วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2564

“ผลของการถอนความยึดมั่นถือมั่น”

“การปล่อยวาง” ที่แท้จริงนั้น ไม่ได้เป็นผลของการบังคับด้วยอำนาจของสมาธิ ต้องเป็นผลของการ “รู้แจ้ง” ด้วยอำนาจของ“ปัญญา”

“อุปสรรคที่ทำให้เราปล่อยวางไม่ได้ ได้แก่ ความยึดถือ ในกาม ในทิฏฐิ ในสีลัพพตปรามาส และในตัวตน เราจะต้องทำความรู้ความเข้าใจในของ ๔ อย่างนี้ ซึ่งเรียกโดยสมมุติว่า เป็นสมบัติที่ปุถุชนอุตส่าห์หอบหิ้วมาตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที ด้วยความยึดถือที่เรียกว่า “อุปาทาน”

เมื่อได้ศึกษาทราบ เรื่องกาม เรื่องทิฏฐิ เรื่องศีลพรต และตัวตน อย่างถูกต้องและเพียงพอแล้ว ย่อมเกิดความปล่อยวางในสิ่งเหล่านั้นขึ้นมาได้ด้วยอำนาจของ “ปัญญา” เพราะว่าเราไม่อาจจะปล่อยวางได้ด้วยอำนาจของการบังคับ แม้ด้วยอำนาจของ“สมาธิ” ก็ไม่สามารถจะทำให้เกิดการปล่อยวางได้ ได้แต่เพียงบังคับ 

การปล่อยวางที่แท้จริงนั้น ไม่ได้เป็นผลของการบังคับ ต้องเป็นผลของการรู้แจ้งในสิ่งเหล่านั้น จนเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัดจากสิ่งเหล่านั้นในตัวมันเอง นี่เราเรียกว่า “ความปล่อยวาง”

เมื่อมีการปล่อยวางสิ่งทั้งหลายทั้งปวง โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงแล้ว ผลที่เกิดขึ้นก็คือ การบรรลุโลกุตตรธรรม ตั้งอยู่ในโลกุตตรภูมิ

ก่อนหน้านั้น สัตว์ตั้งอยู่ในโลกียภูมิ และติดแน่นอยู่ด้วยโลกียธรรม ครั้นศึกษาทราบลักษณะอันแท้จริง จนปล่อยวางโลกียธรรมทั้งหลายได้ ก็พ้นจากโลกียภูมิมาสู่โลกุตตรภูมิ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าลุถึงโลกุตตรธรรม”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยาย หัวข้อเรื่อง “ผลของการถอนความยึดมั่นถือมั่น” 


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: