วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๓๓)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๓๓) วรรคที่ ๔ สัพพัญญุตญาณวรรค ปัญหาที่ ๑ อิทธิกัมมวิปากปัญหา 

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า  “เอตทคฺคํ   ภิกฺขเว    มม    สาวกานํ  ภิกฺขูนํ  อิทฺธิมนฺตานํ  ยทิทํ  มหาโมคฺคลฺลาโน”   (องฺ.เอกก. ๒๐/๓๑)  ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พระมหาโมคคัลลานะจัดว่าเป็นยอดแห่งบรรดาภิกษุผู้มีฤทธิ์ ซึ่งเป็นสาวกของเรา ดังนี้ 

และยังได้ยินอีกเรื่องหนึ่งว่าพระมหาโมคคัลลานะนั้น ถูกพวกโจรใช้ไม้ค้อนทุบตีเอาจนศีรษะแตก กระดูก เนื้อ เส้นเอ็นแหลกละเอียด ร่างกายฉีกขาด จนท่านปรินิพพาน พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า พระโมคคัลลานะเป็นถึงยอดแห่งฤทธิ์ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า ท่านถูกพวกโจรใช้ไม้ค้อนทุบตีเอาจนปรินิพพาน ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่า ท่านถูกพวกโจรใช้ไม้ค้อนทุบตีเอาจนปรินิพพาน จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า ท่านเป็นผู้ถึงยอดแห่งฤทธิ์ ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ท่านไม่สามารถใช้ฤทธิ์ขจัดการทำร้ายตัวท่านได้หรือไร ท่านควรจะเป็นที่พึ่งของชาวโลกพร้อมทั้งเทวดาได้ ไม่ใช่หรือ ปัญหาแม้ข้อนี้ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พระมหาโมคคัลลานะจัดว่าเป็นยอดแห่งบรรดาภิกษุผู้มีฤทธิ์ ซึ่งเป็นสาวกของเรา ดังนี้ จริง และท่านพระมหาโมคคัลลานะก็ถูกพวกโจรใช้ไม้ค้อนทุบตีเอาจนปรินิพพานจริง ก็แต่ว่า ข้อนั้นย่อมเป็นไปเพราะกรรมที่ฉกฉวยโอกาส

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ธรรม ๒ อย่างคือ อิทธิวิสัยของท่านผู้มีฤทธิ์ ๑, การเผล็ดผลของกรรม ๑ เป็นเรื่องอจินไตย ไม่ควรคิดมิใช่หรือ สิ่งที่เป็นอจินไตย ก็ต้องใช้สิ่งที่เป็นอจินไตยขจัด พระคุณเจ้า เปรียบเหมือนว่าบุคคลบางคนผู้ต้องการผลไม้ ย่อมใช้กิ่งมะขวิด ตีผลมะขวิด ย่อมใช้กิ่งมะม่วง ตีผลมะม่วง ฉันใด พระคุณเจ้านาคเสน พระเถระก็ควรใช้สิ่งที่เป็นอจินไตยโบยตี ขจัดสิ่งที่เป็นอจินไตยฉันนั้น

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร สิ่ง ๒ อย่างแม้เป็นสิ่งอจินไตย ไม่ควรคิดด้วยกัน แต่อย่างหนึ่ง มีประมาณยิ่ง มีกำลังยิ่งกว่า ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บรรดาพระราชา แม้เป็นผู้มีชาติเสมอกันเหล่านั้น พระราชาพระองค์หนึ่ง ทรงใช้พระราชอำนาจครอบงำพระราชานอกนี้ทุกพระองค์ได้ ฉันใด, ขอถวายพระพร บรรดาสิ่งที่เป็นอจินไตยเหล่านั้น ก็เผล็ดผลของกรรมนั่นเทียว มีประมาณยิ่ง มีกำลังยิ่งกว่า การเผล็ดผลของกรรมนั่นเทียว ย่อมทำอำนาจให้เป็นไป ครอบงำสิ่งที่เป็นอจินไตยได้ทุกอย่าง เมื่อบุคคลถูกกรรมครอบงำแล้ว กิจควรทำที่เหลือย่อมไม่ได้โอกาส ฉันนั้น

ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บุรุษบางคนในโลกนี้ ทำความผิดกฎหมายบางอย่างเท่านั้น มารดาของเขาก็ดี บิดาของเขาก็ดี พี่น้องหญิงก็ดี พี่น้องชายก็ดี มิตรก็ดี สหายก็ดี ก็ช่วยป้องกันไม่ได้ แต่ทว่า ในบรรดาบุคคลเหล่านั้น พระราชานั่นเทียว จะทรงใช้พระราชอำนาจครอบงำเขาได้ ถามว่า อะไรเป็นเหตุในเรื่องนั้นเล่า ตอบว่า คือความเป็นคนทำผิดของเขา ฉันใด ขอถวายพระพร บรรดาสิ่งที่เป็นอจินไตยเหล่านั้น การเผล็ดผลของกรรมนั่นเทียว มีประมาณยิ่ง มีกำลังยิ่งกว่า ย่อมทำอำนาจให้เป็นไปครอบงำสิ่งที่เป็นอจินไตยได้ทุกอย่าง เมื่อบุคคลถูกกรรมครอบงำแล้ว กิจควรทำที่เหลือย่อมไม่ได้โอกาสฉันนั้นเหมือนกัน

ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า เมื่อไฟป่าลุกฮือขึ้นมาเหนือแผ่นดิน น้ำสักพันหม้อ ก็ไม่อาจใช้ดับไฟได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ไฟนั่นแหละย่อมทำอำนาจให้เป็นไปครอบงำสถานที่นั้น อะไรเป็นเหตุในข้อนั้นเล่า ? ตอบว่า คือความที่ไฟมีกำลังยิ่งกว่านั่นเอง ฉันใด ขอถวายพระพร มหาบพิตร บรรดาสิ่งที่เป็นอจินไตยเหล่านั้น การเผล็ดผลของกรรมนั้นเทียว มีประมาณยิ่ง มีกำลังยิ่งกว่า การเผล็ดผลของกรรมนั้นเทียว ย่อมทำอำนาจให้ไปครอบงำสิ่งที่ เป็นอจินไตยได้ทุกอย่าง เมื่อบุคคลถูกครอบงำแล้ว กิจควรทำที่เหลือ ย่อมไม่ได้โอกาส ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร เพราะฉะนั้น เมื่อท่านพระโมคคัลลาเถระผู้ถูกกรรมครอบงำ พอถูกพวกโจรใช้ไม้ค้อนทุบตีเอา จึงหาการแผลงฤทธิ์มิได้.  พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมานี้.  จบอิทธิกัมมวิปากปัญหาที่ ๑

คำอธิบายปัญหาที่ ๑

ปัญหาเกี่ยวกับฤทธิ์และการเผล็ดผลของกรรม ชื่อว่า อิทธิกัมมวิปากปัญหา.  แง่ปมที่ขัดแย้งกันเองคำพูดใน ๒ ที่ ๒ แห่ง มีอย่างนี้คือ ถ้าหากว่า ท่านพระมหาโมคคัลลานะเป็นยอดแห่งบรรดาภิกษุผู้มีฤทธิ์ จริงไซร้ ท่านก็ไม่น่าจะถูกพวกโจรทุบตีจนถึงความสิ้นไปแห่งชีวิต เพราะสามารถใช้ฤทธิ์ป้องกันได้.  คำว่า เพราะกรรมที่ฉกฉวยโอกาส คือเพราะอปราปรเวทนียกรรม (กรรมที่มีวิบากอันพึงเสวย ได้ในชาติต่อๆไป) ที่ท่านทำไว้ในอดีตชาตินานแล้ว คอยติดตามให้ผลอยู่ ในเมื่อได้โอกาส เมื่อโอกาสนี้มาถึงแล้ว ก็ฉวยเอาโอกาสนั้น เผล็ดผลเกี่ยวกับทำให้พระเถระต้องถูกโจรทุบตีเอาจนถึงแก่ปรินิพพาน มีเรื่องว่า ในอดีตชาติก่อนหน้านี้ นานนักหนาแล้ว พระเถระได้เกิดเป็นคนหนุ่ม ผู้มีภรรยาที่คอยแต่จะอิดหนาละอายใจและรังเกียจบิดามารดาผู้ตาบอดของท่าน ท่านถูกภรรยายุยงให้กำจัดบิดามารดาของตน แล้วก็เห็นคล้อยตาม จึงไปเข้าสมคบกับพวกโจร นัดแนะให้ยกพวกมาปล้นในคราวที่เดินทางไปกับบิดามารดา ท่านใช้โอกาสนี้กำจัดบิดามารดาของตนเสีย กรรมข้อนี้ เป็นเหตุให้ท่านเสวยทุกข์ในนรก พ้นจากนรกแล้ว เศษกรรมข้อนี้ก็คอยตามให้ผลอยู่ มาในชาติปัจจุบัน ได้โอกาสเข้า ก็ฉกฉวยโอกาสนั้น เผล็ดผลเป็นอุปัจเฉทกรรม (กรรมตัดรอน) แม้ว่าท่านเป็นผู้มีฤทธิ์ และประสงค์จะใช้ฤทธิ์ป้องกัน ก็ไม่อาจทำฤทธิ์ให้เกิดขึ้นมาป้องกันได้

คำว่า สิ่งที่เป็นอจินไตย ได้แก่ สิ่งที่ไม่ควรคิด ๔ อย่าง คือ    – พุทธวิสัย วิสัยคือพระปรีชาสามารถในอันหยั่งรู้ธรรมทั้งหลายของพระพุทธเจ้า ๑,   – ฌานวิสัย วิสัยแห่งฌาน ๑,    – กัมมวิบาก การเผล็ดผลของกรรม ๑,   – โลกจินตา ความคิดเกี่ยวกับเรื่องโลก ๑

ดังนี้  ผู้ใดไปหมกมุ่นครุ่นคิดเข้า ก็จะเป็นผู้มีส่วนแห่งความบ้า ความกลัดกลุ้มได้ สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า      “จตฺตาริมานิ   ภิกฺขเว  อจินฺเตยฺยานิ   น  จินฺเตตพฺพานิ,   ยานิ  จินฺเตนฺโต  อุมฺมาทสฺส   วิฆาตสฺส  ภาคี  อสฺส. กตมานิ  จตฺฺตาริ ?  พุทฺธานํ  ภิกฺขเว  พุทฺธวิสโย  อจินฺเตยฺโย  น  จินฺเตตพฺโพ.”       (องฺ. จตุกฺก. ๒๑/๑๑๐)     ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เป็นอจินไทย คือไม่ควรคิด มี ๔ อย่างเหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ใดไปคิดเข้า ก็จะพึงเป็นผู้มีส่วนบ้า มีส่วนลำบากใจ ๔ อย่างอะไรบ้าง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พุทธวิสัยแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นอจินไตย ไม่ควรคิด ดังนี้เป็นต้น

คำว่า การผลิตผลของกรรม ครอบงำสิ่งที่เป็นอจินไตยทุกอย่าง ความว่า เมื่อโอกาสที่กรรมจะให้ผลมาถึงเข้า สิ่งอื่นแม้นเป็นอจินไตยเช่นเดียวกับกรรม มีการแสดงฤทธิ์ อันสงเคราะห์เข้าในฌานวิสัยเป็นต้น ไม่อาจขัดขวางได้ กรรมนั่นเทียวจะครอบงำอานุภาพแห่งอจินไตยเหล่านั้นเสีย แล้วผลิตผลวิบากของตน ฉะนี้ แล.   จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑

ปัญหาที่ ๒ ธัมมวินยปฏิจฉันนปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า   “ตถาคตปฺปเวทิโต  ภิกฺขเว ธมฺมวินโย  วิวโฏ  วิโรจติ  โน  ปฏิจฺฉนฺโน”  (วิ.ป. ๘/๒๖๑)   ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ธรรมและวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ภิกษุเปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไว้ไม่รุ่งเรือง

ดังนี้ และยังมีคำกล่าวไว้อีกแห่งหนึ่งว่า    “ปาติโมกฺขุทฺฺเทโส   เกวลญฺจ   วินยปิฏกํ   ปิหิตํ   ปฏิจฺฉนฺนํ.      ปาฏิโมกขุเทสและพระวินัยปิฎกทั้งสิ้น เป็นของพระผู้มีพระภาคทรงปิดแล้ว บังแล้ว ดังนี้ 

พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า ภิกษุทั้งหลายพึงได้ความรู้ที่ถูกต้อง หรือความรู้ที่ตนบรรลุในพระศาสนาของพระชินเจ้า ไซร้ พระวินัยบัญญัติที่ภิกษุเหล่านั้นเปิดเผย จะพึงงดงาม เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุว่า สิกขา ความสำรวม ความควบคุมตนเอง สีลคุณ อาจารบัญญัติ อรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส ย่อมมีอยู่ในพระวินัยบัญญัตินั้นทั้งสิ้น พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ธรรมและวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ภิกษุเปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปกปิดไว้ไม่รุ่งเรือง ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า ปาฏิโมกขอุเทสและพระวินัยปิฎกทั้งสิ้น เป็นของที่พระผู้มีพระภาคทรงปิดแล้ว บังแล้ว ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่า ปาฏิโมกอุเทสและพระวินัยปิฎกทั้งสิ้น เป็นของที่พระผู้มีพระภาคทรงปิดแล้ว บังแล้ว จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น แม้คำที่ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ธรรมและวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ภิกษุเปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปิดบังไว้ไม่รุ่งเรือง ดังนี้ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ปัญหาแม้ข้อนี้ก็ มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตรพระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ธรรมและวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ภิกษุเปิดเผยจึงรุ่งเรือง ปกปิดบังไว้ไม่รุ่งเรือง ดังนี้ จริง และยังมีคำกล่าวไว้อีกว่า ปาฏิโมกขอุเทสและพระวินัยปิฎกทั้งสิ้น เป็นของพระผู้มีพระภาคทรงปิดแล้ว บังแล้ว ดังนี้ จริง ก็แต่ว่า ปาฏิโมกขอุเทสและพระวินัยทั้งสิ้นนั้น ถ้าผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงปิดไว้ ตลอดที่ทุกแห่ง แต่ปิดโดยทรงกระทำให้เป็นสีมา (เขตแดน).    

ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคทรงเป็นพระปาฏิโมกขอุเทส โดยทรงกระทำให้เป็นสีมาเพราะเหตุ ๓ ประการ คือ   – ทรงปิดพระปาฏิโมกขอุเทส โดยทรงกระทำให้เป็นสีมา เพราะเกี่ยวกับเป็น (การรักษา) วงศ์ของพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย แต่กาลก่อน ๑,    – ทรงปิดพระปาฏิโมกขอุเทส โดยทรงกระทำให้เป็นสีมา เพราะความที่พระธรรมเป็นของควรเคารพ ๑   – ทรงปิดพระปาฏิโมกขอุเทส โดยทรงกระทำให้เป็นสีมา เพราะภูมิแห่งภิกษุเป็นภูมิที่ควรเคารพ ๑

พระผู้มีพระภาคทรงปิดพระปาฏิโมกขอุเทส โดยทรงกระทำให้เป็นสีมา เพราะเกี่ยวกับเป็น การรักษา วงศ์ของพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย อย่างไร ? ขอถวายพระพร ข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระปาฏิโมกขอุเทส ในท่ามกลางภิกษุทั้งหลาย ปิดไว้สำหรับบุคคลที่เหลือนี้ จัดว่าเป็นวงศ์ของพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย แต่กาลก่อนทุกพระองค์ ขอถวายพระพรเปรียบเหมือนว่า ขัตติยมายา (เรื่องที่รู้กันเฉพาะในหมู่พวกกษัตริย์) เห็นพวกกษัตริย์ทั้งหลาย ย่อมเป็นไป (ย่อมใช้กัน) ก็เฉพาะในหมู่กษัตริย์ทั้งหลายเท่านั้น เรื่องนี้เป็นประเพณีของชาวโลกกษัตริย์ ที่ปิดไว้สำหรับคนที่เหลือ ฉันใด ขอถวายพระพร ข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงปฏิโมกขอุเทส ในท่ามกลางภิกษุทั้งหลาย ปิดไว้สำหรับบุคคลที่เหลือนี้ ก็เป็นวงศ์ของพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย แต่กาลก่อนทุกพระองค์ ฉันนั้นเหมือนกัน.     ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า บนแผ่นดินมีคนไปอยู่หลายพวก คือ พวกมัลละ พวกอโตณะ พวกปัพพตะ พวกธัมมกิริยะ พวกพรหมพิริยะ พวกนฏกะ พวกนัจจกะ พวกลังฆิกะ พวกปิสาจะ พวกมณิพัททะ พวกปุณณพัทธะ พวกจันทิมสูริยะ ฯลฯ , คำลับเฉพาะประจำพวกนั้นๆ ก็ย่อมใช้กันในคนพวกนั้นๆ เท่านั้น ปิดไว้สำหรับพวกที่เหลือ ฉันใด ขอถวายพระพร ข้อที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงพระปาฏิโมกขอุเทส ในท่ามกลางภิกษุทั้งหลายปิดไว้สำหรับบุคคลที่เหลือนอกนี้ โดยทรงกระทำให้เป็นสีมา ก็เป็นวงศ์ของพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย แต่กาลก่อนทุกพระองค์ ฉันนั้นเหมือนกัน ทรงปิดพระปาฏิโมกขอุเทสโดยกระทำให้เป็นสีมา เพราะเกี่ยวกับเป็น (การรักษา) วงศ์ของพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ตามประการดังกล่าวนี้

พระผู้มีพระภาคทรงปิดพระปาฏิโมกขอุเทส โดยทรงกระทำให้เป็นสีมา เพราะความที่พระธรรมเป็นของควรเคารพอย่างไร ? ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคทรงดำริว่า พระธรรมเป็นของควรเคารพ เป็นของควรตระหนัก ผู้คอยทำตามโดยชอบในพระธรรมนั้น ย่อมทำผู้อื่นให้โปรดปรานได้ บุคคลย่อมบรรลุพระธรรมนั้น เพราะความเป็นผู้คอยทำตามโดยชอบติดต่อกันในพระธรรมนั้น หาได้บรรลุพระธรรมนั้น เพราะความเป็นผู้ไม่คอยทำตามโดยชอบติดต่อกัน ในพระธรรมนั้นไม่ พระธรรมที่เป็นสาระ พระธรรมเป็นที่ประเสริฐนี้ ขอจงอย่าได้อยู่ในเงื้อมมือของผู้ที่ไม่คอยทำตามโดยชอบ ให้คนทั้งหลายดูถูก ดูหมิ่น ติเตียน เหยียดหยาม ตำหนิเอาได้เลย พระธรรมที่เป็นสาระ พระธรรมที่ประเสริฐนี้ ขอจงอย่าตกถึงแก่คนชั่ว ให้คนทั้งหลายดูถูก ดูหมิ่น ติเตียน เหยียดหยามตำหนิเอาได้เลย ดังนี้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงปิดพระปาฏิโมกขอุเทศ โดยทรงกระทำให้เป็นสีมา เพราะความที่พระธรรมเป็นของควรเคารพ ตามประการดังกล่าวมานี้

ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า ธรรมดาว่า จันทน์แดงที่มีแก่นประเสริฐ ยอดเยี่ยม ควรแก่ผู้มีชาติเป็นอภิชาติพอแพร่ไปยังเมืองคนป่าเถื่อนแล้ว ก็ย่อมเป็นของที่คนทั้งหลายดูถูก ดูหมิ่น ติเตียน เหยียดหยาม ตำหนิ ฉันใด ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคก็ทรงดำริว่า พระธรรมที่เป็นสาระ พระธรรมที่ประเสริฐนี้ ขอจงอย่าได้อยู่ในเงื้อมมือของผู้ที่ไม่คอยทำตามโดยชอบ ให้คนทั้งหลายดูถูก ดูหมิ่น ติเตียน เหยียดหยาม ตำหนิเอาได้เลย พระธรรมที่เป็นสาระ พระธรรมที่ประเสริฐนี้ ขอจงอย่าตกถึงแก่คนชั่ว ให้คนทั้งหลายดูถูก ดูหมิ่น ติเตียน เหยียดหยาม ตำหนิเอาได้เลย ดังนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงปิดพระปาฏิโมกขอุเทส โดยทรงกระทำให้เป็นสีมา เพราะความที่พระธรรมเป็นของควรเคารพ ตามประการดังกล่าวมานี้.   พระผู้มีพระภาคทรงปิดพระปาฏิโมกขอุเทส โดยทรงกระทำให้เป็นสีมา เพราะภูมิแห่งภิกษุเป็นภูมิที่ควรเคารพอย่างไร ? ขอถวายพระพร ภิกขุภาวะ เป็นภาวะที่ไม่อาจชั่งได้ ไม่อาจประมาณได้ ไม่อาจนับค่าได้ ในโลก ใครๆไม่อาจนับค่าได้ ไม่อาจชั่งได้ ไม่อาจประมาณได้ บุคคลที่ดำรงอยู่ในภิกขุภาวะเห็นปานฉะนี้ ย่อมเป็นผู้ที่หาชาวโลกเสมอเหมือนมิได้ เพราะเหตุนั้น พระปาฏิโมกขอุเทส ย่อมเป็นไปในระหว่างภิกษุทั้งหลายเท่านั้น.    

ขอถวายพระพร มหาบพิตร เปรียบเหมือนว่า ทรัพย์สินประเสริฐยอดเยี่ยมในโลก คือผ้าก็ดี เครื่องปูลาดก็ดี ม้า ช้าง รถ ทองเงิน แก้วมณี แก้วมุกดา นางแก้วเป็นต้น ก็ดี กัมมสูระ ที่ทรงพิชิตได้ก็ดี ทรัพย์สินทั้งหมดเหล่านั้น ย่อมควรแก่พระราชา ฉันใด ขอถวายพระพร คุณทั้งหลาย คือ อาคม ปริยัติ อาจาระ ความสำรวม ศีลสังวร ของพระสุคตเจ้า คุณทั้งหมดเหล่านั้นย่อมเป็นของควรแก่ภิกษุสงฆ์ ฉันนั้นเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคทรงปิดพระปาฏิโมกขอุเทสโดยทรงกระทำให้เป็นสีมา เพราะภูมิแห่งภิกษุเป็นภูมิที่ควรเคารพ ตามประการดังกล่าวมานี้.   พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับกรรมตามที่ท่านกล่าวมานี้.   จบธัมมวินยปฏิจฉันนาปฏิจฉันนปัญหาที่ ๒

คำอธิบายปัญหาที่ ๒

ปัญหาเกี่ยวกับธรรมวินัยที่ทรงปิดบังและไม่ทรงปิดบังชื่อว่า ธัมมวินัยปฏิจฉันนาปฏิจฉันนปัญหา.  คำว่า เปิดเผยจึงรุ่งเรือง คือ เปิดเผย ได้แก่ประกาศแสดง จึงรุ่งเรือง คือจึงแผ่ไพศาล ตั้งอยู่ได้ ก็ธรรมวินัยที่เปิดเผยได้ มี ๔ อย่าง คือ   – เอกโตวิวฏะ  เปิดเผยได้เฉพาะฝ่ายเดียว ๑   – อุภโตวิวฏะ  เปิดเผยได้สองฝ่าย ๑,  – อัตถโตวิวฏะ  เปิดเผยได้โดยอรรถาธิบาย ๑,  – สัพพัตถกโตวิวฏะ  เปิดเผยได้ในที่ทั้งปวง ๑.    ใน ๔ อย่างนั้น สิกขาบทที่ไม่เป็นสาธารณะกล่าวคือทรงบัญญัติไว้สำหรับภิกษุหรือภิกษุณี แต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ที่ต้องประพฤติปฏิบัติตาม ซึ่งมีอาบัติที่ต้องแสดงชื่อว่า เอกโตวิวฏะ ส่วนสิกขาบทที่เป็นสาธารณะที่ทรงบัญญัติไว้สำหรับภิกษุและภิกษุณีทั้ง ๒ ฝ่ายชื่อว่า อุภโตวิวฏะ คุณธรรมที่ได้รับชื่อว่า อัตถโตวิวฏะ เพราะเปิดเผยได้โดยคำอรรถาธิบายเท่านั้น พระไตรปิฎกอันเป็นพระพุทธวจนะ ชื่อว่า สัพพัตถกโตวิวฏะ เพราะเปิดเผยได้ในที่ทั้งปวง ไม่ใช่เฉพาะบางท้องที่ และเปิดเผยได้ในบริษัททั้งปวง คำว่า เปิดเผยจึงรุ่งเรือง นี้ ตรัสหมายเอาธรรมวินัยที่เป็นสัพพัตถกโตวิวฏะ เป็นสำคัญ

คำว่า  ปาฏิโมกขอุเทส  ได้แก่คำอุเทส คือคำที่ทรงยกขึ้นแสดงไว้เป็นปาติโมกข์ คือเป็นประมุข หรือเป็นประธาน หรือเป็นเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย มี ๒ อย่างคือ โอวาทปาติโมกขอุเทส และ อาณาปาฏิโมกขอุเทส ใน ๒ อย่างนั้นพระคาถาที่ว่า   

" ขนฺตี  ปรมํ  ตโป  ตีติกฺขา,   นิพฺพานํ  ปรมํ  วทนฺติ  พุทฺธา,   น  หิ  ปพฺพชิโต  ปรูปฆาตี,   สมโณ  โหติ   ปรํ  วิเหฐยนฺโต.   อนูปวาโท อนูปฆาโต    ปาติโมกฺเข จ สํวโร,     มตฺตญฺญุตา   จ   ภตฺตสฺมึ    ปนฺตญฺจ  สยนาสนํ,     อธิจิตฺเต จ อาโยโค   เอตํ พุทฺธาน สาสนํ.    สพฺพปาปสฺส อกรณํ  กุสลสฺสูปสมฺปทา,    สจิตฺตปริโยทปนํ   เอตํ พุทฺธาน สาสนํ."    ความอดทนคือความอดกลั้น เป็นธรรมเผาบาปอย่างยิ่ง  ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ย่อมกล่าวพระนิพพานว่าเป็นเยี่ยม, ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าบรรพชิต  ผู้เบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ.   ความไม่กล่าวร้าย ๑ ความไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมใน  พระปาติโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้ประมาณในภัตตาหาร ๑  ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑ ความประกอบโดยเอื้อเฟื้อในอธิจิต ๑  นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.   ความไม่ทำบาปทั้งสิ้น ความยังกุศลให้ถึงพร้อม ความทำจิตของตนให้ผ่องใส นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.  

ชื่อว่า โอวาทปาติโมกขอุเทส.    ส่วน สิกขาบทบัญญัติที่มาในฐานะอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้มีอาบัติ ไม่ต้องฟังพระปาฏิโมกข์ ภิกษุรูปใดฟัง ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติทุกกฏ ดังนี้เป็นต้น ชื่อว่า อาณาปาฏิโมกขอุเทส.   คำว่า และพระวินัยปิฎกทั้งสิ้น เป็นของที่พระผู้มีพระภาคทรงปิดแล้ว บังแล้ว ถามว่า ทรงปิดแล้ว บังแล้ว แก่บุคคลเหล่าใดบ้าง ? ได้แก่ ทรงปิดแล้ว บังแล้ว แก่บุคคล ๒๑ จำพวก มีพวกคฤหัสถ์เป็นต้น พร้อมทั้งภิกษุผู้ต้องอาบัติ ตามพระดํารัสที่ว่า ภิกษุไม่พึงแสดงปาติโมกข์แก่บริษัทที่มีพวกคฤหัสถ์ ภิกษุรูปใดแสดง ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติทุกกฏ ดังนี้เป็นต้น อันบัณฑิตพึงทราบความทั้งหมดในพระวินัยมหาวรรค.    คำว่า แต่ปิดโดยทรงกระทำให้เป็นสีมา ความว่า ปาฏิโมกขอุเทสและพระวินัยปิฎกทั้งสิ้น ทรงปิดแล้ว บังแล้ว โดยทรงกระทำให้เป็นสีมา คือโดยทรงอนุญาตให้เปิดเผย คือแสดงกล่าวขาน เฉพาะในหมู่ภิกษุสงฆ์ที่อยู่ภายในสีมา ที่ได้กำหนดไว้แน่นอนก่อนแล้วเท่านั้น ปิดไว้ บังไว้ สำหรับบุคคล ๒๑ จำพวกดังกล่าว พร้อมทั้งภิกษุผู้ต้องอาบัติ ซึ่งอยู่ภายนอกสีมา.    คำว่า เพราะเกี่ยวกับเป็นวงศ์ของพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย แต่กาลก่อน นี้ พระเถระกล่าวหมายเอาโอวาทปาติโมกขอุเทส ซึ่งพระตถาคตเจ้าทั้งหลาย แต่กาลก่อนทุกๆ พระองค์ จะต้องทรงยกขึ้นแสดง ในท่ามกลางภิกษุบริษัทที่ไม่ปะปนด้วยบริษัทอื่น แม้พระตถาคตพระองค์นี้ ก็ทรงปฏิบัติอย่างนี้แหละ เพราะเกี่ยวกับทรงประสงค์จะรักษาวงศ์ คือประเพณีของพระตถาคตแต่กาลก่อนเหล่านั้น

คำว่า เพราะความที่พระธรรมเป็นของควรเคารพ คือ เพราะความที่พระโลกุตรธรรมทั้งหลาย เป็นของที่ภิกษุควรเคารพ คือควรตระหนักว่าเป็นสิ่งประเสริฐสูงส่ง ซึ่งภิกษุ จะมีอันบรรลุพระธรรมนั้นได้ ก็เพราะมีความเคร่งครัดในพระปาฏิโมกข์ ประชุมฟังพระปาฏิโมกข์ภายในสีมาประจำทุกวันขึ้น ๑๔ ค่ำหรือ ๑๕ ค่ำ นั่นเทียว.   คำว่า เพราะภูมิแห่งภิกษุเป็นภูมิที่ควรเคารพ ความว่า เพราะภูมิ คือฐานะแห่งภิกษุเป็นฐานะที่ควรเคารพยิ่งกว่าฐานะแห่งบริษัทอื่น มีฐานะแห่งภิกษุณีเป็นต้น.  คำว่า คำลับเฉพาะประจำพวกนั้นๆ ฯลฯ ปิดไว้สำหรับพวกที่เหลือ คือ เป็นคำลับที่ใช้กันอยู่ รู้กันอยู่แต่เฉพาะในพวกนั้นๆ เท่านั้น ปิดไว้ ไม่เปิดเผยแก่พวกที่เหลือ เพื่อประโยชน์แก่การตรวจสอบพวกที่เป็นข้าศึก ที่อาจปลอมเข้ามาเป็นพวก เป็นต้น.  คำว่า ผู้คอยทำตามโดยชอบในพระธรรมนั้น คือผู้คอยทำตามอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ในพระปาฏิโมกข์อันเป็นเบื้องต้นแห่งพระธรรม คือพระโลกุตรธรรมนั้น.   คำว่า เพราะเหตุนั้น พระปาฏิโมกขอุเทส ย่อมเป็นไปในระหว่างภิกษุทั้งหลายเท่านั้น ความว่า เพราะเหตุที่บุคคลผู้ดำรงอยู่ในภิกขุภาวะ คือเป็นภิกษุ ย่อมเป็นผู้ที่หาชาวโลกอื่นๆ เสมอเหมือนมิได้ โดยคุณทั้งหลายที่สร้างความเป็นสมณะในพระศาสนาเป็นต้น นั่นเอง พระปาฏิโมกข์อันประเสริฐสุด จึงเป็นไป คือ จึงเป็นอันทรงประกาศในระหว่าง คือท่ามกลางภิกษุทั้งหลายเท่านั้น ปิดไว้สำหรับบุคคลที่เหลือโดยทรงกระทำให้เป็นสีมา ฉะนี้แล.   จบคำอธิบายปัญหาที่ ๒

ปัญหาที่ ๓ มุสาวาทครุลหุภาวปัญหา

พระเจ้ามิลินท์,  พระคุณเจ้านาคเสน  พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า        “สมฺปชานมุสาวาเท   ปาราชิโก   โหติ”   (วิ.มหาวิ. ๑/๑๔๘ โดยความ)   ย่อมเป็นปาราชิกในเพราะการกล่าวคำเท็จทั้งๆ ที่รู้ ดังนี้ แต่ยังตรัสไว้อีกว่า   “สมฺปชานมุสาวาเท  ลหุกํ  อาปตฺตึ  อาปชฺชติ  เอกสฺส  สนฺติเก  เทสนาวตฺถุกํ”   เมื่อมีการกล่าวคำเท็จทั้งๆ ที่รู้ ก็ย่อมต้องอาบัติเบา อันเป็นอาบัติที่ต้องแสดงเรื่องในสำนักของภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ก็ได้ ดังนี้ 

พระคุณเจ้านาคเสน ในคำทั้ง ๒ คำนี้ มีอะไรเป็นข้อแตกต่างกันเล่า มีอะไรเป็นเหตุเล่า ความเป็นภิกษุย่อมขาดไปเพราะการกล่าวคำเท็จอะไร เพราะเหตุใด พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากพระผู้มีพระภาคตรัสว่า ย่อมเป็นปาราชิกในเพราะการกล่าวคำเท็จ ทั้งๆ ที่รู้ ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้นคำที่ตรัสไว้ว่า เมื่อมีการกล่าวคำเท็จ ทั้งๆ ที่รู้อยู่ ก็ย่อมต้องอาบัติเบา อันเป็นอาบัติที่ต้องแสดงเรื่องในสำนักของภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ก็ได้ ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่าพระตถาคตตรัสไว้ว่า เมื่อมีการกล่าวคำเท็จทั้งๆที่รู้ ก็ย่อมต้องอาบัติเบา อันเป็นอาบัติที่ต้องแสดงเรื่องในสำนักของภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ก็ได้ ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ตรัสไว้ว่า ย่อมเป็นปาราชิกในเพราะการกล่าวคำเท็จทั้งๆ ที่รู้ ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ปัญหาแม้ข้อนี้ ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านพึงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด

พระคุณนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ว่า ย่อมเป็นปาราชิกในเพราะการกล่าวคำเท็จ ทั้งๆ ที่รู้ ดังนี้ จริง และตรัสไว้ว่า เมื่อมีการกล่าวเท็จทั้งๆ ที่รู้ก็ย่อมต้องอาบัติเบา ซึ่งเป็นอาบัติที่ต้องแสดงเรื่องในสำนักของภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ก็ได้ ดังนี้ จริง ก็แต่ว่าการกล่าวเท็จทั้งๆ ที่รู้นั้น จะเป็นอาบัติหนักหรือเบา ก็โดยเกี่ยวกับวัตถุ (เรื่องที่กล่าวถึง) ขอถวายพระพร พระองค์จะทรงสำคัญความข้อนั้นทำอย่างไร บุรุษบางคนในโลกนี้ใช้มือทุบตีบุรุษอีกคนหนึ่ง พระองค์จะรับสั่งให้ลงโทษบุรุษที่ทุบตีเขานั้นอย่างไร ?

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ถ้าหากว่าบุรุษผู้นั้นไม่กล่าวขอโทษ ข้าพเจ้าก็จะสั่งให้เจ้าพนักงานปรับเขา ๑ กหาปณะ.    พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร ถ้าบุรุษคนเดียวกันนั้นนั่นแหละ ใช้มือทุบตีพระองค์เล่า เขาจะได้รับการลงโทษอย่างไร ?    พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าจะสั่งให้ตัดมือเขาบ้าง จะสั่งให้ตัดเท้าเขาเสียบ้าง จะสั่งให้ตัดขาดเป็นท่อนๆ กระทั่งถึงศรีษะ จะสั่งให้ริบบ้านเรือน แม้ทุกหลัง จะสั่งให้ฆ่าญาติทั้ง ๒ ฝ่ายตลอด ๗ ชั่วตระกูล.    พระนาคเสน, ขอถวายพระพรในการกระทำทั้ง ๒ คราวนี้ มีอะไรเป็นข้อที่แตกต่างกันเล่า มีอะไรเป็นเหตุเล่า เพราะเหตุใด เมื่อใช้มือทุบตีคนหนึ่ง จึงได้รับโทษบ้าง เพียงถูกปรับกหาปณะเดียว เพราะเหตุใด เมื่อใช้มือทุบตีพระองค์จึงถูกตัดมือ ถูกตัดเท้า ถูกตัดขาดเป็นท่อนๆ กระทั่งถึงศีรษะ ถูกริบบ้านเรือนทุกหลัง ญาติทั้ง ๒ ฝ่ายก็ถูกฆ่าตลอด ๗ ชั่วตระกูล ?    พระเจ้ามิลินท์, เพราะคน (ที่ถูกทุบตี) ต่างกัน พระคุณเจ้า.   พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น การกล่าวเท็จทั้งๆ ที่รู้นั้น จะเป็นอาบัติหนัก อาบัติเบา ก็โดยเกี่ยวกับวัตถุ (เรื่องที่กล่าวถึง)    พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับกรรมตามที่ท่านกล่าวมานี้.   จบมุสาวาทครุลหุภาวปัญหาที่ ๓

คำอธิบายปัญหาที่ ๓

ปัญหาเกี่ยวกับการกล่าวคำเท็จเป็นอาบัติหนักหรือเป็นอาบัติเบา ชื่อว่า มุสาวาทครุลหุภาวปัญหา.   คำว่า ย่อมเป็นปาราชิกในเพราะการกล่าวคำเท็จ ทั้งๆ ที่รู้ นี้ ได้แก่ เป็นผู้ต้องอาบัติปาราชิกข้อที่ ๔ กล่าวคือ การกล่าวอวดอ้างอุตริมนุสสธรรม ที่ไม่มีจริง ไม่เป็นจริงในตน ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าไม่มีจริง ไม่มีจริงในตน ก็มนุสสธรรม (ธรรมที่เป็นของคนทั่วๆไป) ได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐ มีความงดเว้นจากการฆ่าสัตว์เป็นต้น ส่วนธรรมเหล่านี้ มีฌานเป็นต้น เป็นธรรมที่ยิ่งกว่ามนุสสธรรมทั้งเหล่านั้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า อุตตริมนุสสธรรม ได้แก่ ธรรม ๑๐ อย่าง คือ

– ฌาน มีปฐมฌานเป็นต้น ๑,     – วิโมกข์ มีสุญญตวิโมกข์เป็นต้น ๑,    – สมาธิ มีสุญญตสมาธิเป็นต้น ๑,       – สมาบัติ มีสุญญตสมาบัติเป็นต้น ๑,  – ญาณทัสสนะ อันได้แก่วิชชาสาม ๑,  – มัคคภาวนา การเจริญมรรค อันได้แก่สติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น ๑,     – ผลสัจฉิกิริยา การกระทำผลให้แจ้ง มีโสดาบัตติผลสัจฉิกิริยา ๑,         – การละกิเลสได้ มีการละราคะได้ เป็นต้น ๑, – ภาวะที่จิตปราศจากนิวรณ์ ๑, – ความยินดียิ่งในสุญญาคาร คือมีความยินดียิ่งในเรือนว่าง ด้วยอำนาจแห่งปฐมฌานเป็นต้น ๑,

จริงอยู่ภิกษุรูปใดไม่มีอุตริมนุสสธรรมเหล่านี้อยู่ในตน ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าไม่มี ก็กล่าวคำเท็จอวดอ้างว่ามี โดยนัยว่า ข้าพเจ้าเข้าปฐมฌาน โดยอาการ ๓ ดังนี้เป็นต้น ภิกษุรูปนั้นต้องอาบัติปาราชิก.   คำว่า  ปาราชิก  แปลว่า ผู้แพ้ อธิบายว่าเป็นผู้อาภัพต่อความงอกงามในธรรมวินัยนี้ ดุจตาลที่มียอดขาดฉะนั้น.    คำว่า     มุสาวาท ความว่า การเปล่งเสียงหลอกลวงชื่อว่า มุสาวาท การกล่าวคำเท็จ ในพระวินัยปิฎก คัมภีร์บริวาร มีเนื้อความเกี่ยวกับมุสาวาทปรากฏอยู่ อย่างนี้ว่า   “ปญฺจิเม   อุปาลิ   มุสาวาทา,    กตเม   ปญฺจ   ฯเปฯ  อตฺถิ มุสาวาโท  ทุกฺกฏคามี,  อิเม  โข  อุปาลิ  ปญฺจ มุสาวาทา”   ดูก่อนอุบาลี มุสาวาทมี ๕ อย่างเหล่านี้, ๕ อย่างอะไรบ้าง  – มุสาวาทที่ถึงอาบัติปาราชิก ก็มีอยู่  – มุสาวาทที่ถึงอาบัติสังฆาทิเสส ก็มีอยู่   – มุสาวาทที่ถึงอาบัติถุลลัจจัย ก็มีอยู่  – มุสาวาทที่ถึงอาบัติปาจิตตีย์ ก็มีอยู่  – มุสาวาทที่ถึงอาบัติทุกกฏ ก็มีอยู่.     ดูก่อน อุบาลี มุสาวาทมี ๕ อย่างเหล่านี้แล ดังนี้ ในบรรดามุสาวาท ๕ อย่างนั้น ยกเว้นมุสาวาทที่ถึงความเป็นอาบัติหนัก คือมุสาวาทที่ถึงอาบัติปาราชิก และที่ถึงอาบัติสังฆาทิเสสเสีย มุสาวาทที่เหลือ ชื่อว่า มุสาวาทที่เป็นอาบัติเบา  เหมือนอย่างที่ตรัสไว้ว่า

“สมฺปชานุมุสาวาเท  ปาจิตฺติยํ” (วิ.มหาวิ. ๒/๑๑๙)    เป็นปาจิตตีย์ในเพราะการกล่าวคำเท็จ ทั้งๆ ที่รู้อยู่ ดังนี้เป็นต้น  ก็มุสาวาทนั้น จะถึงความเป็นอาบัติหนัก หรือถึงความเป็นอาบัติเบาประการใดนั้น เกี่ยวเนื่องกับวัตถุ คือเรื่องที่พูดถึง หรือสิ่งที่พูดถึง ฉะนี้แล.    จบคำอธิบายปัญหาที่ ๓.   จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๓๓

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us/

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: