วันจันทร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2561

พระเยอรมันเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ สายวัดหนองป่าพงของหลวงปู่ชา สอบผ่านพระอุปัชฌาย์รูปแรก ดีกรีนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์อีกด้วย

สอบผ่านพระอุปัชฌาย์ในระบบสงฆ์ไทยตามกฎมหาเถรสมาคมรูปแรก ดีกรีนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ ศรัทธาในพระพุทธศาสนาบวชจนได้เป็นเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ สายวัดหนองป่าพงของหลวงปู่ชา อุบลราชธานี เผยชอบนั่งสมาธิตั้งแต่เด็ก ศรัทธาวิธีสอนหลวงปู่ชา มาบวชในไทยตั้งแต่อายุ 28 ชี้ภูมิใจสอบผ่านพระอุปัชฌาย์ที่ยาก

วันนี้ (28 ม.ค.)ที่ศาลาอบรมสงฆ์ วัดสามพระยา กรุงเทพฯ  มีพิธีการมอบตราตั้งพระอุปัชฌาย์ในการฝึกอบรมหรือสอบความรู้ โดยมีสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก พระวิสุทธิวงศาจารย์ รองเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ และพระพรหมจริยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดกะพังสุรินทร์ เจ้าคณะใหญ่หนใต้ เป็นประธานมอบตราตั้งแก่พระอุปัชาย์ใหม่ที่ผ่านการสอบ จำนวน 200 รูป โดยพระพรหมโมลี (สุชาติ ธมฺมรตโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ในฐานะเลขาธิการสมัชชามหาคณิสร กล่าวว่า ครั้งนี้นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี ตนได้อนุโมทนาแก่พระครูอุบลภาวนาวิเทศ (เฮ็นนิ่ง เกวลี) เจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมวัดป่านานาชาติ ที่ได้ผ่านการสอบเป็นพระอุปัชฌาย์ตามระบบคณะสงฆ์ไทย แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 17 พ.ศ.2536 ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ ออกตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 ซึ่งที่ผ่านมามส.ได้เปิดโอกาสให้เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัด ที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เช่น มีการบรรพชาอุปสมบทหมู่เฉลิมพระเกียรติ จัดกิจกรรมปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น ได้สอบเป็นพระอุปัชฌาย์ แต่ก็มีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่จะเน้นไปที่พระสังฆาธิการระดับเจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาสพระอารามหลวง ผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง เป็นส่วนใหญ่ ถือว่า เป็นพระต่างประเทศรูปแรกก็ว่าได้ ที่ได้เข้าระบบการสอบของมส

พระครูอุบลภาวนาวิเทศ กล่าวว่า ตนมีความสนใจวิปัสสนากรรมฐานมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์ ที่มหาวิทยาลัยฟรี กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี โดยได้ไปฝึกนั่งสมาธิที่วัดไทยในเยอรมนี  จากนั้นจึงได้อ่านหนังสือสอนวิปัสสนากรรมฐานของหลวงปู่ชาที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ และเคยได้มาประเทศไทย ชอบวิถีวัฒนธรรมของคนไทย ชอบพระพุทธศาสนา เมื่อเรียนจบจึงตัดสินใจมาที่วัดป่านานาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นวัดป่าสายหลวงปูชา จึงได้ตัดสินใจบวชที่วัดดังกล่าวในปี 2541 ตอนอายุประมาณ 28 ปี กระทั่งได้รับความไว้วางใจจากพระราชภาวนาวิกรม หรือหลวงพ่อเลียม วัดหนองป่าพง และได้รับความเมตตาจากสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ในขณะนั้น สนับสนุนให้พระต่างชาติได้มาบวช และทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา

“การมาสอบพระอุปัชฌาย์ครั้งนี้ทางพระเถระ โดยพระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เจ้าคณะภาค 10 ท่านเห็นว่า ควรจะมีพระอุปัชฌาย์ในวัดป่านานาชาติ ทำหน้าที่บวชพระภิกษุทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เนื่องจากพระเถระในวัดก็มีอายุมากขึ้น จึงได้ส่งเสริมให้อาตมาเข้าสู่กระบวนการสอบพระอุปัชฌาย์ตามระบบคณะสงฆ์ไทย ถือเป็นพระภิกษุชาวต่างประเทศรูปแรกที่ได้เข้ามาสอบในระบบคณะสงฆ์ไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาสมเด็จเกี่ยวท่านได้เมตตาแต่งตั้ง รุ่นอาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์เป็นกรณีพิเศษ เช่น หลวงพ่อสุเมโธ หรือพระราชสุเมธาจารย์ ท่านอมโร หรือพระวิเทศพุทธิคุณ ท่านปสันโน หรือพระโพธิญาณวิเทศ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อาตมารู้สึกภูมิใจที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สำคัญเช่นนี้ ขอบคุณคณะสงฆ์ไทยที่ให้โอกาสพระชาวต่างประเทศได้ทำหน้าที่เหมือนกับพระสงฆ์ไทย ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจเป็นเกียรติ เพราะที่ผ่านมาทางพระพรหมสิทธิ ท่านให้คำปรึกษาและส่งเสริมพระป่าสายวิปัสสนากรรมฐานมาโดยตลอด อีกทั้งการสอบพระอุปัชฌาย์ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพระสงฆ์ไทย โดยเฉพาะพระชาวต่างชาติอย่างอาตมาถือว่า ยากขึ้นไปอีก เพราะจะต้องท่องบาลีให้ถูกต้อง เขียนให้ถูกต้อง ผ่านทดสอบความรู้ตามพระธรรมวินัยอีกด้วย”พระครูอุบลภาวนาวิเทศ กล่าว

สำหรับประวัติพระครูอุบลภาวนาวิเทศ เป็นชาวเยอรมัน จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ จบนักธรรมเอก ปัจจุบันอายุ 49 ปี พรรษา 20 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติรูปที่ 7  ในปี 2551 ต่อจากพระอาจารย์ญาณธัมโม ชาวออสเตรเลีย  สำหรับวัดป่านานาชาติ เป็นวัดป่าสายวัดหนองป่าพง ที่ตั้งอยู่ในบ้านบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี  ก่อตั้งเมื่อปี 2518 โดยมีหลวงปู่ชา สุภทฺโท (พระโพธิญาณเถร) เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติเข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยเป็นภาษาอังกฤษ จนสามารถที่จะออกบวชเป็นพระภิกษุและปฏิบัติ ตามข้อวัตรสายวัดป่าเผยแผ่ศาสนาในวัดสาขาที่ต่างประเทศได้ ปัจจุบัน พระภิกษุสามเณรสังกัดวัดป่านานาชาติที่อยู่ในเมืองไทย ทั้งหมดมีประมาณ 40 รูป รวมประมาณ 20 สัญชาติ มีเจ้าอาวาสมาที่เป็นชาวต่างชาติทั้งหมด  7 รูป ได้แก่ พระราชสุเมธาจารย์ (หลวงพ่อสุเมโธ) ชาวอเมริกัน ปี 2518-2519  พระอาจารย์ปภากโร ชาวอเมริกัน ปี2520-2521 พระอาจารย์ชาคโร ชาวออสเตรเลีย ปี2522 – 2524 พระอาจารย์ปสันโน ชาวแคนาดา ปี2525-2539 พระอาจารย์ชยสาโร ชาวอังกฤษ  ปี2540 – 2544 พระอาจารย์ญาณธัมโม ชาวออสเตรเลีย ปี2545-2550 และพระครูอุบลภาวนาวิเทศ (เฮ็นนิ่ง เกวลี) ชาวเยอรมัน ปี2551 - ปัจจุบัน

ที่มา: dailynews

วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2561

พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ บอกเคล็ดลับ "สิ่งที่คำทำนายก็เอาชนะไม่ได้" อย่างนี้ต้องอ่านๆแล้ว ที่นี้ก็ต้องลงมือทำกันแล้วล่ะ ขอบอก..

สิ่งที่คำทำนายก็เอาชนะไม่ได้

มันมีนิทานในคัมภีร์พุทธศาสนา อยู่เรื่องหนึ่งนะ คือมีพระราชาอยู่ ๒ เมือง เป็นอริกัน แล้วทั้งสององค์นี่ก็มีที่ปรึกษานะ เป็นดาบสมีอภิญญา รู้โหราศาสตร์ สามารถติดต่อกับเทวดาได้ พระราชาเมืองหนึ่งนี่ก็ให้ที่ปรึกษาของตนเองทำนายการสงครามนะ ให้ไปถามเทวดา ว่าถ้าออกรบแล้วจะชนะหรือเปล่า ดาบสก็ไปถามให้นะ แล้วก็ได้คำตอบว่า พระองค์จะต้องมีชัยชนะแน่นอน

ส่วนพระราชาอีกเมืองหนึ่งก็สอบถามที่ปรึกษาของตัวเองเหมือนกันนะ ปรากฎว่าพอดาบสดูดวงชะตาแล้ว ก็เห็นความปราชัยของพระราชาพระองค์นี้ ก็เลยพยากรณ์ว่า พระองค์จะแพ้สงคราม

พระราชาทั้งสององค์นี้ พอได้ฟังคำทำนายทายทักนะ องค์ที่รู้ว่าตัวเองจะชนะ ก็ประมาท ไม่ฝึกซ้อมไพล่พล รอแต่จะให้ถึงวันออกรบอย่างเดียว ส่วนพระราชาที่รู้ว่าตนเองจะแพ้ กลับไม่ยอมจำนนให้กับคำทำนายนะ ก็ตระเตรียม รับสั่งให้ฝึกซ้อมไพร่พล เตรียมการรบ ตัวพระองค์เองก็ทำความเพียรเป็นการใหญ่

ปรากฎว่า พอถึงวันทำสงครามจริงจริง องค์ที่ถูกทำนายว่าจะชนะกลับแพ้นะ องค์ที่ถูกทำนายว่าจะแพ้กลับชนะนะ องค์ที่แพ้นี่ก็ทุกข์ใจมาก กลับไปต่อว่าดาบสที่ทำนายดวงให้ ถามว่าไหนเทวดาบอกว่าจะชนะ ดาบสก็จนใจนะ ไปถามเทวดา เทวดาก็เลยให้ข้อคิดว่า ความเพียรของคน ถึงต่อให้เป็นเทวดา ก็กีดกันไม่ได้

นี่ นิทานเรื่องนี้มันให้แง่คิดกับเรานะ ว่าโดยหลักพุทธแล้ว กรรมะ หรือการกระทำ มันมีอิทธิพลเหนือทุกอย่าง คือมันสามารถเปลี่ยนได้แม้แต่อนาคต แม้แต่ดวงชะตา ยังต้องจำนนต่อการกระทำของมนุษย์นะ ฉะนั้น ถ้าคิดแบบพุทธ มนุษย์จะต้องไม่ยอมก้มหัวให้กับอะไรง่ายๆ แล้วอนาคตต้องเป็นสิ่งที่มนุษย์สามารถกำหนดทิศทางด้วยตัวเองได้ ไม่ใช่ปล่อยให้สิ่งอื่นที่ไหนมากำหนด


ที่มา : ไพรวัลย์ วรรณบุตร

วันเสาร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2561

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๑ ความว่า “สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนวิธีที่ทำให้บุคคลได้ชื่อว่าเป็นคนดี เป็นที่รักของผู้คนทั่วไปไว้วิธีหนึ่ง เรียกว่า ‘อัตถจริยา’

เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระคติธรรม เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๑ ความว่า 

“สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนวิธีที่ทำให้บุคคลได้ชื่อว่าเป็นคนดี เป็นที่รักของผู้คนทั่วไปไว้วิธีหนึ่ง

เรียกว่า ‘อัตถจริยา’ หมายถึง การบำเพ็ญประโยชน์ การประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ช่วยเหลือ ทำงานสร้างสรรค์ด้วยความตั้งใจอย่างดีเลิศ ส่งเสริมให้เพื่อนสมาชิกในสังคมประพฤติดีงาม และมีสติปัญญา

อัตถจริยาดังกล่าวนี้ปัจจุบันนิยมเรียกว่า ‘จิตอาสา’ ซึ่งถ้าพิจารณาอย่างผิวเผินอาจ
เข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าจิตอาสากำลังจำต้องเหน็ดเหนื่อยหรือเผชิญทุกข์กว่าคนที่ไม่เป็นจิตอาสา

แต่ถ้าพิเคราะห์ในแง่มุมกลับกัน แท้จริงแล้ว คนทำงานจิตอาสาด้วยใจจริง ย่อมมีความรู้สึกเบิกบานยิ่งกว่าคนไม่ทำงานจิตอาสา

เพราะจิตอาสาที่แท้จริงจะไม่คิดว่าตนกำลังสูญเสียพละกำลังหรือประโยชน์ใดๆ โดยไร้ค่า
หากกลับเป็นฝ่ายได้รับประโยชน์คือได้ความสุขใจ ชื่นใจที่เห็นความสุขของผู้อื่น และได้ภาคภูมิใจว่าเป็นผู้สร้างสรรค์สังคมที่ดีงาม

เด็กและเยาวชนเป็นกำลังสำคัญที่จะพาบ้านเมืองไทยให้รุ่งเรืองสืบไป จึงขอให้ผู้ใหญ่เร่งปลูกฝังและสร้างสรรค์ให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้หนักแน่นในคุณธรรมข้ออัตถจริยา

และขอให้เด็กๆ รู้สึกสนุกสนานเบิกบานทุกครั้งที่ได้ทำประโยชน์ จงอย่ายอมแพ้แก่ความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยหรือยากลำบาก

ขอให้ระลึกไว้เสมอว่ากำลังเล็กๆ ของเด็กๆ อย่างเรานี้แล มีอานุภาพสูงยิ่งที่จะช่วยสร้างสรรค์ประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า

อย่ามัวรั้งรอผัดผ่อนให้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่เสียก่อนค่อยเริ่มทำความดี เพราะเมื่อนั้นเด็กๆ จะเผลอชินกับการทำความชั่ว จนกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว และไม่รู้วิธีทำตนเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ในที่สุด

ขอให้เด็กและเยาวชนทุกคนมีกำลังใจที่จะบำเพ็ญประโยชน์ด้วยความสุขใจนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอจงรักษาคุณลักษณะจิตอาสาอย่างสมบูรณ์ไว้ตลอดกาล เพื่ออนาคตของตนเอง และสังคมไทยของเราทุกคน.”






Cr. สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช 

วันอาทิตย์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2561

 เพจพระธรรมวิทยากรไทย ในแดนพุทธภูมิ (DhammaLecturer935) ประกาศชี้แจงเรื่องการอุปสมบทของพระแซม ยุรนันท์ ที่มีการปล่อยข่าวว่า จะบวชไม่สึก??

เพจพระธรรมวิทยากรไทย ในแดนพุทธภูมิ ประกาศชี้แจงเรื่องการอุปสมบทของพระแซม ยุรนันท์ ที่มีการปล่อยข่าวว่า จะบวชไม่สึก??

ประกาศชี้แจงเรื่องการอุปสมบทของพระแซม ยุรนันท์


ในฐานะที่กองงานพระธรรมวิทยากรไทย ในแดนพุทธภูมิ ได้รับผิดชอบดูแลเป็นพระธรรมวิทยากร พระวิปัสสนาจารย์ และพี่เลี้ยง ให้กับ พระยุตฺตมนฺติโพธิ พรือ พระแซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี จึงขอกล่าวชี้แจงถึงกระแสที่มีการปล่อยข่าวอย่างบิดเบือนออกไปว่า พระแซมละทางโลกบวชไม่สึก หรือ พระแซมประกาศบวชไม่สึก เป็นต้น

เรื่องนี้ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะ พระแซม #ไม่เคยประกาศเช่นนั้น เพียงแต่พระแซมมีความตั้งใจว่า จะตั้งใจศึกษาและปฏิบัติธรรมให้เต็มที่ในระหว่างที่อยู่บวชนี้ โดยไม่ให้กรอบเวลามาเป็นกฎเกณฑ์ คือ อาจบวช ๑๕ วัน , ๓๐ วัน หรือ เกินกว่านั้นก็ได้ ตามที่เหตุปัจจัยทุกอย่างเอื้ออำนวย ซึ่งขณะนี้พระแซม ก็กำลังอยู่ในช่วงปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อซึมซับรับหลักการอันเป็นเนื้อแท้ในพระพุทธศาสนา

โดยพระแซมมีความตั้งใจว่าจะออกปฏิบัติธรรมถวายเป็นพุทธบูชาในระหว่างที่บวชอยู่นี้ ให้ครบถ้วนในสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง จึงเป็นที่น่าอนุโมทนาบุญร่วมกัน...

ขอคนละแชร์เพื่อแก้ความเข้าใจผิด

เพราะหากต่อไปท่านลาสิกขา หลังจากศึกษาปฏิบัติธรรมจนสมควรแก่กาลแล้ว จะได้ไม่เกิดความเข้าใจผิดจากผู้ไม่รู้ จนกล่าวตู่ท่านว่า เป็นผู้เสียสัจจะ หรือ ผิดคำพูด ต่อไป






ที่มา: พระธรรมวิทยากรไทย ในแดนพุทธภูมิ 

วันจันทร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี-V.Vajiramedhi) แนะ ‘อย่าก่นด่าประเทศตัวเอง’ จงลุกขึ้นสร้างความเปลี่ยนแปลง ขอปี 61 เป็นปีทองของการให้

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี-V.Vajiramedhi) แนะ ‘อย่าก่นด่าประเทศตัวเอง’ จงลุกขึ้นสร้างความเปลี่ยนแปลง ขอปี 61 เป็นปีทองของการให้

เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 นี้ เฟสบุ๊คของ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี-V.Vajiramedhi) ซึ่งมีผู้ติดตามมากกว่า 6 ล้านคน ได้เผยแพร่ข้อคิดเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ว่า ขอให้ปี 2561 จงเป็น “ปีทองของการให้” นอกจากนี้ ยังระบุ ‘9 หลักคิด เพื่อชีวิตที่ดีงาม’ มีดังนี้

1. การพัฒนาตนเอง ‘มองทุกอย่างเป็นครู เธอจะมีชีวิตอยู่อย่างแสนรื่นรมย์’
2. ครอบครัว ‘ ดูแลกันและกันให้ดี เพราะไม่มีวันนี้สองครั้ง’
3. การงาน ‘ทำให้ดีที่สุด ณ จุดที่ทำ เป็นให้ดีที่สุด ณ จุดที่เป็น’
4. สุขภาพ ‘งานสัมฤทธิ์ ชีวิตรื่นรมย์’
5. สัมพันธภาพ ‘ยอดไม้อ่อนโยน ยอดคนอ่อนน้อม’
6. สังคม ‘อยู่เพื่อตัวเอง อยู่แค่สิ้นใจ อยู่เพื่อคนทั่วไป อยู่ชั่วฟ้าดิน’
7. การเสพสื่อ/โซเชียลมีเดีย ‘ ในสื่อสังคมออนไลน์ มีทั้งดอกไม้และกองขยะ จงเลือกดมดอกไม้ ไม่ใช่หลงใหลอยู่กับกองขยะ’
8. ประเทศ ‘ อย่าก่นด่า (ประเทศตัวเอง) แต่จงลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลง
9. โลก/จักรวาล ‘เราต่างมีกันและกันในสรรพสิ่ง เราต่างอิงคืองค์อื่นอีกหมื่นหมาย เราต่างถ้อยธำรงจึงทรงกาย เราต่างคล้ายเป็นส่วนหนึ่งที่ถึงกัน’