห้ามทำ และ ๒ เรื่องที่ต้องทำ

เรื่องที่ห้ามทำ พระสงฆ์ไปทำเข้า ก็เสีย   เรื่องที่ต้องทำ พระสงฆ์ไม่ทำ ก็เสีย

ปัญหาที่ถกเถียงคาใจกันมากก็คือ พระทำอย่างนี้ได้หรือ พระทำอย่างนี้ไม่ผิดหรือ (ซึ่งอันที่จริงควรจะพูดในภาพรวมกว้างๆ ว่า-ชาวพุทธทำอย่างนี้ได้หรือ ชาวพุทธทำอย่างนี้ไม่ผิดหรือ) อันเป็นเรื่องในข้อแรก-เรื่องที่ห้ามทำ

แต่ที่เราแทบจะไม่ได้สนใจกันเลยก็คือ คำถามที่ควรจะถามกันว่า เป็นพระไม่ต้องทำเรื่องนี้ก็ได้หรือ กิจข้อนี้พระไม่ทำ ไม่เป็นการบกพร่องไปดอกหรือ

ตัวอย่างที่เห็นง่ายที่สุด -

(๑) อุโบสถสังฆกรรม คือ การประชุมฟังพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน พระไม่ต้องทำก็ได้หรือ?

(๒) ทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น พระไม่ทำ ไม่เป็นการบกพร่องไปดอกหรือ?

เรื่องสำคัญมาก-อันที่จริงสำคัญที่สุด-คือ แทบจะไม่มีมีใครสนใจไต่ถามว่า พระภิกษุสามเณรไม่ศึกษาพระธรรมวินัยในชีวิตประจำวัน ไม่เป็นการบกพร่องไปดอกหรือ? (และนี่ก็เช่นกัน ควรจะเพิ่มจาก “พระภิกษุสามเณร” เป็น “ชาวพุทธ” ด้วย)

“ศึกษาพระธรรมวินัย” ในที่นี้หมายถึงศึกษาเพื่อให้ได้ความรู้ที่ถูกต้อง แล้วเอาความรู้นั้นมาปฏิบัติให้ถูกต้อง แล้วเอาความรู้และข้อปฏิบัตินั้นไปบอกกล่าวเผยแผ่ให้แพร่หลายต่อไป

ปัญหาที่ว่า-พระทำอย่างนี้ได้หรือ พระทำอย่างนี้ไม่ผิดหรือ ที่เกิดขึ้นคาใจอยู่ทุกวันนี้ รากเหง้าก็มาจากการไม่ศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจถูกต้องนั่นเอง

เมื่อไม่เรียน ก็ไม่รู้

เมื่อไม่รู้ ก็เอาความคิดความเข้าใจของตัวเองนำหน้า

สิ่งที่ห้ามทำ ไปทำเข้า ก็ช่วยกันอ้างว่าทำได้ ไม่ผิด ผิดก็เป็นเรื่องเล็กน้อย   

สิ่งที่ต้องทำ ละเลยเสีย ไม่ทำ ก็ช่วยกันอ้างว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ ไม่ทำก็ไม่เป็นไร

เมื่อคิดอย่างนี้เป็นอย่างนี้กันมากเข้า ในที่สุดก็ตกผลึก เกิดเป็นแนวคิดว่า 

๑ อย่าเกณฑ์ให้พระเณรไปนิพพานกันหมดเลย ให้ท่านอยู่ช่วยสังคมกันมั่งเถิด

๒ พระเณรทุกวันนี้เป็นปุถุชนทั้งนั้น จะให้ท่านปฏิบัติเหมือนพระอริยะได้หรือ เอาแค่พอให้มีพระเฝ้าวัด มีพระไว้ให้ญาติโยมทำบุญก็พอแล้ว จะเอาอะไรกันนักกันหนา

แนวคิดแบบนี้ นับวันจะมีผู้เห็นดีเห็นด้วยมากขึ้นเรื่อยๆ

หยุดไว้ตรงนี้ก่อน 

ขอเชิญไปดูคำบรรยายสภาพความเสื่อมหรืออันตรธานของพระศาสนาตอนหนึ่งในพระไตรปิฎก

ภวิสฺสนฺติ  โข  ปนานนฺท  อนาคตมทฺธานํ  โคตฺรภุโน  กาสาวกณฺฐา  ทุสฺสีลา  ปาปธมฺมา  เตสุ  ทุสฺสีเลสุ  สงฺฆํ  อุทฺทิสฺส  ทานํ   ทสฺสนฺติ,

ดูก่อนอานนท์ ก็ในอนาคตกาลจักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภู มีผ้ากาสาวะพันคอ เป็นคนทุศีล หยาบช้า คนทั้งหลายจักถวายทานอุทิศถึงสงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น

ตทาปหํ  อานนฺท  สงฺฆคตํ  ทกฺขิณํ  อสงฺเขยฺยํ  อปฺปเมยฺยํ  วทามิ  น  เตฺววาหํ  อานนฺท  เกนจิ  ปริยาเยน  สงฺฆคตาย  ทกฺขิณาย  ปาฏิปุคฺคลิกทานํ  มหปฺผลตรํ  วทามิ  ฯ

ดูก่อนอานนท์ ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้ในเวลานั้นเราก็กล่าวว่ามีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แต่เราไม่กล่าวปาฏิบุคลิกทานว่ามีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์โดยปริยายไรๆ เลย

ที่มา: ทักขิณาวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ 

พระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ ข้อ ๗๑๓

อรรถกถาบรรยายขยายความไว้ดังนี้ -

โคตฺรภุโนติ  โคตฺตมตฺตกเมว  อนุภวมานา  นามมตฺตสมณาติ  อตฺโถ  ฯ   คำว่า โคตฺรภุโน (เหล่าภิกษุโคตรภู) หมายถึง เพียงแต่ได้รับการยอมรับว่าอยู่ในคณะสงฆ์ คือเป็นสมณะแต่ชื่อ.

กาสาวกณฺฐาติ  กาสาวกณฺฐนามกา  ฯ    คำว่า กาสาวกณฺฐา คือได้ชื่อว่า พวกกาสาวกัณฐะ (แปลว่า “มีผ้ากาสาวะพันคอ”).

เต  กิร  เอกํ  กาสาวกฺขณฺฑํ  หตฺเถ  วา  คีวาย  วา  พนฺธิตฺวา  วิจริสฺสนฺติ  ฯ    ได้ยินว่าภิกษุเหล่านั้นไปไหนมาไหนก็ผูกผ้ากาสาวะผืนหนึ่งไว้ที่มือหรือที่คอ (เป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าเป็นภิกษุ).

ฆรทฺวารํ  ปน  เตสํ  ปุตฺตภริยากสิวณิชฺชาทิกมฺมานิ  จ  ปากติกาเนว  ภวิสฺสนฺติ  ฯ    ทว่าภิกษุเหล่านั้นมีบ้านเรือน มีบุตรภรรยา มีการประกอบอาชีพ เช่นทำไร่ทำนาค้าขายเหมือนชาวบ้านปกติทั่วไป 

ที่มา: ปปัญจสูทนี ภาค ๓ หน้า ๘๖๒ (อรรถกถาทักขิณาวิภังคสูตร)

ผมจงใจยกคำบาลีมากำกับไว้ด้วย เพื่อให้ญาติมิตรได้คุ้นกับคำบาลี ท่านที่ไม่สะดวกจะอ่าน โปรดข้ามไป ส่วนท่านที่อ่าน ขอแนะนำให้ตั้งความรู้สึก-เหมือนท่านกำลังสวดมนต์ จิตจะได้เป็นกุศลเพิ่มขึ้น

ตอนหน้า มาดูกันว่า สภาพที่บรรยายไว้ในพระบาลีและอรรถกถาที่ยกมานี้มาเกี่ยวอะไรกับสภาพที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบัน 

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย ,  ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ,  ๑๘:๓๑

พระศาสนาห้าพันปี (๑) พระศาสนาห้าพันปี (๒)



Previous Post
Next Post

0 comments: