วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ความกล้าชื่อว่าวิริยะ

ความกล้าชื่อว่าวิริยะ

ความกล้านั้นโดยมากแสดงออกมาในยามแข็งขัน ความกล้าทำหน้าที่ค้ำจุนอุดหนุนให้ธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมกันดำรงอยู่ได้นานหรือทำให้ยืนหยัดสู้ไม่ยอมถอย มีผลทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง เช่นคนขยันหมั่นเพียรกล้าคิดกล้าทำไม่ท้อถอยไม่หมดกำลังใจที่จะทำต่อสักวันหนึ่งเขาจะต้องประสบความสำเร็จ และคนขยันหมั่นเพียรมักไม่ตกต่ำหรือไม่จมลงมีแต่ความเจริญรุ่งเรือง

คนกล้าเห็นอะไรๆที่ไม่ดีแล้วก็มักเกิดความสังเวชใจ เกิดความรู้สึกสลดหดหู่ต่อคนที่ได้รับทุกขเวทนาหรือต่อคนที่ต้องตายไป เช่นเห็นคนพิการแขนขาขาดแล้วอดสังเวชไม่ได้ หรือรู้สึกหดหู่ใจต่อผู้ที่ประพฤติตนไม่เหมาะสม เช่นเห็นความตระหนี่ถี่เหนียวของเขาแล้วนึกสังเวชเป็นต้น เมื่อเห็นเช่นนั้นก็มักเกิดความสมเพช สลดใจ สะดุ้ง สงสาร ในผู้ที่กำลังได้รับทุกข์หรือผู้ที่จะได้รับทุกข์ในภายภาคหน้า อนึ่ง เมื่อคิดถึงการงานก็ดี การเดินทางก็ดี สุขภาพก็ดี อาหารหรือการเป็นอยู่ก็ดี เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นอารมณ์กระตุ้นเตือนให้เกิดการปรารภความเพียรยิ่งขึ้นของคนกล้าที่ไม่อยากจมอยู่กับความลำบากยากจน  เพราะฉะนั้น คนกล้าหรือคนขยันหมั่นเพียรจึงรีบทำอะไรโดยแยบคายสมเหตุสมผลและลึกซึ้งกว่าคนธรรมดาทั่วไป

ความกล้าหรือความเพียรนี้ที่บุคคลทำโดยถูกทางแล้ว (โดยสุจริต) ย่อมเป็นมูลเหตุแห่งสมบัติทั้งปวง และบุคคลจะล่วงพ้นจากทุกข์ได้ก็เพราะความเพียร ดังนี้.

สาระธรรมจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค ๓ (อรรถาธิบายเรื่องวิริยะ)

พระมหาวัชระ  เชยรัมย์  (ติกฺขญาโณ)

22/6/64



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: