วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564

เอกภพมีเป็นพันล้านจักรวาล

เอกภพมีเป็นพันล้านจักรวาล

[สมัยหนึ่ง พระอานนท์ได้ถามพระพุทธเจ้าว่า]

อ: ผมเคยได้ยินจากท่านว่า ขณะที่สาวกของพระพุทธเจ้าสิขีที่ชื่อว่าอภิภู สถิตอยู่ในพรหมโลกนั้น สามารถแผ่รัศมีและเสียงได้ไกล 1,000 โลกธาตุ (จักรวาล/ cosmos) ไม่ทราบว่าท่านเองเปล่งแสงและเสียงได้กี่โลกธาตุหรือ ? 

พ: อานนท์ พระอภิภูนั้นเป็นสาวก [จึงประมาณได้] ส่วนพระตถาคตทั้งหลายนั้น ใครๆก็ประมาณไม่ได้ 

[หลังจากพระพุทธเจ้าตอบดังนี้ พระอานนท์ก็ยังถามคำถามเดิมอีกสองครั้ง จนสุดท้ายพระพุทธเจ้ากล่าวว่า]

พ: อานนท์ เธอเคยได้ฟังแค่เรื่อง 1,000 โลกธาตุ ซึ่งเป็นโลกธาตุขนาดเล็กเท่านั้น.   อ: ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ท่านจะเล่าเพิ่มเติม ผมจะได้จำไว้.  

พ: ถ้าเช่นนั้น เธอจงใส่ใจฟังให้ดี.  ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์โคจรส่องแสงสว่างไปทั่วทิศได้ไกลเท่าไหร่ หนึ่งโลกธาตุ ก็มีขนาดประมาณเท่านั้น.  ใน 1,000 โลก นอกจากจะมีดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ภูเขาสิเนรุอย่างละ 1,000 แล้ว ยังมีชมพูทวีป อปรโคยานทวีป อุตตรกุรุทวีป และปุพพวิเทหทวีปอย่างละ 1,000 มีมหาสมุทรและมหาราช อย่างละ 4,000 มีเทวโลกชั้นจาตุมหาราช ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตดี และพรหมโลกอย่างละ 1,000 ทั้งหมดนี้คือ [กลุ่ม]โลกธาตุขนาดเล็ก มีพันจักรวาล (สหัสสีจูฬนิกาโลกธาตุ) โลกธาตุขนาดเล็กคูณด้วยพัน จะเท่ากับขนาดของโลกธาตุขนาดกลาง มีล้านจักรวาล (ทวิสหัสสีมัชฌิมิกาโลกธาตุ)  โลกธาตุขนาดกลางคูณด้วยพัน จะเท่ากับขนาดของโลกธาตุขนาดใหญ่ มีพันล้านจักรวาล (ติสหัสสีมหาสหัสสีโลกธาตุ)  อานนท์ ถ้าตถาคตต้องการ ก็จะแผ่รัศมีและเสียงให้ไปไกลพันล้านจักรวาลได้

อ: ท่านทำอย่างไรหรือ?  พ: ตถาคตอยู่ในที่นี้ จะแผ่รัศมีไปทั่วพันล้านจักรวาล พอสัตว์ทั้งหลายในพันล้านจักรวาลเหล่านั้นเห็นแสงสว่างนี้ ตถาคตก็จะเปล่งเสียงให้เหล่าสัตว์ได้ยิน

[เมื่อฟังแล้ว พระอานนท์ได้หันไปกล่าวกับพระอุทายีว่า]

พระอานนท์: เป็นโชคดีของเราที่มีอาจารย์ผู้มีอานุภาพมากขนาดนี้.  พระอุทายี: ท่านมีอาจารย์ผู้มีอานุภาพมากขนาดนี้แล้วยังไงล่ะ?

[เมื่อพระพุทธเจ้าได้ยินคำพูดของพระอุทายี จึงกล่าวกับพระอุทายีว่า]

พ: อย่าพูดเช่นนั้นอุทายี สมมติอานนท์มรณภาพไปตอนที่ยังไม่สิ้นกิเลส ด้วยความที่มีจิตอันเลื่อมใสนี้ ก็จะได้ครองสมบัติในชมพูทวีปเจ็ดชาติ ครองสมบัติในเทวโลกเจ็ดชาติ แต่อันที่จริง อานนท์จะปรินิพพานในชาติปัจจุบันนี้แล

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 34 (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ภาค 1 เล่ม 3 อานันทวรรค จูฬนีสูตร ข้อ 520), 2559, น.442-444




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: