วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

"ถ้าวันนี้ถูกต้อง ก็ไม่ต้องกลัวพรุ่งนี้" พุทฺธทาสภิกฺขุ

"ถ้าวันนี้ถูกต้อง ก็ไม่ต้องกลัวพรุ่งนี้" พุทฺธทาสภิกฺขุ 

ชีวิตไม่เป็นทุกข์ มีความถูกต้องเป็นพื้นฐาน มีจิตที่ไม่เป็นบวก ไม่เป็นลบ ไปตามสิ่งปรุงแต่ง  คงที่อยู่ในความถูกต้อง เรียกว่า“อตัมมยตา”

“เดี๋ยวความบ้ารักกัด เดี๋ยวความโกรธกัด เดี๋ยวความเกลียดกัด เดี๋ยวความกลัวกัด เดี๋ยวความตื่นเต้นกัด เดี๋ยววิตกกังวลทางอนาคตกัด เดี๋ยวอาลัยอาวรณ์ข้างหลังกัด อิจฉาริษยากัด ความหวงกัด ความหึงกัด จนถึงฆ่ากันตาย

สิ่งเหล่านี้ที่กัดเจ้าของทำให้กลายเป็นชีวิตที่โง่ เจ้าของชีวิตที่โง่เขลานั้นจึงหาสันติภาพไม่ได้ จึงต้องทำให้มันถูกต้อง จน“ไม่กัดเจ้าของ”นั่นแหละ พื้นฐานของธรรมะ พื้นฐานชีวิต ก็คือ “ความรู้ที่ถูกต้อง” ที่นำไปสู่ความไม่เห็นแก่ตัว แต่ว่าเห็นแก่ความถูกต้อง ซึ่งช่วยให้เห็นแก่ผู้อื่น เห็นแก่ความถูกต้องจึงรักผู้อื่น ถ้ามันเห็นแก่ตัวมากมันก็จะเอาตามกิเลสของมันเสมอไป ดังนั้น เราจึงต้องฝึกฝนการจับกิเลสกัน

เมื่ออยู่ที่บ้านเป็นฆราวาสก็มีการกำจัดกิเลส มาบวชเป็นนักบวชที่วัดก็มีการกำจัดกิเลส จึงจะเข้ารูปเข้ารอยของพระศาสนา ที่จะทำให้ชีวิตนี้มีพื้นฐานอันถูกต้องไม่เห็นแก่ตัว ศึกษาวิปัสสนาให้เห็นว่าความจริงของธรรมชาติทั้งหลายเป็นอย่างไร และก็ไม่โง่ ไม่ไปหลงในสิ่งใดให้เกิดเป็นกิเลสขึ้นมา

กิเลสนั้นมี ๓ ประเภท

ประเภทหนึ่ง เป็นกิเลสบวก ทำให้ต้องการ ต้องเอาเข้ามายึดครองไว้ นี่คือกิเลสบวก ได้แก่ “โลภะ” กิเลสอีกประเภทหนึ่ง มันเป็นลบ ต้องการจะฆ่า ต้องการจะทำลาย ก็คือ “โทสะ” และ กิเลสหมวดที่ยังไม่แน่ว่าเป็นบวกหรือเป็นลบ มันก็โง่สงสัยอยู่นั่น มัวเมาในสิ่งที่ไม่รู้จัก นี่เป็นกิเลสประเภท “โมหะ”

เรามีกิเลส ๓ หมวดด้วยกัน หมวดโลภะมันจะเอา หมวดโทสะมันจะทำลาย หมวดโมหะมันจะวิ่งตามอยู่อย่างไม่รู้ว่าจะไปทิศทางไหน นี้คือ “กิเลส” คือศึกษาเห็นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงอย่าง “ถูกต้องตามที่เป็นจริง” มันก็..ไม่เกิดความเป็นบวก ไม่เกิดความเป็นลบ

เพราะฉะนั้น เราต้องมีความฉลาดอยู่เหนือความเป็นบวก เหนือความเป็นลบ ของปัจจัยที่มาปรุงแต่ง ประโยคนี้ขอให้ช่วยจำให้ดีว่า พื้นฐานที่ถูกต้องของชีวิตนั้น คือความมีจิตชนิดที่ไม่เป็นบวก ไม่เป็นลบ ไปตามสิ่งที่เข้ามาปรุงแต่ง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งหมดนี้มันจะมีสิ่งเข้ามาปรุงแต่งจิตใจให้เป็นบวกและเป็นลบ ทำให้มีความทุกข์ทรมาน

การมีความคงที่อยู่ในความถูกต้องเรียกว่า “อตัมมยตา” คงที่อยู่ในความถูกต้อง ไม่ไปโง่ให้เป็นบวก ไม่ไปโง่ให้เป็นลบ นั่นคือมาตรฐาน หรือพื้นฐานอันแท้จริงของสิ่งที่เรียกว่า “ชีวิต” มันมี “ความถูกต้อง” อยู่ตลอดเวลา ไม่ถูกหลอกให้เป็นบวก ไม่ถูกหลอกให้เป็นลบ”

พุทฺธทาสภิกฺขุ 


"อย่าเอาแต่ร้องถาม แต่จงช่วยกันติดตามหาคำตอบด้วย" โดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

อย่าเอาแต่ร้องถาม  แต่จงช่วยกันติดตามหาคำตอบด้วย

คนเป็นอันมากเมื่อเห็นพระภิกษุสามเณรทำอะไรที่ตนสงสัยว่าจะผิด มักจะร้องถามในที่สาธารณะว่า พระเณรทำอย่างนั้นได้หรือ ไม่ผิดหรือ ถามจบแล้วก็เข้าใจว่าตนได้ทำหน้าที่ของชาวพุทธที่ดีเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางที่ถูก เมื่อร้องถามเช่นนั้นแล้วควรจะช่วยกันศึกษาสืบค้นหลักปฏิบัติในเรื่องนั้นๆ ต่อไป เพื่อหาคำตอบที่ถูกต้อง จะสอบถามตัวบุคคลที่ตนนับถือก็ได้ แต่ไม่ควรยุติอยู่แค่คำตอบของท่านผู้นั้น ดังที่มักมีผู้นิยมอ้าง-คืออ้างว่า -

ท่านเจ้าคุณนั่นท่านว่าไม่ได้ ท่านมหานั่นท่านว่าได้ ขอประทานโทษ ผมเองเวลานี้ก็ถูกอ้างบ่อย-อาจารย์ทองย้อยท่านว่า... หลักการที่ถูกต้องนั้น ไม่ว่าท่านเจ้าคุณไหน ท่านมหาไหน หรืออาจารย์ไหน จะตอบอย่างไร ก็ให้ถือว่าเป็นข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ยังไม่จบแค่นั้น ข้อมูลเบื้องต้นเป็นเพียงป้ายชี้ทางว่า-ถ้าจะหาคำตอบละก็ไปทางนี้ๆ  ได้ข้อมูลเบื้องต้นแล้ว เห็นป้ายบอกทางแล้ว ทีนี้ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะตามไปศึกษาสืบค้นให้ถึงต้นน้ำต้นตอจริงๆ ของเรื่องนั้นที่ถือว่าเป็นที่สุด เช่นพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา 

เมื่อได้คำตอบตรงนั้นแล้ว ก็ปล่อยวางคำตอบของท่านเจ้าคุณ ท่านมหา หรืออาจารย์ ไม่ต้องอ้างอีกต่อไป คงมีคำตอบเดียวที่อ้างได้ คือคำตอบที่ได้จากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อันเป็นต้นน้ำต้นทางจริงๆ ของเรื่องนั้น  แล้วก็ไม่ต้องเป็นห่วงกังวลว่า ถ้าเกิดท่านเจ้าคุณ ท่านมหา หรืออาจารย์ล่วงลับไปแล้วจะไม่มีพยานหลักฐานไว้ยืนยัน เพราะพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ไม่มีวันตาย-ตราบเท่าที่ยังมีผู้ศึกษาสอดส่องเรียนรู้และปฏิบัติตามอยู่.  กรณีที่พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา มีข้อเยื้องแย้งกัน ก็มีหลักปฏิบัติที่ท่านแนะนำไว้ในตัวพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกานั้นเองว่า :- ตตฺถ  สพฺเพเหว  สมคฺเคหิ  สมฺโมทมาเนหิ  อวิวทมาเนหิ  สิกฺขิตพฺพํ. พวกเราทั้งหมดนี้แลพึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน ร่วมใจกัน ไม่ขัดแย้งกัน ศึกษาในเรื่องนั้น 

ที่มา: - วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค ๒ พระไตรปิฎกเล่ม ๒ ข้อ ๘๘๑ - กินติสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ ข้อ ๔๔

นั่นคือไม่เอาคำตอบของบุคคลเป็นหลัก หากแต่ยึดถือพระไตรปิฎกเป็นหลัก แม้หลักในพระไตรปิฎกนั่นเองถ้ามีประเด็นไหนที่ยังเข้าใจไม่ตรงกัน หรือยังข้องใจสงสัย เช่นสงสัยว่า เป็นพระพุทธพจน์จริงหรือ คำสอนเช่นนั้นมีจริงหรือ ใช่หรือ ถูกต้องหรือ ก็ต้องช่วยกันศึกษาสอบสวนจนกระจ่างแจ้งและยอมรับร่วมกัน แล้วพร้อมใจกันดำเนินตาม ไม่ใช่ต่างคนต่างถือ ต่างคนต่างทำ  

ถ้ายึดหลักอย่างที่ว่ามานี้ เมื่อเห็นวัด เห็นสำนัก เห็นพระภิกษุสามเณร หรือเห็นชาวพุทธเราทำอะไรที่สงสัยว่าจะผิด ก็จะไม่เอาแต่ร้องถาม หากแต่จะช่วยกันหาคำตอบ  เห็นอะไรที่สงสัยว่าจะผิดก็เท่ากับได้เห็นโอกาสที่จะช่วยกันศึกษาสอบสวนสอดส่องให้รู้หลักที่ถูกต้องชัดเจน ไม่ไปหลงสนับสนุนเรื่องที่ผิด หรือปล่อยปละละเลยเฉยเมินในเรื่องที่ถูกต้อง  ทำได้ดั่งนี้เท่ากับได้ช่วยกันธำรงรักษาพระศาสนาให้อยู่ยั่งยืนเพื่ออำนวยสันติสุขให้แก่สังคมและแก่ชาวโลกไปตลอดกาลนาน

ถ้าญาติมิตรอ่านจนจบแล้วและรู้สึกว่า-เหมือนพระเทศน์ ก็ขออนุโมทนาสาธุครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย , ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ,  ๑๗:๒๘


ที่มา : ทองย้อย แสงสินชัย

อย่าเอาแต่ร้องถาม ----------------------------- แต่จงช่วยกันติดตามหาคำตอบด้วย คนเป็นอันมากเมื่อเห็นพระภิกษุสามเณรทำอะไร...

Posted by ทองย้อย แสงสินชัย on Friday, May 28, 2021
มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๒๕)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๒๕) คำอธิบายปัญหาที่ ๒ 

คำว่า กำมือแห่งอาจารย์ในธรรมทั้งหลาย เป็นต้นความว่า ในธรรมทั้งหลายที่ควรแสดงแก่สาวก พระตถาคตจะทรงเป็นอาจารย์ผู้มีกำมือ คือซ่อนเร้นปิดบังทำเหล่านั้น แม้สักอย่างหนึ่ง ดุจกำไว้ ในมือเพื่อไม่ให้ศิษย์ได้รู้เห็น ก็หาไม่

ประเด็นที่ขัดแย้งกันอยู่แห่งคำพูดใน ๒ ที่ ๒ แห่ง มีอยู่ว่า ถ้าหากตรัสว่า ตถาคตไม่มีกำมือแห่งอาจารย์ในธรรมทั้งหลาย ดังนี้จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น การที่ไม่ตรัสพยากรณ์ ตรัสเฉลย ปัญหาที่ท่านพระมาลุงกยบุตรทูลถามนั้น ก็ไม่ใช่เพราะทรงประสงค์จะปิดบัง ทำให้เป็นความลับ ทว่า ไม่ทรงพยากรณ์เพราะไม่ทรงรู้คำตอบ ถ้าหากทรงรู้คำตอบ แต่ก็ยังทรงพยากรณ์อีก ก็เป็นอันว่าไม่ทรงพยากรณ์ไม่ใช่เพราะไม่ทรงรู้ ทว่า เพราะทรงประสงค์จะปิดบัง ทำให้เป็นความลับ เมื่อเป็นเช่นนี้ คำที่ตรัสไว้ว่า ตถาคตไม่ทรงมีกำมือแห่งอาจารย์ ดังนี้ ก็ย่อมเป็นคำพูดที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นจริง.  คำว่า ปัญหาพยากรณ์ แปลว่า การทำปัญหาให้แจ่มแจ้งคือเฉลยปัญหา

คำว่า เอกังสพยากรณีปัญหา แปลว่า ปัญหาที่พึ่งพยากรณ์โดยส่วนเดียว ความว่า เป็นปัญหาที่พึงเฉลยได้โดยส่วนเดียว ไม่มีวิกัป ไม่มีแง่ โดยพลัน โดยทันทีที่คำถามจบลงว่า ใช่ หรือว่า ไม่ใช่ ว่า ถูกต้อง หรือว่า ไม่ถูกต้อง ว่า จริง หรือว่า ไม่จริง ว่า มีอย่างเดียวคือ หรือว่า มี ๒ อย่างคือ เป็นต้น ตามเรื่องที่ถาม ไม่ต้องมีการแยกแยะ เป็นต้น เพราะฉะนั้น คำถามที่ว่า รูปไม่เที่ยงหรือ จึงชื่อว่าเป็น เอกังสพยากรณีปัญหา เพราะพึงพยากรณ์ได้โดยส่วนเดียว ว่า ใช่ เพราะขึ้นชื่อว่ารูป ที่มีส่วนเป็นของเที่ยงได้บ้างแม้สักนิดหน่อย หามีไม่ รูปทั้งหมดล้วนไม่เที่ยง แม้คำถามว่า เวทนาไม่เที่ยงหรือ เป็นต้น ก็อย่างนี้เหมือนกัน

คำว่า แปลว่า วิภัชชพยากรณีปัญหา ปัญหาที่พึงแยกแยะพยากรณ์ ความว่า เป็นปัญหาที่ไม่อาจเฉลยได้โดยส่วนเดียว ทว่า มีอันต้องแยกแยะประเภทก่อน เพราะมีหลายอย่าง โดยนัยว่า หาใช่เฉพาะธรรมนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่เป็นอย่างนี้ แม้ธรรมอย่างอื่นก็เป็นอย่างนี้ได้เหมือนกัน เป็นต้น เพราะฉะนั้นคำถามที่ว่า สิ่งที่ไม่เที่ยงคือรูปหรือ จึงชื่อว่าเป็นวิภัชชพยากรณีปัญหา เพราะมึงแยกแยะเฉลยอย่างนี้ว่า สิ่งที่ไม่เที่ยง หาใช่เฉพาะรูปเท่านั้น เพราะแม้เวทนา แม้สัญญา แม้สังขาร แม้วิญญาณ ก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ดังนี้เป็นต้น แม้คำถามว่า สิ่งที่ไม่เที่ยง คือเวทนาหรือ เป็นต้น ก็อย่างนี้เหมือนกัน


คำว่า ปฏิปุจฉาพยากรณีปัญหา แปลว่า ปัญหาที่พึงย้อนถาม แล้วพยากรณ์ ความว่า คำถามบางอย่าง ผู้ถามมิได้ระบุถึงสิ่งที่ประสงค์จะรู้ให้แน่ชัดว่าคืออะไร เพราะสิ่งอื่นที่มีชื่อเดียวกับสิ่งนั้น มีหลายอย่าง ผู้ตอบ ถ้าหากไม่ย้อนถามให้มีการระบุให้แน่ชัดเจนก่อน ตอบไปทันทีที่ถาม เหมือนอย่างเป็น เอกังสพยากรณีปัญหา ก็อาจต่อไปไม่ตรงตามที่ผู้ถามประสงค์จะรู้ หรืออาจทำให้เขาเข้าใจผิด เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องย้อนถามให้ผู้ถามระบุให้ชัดเจนเสียก่อน คำถามอย่างนี้ ชื่อว่า ปฏิปุจฉาพยากรณีปัญหา เพราะฉะนั้นนั่นแหละ คำถามที่ว่า บุคคลรู้สิ่งทั้งปวงด้วยจักษุ (ตา) หรือ ดังนี้จึงชื่อว่าเป็นปฏิปุจฉาพยากรณีปัญหา เพราะสิ่งที่ชื่อว่าจักษุ มีหลายอย่าง ประสาทตาก็ชื่อว่าจักษุ โดยความหมายว่าเป็นอุปกรณ์มองเห็นภาพ อภิญญา ตาทิพย์ ก็ชื่อว่าจักษุ เพราะเห็นได้ชัดเจนดูดตาเทวดา ปัญญาก็ชื่อว่าจักษุ โดยความหมายว่ามองเห็น คือรู้สภาวะธรรมตามความเป็นจริง การที่จะตอบปัญหาให้ตรงคำถาม จึงจำต้องย้อนถามเสียก่อนว่า ท่านพูดถึงจักษุอะไรเล่า ถ้าหากเขาตอบว่า ปสาทจักษุ (ประสาทตา) ดังนี้แล้ว ก็จะตอบเขาได้ว่า ไม่ใช่หรอก ถ้าหากเขาตอบว่า ปัญญาจักษุ ดังนี้แล้ว ก็จะตอบเขาได้ว่า ใช่ ถูกต้อง ดังนี้เป็นต้น

คำว่า ฐปนียพยากรณีปัญหา แปลว่า ปัญหาที่พึงพักไว้ คือพึ่งนิ่งเฉย ไม่พึงพยากรณ์ ความว่า คำถามบางอย่างเป็นคำถามที่ผู้ถามถามเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงโดยประมาทโดยสำคัญว่าเป็นสิ่งมีอยู่จริงด้วยอำนาจแห่งมิจฉาทิฏฐิ เช่น คำถามเกี่ยวกับอัตตา สัตว์ บุคคลผู้เสวยทุกข์ เสวยสุข และเกี่ยวกับความเป็นไปของอัตตา เป็นต้น คำถามเห็นปานฉะนี้ ไม่ควรพยากรณ์ ไม่ควรตอบ ไม่ควรเฉลย ทว่าควรพักไว้ ควรนิ่งเฉยเสีย เพราะเหตุไร เพราะไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพราะเหตุนั้น ใน ปรัมมรณสูตร (สํ.นิ. ๑๖/๒๖๕) ท่านพระมหากัสสปะ เมื่อถูกท่านพระสารีบุตรถามเพื่อใครจะเทียบเคียงความรู้ ว่า :- 

"กินฺนุโข  อาวุโส  กสฺสป  โหติ  ตถาคโต ปรมฺมรณา. ท่านกัสสปะหลังจากตาย สัตว์จะมี จะเกิด อีกหรือไร ? ดังนี้เป็นต้น" 

แล้วท่านก็ตอบว่า “ท่าน ข้อที่ท่านถามว่า หลังจากตาย สัตว์จะมีอีกหรือไร ดังนี้ นี้ พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสพยากรณ์ไว้” ดังนี้เป็นต้น เมื่อท่านพระสารีบุตรเถระถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคจึงไม่ได้ตรัสพยากรณ์ไว้ ท่านพระมหากัสสปเถระก็ตอบว่า เพราะว่าคำถามนี้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ ไม่ได้เป็นไปพร้อมเพื่อความเบื่อหน่ายทุกข์ ไม่ได้เป็นไปพร้อมเพื่อความคลายตัณหา ไม่ได้เป็นไปพร้อมเพื่อความดับตัณหา ไม่ได้เป็นไปพร้อมเพื่อความสงบตัณหา ไม่ได้เป็นไปพร้อมเพื่อความรู้ยิ่งซึ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ไม่ได้เป็นไปพร้อมเพื่อความตรัสรู้อริยสัจ ๔ ไม่ได้เป็นไปพร้อมเพื่อพระนิพพาน เพราะฉะนั้น จึงเป็นคำถามที่พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสพยากรณ์ ดังนี้ นอกจากจะหาประโยชน์มิได้ตามประการดังกล่าวมานี้แล้ว ยังเป็นเหตุเพิ่มพูนทิฐิให้มีกำลังมั่นคงยิ่งขึ้นอีกด้วย

คำว่า โลกยั่งยืนหรือ มีอรรถาธิบายอย่างนี้ว่า สัตว์นั่นแหละ ชื่อว่าโลก เพราะเป็นที่ๆคนทั้งหลายมองเห็นผลของบุญของบาป เป็นคำกล่าวถึงอัตตาผู้เสวยสุข เสวยทุกข์ ผู้เสวยผลของบุญของบาป อันไม่มีอยู่จริงโดยปรมัตถ์ ก็โลกนั้นยั่งยืนหรือ คือหลังจากตายยังคงมีอยู่ด้วยอำนาจความอุบัติในภพใหม่ หรือ.  คำว่า โลกไม่ยั่งยืนหรือ ความว่า หลังจากตาย โลกจะไม่ยั่งยืน คือจะขาดสูญ ไม่อุบัติในภพอื่นอีกหรือ ส่วนคำว่า โลกมีที่สุด มีความหมายเป็นอันเดียวกันกับคำว่า โลกไม่ยั่งยืน และคำว่า โลกไม่มีที่สุด ก็มีความหมายเดียวกันกับคำว่า โลกยั่งยืน แม้คำว่า จะมีอีกหรือ จะไม่มีอีกหรือ ก็อย่างนี้เหมือนกัน.  อัตตาชื่อว่า ชีวะ เพราะอรรถว่าเป็นเหตุเป็นอยู่ได้ ส่วนคำว่า สรีระ เป็นชื่อของขันธ์ ๕ เพราะฉะนั้น คำถามว่า ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้นหรือ จึงมีความหมายว่า อัตตาอันไหน ขันธ์ ๕ ก็อันนั้นหรือ อัตตากับขันธ์ ๕ เป็นอันเดียวกันหรือ คำถามว่า ชีวะก็อย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง ก็มีความหมายว่า อัตตาอันไหน ขันธ์ ๕ จะเป็นอันนั้นด้วย ก็หาไม่หรือ อัตตากับขันธ์ ๕ เป็นคนละอย่างกันหรือ แม้คำที่เหลือก็พึงทราบโดยนัยนี้เถิด.  คำว่า เหตุ หรือการณ์ที่จะทรงบอกปัญหานั้นไม่มี ความว่า เหตุนั้นแหละชื่อว่าการณ์ เพราะอรรถว่ากระทำ คือสร้างผล ฐปนียปัญหา เป็นปัญหาที่หาเหตุ หาการณ์ เพื่อตรัสพยากรณ์ไม่ได้ ข้อนี้ มีอรรถาธิบายว่า พระผู้มีพระภาค เมื่อจะทรงพยากรณ์ปัญหา ย่อมทรงคำนึงถึงประโยชน์ที่บุคคลผู้สดับคำศัพท์พยากรณ์นั้นจะพึงได้รับ ถ้าหากทรงพิจารณาแล้วทรงเล็งเห็นว่า เป็นปัญหาที่มีประโยชน์ ก็จะทรงปรารภประโยชน์นั้นเป็นเหตุ เป็นการณ์ เพื่ออันตรััสพยากรณ์ ก็แต่ว่า ปัญหาที่เกี่ยวกับว่า โลกยั่งยืนหรือไม่ยั่งยืน เป็นต้น เป็นปัญหาที่ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นจึงหาเหตุ หาการณ์เพื่ออันตรัสพยากรณ์ไม่ได้ พระองค์จึงไม่ตรัสพยากรณ์ ทรงพักไว้ นิ่งเฉย ไม่ทรงเฉลย เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ จึงชื่อว่า ฐปนียปัญหา ฉะนี้แล.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๒

ปัญหาที่ ๓ มัจจุภายนาภายนปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า :- “สพฺเพ  ตสนฺติ  ทณฺฑสฺส.  สัตว์ทั้งปวงย่อมหวาดหวั่นต่อการลงทัณฑ์" “สพฺเพ ภายนฺติ มจฺจุโน.  สัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวต่อความตาย ดังนี้"  ยังตรัสไว้อีกว่า  “อรหา สพฺพภยมติกฺกนฺโต.  พระอรหันต์เป็นผู้ล่วงความกลัวต่อทุกสิ่งทุกอย่างได้แล้ว ดังนี้".  พระคุณเจ้านาคเสน ผู้เป็นพระอรหันต์ยังหวาดหวั่นทัณฑภัยหรือหนอ อีกอย่างหนึ่ง สัตว์นรกในนรก ผู้ถูกไฟนรกแผดเผาลุกโพลงหมกไหม้อยู่ กำลังเคลื่อน จากมหานรกที่มีเปลวไฟลุกโพลงอยู่นั้น ยังกลัวต่อความตายอยู่อีกหรือหนอ (จึงได้ตรัสว่า สัตว์ทั้งปวง) พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากพระผู้มีพระภาคตรัสว่า สัตว์ทั้งปวงย่อมหวาดหวั่นต่อการลงทัณฑ์ สัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวต่อความตาย ดังนี้จึงไซร้ ถ้าอย่างนั้นคำว่า พระอรหันต์เป็นผู้ล่วงความกลัวต่อทุกสิ่งทุกอย่างได้แล้ว ดังนี้ ก็ต้องเป็นคำพูดที่ผิด ถ้าหากว่าพระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระอรหันต์เป็นผู้ล่วงความกลัวต่อทุกสิ่งทุกอย่างได้แล้ว ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำว่า สัตว์ทั้งปวงย่อมหวาดหวั่นต่อการลงทัณฑ์ สัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวต่อความตาย ดังนี้ ก็ต้องเป็นคำพูดที่ผิด ปัญหานี้มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร คำว่า สัตว์ทั้งปวงย่อมหวาดหวั่นต่อการลงทัณฑ์ สัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวต่อความตาย ดังนี้ นี้ พระผู้มีพระภาคไม่ได้จัดหมายเอาพระอรหันต์ด้วย ในเรื่องนั้นต้องยกเว้นพระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์ถอนเหตุแห่งความกลัวได้แล้ว ขอถวายพระพร บรรดาสัตว์ผู้มีกิเลสทั้งหลาย สัตว์เหล่าใด มีอัตตานุทิฏฐิ ประมาณยิ่ง และสัตว์เหล่าใด เป็นผู้มีความอ่อนไหวในสุขและทุกข์ พระผู้มีพระภาคทรงหมายเอาสัตว์เหล่านั้น ตรัสว่า สัตว์ทั้งปวงย่อมหวาดหวั่นต่อการลงทัณฑ์ สัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวต่อความตาย ดังนี้ ขอถวายพระพร พระอรหันต์ตัดคติทั้งปวงได้แล้ว กำจัดโยนิได้แล้ว เพื่อปฏิสนธิได้แล้ว หักซี่โครงเรือนได้แล้ว ถอนอะไรในภพทั้งปวงได้แล้ว ทำลายสังขารทั้งปวงได้แล้ว และกุศลและอกุศลได้แล้ว พรากอวิชชาได้แล้ว ทำวิญญาณให้ไม่มีพืชได้แล้ว เผากิเลสทั้งปวงได้แล้ว ก้าวล่วงโลกธรรมทั้งหลายได้แล้ว เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงไม่หวาดหวั่นภัยทั้งปวง.  ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าพระราชาในโลกนี้ ทรงมีมหาอำมาตย์อยู่ ๔ คน ซึ่งเป็นองครักษ์ ได้รับพระราชทานยศ เป็นผู้สนิทสนมกับพระราชา พระราชาทรงตั้งไว้ในตำแหน่งที่ยิ่งใหญ่ ต่อมา เมื่อมีกรณียกิจบางอย่างเกิดขึ้น พระราชาก็ทรงออกพระราชโองการ ตรัสสั่งทุกคนเท่าที่มีในแว่นแคว้นของพระองค์ว่า ทุกคนเลยเทียว จงทำพลีกรรมแก่เรา นี่แน่ะ ท่านมหามาทั้ง ๔ ขอท่านจงจัดการทำกรณียกิจนั้นให้สำเร็จเถิด ดังนี้ ขอถวายพระพร มหาอำมาตย์ทั้ง ๔ นั้นจึงเกิดความหวาดหวั่นภัยคือพลีกรรมนั้นหรือไม่ ?  พระเจ้ามิลินท์, ไม่เกิดหรอกพระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, เพราะเหตุใดหรือ ขอถวายพระพร.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า พวกอำมาตย์เหล่านั้นพระราชาทรงแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งที่สูงส่ง พวกอำมาตย์เหล่านั้นไม่มีพลีกรรม พวกเขาเป็นผู้พ้นการทำพลีกรรม พระราชารับสั่งหมายเอาชนที่เหลือเท่านั้น ว่า ทุกคนเลยเทียว จงทำพลีกรรมแก่เรา

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน คำนี้ พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสหมายเอาพระอรหันต์ด้วย ในเรื่องนั้นต้องยกเว้นพระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์ถอนเหตุแห่งความกลัวได้แล้ว ขอถวายพระพร บรรดาสัตว์ผู้มีกิเลสทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดมีอัตรานุทิฏฐิประมาณยิ่ง และสัตว์เหล่าใดเป็นผู้มีความอ่อนไหวในสุขและทุกข์ พระผู้มีพระภาคทรงหมายเอาสัตว์เหล่านั้น ตรัสว่า สัตว์ทั้งปวงย่อมหวาดหวั่นต่อการลงทัณฑ์ สัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวต่อความตาย ดังนี้ เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงไม่หวาดหวั่นภัยทั้งปวง.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน คำที่ตรัสไว้นี้ ไม่ใช่คำที่ยังมีส่วนเหลือ คำว่า สัตว์ทั้งปวง นี้ เป็นคำที่หาส่วนเหลือมิได้ ขอท่านจงบอกเหตุในคำที่ตรัสไว้นั้น แก่ข้าพเจ้าให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด ขอจงอธิบายคำที่ตรัสไว้นั้น ให้หนักแน่นเถิด.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร นายบ้านผู้เป็นใหญ่ในหมู่บ้าน เพิ่งสั่งบ่าวผู้ประกาศคำสั่งว่า นี่แน่ะ นายผู้ประกาศคำสั่ง เธอจงไปบอกลูกบ้านทุกคนเท่าที่มีในหมู่บ้าน ให้รีบไปประชุมกันที่สำนักของฉันโดยเร็วเถิด บ่าวผู้ประกาศคำสั่งรับคำสั่งแล้วก็ไปยืนอยู่กลางหมู่บ้าน เปล่งเสียงให้ได้ยินถึง ๓ ครั้งว่า ลูกบ้านทุกคนเท่าที่มีในหมู่บ้านขอจงไปประชุมกันที่สำนักของนายท่านโดยเร็วเถิด ต่อจากนั้นไป พอพวกลูกบ้านเรานั้นรีบไปประชุมกันที่สำนักของนายบ้านตามคำของบ่าวผู้ประกาศคำสั่งแล้วก็แจ้งแก่นายบ้านว่า นายท่าน ลูกบ้านทุกคนมาประชุมกันแล้ว ขอท่านจงทำกิจที่ควรทำเถิด ดังนี้ ขอถวายพระพร ก็เป็นว่า นายบ้านผู้นั้นได้สั่งลูกบ้านที่เป็นชายในเรือน (หัวหน้าเรือน) ทุกคนให้มาประชุม ก็ลูกบ้านทั้งหลายเหล่านั้น พ่อถูกสั่งแล้วก็หามาประชุมทุกคนไม่ เฉพาะพวกผู้ชายในเรือน (หัวหน้าเรือน) เท่านั้น ที่มาประชุม และนายบ้านก็ยอมรับตามนั้นว่า ลูกบ้าน (ที่ต้องมาประชุม) ของเรา ก็มีเพียงเท่านั้น หญิง ชาย ทาสหญิง ทาสชาย ลูกจ้าง กรรมกร คนเจ็บ ซึ่งเป็นลูกบ้านคนอื่นๆ ตลอดจนโค กระบือ แพะ สุนัข ที่มิได้มาประชุมนั้น มีจำนวนมากกว่า นายบ้านมิได้นับเอา คนที่มิได้มาทุกคนเหล่านั้นด้วย เพราะที่สั่งว่า ทุกคนจงมาประชุม นั้น หมายเอาเฉพาะพวกผู้ชายในเรือน (หัวหน้าเรือน) เท่านั้น ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน คำนี้ พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงหมายเอาพระอรหันต์ด้วย ในเรื่องนั้นต้องยกเว้นพระอรหันต์ พระอรหันต์ถอนเหตุแห่งความกลัวได้แล้ว ขอถวายพระพร บรรดาสัตว์ผู้มีกิเลสทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดมีอัตตานุทิฏฐิประมาณยิ่ง และสัตว์เหล่าใดเป็นผู้มีความอ่อนไหวในสุขและทุกข์ พระผู้มีพระภาคทรงหมายเอาสัตว์เหล่านั้น ตรัสว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงย่อมหวาดหวั่นต่อการถูกลงทัณฑ์ สัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวต่อความตาย ดังนี้ เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงไม่หวาดหวั่นภัยทั้งปวง.  

ขอถวายพระพร คำพูดมีส่วนเหลือ อรรถก็มีส่วนเหลือก็มีอยู่ คำพูดมีส่วนเหลือ แต่อรรถหาส่วนเหลือไม่ได้ ก็มีอยู่ คำพูดหาส่วนเหลือไม่ได้ แต่อรรถมีส่วนเหลือ ก็มีอยู่ คำพูดหาส่วนเหลือมิได้ อรรถก็หาส่วนเหลือไม่ได้ ก็มีอยู่ บัณฑิตพึงรับรองอรรถได้ในเหตุนั้นๆ.   ขอถวายพระพร บัณฑิตพึงรับรองอรรถได้โดยเหตุ ๕ อย่าง คือโดยอาหัจจบท ๑, โดยรส ๑, โดยอาจริยวังสะ ๑, โดยอธิบาย ๑, โดยการณุตตริยตา ๑, ในบรรดาเหตุ ๕ อย่างเหล่านี้ พระสูตรท่านประสงค์ว่าเป็น อาหัจจบท คำพูดอนุโลมตามพระสูตรชื่อว่า รส วาทะของอาจารย์ชื่อว่า อาจริยวังสะ คำว่า อธิบาย ได้แก่มติของตน คำว่า การณุตตริยตา ได้แก่ การณะ (เหตุที่ใช้อ้าง) ที่สำเร็จได้ด้วยเหตุ ๔ อย่างเหล่านี้ ขอถวายพระพร มหาบพิตร บัณฑิตพึงรับรองอรรถได้ด้วยเหตุ ๕ อย่างเหล่านี้ แล ปัญหานั้นชื่อว่า เป็นอันได้วินิจฉัยดีแล้วก็โดยประการอย่างนี้.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ข้อที่สัตว์ทั้งหลายที่เหลือสะดุ้งกลัว ในเรื่องนั้นต้องยกเว้นพระอรหันต์นั้นข้าพเจ้าก็ยอมรับตามอย่างที่ท่านกล่าวนั้นละ ก็แต่ว่าพวกสัตว์นรกทั้งหลายผู้เสวยทุกขเวทนากล้าแข็งเผ็ดร้อนอยู่ในนรก มีอวัยวะใหญ่น้อยทั้งปวงถูกไฟเผาลุกโพลง มีหน้าชุ่มด้วยน้ำตา ร้องไห้คร่ำครวญบ่นเพ้ออยู่ มีทุกข์แรงกล้าเหลือทนครอบงำ ไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่พึ่ง เป็นผู้ที่สิ่งอื่นไม่อาจเป็นที่พึ่งให้ได้ มีความเศร้าโศกอาดูรไม่ใช่น้อย มีคติต่ำทรามเป็นที่สุด บ่ายหน้าไปหาความเศร้าโศกโดยส่วนเดียว ถูกไฟแผดเผาร้อนกล้าโหดร้าย เปล่งเสียงดังฟังน่าสยดสยอง น่ากลัวมีเปลวไฟ ๖ อย่าง ติดประสานเป็นพวงอยู่โดยรอบ เพลงเปลวไฟร้อนกล้าแผ่ไปตลอดที่ ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ เมื่อเคลื่อนจากมหานรกร้อนทารุณ ก็ยังกลัวความตายอีกหรือ ?

พระนาคเสน, ใช่ยังกลัว ขอถวายพระพร.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน นรกเป็นคติที่ต้องเสวยแต่ทุกข์โดยส่วนเดียวเท่านั้นมิใช่หรือ เพราะเหตุไร พวกสัตว์นรกเหล่านั้น เมื่อจะเคลื่อนจากนรก ซึ่งเป็นคติที่ต้องเสวยแต่ทุกข์โดยส่วนเดียว จึงยังกลัวตายเล่า ยังรื่นรมย์ในนรกหรือไร ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พวกสัตว์นรกเหล่านั้นหารื่นรมย์ในนรกไม่ พวกสัตว์เหล่านั้นมีแต่ความต้องการจะพ้นจากนรก ขอถวายพระพร ความตายนี้มีอานุภาพอันเป็นเหตุให้สัตว์เหล่านั้นเกิดความหวั่นกลัว.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ข้อที่ว่าสัตว์นรกผู้ต้องการจะพ้นจากนรก เรื่องเกิดความหวั่นกลัวต่อการเคลื่อนจากนรกนี้ ข้าพเจ้าไม่เชื่อหรอก พระคุณเจ้านาคเสน ฐานะที่ว่านั้นน่าขัน ขอจงทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจด้วยเหตุผลเถิด.   พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ชื่อว่า ความตาย นี้เป็นฐานะที่น่ากลัวสำหรับสัตว์ทั้งหลายผู้ยังไม่เห็นสัจจะ คนเรานี้ ย่อมหวาดหวั่นพรั่นพรึงในความตายนี้ ขอถวายพระพร ผู้ใดกลัวงูเห่าดำ ผู้นั้นกลัวตายจึงกลัวงูเห่าดำ ผู้ใดกลัวช้าง กลัวสีหะ กลัวเสือโคร่ง และผู้ใดกลัวหอกหลาว ผู้นั้นกลัวตายจึงตัวหอกหลาว ขอถวายพระพร ข้อนั้นเป็นเดชานุภาพอันเป็นสภาวะพร้อมทั้งรสของความตาย เพราะเดชานุภาพอันเป็นสภาวะ พร้อมทั้งรสของความตายนั้น สัตว์ผู้มีกิเลสทั้งหลายจึงหวาดหวั่น จึงกลัวต่อความตาย.  ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บุรุษบางคนในโลกนี้มีต่อมไขมันในร่างกายบวมเป็นต่อมฝีขึ้น เขาเป็นทุกข์เพราะโรคนั้น ต้องการจะพ้นจากอันตราย จึงไปเชิญหมอผ่าตัดมา หมอผ่าตัดรับคำเชิญของเขาแล้ว ก็จัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับการถอนโรคนั้น ลับมีดไว้ให้คม เอาครีมลนไฟไว้ บดยาชะล้างแผลไว้ ขอถวายพระพร คนไข้ผู้กำลังย่ำแย่อยู่นั้น เพิ่งเกิดความหวั่นกลัวต่อทุกขเวทนา เพราะการผ่าตัดด้วยมีดคม เพราะการทำแผลให้ไหม้ด้วยคีม เพราะการใส่ยาชะล้างแผลขึ้นหรือไม่หนอ ?

พระเจ้ามิลินท์, ใช่พระคุณเจ้า เขาพึงเกิดความหวั่นกลัวขึ้น.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ก็เป็นอันว่า คนไข้ผู้ย่ำแย่อยู่ แม้นต้องการจะพ้นจากโรคนั้น ก็ยังเกิดความหวาดหวั่นกลัวภัยคือทุกเวทนา ขอถวายพระพร ข้อนี้มีอุปมาฉันใดพวกสัตว์นรกทั้งหลาย แม้ต้องการจะพ้นจากนรก ก็ยังเกิดความหวั่นกลัวภัยคือความตาย ฉันนั้นเหมือนกัน.  ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า บุรุษบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความผิดในท่านผู้เป็นใหญ่ เพราะถูกล่ามด้วยโซ่ตรวน ถูกขังไว้ในห้องขังแล้ว ก็พึงเป็นผู้ต้องการจะพ้นไป ท่านผู้เป็นใหญ่นั้นก็ต้องการจะปล่อย จึงให้เรียกเขามา ขอถวายพระพร บุรุษผู้มีความผิดในท่านผู้เป็นใหญ่ ผู้รู้อยู่ว่าเราได้ทำความผิดไว้ ดังนี้นั้น จะพึงเกิดความหวั่นกลัวต่อการที่จะต้องไปพบท่านผู้เป็นใหญ่หรือไม่ ?  พระเจ้ามิลินท์, ใช่ พระคุณเจ้า เขาจะต้องเกิดความหวั่นกลัว.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ก็เป็นอันว่า บุรุษผู้มีความผิดในท่านผู้เป็นใหญ่นั้น แม้ว่าต้องการจะพ้นไป ก็ยังเกิดความหวั่นกลัวภัยจากท่านผู้เป็นใหญ่ ขอถวายพระพร ข้อนี้มีอุปมาฉันใด พวกสัตว์นรกทั้งหลาย แม้ว่าต้องการจะพ้นจากนรก ก็ยังเกิดความหวั่นกลัวมรณภัยฉันนั้นเหมือนกัน.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ขอจงบอกเหตุผลที่ยิ่งขึ้นไปแม้อย่างอื่นอีกเถิด ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ข้าพเจ้าปลงใจเชื่อได้.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร บุรุษบางคนในโลกนี้ถูกงูพิษกัดเอา เพราะพิษที่แพร่กระจายไปนั้น เขาจึงล้มกลิ้งเกลือกอยู่ไปมา ลำดับนั้น มีบุรุษอีกคนหนึ่ง ใช้บทมนต์ที่มีพลัง ชักนำงูพิษตัวนั้นมา บังคับให้ดูดพิษที่รอยกัดนั้นกลับคืนไป ขอถวายพระพร บุรุษผู้มีพิษงูซึมซาบอยู่นั้น เมื่องูพิษที่กัดนั้นเลื้อยเข้ามาใกล้ เพราะเหตุจะสร้างความสวัสดีให้ จะพึงเกิดความหวั่นกลัวขึ้นหรือไม่ ?

พระเจ้ามิลินท์ ใช่ล่ะ พระคุณเจ้า เขาจะต้องเกิดความหวั่นกลัว พระนาคเสน ขอถวายพระพร ก็เป็นอันว่า เมื่องูเห็นปานนั้นเลื้อยเข้ามาใกล้ เพราะเหตุจะสร้างความสวัสดีให้ บุรุษผู้นั้นยังเกิดความหวั่นกลัวได้ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด พวกสัตว์นรกทั้งหลาย แม้ว่าต้องการจะพ้นจากนรก ก็ยังเกิดความหวั่นกลัวต่อมรณภัย ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร ความตายไม่เป็นที่น่าปรารถนาสำหรับสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เพราะฉะนั้นพวกสัตว์นรก แม้ว่าต้องการจะพ้นจากนรก ก็ยังกลัวตาย.   พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำพูดของท่าน ตามประการที่ท่านกล่าวมากระนี้ นี้.  จบมัจจุภายนาภายนปัญหาที่ ๓

ปัญหาเกี่ยวกับความกลัวและไม่กลัวต่อความตาย ชื่อว่า มัจจุภายนาภายนปัญหา

คำว่า มี อัตตานุทิฏฐิประมาณยิ่ง ความว่า ความตามเห็นผิดในขันธ์ ๕ ว่ามีอัตตา ว่าเป็นอัตตา ชื่อว่าอัตตานุทิฏฐิ ได้แก่ เป็นผู้มีอัตตานุทิฏฐินั้นประมาณยิ่ง คือมีกำลังยิ่ง.   คำว่า มีความอ่อนไหวในสุขและทุกข์ ความว่า เมื่อได้เสวยสุขแม้เพียงเล็กน้อย ก็เกิดความยินดีเสียยิ่งนัก เมื่อได้เสวยทุกข์แม้เพียงเล็กน้อย ก็เกิดความเศร้าโศกเกินประมาณ.  คำว่า พระอรหันต์ปกติทั้งปวงได้แล้ว เป็นต้น ความว่า พระอรหันต์เป็นผู้ตัดคติคือภูมิอันเป็นที่ไปของสัตว์ทั้งหลายได้แล้ว ทั้งสุคติภูมิ ทั้งทุกข์คติภูมิ กำจัดโยนิ (กำเนิด) คืออาการที่เกิด ๔ อย่าง มีชลาพุชโยนิ กำเนิดของสัตว์ผู้เกิดในมดลูก เป็นต้น ได้แล้ว เพิกปฏิสนธิ คือถอนการปฏิสนธิในภพใหญ่พบน้อยทั้งหลายได้แล้ว หักซี่โครงเรือน คือหักทำลายตัณหาและกรรมอันเป็นซี่โครงเรือนคืออุปทานขันธ์ ๕ ได้แล้ว ถอนอะไรคือถอนปัญหาในภพทั้งปวงได้แล้ว ทำลายสังขารทั้งปวงคือละธรรมทั้งหลายอันเป็นเหตุแห่งสังขารทั้งปวงได้แล้ว ละกุศลและอกุศลได้แล้ว โดยการตัดขาดอนุสัยทั้งหลายได้ พรากอวิชชา คือขจัดอวิชา ด้วยการทำวิชาคือพระอรหันต์มรรคญาณให้เกิดขึ้นได้แล้ว ทำวิญญาณให้ไม่มีพืช คือทำวิญญาณไม่ให้มีการสืบต่อด้วยอำนาจปฏิสนธิในภพใหม่ได้แล้ว เผากิเลสทั้งปวง ด้วยไฟคือพระอรหันต์มรรคญาณได้แล้ว ก้าวล่วงโลกธรรม มีลาภ เสื่อมลาภ เป็นต้น โดยประการที่ไม่อาจครอบงำ ทำให้หวั่นไหวด้วยความยินดียินร้ายได้แล้ว.  คำว่า จงทำพลีกรรมแก่เรา คือจงทำการเสียสละแบ่งปันทรัพย์เงินทอง ที่ไร่นา ทาสหญิงทาสชาย เป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่เรา

ในคำว่า คำพูดมีส่วนเหลือ อรรถก็มีส่วนเหลือ ก็มีอยู่ เป็นต้นนี้ ประสงค์ให้ทราบว่า คำว่า สัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวต่อความตาย ดังนี้ นี้ เป็นคำพูดที่หาส่วนเหลือมิได้ เพราะกล่าวว่า สัตว์ทั้งปวง แต่อรรถคือสิ่งที่พูดถึงมีส่วนเหลืออยู่เพราะไม่ได้ครอบคลุมถึงพระอรหันต์ พระอรหันต์เป็นส่วนที่เหลืออยู่.  ในคำว่า พระสูตรท่านประสงค์ว่า เป็นอาหัจจบท (บทที่ชักมาอ้าง) นี้ เพิ่งทราบว่า พระพุทธพจน์ตลอดทั้ง ๓ ปิฎกชื่อว่า สูตร ในที่นี้.  คำว่า คำพูดอนุโลมตามพระสูตร ชื่อว่ารส ความว่ามหาปเทส (คำชี้แจงของท่านผู้ยิ่งใหญ่ หรือคำชี้แจงที่ยิ่งใหญ่หรือที่น่าบูชา) ๔ อย่าง อันได้แก่ – พุทธาปเทส คำตรัสชี้แจงของพระพุทธเจ้า ๑, – สังฆาปเทส คำชี้แจงของพระสงฆ์ ๑, – พหุเถราปเทส คำชี้แจงของพระเถระหลายรูป ๑, – เอกเถราปเทส คำชี้แจงของพระเถระรูปเดียว ๑

ชื่อว่า คำอนุโลมตามพระสูตร ในบรรดามหาปเทส ๔ อย่างนั้น ยกเว้นพุทธาปเทสแล้ว มหาปเทส ๓ ที่เหลือ บัณฑิตพึงเชื่อถือยอมรับ ก็ในเมื่อลงกันได้กับในพระสูตรนั่นเทียว ถ้าหากว่าลงกันไม่ได้ก็ไม่พึงเชื่อถือยอมรับ ก็คำว่า มหาปเทส ว่าโดยความก็คือคำวินิจฉัยนั้นเอง คำอนุโลมตามพระสูตรคือมหาปเทส ๔ นี้ชื่อว่า รส เพราะอรรถว่าทำให้ยินดี.  คำว่า วาทะของอาจารย์ ชื่อว่า อาจริยวังสะ ความว่า อรรถกถา คำพูดอรรถาธิบายพระบาลี ชื่อว่า วาทะของอาจารย์ ก็วาทะของอาจารย์คืออรรถกถานั้นนั่นแหละ ชื่อว่า อาจริยวังสะ (วงศ์ ประเพณี ของอาจารย์).  คำว่า อธิบาย ได้แก่มติของตน ความว่า ฎีกา คำพูดทำอรรถกถาให้แจ้ง ชื่อว่าอัตโนมติ มติของตน ก็มติของตนนั้น ท่านเรียกว่าอธิบาย ก็เพราะอธิบายอรรถกถา.   คำว่า การณุตตริยตา ได้แก่ การณะที่สำเร็จได้ด้วยเหตุ ๔ อย่างเหล่านี้ ความว่า บัณฑิตจะพึงรับรองได้ว่าเป็นอรรถที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงประสงค์ ก็ต่อเมื่อมีการณะ คือ เมื่อเทียบเคียงกับเหตุ ๔ อย่างเหล่านี้ คือ เทียบเคียงกับพระสูตร เทียบเคียงกับคำอนุโลมตามพระสูตรเทียบเคียงกับวาทะของอาจารย์ เทียบเคียงกับมติของตนแล้ว ก็ลงกันได้ ฉะนี้แล.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๓.   จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๒๕

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?




"อนุปฺปาโท เขมํ - ธรรมอันไม่มีความเกิดขึ้น เป็นธรรมอันเกษม"

"อนุปฺปาโท เขมํ" แปลว่า "ธรรมอันไม่มีความเกิดขึ้น เป็นธรรมอันเกษม"

จิตใจน้อมไปในธรรมอันเกษมได้ก็เพราะเกิดความเบื่อหน่าย เอือมระอา ไม่ยินดีอย่างยิ่งในสังขารร่างกายอันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรเปลี่ยนในท่ามกลาง และความแตกสลายไปในที่สุด แล้ววนเวียนอยู่ในภพภูมิทั้งหลาย

เหมือนกับพญาหงส์ไม่ยินดีในบ่อน้ำครำอันโสโครก แต่กลับยินดียิ่งในสระบัวอันใสสะอาด, เหมือนกับพญาราชสีห์ไม่ยินดีในกรงทอง แต่กลับยินดียิ่งในป่าหิมพานต์, และเหมือนกับพญาช้างฉัททันต์ไม่ยินดีอยู่ในเมืองหลวง แต่กลับยินดียิ่งในป่าชัฎฉะนั้น.

เพราะฉะนั้น แม้ว่าเรายังมีกิเลสคือราคะโทสะและโมหะเป็นต้นอยู่ในจิตสันดานก็ตาม แต่การพิจารณาเห็นสังขารทั้งหลาย โดยความเป็นของน่าเกลียด เป็นของน่ากลัว เป็นของทำใจให้ลุ่มหลงติดอยู่ภพภูมิต่างๆ ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร อันเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์อย่างยิ่งตราบนานแสนนาน

การพิจารณาให้เห็นโทษจนเกิดความเบื่อหน่ายในสังขารเท่านั้นที่จะเป็นเหตุให้จิตอยากหลุดพ้นไปจากวัฏสงสาร แล้วจึงหมั่นบำเพ็ญเพียรเพื่อสร้างคุณงามความดีสั่งสมเป็นบุญบารมีไว้ เพื่อจะได้หลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงได้.

สาระธรรมจากวิสุทธิมรรคภาค ๓ (นิพพิทานุปัสนาญาณ)

พระมหาวัชระ  เชยรัมย์  (ติกฺขญาโณ)

28/5/64


วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

พระพุทธเจ้า“ประกาศอิสรภาพ”ให้แก่มวลมนุษย์

พระพุทธเจ้า“ประกาศอิสรภาพ”ให้แก่มวลมนุษย์

“พระพุทธเจ้าเมื่อประสูติได้ตรัสพระวาทะ ที่เรียกเป็นภาษาบาลีว่า “อาสภิวาจา” (วาจาอาจหาญ) ว่า “อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส, เชฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส, เสฏฺโฐหมสฺมิ โลกสฺส” แปลว่า เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก เราเป็นพี่ใหญ่แห่งโลก เราเป็นผู้ประเสริฐแห่งโลก เมื่อได้ยินคำนี้บางคนอาจจะมองว่า ทำไมพระพุทธเจ้ามาอวดอ้างพระองค์ จะต้องเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าตรัสอย่างนี้ เป็นการตรัสในฐานะที่ทรงเป็นตัวแทนของมนุษย์ แต่ไม่ใช่มนุษย์ทั่วไป ในที่นี้หมายถึงมนุษย์ที่พัฒนาตนดีแล้ว เมื่อมนุษย์พัฒนาตนสมบูรณ์แล้ว ด้วยศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองนี้ มนุษย์ก็จะกลายเป็นผู้ประเสริฐ มนุษย์ที่เคยหวังพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรืออิทธิฤทธิ์ที่ดลบันดาลภายนอก ก็กลายเป็นผู้มีอิสรภาพ

เรื่องนี้ตรัสโดยสัมพันธ์กับสภาพของสังคมอินเดียโบราณ ซึ่งเป็นสังคมที่พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้น หรือพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ลองหันไปดูสังคมอินเดียโบราณ และแม้แต่ไม่โบราณ คือปัจจุบันนี้เอง ซึ่งอาจจะโยงมาถึงประเทศไทยด้วย ผู้คนทั้งหลายนั้น อยากจะดำเนินชีวิตที่ดี อยากจะมีความสุข อยากจะพ้นทุกข์พ้นภัย อยากจะได้สิ่งที่หวังที่ต้องการ เมื่อเขามีความปรารถนาอย่างนี้ เขามองไปที่ไหน เขามักจะมองออกไปข้างนอกว่าจะมีใครมาช่วยเรา โดยเฉพาะก็เชื่อว่ามีเทพเจ้าเป็นต้น ที่มีอำนาจดลบันดาล ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร ก็แล้วแต่การดลบันดาลของท่าน เราต้องฝากโชคชะตาไว้กับเทพเจ้าเป็นต้นเหล่านั้น ที่มีอำนาจยิ่งใหญ่เหนือธรรมชาติ เมื่อเชื่ออย่างนี้ คนอินเดียสมัยโบราณ ก็ต้องหาวิธีที่จะให้เทพเจ้าผู้มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลนั้นมาช่วยเหลือ จึงได้ประดิษฐ์ประดอยวิธีที่จะเอาอกเอาใจเทพเจ้า ที่เรียกกันว่าการเซ่นสรวงบูชา การประดิษฐ์ตกแต่งคิดหาวิธีเอาอกเอาใจเทพเจ้านี้ ได้พัฒนามาเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าการบูชายัญ ไม่ว่าที่ไหนในสมัยโบราณ ถ้าจะเอาใจเทพเจ้าก็มาลงที่การบูชายัญ

แต่การเอาอกเอาใจเทพเจ้าที่เราไม่รู้ว่าท่านต้องการอะไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไรนั้น เอาใจลำบากมาก เราจึงต้องคิดเอาเอง คิดไปคิดมาก็พยายามปรุงแต่งวิธีจนกระทั่งยิ่งใหญ่มาก คิดว่าเทพเจ้าท่านมีอำนาจมาก บางองค์ก็ดุ คงชอบชีวิต ก็เลยเอาสัตว์มาฆ่าบูชายัญ ถ้าแค่เรื่องเป็ด เรื่องไก่ ก็คงง่าย แต่ต่อมาก็เอาวัว เอาแกะ เอาแพะ มาบูชายัญ แล้วก็ต้องทำเป็นการใหญ่ทีละมากๆ เช่น วัว ๕๐๐ แพะ ๕๐๐ แกะ ๕๐๐ เวลาผ่านมาคิดว่าเท่านี้เทวดาคงยังไม่พอใจ เทพเจ้าบางองค์อาจจะพอใจชีวิตคน ก็เลยเอาคนมาฆ่าบูชายัญ อย่างเจ้าแม่กาลี ก็ต้องเอาหญิงสาวพรหมจารีมาฆ่าบูชายัญ

การเอาอกเอาใจเทพเจ้าและอำนาจที่เรามองไม่เห็น ที่เราไม่รู้ใจอย่างนี้ จะเป็นเรื่องที่ไม่มีที่สิ้นสุด ให้มองได้เลยว่า ไม่ว่าใครถ้าอยู่ในลัทธิความเชื่ออย่างนี้ ก็จะเดินไปจนกระทั่งถึงจุดที่ว่านั้น และในที่สุดก็ต้องหาอะไรมาเป็นกรอบกั้น อย่างอินเดียนั้น เมื่ออังกฤษเข้ามาปกครอง ก็ออกกฎหมายห้ามไม่ให้เอาคนไปฆ่าบูชายัญ อย่างนี้เป็นต้น สังคมปัจจุบันนี้ก็กำหนดจำกัดขอบเขตกันด้วยกฎหมายและให้มีการลงโทษ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้เกิดความกลัว เป็นการยับยั้งด้วยความกลัว ไม่ใช่เรื่องของสติปัญญา

รวมความก็คือว่า มนุษย์มองไปข้างนอก แสวงหาและหวังผลสำเร็จจากอำนาจดลบันดาล และรอคอยความช่วยเหลือ เป็นกันมาอย่างนี้ บูชายัญกันอยู่อย่างนี้

วันที่พระพุทธเจ้าประกาศอิสรภาพให้แก่มวลมนุษย์

เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น พระองค์ก็มาตรัสสอนใหม่ว่า อย่ามัวไปมองข้างนอกเลย ให้ดูความจริงที่ตัวเราเองนี่แหละ และดูโดยสัมพันธ์กับความเป็นไปของสิ่งทั้งหลายที่อยู่รอบตัวเราทั้งหมด ว่าชีวิตของเราก็ตาม สิ่งทั้งหลายรอบตัวของเราก็ตาม มันมีความเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่เรียกง่ายๆ ว่ากฎธรรมชาติ ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยนี้ กำกับทุกสิ่งทุกอย่าง ผลเกิดจากเหตุ และเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เมื่อเราต้องการผลเราก็ต้องทำเหตุ แต่การที่จะให้เกิดผลสำเร็จคือการที่เราจะทำให้ตรงเหตุได้ เราจะต้องมีความรู้ คือต้องมีปัญญา

สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย แต่เหตุปัจจัยเป็นอย่างไร เราจะรู้และทำให้ถูกต้องตามเหตุปัจจัยนั้นได้ เราก็ต้องมีปัญญา ทำอย่างไรเราจะมีปัญญา เราก็ต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนาตัวเองให้มีปัญญานั้น เมื่อเรารู้ คือมีปัญญารู้เข้าใจเหตุปัจจัย เราก็ทำเหตุได้ถูกต้อง ผลที่ต้องการก็เกิดขึ้น

นอกจากนั้น เมื่อผลที่เราต้องการนี้เกิดจากการทำเหตุ เราจะทำเหตุเราก็ต้องใช้เรี่ยวแรงกำลังของเราทำมัน คือต้องเพียรพยายาม เพราะฉะนั้น ผลสำเร็จที่เราต้องการ จึงเกิดจากการกระทำด้วยความเพียรพยายามของตัวเราเอง นี้คือหลักของเหตุผล เป็นเรื่องของธรรม คือกฎธรรมชาติแห่งเหตุปัจจัย และเรื่องของกรรม คือการกระทำของมนุษย์ที่จะให้เกิดผลตามธรรม คือตามกฎแห่งเหตุปัจจัยนั้น

จากหลักการที่กล่าวมานี้ พระพุทธเจ้าจึงดึงคนจากเทพมาสู่ธรรม และพระองค์ก็สอนว่าธรรมนี้แหละสูงสุด เทพเจ้าถึงมีอำนาจมากมายยิ่งใหญ่อย่างไร ก็ต้องอยู่ใต้อำนาจของธรรม เทพทั้งหลายไม่เหนือธรรมไปได้ คือไม่เหนือความจริง ไม่เหนือกฎธรรมชาติ ตัวเทพทั้งหลายเองก็ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ และต้องวัดด้วยธรรม อย่างเทพที่ว่าไม่ดี เอาแต่ใจชอบของตัวเอง ใช้อำนาจข่มเหงให้มนุษย์เกรงกลัว ต้องเซ่นสรวงสังเวยบูชายัญ เอาใจไม่ถูกไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร หรือเทพที่ดีที่ว่ามีเหตุมีผล ทำสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งหมดนี้จะตัดสินด้วยอะไร ก็ตัดสินด้วยธรรม เป็นอันว่าเทพก็ต้องเอาธรรมเป็นมาตรฐาน เพราะฉะนั้น ธรรมจึงสูงกว่าเทพ ธรรมต้องเหนือเทพ

ถ้าเราขึ้นสูงสุดไปนับถือธรรมเลย เราก็ไม่ต้องกังวลกับเรื่องเทพ เพราะทั้งเทพและเราก็ต้องเคารพธรรมด้วยกัน เพียงแต่ว่าเราก็อยู่กับเทพอย่างเป็นมิตร มีเมตตา เราไม่ได้ดูถูกดูหมิ่นท่าน แต่เราไม่ต้องขึ้นต่อเทพ เราไม่ต้องรอคอยความช่วยเหลือ ไม่ต้องหวังผลดลบันดาลจากท่าน เพราะว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามธรรม การถือธรรมเป็นใหญ่ ยกธรรมเป็นสูงสุดนี้ เป็นเกณฑ์ตัดสินความเป็นชาวพุทธอย่างสำคัญ

เป็นอันว่า พระพุทธเจ้าสอนคนให้ย้ายจากเทพมาสู่ธรรม อันนี้คือความหมายสำคัญแห่งการอุบัติขึ้นของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นการปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ และเป็นการประกาศอิสรภาพให้แก่มนุษย์ คือ การประกาศหลักการที่ให้ถือธรรมเป็นใหญ่สูงสุด

จุดนี้เป็นข้อที่จะต้องย้ำเน้นกัน เพราะว่าแม้แต่ปัจจุบันนี้ ผู้ที่เรียกตัวว่าเป็นชาวพุทธจำนวนมาก ก็ยังพร่าๆ มัวๆ ยังไปถือเทพสูงสุด ทั้งๆ ที่เทพทั้งหลายก็อยู่ใต้อำนาจธรรม

ถ้าเราเอาธรรมเป็นเกณฑ์แล้วหมดปัญหา อย่างที่บอกแล้วว่า เทพนั้นเราเอาใจไม่ถูก เราก็ได้แต่คอยตามดูว่าท่านจะชอบอะไร จะเอาอย่างไร ที่เราทำไปนั้นถูกใจท่านหรือยัง ถ้ายังไม่ได้ผลที่ต้องการ เราก็นึกว่าท่านยังไม่ชอบใจ เราก็ต้องยักย้ายเปลี่ยนแปลงวิธีที่จะเอาใจใหม่ จนกระทั่งไม่มีที่สิ้นสุด

แต่ถ้าเราถือธรรมเป็นใหญ่เราจะเป็นตัวของตัวเอง เพราะธรรมมีกฎมีเกณฑ์ คือความเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แล้วก็ขึ้นต่อปัญญาของเรา ถ้าเราพัฒนาปัญญาของเราให้รู้ธรรม คือ รู้เข้าใจกฎธรรมชาติแล้ว เราก็ทำได้ถูกต้องเอง ถึงตอนนี้เราก็ไม่ต้องเคว้งคว้าง ไม่ต้องวุ่นวายห่วงกังวลอยู่ภายนอก แต่หันมาตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาตัวเอง โดยพัฒนาปัญญาขึ้นมาให้รู้ธรรม ให้เข้าถึงธรรม เพื่อจะทำอะไรๆ ได้ถูกต้อง

พูดสั้นๆ ว่า ถ้านับถือเทพเป็นใหญ่ ผลที่ต้องการจะได้หรือไม่ก็อยู่ที่ใจของเทพว่าท่านจะชอบหรือไม่ ทางฝ่ายเราก็ต้องคอยอ้อนวอนเอาใจท่าน และรอให้ท่านบันดาลให้ แต่ถ้านับถือธรรมเป็นใหญ่ ผลที่ต้องการจะได้หรือไม่ ก็อยู่ที่ปัญญาของเราเอง ที่จะศึกษาให้รู้เหตุปัจจัย แล้วก็ทำขึ้นมาด้วยเรี่ยวแรงความเพียรพยายามของเราเอง

ถ้านับถือเทพเป็นใหญ่ เราก็ต้องหวังผลจากการดลบันดาล และเป็นนักอ้อนวอน แต่ถ้านับถือธรรมเป็นใหญ่ เราต้องหวังผลจากการกระทำ และเป็นนักสร้างสรรค์

การที่มีปัญญารู้เข้าใจธรรมแล้วปฏิบัติได้ถูกต้องนี่แหละ คือการที่มนุษย์พัฒนาขึ้นเป็นผู้ประเสริฐ ผู้มีชีวิตที่ดีงาม และมีความสุขอย่างแท้จริง พ้นจากความทุกข์ ถึงตอนนี้แม้แต่เทพทั้งหลายก็หันมากราบไหว้บูชามนุษย์นั้น เพราะมนุษย์นั้นได้กลายเป็นพุทธะแล้ว

พูดสั้นๆ ว่า ด้วยการพัฒนาปัญญาให้เข้าถึงธรรมที่สูงสุด มนุษย์ก็กลายเป็น “พุทธะ” ผู้ประเสริฐเหนือเทพ พระพุทธเจ้าทรงเป็นแบบอย่างของมนุษย์ที่ได้พัฒนาตนแล้วสูงสุด เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ เทพและพรหมทั้งหลายก็หันมาน้อมนมัสการ จึงมีคำปลุกใจชาวพุทธอยู่เสมอว่า “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งที่เป็นมนุษย์นี่แหละ เมื่อได้ฝึกฝนพระองค์ดีแล้ว มีพระหฤทัยที่อบรมถึงที่แล้ว…แม้เทพทั้งหลายก็น้อมนมัสการ” ( องฺ.ฉกฺก.๒๒/๓๑๔ )

ข้อความนี้เป็นการให้กำลังใจแก่ชาวพุทธอยู่ตลอดเวลา ชาวพุทธจะต้องนึกถึงคติข้อนี้ อย่ามัวแต่มองหาที่พึ่ง หวังความช่วยเหลือ รออำนาจดลบันดาลภายนอก แต่ต้องถือธรรม คือตัวความจริง และกฎเกณฑ์ของธรรมชาติเป็นใหญ่ แล้วก็พัฒนาปัญญาให้รู้ความจริง ให้เข้าถึงธรรมชาตินั้น แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องตามความจริงที่เรียกว่า “ธรรม” ชีวิตของเราก็จะดีงาม

หลักการที่ว่ามานี้เป็นการประกาศอิสรภาพของมนุษย์ว่า เมื่อมนุษย์พัฒนาตัวเอง เข้าถึงธรรมอย่างนี้แล้ว มนุษย์ก็จะเป็นสัตว์ผู้ประเสริฐ เป็นอยู่ด้วยปัญญา ที่ทำอะไรๆ ได้อย่างเป็นอิสระ เป็นพุทธะที่กล่าวเมื่อกี้นี้ว่า แม้แต่เทพและพรหมก็น้อมนมัสการ

การประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ โดยสาระก็หมายถึงการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า และการเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า ก็คือการที่มนุษย์ได้พัฒนาปัญญา รู้แจ้งธรรมโดยสมบูรณ์ ถึงความเป็นอิสระ เป็นบุคคลผู้เลิศประเสริฐสูงสุด เหนือกว่าเทพพรหมทั้งปวง

ดังนั้นวันวิสาขบูชานี้จึงถือว่าเป็นวันประกาศอิสรภาพของมนุษย์ จะเรียกว่าเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติก็ได้ เพราะก่อนหน้านั้นมนุษย์ทั้งหลายมีชีวิตและสังคมที่ขึ้นต่อเทพเจ้า มัวแต่หวังพึ่ง และกลัวการดลบันดาลจากอำนาจของเทพเจ้ากันตลอดมา ศาสนาทั้งหลายก็สอนกันมาอย่างนั้น จนถึงพุทธศาสนาจึงมีการเปลี่ยนแปลงใหม่อย่างที่กล่าวข้างต้น ดังวาทะที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างที่ยกมาให้ฟังนั้น”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : ปาฐกถาธรรมหัวข้อเรื่อง “เราจะกู้แผ่นดินกันอย่างไร” แสดงในวันวิสาขบูชา วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๑ ณ เสถียรธรรมสถาน ซอยวัชรพล ๕๕ กรุงเทพมหานคร

____

The significance of Vesak Full Moon Day , Māgha Pūjā Day , Pavāranā day , Happy Vesak Day. ,  วันวิสาขบูชา  , วันวิสาขบูชา การบูชาในวันเพ็ญวิสาขะ  , วันอาสาฬหบูชา , วันอาสาฬหบูชา ประวัติและความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา , สาระสำคัญของวันมาฆบูชา , วันมาฆบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา , 'วันพระ' วันธรรมสวนะ หรือ วันอุโบสถ , วันออกพรรษา-Day of going out of Vassa , วันเข้าพรรษา-Buddhist Lent Day Observances , วันอาสาฬหบูชา , วันนี้วันพระ“วันอัฏฐมีบูชา” , วันอัฏฐมีบูชา , วันมหาปวารณา , ปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า , วิสาขบูชานุสติ , พระพุทธเจ้า“ประกาศอิสรภาพ”ให้แก่มวลมนุษย์ , ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสอะไรไว้กับชาวโลกบ้าง , เมื่อคืนพระจันทร์สวย ในวันวิสาขบูชา : พิจารณาธรรมชาติ , กฐิน



ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสอะไรไว้กับชาวโลกบ้าง

ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสอะไรไว้กับชาวโลกบ้าง

“ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เป็นหลักการ ถ้าว่าตาม“ปัจฉิมวาจา” หรือ วาจาสุดท้าย ก็ตรัสบอกว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งคือสังขารทั้งหลาย มีการเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นชีวิตมนุษย์ก็ตาม หรือสังคมอารยธรรมอะไรต่างๆ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้วก็มีการแตกสลายกันไปตามเหตุปัจจัย สิ่งที่มนุษย์ต้องทำคือ“ต้องไม่ประมาท” ดังนั้น ก็ตรัสฝากไว้ว่า ให้ไม่ประมาท

เมื่อเราไม่ประมาทเราก็จะใช้ประโยชน์จากหลักอนิจจังหรือความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูกต้อง ว่าในขณะที่สิ่งทั้งหลายเสื่อมสลายเปลี่ยนแปลงไป

หนึ่ง ตัวเราเองไม่นิ่งนอนใจ เรากระตือรือร้นในการที่จะพัฒนาชีวิตของตน ให้วันเวลาผ่านไปอย่างดีที่สุด เป็นประโยชน์ที่สุด

สอง คือสังคมประเทศชาติ ตลอดจนอารยธรรมของโลก ก็ต้องศึกษาวิเคราะห์เหตุปัจจัยเพื่อให้ไม่ประมาท ว่าอะไรจะเป็นเหตุปัจจัยแห่งความเสื่อม แล้วก็แก้ไขป้องกันเหตุปัจจัยเหล่านั้น อะไรที่จะเป็นเหตุปัจจัยของความเจริญงอกงาม ก็ชวนกันรีบสร้างสรรค์ขึ้น

อันนี้เป็นหลักปฏิบัติในการเป็นอยู่โดยไม่ประมาท

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องอนิจจัง คือเรื่องไม่เที่ยง มักจะตรัสควบกับความไม่ประมาท นั่นคือมนุษย์จะได้ประโยชน์จากความไม่เที่ยง และจากเรื่องของการแตกสลายเสื่อมโทรม ซึ่งเป็นธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายที่มันไม่คงทนอยู่ตลอดไป แต่ที่สำคัญก็คือหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนาบอกไว้ว่า การที่สิ่งทั้งหลายจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรนั้น มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย มนุษย์จะอยู่ได้ดีที่สุดก็ต้องไม่ประมาท ไม่ประมาทอย่างไร?

หนึ่ง ในการศึกษาเรียนรู้ ให้เข้าใจเหตุปัจจัย

สอง นำความรู้นั้นมาปฏิบัติแก้ไขเหตุปัจจัยที่จะทำให้เสื่อม และสร้างสรรค์เหตุปัจจัยที่จะทำให้เจริญ อย่างน้อยก็ดำรงรักษาเหตุปัจจัยในฝ่ายดีไว้

อย่างสังคมไทยเราปัจจุบันนี้ ควรจะพิจารณาตรวจสอบดูว่าชีวิตและสังคมของเราตั้งอยู่ในความประมาทไหม? และมีสภาพของความเสื่อมมากมายหรือเปล่า? พวกเรากำลังทำเหตุปัจจัยของความเสื่อมกันอยู่มากมายหรือเปล่า?

ในแง่ของความเจริญ เราเจริญจริงหรือเปล่า? และเราทำเหตุปัจจัยของความเจริญกันบ้างหรือเปล่า? หรือว่าเราได้เพียงแค่รับเอาภาพของความเจริญมา แต่เราไม่ได้ทำเหตุปัจจัยของความเจริญ เราอาศัยเหตุปัจจัยของความเจริญจากที่อื่นและรับเอาแต่เพียงผลจากเขาใช่หรือไม่?

ถ้าเราไม่ทำเหตุปัจจัยของความเจริญ เราจะเจริญงอกงามได้ยาก สิ่งที่เอามานั้นเป็นเหมือนของยืมหรือเป็นของที่ถูกหลอกถูกล่อให้เอามาใช้หลอกตัวเองเท่านั้น ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ยั่งยืน อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องมาวิเคราะห์ตรวจสอบตัวเองกันบ้าง

ตามหลักพุทธศาสนา สังคมพุทธต้องเป็นสังคมแห่งปัญญา เมื่อจะมีศรัทธาก็ต้องมีปัญญาควบคู่และควบคุม ว่า  :- หนึ่ง ที่ว่าเรามีศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้นเรามีศรัทธาถูกต้องหรือเปล่า? ศรัทธาของเราเป็นศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่แท้หรือไม่?  สอง ศรัทธาที่จะถูกต้องก็คือต้องมีปัญญา เรามีปัญญาประกอบหรือไม่? สาม เรามีการพัฒนาในเรื่องศรัทธาและปัญญานี้หรือไม่?

เราได้มีการวิเคราะห์สภาวะสถานการณ์และใช้ปัญญากันจริงจังหรือเปล่า? แม้แต่จะสร้างวิถีชีวิตแห่งปัญญาให้เกิดเป็นวัฒนธรรมแห่งปัญญา เช่น มีความใฝ่รู้ ชอบศึกษา เราทำกันบ้างไหม การใฝ่รู้ชอบศึกษาทำให้เกิดความเจริญปัญญาในตนเอง แต่นอกจากนั้นยังทำให้เรารู้เข้าใจสภาพความเป็นจริงของชีวิตและเหตุการณ์ของโลก ซึ่งจะทำให้ตื่นขึ้นมาด้วยความรู้เท่าทันว่าโลกที่เจริญอย่างปัจจุบันนี้ เจริญจริงหรือเปล่า? เจริญในแง่ไหน? มีความเสื่อมพ่วงอยู่หรือซ่อนอยู่อย่างไร? มีเหตุปัจจัยมาอย่างไร? เราควรจะเลือกรับส่วนไหน? และจะนำมาปรับใช้ จะแก้ไข จะพัฒนาต่อไปอย่างไร?

มนุษย์ที่มีปัญญา เป็นชาวพุทธ จะต้องใช้ปัญญาพิจารณาและแก้ไข ไม่ใช่ตื่นไปกับภาพของสิ่งที่จะมาบำรุงบำเรอฉาบฉวยผิวเผินไปเรื่อยๆอย่างไม่มีหลัก คติพระพุทธศาสนาที่จะนำมาใช้ปฏิบัติได้มีมากมาย อยู่ที่เราจะใช้ปัญญาวิเคราะห์พิจารณาหรือไม่?

การเวียนมาถึงของ “วันวิสาขบูชา” ก็คือเป็นการเตือนใจเรา และเป็นโอกาสสำหรับเราจะได้มาระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วศึกษาให้เข้าใจและนำมาใช้ประโยชน์ เมื่อทำอย่างนี้อารยธรรมมนุษย์ก็จะพัฒนาได้ต่อไป ไม่อย่างนั้นเราก็เป็นเพียงผู้เสวยผลที่มีมาในอดีต ไม่รู้จักสร้างสรรค์อะไรเลย โดยแม้แต่จะรับก็อาจจะเลือกไม่เป็นเพราะไม่ใช้ปัญญา บางทีก็ไปเอาส่วนเสื่อมโทรมในที่ต่างๆ มารวมไว้กับตัวเอง

ฉะนั้นเมื่อถึง “วันวิสาขบูชา” อย่างน้อยก็ควรถือเอาประโยชน์จากการที่พระพุทธเจ้าได้สอนเราให้มีความไม่ประมาท ในการที่จะใช้ปัญญาศึกษาเหตุปัจจัย แล้วก็ใช้เรี่ยวแรงความเพียรในการกระทำของตนเอง ทำการแก้ไขและสร้างสรรค์ขึ้นมา ก็จะมีความเจริญได้อย่างแท้จริง”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : จากธรรมนิพนธ์เรื่อง “มองวิสาขบูชา หยั่งถึงอารยธรรมโลก”

____

The significance of Vesak Full Moon Day , Māgha Pūjā Day , Pavāranā day , Happy Vesak Day. ,  วันวิสาขบูชา  , วันวิสาขบูชา การบูชาในวันเพ็ญวิสาขะ  , วันอาสาฬหบูชา , วันอาสาฬหบูชา ประวัติและความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา , สาระสำคัญของวันมาฆบูชา , วันมาฆบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา , 'วันพระ' วันธรรมสวนะ หรือ วันอุโบสถ , วันออกพรรษา-Day of going out of Vassa , วันเข้าพรรษา-Buddhist Lent Day Observances , วันอาสาฬหบูชา , วันนี้วันพระ“วันอัฏฐมีบูชา” , วันอัฏฐมีบูชา , วันมหาปวารณา , ปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า , วิสาขบูชานุสติ , พระพุทธเจ้า“ประกาศอิสรภาพ”ให้แก่มวลมนุษย์ , ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสอะไรไว้กับชาวโลกบ้าง , เมื่อคืนพระจันทร์สวย ในวันวิสาขบูชา : พิจารณาธรรมชาติ , กฐิน



เมื่อคืนพระจันทร์สวย ในวันวิสาขบูชา : พิจารณาธรรมชาติ

เมื่อคืนพระจันทร์สวย ในวันวิสาขบูชา : พิจารณาธรรมชาติ

พระจันทร์แสงเย็นให้ความสุนทรีย์ ส่วนพระอาทิตย์แสงร้อนแต่กลับให้สัตวโลกมีชีวิตสืบต่อเผ่าพันธุ์พลังงานได้จากแสงอาทิตย์ ส่วนพลังใจก็ได้จากแสงจันทรา 

พระพุทธองค์ประทับนั่งสงบใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ที่มีกิ่งใบร่มรื่น สายลมอ่อนๆ พัดพระวรกายให้เย็น ส่วนพระราชหฤทัยนั้นสงบ ยามสงบทรงพบเห็นความเปลี่ยนแปลงแห่งธาตุขันธ์ตามกาลขึ้นไปและตกลงแห่งสุริยันและจันทรา ทรงเห็นความสืบต่อแห่งกิเลสอันเหตุให้เกิดทุกข์ ทรงหยั่งเห็นความเป็นจริงแห่งชีวิตเป็นดังใบไม้ที่รอเวลาร่วงหล่น เพราะความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา 

แสงจันทราที่สาดส่องใบไม้ย่อมงดงามยิ่งช่วยดับความร้อนในพระวรกาย ส่วนในพระราชหฤทัยก็ทรงดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงด้วยปัญญารู้แจ้งพระอริยสัจธรรม.

ข้าพเจ้าขอน้อมบูชาพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสงฆเจ้า ด้วยเครื่องสักการะอันเป็นของคนยากทั้งหลายเหล่านี้

พระมหาวัชระ เชยรัมย์

27/5/64

____

The significance of Vesak Full Moon Day , Māgha Pūjā Day , Pavāranā day , Happy Vesak Day. ,  วันวิสาขบูชา  , วันวิสาขบูชา การบูชาในวันเพ็ญวิสาขะ  , วันอาสาฬหบูชา , วันอาสาฬหบูชา ประวัติและความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา , สาระสำคัญของวันมาฆบูชา , วันมาฆบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา , 'วันพระ' วันธรรมสวนะ หรือ วันอุโบสถ , วันออกพรรษา-Day of going out of Vassa , วันเข้าพรรษา-Buddhist Lent Day Observances , วันอาสาฬหบูชา , วันนี้วันพระ“วันอัฏฐมีบูชา” , วันอัฏฐมีบูชา , วันมหาปวารณา , ปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า , วิสาขบูชานุสติ , พระพุทธเจ้า“ประกาศอิสรภาพ”ให้แก่มวลมนุษย์ , ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสอะไรไว้กับชาวโลกบ้าง , เมื่อคืนพระจันทร์สวย ในวันวิสาขบูชา : พิจารณาธรรมชาติ , กฐิน






วันอังคารที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

วันวิสาขบูชา26พ.ค.64 ประวัติและความสำคัญของวันวิสาขบูชา/UN Day of Vesak: May 26, 2021

วันวิสาขบูชา 26 พฤษภาคม 2564 ประวัติวันวิสาขบูชาและความสำคัญของวันวิสาขบูชา UN Day of Vesak: May 26, 2021

วันวิสาขบูชา ปีนี้ ตรงกับวันที่ 26 พฤษภาคม 2564  เป็นวันที่ชาวพุทธศาสนิกชนมักจะไปทำบุญ เวียนเทียนกัน แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด ทำให้ วิสาขบูชา ปีนี้ จัดกิจกรรมให้เราได้ทำบุญ เวียนเทียนออนไลน์ ในวันวิสาขบูชา  เป็นการร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาตามแนววิถีใหม่ New normal กัน ทำบุญออนไลน์ ก็อิ่มใจได้บุญไม่แพ้กันเลย

วันวิสาขบูชา (บาลี: วิสาขปุณฺณมีปูชา; อังกฤษ: Vesak) เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกนิกายทั่วโลก ทั้งเป็นวันหยุดราชการในหลายประเทศ และวันสำคัญในระดับนานาชาติตามข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในศาสนาพุทธ 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระโคตมพุทธเจ้า โดยทั้งสามเหตุการณ์ได้เกิด ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ (ต่างปีกัน)  ชาวพุทธจึงถือว่า เป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วิสาขบูชา" ย่อมาจาก "วิสาขปุรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" อันเป็นเดือนที่สองตามปฏิทินของอินเดีย  ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย และมักตรงกับเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนตามปฏิทินจันทรคติของไทย โดยในประเทศไทย ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 7  แต่ประเทศอื่นที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท และไม่ได้ถือคติตามปฏิทินจันทรคติไทย จะจัดพิธีวิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 แม้ในปีนั้นจะมีเดือน 8 สองหนตามปฏิทินจันทรคติไทยก็ตาม ส่วนในกลุ่มชาวพุทธมหายานบางนิกายที่นับถือว่า  เหตุการณ์ทั้ง 3 นั้นเกิดในวันต่างกันไป จะมีการจัดพิธีวิสาขบูชาต่างวันกันตามความเชื่อในนิกายของตน ซึ่งไม่ตรงกับวันวิสาขบูชาตามปฏิทินของชาวพุทธเถรวาท

วันวิสาขบูชา นั้นได้รับการยกย่องจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลกให้เป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันที่บังเกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าและจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธ  ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดได้เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน ณ ดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล โดยเหตุการณ์แรก เมื่อ 80 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ" ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน (อยู่ในเขตประเทศเนปาลในปัจจุบัน) และเหตุการณ์ต่อมา เมื่อ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน) และเหตุการณ์สุดท้าย เมื่อ 1 ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น "วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา (อยู่ในเขตประเทศอินเดียในปัจจุบัน)  โดยเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 หรือเดือนวิสาขะนี้ทั้งสิ้น ชาวพุทธจึงนับถือว่าวันเพ็ญเดือน 6 นี้ เป็นวันที่รวมวันคล้ายวันเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุด  และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบมาจนปัจจุบัน

วิสาขบูชา มีการนับถือปฏิบัติกันในหลายประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งมหายานและเถรวาททุกนิกายมาช้านานแล้ว ในบางประเทศเรียกพิธีนี้ว่า "พุทธชยันตี" (Buddha Jayanti) เช่น ในประเทศอินเดียและประเทศศรีลังกา ในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ เช่น ประเทศอินเดีย ประเทศไทย ประเทศพม่า ประเทศศรีลังกา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น (ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทมากที่สุด)  ในฝ่ายของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ได้รับคติการปฏิบัติบูชาในวันวิสาขบูชามาจากลังกา (ประเทศศรีลังกา) ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่ามีการจัดพิธีวิสาขบูชามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

วันวิสาขบูชา ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล เพราะชาวพุทธทุกนิกายจะพร้อมใจกันจัดพิธีพุทธบูชาในวันนี้พร้อมกันทั่วทั้งโลก (ซึ่งไม่เหมือนวันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชา ที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่นิยมนับถือกันเฉพาะในประเทศไทย, ลาว, และกัมพูชา) และด้วยเหตุนี้ ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติจึงยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็น "วันสำคัญสากล" (International Day)  ตามข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 54/112 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2542.  ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ และประชาชน จะมีการประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ดังกล่าว ที่ถือได้ว่าเป็นวันคล้ายวันที่ "ประสูติ" ของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาได้ "ตรัสรู้" เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงกอปรไปด้วย "พระบริสุทธิคุณ", "พระปัญญาคุณ" ผู้ซึ่งได้ทรงสั่งสอนประกาศพระสัจธรรม คือ ความจริงของโลก แก่ชนทั้งปวงโดย "พระมหากรุณาธิคุณ" จวบจนทรง "เสด็จดับขันธปรินิพพาน"  ในวาระสุดท้าย ทั้งสามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องในวันเพ็ญเดือน 6 นี้ทำให้พระพุทธศาสนาได้บังเกิดและสืบต่อมาอย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน

ความสำคัญในวันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชาเป็นวันที่ระลึกถึงวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส (เดือน 6) ตรงกันทั้ง 3 คราว คือ เช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติ ที่พระราชอุทยานลุมพินีวันระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย.  หลังจากตรัสรู้ ทรงออกประกาศพระธรรมวินัยและโปรดเวไนยสัตว์เป็นเวลา 45 ปี เมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา ก็ เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคระ รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย) เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญทั้ง 3 เหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น เกิดขึ้นตรงกันในวันเพ็ญ เดือน 6 ชาวพุทธจึงเรียกการบูชาในวันนี้ว่า  "วันวิสาขบูชา"  ซึ่งแปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนหก (บางแห่งเรียกว่า วันพระพุทธเจ้า หรือ พุทธชยันตี) 

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันวิสาขบูชาในพุทธประวัติ

เหตุการณ์ในวันประสูติเป็นเหตุการณ์สำคัญลำดับแรกของพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส โดยพระพุทธเจ้าหรือพระนามเดิม "เจ้าชายสิทธัตถะ"  ได้ประสูติในพระบรมศากยราชวงศ์ เป็นพระราชโอรสแห่งพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา ผู้เป็นพระราชมเหสีแห่งพระเจ้าสุทโธทนะ โดยเจ้าชายสิทธัตถะทรงดำรงตำแหน่งศากยมกุฏราชกุมาร ผู้จักได้รับสืบพระราชบัลลังก์เป็นกษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์สืบไป  จากหลักฐานชั้นบาลี (พระไตรปิฎก) และอรรถกถา กล่าวว่า หลังจากพระโพธิสัตว์ผู้ดำรงอยู่ในดุสิตเทวโลกได้บำเพ็ญพระบารมีครบถ้วนแล้ว ได้ทรงรับคำอาราธนาเพื่อจุติลงมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์จึงได้จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงมาสู่พระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา เมื่อเวลาใกล้รุ่ง วันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปี ระกา ก่อนพุทธศักราช 80 ปี  เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรถ์ครบถ้วนทศมาส (10 เดือน) ในวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส (ตรงกับ วันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี)  พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประสูติพระราชบุตรยังเมืองเทวทหะอันเป็นเมืองบ้านเกิดของพระองค์ แต่ขณะเสด็จพระราชดำเนินได้เพียงกลางทาง  หรือภายในพระราชอุทยานลุมพินีวันซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะต่อกัน พระองค์เกิดประชวรพระครรภ์จะประสูติ อำมาตย์ผู้ตามเสด็จจึงจัดร่มไม้สาละถวาย พระนางจึงประสูติพระโอรส ณ ใต้ร่มไม้สาละนั้น  โดยขณะประสูติพระนางประทับยืน พระหัตถ์ทรงจับกิ่งสาละไว้ เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติแล้ว (โดยอาการที่พระบาทออกจากพระครรภ์ก่อน) พระโพธิสัตว์ได้ทรงพระดำเนินไปได้ 7 ก้าว และได้ทรงเปล่งอาสภิวาจา (วาจาประกาศความเป็นผู้สูงสุด) ขึ้นว่า :-  "อคฺโคหมสฺมึ   โลกสฺส   เชฏฺโฐหมสฺมึ   โลกสฺส   เสฏฺโฐหมสฺมึ    โลกสฺส.    อยมนฺติมา    ชาติ.    นตฺถิทานิ  ปุนพฺภโว."  แปลว่า: "เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก, เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก, เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก. ชาตินี้ เป็นชาติสุดท้าย. บัดนี้ ภพใหม่ย่อมไม่มี ดังนี้." -สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. อจฺฉริยอพฺภูตธมฺมสุตฺต อุปริ. ม. 14/249-251/366-7-8-9, 371.  โดยการทรงเปล่งอาสภิวาจาเป็นอัศจรรย์นี้ นับเป็นบุรพนิมิตแห่งพระบรมโพธิญาณ ที่เจ้าชายน้อยผู้เป็นพระบรมโพธิสัตว์จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลอีกไม่นาน 

การตรัสรู้

เหตุการณ์การตรัสรู้พระบรมสัมมาสัมโพธิญาณของเจ้าชายสิทธัตถะนี้ เป็นเหตุการณ์สำคัญลำดับที่สองของพระพุทธเจ้าที่ได้เกิดในวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส ซึ่งเหตุการณ์นี้ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญมากที่สุดของพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา โดยถือได้ว่าเป็นการเกิดครั้งที่สองของเจ้าชายสิทธัตถะ คือ ครั้งแรกนั้นเพียงเกิดเป็นมนุษย์ แต่การตรัสรู้นี้ถือว่าเป็นการเกิดใหม่อีกครั้ง เป็นการเกิดที่หาได้โดยยาก เป็นการเกิดที่สมบูรณ์พร้อมด้วยอริยผล รู้แจ้งซึ่งสรรพกิเลสทั้งปวง หลุดพ้นจากบ่วงแห่งมาร คือ ทุกข์และสุขทั้งปวงได้หมดสิ้น เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็น "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" แปลว่า ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง (ผู้ไม่ได้รับบัญชาจากใคร ผู้ไม่ได้รับโองการจากพระผู้สร้าง หรือเทพเทวดาองค์ไหน) เป็นการ "รู้แจ้งโลกทั้งปวง" ที่เจ้าชายสิทธัตถะในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งพึงกระทำได้ และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะ "รู้" เหมือนที่พระองค์ทรงรู้ด้วยเหมือนกัน ดังนั้น จึงทำให้มีผู้เรียกพระธรรมวินัยหรือคำสั่งสอนของพระองค์ว่า "พระพุทธศาสนา" แปลว่า "ศาสนาของผู้รู้แจ้ง - ศาสนาของผู้ (ปฏิบัติเพื่อ) หลุดพ้นจากกิเลสทั้งมวล"

การออกผนวช

เหตุการณ์การออกผนวชจากหลักฐานชั้นต้น คือ พระไตรปิฎก กล่าวว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะอายุได้ 29 พรรษา ได้ทรงปรารภเหตุคือ ความแก่ เจ็บ ตาย ที่มีอยู่ทุกคนเป็นธรรมโลก  ไม่มีใครจะรอดพ้นไปได้ แต่เพราะว่ามิได้ฟังคำสั่งสอนของผู้รู้ จึงทำให้มัวแต่มานั่งรังเกียจเหตุเหล่านั้นว่าเป็นของไม่ควรคิด ไม่ควรสนใจ ทำให้คนเราทั้งหลาย  มัวมาแต่ลุ่มหลงอยู่ในกิเลสทั้งหลายเพราะความเมา 3 ประการ คือ เมาว่าตัวยังหนุ่มยังสาวอยู่อีกนานกว่าจะแก่ 1 เมาว่าไม่มีโรคอยู่และโรคคงจะไม่เกิดแก่เรา 1 เมาว่าชีวิตเป็นของยั่งยืน 1 มัวแต่ใช้ชีวิตทิ้งไปวัน ๆ กล่าวคือ ทรงดำริว่า  :- "..มนุษย์ทั้งหลายมีความทุกข์เกิดขึ้นครอบงำอยู่ตลอดเวลาก็จริง เกลียดความทุกข์อยู่ตลอดเวลาก็จริง  แต่ทำไมมนุษย์ทั้งหลายยังมัวแสวงหาทุกข์ร้อนใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา แล้วทำไม เราต้องมามัวนั่งแสวงหาทุกข์ใส่ตัว (ให้โง่) อยู่อีกเล่า!" -สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปาสราสิสุตฺต โอปทฺทมวคฺค อุปริ. ม. มู. ม. 12/316/316

ด้วยความคิดเช่นนี้ ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะถึงกับตั้งพระทัยออกผนวชด้วยดำริว่า  :-  "เมื่อรู้ว่าการเกิดมี (ทุกข์) เป็นโทษแล้ว เราพึงแสวงหา "นิพพาน" อันไม่มีความเกิด อันเป็นธรรมที่เกษมจากเครื่องร้อยรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าเถิด" -สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปาสราสิสุตฺต โอปทฺทมวคฺค มู. ม. 12/316/316

นอกจากนี้ ในสคารวสูตร มีพระพุทธพจน์ตรัสสรุปสาเหตุที่ทำให้ทรงตั้งพระทัยออกบรรพชาไว้สั้น ๆ ว่า :- "ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี, ส่วนบรรพชาเป็นโอกาสแสงสว่าง; ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว เหมือนสังข์ที่เขาขัดดีแล้ว, โดยง่าย นั้นไม่ได้.  ถ้าไฉนเราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมน้ำฝาดออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้องด้วยเรือน เถิด" -สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. สคารวสุตฺต พฺราหฺมณวคฺค ม. มู.13/669/738

ด้วยเหตุดังกล่าวทั้งหลายนี้พระองค์จึงทรงตั้งพระทัยเสด็จออกผนวช โดยการเสด็จออกผนวชตามนัยพระไตรปิฎกนั้น มิได้ทรงหนีออกจากพระราชวัง แต่เสด็จออกผนวชต่อหน้าพระราชบิดาและพระราชมารดาเลยทีเดียว ดังในโพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค ว่า :- "..เรายังหนุ่มเทียว เกสายังดำจัด บริบูรณ์ด้วยเยาว์อันเจริญในปฐมวัย, เมื่อบิดามารดาไม่ปรารถนาด้วย กำลังพากันร้องไห้ น้ำตานองหน้าอยู่ เราได้ปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาด ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนแล้ว..." -สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. โพธิราชกุมารสุตฺต ราชวคฺค ม. มู. 13/443/489

ตรัสรู้

แสวงหาอาจารย์ เมื่อทรงออกผนวชแล้ว พระองค์ทรงเข้าศึกษาในสำนักลัทธิต่าง ๆ เช่น สำนักอาฬารดาบส รามบุตร และสำนักอุทกดาบส รามโคตร ได้บรรลุสมาบัติ 8 สิ้นความรู้เจ้าสำนักทั้งสอง แต่พระองค์ยังไม่ทรงพอพระทัยเพราะสมาบัติทั้ง 8 นั้น ไม่สามารถทำให้พระองค์ตรัสรู้ได้ จึงทรงออกจากสำนักของอาจารย์ทั้งสอง เสด็จไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เป็นสถานที่รมณียสถาน มีป่าชัฏ แม่น้ำใสสะอาด และมีโคจรคาม (สถานที่บิณฑบาต) อยู่โดยรอบ จึงทรงตั้งพระทัยที่จะบำเพ็ญเพียรอยู่ ณ ที่แห่งนี้ 

บำเพ็ญทุกกรกิริยา

ในช่วงแรกนั้น พระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรทางกาย คือ "ทุกกรกิริยา"[12] คือ การบำเพ็ญเพียรที่นักพรตผู้บำเพ็ญตบะในสมัยนั้นยกย่องว่าเป็นยอดของการบำเพ็ญเพียรทั้งปวง 3 ประการ โดยในระหว่างบำเพ็ญเพียร ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ผู้เป็นพราหมณ์ (โกณฑัญญะ) และบุตรแห่งพราหมณ์ (ปัญจวัคคีย์ที่เหลือ) ที่ได้ร่วมงานทำนายลักษณะมหาบุรุษแห่งเจ้าชายสิทธัตถะ (ในคราว 5 วันหลังจากประสูติ) ว่า "ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช จักได้เป็นศาสดาเอกของโลก" เมื่อท่านเหล่านั้นได้ทราบข่าวการออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะ จึงชักชวนกันออกบวชเพื่อตามหาเจ้าชาย และได้พบเจ้าชายสิทธัตถะในขณะกำลังบำเพ็ญทุกกรกิริยาจึงคอยเฝ้าอยู่ปฏิบัติ ต่อมา เมื่อพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญเพียรถึงขั้นยวดยิ่งแล้วแต่ยังไม่ตรัสรู้ พระองค์ได้ทราบอุปมาแห่งพิณ 3 สาย ว่าการปฏิบัติเช่นนี้เป็นหนทางอันสุดโต่งเกินไป จึงได้ละทุกกรกิริยาเสีย หันกลับมาเสวยอาหาร เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 จึงคิดว่าพระองค์ทรงคลายความเพียรทางกายด้วยทุกกรกิริยา ไม่มีโอกาสตรัสรู้ได้  จึงพาพวกละทิ้งพระองค์ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี 

วันตรัสรู้

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะกลับมาเสวยพระกระยาหารจนพระวรกายกลับมามีพระกำลังขึ้นเหมือนเดิมแล้ว จึงทรงเปลี่ยนมาเริ่มบำเพ็ญเพียรทางใจต่อไป จนล่วงเข้าเช้าวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนวิสาขมาส หลังบรรพชาได้ 6 ปี[13][14] นางสุชาดา ธิดานายบ้านอุรุเวลาเสนานิคม ได้นำข้าวมธุปายาสไปถวายพระองค์ขณะประทับอยู่ ณ ต้นไทรใกล้กับบ้านของนาง ด้วยคิดว่าพระองค์เป็นเทวดา เพราะวันนั้นพระองค์มีรัศมีผ่องใส จนเมื่อทรงรับเสวยข้าวมธุปายาสแล้วจึงได้ทรงนำถาดทองคำไปอธิษฐานลอยในแม่น้ำเนรัญชรา  จวบจนเวลาเย็น ได้ทรงรับถวายหญ้าคา (หญ้ากุศะ) 8 กำมือ จากนายโสตถิยะพราหมณ์ ทรงนำไปปูลาดเป็นโพธิบัลลังก์ ณ ใต้ต้นอัสสถะพฤกษ์ (หลังจากการตรัสรู้จึงได้ชื่อใหม่ว่า "ต้นพระศรีมหาโพธิ์" หรือ "ต้นโพธิ์") ต้นหนึ่ง ริมฝั่งน้ำเนรัญชรา ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก หันพระปฤษฏางค์ (หลัง) ไปทางลำต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงอธิษฐานในพระทัยว่า  :- "...หนัง เอ็น กระดูก จักไม่เหลืออยู่ เนื้อและเลือดในสรีระ จักเหือดแห้งไปก็ตามที เมื่อยังไม่ลุถึงประโยชน์อันบุคคลจะลุได้ด้วยกำลังของบุรุษ (การตรัสรู้) ด้วยความเพียรของบุรุษ (มนุษย์) ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักหยุดความเพียรนั้นเสีย เป็นไม่มีเลย..." -สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปญิจมสุตฺต กมฺมกรณวคฺค ทุก. อํ 20/64/251

จากนั้น พญามารได้ยกพลเสนามารมาผจญ พระองค์ต้องต่อสู้ด้วยพระบารมี 10 ทัศ กล่าวในแง่ธรรมาธิษฐาน คือ ทรงต่อสู้กับกิเลสภายในใจจนทรงเอาชนะได้ด้วยพระบารมี คือ ความลำบากในการบำเพ็ญความดีทั้งปวง อันทรงได้สั่งสมมาตลอดแต่ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงต่อสู้จนพญามารพ่ายแพ้ไปตอนพระอาทิตย์จะตกแล้ว พระองค์จึงทรงเริ่มเจริญสมถภาวนา ทำจิตใจให้เป็นสมาธิ จนบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ตามลำดับ แล้วทรงทำให้ฌานอันเป็นองค์แห่งปัญญา 3 ประการ เกิดขึ้นในยามทั้ง 3 คือ :-

- ปฐมยาม ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ" คือ ทรงสามารถระลึกชาติได้ 

- มัชฌิมยาม ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือ รู้การตายการเกิดของสัตว์ทั้งปวง หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่าได้ ทิพยจักษุญาณ คือ ตาทิพย์ 

- ปัจฉิมยาม พระองค์ได้ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท คือ ธรรมที่อาศัยซึ่งกันและกัน เกิดขึ้นเป็นเหตุเป็นผลของกันและกันต่อเนื่องเสมือนกับลูกโซ่ จนได้รู้แจ้งซึ่งอริยสัจธรรม 4 ประการ คือ 1. ทุกข์ ความทุกข์ สภาวะที่ทนได้ยาก ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ (ปัญหา)  2. สมุทัย สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (สาเหตุของปัญหา)  3. นิโรธ ความดับไปซึ่งต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (จุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหา)  4. มรรค หนทางที่จะดับทุกข์ได้ (วิธีการแก้ปัญหา) -สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาวาร. สํ. 19/528/1664

แล้วพระองค์จึงทรงบรรลุซึ่ง "อาสวักขยญาณ" คือ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวกิเลสทั้งปวง เมื่อนั้นจิตของพระองค์ก็หลุดพ้นจากกิเลสและอาสวะทั้งปวง ไม่มีความยึดถือมั่นด้วยตัณหาอุปาทาน อันเป็นการได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์ ในยามที่ 3 แห่งคืนวิสาขมาส ก่อนพุทธศักราช 45 ปีตั้งแต่นั้น พระองค์ทรงได้รับการถวายพระนามบัญญัติโดยคุณนิมิตแห่งพระองค์ว่า "อรหํ" เป็นพระอรหันต์ผู้ห่างไกลจากกิเลสทั้งปวง และ "สมฺมาสมฺพุทฺโธ"  เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ได้ตรัสรู้ชอบได้โดยลำพังพระองค์เอง หามีผู้ใดเป็นครูอาจารย์ไม่ ต่อมา พระองค์ได้ทรงนำสิ่งที่พระองค์ทรงรู้แจ้งในวันตรัสรู้นี้มาเผยแก่หมู่ชนทั้งหลาย พระองค์จึงทรงได้รับขนานพระนามว่า  "สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า" สืบมา

วันปรินิพพาน

ทรงปลงพระชนมายุสังขาร พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติดำรงตนในฐานะพระบรมศาสดา เผยแผ่พระธรรมวินัย คือ พระพุทธศาสนาแก่พหูชนชาวชมพูทวีปเป็นเวลากว่า 45 ปี ทำให้พระศาสนาตั้งหลักฐานอย่างมั่นคง ณ ชมพูทวีปกว่าพันปี และพระพุทธศาสนาได้ขยายออกไปทั่วแผ่นดินเอเชียนับแต่นั้นมา จวบจนพระพุทธองค์มีพระชนมายุ 80 พรรษา มีพระวรกายชราภาพเสมือนคนทั่วไป  พระองค์ตรัสว่า ศาสนาของพระองค์ได้ทรงตั้งมั่นแล้ว ทรงทำหน้าที่แห่งพระพุทธเจ้าบริบูรณ์แล้ว ในเวลาสามเดือนก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ขณะพระองค์ประทับอยู่ ณ ปาวาลเจดีย์ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี ได้ตรัสอภิญญาเทสิตธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วพระองค์ทรงทำการปลงพระชนมายุสังขารว่า   "...ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้ เราจักเตือนท่านทั้งหลาย: สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา..., ตถาคตจักปรินิพพาน โดยกาลล่วงไปแห่งสามเดือนจากนี้..." -สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/142/109

เสด็จไปเมืองกุสินารา

จากนั้น พระองค์เสด็จไปบ้านภัณฑคาม บ้านหัตถิคาม จนเสด็จถึงเมืองปาวา โดยลำดับ ที่นี่พระองค์ได้ประทับที่สวนมะม่วงของนายจุนทะ กัมมารบุตร ทรงแสดงธรรมแก่นายจุนทะ  และเสด็จไปรับบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น พระองค์ทรงอนุญาตรับบิณฑบาตเสวยสูกรมัททวะที่นายจุนทะจัดไว้ (ต่อจากนี้ พระองค์ประชวรด้วยโรคปักขันธิกาพาธอย่างกล้าจวบจนสิ้นพระชนมายุ) จากนั้น ได้เสด็จไปสู่เมืองกุสินารา ในกลางทางทรงพักที่ร่มไม้แห่งหนึ่ง รับสั่งให้พระอานนท์ปูลาดสังฆาฏิเพื่อเสวยน้ำดื่มและทรงสนทนากับปุกกุสสะ มัลละบุตร จนเกิดศรัทธาถวายผ้าเนื้อดีสองผืน ทรงรับสั่งให้นำมาห่มคลุมพระองค์ผืนหนึ่ง  อีกผืนหนึ่งรับสั่งให้ถวายแก่พระอานนท์ เมื่อปุกกุสสะถวายผ้านั้นแล้วหลีกไป พระอานนท์ได้น้อมถวายผ้าของตนแก่พระพุทธเจ้า ได้เห็นพระวรกายของพระองค์ว่ามีพระฉวีผ่องใสยิ่งจึงได้ทูลถาม พระองค์ตรัสตอบว่า :-  "...อานนท์! เป็นอย่างนั้น, กายของตถาคต ย่อมมีฉวีผุดผ่องในกาลสองครั้งคือ ในราตรีที่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ, และราตรี ที่ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ.  อานนท์! การปรินิพพานของตถาคตจักมีในระหว่างต้นสาละคู่ ในสวนสาละอันเป็นที่พัก ของพวกมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา ในตอนปัจฉิมยามคืนนี้..." -สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/149/117

ประทับสีหไสยาสน์

เมื่อเสด็จถึงพระราชอุทยานของมัลลกษัตริย์ พระองค์ทรงให้พระอานนท์จัดที่บรรทมระหว่างต้นสาละคู่ ขณะทรงประทับสีหเสยยาสน์หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ได้เกิดอัศจรรย์  คือ  ดอกาละผลิดอกผิดฤดูกาลโปรยลงบนพระสรีระ ดอกมณฑารพ จุรณ์ไม้จันทร์ ตกลงและดนตรีทิพย์บรรเลงขึ้นเพื่อบูชาแก่พระพุทธเจ้า เทวดาทั่วโลกธาตุได้มาประชุมกันเพื่อเห็นพระพุทธเจ้า บางองค์คร่ำครวญเสียใจด้วยอาการต่าง ๆ

ประทานพระปัจฉิมโอวาท

จากนั้น พระองค์ทรงอนุญาตให้พวกมัลละกษัตริย์เข้าเฝ้าและได้ตรัสแก้ปัญหาของสุภัททะปริพาชก จนเกิดศรัทธาขอบรรพชาด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเป็นพระสาวกองค์สุดท้ายในบรรดาสาวกที่ทันเห็นพระพุทธองค์ แล้วตรัสให้พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์เป็นผู้สืบศาสดาไว้ว่า  :- "...อานนท์! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นองค์ศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว..." -สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/149/117

จากนั้นตรัสพระโอวาทที่สำคัญ ๆ อีก 4-5 เรื่อง จนในที่สุดตรัสพระปัจฉิมโอวาทเตือนเป็นครั้งสุดท้ายว่า :- "...หนฺททานิ   ภิกฺขเว  อามนฺตยามิ  โว  วยธมฺมา  สงฺขารา  อปฺปมาเทน  สมฺปาเทถ..." แปลว่า: "ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้ เราจักเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า "สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา. พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด" -สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/149/117

ปรินิพพาน

จากนั้น พระองค์ทรงนิ่งเงียบ หลับตา ทรงเข้าอนุปุพพวิหารสมาบัติ 9 มีรูปฌาน 4 คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน จากนั้นเป็นอรูปฌาน 4 คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ (เรียกรวมเป็น สมาบัติ 8) และ นิโรธสมาบัติ 1 ชื่อเต็มคือสัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วย้อนลงมาตามลำดับจนถึงปฐมฌาน แล้วย้อนขึ้นอีกเป็น ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌานเป็นปัจฉิมสมาบัติ เมื่อออกจากจตุตถฌานจึง เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธองค์ตรัสถึงความดับสมุทัยอันเป็นเหตุแห่งความดับทุกข์ (เสด็จดับขันธปรินิพพาน) ไว้เมื่อคราวทรงพระชนม์อยู่ว่า  :- "...ต้นไม้ เมื่อโคนต้นยังอยู่ ไม่มีอุปัทวะ แม้ถูกตัด (ส่วนบน) แล้วก็งอกได้อีกอยู่นั่น ฉันใดก็ดี แม้ทุกข์นี้ก็ฉันนั้น เมื่อตัณหานุสัยยังมิได้ถูกถอนทิ้งแล้ว ก็ได้เกิดร่ำไป..." -สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ขุ. ธ. 25/338/138

กล่าวคือ พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานเพราะความดับไปแห่งสมุทัย คือ ได้ทรงถอนเสียสิ้นซึ่งต้นและราก กิเลสตัณหาอันเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงนี้แล้วเมื่อในวันตรัสรู้ การเสด็จดับขันธปรินิพพานนี้จึงเป็นการตายครั้งสุดท้ายของพระพุทธองค์ โดย "สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ" (สิ้นตัณหาเมื่อคราวตรัสรู้ และสิ้นขันธ์ห้า เมื่อคราวปรินิพพาน) เมื่อนั้นได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ โลมชาติลุกขึ้นชูชัน กลองทิพย์บรรลือลั่นไปในอากาศ ไว้อาลัยแด่การจากไปของพระพุทธองค์ ผู้ทรงเป็นบรมครูของโลก กายของพระองค์สิ้นเชื้อคือตัณหาที่จะนำไปเกิดในภพใหม่  ครั้นกายแตกดับแล้ว ถึงความเป็นของว่าง ไม่มีอะไรเหลือสำหรับส่วนผสมของกายในภพต่อไป  พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานในปัจฉิมราตรี วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 1 ปี  ตามการนับของไทย (หากเป็นกัมพูชาหรือพม่า จะนับเป็น พ.ศ. 1 ทันที ดูเพิ่มที่ พุทธศักราช) 

พุทธสังเวชนียสถานเนื่องด้วยวันวิสาขบูชา

เหตุการณ์สำคัญทั้ง 3 เหตุการณ์ที่เกิดในวันวิสาขบูชา เกิดภายในบริเวณที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล หรือประเทศอินเดียและเนปาลในปัจจุบัน  โดยสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงประสูติอยู่ที่ลุมพินีวัน ประเทศเนปาลในปัจจุบัน, สถานที่ตรัสรู้ อยู่ที่ พุทธคยา และสถานที่ปรินิพพานอยู่ที่ กุสินารา ประเทศอินเดียในปัจจุบัน โดย 2 ใน 3  ของพุทธสังเวชนียสถานที่เกี่ยวข้องกับวันวิสาขบูชาได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก

สถานที่เนื่องด้วยการประสูติ (ลุมพินีวัน)

ที่ตั้ง - ลุมพินีวันเป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญ 1 ใน 4 สังเวชนียสถานของชาวพุทธ เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาตรัสรู้เป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่อำเภอไภรวา แคว้นอูธ ประเทศเนปาล  เป็นพุทธสังเวชนียสถาน 4 ตำบลเพียงแห่งเดียวที่อยู่นอกประเทศอินเดีย ตัวลุมพินีวันอยู่ใกล้กับชายแดนประเทศอินเดียตอนเหนือ ห่างจากสิทธารถนคร[28] (หรือ นครเทวทหะ) ทางทิศตะวันตกประมาณ 22 กิโลเมตร  และห่างจากเมืองติเลาราโกต (หรือ นครกบิลพัสดุ์) ทางทิศตะวันออก 22 กิโลเมตร ซึ่งถูกต้องตามตำราพระพุทธศาสนาที่กล่าวว่าลุมพินีวันสถานที่ประสูติ ตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะ  ปัจจุบัน ลุมพินีวันได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ พ.ศ. 2540

ลุมพินีวันในสมัยพุทธกาล

ในสมัยพุทธกาล ลุมพินีวันอยู่ในเขตแห่งดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีป ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ เมืองหลวงของพระเจ้าสุทโธทนะ และกรุงเทวทหะ เมืองหลวงของพระเจ้าชนาธิป  เป็นพระราชอุทยานลาดลุ่มร่มรื่นกึ่งกลางระหว่างทางสำหรับพักผ่อนหย่อนใจของกษัตริย์และประชาชน สภาพของลุมพินีวันในสมัยนั้นอาจจะพิจารณาได้จากคัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย อปทาน ได้พรรณนาเป็นภาษาบาลีไว้ว่า :- "ทวินฺนํ ปน นครานํ อนฺตเร อุภยนครวาสีนมฺปิ ลุมพินีวนํ นาม มงฺคลสาลวนํ อตฺถิ, ตสฺมึ สมเย มูลโต ปฏฺฐาย ยาว อคฺคสาขา สพฺพํ เอกปาลิผุลฺลํ อโหสิ สาขนฺตเรหิ เจว ปุปฺผนฺตเรหิ จ ปญฺจวณฺณา ภมรคณา นานปฺปการา จ สกุณสงฺฆา  มธุรสฺสเรน วิกูชนฺตา สกลํ ลุมฺพินีวนํ จิตฺตลตาวนสทิสํ ฯเปฯ" แปลว่า: "ในระหว่างเมืองทั้งสอง มีป่าสาละชื่อลุมพินีวันอันเป็นมงคล สมัยนั้นสาละทั้งหมดล้วนมีดอกออกสะพรั่งเป็นแนวเดียวกัน แต่รากจนสุดปลายกิ่ง ตามกิ่งก้านสาขาและดอกนั้นล้วนมีหมู่ภมรนานาชนิด  และหมู่นกหลากหลายชนิดส่งเสียงกู่ร้องประสานสำเนียง ดังทั่วทั้งป่า ลุมพินีวันนั้นจึงประดุจเช่นเดียวกับสวนจิตรลดา (อันมีในดาวดึงสเทวโลก) ฉะนั้น ฯลฯ" -วิสุทฺธชนวิลาสินี 1, หน้า 64

หลังจากการประสูติของพระพุทธองค์แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานอื่นว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมา ณ ที่แห่งนี้แต่อย่างใด แม้พระพุทธเจ้าจะได้เสด็จมา ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ก็ประทับที่นิโครธารามที่พระประยูรญาติจัดถวายหาได้มาประทับหรือแสดงธรรม ณ ลุมพินีวันอีกไม่ เนื่องเพราะลุมพินีวันนั้นเป็นอุทยานไม่มีผู้คนอาศัยนั่นเอง

ลุมพินีวันหลังพุทธปรินิพพาน

หลังพุทธปรินิพาน กษัตริย์ซึ่งได้รับส่วนแบ่งแห่งพระบรมสารีริกธาตุ ได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ในสถูปแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากลุมพินีวันนัก จวบจนพุทธศักราชได้ 294 ปี  พระเจ้าอโศกมหาราชได้เสด็จนมัสการพุทธสังเวชนียสถานทั่วทั้งชมพูทวีป พร้อมด้วยพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ (หรือพระอุปคุต) ได้เสด็จมานมัสการ ณ ลุมพินีนี้ พระองค์โปรดฯ  ให้พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระนำทางและชี้จุดที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ แล้วทรงสร้างอาราม พระเจดีย์และเสาศิลาจารึกไว้เป็นสัญลักษณ์ว่า ลุมพินีวันนี้มีความสำคัญอย่างไร ซึ่งเสาศิลาหินทรายของพระเจ้าอโศกยังคงตั้งอยู่ ณ ที่เดิมจนถึงปัจจุบัน  หลังจากยุคของพระเจ้าอโศกมหาราช เรื่องราวของลุมพินีวันได้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาเกือบ 700 ปี โดยไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารที่สามารถสืบค้นถึงความเป็นไปของลุมพินีวันในช่วงนี้ได้ จนในประมาณ พ.ศ. 900  สมณะฟาเหียนได้เดินทางจากประเทศจีนมาถึงลุมพินีวัน ท่านได้กล่าวไว้สั้น ๆ เพียงว่าได้พบบ่อสรงสนาน และระบุที่ตั้งของลุมพินีวันว่าอยู่ไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 14-16 กิโลเมตร.  ต่อมา ใน พ.ศ. 1181 สมณะเฮี้ยนจัง หรือ พระถังซำจั๋ง ได้เดินทางมาถึงลุมพินีวัน โดยได้ทำการการจดบันทึกระบุที่ตั้งสถานที่ต่าง ๆ ในลุมพินีวันไว้คร่าว ๆ ท่านได้กล่าวถึงบ่อสรงสนาน ซึ่งคงเป็นบ่อเดียวกับที่สมณะฟาเหียนกล่าวไว้ในบันทึก  ซึ่งบ่อนี้ยังคงมีอยู่มาจนปัจจุบัน และกล่าวว่าไม่ไกลจากบ่อนั้นไปประมาณ 24 ก้าว มีต้นสาละต้นหนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นจุดที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ จากจุดนั้นไปทางใต้มีเจดีย์องค์หนึ่ง   เชื่อกันว่าเป็นจุดที่พระอินทร์เสด็จจากสวรรค์ลงมาต้อนรับพระราชโอรสที่ประสูติใหม่ ใกล้ ๆ กันมีเจดีย์อีกสี่องค์ ที่สร้างไว้เพื่อถวายแก่ท้าวจตุโลกบาล  ที่ทำหน้าที่ถวายอภิบาลพระโอรสประสูติใหม่ และใกล้กันนั้นมีเสาอโศกรูปสิงห์ประดิษฐานอยู่บนยอด.   ใน พ.ศ. 2438-2439 เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮมและคณะ ได้ค้นพบเสาศิลาพระเจ้าอโศกซึ่งถูกฝังดินไว้และพบจารึกเป็นอักษรพราหมีระบุว่าที่แห่งนี้คือสถานที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ จากนั้นจึงเริ่มมีการขุดค้นทางโบราณคดี โดยพบซากปรักหักพังจำนวนมาก ซากสถูปกว่า 50 องค์ และซากวิหารอาราม มีอายุตั้งแต่สมัยราชวงศ์โมริยะ ราชวงศ์ศุงคะ ราชวงศ์กุษาณะ และสมัยคุปตะ (ประมาณ พ.ศ. 300 - พ.ศ. 950)

จุดแสวงบุญและสภาพของลุมพินีวันในปัจจุบัน

ปัจจุบัน ลุมพินีวันได้รับการบูรณะและมีถาวรวัตถุสำคัญที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะ คือ "เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช" ที่ระบุว่าสถานที่นี้เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ นอกจากนี้ ยังมี "วิหารมายาเทวี"  ภายในประดิษฐานภาพหินแกะสลักพระรูปพระนางสิริมหามายาประสูติพระราชโอรส โดยเป็นวิหารเก่ามีอายุร่วมสมัยกับเสาหินพระเจ้าอโศก ปัจจุบัน ทางการเนปาลได้สร้างวิหารใหม่ทับวิหารมายาเทวีหลังเก่า  และได้ขุดค้นพบศิลาจารึกรูปคล้ายรอยเท้า สันนิษฐานว่าเป็นจารึกรอยเท้าก้าวที่เจ็ดของเจ้าชายสิทธัตถะที่ทรงดำเนินได้เจ็ดก้าวในวันประสูติ  ลุมพินีวันได้รับการพัฒนาจากชาวพุทธทั่วโลก โดยเฉพาะจากโครงการฟื้นฟูพุทธสถานลุมพินีวันให้เป็น "พุทธอุทยานทางประวัติศาสตร์ของโลก" ซึ่งเป็นดำริของ อู ถั่น ชาวพุทธพม่า ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ท่านตั้งใจเริ่มโครงการฟื้นฟูให้ลุมพินีวันเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธบนพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้ากว่า 6,000 ไร่ (ขนานตามแนวเหนือใต้)  แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนสำหรับปลูกป่าและสร้างวัดพุทธนานาชาติจากทั่วโลกกว่า 41 ประเทศ โดยโบราณสถานลุมพินีวันตั้งอยู่ทางด้านใต้ ปัจจุบัน มีวัดไทยและวัดพุทธทั่วโลกไปสร้างอยู่จำนวนมากและมีขนาดใหญ่โต เพื่อรองรับพุทธศาสนิกชนที่มาสักการะแสวงบุญ.  ใน พ.ศ. 2540 ลุมพินีวันได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก ภายใต้ชื่อ "ลุมพินี สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า" ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 21 ที่เมืองนาโปลี ประเทศอิตาลี อีกด้วย

สถานที่เนื่องด้วยการตรัสรู้ (พุทธคยา)

ที่ตั้ง - พุทธคยานับเป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญที่สุดและเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวพุทธทั่วโลกเพราะเป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา โดยเป็นสถานที่ที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า นับเป็นเวลากว่า 2,500 ปี ที่สถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมของจุดหมายในการแสวงบุญของชาวพุทธผู้มีศรัทธาทั่วโลก พุทธคยามีชื่อเรียกอีกชื่อว่า วัดมหาโพธิ์ (Mahabodhi Temple)  ตั้งอยู่ที่จังหวัดคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา 350 เมตร ในอดีตตำบลที่ตั้งพุทธคยามีชื่อว่า อุรุเวลาเสนานิคม ต่อมา จึงเพี้ยนเป็น อุเรล ปัจจุบัน พุทธคยาอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการร่วมพุทธ-ฮินดู2 และยังได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ พ.ศ. 2545

พุทธคยาในสมัยพุทธกาล

ในสมัยพุทธกาล พุทธคยาอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีป ตั้งอยู่ในหมู่บ้านนิคมชื่อว่าอุรุเวลา ในแคว้นมคธ เป็นสถานที่ที่ร่มรื่น (รมณียสถาน) สะดวกด้วยโคจรคาม เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางจิต  สภาพของพุทธคยาในสมัยพุทธกาลอาจจะพิจารณาได้จากพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกที่ได้ตรัสกับโพธิราชกุมาร ในโพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงพรรณาถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคมไว้ว่า  :- ราชกุมาร! เรานั้นเมื่อหลีกไปจากสำนักอุทกผู้รามบุตรแล้ว แสวงหาอยู่ว่าอะไรเป็นกุศล ค้นหาแต่สิ่งที่ประเสริฐฝ่ายสันติอันไม่มีอื่นยิ่งกว่า, เที่ยวจาริกไปตามลำดับหลายตำบลในมคธรัฐ จนบรรลุถึงตำบล อุรุเวลาเสนานิคม พักแรมอยู่ ณ ตำบลนั้น.  ณ ที่นั้น เราได้พบภาคพื้นรมณียสถาน มีชัฏป่าเยือกเย็น แม่น้ำใสเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบเป็นอันดีน่าเพลินใจ มีบ้านสำหรับโคจรตั้งอยู่โดยรอบ. ราชกุมาร! เราได้เห็นแล้ว เกิดความรู้สึกว่า "ภูมิภาคนี้น่ารื่นรมย์จริง ชัฏป่าเย็นเยือก  แม่น้ำไหลใสเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบเป็นอันดีน่าเพลินใจ ทั้งที่โคจรก็ตั้งอยู่โดยรอบ, ที่นี้สมควรเพื่อจะตั้งความเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการด้วยความเพียร" ดังนี้. ราชกุมาร! เรานั่งพักอยู่ ณ ตำบลนั้นเอง ด้วยคิดว่าที่นี้สมควรแล้วเพื่อการตั้งความเพียร ดังนี้. -สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. โพธิราชกุมารสุตฺตํ ราชวคฺค ม. ม. 13/448/491

เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ได้ประทับอยู่ ณ พุทธคยา เพื่อเสวยวิมุตติสุข (ความสุขอันเกิดจากความหลุดพ้น) อยู่ 7 สัปดาห์ และเกิดเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ณ โพธิมณฑลแห่งนี้ภายในเวลา 7 สัปดาห์ดังกล่าว  ซึ่งรวมถึงเรื่องราวของตปุสสะและภัลลิกะ 2 พ่อค้า ที่เดินทางผ่านมาเห็นพระพุทธองค์มีพระวรกายผ่องใส จึงเข้ามาถวายข้าวสัตตุผลและสัตตุก้อน แล้วแสดงตนเป็นเทววาจิกอุบาสก ผู้ถึงพระพุทธและพระธรรมเป็นสรณะคู่แรกของโลก 3  หลังจากการตรัสรู้และเสวยวิมุตติสุขของพระพุทธองค์แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระพุทธองค์เสด็จมา ณ ที่แห่งนี้แต่อย่างใด มีกล่าวถึงในอรรถกถาแต่เมื่อคราวพระอานนท์มา ณ พุทธคยา   เพื่อนำเมล็ดพันธุ์ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้กลับไปปลูก ณ วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ตามความต้องการของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งปรารถนาให้มีสิ่งเตือนใจเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่อื่น  ต้นโพธิ์ต้นที่อยู่ ณ วัดพระเชตวัน จึงได้ชื่อว่า "อานันทโพธิ์" และยังคงยืนต้นมาจนถึงปัจจุบัน

พุทธคยาหลังพุทธปรินิพพาน

บริเวณกลุ่มพุทธสถานพุทธคยา อันเป็นอนุสรณียสถานระลึกถึงการตรัสรู้ของพระพุทธองค์นั้น เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่สมัย พระเจ้าอโศกมหาราช4  และสร้างต่อเติมเรื่อยมาโดยกษัตริย์ชาวพุทธในอินเดีย พระองค์ต่อ ๆ มา จนกระทั่ง เมื่อกองทัพมุสลิมบุกเข้ามาโจมตีอินเดีย พุทธคยาจึงถูกปล่อยให้รกร้างไม่มีผู้คอยเฝ้าดูแล สำหรับความเป็นไปของต้นพระศรีมหาโพธิ์ตรัสรู้นั้น ต้นแรกเป็นสหชาติกับพระพุทธเจ้า (เกิดในวันเดียวกับวันที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ) มีอายุมาได้ 352 ปี จนถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช จึงถูกทำลายโดยพระชายาของพระเจ้าอโศกมหาราช  เพราะความอิจฉาที่พระเจ้าอโศกรักและหวงแหนต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้จนไม่สนใจพระนาง ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สองนั้น ปลูกโดยพระเจ้าอโศกมหาราชจากหน่อพระศรีมหาโพธิ์ต้นเดิม และมีอายุยืนมาประมาณ 871-891 ปี  จนถูกทำลายในประมาณ พ.ศ. 1143-1163 ด้วยน้ำมือของพระราชาฮินดูแห่งเบงกอลพระนามว่า ศศางกา ซึ่งพระองค์อิจฉาพระพุทธศาสนาที่มีความรุ่งเรืองมาก จึงทรงแอบนำกองทัพเข้ามาทำลายต้นโพธิ์ต้นนี้  ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สามนั้นปลูกโดยพระเจ้าปูรณวรมา กษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์เมารยะ และต้นที่สามนี้มีอายุยืนมากว่า 1,258-1,278 ปี จึงล้มลงในสมัยที่อินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ  และต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สี่ ที่ยังคงยืนต้นมาจนปัจจุบัน ปลูกโดยนายพลเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม เมื่อ พ.ศ. 2423  สำหรับความเป็นไปขององค์พระมหาโพธิเจดีย์นั้น พระเจ้าหุวิชกะ (Huvishka) มีพระราชศรัทธาสร้างมหาเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชา ใน พ.ศ. 694  เพื่อเป็นสถานที่สักการะสำหรับพุทธบริษัท โดยได้สร้างเป็นพระเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยมทรงรีสวยงามติดกับพระแท่นวัชรอาสน์ทางทิศตะวันออก มี 2 ชั้น  โดยชั้นล่างเป็นสถานที่กราบนมัสการและชั้นบนเป็นห้องเจริญภาวนา ลักษณะของพระมหาโพธิเจดีย์มีเอกลักษณ์เฉพาะและตั้งตระหง่านเป็นสัญลักษณ์ของมหาโพธิมณฑลมากว่าสองพันปี  ในบางช่วงพระราชาแห่งแคว้นต่าง ๆ ได้เข้ามาทำนุบำรุงอยู่เสมอ และได้รับการบูชารักษาจากชาวพุทธมาตลอด แต่มาขาดตอนไปเมื่อช่วงพันกว่าปีที่ผ่านมา  เนื่องจากแผ่นดินอินเดียแถบนี้ถูกคุกคามจากสงครามและการเสื่อมถอยของพระพุทธศาสนา พุทธคยาจึงถูกปล่อยทิ้งร้างและถูกชาวฮินดูเข้าครอบครอง รวมทั้ง แปลงมหาโพธิเจดีย์เป็นเทวสถาน

โดยเหตุการณ์ที่พุทธคยาถูกชาวฮินดูครอบครองนั้น เริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2133 จากการที่นักบวชฮินดูชื่อ โคเสนฆมัณฑิคีร์ ได้เดินทางมาถึงพุทธคยาและได้ตั้งสำนักเล็ก ๆ ใกล้กับพระมหาโพธิเจดีย์ เมื่ออยู่ไปนาน ๆ  จึงกลายเป็นเจ้าของที่ไปโดยปริยาย (มีผู้กล่าวว่า พราหมณ์มหันต์นี้ คือ นักธุรกิจการค้าที่มาในรูปนักบวชฮินดู กล่าวกันว่าติดอันดับมหาเศรษฐี 1 ใน 5 ของรัฐพิหาร ผู้นำของมหันต์องค์ที่ 15 ในปัจจุบันก็มีการสืบทอดมาตั้งแต่โคเสณฆมัณฑิคีร์)  ซึ่งการที่พราหมณ์มหันต์เข้ามาครอบครองพุทธคยานั้นก็ไม่ได้ดูแลพุทธคยาแต่อย่างไร  สภาพอันเสื่อมโทรมของพุทธคยานั้น อาจพิจารณาได้จากข้อความในบทความของท่านเซอร์ เอดวินด์ อาโนลด์ (Sir Edwin Arnold) ผู้เรียบเรียงหนังสือพุทธประวัติภาษาอังกฤษที่มีชื่อเสียงโด่งดัง  และกล่าวกันว่าเป็นพุทธประวัติฉบับภาษาอังกฤษที่มีความไพเราะ ละน่าเลื่อมใสมาก คือ ประทีปแห่งเอเชีย (The Light of Asia)  ซึ่งท่านเซอร์ได้เดินทางไปที่พุทธคยาและพบกับความน่าเศร้าสลดใจหลายประการ ท่านได้เขียนบทความ "EAST and West ; A Splendid Opportunity"  (ตะวันตกและตะวันออก โอกาสแจ่มจรัส โอกาสแห่งความรุ่งโรจน์) ไว้ โดยกล่าวถึงสาเหตุของการที่พุทธสถานในอินเดียถูกทอดทิ้งเพราะความเสื่อมถอยของพระพุทธศาสนา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านได้พรรณาถึงความเสื่อมโทรมอย่างหนักและการขาดการเอาใจใส่จากพราหมณ์มหันต์ซึ่งครอบครองพุทธคยาอยู่ ท่านกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "ชาวพุทธทั่วโลกได้ลืมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นศูนย์กลางที่ยิ่งใหญ่แห่งศรัทธาของตน  ที่มีความสำคัญได้เช่นเดียวกับนครเมกกะและเยรูซาเล็ม (Mecca and Jeruzaiem)" ซึ่งบทความนี้ได้ตีพิมพ์ไปทั่วโลกและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวพุทธทั่วโลกเริ่มเข้ามาหาทางบูรณะพุทธสถานต่าง ๆ ในอินเดีย.  ใน พ.ศ. 2417 พระเจ้ามินดง กษัตริย์แห่งพม่า ได้ส่งคณะทูตมายังอุปราชแห่งอินเดียเพื่อขอทำการบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารและจัดการบางประการเพื่อดูแลรักษาพุทธสถานแห่งนี้ เมื่อได้รับความยินยอมจากพวกมหันต์และรัฐบาลอินเดีย  จึงเริ่มทำการบูรณะ ทางรัฐบาลอินเดียได้ส่งนายพลเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม กับ ดร.ราเชนทรลาละ มิตระ เข้าเป็นผู้ดูแลกำกับการบูรณะ  เมื่อคณะผู้แทนจากพม่าจำเป็นต้องเดินทางกลับ ทางรัฐบาลอินเดียจึงรับงานบูรณะทั้งหมดมาทำแทนและเสร็จสมบูรณ์ ใน พ.ศ. 2427.

พ.ศ. 2434อนาคาริก ธรรมปาละ ชาวพุทธศรีลังกา ได้จัดตั้งสมาคมมหาโพธิ์และเริ่มดำเนินการเรียกร้องให้พุทธคยากลับมาเป็นของชาวพุทธ  ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องให้ประเทศพระพุทธศาสนาทั่วโลกให้ความสนใจในการบูรณะและฟื้นฟูพุทธคยา จนกระทั่ง ใน พ.ศ. 2500 รัฐบาลอินเดียได้เฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2500 (วิสาขบูชากึ่งพุทธกาล) โดย เยาวหรลาล เนรูห์ นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย  ได้เชิญชวนให้ประเทศพุทธศาสนาทั่วโลกมาสร้างวัดไว้ในดินแดนต้นพุทธอุบัติภูมิ ซึ่งประเทศไทยโดยการนำของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม  ได้ตอบรับและดำเนินการสร้างวัดเป็นชาติแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2500 และประเทศชาวพุทธอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น พม่า เกาหลี จีน ศรีลังกา ธิเบต ฯลฯ ได้ดำเนินการสร้างวัดต่อมาตามลำดับ  โดยรัฐบาลอินเดียได้มีส่วนสำคัญในการบูรณะพุทธคยาอย่างต่อเนื่องจนมีสภาพดังที่เห็นในปัจจุบัน 

จุดแสวงบุญและสภาพของพุทธคยาในปัจจุบัน

พุทธคยาในปัจจุบันเป็นพื้นที่อยู่ต่ำกว่าพื้นปกติเหมือนหลุมขนาดใหญ่ เนื่องจากผ่านระยะเวลากว่าสองพันปี ดินและตะกอนจากแม่น้ำได้ทับถมจนพื้นที่ในบริเวณนี้สูงขึ้นกว่าในสมัยพุทธกาลหลายเมตร ทำให้ในปัจจุบันผู้ไปนมัสการสังเวชนียสถานแห่งนี้ต้องเดินลงบันไดกว่าหลายสิบขั้น เพื่อถึงระดับพื้นดินเดิมที่เป็นฐานที่ตั้งพุทธสถานโบราณ ปัจจุบัน พุทธคยาได้รับการบูรณะและมีถาวรวัตถุที่สำคัญ ๆ ที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะ คือ "พระมหาโพธิเจดีย์"  อนุสรณ์สถานแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีลักษณะเป็นเจดีย์ 4 เหลี่ยม สูง 170 ฟุต วัดโดยรอบฐานได้ 121.29 เมตร  ภายในประดิษฐาน "พระพุทธเมตตา" พระพุทธรูปที่รอดจากการถูกทำลายจากพระเจ้าศศางกา พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยแบบศิลปะปาละ  เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพุทธทั่วโลก "พระแท่นวัชรอาสน" แปลว่า พระแท่นมหาบุรุษใจเพชร สร้างด้วยวัสดุหินทรายเป็นรูปหัวเพชรสี่เหลี่ยม กว้าง 4.10 นิ้ว 7.6 นิ้ว หนา 5 นิ้วครึ่ง ประดิษฐานอยู่ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นพระแท่นจำลองขึ้นทับพระแท่นเดิมเพื่อเป็นหลักฐานยืนยังว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ณ จุดนี้  ปัจจุบัน ประชาชนและรัฐบาลประเทศศรีลังกาได้อุทิศสร้างกำแพงแก้ว ทำด้วยทองคำแท้ ประดิษฐานรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์และพระแท่นวัชรอาสน์ นอกจากนี้ บริเวณพุทธคยาและโดยรอบยังมีสถานที่สำคัญมากมาย  เช่น กลุ่มพระเจดีย์เสวยวิมุตติสุข สระมุจลินทร์ บ้านนางสุชาดา ถ้ำดงคสิริ (สถานที่เจ้าชายสิทธัตถะบำเพ็ญทุกกรกิริยา) วัดพุทธนานาชาติ เป็นต้น.  ต่อมา ชาวพุทธทั่วโลกได้ร่วมเสนอขอให้พุทธคยาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จนใน พ.ศ. 2545 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกจึงพิจารณาให้พุทธคยาเป็นมรดกโลก.   ปัจจุบัน พุทธคยานับได้ว่าเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญที่สุดของนักแสวงบุญชาวพุทธทั่วโลก โดยแต่ละปีจะมีผู้แสวงบุญนับล้านคนเดินทางมานมัสการมหาพุทธสถานแห่งนี้  ในฐานะที่เป็นสังเวชนียสถานศักดิ์สิทธิ์และสำคัญที่สุดของชาวพุทธ สถานที่อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งพระพุทธศาสนา และสถานที่ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแห่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระบรมมหาศาสดาของชาวพุทธทั้งมวล 

สถานที่เนื่องด้วยการปรินิพพาน (กุสินารา)

ที่ตั้ง - กุสินาราเป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญ 1 ใน 4 สังเวชนียสถานของชาวพุทธ เป็นสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่ตำบลมถากัวร์ อำเภอกุสินคร หรือกาเซีย หรือกาสยา (โรมัน:Kushinagar-Kasia-Kasaya) ในเขตจังหวัดเดวเย หรือ เทวริยา (โรมัน:Devria-Devriya-Kasia-Kasaya) รัฐอุตรประเทศ ประเทศอินเดีย สาลวโนทาย สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า มาถากุนวะระกาโกฎ (โรมัน:Matha-Kunwar-Ka-Kot) ซึ่งแปลว่า ตำบลเจ้าชายสิ้นชีพ 

กุสินาราในสมัยพุทธกาล

ในสมัยพุทธกาล เมืองกุสินาราอันเป็นที่ตั้งของสาลวโนทยานอยู่ในแคว้นมัลละ 1 ใน 16 แคว้น ซึ่งเป็นเขตการปกครองสมัยพุทธกาล โดยในสมัยนั้นแคว้นมัลละแยกเป็นสองส่วน คือ ฝ่ายเหนือมีเมืองกุสินาราเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า "โกสินารกา" และฝ่ายใต้มีเมืองปาวาเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า "ปาเวยยมัลลกะ"  ทั้งสองเมืองนั้นตั้งอยู่ห่างกันเพียง 12 กิโลเมตร มีอำนาจในการบริหารแยกจากกัน โดยมีระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (สามัคคีธรรม)  โดยมีแม่น้ำหิรัญญวดีคั่นตรงกลาง กุสินารานั้นเมื่อเปรียบเทียบกับแคว้นอื่น ๆ ในสมัยพุทธกาล จัดว่าเป็นแคว้นเล็ก ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนักในด้านเศรษฐกิจ  ดังที่พระอานนท์ได้ทูลทักท้วงพระพุทธองค์ที่ทรงเลือกเมืองกุสินาราเป็นสถานที่ปรินิพพานไว้ว่า :-  "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์อย่าเสด็จปรินิพพานในเมืองดอนในฐานะเมืองกิ่งนี้เลย เมืองอื่นอันมีขนาดใหญ่กว่านี้ยังมีอยู่คือ จัมปา ราชคฤห์ สาวัตถี สาเกต โกสัมพี พาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงเสด็จดับขันธปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด  กษัตริย์ผู้มีอำนาจ พราหมณ์ผู้มีบารมี เศรษฐีคหบดีผู้มั่งคั่งที่เลื่อมใสในพระองค์มีมากในเมืองเหล่านี้ ท่านผู้มีอำนาจเหล่านั้นจักได้กระทำการบูชาพระสรีระของตถาคต" -พระอานนท์

สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์อยู่ในพระราชอุทยานของเจ้ามัลละฝ่ายเหนือแห่งกุสินารา ชื่อว่า "อุปวตฺตนสาลวนํ" หรือ อุปวัตตนะสาลวัน ซึ่งในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สาลวโนทยาน แปลว่า สวนป่าไม้สาละ ป่าแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญญวดี เป็นป่าไม้สาละร่มรื่น ซึ่งหลังการปรินิพพานของพระพุทธองค์แล้ว กษัตริย์แห่งมัลละก็ได้ประดิษฐานพระพุทธสรีระไว้ ณ เมืองกุสินาราเป็นเวลากว่า 7 วัน ก่อนที่จะประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ในวันที่ 8 แห่งพุทธปรินิพพาน.   การที่พระพุทธองค์ทรงเลือกเมืองกุสินาราอันเป็นเมืองเล็กแห่งนี้เป็นสถานที่ปรินิพพาน มีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญ คือ ทรงทราบดีว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว  พระสรีระและพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์จักถูกแว่นแคว้นต่าง ๆ แย่งชิงไปทำการบูชา หากพระองค์ปรินิพพานในเมืองใหญ่ เมืองใหญ่เหล่านั้นอาจไม่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้เมืองเล็ก ๆ  เช่น เมืองกุสินารา เป็นต้น ซึ่งก็เป็นความจริงเพราะหลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน เจ้าผู้ครองแคว้นต่าง ๆ ก็ได้ยกกองทัพหลวงของตนมาล้อมเมืองกุสินาราเพื่อจะแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ  แต่ด้วยความที่กุสินาราเป็นเมืองเล็ก จึงต้องยอมระงับศึกโดยแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ทุกเมืองโดยไม่ต้องเกิดสงคราม 

กุสินาราหลังพุทธปรินิพพาน

หลังพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว เมืองกุสินารากลายเป็นเมืองสำคัญศูนย์กลางแห่งการสักการบูชาของพุทธศาสนิกชน เหล่ามัลลกษัตริย์ได้สร้างเจดีย์และวิหารเป็นจำนวนมากไว้รอบ ๆ สถูปใหญ่คือ  มหาปรินิพานสถูป อันเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า มหาสถูปนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของปูชนียสถานอื่น ๆ ที่สร้างขึ้นมาภายหลังในบริเวณนั้น ต่อมาเมื่อแคว้นมัลละได้ตกอยู่ในความอารักขาของแคว้นมคธ ซึ่งในขณะนั้นมีเมืองปาตลีบุตรเป็นเมืองหลวง สาลวโนทยานยังคงเป็นสถานที่สำคัญอยู่  แต่อยู่ในสภาพที่ไม่รุ่งเรืองนัก ดังในทิพยาวทาน ได้พรรณาไว้ว่า "พระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จมาจาริกแสวงบุญยังกุสินารา ประมาณ พ.ศ. 310 ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ 100,000 กหาปณะ  เพื่อเป็นค่าสร้างสถูป เจดีย์ และเสาศิลา พระเจ้าอโศกเมื่อทรงทราบชัดว่า ณ จุดนี้เป็นสถานที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระองค์ถึงกับทรงสลดพระทัย โศกเศร้าถึงเป็นลมสิ้นสติสมปฤดี" หลวงจีนฟาเหียน (Fa-hsien) ที่ได้เข้ามาสืบศาสนาในพุทธภูมิในช่วง พ.ศ. 942-947 ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 (พระเจ้าศรีวิกรมาฑิตย์) แห่งราชวงศ์คุปตะ ซึ่งท่านได้พรรณนาไว้ว่า  "เมื่อมาถึงกุสินารา มีแต่เมืองที่ทรุดโทรม หมู่บ้านเป็นหย่อม ๆ ห่างกันไป โบสถ์ วิหาร และปูชนียวัตถุ ปรักหักพังโดยมาก สังฆารามที่ควรเป็นที่อยู่อาศัยก็ไม่มีพระสงฆ์อาศัยอยู่ ได้เห็นศิลาจารึกพระเจ้าอโศก 2 หลัก  ปักปรากฏอยู่ 2 แห่งในอุทยานสาลวัน จารึกนั้นบอกว่า ณ ที่นี้ เป็นสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์"  ในบันทึกของพระถังซำจั๋ง (Hiuen-Tsang) ซึ่งได้จาริกมาเมืองกุสินาราราว พ.ศ. 1300 ได้พรรณนาไว้ในจดหมายเหตุของท่านว่า  เมืองกุสินาราในสมัยนั้นยังคงมีซากเมือง ป้อมปราการ หอสูง และสังฆารามอยู่บ้าง แต่อยู่ในสภาพปรักหักพัง ภายในเขตกำแพงเมืองยังพอมีคนอาศัยอยู่บ้างแต่น้อยมาก  ท่านยังได้ทันพบบ่อน้ำและซากสถูปบ้านของนายจุนทะ และได้เห็นความร่มรื่นของสาลวโนทยาน สถานที่ปรินิพพาน และมกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงฯจนในพุทธศตวรรษที่ 14-15 ราชวงศ์สกลจุรีได้เข้ามาสร้างวัดขึ้นในบริเวณสาลวโนทยานจำนวนมาก จนพระพุทธศาสนาได้หมดจากอินเดียไปใน พ.ศ. 1743.  ทำให้สถานะของพระพุทธศาสนาในกุสินาราถูกปล่อยทิ้งร้างและกลายเป็นป่ารกทึบ จนใน พ.ศ. 2433 ภิกษุมหาวีระ สวามี และท่านเทวจันทรมณี ชาวศรีลังกา.  เดินทางมายังกุสินาราและเริ่มอุทิศตัวในการฟื้นฟูพุทธสถานแห่งนี้ร่วมกับเนซารี ชาวพุทธพม่า จนได้สร้างวัดขึ้นใหม่ชื่อว่า "มหาปรินิวานะ ธรรมะศาลา" 

ใน พ.ศ. 2397 นายวิลสัน นักโบราณคดีอังกฤษ ได้ทำการพิสูจน์ขั้นต้นว่าหมู่บ้านกาเซียคือกุสินารา จนใน พ.ศ. 2404-2420 เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม ได้เริ่มทำการขุดค้นเนินดินในสาลวโนทยาน จนใน พ.ศ. 2418-2420 นายคาร์ลลีเล่ หนึ่งในผู้ช่วยในทีมขุดค้นของท่านเซอร์ อเล็กซานเดอร์ ได้ทำการขุดค้นต่อจนได้พบพระพุทธรูปปางปรินิพพาน วิหารปรินิพพาน และสถูปจำนวนมากที่ผู้ศรัทธาได้สร้างไว้ในอดีตเมื่อครั้งพระพุทธศาสนายังรุ่งเรือง โดยนายคาร์ลลีเล่ เป็นท่านแรกที่เอาใจใส่ในงานบูรณะและรักษาคุ้มครองพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ขุดพบ.  จากนั้น นับแต่ พ.ศ. 2443 เป็นต้นมา กุสินาราได้เริ่มมีผู้อุปถัมภ์ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์ เข้ามาสร้างวัดและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้จาริกแสวงบุญที่เริ่มเข้ามาสักการะมหาสังเวชนียสถานแห่งนี้จนใน พ.ศ. 2498  รัฐบาลอินเดียได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพัฒนาปูชนียสถานแห่งนี้เพื่อเตรียมเฉลิมฉลอง 25 พุทธชยันตี โดยได้รื้อโครงสร้างวิหารปรินิพพานเก่าที่พึ่งได้รับการบูรณะสร้างใหม่ไม่นานออกเพื่อสร้างมหาปรินิพพานวิหารใหม่  เพื่อให้เหมาะสมกับโครงสร้างและสามารถรองรับพุทธศาสนิกชนได้ ใน พ.ศ. 2499 จนใน พ.ศ. 2507 วิหารได้พังลงมา ทางการอินเดียจึงบูรณะสร้างขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2518  และทางการอินเดียและพุทธศาสนิกชนก็ได้มีส่วนร่วมในการบูรณะกุสินาราจนมีสภาพสวยงามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

จุดแสวงบุญและสภาพของกุสินาราในปัจจุบัน

ปัจจุบันกุสินาราได้รับการบูรณะ และมีปูชนียวัตถุสำคัญ ๆ ที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะคือ "สถูปปรินิพพาน" เป็นสถูปแบบทรงโอคว่ำที่เป็นทรงพระราชนิยมในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช บนสถูปมียอมมน มีฉัตรสามชั้น "มหาปรินิพพานวิหาร" ตั้งอยู่ด้านหน้าในฐานเดียวกันกับสถูปปรินิพพาน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน (คือพระพุทธรูปนอนบรรทมตะแคงเบื้องขวา) ศิลปะมถุรา มีอายุกว่า 1,500 ปี  ในจารึกระบุผู้สร้างคือ หริพละสวามี โดยนายช่างชื่อ ทินะ ชาวเมืองมถุรา ในปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ถือได้ว่าเป็นจุดหมายสำคัญที่ชาวพุทธจะมาสักการะ เพราะเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะอันพิเศษคือเหมือนคนนอนหลับธรรมดา  แสดงให้เห็นว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานจากไปอย่างผู้หมดกังวลในโลกทั้งปวง "มกุฏพันธนเจดีย์" อยู่ห่างจากปรินิพพานสถูปไปทางทิศตะวันออก 1 กิโลเมตร ชาวท้องถิ่นเรียก รัมภาร์สถูป  เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ มีสภาพเป็นเนินดินก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซมไว้อย่างดี  ปัจจุบันชาวพุทธทั่วโลกได้มาก่อสร้างวัดไว้มากมาย โดยมีวัดของไทยด้วย ชื่อ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ปัจจุบันชาวไทยที่มาสักการะ ณ กุสินารา นิยมมาพักที่นี่ ในส่วนพุทธสถานโบราณลุมพินีนั้น ปัจจุบันได้รับการบูรณะซ่อมแซมเป็นอย่างดีจากรัฐบาลอินเดีย โดยรอบมีสภาพเป็นสวนป่าสาละร่มรื่นเหมือนครั้งพุทธกาล ชวนให้เจริญศรัทธาแก่ผู้มาสักการะตลอดมาจนปัจจุบัน 

กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันวิสาขบูชา

ในวันวิสาขบูชานี้ ถือเป็นวันสำคัญยิ่งที่ชาวพุทธทั่วโลกจะมารวมกันจัดพิธีทำบุญใหญ่หรือจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อบำเพ็ญกุศลระลึกถึงพระพุทธเจ้า  ซึ่งในฐานะที่วันวิสาขบูชาได้รับการยกย่องให้เป็นวันสำคัญสากลของโลก เมื่อถึงวันวิสาขบูชา องค์การสหประชาชาติจะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อรำลึกถึงพระพุทธเจ้าด้วย เช่น  สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีการอัญเชิญพระเจดีย์วิสาขบูชานุสรณ์ สกลโลกประกาศบูชาวันวิสาขะ (ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ)  ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติเป็นการถาวร มาประดิษฐานให้ประชาชนสักการบูชา เป็นต้น สำหรับในประเทศไทย นอกจากพุทธศาสนิกชนจะเข้าวัดบำเพ็ญบุญกุศลถือศีลฟังธรรมแล้ว ยังนิยมปล่อยนกปล่อยปลา และเวียนเทียนรอบพระอุโบสถในตอนค่ำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาด้วย วันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ เช่น ตั้งใจรักษาศีล 5 ศีล 8  งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ทำบุญถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน (ปล่อยนกปล่อยปลา) ฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น...

หลักธรรมในวันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าถึง 3 เหตุการณ์ คือ การประสูติ การตรัสรู้ และการปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเหตุการณ์เหล่านั้น คติธรรมหลักคือไตรลักษณ์ หรืออนิจจลักษณะ อันได้แก่ความเป็นธรรมดาของโลก 3 ประการ คือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง  ความเป็นทุกข์คือตั้งอยู่ในสภาพเดิมมิได้ และอนัตตา ความที่สังขารทั้งหลายไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ (เช่น บังคับไม่ให้แก่ไม่ได้ บังคับไม่ให้ตายไม่ได้)  ซึ่งทุกสรรพสิ่งในโลก ล้วนตกอยู่ในสภาพ 3 ประการนี้ แม้พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดาของโลก ก็ยังต้องทรงตกอยู่ในกฎเหล่านี้ ไม่มีใครสามารถพ้นไปได้ สำหรับหลักธรรมคติเทียบเคียงกับเหตุการณ์ทั้ง 3 ที่สามารถนำมาประพฤติปฏิบัติได้ 3 อย่าง คือ

1. ความกตัญญู

ในเหตุการณ์วันประสูติ สามารถยกหลักธรรมมาเทียบเคียงได้ คือ "หลักความกตัญญู" เพราะในพระพุทธประวัติ แม้พระนางสิริมหามายา ผู้เป็นพระราชมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะจะสิ้นพระชนม์ไปหลังที่เจ้าชายประสูติได้เพียง 7 วัน  แต่เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้แล้ว ก็ได้เสด็จไปโปรดพระพุทธมารดาบนดาวดึงสเทวโลก ถึงแม้พระเจ้าสุทโธทนะ ผู้เป็นพระราชบิดา พระพุทธองค์ก็เสด็จไปโปรดถึงพระราชวังที่ประทับ  จนพระเจ้าสุทโธทนะประชวรหนักใกล้สวรรคต พระพุทธองค์ก็ได้เสด็จเข้าไปโปรดจนพระราชบิดาได้บรรลุสำเร็จเป็นพระอรหันต์และนิพพานในพระราชวังในวันนั้นเอง  ซึ่งในเรื่องความกตัญญูต่อบิดามารดา และผู้มีอุปการะก่อนนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้หลายพระสูตรด้วยกัน เช่นใน หลักทิศ 6 เป็นต้น ซึ่งความกตัญญูนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะกับบุคคลเท่านั้น แต่รวมไปแม้กระทั่งต้นไม้ที่ให้ร่มเงาด้วย ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า :- "บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาต้นไม้ใด ไม่ควรหักกิ่งต้นไม้นั้น ผู้ประทุษร้ายมิตร เป็นคนเลวทราม" -พระพุทธพจน์จาก พระไตรปิฏก ขุททกนิกาย ชาดก. 28/26.   ความกตัญญู จึงนับได้ว่าเป็นหลักสำคัญในพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง มีตัวอย่างหลายเรื่องในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่กล่าวว่าพระพุทธองค์ทรงยกย่องผู้มีความกตัญญูต่อบิดามารดา เช่น เรื่องพระภิกษุเลี้ยงบิดามารดาในมหานิบาต[48] เป็นต้น ซึ่งทำให้พระพุทธองค์ตรัสว่า :- "นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา"   แปลว่า: "ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี" -พระพุทธพจน์จากพระไตรปิฏก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต "ปุตตสูตร". กล่าวโดยสรุป เหตุการณ์ประสูตินี้เป็นเครื่องเตือนให้พุทธศาสนิกชนระลึกถึงความกตัญญูกตเวที ที่ทุกคนควรมีในตนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม 

2. อริยสัจ 4

ในเหตุการณ์วันตรัสรู้ สามารถยกหลักธรรมมาเทียบเคียงได้ คือ "อริยสัจ 4" อันเป็นหลักธรรมในการแก้ปัญหาชีวิตที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ คือ  "ทุกข์" ความไม่สบายกายไม่สบายใจ สภาวะที่ทนได้ยากทั้งหลาย (ปัญหา)  "สมุทัย" ต้นเหตุของความทุกข์ คือกิเลสตัณหา (ต้นเหตุของปัญหา)  "นิโรธ" จุดหมายที่จะดับทุกข์ คือนิพพาน (วางเป้าหมาย) "มรรค" แนวทางในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ (ลงมือแก้ไข). -พระพุทธพจน์จากพระไตรปิฏก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค 19/528/1664

3. ความไม่ประมาท

ในเหตุการณ์วันปรินิพพาน พระพุทธองค์ตรัสปัจฉิมโอวาทไว้บทหนึ่ง อันเป็นยอดของคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ทุกคนควรนำมาปฏิบัติ คือ การมีสติอยู่ทุกเมื่อ ไม่ให้ความทุกข์ร้อนใจอันเกิดจากอำนาจกิเลสเข้าครอบงำ  กล่าวคือ ความไม่ประมาทในกาลทุกเมื่อ โดยพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า  :- "...อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ..." แปลว่า: "พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและท่าน ให้ถึงพร้อมด้วย ความไม่ประมาท เถิด" -สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. 10/149/117

การประกอบพิธีวิสาขบูชาในประเทศไทย

ประวัติความเป็นมาของการประกอบพิธีวันวิสาขบูชาในประเทศไทย - การจัดพิธีวิสาขบูชาในประเทศไทย ได้รับอิทธิพลมาจากลังกา สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัยเป็นราชธานี โดยปรากฏหลักฐานจากหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งกล่าวถึงการพิธีวิสาขบูชาไว้ว่ามีมาแต่สมัยสุโขทัยแล้ว1 โดยในหนังสือได้กล่าวไว้ว่างานวิสาขบูชาเป็นงานเฉลิมฉลองใหญ่สำหรับอาณาจักร ทั้งพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์และพสกนิกรทั้งปวงจะมาร่วมกันประกอบพิธีนี้ โดยมีการพร้อมใจกันทำความสะอาดและตกแต่งประดับประดาดอกไม้โคมไฟเพื่อเฉลิมฉลอง และพร้อมใจกันบำเพ็ญบุญกุศลและทานต่าง ๆ เช่น เข้าวัดทำบุญ รักษาศีล 5 ฟังพระธรรมเทศนา และการสาธารณะสงเคราะห์สาธารณประโยชน์ต่าง ๆ เช่น ตั้งโรงทานเลี้ยงดูคนยากจนเป็นต้น เป็นเวลาถึงสามวันสามคืน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เมื่อถึงวันวิสาขบูชา เวลาเย็นจะมีการเวียนเทียนรอบสถูปเจดีย์.   ความจากหนังสือตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ดังกล่าวมานี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายเกี่ยวกับเค้าโครงของหนังสือนี้ว่ามีเค้าโครงมาจากสมัยสุโขทัยจริง แต่รายละเอียดบางส่วนอาจจะมีการแต่งเสริมกันขึ้นมาในสมัยอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ 

อย่างไรก็ดี จากหลักฐานดังกล่าว (แม้จะไม่แน่ชัด) การพิธีวิสาขบูชา ย่อมเริ่มมีมาแต่สมัยสุโขทัย เพราะในสมัยนั้นกรุงสุโขทัยได้สืบพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทมาจากลังกาประเทศ ซึ่งเป็นเมืองที่มั่นทางพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช  และขนาดของการจัดพิธีบูชาเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาของชาวศรีลังกานั้น นับเป็นพิธีใหญ่และสำคัญมากของอาณาจักรมาตั้งแต่แรกรับพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการจัดพิธีเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาของประเทศศรีลังกานั้นมีความสำคัญและส่งอิทธิพลต่อประเทศพุทธศาสนาอื่นเพียงใด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาณาจักรสุโขทัยที่รับสืบพระพุทธศาสนามาจากประเทศศรีลังกาโดยตรง และหลังการเสื่อมอำนาจของอาณาจักรสุโขทัย  จนถึงในสมัยอยุธยาก็สันนิษฐานว่าคงมีการปฏิบัติพิธีวิสาขบูชาอยู่ แต่ลดความสำคัญลงไปมาก จนไม่ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารหรือจารึกใด  จนมาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พิธีวิสาขบูชาจึงได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง หลังจากความเสื่อมของพระพุทธศาสนาหลังยุคสุโขทัยล่มสลาย เพราะหลังจากสิ้นยุคอาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรอยุธยาได้ถูกครอบงำด้วยแนวคิดทางคติพราหมณ์ซึ่งได้รับจากการซึมซับวัฒนธรรมฮินดูแบบขอม (นครวัด) จนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 พระองค์ได้มีพระราชประสงค์ให้ทำการฟื้นฟูการประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้น พระองค์ได้ทรงปรึกษากับ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) ให้วางแนวปฏิบัติการพระราชพิธีวิสาขบูชา และพระราชพิธีวันวิสาขบูชาครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ได้จัดขึ้นเป็นการพระราชพิธีใหญ่ 3 วัน 3 คืน นับตั้งแต่วันศุกร์ ขึ้น 14 ค่ำ ถึง วันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 ปีฉลู นพศก จุลศักราช 1179 ( พ.ศ. 2360) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้ทรงเพิ่มจัดให้มีการเทศน์ปฐมสมโพธิกถา (พระพุทธประวัติ) ในวันวิสาขบูชาด้วย ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการตั้งโต๊ะเครื่องบูชารอบระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา  ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ปรากฏหลักฐานว่าได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจุดดอกไม้เพลิงถวายเป็นพุทธบูชา และให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายใน  และหน่วยราชการต่าง ๆ เดินเวียนเทียน จัดโคมประทีป และสวดมนต์ที่พระพุทธรัตนสถาน วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และมีการจัดพิธีวิสาขบูชาสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน.  จากความเป็นมาของการจัดพิธีวิสาขบูชาในประเทศไทยจากสมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบันดังกล่าว กล่าวได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้พิธีวิสาขบูชาแพร่หลายในหมู่ประชาชน ซึ่งปัจจุบันการพิธีวิสาขบูชาก็ได้แพร่หลายในประเทศไทยและได้รับการปฏิบัติสืบมาอย่างเข้มแข็ง วันวิสาขบูชากลายเป็นวันหยุดราชการโดยพฤตินัยมาแต่โบราณ ทั้งภาครัฐภาคเอกชนประชาชนและคณะสงฆ์ได้กลายเป็นผู้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาพร้อม ๆ กับชาวพุทธทั่วทั้งโลก และเป็นการช่วยกันสนับสนุนในการรักษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปพร้อม ๆ กันด้วยอีกทางหนึ่ง ...

การจัดงานเฉลิมฉลองวิสาขบูชาในต่างประเทศ

ปัจจุบันวันวิสาขบูชาได้ถูกกำหนดให้เป็นวันสำคัญทางศาสนาหรือวันหยุดราชการในหลายประเทศ เช่น อินเดีย, ศรีลังกา, สิงคโปร์, ไทย, พม่า, บังคลาเทศ, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย (วันสำคัญ ไม่ใช่วันหยุดราชการ), เนปาล, เกาหลีใต้, กัมพูชา, ภูฏาน เป็นต้น 

ในประเทศที่มีประชากรนับถือพระพุทธศาสนาเถรวาทเช่นที่ศรีลังกาจะกำหนดวันทางจันทรคติตรงกันกับประเทศไทย คือกำหนดในวันเพ็ญเดือน 6 โดยงานวิสาขบูชาในศรีลังกานั้น ถือได้ว่าเป็นงานใหญ่ระดับประเทศ รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ มีการปล่อยนักโทษให้ได้รับอิสรภาพถวายเป็นพุทธบูชา ตามบ้านเรือนจะมีการตั้งโรงทาน และประดับประดาธงทิว และโคมไฟต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศรีลังกา โดยจะทำเป็นรูปเรื่องราวในพุทธประวัติหรืออรรถกถาชาดกต่าง ๆ โดยงานวิสาขบูชาในศรีลังกานั้นจัดติดต่อกันถึง 7 วัน 7 คืน ซึ่งในประเทศไทยคงจัดงานวิสาขบูชาคล้ายกับศรีลังกา มีการประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการเช่นเดียวกัน แต่ต่างตรงที่ในปัจจุบันงานวิสาขบูชาในไทยที่จัดไม่ใหญ่โตมากนักเมื่อเทียบกับศรีลังกา แม้จะมีการจัดงาน 7 วัน 7 คืน เหมือนกัน แต่คงมีเฉพาะที่ส่วนกลาง คือที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวงและพุทธมณฑลเท่านั้น โดยพุทธศาสนิกชนชาวไทยส่วนใหญ่นิยมไปทำบุญในวันวิสาขบูชาเพียงวันเดียว สำหรับชาวพุทธ (มหายาน) เช่น ในประเทศสิงคโปร์ วันวิสาขบูชาได้ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการของประเทศ มีการจัดงานเฉลิมฉลองตามวัดพุทธต่าง ๆ โดยการกำหนดวันวิสาขบูชาของสิงคโปร์นั้นกำหนดตามปฏิทินเถรวาท แต่ในจีนเกาหลีและญี่ปุ่น จะกำหนดวันวิสาขบูชาแตกต่างจากประเทศพระพุทธศาสนาเถรวาทมาก เช่น ที่ประเทศญี่ปุ่น วันที่เกิดเหตุการณ์ประสูติ, ตรัสรู้ และปรินิพพานนั้น จะอยู่ต่างเดือนกัน เดิมญี่ปุ่นกำหนดว่าวันที่ 8 ของเดือนที่ 4 เป็นวันประสูติ วันที่ 8 ของเดือน 12 เป็นวันตรัสรู้ และวันที่ 15 เดือนที่ 2 เป็นวันปรินิพพาน โดยกำหนดวันตามเดือนในปฏิทินจันทรคติจีน จนมาในสมัยเมจิ ญี่ปุ่นได้รับคตินิยมปฏิทินสุริยคติจากประเทศตะวันตก จึงมีการปรับเปลี่ยนให้กำหนดตามปฏิทินจันทรคติแทน เช่น วันปรินิพพาน จะอยู่ในวันที่ 15 กลางเดือนกุมภาพันธ์ ตามปฏิทินสุริยคติที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก โดยไม่อิงปฏิทินจันทรคติจีน ในปัจจุบันในประเทศญี่ปุ่น วันที่เกิดเหตุการณ์ประสูติ, ตรัสรู้ และปรินิพพาน ไม่ได้ถูกประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ และไม่ได้รับความสนใจจากชาวญี่ปุ่นเท่าใดนัก เมื่อถึงวันนี้จะมีการจัดงานเฉลิมฉลองโดยผู้ร่วมพิธีจะมีเพียงพระสงฆ์หรือชาวพุทธที่เคร่งครัด.  วันวิสาขบูชาเคยถูกประกาศจากรัฐบาลห้ามจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาโดยเด็ดขาดในเวียดนามใต้ เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งของผู้ปกครอง (ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา)  ที่นับถือศาสนาคริสต์ มีการปราบปรามพระพุทธศาสนาอย่างหนัก กิจกรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และผู้ฝ่าฝืนต้องได้รับโทษถึงจำคุก ปัจจุบันหลังจากกรุงไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้ถูกเวียดกง (เวียดนามเหนือ)  ตีแตก และเวียดนามเหนือใต้ได้รวมเป็นประเทศเดียวกัน พระพุทธศาสนาก็ยังไม่ได้รับการฟื้นฟูเท่าใด ในปัจจุบันยังคงมีการจัดงานวิสาขบูชาบ้างจากชาวพุทธเวียดนาม ซึ่งเป็นงานที่ไม่ใหญ่โตเหมือนประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท  ในประเทศอินโดนีเซีย ที่ปัจจุบันเป็นประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามมากที่สุด ก็ได้ให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชามาก เพราะเดิมนั้นพระพุทธศาสนาเคยเป็นศาสนาที่ชาวชวาหรืออินโดนีเซียนับถือมากที่สุด  งานวิสาขบูชาในสมัยที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองคงเป็นพิธีใหญ่ แต่หลังพระพุทธศาสนาเสื่อมลงเนื่องจากการการเสื่อมของราชวงศ์ไศเลนทร์ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่นับถือพระพุทธศาสนา ผู้ปกครองต่อมาได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม  งานวิสาขบูชาจึงไม่มีผู้สืบทอด ในปัจจุบันเริ่มมีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินโดนีเซีย รัฐบาลเริ่มให้ความสำคัญกับชาวพุทธ โดยรัฐบาลประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ  ซึ่งชาวพุทธส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียนั้นเป็นคนอินโดนีเซียเชื้อสายจีนที่นับถือมหายาน ซึ่งมีชาวอินโดนีเซียส่วนหนึ่งที่นับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาท การจัดงานวิสาขบูชาในระยะหลังจึงเป็นงานใหญ่   โดยศูนย์กลางจัดงานอยู่ที่พระมหาสถูปบุโรพุทโธ เกาะชวา ทุกปีประธานาธิบดีแห่งอินโดนีเซียจะมาเป็นประธานเปิดงาน โดยเชิญผู้นำชาวพุทธจากทั่วโลกมาร่วมงาน

การกำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก

การกำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก เริ่มต้นขึ้นจากการที่ผู้แทนจากประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาพุทธ คือ บังคลาเทศ จีน ลาว เกาหลีใต้ เวียดนาม ภูฎาน อินโดนีเซีย เนปาล กัมพูชา อินเดีย ปากีสถาน และไทย ได้มีมติร่วมกันที่จะเสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติประกาศรับรองข้อมติกำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดของสหประชาชาติ ในการประชุมพุทธศาสนาระหว่างประเทศ (International Buddhist Conference) ณ กรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของประเทศศรีลังกา ระหว่างวันที่ 9-14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2541 ต่อมา คณะทูตถาวรศรีลังกาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก จึงได้จัดเตรียมร่างข้อมติ และได้ขอเสียงสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ เพื่อให้มีการรับรองข้อมติเรื่องการประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดของสหประชาชาติในที่ประชุมงสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ สมัยสามัญ  ครั้งที่ 55 แต่คณะผู้แทนจากศรีลังกาเปลี่ยนเสนอให้ประกาศวันวิสาขบูชาเป็น "วันสำคัญสากล" แทน เนื่องจากวันหยุดของสหประชาชาติมีมากแล้ว และจะกระทบต่อการดำเนินงานของสหประชาชาติ และได้ดำเนินการให้คณะผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติจำนวน 16 ประเทศ คือ ศรีลังกา บังคลาเทศ ภูฎาน กัมพูชา ลาว มัลดีฟส์ มองโกเลีย พม่า เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ สเปน อินเดีย ไทย และยูเครน  ให้ร่วมลงนามในหนังสือถึงประธานที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพื่อนำเรื่องนี้เข้าสู่ระเบียบวาระของการประชุมใหญ่ฯ จนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2542 ที่ประชุมใหญ่สมัชชาแห่งสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 55 จึงได้พิจารณาระเบียบวาระที่ 174 ว่าด้วยการยอมรับวันวิสาขบูชาในระดับสากล (International recognition of the Day of Visak)  โดยการเสนอของศรีลังกา ประธานที่ประชุมได้ให้ผู้แทนจากศรีลังกาเสนอร่างข้อมติ และเชิญให้ผู้แทนจาก ไทย สิงคโปร์ บังคลาเทศ ภูฎาน สเปน พม่า เนปาล ปากีสถาน อินเดีย ขึ้นแถลง สรุปความได้ว่า  "วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรมและขันติธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม อันเป็นแนวทางของสหประชาชาติ จึงขอให้ที่ประชุมรับรองข้อมตินี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองความสำคัญของพุทธศาสนาในองค์การสหประชาชาติ  โดยถือว่าวันดังกล่าวเป็นที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติและที่ทำการสมัชชาจะจัดให้มีการระลึกถึง (observance) ตามความเหมาะสม"

นายวรวีร์ วีรสัมพันธ์ อุปทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้ให้เหตุผลในถ้อยแถลงมีใจความตอนหนึ่งว่า  "องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ  และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณ โดยไม่คิดค่าตอบแทน".  ในที่สุด องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็น "วันสำคัญสากล" (ด้วยชื่อวันว่า "Vesak")  โดยการเสนอของประเทศศรีลังกาดังกล่าว ด้วยมติเอกฉันท์ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2542

ที่มา : วิกิพีเดีย

____

The significance of Vesak Full Moon Day , Māgha Pūjā Day , Pavāranā day , Happy Vesak Day. ,  วันวิสาขบูชา  , วันวิสาขบูชา การบูชาในวันเพ็ญวิสาขะ  , วันอาสาฬหบูชา , วันอาสาฬหบูชา ประวัติและความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา , สาระสำคัญของวันมาฆบูชา , วันมาฆบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา , 'วันพระ' วันธรรมสวนะ หรือ วันอุโบสถ , วันออกพรรษา-Day of going out of Vassa , วันเข้าพรรษา-Buddhist Lent Day Observances , วันอาสาฬหบูชา , วันนี้วันพระ“วันอัฏฐมีบูชา” , วันอัฏฐมีบูชา , วันมหาปวารณา , ปัจฉิมโอวาทของพระพุทธเจ้า , วิสาขบูชานุสติ , พระพุทธเจ้า“ประกาศอิสรภาพ”ให้แก่มวลมนุษย์ , ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสอะไรไว้กับชาวโลกบ้าง , เมื่อคืนพระจันทร์สวย ในวันวิสาขบูชา : พิจารณาธรรมชาติ , กฐิน