วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2564

พุทธอุทาน

"เธอทั้งหลายได้รับสุขและทุกข์ ในบ้าน (หรือ) ในป่า ไม่ควรใส่ใจสุขและทุกข์นั้นว่ามีสาเหตุมาจากตน หรือคนอื่น ผัสสะทั้งหลาย จะสัมผัสได้ก็เพราะอาศัยอุปธิ  เมื่อไม่มีอุปธิ ผัสสะทั้งหลายจะสัมผัสได้อย่างไร."

สักการสูตรที่ ๔, พระไตรปิฎกภาษาไทย(ปกฟ้า มจร.) ขุ. อุ. ๒๕/๑๔/๑๙๔

เชิงอรรถ

“ผัสสะทั้งหลาย” ในที่นี้หมายถึง สุขเวทนา และ ทุกขเวทนา (ขุ.อุ.อ.๑๔/๑๑๘)   “อุปธิ” ในที่นี้หมายถึง ขันธ์ ๕ (ขุ.อุ.อ.๑๔/๑๑๙)

ต้นตอของ “ความทุกข์”  อยู่ที่ความโง่ เมื่อมีผัสสะ ในกระแสปฏิจจสมุปบาท

“อย่าไปศึกษาปฏิจจสมุปบาทที่อื่น ต้องศึกษาในภายใน ในความรู้สึก “ในจิต” เช่น ตานี้ ให้มันรู้จักตานี้จริงๆ เช่น รูปข้างนอก ก็รู้จักรูปจริงๆ ถึงกันเข้าเกิดจักษุวิญญาณ ความเห็นทางตา ก็ให้มันเห็นจริงๆ   แต่มันเร็วมาก มันทํางานเร็วมาก ใน ๓ อย่างนี้รวมกันเรียกว่า“ผัสสะ” (ตากระทบรูป เกิดจักษุวิญณาณ ) ; แป๊บเดียวเป็นผัสสะ, แป๊บเดียวเป็นเวทนา,  แว็บเดียวเป็นตัณหา อุปาทาน ซึ่งเร็ว จะเรียกว่ายิ่งกว่าหรืออย่างน้อยก็เสมอกับสายฟ้าแลบ.    ฉะนั้นเราจึงรู้สึกไม่ทัน ไปรู้สึกต่อเมื่อเป็นทุกข์, มีความทุกข์เสียแล้ว ; อย่างที่พูดเมื่อตะกี้นี้ว่า มันไปรู้สึกเมื่อมันจมลงไปถึงคอเสียแล้ว เมื่อเริ่มจมนี้มันไม่รู้สึก เพราะว่าอะไร? เพราะไม่มีความรู้ เพราะไม่มีสติ เพราะไม่มีปัญญา

ปฏิจจสมุปบาทอยู่ที่ไหน? ถ้าเข้าใจก็ตอบได้ คืออยู่ในกระแสแห่งการปรุงแต่งภายในจิต เป็นสายกันไปอย่างนี้ จนถึงความทุกข์ ซึ่งเป็นผล, แล้วทุกข์นี้ยังเป็นเหตุให้เกิดการกระทําอย่างอื่นต่อไปอีก มันไม่หยุดอยู่เท่านั้น แต่นี้เราเอาเพียงว่า ทุกข์นี้เป็นตัวการสําคัญ เกิดมาจากเหตุเป็นลําดับๆ: ต้นตอของความทุกข์อยู่ที่ความโง่ เมื่อมีผัสสะ”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายชุดมหาวิทยาลัยต่อหางสุนัข หัวข้อเรื่อง “ตัดต้นเหตุทันเวลา” บรรยายเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๓ ณ ลานหินโค้ง สวนโมกขพลาราม จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “ธรรมบรรยายต่อหางสุนัข

สัมผัส(ผัสสะ)ด้วย “วิชชา” สัมผัสด้วยสติ

“คำว่า  “สติ”  นั้นน่ะ มันประกอบอยู่ด้วยปัญญาเสมอ คำว่า “สติ” นั้น ต้องประกอบด้วยปัญญาอยู่เสมอ สติ คือ ระลึกได้ ระลึกก็คือระลึกความจริงของความจริงว่าเป็นอย่างไร นั้นคือปัญญา สติขนเอาปัญญามาทันเวลาที่มีการกระทบทางอายตนะนี้, มันก็รู้ว่าควรทำอย่างไร มันก็เลยทำไปในทางที่ไม่เกิดทุกข์ ไม่เกิดความรัก ไม่เกิดความโกรธ ไม่เกิดความเกลียด ไม่เกิดความกลัว ไม่เกิดความอิจฉาริษยา ไม่เกิดความหึงความหวง ไม่เกิดความอาลัยอาวรณ์ ไม่เกิดอะไรต่างๆที่เป็นที่ตั้งแห่งความทนทุกข์ทรมาน นี่เรียกว่า มีสติ...

เรามีหลักว่า ในขณะที่สัมผัส สัมผัสหรือกระทบต้องมีสติ เมื่ออะไรมากระทบจิตทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ต้องมีสติ ให้เป็นการสัมผัสสิ่งนั้นๆด้วยสติ ก็เรียกว่า สัมผัสด้วยวิชชา, สัมผัสด้วยปัญญา มีความลืมหูลืมตา ก็กระทำไปอย่างถูกต้อง ไม่ผิดพลาดใดๆ ไม่อาจจะเกิดทุกข์ได้ นี่เรียกว่า เราสัมผัสโลกด้วยสติปัญญาอยู่ทุกวันๆ ทุกวันๆ ทุกวันๆ สัมผัสโลก คือ สิ่งทั้งปวงที่มากระทบ ด้วยสติด้วยปัญญาอยู่ตลอดเวลา ก็ไม่เกิดความทุกข์...

นี่จำไว้ว่า ถ้าว่าทำผิดเมื่อผัสสะ คือเป็นสัมผัสด้วยความโง่ ด้วยอวิชชา แล้วก็เกิดทุกข์ ถ้าสัมผัสด้วยวิชชา รู้จริงตามที่เป็นจริงอย่างไร เรียกว่าเป็นสัมผัสด้วยวิชชา แล้วก็ไม่เกิดทุกข์ ฉะนั้น อย่าได้มีการสัมผัสด้วยความโง่, อย่าได้มีการกระทบหรือรับอารมณ์ใดๆ ด้วยความโง่ แต่ให้รับหรือรู้สึกอารมณ์นั้นๆด้วยสติ ด้วยปัญญา และให้ฝึกฝนอยู่เป็นประจำ

เรื่องนี้ พูดมันก็พูดได้และพูดง่าย; แต่พอถึงคราวที่จะทำมันไม่ง่ายนัก มันอาจจะพลั้งเผลอหรือทำไม่ได้ ต้องมีความทุกข์กันเสียก่อนตั้งหลายครั้งหลายหน แล้วจึงค่อยๆทำได้ จึงค่อยๆทำได้ นี่มันจึงจะสำเร็จประโยชน์ ค่อยๆทำได้ ฉะนั้น จะต้องฝึกฝนอยู่ให้ดีที่สุด เหมือนที่เขาฝึกฝนอะไรๆที่เขาพอใจ อย่างพวกที่เล่นกีฬาเล่นศิลปะหาเงินหาทอง เขาฝึกเหลือประมาณ เช่นว่าจะเตะตะกร้อลอดบ่วงได้ อย่างนี้ต้องฝึกเหลือประมาณ นี้ก็เหมือนกันแหละ เราก็ฝึกเหลือประมาณ ฝึกที่จะให้มีสติ ทุกครั้งที่ผัสสะ, แล้วถ้ามันล้มเหลว เผลอไป ก็ละอายๆ ละอายแก่ตัวเอง ว่าไม่สมควรแก่เราเลย ที่เป็นผู้ไม่มีสติ ขาดสติ พลั้งเผลอจนเกิดความทุกข์ เราไม่ได้เกิดมาเพื่อความทุกข์ แล้วทำไมจึงมากลายเป็นมาเกิดเพื่อความทุกข์อย่างนี้ ก็เสียใจอย่างยิ่ง ละอายอย่างยิ่ง ทุกๆ คราวที่พลั้งพลาดเผลอไป จนเกิดความทุกข์ ไม่เท่าไรมันก็จะไม่เผลอ ก็จะเผลอน้อยเข้าจนไม่เผลอ

อุปมาสมมติเหมือนอย่างว่า มันเดินตกร่อง ตกร่องที่นอกชาน หรือตกร่องที่ไหนก็ตาม มันเดินไม่ดี ไม่ดูให้ดี แล้วมันตกร่อง เดินตกร่องนั้นมันทั้งเจ็บด้วย แล้วมันทั้งน่าละอายด้วย ใครเห็นก็ละอายเขา ถ้าคอยสังวรอยู่ว่า มันเจ็บด้วย มันละอาย มันน่าละอายอย่างยิ่งด้วย ก็จะระวังดีขึ้น เมื่อระวังดีขึ้น มันก็ไม่ตกร่องอีกต่อไป นี่แหละการที่จะมีสติอย่างดีที่สุด ต่อสิ่งที่เรียกว่า "ผัสสะ" นั้น ต้องตั้งใจอย่างนี้ ต้องอธิษฐานจิตอย่างดียิ่งที่จะไม่พลั้งเผลอและกลัวว่ามันเป็นทุกข์และละอาย ว่ามันเป็นสิ่งที่น่าละอาย

เดี๋ยวนี้เราไม่รู้สึกกันเสียทั้ง ๒ อย่าง หรือ ทั้งทุกอย่าง กลัวก็ไม่กลัว ละอายก็ไม่ละอาย มันก็เลยมีได้มากแล้วเป็นทุกข์อยู่ข้างใน; ก็เพราะว่าไม่มีใครรู้, แม้ว่าไม่มีใครรู้ แต่มันเป็นทุกข์อยู่ข้างใน ก็ขอให้กลัวและให้ละอายอย่างยิ่ง ยิ่งกว่าที่มันมาข้างนอก จนคนอื่นเขารู้หรือเขาหัวเราะเยาะ

นี่ผู้ที่มีธรรมะแล้วก็จะต้องมีความกลัวและความละอายอย่างยิ่งอยู่ประจำตัว มีหิริ มีโอตตัปปะ ในธรรมะที่เป็นภายในอย่างนี้แหละ มีประโยชน์ดียิ่งกว่าที่เป็นภายนอก เป็นเรื่องภายนอก หมายความว่าที่ใครๆเขารู้เขาเห็นก็ยังไม่สำคัญเท่าที่ไม่มีใครรู้เห็น เรารู้เห็นของเราแต่คนเดียวนี่มันสำคัญมาก มันเสียหายมาก มันเป็นสิ่งที่จะยอมให้มีขึ้นมาไม่ได้

นี่ขอให้สนใจ มีสติเท่านั้นแหละ มันก็รอดจากความทุกข์ในทุกกรณี มันไม่สร้างความทุกข์ขึ้นมาได้ เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาได้ ไม่ต้องไปโทษผีสางเทวดา ซึ่งเป็นความโง่อย่างยิ่ง เพิ่มขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง มันโง่จนปล่อยให้ความทุกข์เกิดขึ้นแล้ว นี้มันก็โง่หนึ่งแล้ว ทีนี้มันก็ไปโทษผีสางเทวดา มันก็เป็นอีกโง่หนึ่ง มัน ๒ โง่ ๓ โง่ ซ้ำเข้าไป แล้วมันก็น่าละอายสักเท่าไร ขอให้คิดดู

ความสุขและความทุกข์เกิดขึ้นเพราะเราทำผิดหรือทำถูกเมื่อมีผัสสะ ที่เรียกว่าตาม “กฏอิทัปปัจจยตา”, มีพระบาลี(พระไตรปิฎก)ตรัสไว้ ซึ่งควรจะนึกถึงด้วยเหมือนกันเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า สุขทุกข์ไม่ได้เกิดมาจากพระเป็นเจ้า, สุขทุกข์ไม่ได้เกิดมาจากกรรมเก่า, และสุขทุกข์ก็ไม่ใช่ไม่มีเหตุ สุขทุกข์ก็มีเหตุ เหตุนั้นก็คือ ทำผิดหรือทำถูกต่อกฏอิทัปปัจจยตา ถ้าทำผิดต่อกฏอิทัปปัจจยตา ก็เกิดทุกข์ ถ้าทำไม่ผิดก็ไม่เกิดทุกข์ ทำผิดต่อกฏอิทัปปัจจยตา ก็ทำเมื่อมีอารมณ์มากระทบนั่นเอง เมื่อมีผัสสะนั่นเอง, เป็นเวลาสำคัญที่สุด ที่จะต้องประพฤติให้ถูกต่อกฏอิทัปปัจจยตา แล้วมันก็ไม่เกิดความทุกข์

นี่ ถ้าทำสติได้อย่างนี้ แม้บวชอยู่ที่บ้านก็ดีกว่าพวกที่บวชอยู่ที่วัดเป็นไหนๆ นี่พูดอย่างนี้มันชอบกลเหมือนกัน แล้วมันก็เสี่ยงอยู่ว่าจะอันตราย แต่ขอยืนยันว่า ถ้าบวชอยู่ที่บ้าน แล้วทำได้อย่างนี้ ดีกว่าพวกที่บวชอยู่ที่วัดโดยมากที่ไม่ทำอย่างนี้ ที่ไม่ได้ทำอย่างนี้ บวชละเมอๆ อยู่”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายหัวข้อเรื่อง “การบวชอยู่ที่บ้าน” จากหนังสือ “บวชทำไม?”

ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ – รวบรวม



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: