วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ระวัง! อย่าติดกับดัก “ลัทธิเหตุเดียว-ผลเดียว”

ระวัง! อย่าติดกับดัก “ลัทธิเหตุเดียว-ผลเดียว” รู้หลักเหตุปัจจัย ให้ถูกต้องว่า 

- ผลหนึ่งๆ เกิดจากปัจจัยหลากหลาย - และ ปัจจัยหนึ่งๆ ให้เกิดผลมากมาย.   จากปัจจัยอเนก ได้ผลอันหนึ่ง, จากปัจจัยหนึ่งๆ เกิดผลหลากหลาย

“ทีนี้ มาดูลึกลงไปอีกในหลักเหตุปัจจัยนี้ ที่จริงลัทธิอื่นที่ถือหลักเหตุปัจจัยก็มี แต่มิใช่เป็นหลักการที่พระพุทธศาสนายอมรับ คือ คนจํานวนมากหรือส่วนมาก เมื่อมองเหตุปัจจัยก็มักมองแค่ว่า เออ..อันนี้เกิดจากเหตุอะไรนะ? เกิดจากปัจจัยอะไรนะ? แล้วก็ค้นหาเหตุปัจจัยอันนั้น อย่างนี้เรียกว่า “ลัทธิเหตุเดียว-ผลเดียว” ภาษาพระเรียกว่า “เอกการณวาท” ซึ่งยังเป็น “มิจฉาทิฏฐิ”

ทําไมล่ะ? ก็ถือหลักเหตุปัจจัยแล้วนี่ จะเป็นมิจฉาทิฏฐิได้อย่างไร? ก็ตอบว่า พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนอย่างนั้น คราวที่แล้วก็ได้ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นว่า จะปลูกต้นไม้ เราเอาเม็ดมะม่วงไปใส่ลงในดินเท่านั้น ต้นไม้จะขึ้นมาไหม? ก็ไม่ขึ้น ต้นไม้จะขึ้นมาได้ต้องมีปัจจัยต่างๆ หลายอย่างพรั่งพร้อมด้วย เช่น น้ำ ปุ๋ย ออกซิเจน อุณหภูมิที่เหมาะ ฯลฯ เยอะแยะหมด กว่าต้นมะม่วงจะงอกขึ้นมาได้ นี่คือ ผลอันหนึ่งเกิดจากปัจจัยหลากหลาย มิใช่ว่าผลอันหนึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุอันเดียว

อย่างหลักกรรมนี่ คนจํานวนมากก็ไม่เข้าใจ มองผลกรรมกันไม่ถูกต้อง เพราะไปคิดตามหลักเหตุเดียวผลเดียวที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ที่เรียกว่า “เอกการณวาท” นั้น จึงขอบอกหลักไว้ในตอนนี้ก่อนว่า ผลอันหนึ่งเกิดจากปัจจัยหลากหลาย การที่จะให้เกิดผลอย่างหนึ่งขึ้นมาได้นั้น มีปัจจัยที่จะต้องประกอบพรั่งพร้อมมากหลายเป็นอเนกทีเดียว

ที่ว่ามานี้ เรามองดูผลอันเดียวว่าเกิดจากปัจจัยมากหลายพรั่งพร้อมกัน แต่นั่นยังไม่พอ ตอนนี้เรามองดูผลอันเดียว โดยจ้องอยู่ที่ผลที่เราต้องการ เราก็จะเอาจะนึกถึงแต่ผลที่ตัวต้องการนั้นอันเดียว ที่ว่ามาจากปัจจัยหลากหลายนั้น แต่เราลืมไปว่า ในบรรดาปัจจัยทั้งหลายที่ประกอบกันให้เกิดผลอันเดียวที่เราต้องการและจ้องจะเอาอยู่นี้ เราไม่ได้มองดูปัจจัยแต่ละตัวๆ แต่ละอย่างๆ ที่ส่งผลออกมา พอเราหันไปตั้งใจดู ก็เห็นว่า ปัจจัยแต่ละอย่างแต่ละตัวๆ ก็ทําให้เกิดผลตัวละหลายอย่าง

นี่ละ ในขณะที่ผลอันหนึ่งเกิดจากปัจจัยหลากหลายนั้น ปัจจัยหนึ่งๆก็ส่งผลมากมายเป็นอเนกด้วย อย่างเรื่องปลูกต้นไม้เมื่อกี้ เราว่ามีปัจจัยมากหลายส่งผลให้เรามีต้นไม้ แต่นี่คือเรามองแค่ผลอันเดียวที่เราต้องการคือต้นไม้ แต่ที่จริงในขณะที่เกิดต้นไม้นั้น ปัจจัยทั้งหลายที่ส่งผลให้เกิดต้นไม้ขึ้นมานั้น แต่ละอย่างๆของมันก็ส่งผลอะไรต่ออะไรออกไปอย่างอื่นที่เราไม่ได้ไล่ไม่ได้ตามดูด้วย

จากการที่ไม่รู้ ไม่ได้นึกถึง ไม่มีไม่ใช้ปัญญาที่จะไล่ตามดูให้ทันให้ทั่วให้ถึงระบบเหตุปัจจัยที่ว่า ผลหนึ่งๆเกิดจากปัจจัยหลากหลาย และผลหลากหลายเกิดจากปัจจัยหนึ่งๆนี้ มนุษย์พัฒนากันไปๆ ได้ความเจริญขึ้นมา แต่ก็ได้ทําให้เกิดปัญหาแก่โลกนี้ ทั้งแก่ชีวิตและแก่สังคมมากมาย เพราะไม่รู้ทั่วถึงความจริงนี้ และมัวแต่มุ่งผลอันเดียวที่ตัวต้องการ ก็ไประดมทําเหตุปัจจัยของผลนั้นให้พร้อม เสร็จแล้วพอได้ผลที่ต้องการก็หยุด โดยไม่ได้ดูว่าบรรดาปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดสิ่งนี้ แต่ละปัจจัยนั้นๆ มันได้ส่งผลอย่างอื่น ที่ร้าย ที่ดี อะไรๆ ออกไปบ้าง

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : เกร็ดความรู้ธรรม ตอนว่าด้วย “ฉันทะ” ครั้งที่ ๖ ( ธรรมกถาหลังปาติโมกข์ ค่าวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ) จากหนังสือ “มองดู ฉันทะ – ตัณหา ไล่มาตั้งแต่เจงกิสข่าน” หน้า ๒๔-๒๕

โหลด pdf หนังสือได้ ที่นี่  https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/668


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: