วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564

เป็นเหมือน “หมาขี้เรื้อน” มีความเห็นผิด จะอยู่ที่ไหนๆ ประเทศไหนๆ ก็ไม่สบาย

เป็นเหมือน “หมาขี้เรื้อน” มีความเห็นผิด จะอยู่ที่ไหนๆ ประเทศไหนๆ ก็ไม่สบาย

…. “ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย! ท่านเห็นไหมว่า เมื่อตอนเย็นวันนี้ หมาป่าตัวหนึ่งมันเดินอยู่ที่นี่ เห็นไหม? มันจะยืนอยู่มันก็เป็นทุกข์ มันจะวิ่งไปมันก็เป็นทุกข์ มันจะนั่งอยู่ก็เป็นทุกข์ มันจะนอนอยู่ก็เป็นทุกข์ เข้าไปในโพรงไม้มันก็เป็นทุกข์ จะเข้าไปอยู่ในถ้ำก็ไม่สบาย มันก็เป็นทุกข์

…. เพราะมันเห็นว่า..การยืนอยู่นี้ ไม่ดี, การนั่งไม่ดี, การนอนไม่ดี, พุ่มไม้นี้ไม่ดี, โพรงไม้นี้ไม่ดี, ถ้ำนี้ไม่ดี, มันก็วิ่งอยู่ตลอดเวลา นั้น

…. ความจริง! หมาป่าตัวนั้น..“มันเป็นขี้เรือน” มันไม่ใช่เป็นเพราะพุ่มไม้ หรือโพรงไม้ หรือถ้ำ หรือการยืน การเดิน การนั่ง การนอน มันไม่สบายเพราะมันเป็นขี้เรื้อน

…. ภิกษุทั้งหลาย นี้ก็เหมือนกัน ความไม่สบายนั้นคือ “ความเห็นผิด” ที่มีอยู่ ไปยึดธรรมที่มีพิษไว้มันก็เดือดร้อน ไม่สำรวมสังวรอินทรีย์ทั้งหลาย แล้วก็ไปโทษแต่สิ่งอื่น ไม่รู้เรื่องของเจ้าของ(ของตัวเอง) ไปอยู่วัดหนองป่าพงก็ไม่สบาย ไปอยู่อเมริกาก็ไม่สบาย ไปอยู่กรุงลอนดอนก็ไม่สบาย ไปอยู่วัดป่าบุ่งหวายก็ไม่สบาย ไปอยู่ทุกๆสาขาก็ไม่สบาย ที่ไหนๆก็ไม่สบาย นี่คือ “ความเห็นผิด” นั้นยังมีอยู่ในตัวเรา นั่นเอง

…. มีความเห็นผิด ยังไปยึดมั่นถือมั่นในธรรมอันมีพิษไว้ในใจของเราอยู่ อยู่ที่ไหนก็ไม่สบายทั้งนั้น นั่นคือ..เหมือนกันกับสุนัขนั่น ถ้าหากโรคเรื้อนมันหายแล้ว มันจะอยู่ที่ไหนมันก็สบาย อยู่กลางแจ้งมันก็สบาย อยู่ในป่ามันก็สบาย อย่างนี้ ผมนึกอยู่บ่อยๆ แล้วผมก็นำมาสอนพวกท่านทั้งหลายอยู่เรื่อย เพราะธรรมตรงนี้มันมีประโยชน์มาก” - หลวงพ่อชา สุภัทโท

ที่มา : หนังสือรวบรวมคำอุปมา “เหมือนกับใจ คล้ายกับจิต” ของ พระโพธิญาณเถร ( ชา สุภทฺโท ), ธรรมะเพื่อทางพ้นทุกข์ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ


มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๑๖)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๑๖) ลักขณปัญหา,  กัณฑ์ที่ ๓, ลักขณปัญหา

กถาว่าด้วยพระดำริถึงเมณฑกปัญหาก่อน สถานที่ที่ควรหลีกเลี่ยงการปรึกษากัน ๘ แห่ง

พระเจ้ามิลินท์ ผู้มีพระวาทะข่มคำพูดของผู้อื่นมีพระวาจาทำใจบัณฑิตทั้งหลายให้หวั่นหวาด มีพระปัญญายิ่ง มีพระปัญญาเห็นประจักษ์แจ้งได้เสด็จเข้าไปหาพระนาคเสน ด้วยทรงมีพระประสงค์ความแตกฉานแห่งความรู้ เมื่อประทับอยู่ใต้เงาไม้ ถามปัญหาต่อพระเถระนั้นอยู่บ่อยๆ ก็ทรงเป็นผู้มีพระปัญญาแตกฉาน ทรงพระไตรปิฎก ในตอนกลางคืน เมื่อเสด็จหลีกไปในที่ลับตรวจสอบนวังคศาสน์ (มีคำสอนมีองค์ ๙) ไป ก็ทรงพบเมณฑกปัญหา อันเป็นปัญหาที่ใครๆเปลื้องได้ยาก มีอรรถที่จำต้องข่มเสียอรรถหนึ่ง พระราชาทรงดำริว่า ในพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นพระธรรมราชา พระดำรัสที่ตรัสไว้โดยปริยายก็มีอยู่ พระดํารัสที่เจาะจงตรัสก็มีอยู่ พระดำรัสที่ตรัสไว้โดยสภาวะก็มีอยู่ ก็ในอนาคตกาล คนเหล่านั้นไม่เข้าใจความหมายในคำพูดที่พระชินวรพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วก็จะมีการจับผิดกัน ในพระดํารัสเหล่านั้น เอาละ พระเถระก็ได้ทำให้เราเลื่อมใสแล้ว เราจะขอให้ท่านชี้ขาดพระดํารัสที่เป็นเมณฑกะเสีย ในอนาคตจะได้มีผู้แสดงไปตามแนวทางที่พระเถระนั้นได้แสดงไว้แล้ว ดังนี้

ครั้งนั้นแล พระเจ้ามิลินท์ พอราตรีสว่าง อรุณขึ้น ก็ทรงสนานพระเศียรเกล้า ทรงประคองอัญชลีเหนือพระเศียร รำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบันแล้ว ก็ทรงสมาทานวัตรบท ๘ อย่างว่า “ตลอด ๗ วัน นับตั้งแต่วันนี้ไป เราจะสมาทานคุณ ๘ ประการ ประพฤติตบะ เราซึ่งเป็นผู้บำเพ็ญตบะอยู่นั้น จะอาราธนาพระอาจารย์ ไต่ถาม เมณฑกปัญหาทั้งหลาย” ดังนี้ ต่อจากนั้น พระเจ้ามิลินท์ ทรงเปลื้องคู่พระภูษาทรงปกติเสีย และทรงโปรดพระอาพรเครื่องประดับทั้งหลาย ทรงนุ่งห่มผ้าย้อมฝาด ทรงแต่งพระเสียงเหมือนคนศีรษะโล้น เข้าถึงความเป็นมุนี สมาทานคุณ ๘ อย่าง ดังต่อไปนี้ว่า “ตลอด ๗ วัน นับตั้งแต่วันนี้ไป เราจะไม่วินิจฉัยราชอรรถคดี เราจะไม่ทำจิตอันเป็นที่ตั้งแห่งราคะให้เกิดขึ้น เราจะไม่ทำจิตอันเป็นที่ตั้งแห่งโทสะให้เกิดขึ้น เราจะไม่ทำจิตอันเป็นที่ตั้งแห่งโมหะให้เกิดขึ้น เราจะเป็นผู้มีความประพฤติถ่อมตน แม้ในชนที่เป็นทาสกรรมกร คนรับใช้ เราจะคอยรักษาความประพฤติทางกาย และความประพฤติทางวาจา เราจะคอยรักษาอายตนะทั้ง ๖ โดยไม่มีเหลือ เราจะใส่ใจไว้ในเมตตาภาวนา ” ดังนี้ ครั้นทรงสมาทานคุณ ๘ อย่างเหล่านี้แล้ว ก็ทรงตั้งพระทัยไว้มั่นในคุณศ๘ อย่างเหล่านั้นนั่นแหละ ไม่เสด็จไปภายนอก ครั้นทรงทำเวลาให้ล่วงไปครบ ๗ วันแล้ว ในวันที่ ๘ เมื่อราตรีสว่าง ทรงเสวยพระ กระยาหารตอนเช้า ก่อนแล้ว ก็ทรงมีพระเนตรทอดลง สำรวมพระวาจา มีพระอิริยาบถตั้งมั่นดี มีพระทัยไม่วุ่นวาย บันเทิง รื่นเริง ผ่องใส เสด็จเข้าไปหาพระนาคเสนเถระ ทรงกลมพระเศียรกราบที่เท้าทั้งสองของพระเถระ แล้วประทับยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนหนึ่ง ได้ตรัสความข้อนี้ว่า

พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้ามีเรื่องจะปรึกษากับท่านอยู่บางเรื่อง ในสถานที่ที่จะปรึกษากันนั้น ไม่ต้องการให้มีใครอื่นซึ่งเป็นคนที่สาม คือในโอกาสที่ว่างคน ได้แก่ ในป่าที่สงัดเงียบ ที่ถึงพร้อมด้วยองค์ ๘ ซึ่งเหมาะสมแก่สมณะ ปัญหาที่ต้องถามนั้น จะมีในป่านั้น ที่ในป่านั้น ท่านไม่ควรทำให้เป็นเรื่องซ่อนเร้น ให้เป็นความลับสำหรับข้าพเจ้า เมื่อถึงคราวมีเรื่องปรึกษากันด้วยดี ข้าพเจ้าก็ควรจะได้ฟังเรื่องลึกลับ ควรจะต้องตรวจสอบเนื้อความ แม้ด้วยอุปมา เปรียบเหมือนอย่างอะไร พระคุณเจ้านาคเสน เปรียบเหมือนว่า เมื่อถึงคราวมีการวางสิ่งของลง แผ่นดินใหญ่ก็สมควรแก่การวางสิ่งของลงฉันใด พระคุณเจ้านาคเสน เมื่อถึงคราวมีเรื่องปรึกษากันด้วยดี ข้าพเจ้าก็ควรที่จะได้ฟังเรื่องลึกลับฉันนั้น

พระราชาครั้นได้เสด็จเข้าป่าที่เงียบสงัดพร้อมกับท่านผู้เป็นครูแล้ว ก็ได้ตรัสความข้อนี้ ว่า พระคุณเจ้านาคเสน ในโลกนี้มีสถานที่ ๘ แห่ง ที่บุรุษผู้ต้องการปรึกษากัน ควรหลีกเลี่ยง บุรุษผู้เป็นวิญญูชนย่อมไม่ปรึกษาเรื่องราวในที่สถานที่เหล่านั้น เรื่องราวแม้ที่ปรึกษากันแล้ว ก็ย่อมตกหายไป ไม่ปรากฏอยู่ สถานที่ ๘ แห่งอะไรบ้าง ? ได้แก่ ที่ขรุขระ เป็นสถานที่ที่ควรหลีกเลี่ยง ๑ สถานที่ที่มีภัยก็เป็นสถานที่ที่ควรหลีกเลี่ยง ๑ สถานที่ที่มีลมแรงเกินไป ก็เป็นสถานที่ที่ควรหลีกเลี่ยง ๑ สถานที่ที่ปิดบัง ก็เป็นสถานที่ที่ควรหลีกเลี่ยง ๑ เทวสถานก็เป็นสถานที่ที่ควรหลีกเลี่ยง ๑ สถานที่ที่เป็นทางเดินก็เป็นสถานที่ที่ควรหลีกเลี่ยง ๑ สถานที่ที่มีสงครามก็เป็นสถานที่ที่ควรหลีกเลี่ยง ๑ สถานที่ที่ติดท่าน้ำก็เป็นสถานที่ที่ควรหลีกเลี่ยง ๑ สถานที่ ๘ แห่งเหล่านี้ เป็นสถานที่ที่ควรหลีกเลี่ยง

พระเถระถวายพระพรถามว่า ในสถานที่ที่ขรุขระมีโทษอะไร ในสถานที่ที่มีภัย ในสถานที่ที่มีลมแรงเกินไป ในสถานที่ที่ปิดบัง ในเทวสถาน ในสถานที่ที่เป็นทางเดิน ในสถานที่ที่มีสงคราม ในสถานที่ที่ติดท่าน้ำ มีโทษอะไร ?

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ในสถานที่ที่ขรุขระ เรื่องที่ปรึกษากันจะกระจัดกระจาย ลอยไป ไหลไปหมด ไม่ปรากฏอยู่ ในสถานที่ที่มีภัย จิตใจก็จะเอาแต่หวาดหวั่น คนผู้มีจิตใจหวาดหวั่นจะไม่พิจารณาเห็นอรรถได้โดยชอบ ในสถานที่ที่มีลมแรงเกินไป ก็จะไม่ได้ยินเสียงชัด ในสถานที่ที่ปิดบัง คนจะเข้าไปยืนฟัง เรื่องที่ปรึกษากันในเทวสถาน ย่อมน้อมกลายเป็นเรื่องที่ควรเคารพ เรื่องที่ปรึกษากันในสถานที่ที่เป็นทางเดิน ย่อมเป็นเรื่องสูญเปล่า ในสถานที่ที่มีสงคราม ก็มีแต่ความอลหม่าน ที่ท่าน้ำ เรื่องที่ปรึกษากันย่อมแพ่งพราย ในความข้อนี้ มีคำพูดของท่านผู้รู้ว่า

“ผู้จะปรึกษากันควรหลีกเลี่ยงสถานที่ ๘ แห่งเหล่านี้ คือ สถานที่ที่ขรุขระ สถานที่ที่มีภัย สถานที่ที่มีลมแรงเกินไป สถานที่ที่ปิดบัง สถานที่ที่เทวดาอาศัย สถานที่ที่เป็นทางเดิน สถานที่ที่มีสงคราม สถานที่ที่ติดท่าน้ำ”. จบเรื่องสถานที่ที่คนจะปรึกษากันควรหลีกเลี่ยง ๘ แห่ง

คำอธิบาย

คำว่า เมณฑกาปัญหา คือปัญหาที่มีความหมาย ๒ อย่าง ถึงความปะปนกัน และขัดแย้งกัน.  คำว่า เป็นปัญหาที่ใครๆ เปลื้องได้ยาก ความว่าเป็นปัญหาที่ใครๆ กระทำการเปลื้อง คือคลี่คลายได้ยาก คือว่าคำพูดเดียวกัน แปลความหมายได้ ๒ อย่าง เมื่อได้ถือเอาความหมายอย่างหนึ่ง ด้วยคำพูดนั้น ความหมายนอกนี้ก็เข้ามาขัดแย้งเสียด้วยคำพูดเดียวกันนั้น จึงเป็นเหตุให้ใครๆ เปลื้องได้ยาก คือคลี่คลายได้ยาก สะสางได้ยาก.  คำว่า มีอรรถที่จำต้องผมเสียอรรถหนึ่ง ความว่า เมื่อคำพูดเดียวกันมี ๒ อรรถ คือมี ๒ ความหมาย เมื่อยอมรับความหมายหนึ่งว่าถูกต้อง ความหมายที่เหลือก็จำต้องข่ม คือจำต้องให้ตกไป ปล่อยไป.  คำว่า เจาะจงตรัส คือพระดํารัสที่ทรงหมายเอา อรรถ ทรงกระทำการกำหนดอรรถไว้ แล้วตรัสไว้ โดยเป็นข้อกำหนดนั้นนั่นแหละ โดยสังเขป โดยเป็นอุเทศ โดยเป็นมาติกา ก็มีอยู่.  คำว่า โดยสภาวะ ความว่า เนื้อความที่มีในปิฎก ๓ คือ พระวินัย พระสูตร และ พระอภิธรรม มี ๒ อย่าง คือ เนื้อความที่เป็นบัญญัติ และเนื้อความที่เป็นปรมัตถ์ เนื้อความที่เป็นปรมัตถ์เท่านั้น ชื่อว่าสภาวะ พระดำรัสที่ตรัสไว้โดยมีเนื้อความเป็นสภาวะก็มีอยู่. คำว่า การจับผิดกัน ได้แก่การจับข้อบกพร่องกัน หรือการทะเลาะกัน การที่กล่าวว่า คำอธิบายของท่าน จะถูกต้องกระไรได้ คำอธิบายของข้าพเจ้าเท่านั้น จึงจะถูกต้อง หรือว่า ท่านถือเอาไม่ถูกต้องหรอก ข้าพเจ้าเท่านั้น ถือเอาถูกต้อง ดังนี้ ชื่อว่า การจับข้อบกพร่องกัน การที่ทิ่มแทงกันด้วยหอก คือปาก ว่า มึงนะมึง เป็นต้น ชื่อว่า การทะเลาะกัน.  คำว่า เราจะขอให้ท่านชี้ขาด คือเราจะขอให้พระเถระชี้ขาด ในพระดํารัสที่เป็นเมณฑกะนั้น.  

คำว่า ในอนาคตจะได้มีผู้แสดง คือในอนาคตจะได้มีผู้ทรงจำคำแสดงไข และแสดงไปตามแนวทางที่พระเถระได้แสดงไว้.  คำว่า ที่ถึงพร้อมด้วยองค์ ๘ คือในป่าที่ถึงพร้อมด้วยองค์ ๘ เหล่านี้ คือ ไม่มีสถานที่ขรุขระ ๑ ไม่มีสถานที่ที่มีภัย ๑ ไม่มีสถานที่ที่มีลมแรง ๑ ไม่มีสถานที่ที่ปิดบัง ๑ ไม่มีสถานที่ที่เป็นเทวสถาน ๑ ไม่มีทางเดิน ๑ ไม่มีสงคราม ๑ ไม่มีท่าน้ำ ๑ ดังนี้. คำว่า เทวสถาน ได้แก่สถานที่ที่คนทั้งหลาย ถือว่ามีเทวดาอาศัย อีกอย่างหนึ่ง แม้สถานที่ที่มีบุคคลควรเคารพเข้าไปอาศัยอยู่ ก็ชื่อว่าเทวสถาน เพราะว่าในทางโลก แม้บุคคลที่ควรเคารพ เขาก็เรียกว่า “เทพ” เพราะเหตุนั้นนั่นเอง พระราชาจึงตรัสว่า เรื่องที่ปรึกษากันในเทวสถาน ย่อมน้อมกายเป็นเรื่องที่ควรเคารพ ความว่าต้องสำรวมวาจาพูดแต่เรื่องที่สมควรจะพูด ในสถานที่ที่มีเทวดาอาศัย หรือมีบุคคลผู้ควรเคารพเข้าไปอาศัยนั้น.  จบคำอธิบายเรื่องสถานที่ที่คนจะปรึกษากันควรหลีกเลี่ยง ๘ แห่ง

บุคคลผู้ทำเรื่องที่ปรึกษากันให้เสียหายไป ๘ จำพวก

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน บุคคล ๘ จำพวกเหล่านี้ เมื่อปรึกษาด้วยย่อมทำเรื่องที่ปรึกษากันให้ถึงความเสียหายไป บุคคล ๘ จำพวกเป็นไฉน ? ได้แก่ คนราคะจริต ๑ คนโทสจริต ๑ คนโมหจริต ๑ คนมานจริต ๑ คนที่กำลังอยากได้ ๑ คนเกียจคร้าน ๑ คนชอบคิดคนเดียว ๑ คนพาล ๑ บุคคล ๘ จำพวกเหล่านี้ ย่อมทำเรื่องที่ปรึกษากันให้ถึงความเสียหายไป.  พระเถระถวายพระพร ถามว่า บุคคลเหล่านั้น มีอะไรเป็นข้อเสีย ?  พระราชา, พระคุณเจ้านาคเสน คนราคจริตย่อมทำเรื่องที่ปรึกษากันให้ถึงความเสียหายไป เพราะอำนาจแห่งราคะ คนโทสจริตย่อมทำเรื่องที่ปรึกษากันให้เสียหายไปเพราะอำนาจแห่งโทสะ คนโมหจริตย่อมทำเรื่องที่ปรึกษากันให้ถึงความเสียหายไปเพราะอำนาจแห่งโมหะ คนมานจริตย่อมทำเรื่องที่ปรึกษากันให้ถึงความเสียหายไป เพราะอำนาจแห่งมานะ คนที่กำลังอยากได้ย่อมทำเรื่องที่ปรึกษากันให้ถึงความเสียหายไป เพราะอำนาจแห่งความอยาก คนเกียจคร้านย่อมทำเรื่องที่ปรึกษากันให้ถึงความเสียหายไป เพราะความเกียจคร้าน คนชอบคิดคนเดียวย่อมทำเรื่องที่ปรึกษากันให้เสียหายไปเพราะความคิดแง่เดียว คนพาลย่อมทำเรื่องที่ปรึกษากันให้เสียหายไป เพราะความเป็นพาล ในเรื่องนี้จึงมีข้อกำหนดอยู่ว่า :- บุคคลผู้ทำเรื่อง ที่ปรึกษากัน ให้เสียหายไป มี ๘ จำพวกเหล่านี้ คือ คนมักกำหนัด ๑ คนมักโกรธ ๑ คนมักหลง ๑ คนมีมานะ ๑ คนโลภมาก ๑ คนเกียจคร้าน ๑ คนชอบคิดคนเดียว ๑ คนพาล ๑ ฉะนี้ แล.  จบเรื่องบุคคลผู้ทำเรื่องที่ปรึกษากันให้เสียหาย ๘ จำพวก

คำอธิบายบุคคลผู้ทำเรื่องที่ปรึกษากันให้เสียหาย ๘ จำพวก

คำว่า ทำเรื่องที่ปรึกษากันให้ถึงความเสียหายไป ความว่า บุคคล ๘ จำพวกเหล่านี้ เมื่อได้ปรึกษา เพื่อสนทนากับผู้อื่นแล้ว ก็ย่อมทำเรื่องที่ปรึกษากัน คือทำเนื้อความที่ปรึกษากัน ให้ถึงความเสียหาย คือถือเอาเนื้อความผิดแปลกไปเป็นประการอื่นจากที่ผสม หรือทำให้เกิดเป็นโทษขึ้น เมื่อนำเรื่องที่ปรึกษากันไปบอกกล่าวแก่คนอื่นๆ อ้ายก็ทำให้คนเหล่านั้นพลอยถือเอาผิดๆ ตามตน.  คำว่า คนราคจริต ได้แก่บุคคลผู้ยิ่งด้วยราคะ ถึงความยินดีพอใจในอารมณ์ทั้งหลายโดยง่าย แม้ในอารมณ์มีรูปเป็นต้นที่น่าปรารถนาเพียงนิดหน่อยเท่านั้น ก็เกิดปีติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง เป็นคนเจ้าสำราญ มีปกติเป็นสุข มีราคะเกิดอยู่เนืองๆ.  คำว่า คนโทสจริต ได้แก่บุคคลผู้ยิ่งด้วยโทสะ ถึงความขัดเคืองใจได้โดยง่าย แม้ในอารมณ์มีรูปเป็นต้น ที่ไม่ปรารถนาเพียงนิดหน่อย ก็เกิดโทมนัสมากมาย เป็นคนเจ้าทุกข์ มีปกติเป็นทุก มากด้วยความขัดเคืองใจ มีโทสะเกิดอยู่เนืองๆ.  คำว่า คนโมหจริต ได้แก่บุคคลผู้ยิ่งด้วยโมหะ คือความหลงความไม่รู้เป็นผู้มากด้วยความลังเลใจ หรือมากด้วยความฟุ้งซ่าน มีปกติไม่เข้าถึงเหตุผลในเรื่องนั้นๆ ไม่อาจตัดสินอารมณ์นั้นๆ ว่าเป็นอย่างนี้หรือเป็นอย่างนั้นได้เด็ดขาดแน่นอน จะทำกิจอะไรๆ โดยมากก็สักแต่ทำเป็นปากไปตามความคิดที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา มีปกติซึมเซื่อง เฉื่อยชา มากหรือความไม่รู้.  คำว่า คนมานจริต ความจริงก็ได้แก่คนราคจริตนั่นแหละเพียงแต่ราคาที่เกิดขึ้น มักจะเป็นราคาที่เกิดร่วมกันกับ มานะคือความถือตัว

คำว่า คนที่กำลังอยากได้ ความว่า แม้นเป็นคนจริตอื่นที่ไม่ใช่ราคจริต เมื่อมีความอยากเกิดขึ้น ก็ชื่อว่าเป็นคนที่กำลังอยากได้ทั้งนั้น.  คำว่า คนเกียจคร้าน ได้แก่คนที่ท้อถอยในกิจ ในการงานที่ควรทำทั้งหลาย.  คำว่า ชอบคิดคนเดียว คือคนผู้มีปกติคิดคนเดียวไม่ต้องการสหาย หรือผู้ร่วมคิด จึงมักคิดได้ไงเดียว ซึ่งอาจไม่ใช่แม่ที่ถูกต้อง.  คำว่า คนพาล ได้แก่คนเขลาไม่มีปัญญา ไม่รู้จักจะจำแนกว่า นี้เป็นสาระควรถือเอา นี้ไม่เป็นสาระ ไม่ควรถือเอา นี้ควรแสวงหา นี้ไม่ควรแสวงหา มีปกติทำก็ดี พูดก็ดี คิดก็ดี มักเป็นเรื่องที่สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนแก่ตน หรือคนอื่น.  จบคำอธิบายเรื่องบุคคลผู้ทำเรื่องที่ปรึกษากันให้เสียหาย ๘ จำพวก

บุคคลผู้เปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ๙ จำพวก

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน บุคคล ๙ จำพวกเหล่านี้ ยอมเปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ปิดไว้ไม่ได้ บุคคล ๙ จำพวกเป็นไฉน ? ได้แก่ คนราคจริต ๑ คนโทสจริต ๑ คนโมหจริต ๑ คนขลาดกลัว ๑ คนหนักในอามิส ๑ หญิง ๑ นักเลงสุรา ๑ กระเทย ๑ ทารก ๑ ดังนี้.  

พระเถระถวายพระพร ถามว่า ขอถวายพระพร คนเหล่านั้น มีอะไรเป็นข้อเสีย ?   พระราชา พระคุณเจ้านาคเสน คนราคจริต ยอมเปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ย่อมปิดไว้ไม่ได้ เพราะอำนาจแห่งราคะ คนโทสจริต ยอมเปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ย่อมปิดไว้ไม่ได้ เพราะอำนาจแห่งโทสะ คนมักหลง (คนโมหจริต) ยอมเปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ยอมปิดไว้ไม่ได้ เพราะอำนาจแห่งโมหะ คนขลาดกลัว ยอมเปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ยอมปิดไว้ไม่ได้ เพราะอำนาจแห่งความกลัว คนหนักในอามิส ยอมเปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ยอมปิดไว้ไม่ได้ เพราะเหตุแห่งอามิส หญิง ยอมเปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ย่อมปิดไว้ไม่ได้ เพราะความที่มีปัญญาเพียงชั่วแล่น นักเลงสุรา ยอมเปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ย่อมปิดไว้ไม่ได้ เพราะความเมาสุรา กระเทย ย่อมเปิดเผยเรื่องที่ ปรึกษากันลับๆ ย่อมปิดไว้ไม่ได้ เพราะหาความคิดที่แน่นอนไม่ได้ ทารก ยอมเปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ยอมปิดไว้ไม่ได้ เพราะความช่างพูดจา ในเรื่องนี้จึงมีคำกล่าวอยู่ว่า :- บุคคลที่ต่ำต้อย ที่หวั่นไหว โลเล ในโลกนี้มี 9 จำพวกเหล่านี้ คือ คนมักอยากได้ คนมักโกรธ คนหลง คนขลาดกลัว คนหนักในอามิส หญิง นักเลงสุรา กระเทย และที่ ๙ คือทารก เรื่องที่ปรึกษากันลับๆ กับบุคคลเหล่านี้ จะมีอันปรากฏ (เปิดเผย) ได้ง่ายดาย.  จบเรื่องบุคคลผู้เปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ๙ จำพวก

คำอธิบาย เรื่องบุคคลผู้เปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ๙ จำพวก

คำว่า เพราะอำนาจแห่งราคะ คือเพราะอำนาจแห่งความอยาก.  คำว่า เพราะอำนาจแห่งโทสะ คือเพราะอำนาจแห่งจิตที่ปะทุร้าย.  คำว่า เพราะอำนาจแห่งโมหะ คือเพราะอำนาจแห่งความหลง.  คำว่า เพราะอำนาจแห่งความกลัว คือเพราะอำนาจแห่งความกลัวว่า ถ้าหากว่าเราไม่บอกเขาก็จะฆ่าเรา ดังนี้เป็นต้น.  คำว่า เพราะเหตุแห่งอามิส ได้แก่ เพราะเหตุแห่งลาภขึ้นชื่อว่าอามิส เพราะเป็นดุจเหยื่อให้สัตว์มาติดอยู่.  คำว่า เพราะความที่มีปัญญาเพียงชั่วแล่น คือเพราะความที่มีปัญญาเกิดชั่วเวลาเพียงเล็กน้อยยิ่ง.  คำว่า เพราะความเมาสุรา คือเพราะสับสนด้วยความเมาสุรา.  คำว่า เพราะหาความคิดที่แน่นอนไม่ได้ ความว่า เพราะหาความคิดที่แน่นอนไม่ได้อย่างนี้ คือบางคราวก็มีความคิดค่อนไปทางความคิดของหญิง บางคราวก็มีความคิดค่อนไปทางความคิดของชาย.  คำว่า เพราะความช่างพูดจา คือเพราะความที่พูดพร่ำเพื่อ พูดมาก ผู้เฒ่าที่ต้องการจะพูด.  จบคำอธิบายเรื่อวบุคคลผู้เปิดเผยเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ๙ จำพวก

เหตุที่ทำให้ได้ความรู้ (อย่างแก่กล้า) ๘ ประการ

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ความรู้ย่อมแน่นหนา ย่อมถึงความแก่กล้า เพราะเหตุ ๘ อย่าง เพราะเหตุ ๘ อย่างอะไรบ้าง ? ความรู้ย่อมแน่นหนา ย่อมถึงความแก่กล้า เพราะความแน่นหนาแห่งวัย ๑ ความรู้ย่อมแน่นหนา ย่อมถึงความแก่กล้า เพราะความแน่นหนาแห่งยศ ๑ ความรู้ย่อมแน่นหนา ย่อมถึงความแก่กล้า เพราะปริปุจฉา ๑ ความรู้ย่อมแน่นหนา ย่อมถึงความแก่กล้า เพราะการอยู่ในสำนักที่เป็นดุจท่าข้าม ๑ ความรู้ย่อมแน่นหนา ย่อมถึงความแก่กล้า เพราะโยนิโสมนสิการ ๑ ความรู้ย่อมแน่นหนา ย่อมถึงความแก่กล้า เพราะการสนทนากัน ๑ ความรู้ย่อมแน่นหนา ย่อมถึงความแก่กล้า เพราะการคบหาบุคคลผู้น่ารักใคร่ ๑ ความรู้ย่อมแน่นหนา ย่อมถึงความแก่กล้า เพราะการอยู่ในประเทศที่เหมาะสม ๑ ในความข้อนี้จึงมีคำกล่าวอยู่ว่า.  ฐานะ ๘ เหล่านี้ เป็นเอกแกล้วกล้าแห่งความรู้คือ เพราะวัย ๑ เพราะยศ ๑ เพราะอิจฉา ๑ เพราะการอยู่ในสำนักที่เป็นดุจท่าข้าม ๑ เพราะโยนิโสมนสิการ ๑ เพราะการสนทนา ๑ เพราะการคบหาบุคคลผู้น่ารักใคร่ ๑ เพราะการอยู่ในประเทศที่เหมาะสม ๑ บุคคลเหล่าใดมีฐานะ ๘ เหล่านี้ ความรู้ของบุคคลเหล่านั้นย่อมแตกฉานดังนี้.  จบเรื่องเหตุที่ทำให้ได้ความรู้ (อย่างแก่กล้า) ๘ ประการ

คำอธิบายเกี่ยวกับ เหตุที่ทำให้ได้ความรู้ (อย่างแก่กล้า) ๘ ประการ

คำว่า เพราะความแน่นหนาแห่งวัย ได้แก่ เพราะความแน่นหนา คือความเต็มที่แห่งวัย ที่เรียกว่าปัญญาทักษะ (ช่วง ๑๐ ปีที่มีปัญญาเกิดง่ายคืออายุระหว่าง ๔๐ ปี ถึง ๕๐ ปีสำหรับในกัปที่มนุษย์มีอายุเฉลี่ย ๑๐๐ ปี)  คำว่า เพราะความแน่นหนาแห่งยศ ได้แก่ เพราะมียศคือบริวารแน่นหนา เหตุเพราะได้สดับจากคนเหล่านั้น คนนั้น คนนี้ อยู่บ่อยๆ.  คำว่า เพราะปริปุจฉา คือเพราะการไต่ถาม หรือเพราะคำอธิบาย.  คำว่าเพราะการอยู่ในสำนักที่เป็นดุจท่าข้าม คือ เพราะการอยู่อาศัยในสำนักของอาจารย์ผู้มีวิธีบอกกล่าว ซึ่งเป็นดุจท่าข้าม. คำว่า โยนิโสมนสิการ คือเพราะการกระทำเข้าไว้ในใจ โดยถูกอุบาย โดยถูกคนทาง โดยถูกตรงตามเหตุ.  คำว่า เพราะการสนทนากัน คือเพราะการถามตอบกันเช่นถามอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บทนี้เป็นอย่างไร บทนี้มีความหมายว่ากระไร ตอบอย่างนี้ว่า นี่แนะ ท่านผู้มีอายุ บทนี้ เป็นอย่างนี้ บทนี้ มีความหมายว่ากระนี้ ดังนี้เป็นต้น. คำว่า เพราะการคบหาบุคคลผู้น่ารักใคร่ คือเพราะการคบหาบุคคลผู้เป็นกัลยาณมิตร.  คำว่า เพราะการอยู่ในประเทศที่เหมาะสม ความว่า ความรู้ย่อมแน่นหนา ย่อมถึงความแก่กล้า เพราะการอยู่อาศัยในประเทศที่เหมาะสม คือในสถานที่อันเป็นที่อุบัติเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า หรือพระพุทธศาสนา (ในประเทศที่มีพระพุทธศาสนา ณัฏฐ).  จบคำอธิบายเกี่ยวกับเหตุที่ทำให้ได้ความรู้ (อย่างแก่กล้า) ๘ ประการ

อาจริยคุณ คุณธรรมของบุคคลผู้เป็นอาจารย์

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ภูมิภาคนี้ เว้นห่างจากโทษ (เหตุสร้างความเสียหาย) แห่งการปรึกษากันทั้ง ๘ อย่าง ทั้งข้าพเจ้าก็เป็นสหายร่วมปรึกษาที่ยอดเยี่ยมในโลก อีกอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าก็เป็นผู้รักษาเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ได้ ข้าพเจ้าจะรักษาเรื่องที่ปรึกษากันลับๆ ไปตราบเท่าที่ข้าพเจ้าจะมีชีวิตอยู่ได้ ทั้งความรู้ของข้าพเจ้าก็ถึงความแน่นหนาเพราะเหตุ ๘ ประการแล้ว ในปัจจุบันนี้ สิทธิ์เช่นข้าพเจ้า ก็เป็นผู้ที่หาได้ยาก อาจริยคุณ ๒๕ อย่าง ของผู้เป็นอาจารย์เหล่าใด ผู้เป็นอาจารย์พึงปฏิบัติชอบ ในศิษย์ผู้ปฏิบัติชอบด้วยคุณเหล่านั้น คุณ ๒๕ อย่าง อะไรบ้าง ?  พระคุณเจ้านาคเสน ผู้เป็นอาจารย์พึงอุปฐากรักษาศิษย์เป็นประจำสม่ำเสมอ ๑ พึงรู้จักเวลาที่ไม่ควรเสวนาและเวลาที่ควรเสวนา ๑ พึงรู้ว่าศิษย์หลงลืมหรือไม่หลงลืม ๑ พึงรู้จักโอกาสที่ดีกว่า ๑ พึงรู้ถึงความป่วยไข้ ๑ พึงรู้ว่าศิษย์ได้ของกินของใช้แล้วหรือยังไม่ได้ ๑ พึงรู้ว่าศิษย์ผู้มีความแตกต่างกัน ๑ พึงแบ่งอาหารในภาชนะ ๑ พึงปลอบโยนศิษย์ เช่นอย่างนี้ ว่า เธออย่ากลัวไปเลย ผลที่ต้องการจะก้าวมาหาเธอ ดังนี้เป็นต้น ๑ พึงรู้จักบุคคลผู้ที่ศิษย์ติดต่อด้วย ว่าศิษย์ติดต่ออยู่กับบุคคลนี้ดังนี้ ๑ พึงรู้จักบุคคลผู้ที่ศิษย์ติดต่อด้วย ในบ้าน ๑ พึงรู้จักบุคคลผู้ที่ศิษย์ติดต่อด้วยในวัด ๑ ไม่ควรเล่นคะนองกับศิษย์ ๑ ควรทำการทักทายปราศรัยกับศิษย์ ๑ พบเห็นความผิด (ของศิษย์ ) แล้ว ก็เพิ่งอดกลั้น ไม่ลุแก่โทสะ ๑ พึงเป็นผู้มีปกติทำอย่างเคารพ ๑ พึงเป็นผู้มีปกติทำอย่างไม่ขาดตอน ๑ พึงเป็นผู้มีปกติทำอย่างไม่ปิดบัง ๑ พึงเป็นผู้มีปกติทำอย่างไม่มีเหลือ ๑ พึงตั้งความคิดที่จะให้ศิษย์รู้ อย่างนี้ว่า เราจะให้ศิษย์ผู้นี้ได้รู้ในศิลปะทั้งหลายดังนี้ ๑ พึงตั้งความคิดแต่จะให้ศิษย์เจริญ อย่างนี้ ว่า ศิษย์ผู้นี้จะไม่เสื่อมได้อย่างไร ดังนี้ ๑ พึงตั้งความคิดไว้อย่างนี้ ว่า เราจะทำศิษย์พรุ่งนี้ให้เป็นคนมีกำลัง ด้วยกำลังคือการศึกษา ดังนี้ ๑ พึงตั้งเมตตาจิต ๑ ไม่ละทิ้งศิษย์ในคราวมีอันตราย ๑ ไม่พึงหลงลืมในกิจที่ควรทำ ๑ เมื่อศิษย์พลั้งพลาด ก็พึงประคับประคองโดยธรรม ๑ ฉะนี้แล พระคุณเจ้า อาจริยคุณ ของบุคคลผู้เป็นอาจารย์ มี ๒๕ อย่าง เหล่านี้แล ขอท่านจงปฏิบัติชอบในข้าพเจ้าด้วยคุณเหล่านั้นเถิด พระคุณเจ้า ข้าพเจ้ามีความสงสัยเกิดขึ้นแล้ว เมณฑกปัญหาที่พระชินวรพุทธเจ้าทรงภาษิตไว้ มีอยู่ ในอนาคตกาลจะเกิดการจับผิดกัน ในเมณฑกปัญหานั้น ทั้งในอนาคตกาล ภิกษุผู้มีความรู้เช่นอย่างท่าน ก็จะเป็นบุคคลที่หาได้ยาก ขอท่านจงมอบดวงตาให้ข้าพเจ้าได้มองเห็นใน เมณฑกปัญหาเหล่านั้น เพื่ออันจะใช้ข่มพวกปรวาทีทั้งหลายเถิด.  จบเรื่องคุณธรรมของบุคคลผู้เป็นอาจารย์

คำอธิบายเกี่ยวกับคุณธรรมของบุคคลผู้เป็นอาจารย์

คำว่า ภูมิภาคนี้ เว้นห่างจากโทษแห่งการปรึกษากันทั้ง ๘ อย่าง มีอย่างนี้ว่า เป็นที่ขรุขระ เป็นสถานที่ที่มีภัย เป็นต้น ดังได้กล่าวแล้ว.  คำว่า ข้าพเจ้าก็เป็นสหายร่วมปรึกษาที่ยอดเยี่ยมในโลก คือข้าพเจ้าก็เป็นสหายผู้ร่วมปรึกษากับท่านพระนาคเสนที่ยอดเยี่ยมในหมู่ชาวโลก.  คำว่า ข้าพเจ้าก็เป็นผู้ที่รักษาเรื่องที่ปรึกษากันลับๆได้ คือ ข้าพเจ้าก็เป็นผู้ที่รักษาคำพูดที่ได้ปรึกษากันลับๆ คือเพิ่งปิดบังได้ ตราบเท่าที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่.  คำว่า ความรู้ของข้าพเจ้าก็ถึงความแน่นหนาเพราะเหตุ ๘ ประการ คือ เพราะเหตุ ๘ ประการ มีความแน่นหนาแห่งวัยเป็นต้น ดังได้กล่าวแล้ว.  คำว่า เพิ่งอุปฐากรักษา คือพึงเลี้ยงดูทนุบำรุงให้เป็นไปได้ ด้วยปัจจัย ๔ มีเครื่องนุ่งห่มเป็นต้น.  คำว่า เวลาที่ไม่ควรเสวนา และเวลาที่ควรเสวนา คือเวลาที่ไม่ควรมาหาตน หรือตนไม่ควรไปหาศิษย์ และเวลาที่ศิษย์ควรมาหาตน หรือที่ตนควรไปหาศิษย์.  คำว่า พึงรู้ว่าศิษย์หลงลืมหรือไม่หลงลืม คือพึงรู้ว่าศิษย์หลงลืมหรือไม่หลงลืมเวลาไม่ควรเสวนาและควรเสวนา.  คำว่า พึงรู้จักโอกาสที่ดีกว่า คือพึงรู้จักโอกาสที่ดีกว่าสำหรับศิษย์ กล่าวคือมอบโอกาสที่ดีกว่า คือสะดวกกว่าแก่ศิษย์ ในอันที่จะศึกษาวิชาศิลปะให้ยิ่งๆขึ้นไป.  คำว่า พึงรู้ถึงความป่วยไข้ คือพึงรู้ว่า เวลานี้ศิษย์ป่วยไข้.  คำว่า พึงรู้ว่าศิษย์ได้ของกินของใช้แล้วหรือยังไม่ได้ คือพึงรู้ว่าศิษย์ได้ของกินของใช้ที่มีประมาณเหมาะสมแล้วหรือยังไม่ได้.  คำว่า พึงรู้จักศิษย์ผู้มีความแตกต่างกัน คือพึงรู้จักทำนองอย่างนี้ ว่า ศิษย์ผู้นี้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวัตร คู่นี้ถึงพร้อมด้วยจาริตศีล พรุ่งนี้ถึงพร้อมด้วยวาริตศิล ผู้นี้ถึงพร้อมด้วยอธิสีลสิกขา ด้วยอธิจิตตสิกขา ด้วยอาธิปัญญาสิกขา ผู้นี้เรียนพระสูตร ผู้นี้เรียนอภิธรรม ผู้นี้เรียนพระวินัย ดังนี้ เป็นต้น.  คำว่า พึงแบ่งปันอาหารในภาชนะ คืออาจารย์ พึงแบ่งปันอาหารในภาชนะของตนแก่ศิษย์.  คำว่า พึงปลอบโยนศิษย์ คืออาจารย์พึงปลอบโยนศิษย์ในคราวที่ศิษย์ท้อแท้ในการศึกษา หรือเบื่อหน่ายในการบำเพ็ญอธิกุศล

คำว่า พึงรู้จักบุคคลผู้ที่ศิษย์ติดต่อด้วยในบ้าน เป็นต้น อาจารย์พึงรู้จักบุคคลผู้ที่ศิษย์ติดต่อด้วย ในบ้านบ้าง ในวัดบ้าง ว่า ผู้ที่ศิษย์ติดต่อด้วยผู้นี้ เป็นผู้มีลัทธิแตกต่าง มักกล่าวอย่างนี้ ว่า ความเห็นของท่านไม่ถูกต้องหรอก ของเราสิถูกต้อง ความเห็นของอาจารย์ท่านไม่ถูกต้องหรอก ความเห็นของอาจารย์เราสิถูกต้อง ดังนี้ บ้าง ว่า เป็นผู้ที่ไม่ปลงอาบัติ มีอาบัติติดตัว มองไม่เห็นว่าเป็นอาบัติ มักกล่าวอย่างนี้ ว่า ข้อนี้ ไม่เป็นอาบัติหรอก เราจะต้องปลงอาบัติไปทำไม ดังนี้ บ้าง ว่า เป็นผู้มีความเห็นที่ไม่ถูกต้องในพระสูตร ในพระอภิธรรม ในพระวินัย ป้าง เป็นต้น.  คำว่า พึงเป็นผู้มีปกติทำอย่างเคารพ คืออาจารย์พึงเป็นผู้มีปกติทำอย่างเคารพ คืออย่างมั่นคงในวัตรปฏิบัติที่พึงทำต่อศิษย์ เม้นคำว่า พึงเป็นผู้มีปกติทำอย่างไม่ขาดตอน ก็อย่างนั้นเหมือนกัน.  คำว่า พึงเป็นผู้มีปกติทำอย่างไม่ปิดบัง คือผู้เป็นอาจารย์พึงเป็นผู้มีปกติทำคือสอนอย่างไม่ปิดบังในวิชาศิลปะทั้งหลาย.  คำว่า พึงเป็นผู้มีปกติทำอย่างไม่มีเหลือ คือเป็นผู้มีปกติทำคือสอนไม่มีเหลือในวิชาศิลปะนั้นแก่ศิษย์ผู้สามารถจะเรียนได้ทั้งหมด ความว่า พึงเป็นผู้มีกำมือเปล่าในวิชาศิลปะที่ตนสอนนั้น.  คำว่า ศิษย์ผู้นี้จะไม่เสื่อมได้อย่างไร คือศิษย์ผู้นี้จะถึงความเจริญไม่เสื่อมได้ ด้วยอุบายวิธีไหนหนอ.  คำว่า พึงประคับประคองโดยธรรม ความว่า เมื่อศิษย์พลั้งพลาด คือทำความผิดในมารยาท เป็นต้น อาจารย์ไม่พึงมุ่งแต่จะติเตียนด่าว่าอย่างเดียว ทว่าพึงประคับประคองโดยธรรม คือโดยการตักเตือนบ้าง ชี้ให้เห็นคุณเห็นโทษ บ้างเป็นต้น โดยประการที่จิตจะเกิดความอุตสาหะในอันที่จะปฏิบัติให้ถูกต้อง ต่อไป.  ด้วยคำว่า ขอท่านจงมอบดวงตา ฯลฯ เพื่ออันจะใช้ข่มพวกปรวาทีทั้งหลายเถิด ดังนี้ บัณฑิตทั้งหลายย่อมทราบว่า บัดนี้ พระเจ้ามิลินท์พระองค์นี้ ทรงเป็นผู้ชำระพระทัศนะของพระองค์ให้หมดจดได้แล้ว.  จบคำอธิบายเกี่ยวกับอาจริยคุณ ๒๕ ประการ

อุปาสกคุณ คุณธรรมของบุคคลผู้เป็นอุบาสก

พระเถระถวายพระพร ยอมรับว่า ถูกต้องแล้ว ขอถวายพระพร ดังนี้แล้ว ก็ได้แสดง อุปาสกคุณของผู้เป็นอุบาสก ๑๐ ประการ ว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร อุปาสกคุณของผู้เป็นอุบาสก มี ๑๐ ประการเหล่านี้ ๑๐ ประการอะไรบ้าง ? ขอถวายพระพร ผู้เป็นอุบาสกในพระศาสนานี้ ย่อมเป็นผู้ร่วมสุขร่วมทุกข์กับพระสงฆ์ ๑ ย่อมเป็นผู้มีธรรมเป็นใหญ่ ๑ ย่อมเป็นผู้ยินดีในการแบ่งปันตามสมควรแก่กำลัง ๑ เห็นความเสื่อมแห่งพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าแล้ว ก็พยายามเพื่อให้เจริญ ๑ ย่อมเป็นบุคคลผู้มีสัมมาทิฏฐิ ๑ ปราศจากการถือมงคลตื่นข่าว ไม่อ้างผู้อื่นว่าเป็นศาสดา แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ๑ มีอันได้รักษาความประพฤติทางกายและทางวาจา ๑ มีความพร้อมเพรียงเป็นที่ยินดี ยินดีในความพร้อมเพรียง ๑ เป็นคนไม่มักริษยา ๑ ไม่ประพฤติในพระศาสนาด้วยอำนาจแห่งความหลอกลวง ๑ เป็นผู้ถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมว่าเป็นสรณะ ถึงพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ๑ ขอถวายพระพร อุปาสกคุณแห่งบุคคลผู้เป็นอุบาสก มี ๑๐ ประการ เหล่านี้ แล คุณทั้งหมดเหล่านั้น ก็มีอยู่ในพระองค์ ข้อที่พระองค์ทรงพบเห็นความเสื่อมแห่งพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าแล้ว ก็ทรงหวังซึ่งความเจริญ จัดเป็นข้อที่ถูกต้อง เป็นข้อที่ควรถึง เป็นข้อที่เหมาะ เป็นข้อที่ควรของพระองค์ อาตมภาพขอถวายพระพรกระทำโอกาสแก่พระองค์ ขอพระองค์จงทรง ซักถามอาตมภาพ ตามสะดวกพระทัย เกิด.  จบอุปาสกคุณ ๑๐ ประการ

คำอธิบายเกี่ยวกับ อุปาสกคุณ ๑๐ ประการ

คำว่า ย่อมเป็นผู้มีธรรมเป็นใหญ่ คือมีความหนักแน่นในธรรม ถือธรรมเป็นประมาณ ไม่ถือตนหรือโลกเป็นประมาณ.  คำว่า ย่อมเป็นผู้ยินดีในการแบ่งปันตามสมควรแก่กำลัง คือย่อมเป็นผู้ยินดีในการแบ่งปันปัจจัยที่ได้มาโดยธรรมแก่ภิกษุสงฆ์ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ตามสมควรแก่กำลังของตน คือเท่าที่ตนจะสามารถแบ่งปันได้.  คำว่า เห็นความเสื่อมแห่งพระศาสนาของพระชินวรพุทธเจ้าแล้ว ก็พยายามเพื่อให้เจริญ คือพบเห็นภิกษุทั้งหลายผู้ทอดทิ้งธุระในพระศาสนา ประพฤติย่อหย่อนในสิกขา ๓ เป็นต้นแล้ว ก็พยายามเพื่อความไม่เป็นอย่างนั้น โดยอุบายวิธีทั้งหลาย ตามสมควรแก่ความสามารถและเพศฆราวาสของตน พร้อมทั้งทำนุบำรุงส่งเสริมภิกษุผู้ที่ขนขวายธุระ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในพระศาสนา ตนเองก็ฟังธรรมบ้าง ปฏิบัติกรรมฐานบ้าง ตามสมควรแก่โอกาส.  คำว่า ย่อมเป็นบุคคลผู้มีสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ ไม่อ้างผู้อื่นว่าเป็นศาสดา แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ประกอบความว่าย่อมเป็นผู้มีความเห็นถูกเห็นตรงมีความเห็นถูกต้องตรงว่าบุคคลมีกรรมเป็นของตน เป็นต้น โดยการฟังธรรมของพระตถาคต ไม่เป็นผู้แตกตื่นเชื่อถือในมงคล มีทิฐิมงคล (มงคลคือการเห็นสิ่งน่าเจริญตา มีเห็นพระราชาเป็นต้น) เป็นต้นเพราะว่าเชื่อถือกรรม เชื่อถือผลของกรรมเท่านั้น เป็นประมาณ ไม่ยอมกลับกรอกเปลี่ยนใจ อ้างศาสดาอื่นจากพระผู้มีพระภาคสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นศาสดาตน แม้ต้องสละชีวิต.  คำว่า มีอันได้รักษาความประพฤติทางกายและทางวาจา ก็โดยการสมาทานศีลสิกขาบท ๕ บ้างสิกขาบท ๘ บ้าง ตามสมควรแก่ความสามารถ ทั้งไม่ประกอบมิจฉาอาชีวะ.  คำพูดที่เหลือนอกนี้ ง่ายอยู่แล้ว.  จบคำอธิบายเกี่ยวกับอุปาสกคุณ ๑๐ ประการ

จบมิลินทปัญหา (ตอนที่ ๑๖)

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?



คุณของสติคือช่วยให้จิตใจไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์และช่วยรักษากายใจไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย

คุณของสติคือช่วยให้จิตใจไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์และช่วยรักษากายใจไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย

ความรู้สึกตัวหรือความระลึกได้เป็นธรรมชาติของสติ ใจไม่ล่องลอยเป็นลักษณะของสติ สติช่วยไม่ให้หลงลืม เมื่อมีสติก็สามารถคุ้มครองจิตใจหรือช่วยห้ามใจจากความชั่วไว้ได้ และเพราะมีสติจึงสามารถทำใจให้จดจ่อต่อการงานต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

อนึ่ง การมีสติช่วยทำให้มีความจำดีขึ้น ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น จะยืนเดินนั่งนอนก็มั่นคงเพราะมีสติอยู่รอบตัว พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “สติเป็นเหมือนเสาเขื่อนเพราะปักลงมั่นคงในอารมณ์ทำให้ใจไม่หวันไหวไปตามอารมณ์ต่างๆ และสติเป็นเหมือนนายประตูเพราะช่วยรักษาตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่ให้เกิดความยินดียินร้ายในเวลาจิตรับรู้อารมณ์มีรูปเป็นต้น”

เพราะฉะนั้น การมีสตินั้นช่วยให้มีความทรงจำดีขึ้น มีการตื่นตัว มีความระมัดระวัง มีจิตใจอันไม่ว่างเปล่า และมีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี.

พระมหาวัชระ เชยรัมย์

29/3/64



พระภัททกาปิลานีเถรี เอตทัคคะในฝ่ายผู้มีบุพเพนิวาสานุสสติญาณ

พระภัททกาปิลานีเถรี เอตทัคคะในฝ่ายผู้มีบุพเพนิวาสานุสสติญาณ

พระภัททกาปิลานีเถรี เป็นธิดาของเศรษฐีชื่อโกสิยพราหมณ์ ในนครสาคลนคร มารดา ชื่อสุจิบดี เมื่อเจริญวัยขึ้นมาได้ทำอาวาหมงคล เป็นภรรยาของปิปผลิมานพ ตระกูลสัสสปะ เรียกชื่อตามตระกูลว่า “กัสสปะ” นับว่าเป็นสามีภรรยาที่แปลก เพราะทั้งคู่ไม่ยินดีในการถูกเนื้อ ต้องตัวกัน แม้จะนอนบนเตียงเดียวกัน แต่ก็ขึ้นคนละข้าง และมีแจกันดอกไม้ กั้นตรงกลาง อยู่ ครองคู่กัน จนบิดามารดาของทั้งส่องฝ่ายถึงแก่กรรม ทรัพย์สมบัติทั้งหลายจึงตกอยู่ในปกครองดู แลรับผิดชอบของคนทั้งสอง

ไม่ทำบาปแต่ต้องคอยรับบาป

เนื่องด้วยตระกูลทั้งสองนั้น เป็นตระกูลเศรษฐีมีทรัพย์มาก เมื่อรวมเป็นตระกูลเดียวกันก็ ยิ่งมากมายมหาศาล มีสัตว์เลี้ยง และคนงานจำนวนมาก ทั้งสองสามีภรรยา ต้องบริหารสั่งการทุก อย่าง.  วันหนึ่ง ขณะที่กัสสปะผู้สามี ออกไปตรวจดูการทำไร่ไถนาอยู่นั้น เห็นนกกาจิกกินสัตว์ เหล็กสัตว์น้อยแล้ว รู้สึกสลดใจ ที่ตนเองจะต้องคอยรับบาปกรรม ที่คนอื่นทำ แม้นางภัททกาปิลานี ใช้ให้ทาสและกรรมกร นำเมล็ดถั่วเมล็ดงามาตากที่ลานหน้าบ้าน เห็นนกกามาจิกกินตัวหนอนก็ เกิดสลดใจเช่นกัน

ดังนั้น เมื่อสองสามีภรรยาอยู่กันพร้อมหน้า จึงปรึกษากันแล้วมีความเห็นตรงกันว่า ไม่ ควรจะมานั่งคอยรับบาปกรรม ที่คนอื่นกระทำเพื่อตนเลย จึงพร้อมใจกัน มอบทรัพย์สมบัติทั้ง หมดให้แก่หมู่ญาติ และทาสกรรมกร แบ่งกันไปดูแล ส่วนตนทั้งสองได้ปลงผม แล้วนุ่งห่ม ผ้ากาสาวพัสตร์ อธิษฐานเพศบรรพชิต บวชอุทิศต่อพระอรหันต์ในโลก แล้วเดินทางออกจาก บ้านไปด้วยกัน พอถึงทางแยกสองแพร่ง กัสสปะได้ไปทางขวา และได้พบพระบรมศาสดาที่ใต้ ร่วมพหุปุตตนิโครธ แล้วกราบทูลขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา

บวชในสำนักปริพาชก

ส่วนนางภัททกาปิลานี แยกไปทางซ้าย เดินทางไปพบสำนักของปริพาชก จึงบวชอยู่ใน สำนักนั้นถึง ๕ ปี เนื่องด้วย ขณะนั้นพระพุทธองค์ยังมิทรงอนุญาตให้สตรีบวช ในพระพุทธ ศาสนา ต่อมาเมื่อพระนางปชาบดีโคตรมี ได้บวชแล้ว นางจึงได้มาบวชในสำนักของนางภิกษุณี ได้ ศึกษาพระกรรมฐาน บำเพ็ญวิปัสสนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๓ อภิญญา ๖ เป็นผู้ชำนาญในบุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ญาณเป็นเครื่องระลึกชาติ

ดังนั้นพระบรมศาสดา ขณะประทับอยู่ ณ พระเชตะวันมหาวิหาร เมื่อ ทรงสถาปนา ภิกษุณีทั้งหลายไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระภัททกาปิลานีเถรี ใน ตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่าย ผู้มีบุพเพนิวาสานุสสติญาณ

วิโมกข์ ความหลุดพ้นจากกิเลส มี ๓ ประการ :- ๑. สุญญตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยเห็นอนัตตาคือความว่าง  ๒. อนิมิตตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยเห็นอนิจังแล้วถอนนิมิตได้  ๓. อัปปณิหิตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยเห็นทุกข์แล้วถอนความปรารถนาได้ 

ที่มา : http://www.thammapedia.com/sankha/bhikkhuni_puttakapilani.php



วันอังคารที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2564

“สุขที่แท้จริง” คือ เหนือสุข เหนือทุกข์


 “สุขที่แท้จริง” คือ เหนือสุข เหนือทุกข์

.... “พระนิพพาน” เป็น “บรมธรรม” กําจัดปัญหาไม่มีอะไรเหลือ แต่เรามักจะพูดกันว่ากําจัดทุกข์ไม่มีอะไรเหลือ ระวังให้ดี ถ้าสุขเหลืออยู่มันก็เป็นปัญหา มันต้องหมดไป เพราะความสุขนี้มันก็เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่ในตัวความสุขนี้เอง ไม่สุข ไม่ทุกข์ นั่นแหละ ที่เรียกว่า “สุขที่แท้จริง” สุขอย่างชาวบ้านรู้จักนั้นมันเป็นสุขอย่าง “สังขาร” ต้องมี..ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อยู่ในความสุขนั้น ถ้าไม่พูดว่าเป็นความสุขก็จะไม่มีใครสนใจพระนิพพาน พอไปพูดว่าพระนิพพานเป็นความสุข มันก็เข้าใจว่าเป็นความสุขอย่างที่รู้จักอยู่….

ขอให้ใช้คําว่า “หมดปัญหา” ดีกว่า หมดปัญหาหรือจะเรียกว่าเหนือสุขเหนือทุกข์ ถ้าพระพุทธเจ้าตรัสว่า พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง เพราะท่านพูดภาษาชาวบ้าน ให้เกิดความสนใจในหมู่คนธรรมดา เป็นสุขชนิดอย่างยิ่ง ไม่ใช่สุขตามธรรมดา สุขตามธรรมดามันสุขๆ ทุกข์ๆ ล้มลุกคลุกคลาน ถ้าสุขอย่างยิ่งไม่มีความเป็นอย่างนั้น เพราะว่ามันอยู่เหนือปัญหา” - พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายแก่คณะสมาธิภาวนา ครั้งที่ ๕ วันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๓๔ ที่สวนโมกขพลาราม

“นิพพาน” กับ “สังขาร”

“นิพพาน” ในพุทธศาสนานั้น เมื่อกล่าวสำหรับคนทั่วไปแล้ว พึงเข้าใจเถิดว่ามันตรงกันข้ามกับคำว่า “สังขาร” โดยบาลีว่า :- 

“สงฺขารา ปรมา ทุกฺขา” สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์อย่างยิ่ง.  “นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ” นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง.  ดังนั้น จึงได้ความว่า สิ่งที่เรียกว่านิพพานนั้น ก็คือไม่ปรุงนั่นเอง ความปรุง คือ เวียนว่ายไปในสังสารวัฏฏ์ เป็นความทุกข์.  ความไม่ปรุง คือ มีสติปัญญาสูงถึงขนาดที่ตัดผ่าวงกลมนี้ได้ขาดกระจายออกไป ไม่ให้หมุนได้อีกต่อไป คือไม่เป็นสังสารวัฏฏ์ อย่างนี้เรียกว่า “ไม่ปรุง” เกิดมาเพื่อหยุดเสียซึ่งสังสารวัฏฏ์ ให้ถึงที่สุดของความทุกข์ คือไม่มีทุกข์เลย นี่เรียกว่า นิพพาน อย่างนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ลึกลับมหัศจรรย์เหลือวิสัยของคน” - พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายเรื่อง “เกิดมาเพื่อเดินทาง” เมื่อ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๐๘,  ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ – รวบรวม



ภัยต่อพุทธศาสนา ที่น่ากลัวกว่าเรื่องอื่นๆ

ภัยต่อพุทธศาสนา ที่น่ากลัวกว่าเรื่องอื่นๆ

“แม้ปัจจุบันนี้มันก็เป็นการยากที่จะสอนลัทธิเรื่อง "ไม่มีตัวตน" เป็นการยากที่จะสอนลัทธิธรรมะบริสุทธิ์ล้วนๆ เพราะว่าเรื่อง "ไสยศาสตร์" มันกลับมาอย่างเข้มข้น เชื่อเรื่องตัวตน เชื่อเรื่องผีสางเทวดาอะไรที่มันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นเรื่องไม่ใช่พุทธศาสนา แล้วก็ลุกลามเข้ามาในขอบเขตของพุทธศาสนา จนกลายเป็นว่าเรื่องไสยศาสตร์นั้นเขาไปทำกันกลางโบสถ์ ในโบสถ์ของพุทธศาสนานั้นเอง อย่างนี้น่ากลัวกว่าอันตรายของพุทธศาสนาที่น่ากลัวกว่า ก็คือเรื่องอย่างนี้ อย่าไปทะเลาะกันเรื่องอย่างอื่นเลย จงดูไอ้ความน่ากลัว ที่เป็นการต่อสู้กันระหว่างความถูกต้องกับความไม่ถูกต้อง ระหว่าง "วิชชา" กับ "อวิชชา" ระหว่าง "พุทธศาสนา" กับ "ไสยศาสตร์" ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าหวาดเสียว น่าอันตรายอย่างยิ่ง ถ้าเอาไสยศาสตร์หรือความขลังความศักดิ์สิทธิ์มาใส่ลงไปในพุทธศาสนา พุทธศาสนาก็หมด จึงเตือนแล้วเตือนอีกว่า "อย่าเอาความขลังความศักดิ์สิทธิ์ มาใส่ลงไปในพุทธศาสนา พุทธศาสนามันจะหมด มันกลายเป็นไสยศาสตร์ไป"
จงรักษาความเป็นไปตามหลักแห่งเหตุผล คือ "กฏอิทัปปัจจยตา" ให้คงมีอยู่ในพุทธศาสนา นั่นแหละ ป้อมค่ายมั่นคงของพุทธศาสนา" - พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมเทศนาวิสาขบูชา ๒๕๒๗ หัวข้อเรื่อง "การปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความไม่ตาย" เมื่อ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๒๗ จากหนังสือ "การปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความไม่ตาย"

ความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ ระวังให้ดี!

“ระวังให้ดี! ในโบสถ์ที่มีแต่การอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ เสี่ยงเซียมซี นั้น จะไม่มี“ธรรมะ”อะไรเลยก็ได้ นอกจาก “การขอทานทางวิญญาณ” หรือ “การติดสินบน” ที่เอาเปรียบมากเกินไป ถ้าเอาความขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ มาใส่ให้แก่ศาสนาแล้ว เราก็ไม่ต้องทำอะไรกัน นอกจากนั่งอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์กันเรื่อยไป แล้วจะอยู่กันได้อย่างไร ความขลัง หรือ ศักดิ์สิทธิ์ ของท่านอาจารย์“ผู้วิเศษ”นั้น ขึ้นอยู่กับ..ความงมงายมาก งมงายน้อย โง่มาก โง่น้อย ของผู้เป็นสาวกนั่นเอง จึงไม่เกี่ยวกับพุทธศาสนา ซึ่งมี “ยถาภูตสัมมัปปัญญา” เป็นหลัก ถ้ายังชอบคำว่า ขลัง หรือ ศักดิ์สิทธิ์ ก็ยกให้เป็นอำนาจของ “กฎอิทัปปัจจยตา” อย่าให้เป็นความขลังศักดิ์สิทธิ์ ที่ตั้งรากฐานอยู่บนความงมงายของประชาชนเลย” - พุทธทาสภิกขุ


ที่มา : จากหนังสือ “อสีติสังวัจฉรายุศมานุสรณ์” หน้า ๑๘

"ไสยศาสตร์" มันจำเป็นสำหรับ..คนปัญญาอ่อน "สิ่งที่เรียกว่าไสยศาสตร์นี่ มันจำเป็นสำหรับ..คนปัญญาอ่อน ไสยศาสตร์เป็นศาสนาของคนปัญญาอ่อน คุณอย่าปัญญาอ่อนสิ อย่าเป็นผู้ปัญญาอ่อน ไสยศาสตร์จะหมดอำนาจหมดกำลัง ถ้าคุณยังเป็นปัญญาอ่อนอยู่มันก็ยังต้องการไสยศาสตร์อย่างที่หลีกไม่ได้ช่วยไม่ได้... มันเป็นต้นตอแห่งปัญหาของโลกทั้งโลกเลย มันเป็นปัจจัยที่หล่อเลี้ยงอวิชชาไว้มากเหลือเกิน ไสยศาสตร์เป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงอวิชชาไว้ให้ยังคงมีกำลังรุนแรงอยู่ตลอดเวลา ปัญหาทางไสยศาสตร์ โลกมันถูกครอบงำอยู่ด้วยปัญหาอย่างนี้ มันจึงลืมตาไม่ขึ้น แม้ว่าจะมีการศึกษา เจริญก้าวหน้าเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นบัณฑิตเป็นอะไรกันเต็มที่แล้ว ไอ้ความรู้สึกทางไสยศาสตร์มันก็ยังอยู่ ต่อให้ไปเรียนจากเมืองนอกมีปริญญาเป็นหางมาถึงเมืองไทย ก็ยังไม่ละทิ้งไอ้ไสยศาสตร์ได้ คือ ความกลัวโดยไม่มีเหตุผล ความอยากโดยไม่รู้จักประมาณ  ความเชื่อว่ามีสิ่งหนึ่งซึ่งเราไม่รู้ได้ไม่เห็นหน้าได้ไม่รู้จักได้ เป็นสิ่งที่มีอำนาจอยู่เบื้องหลัง แม้จะไปเรียนวิทยาศาสตร์จบปริญญาวิทยาศาสตร์มามันก็ไม่ละทิ้งความรู้สึกอันนี้ได้ เพราะมันฝังอยู่ลึก อาตมารู้จักด็อกเตอร์อังดรัวต์คนหนึ่ง จบมาจากประเทศฝรั่งเศส สิ่งแรกที่มาถึงประเทศไทยที่เขาจะทำคือไปรดน้ำมนต์ที่วัดไหนดี เขาบอกว่าช่วยแนะให้ที จะไปรดน้ำมนต์ที่วัดไหนดี กลับมาจากเมืองนอกใหม่ๆ สิ่งที่เขาจะทำ ก็แปลว่าไอ้การศึกษาที่เมืองนอกมันไม่ช่วยแก้ไอ้ความรู้สึกแบบไสยศาสตร์ได้ นักวิทยาศาสตร์มันก็ยังงมงายในด้านจิตใจ แม้มันจะสว่างไสวในด้านวัตถุ มันยังงมงายด้านจิตใจ  ฉะนั้น ความหวังที่จะได้อะไรจากสิ่งที่มองไม่เห็นตัว หรือความงมงายนั้น มันก็ยังเหลืออยู่เท่าเดิม 
ทำไมเราจึงปัญญาอ่อน เพราะว่าไอ้ศรัทธางมงายมันมาแย่งเอาไป แย่งรากฐานเอาไปหมด ศรัทธาที่งมงายมันมาแย่งรากฐานเอาไปหมด รากฐานของปัญญาแล้ว ปัญญามันจึงทรุดลงเป็นปัญญาอ่อน ปัญญาอ่อนอย่างนี้หมายความว่าปัญญาทางจิตทางวิญญาณ ไม่ใช่ปัญญาอ่อนทางวัตถุ เด็กๆ ทุพพลภาพ เด็กหรือสัตว์พิการสมองพิการปัญญาอ่อนอย่างนั้นไม่เกี่ยวกันกับเรื่องนี้ 

ปัญญาอ่อนในเรื่องนี้หมายถึงว่ามันอ่อนไปด้วยความรู้ ความถูกต้องของพระธรรม มันปัญญาอ่อนอย่างนี้ ไอ้เด็กปัญญาอ่อนที่เก็บไว้ตามโรงพยาบาลนั่นไม่เป็นไร นั่นมันเป็นธรรมชาติ มันเป็นความไม่สมประกอบของไอ้ระบบกาย แต่คนที่มีร่างกายดี กลับมีปัญญาอ่อนเพราะรู้ผิดนี่ คือสิ่งที่เป็นปัญหา ที่ทำให้โลกนี้จมอยู่ในความมืดไม่ลืมตา เราเรียกกันว่าไสยศาสตร์ ปัญญาอ่อนเท่าไร มันก็ยิ่งต้องการไสยศาสตร์มากเท่านั้นแหละ
ใครปัญญาอ่อนเท่าไร เขาจะยิ่งชอบยิ่งต้องการไสยศาสตร์มากเท่านั้น น่าเห็นใจ จะแก้ไขกันอย่างไร มันก็ต้องเพิ่มปัญญา อย่าให้อ่อน ให้เป็นปัญญาแข็ง ถ้าถูกด่าว่าปัญญาอ่อนอย่าโกรธเลย ถ้าเขาหาว่าเราปัญญาอ่อนบ้างก็อย่าโกรธเลย เพราะมันอ่อนอยู่จริงๆ รีบทำให้มันกล้าแข็งเสียเถิด" - พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : แสดงธรรมล้ออายุ ปี ๒๕๒๕ หัวข้อธรรม "อยากจะร้องไห้ เพราะจะต้องรักษาไสยศาสตร์ไว้สำหรับคนปัญญาอ่อน"

คำว่า “ขลัง-ศักดิ์สิทธิ์”
ไม่มีในพระพุทธศาสนา แต่ก็ยังมีคำว่า... “สีลัพพตปรามาส”อยู่แทน ทั้งนี้ เพราะในพระพุทธศาสนา ไม่มีหรือไม่ต้องการจะมี นั่นเอง ความขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ ของท่าน“อาจารย์ผู้วิเศษ”นั้น ขึ้นอยู่กับ... ความงมงายมาก งมงายน้อย ความโง่มาก โง่น้อย ของผู้เป็น“สาวก” นั่นเอง จึงไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ซึ่งมี“ยถาภูตสัมมัปปัญญา” เป็นหลัก. - พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : จาก“ฟ้าสางทางความลับสุดยอด”, ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ - รวบรวม




โดยธรรมชาติ ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่อาจแยกกัน ต้องมีพอดีกัน (พุทธทาสภิกขุ)

โดยธรรมชาติ ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่อาจแยกกัน ต้องมีพอดีกัน 

…. “ ฉะนั้น จึงขอร้องให้สนใจ ทําจิตให้เป็นสมาธิ นี่เป็นตัวแกนกลาง แกนกลางยืนโรงอยู่. ตั้งจิตให้เป็นสมาธิ ศีลมันจะมาตลอดเวลาที่เราตั้งจิตทําสมาธิถึงที่สุด, จะไปทุศีลขาดศีลกันไม่ได้ดอก เมื่อตั้งใจจะทําสมาธิอยู่ แต่ถ้ามันขาดศีลอยู่ก่อนโน้น ก็ตามเรื่อง นั้นก็ไปทํา ไปชะล้างกันเสียก่อน : ไปปลงอาบัติกันเสียก่อน ไปทําอะไรกันเสียก่อน แล้วก็มาตั้งหน้าตั้งตาทําสมาธิ แล้วศีลก็จะมีมาเองอย่างเพียงพอ แล้วปัญญาก็จะค่อยๆ ออกมาอย่างเพียงพอ แล้วมันก็เกิดความเพียงพอทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา นี้เรียกว่า จิตตภาวนา การเจริญจิต หรือ การอบรมจิต.

…. ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่อาจแยกกันได้ เรียกว่าโดยธรรมชาติแล้ว ศีล สมาธิ ปัญญา สามอย่างนี้ไม่อาจจะแยกกัน ; ถ้าจะให้ทําการงานอะไรสักอย่างแล้วไม่อาจจะแยกกัน : ไม่ต้องพูดถึงเรื่องธรรมะ, เรื่องธรรมดาสามัญในบ้านในเมือง เราจะทําอะไรอย่างนี้ มันต้องมีการควบคุมมือ, หรือควบคุมสิ่งที่จะทํา, แล้วก็ควบคุมจิต แล้วก็มีปัญญาที่จะทํา

…. อย่างเราจะผ่าฟืน, เลวอย่างต่ำที่สุด เราจะผ่าฟืน เราต้องควบคุมมือ นี้มันเป็นศีล ; เราต้องควบคุมจิต นี้มันเป็นสมาธิ, แล้วต้องมีความรู้พอที่จะผ่าอย่างไรสําหรับไม้ชิ้นนี้ มันก็เป็นปัญญา,

…. ฉะนั้น ในการกระทําของมนุษย์ที่จะสําเร็จประโยชน์แล้ว จะต้องมีพร้อม ทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ขาด ; ถ้าขาดแล้วทําไม่ได้. ตัวอย่างผ่าฟืนนั่น ลองขาดการควบคุมมือ เดี๋ยวมันก็ตัดเอาตีนแหละ แทนที่จะไปตัดไม้ฟืน, มันก็ทําไม่ได้ดอก, ไม่ว่าจะทําอะไร คุณจะทําเลข คุณจะเรียนหนังสือ คุณจะทําอะไร มันจะต้องมีลักษณะแห่งศีล สมาธิ ปัญญา พร้อมกันอยู่ที่นั่น แล้วกลมกลืนกันเป็นอันเดียวกัน ไม่แยกกันเป็น ๓ อย่างดอก

…. นี้เป็นหลักสําคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา ว่าจะต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา ตามสัดส่วน แล้วกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน : เขาเรียกว่า “ธัมมสมังคี” ความสมังคีแห่งธรรมะ. สมังคี แปลว่า มีส่วนประกอบเสมอพอดี, พอดีกัน คือ เหมาะส่วน. ถ้าแจกเป็นแปด เป็น “อริยมรรคมีองค์แปด” แล้วก็เรียกว่า “มัคคสมังคี”, มรรคทั้งแปดองค์ต้องมาพร้อมกันหมดเลย ทั้ง ๘ องค์มาเป็นเรื่องเดียวกัน แล้วก็ทําหน้าที่ตัดกิเลส. มรรคมีองค์แปด ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เพียงแต่ว่ากระจายออกเป็น ๘ ส่วน ไม่ว่าอะไรๆละ มันจะรวมอยู่ที่ศีล สมาธิ ปัญญา จะลดให้น้อยลงก็ได้ จะให้พูดให้มากออกไปก็ได้ แต่แล้วต้องมาด้วยกันทั้งนั้นแหละ ฉะนั้น เรารู้เรื่อง ธรรมชาติว่าศีล สมาธิ ปัญญา มันไม่เคยแยกกัน ถ้ามันจะต้องทํางานหรือทําหน้าที่”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายประจำวันเสาร์ ภาคมาฆบูชา ชุดธรรมะเล่มน้อย หัวข้อเรื่อง “จิตตภาวนา คือชีวิตพัฒนา” บรรยายเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๒๖ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “ธรรมะเล่มน้อย” หน้า ๕๘-๕๙

พุทธธรรม พุทธทาสภิกขุ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ




“ชีวิต และ กระแสแห่งชีวิต” (พุทธทาสภิกขุ)

“ชีวิต และ กระแสแห่งชีวิต” (พุทธทาสภิกขุ)

…. “ ชีวิตที่มีพื้นฐานหรือธรรมะที่เป็นพื้นฐานของชีวิต” ในวันนี้ก็จะได้พูดถึง “การควบคุมกระแสแห่งชีวิต” นี่ใช้ภาษาที่มีใช้กันอยู่ในทางธรรมะ เพื่อให้มันมีพื้นฐานที่ถูกต้อง แล้วก็เพื่อให้มีธรรมะที่เป็นพื้นฐานอย่างเพียงพอ ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง เพราะมีธรรมะพื้นฐานอย่างเพียงพอมีผลเป็น “ชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ” แล้วก็มีความเยือกเย็น และเป็นประโยชน์ คําสั้นๆเหล่านี้ อมความทั้งหมด คือทั้งหมดในพรหมจรรย์ 

…. “เยือกเย็น” หมายความว่า ดับทุกข์สิ้นเชิง และเป็นประโยชน์ ไม่เป็นหมัน เป็นประโยชน์แก่ตนเองและแก่ผู้อื่น มันขยายความออกไปได้มากมาย การบรรลุธรรมะ มรรค ผล นิพพาน มีชีวิตอยู่ในโลกนี้อย่างที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย เรียกโดยสํานวนง่ายๆ ที่พวกฝรั่งเขาชอบกันนัก ก็คือว่า “เป็นชีวิตที่ไม่กัดเจ้าของ”

…. ชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยความไม่รู้ คือ “อวิชชา” - ความไม่รู้ นี่มันกัดเจ้าของอยู่ตลอดเวลา เพราะความไม่รู้ คือมีความทุกข์ เดี๋ยวทุกข์อย่างนั้น เดี๋ยวทุกข์อย่างนี้ เดี๋ยวทุกข์อย่างโน้น กลายเป็นสัตว์ที่เลี้ยงไม่เชื่อง กัดเจ้าของอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น เราจะจัดการกับมันให้ถูกต้อง ไม่กัดเจ้าของ เยือกเย็น เป็นประโยชน์ นั่นแหละคือความมุ่งหมาย

…. ทีนี้ เราก็จะต้องรู้จักตัว “ชีวิต ว่ามันคืออะไร จึงจะควบคุมมันได้ นี่คือสิ่งที่เรายังไม่รู้ หรือว่าที่เราอุตส่าห์มาบวช ศึกษาเล่าเรียนเพื่อปฏิบัติ ก็เพื่อจะให้มันรู้ว่ามันคืออะไร? แล้วจะจัดการกับมันอย่างไร จึงจะได้รับประโยชน์ คุ้มกับค่าที่มาบวช ลองคิดดู เรารู้จักมันแล้วหรือยัง และสามารถควบคุมมันได้แล้วหรือยัง แล้วเราก็มองเห็นว่ายัง หรือยังไม่พอ จึงมาบวชมาศึกษา เตรียมพร้อมเพื่อจะให้มันเผชิญกับชีวิตอย่างถูกต้อง

…. สิ่งที่เรียกว่าชีวิต มันมีกระแส “โสตะ” โสตะ หรือ โสดา แปลว่า “กระแส” หมายความว่า เนื่องกันและไหลไป เนื่อง กัน เปลี่ยนแปลงไป เนื่องกันด้วยการเปลี่ยนแปลงไป อย่างนี้เรียกว่า กระแส-โสตะ, จะต้องรู้จัก “กระแสแห่งชีวิต” โดยตรง ว่ามันเป็นอย่างไร มันเป็นอย่างไรกันก่อน ถ้าว่าจะเอากันตามธรรมดาสามัญ ชาวบ้านทั่วไปก็ไม่ต้องรู้เรื่องอะไรนัก นอกจากทํามาหากิน หาประโยชน์ หาความร่ำรวย หาอํานาจวาสนา แล้วมันก็จะพอ.

…. แต่เดี๋ยวนี้เราต้องการที่มันประณีตละเอียดสุขุมมากกว่านั้น คือ “กระแสของชีวิตที่เยือกเย็น” เราต้องรู้มากกว่าที่ชาวบ้านคนเดินถนนเขารู้กัน จึงมีการศึกษาสิ่งที่ควรจะรู้ ก็คือสิ่งที่เป็นหัวข้อที่เราศึกษาเล่าเรียนกันนั่นแหละ แต่ว่า เป็นชั้นลึกเรียกว่า “ปรมัตถ์” จะแจกออกไปให้เห็นชนิดที่ถูกต้องและเพียงพอสัก ๕ หัวข้อ ขอให้ฟังให้ดี จําไว้ให้ได้ คือ คําว่า “ธาตุ” ธาตุ ธาตุตามธรรมชาติ แล้วธาตุก็ปรุงให้เกิดมี “อายตนะ” อายตนะภายในด้วยภายนอกด้วย อายตนะก็ปรุงให้มีสิ่งที่เรียกว่า “ขันธ์” ขันธ์ทั้ง ๕ ในสิ่งที่เรียกว่าขันธ์นั้นมีกระแสแห่ง “ปฏิจจสมุปบาท” เป็นเรื่องข้อที่ ๔ ในปฏิจจสมุปบาทนั้นมีสิ่งเลวร้ายอยู่โดยเฉพาะ คือ “ความทุกข์”  

…. ดังนั้น เราจึงต้องเรียนกันทั้ง ๕ หัวข้อเป็นอย่างน้อย เรื่อง“ธาตุ”, เรื่อง“อายตนะ”, เรื่อง“ขันธ์”, เรื่อง“ปฏิจจสมุปบาท”, แล้วก็เรื่อง“ทุกข์” 

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายหัวข้อเรื่อง “การควบคุมกระแสแห่งชีวิต” บรรยายอบรมพระนวกะ ในพรรษา ปี ๒๕๓๓  ณ สวนโมกขพลาราม  จากหนังสือชื่อ “กระแสชีวิต” หน้า ๘๔-๘๗

พุทธธรรม พุทธทาสภิกขุ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ


“คนฉลาดทำเคราะห์ให้เป็นโอกาส แต่คนประมาททำโอกาสให้เป็นเคราะห์” (ป. อ. ปยุตฺโต)

“คนฉลาดทำเคราะห์ให้เป็นโอกาส แต่คนประมาททำโอกาสให้เป็นเคราะห์”

.... “คนไทยเรานี้ เวลาเกิดสถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นเหตุร้าย ก็จะมีคนหลายระดับ เราจะต้องเห็นใจกัน คนที่ยังมีจิตใจอ่อนแอเราก็ให้โอกาสเขาบ้าง การโอดโอยโวยวายคร่ำครวญจะมีบ้าง เราก็เห็นใจและรู้ทัน อย่าไปนึกอะไรมาก ฟังเขาไป เขาจะด่าจะว่า ก็ฟังได้ ยิ่งถ้าเป็นผู้นำเป็นผู้บริหาร ก็ยิ่งต้องอดทน ต้องให้เขาระบาย ไม่ไปต่อล้อต่อเถียง แล้วก็ปลอบโยนให้สติเขาดีๆ ตามเหตุตามผล แม้แต่เทวดา ก็ยังต้องยอมให้โอกาสคน อย่างที่ว่าฝนตกก็แช่ง ฝนแล้งก็ด่า

.... ขอแต่ว่า เมื่อโอดครวญกันแล้วก็อย่าไปจบไปหยุดอยู่แค่นั้น ต้องผ่านขั้นนี้ไป พอระบายอารมณ์แล้ว ก็ตั้งสติ สงบแล้วรีบหันมาทำการแก้ไขด้วยปัญญา แล้วเอาเหตุการณ์ร้ายหรือปัญหามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ปัญหาจะต้องใช้เป็นเวทีพัฒนาปัญญา คือปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ถ้าเราใช้ความคิดพิจารณาค้นหาเหตุปัจจัยและหาทางแก้ไข เราจะพลิกปัญหาให้เป็นปัญญา เปลี่ยนอักษรตัวเดียวจากปัญหาก็เป็นปัญญาไป

.... คนที่เก่งนั้นเขาเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญา และใช้ปัญหาเป็นเวทีพัฒนาปัญญา แล้วก็เปลี่ยนเคราะห์ให้เป็นโอกาส เวลาทุกข์ยากนี่เป็นประโยชน์มาก เวลาสุขสำราญต่างหากที่มักทำให้มัวเมาประมาทพระพุทธศาสนาสอนว่า ถ้าความรุ่งเรืองความสำเร็จเกิดขึ้น อย่ามัวเมา ต้องใช้มันให้เป็นประโยชน์ เอามันเป็นปัจจัยในการสร้างสรรค์ยิ่งขึ้นไป

.... คราวเคราะห์มัวครวญ ยามโชคก็เหลิง เอาแต่หนีเคราะห์และคอยโชค คนอย่างนี้เคราะห์เรียกหา แต่คนเป็นมหาบุรุษได้ ด้วยการผันเคราะห์ให้เป็นโชค และผันโชคให้แผ่ประโยชน์สุข

.... ในด้านนี้ สังคมไทยเราอาจจะพลาดไปแล้ว เมื่อตอนเราฟุ้งเฟื่อง สบาย มีพรั่งพร้อม แทนที่เราจะเอามันเป็นปัจจัยในการสร้างสรรค์ เรากลับไปหลงระเริง มัวเมา ประมาท นี่ท่านเรียกว่า ทำโอกาสให้เป็นเคราะห์ แทนที่จะใช้โอกาสนั้นในการสร้างสรรค์ยิ่งขึ้นไป

.... ทีนี้ถึงเวลานี้เราแย่ลงไปเป็นเคราะห์แล้ว ถ้ามัวไปตีอกชกหัว เศร้าโศก โอดครวญ ก็กลายเป็นซ้ำเติมตัวเอง เคราะห์หนักเข้าไปอีก ถ้ามีสติปัญญา ตอนนี้ได้สติ แล้วใช้ปัญญา ก็ทำเคราะห์ให้เป็นโอกาสเสีย เพราะคราวทุกข์ยากเดือดร้อนนี่แหละ มักเป็นเวลาที่ดีที่สุด คนที่จะเจริญก้าวหน้าได้โดยมากต้องเจอปัญหา จะได้ฝึกตัวเองให้เข้มแข้ง แล้วเคราะห์นี่ก็ช่วยให้ทั้งสังคมทั้งชีวิตคนประสบความสำเร็จมามากมาย

.... จากการเจอเคราะห์เจอปัญหาแล้ว ถ้าเราตั้งตัวดี มีท่าทีถูกต้อง เราก็จะมีความเข้มแข็ง พยายามต่อสู้ดิ้นรนขวนขวายแล้วเราจะได้พัฒนาความสามารถ เราจะได้การฝึกฝนตน ฝึกปรือตัวเอง แล้วได้ปัญญาความสามารถมากขึ้นๆ แล้วชีวิตและสังคมก็จะเจริญก้าวหน้าต่อไป

ขอย้ำคติที่ว่าไว้ข้างต้นอีกครั้งหนึ่งว่า... “คนฉลาดทำเคราะห์ให้เป็นโอกาส  แต่คนประมาททำโอกาสให้เป็นเคราะห์”

.... เป็นอันว่า ตอนนี้มีเคราะห์แล้ว ยอมให้มีความเศร้าโศกเสียใจโอดครวญกันชั่วระยะสั้นๆ พอระบายเสร็จแล้วก็ให้รีบตั้งสติ ต่อไปนี้ก็รีบมาดีใจว่าเจอเคราะห์แล้ว ทำมันให้เป็นโอกาส ผันเคราะห์ให้เป็นโอกาส แล้วเราก็จะเจริญก้าวหน้าต่อไป ไม่ต้องกลัว

.... ฉะนั้น อย่าไปหมดกำลังใจ พระพุทธศาสนาไม่สอนให้เราท้อแท้ ไม่สอนให้เราท้อถอยอ่อนแอ เมื่อเจอปัญหา เจอเคราะห์กรรม เจอภัยอันตรายแล้ว ให้เข้มแข็ง แล้วใช้มันให้เป็นประโยชน์ในการฝึกปรือตัวเองให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป แล้วเราจะมีความชำนิชำนาญยิ่งขึ้นในการที่จะแก้ปัญหา ในการที่จะผจญเคราะห์กรรมภัยอันตรายให้ผ่านก้าวไปสู่ความสำเร็จในการสร้างสรรค์พัฒนาได้ต่อไป”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : จากธรรมบรรยายหัวข้อเรื่อง “ถ้าอยากพ้นวิกฤติ ต้องเลิกติดไสยศาสตร์”

พุทธธรรม พุทธทาสภิกขุ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ



 “ตถตา” แปลว่า ความเป็นเช่นนั้นเอง เป็นเช่นนั้นเอง... (พุทธทาสภิกขุ)

“ตถตา” แปลว่า ความเป็นเช่นนั้นเอง เป็นเช่นนั้นเอง...

“ตถตา” มีความหมายว่า เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือมันเป็นอย่างนี้เอง หรือว่ามันเป็นอิทัปปัจจยตา คือเพราะมีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆจึงเกิดขึ้น เพราะไม่มีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆจึงดับลง... ทุกสิ่งแสดงความเป็น"เช่นนั้นเอง"อยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่ได้ยิน ไม่ได้เห็น ไม่ได้เข้าใจ...

"ตถตา" นี้สำคัญมาก ถ้าเห็นแล้วปุถุชนก็จะกลายเป็นพระอริยเจ้า เพราะถ้าเห็นแล้วก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดๆในโลก โดยความเป็นตัวตน หรือโดยความเป็น "ตัวกู-ของกู" ก็เพราะเขาไม่เห็นความความเป็นเช่นนั้นเองของสิ่งนั้นๆ.  เพราะเขาไม่รู้ หรือโง่เขลาต่อสิ่งนั้นๆ จึงไปยึดเอาเป็นสิ่งที่น่ารักมีความรัก และโกรธในสิ่งที่ชวนให้โกรธ เกลียดในสิ่งที่ชวนให้เกลียด กลัวในสิ่งที่ชวนให้กลัว แล้วก็เป็นทุกข์เอง....

ตถตา - เป็นเช่นนั้นเอง, อวิตถตา - ไม่ผิดไปจากความเป็นเช่นนั้น, อนัญญถตา - ไม่มีความเป็นไปโดยประการอื่นจากความเป็นอย่างนั้น, ธัมมัฏฐิตตา - มีความตั้งอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาติทั้งหลาย, ธัมมนิยามตา - เป็นกฎตายตัวของธรรมชาติทั้งหลาย, อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปปาโท - ความที่มีสิ่งนี้ ๆ เป็นปัจจัย สิ่งนี้ ๆ ย่อมเกิดขึ้น เมื่อไม่มีสิ่งนี้ๆเป็นปัจจัย สิ่งนี้ๆ ย่อมไม่เกิดขึ้น มันอาศัยกันและกันแล้วเกิดขึ้น.  นี่คือ อาการที่มันเป็นเช่นนั้นเอง ความเป็นอย่างนั้นเอง  เรียกว่า "ตถตา" หรือ "ตถาตา" หรือ ตถา เฉยๆก็ได้... สังขารทั้งหลาย เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง เช่นนั้นเอง ทุกขัง เป็นทุกข์ เช่นนั้นเอง เป็นอนัตตา มิใช่ตัวตน เช่นนั้นเอง. 

พุทธทาสภิกขุ,  ที่มา : ธรรมกถา ตถตาหน้าเชิงตะกอน วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๒๖

ไม่มีอะไรที่จะไม่ใช่เช่นนั้นเอง  

"ช่วยจำให้ดีว่า อะไรๆเกิดขึ้นก็ให้มันรู้สึกได้ว่า มันเป็นเพียง "ความรู้สึก" เท่านั้นหนอ มันเป็นเพียง"ความรู้สึกแห่งจิต"(เวทนา)เท่านั้นหนอ!.  เรื่องดี บ้า สุข ทุกข์ รวย จน เรื่องอะไรต่ออะไรทุกเรื่อง มันเป็น"ความรู้สึก"ของจิตเท่านั้นหนอ.  พอเห็นเป็นความรู้สึกเท่านั้นหนอ มันก็หยุดเป็นทุกข์ทันที.  นี่ ธรรมะที่เป็น..สุญญตา อนัตตา ตถาตา ดับทุกข์ได้อย่างนี้ ทุกระดับ ทุกข์เลวๆโง่ๆมันก็ดับได้ ทุกข์ที่สูงขึ้นไปมันก็ดับได้ ทุกที่สูงที่สุดละเอียดลออมันก็ดับได้ จนกระทั่งบรรลุ มรรค ผล นิพพาน. เพราะฉะนั้น อยู่ในโลกนี้ เป็นคนธรรมดาสามัญ ทำไร่ทำนา หาปู หาปลาได้กินไปวันหนึ่งก็เถอะ ขอให้รู้จักคำว่า "เช่นนั้นเอง" แล้วมันจะไม่มีความทุกข์.  ถ้าเป็นปัญญาชนก็ยิ่งจะต้องรู้ให้มากขึ้นไปอีกว่า "มันเป็นเช่นนั้นเอง" เท่านั้นแหละ! ไม่มีอะไรที่จะไม่ใช่เช่นนั้นเอง" 

พุทธทาสภิกขุ,  พุทธธรรม พุทธทาสภิกขุ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ




จะเห็นธรรม รู้ธรรม อย่างแจ่มแจ้ง ต้องศึกษาจากข้างในจิตใจและร่างกายนี้ (พุทธทาสภิกขุ)

จะเห็นธรรม รู้ธรรม อย่างแจ่มแจ้ง ต้องศึกษาจากข้างในจิตใจและร่างกายนี้ 

…. “พูดมาแล้วหลายสิบครั้งแล้วว่า เรียนจากข้างใน ดูจากข้างใน ไม่ใช่ว่าจากสมุดจากหนังสือ จากตำรา จากพระไตรปิฎก มันเป็นแต่เพียงเล่าเรื่องไว้ให้ฟังสำหรับเราจะศึกษา แล้วเอาไปเรียนจากข้างใน พระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ ข้อนั้นน่ะ เป็นคำบรรยาย คือบันทึกของไอ้สิ่งเหล่านี้ แต่มันจะบอกให้เห็นชัดหรือรู้สึกด้วยจิตใจไม่ได้ เราต้องเอาเรื่องนั้นน่ะ ศึกษาเข้าใจดีแล้วก็ไปใช้เป็นเครื่องมือเรียนจากข้างใน ดูจากข้างใน ศึกษาจากข้างใน ในจิต ในชีวิต จึงจะพบไอ้ตัวจริง โอ้..มันอยู่อย่างนี้ ความทุกข์อยู่อย่างนี้ เหตุให้เกิดทุกข์อยู่อย่างนี้ วิธีดับก็คืออย่างนั้นๆ

…. ฉะนั้น อย่าลืมเสีย ที่ว่าจะต้องเรียนจากข้างใน พูดได้เหมือนกันว่า “หนังสือเล่มข้างใน” อย่าอ่านแต่หนังสือเล่มข้างนอก ขอให้อ่านหนังสือเล่มข้างใน ที่มีอยู่ในจิตใจ ในหัวใจหนังสือนั้น เป็นหนังสือภายใน บรรจุไว้ทุกเรื่อง เช่นเดียวกับพระไตรปิฎกนั่น เป็นบันทึกของเรื่องเหล่านั้นไว้ แต่เรื่องตัวจริงอยู่ข้างใน

…. เพราะฉะนั้น เราจึงหาไม่พบในพระไตรปิฎก ไอ้ที่เป็นตัวจริง พบแต่บันทึกเรื่องนั้นๆ เล่าว่าอย่างนั้นๆ ทีนี้ พอเรามองเข้าไปข้างใน มันจะพบตัวจริงทั้งหมด เรื่องทุกข์ก็ดี เหตุให้เกิดทุกข์ก็ดี ความดับทุกข์ก็ดี ไอ้ทางให้ถึงความดับทุกข์ก็ดี มันอยู่ในข้างใน ในร่างกายที่ยาวเพียงวาหนึ่งนี้ มีโลกทั้งหมดอยู่ในนั้น มีเหตุให้เกิดโลกทั้งหมดอยู่ในนั้น มีความดับสนิทแห่งโลกอยู่ในนั้น มีทางถึงความดับแห่งโลกอยู่ในนั้น นี้ฟังถูกไหม ที่ว่ามีโลกมีจักรวาล มีทั้งหมดอยู่ในร่างกายที่ยาววาหนึ่ง

…. เพราะว่า ไอ้เครื่องให้ “รู้โลก” น่ะ มันอยู่ในร่างกายนี้ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันอยู่ในร่างกายนี้ ไอ้ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่มันจะทำให้โลกมีขึ้นมาได้ มีความหมายขึ้นมาได้ อย่างที่พูดแล้วว่า ถ้าเผอิญเราไม่มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ๖ อย่างนี้ มันก็จะมีอะไร มันก็ไม่มีอะไร เพราะมันรู้สึกไม่ได้ แต่เพราะมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันรู้สึกอะไรได้ เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านั้นมันจึงมีขึ้นมา เพราะความรู้สึกของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

…. ดังนั้น จึงมีความถูกต้องที่จะพูดว่า โลก เหตุให้เกิดโลก ความดับสนิทแห่งโลก หรือ ทางถึงความดับแห่งโลก มีอยู่ในร่างกายนี้ ที่ยาวเพียงวาเดียวนี้ ที่ยังเป็นๆนะ ที่ยังไม่ตายนะ ทีนี้ความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับแห่งทุกข์ ทางถึงความดับทุกข์ ก็มีอยู่ในร่างกายที่ยาววาหนึ่งนี้ ที่ยังเป็นๆอยู่นี้ นี่เรียกว่าให้ดูข้างใน ให้มองเข้าไปข้างในแล้วก็จะพบตัวจริง

…. ในพระคัมภีร์ทั้งหลายมีแต่บันทึก บันทึกเรื่องราว คำบรรยายที่มีคนพูดบรรยายไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือพระพุทธเจ้า เมื่อขึ้นไปถามพระพุทธเจ้าด้วยเรื่องอะไร ท่านก็ตอบอย่างนั้นน่ะ แต่ตัวจริงของเรื่องอยู่ในใจ ในชีวิตของคน เดี๋ยวท่านตอบเป็นคำพูด เป็นเรื่องราวของสิ่งเหล่านั้น นี้ เราก็เก็บไว้เป็นบันทึก เป็นพระคัมภีร์เป็นบันทึกของเรื่องราวเหล่านั้น บันทึกของเรื่องที่มีอยู่ในชีวิตจิตใจของคนแต่ละคน

…. อย่าลืม จะศึกษาธรรมะต้องศึกษาจากข้างใน ต้องมองเข้าไปดูจากข้างใน แล้วก็มีการตั้งต้นขึ้นมา อย่างไรเป็นความทุกข์ ได้พูดตั้งแต่การพูดครั้งแรกแล้วว่า ก ข ก กา ของธรรมะนั้นคืออย่างไร จะต้องรู้ “อายตนิกธรรม” ๕ หมวด หมวดละ ๖ อย่าง รวมเป็น ๓๐ อย่าง ทั้งหมดนั้นมันอยู่ในใจ อยู่ในชีวิต อยู่ในร่างกายนั่น

…. พอรู้เรื่องเหล่านั้น ก็เห็นสิ่งเหล่านั้น แล้วก็จัดการกับสิ่งเหล่านั้นอย่างถูกต้องตามวิธี แล้วความรู้สึกที่เป็นทุกข์มันก็เกิดขึ้นไม่ได้ ความดับแห่งทุกข์ก็อยู่ในร่างกายนี้ เกิดเป็นทุกข์ขึ้นมา มันก็ทำผิดในร่างกายนี้...ความดับทุกข์มันก็อยู่ในร่างกายนี้ และการปฏิบัติก็ปฏิบัติให้ถูกต้องในร่างกายนี้ ด้วยจิตใจนี้ เรื่องธรรมะนี้มันเป็นเรื่องของจิตใจเสียมากกว่า แม้ร่างกายจะพิการ แต่จิตใจไม่พิการ ก็รู้ธรรมะได้เท่ากัน”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยาย หัวข้อเรื่อง “กาลเวลากับชีวิต” อบรมนักศึกษาวิทยาลัยครูสงขลา พ.ศ.๒๕๒๗ เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๒๗

หมายเหตุ / พระพุทธองค์ตรัสถึงเรื่องนี้ ที่มีในพระไตรปิฎก ว่า …. “อนึ่ง เราบัญญัติโลก ความเกิดแห่งโลก ความดับแห่งโลก และข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งโลก ในร่างกายที่มีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญา มีใจ นี้เอง.”

ทุติยโรหิตัสสสูตร, พระไตรปิฎกภาษาไทย, องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๔๖/๗๕

“อริยสัจ ๔” และ มหาวิทยาลัยของพุทธศาสนา มีอยู่ที่ไหน?

“ความทุกข์” นั้น ก็อยู่ในคน คนเป็นทุกข์.  “เหตุให้เกิดทุกข์” อยู่ในคน ก็ได้แก่ ความโง่ของคน, ความอยากของคน, ความยึดมั่นของคน, ทีนี้ ภาวะที่จะดับทุกข์ ที่เป็นความดับทุกข์ ที่ไม่มีทุกข์นั้น ก็ต้องอยู่ที่ตัวความทุกข์ ความทุกข์อยู่ที่ไหนต้องดับที่นั่น ฉะนั้น จึงอยู่ในคน และคนจะต้องปฏิบัติ.  ฉะนั้น การปฏิบัติก็อยู่ที่เนื้อ ที่ตัว ที่กายวาจา ที่ใจของคน.  เพราะเหตุนี้เอง พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสว่า โลกก็ดี เหตุให้เกิดโลกก็ดี ความดับแห่งโลกก็ดี ทางให้ถึงความดับแห่งโลกก็ดี ตถาคตบัญญัติไว้ในกายที่ยาวประมาณวาหนึ่ง ซึ่งมีพร้อมทั้งสัญญาและใจ

…. ฉะนั้น เราจึงถือว่า ในร่างกายของคนเป็นๆนั้น คือ มหาวิทยาลัยของพุทธศาสนา..เรื่อง “อริยสัจ” เป็นเรื่องจริงหาที่อื่นไม่พบ นอกจากจะหาในคนที่เป็นๆ ถ้าไม่เคยฟังมาอย่างนี้ ก็จงฟังเดี๋ยวนี้ และก็พยายามคิดพิจารณาให้เข้าใจในเรื่องที่เรียกว่า “อริยสัจ”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายหลักพระพุทธศาสนา ครั้งที่ ๕ วันที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๑๑ หัวข้อ “พระธรรมกำมือเดียว” อบรมผู้ที่จะเป็นผู้พิพากษา ณ ห้องประชุม ของกระทรวงยุติธรรม

พุทธธรรม พุทธทาสภิกขุ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ




สิ่งที่ไม่ใช่สมาธิ หรือ ศัตรูของสมาธิ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สิ่งที่ไม่ใช่สมาธิ หรือ ศัตรูของสมาธิ

…. “ สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ ไม่ใช่สมาธิ แต่เป็นปฏิปักษ์ เป็นศัตรูของสมาธิ เป็นสิ่งที่ต้องกําจัดเสียจึงจะเกิดสมาธิได้ หรือจะพูดว่าเป็นสิ่งที่ต้องกําจัดเสียด้วยสมาธิก็ได้ สิ่งเหล่านี้มีชื่อเฉพาะ เรียกว่า “นิวรณ์”

…. “นิวรณ์” แปลว่า เครื่องกีดกั้น เครื่องขัดขวาง แปลเอาความตามหลักวิชาว่า สิ่งที่กีดกั้นการทํางานของจิต สิ่งที่ขัดขวางความดีงามของจิต สิ่งที่ทอนกําลังปัญญา หรือแสดงความหมายให้เป็นวิชาการยิ่งขึ้นว่า สิ่งที่กั้นจิตไม่ให้ก้าวหน้าในกุศลธรรม ธรรมฝ่ายชั่วที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณความดี หรือ อกุศลธรรมที่ทําจิตให้เศร้าหมองและทําปัญญาให้อ่อนกําลัง

…. คําอธิบายลักษณะของนิวรณ์ ที่เป็นพุทธพจน์มีว่า “ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการเหล่านี้ เป็นเครื่องปิดกั้น (กุศลธรรม) เป็นเครื่องห้าม (ความเจริญงอกงาม) ขึ้นกดทับจิตไว้ ทําปัญญาให้อ่อนกําลัง” “เป็นอุปกิเลสแห่งจิต (สนิมใจ หรือสิ่งที่ทําให้ใจเศร้าหมอง) ทําปัญญาให้อ่อนกําลัง” และว่า “ธรรม ๕ ประการ เหล่านี้ เป็นนิวรณ์ ทําให้มืดบอด ทําให้ไร้จักษุ ทําให้ไม่มีญาณ (สร้างความไม่รู้) ทําให้ปัญญาดับ ส่งเสริมความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน”

…. นิวรณ์ ๕ อย่างนี้ พึงระวังอย่านํามาสับสนกับสมถะหรือสมาธิ หากพบที่ใดพึงตระหนักไว้ว่า นี้ไม่ใช่สมถะ นี้ไม่ใช่สมาธิ นิวรณ์ ๕ อย่างนั้น คือ

…. ๑. กามฉันท์ ความอยากได้อยากเอา (แปลตามศัพท์ว่า ความพอใจในกาม) หรืออภิชฌา ความเพ่งเล็งอยากได้ หมายถึง ความอยากได้กามคุณทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นกิเลสพวกโลภะ จิตที่ถูกล่อด้วยอารมณ์ต่างๆ คิดอยากได้โน่นอยากได้นี่ ติดใจโน่นติดใจนี่ คอยเขวออกไปหาอารมณ์อื่น ครุ่นข้องอยู่ ย่อมไม่ตั้งมั่น ไม่เดินเรียบไป ไม่อาจเป็นสมาธิได้

…. ๒. พยาบาท ความขัดเคืองแค้นใจ ได้แก่ ความขัดใจ แค้นเคือง เกลียดชัง ความผูกใจเจ็บ การมองในแง่ร้าย การคิดร้ายมองเห็นคนอื่นเป็นศัตรู ตลอดจนความโกรธ ความหงุดหงิด ฉุนเฉียว ความรู้สึกขัดใจ ไม่พอใจต่างๆ จิตที่มัวกระทบนั่นกระทบนี่ สะดุดนั่นสะดุดนี่ เดินไม่เรียบ ไม่ไหลเนื่อง ย่อมไม่อาจเป็นสมาธิ

…. ๓. ถีนมิทธะ ความหดหูและเซื่องซึม หรือเซ็งและซึม แยกเป็น “ถีนะ” ความหดหู ห่อเหี่ยว ถดถอย ระย่อ ท้อแท้ ความซบเซา เหงาหงอย ละเหี่ย ที่เป็นอาการของจิตใจ กับ “มิทธะ” ความเซื่องซึม เฉื่อยเฉา ง่วงเหงาหาวนอน โงกง่วง อืดอาด มึนมัว ตื้อตัน อาการซึมๆ เฉาๆ ที่เป็นไปทางกาย จิตที่ถูกอาการทางกายและทางใจอย่างนี้ครอบงํา ย่อมไม่เข้มแข็ง ไม่คล่องตัว ไม่เหมาะแก่การใช้งานจึงไม่อาจเป็นสมาธิได้

…. ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและเดือดร้อนใจ แยกเป็น “อุทธัจจะ” ความที่จิตฟุ้งซ่าน ไม่สงบ ส่าย พร่า พล่านไป กับ “กุกกุจจะ” ความวุ่นวายใจ รําคาญใจ ระแวง เดือดร้อนใจ ยุ่งใจ กลุ้มใจ กังวลใจ จิตที่ถูกอุทธัจจกุกกุจจะครอบงํา ย่อมพล่าน ย่อมคว้างไป ไม่อาจสงบลงได้ จึงไม่เป็นสมาธิ

…. ๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ได้แก่ ความเคลือบแคลง ไม่แน่ใจ สงสัย เกี่ยวกับพระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ เกี่ยวกับ สิกขา เป็นต้น พูดสั้นๆ ว่าคลางแคลงในกุศลธรรมทั้งหลาย ตัดสินไม่ได้ เช่นว่า ธรรมนี้ (สมาธิภาวนานี้ ฯลฯ) มีคุณค่ามีประโยชน์ควรแก่การปฏิบัติหรือไม่ จะได้ผลจริงหรือไม่ คิดแยกไปสองทาง กําหนดไม่ลง จิตที่ถูกวิจิกิจฉาขัดไว้กวนไว้ให้ค้างให้พร่าลังเลอยู่ ย่อมไม่อาจแน่วแน่เป็นสมาธิ”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ที่มา : จากหนังสือ “สัมมาสมาธิ และสมาธิแบบพุทธ” เป็นตอนใหญ่ในบทหนึ่งของหนังสือ “พุทธธรรม” คือ บทที่ ๒๑ ตอนว่าด้วย “สัมมาสมาธิ”

ธรรมะเพื่อทางพ้นทุกข์ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ