วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ความมีอายุยืน มิได้เป็นตัวตัดสิน “คุณค่าที่แท้จริงของชีวิต”

ความมีอายุยืน มิได้เป็นตัวตัดสิน “คุณค่าที่แท้จริงของชีวิต”

“..แม้ว่าความมีอายุยืนจะเป็นสภาพที่น่าปรารถนาอย่างยิ่ง แต่ในทางธรรม ท่านมิได้ถือว่าความมีอายุยืนนั้นเป็นตัวตัดสินคุณค่าที่แท้จริงของชีวิต เครื่องตัดสินคุณค่าที่แท้จริงของชีวิตนั้น อยู่ที่ว่า ระหว่างที่อายุยังทรงอยู่ไม่ว่าจะสั้นหรือยาวก็ตาม บุคคลได้ใช้ชีวิตนั้นอย่างไร คือได้อาศัยชีวิตนั้นก่อกรรมชั่วร้ายเป็นโทษ หรือทําสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ พอกพูน“อกุศลธรรม” หรือ เจริญ“กุศลธรรม” ปล่อยชีวิตให้เป็นไปตามอํานาจของ อวิชชา ตัณหา หรือ ดําเนินชีวิตด้วย ปัญญา และ กรุณา

ชีวิตที่งอกงามด้วยกุศลธรรมอํานวยประโยชน์สุขแก่ตนและผู้อื่น แม้จะสั้นก็ยังประเสริฐกว่าชีวิตซึ่งยืนยาวแต่เป็นที่สั่งสมอธรรมและแผ่ขยายความทุกข์  ดังตัวอย่างพุทธพจน์ในธรรมบทคาถาว่า…“ผู้ใดเกียจคร้าน หย่อนความเพียร ถึงจะมีชีวิตอยู่ได้ร้อยปี ก็ไม่ดีอะไร ชีวิตของผู้มีความเพียรมั่นคง แม้เพียงวันเดียวก็ยังประเสริฐกว่า”

“ผู้ใดทรามปัญญา ไม่มีสมาธิ ถึงจะมีชีวิตอยู่ได้ร้อยปีก็ไม่ดีอะไร ชีวิตของคนมีปัญญา มีสมาธิ แม้เพียงวันเดียวก็ยัง ประเสริฐกว่า” "ผู้ใดไม่เห็นอุดมธรรม ถึงจะมีชีวิตอยู่ได้ร้อยปีก็ไม่ดีอะไร ชีวิตของผู้เห็นอุดมธรรม แม้เพียงวันเดียวก็ยังประเสริฐกว่า” ( ที่มา : ขุ. ธ. ๒๕/๑๘/๒๙-๓๐ )

ชีวิตที่ไร้ธรรมเป็นโทษ ยิ่งอยู่นานก็ยิ่งมีโอกาสพอกพูนอกุศลให้หนาแน่น และแผ่ขยายทุกข์ภัยให้มากมายกว้างขวางยิ่งขึ้น ส่วนชีวิตที่ชอบธรรมและบําเพ็ญคุณประโยชน์ แม้จะอยู่เพียงเวลาสั้นก็ยังมีคุณค่ามาก ดังที่เรียกว่าเป็นชีวิตอันประเสริฐ หากยิ่งอยู่ยาวนานมากขึ้น ก็ยิ่งเป็นกําลังส่งเสริมธรรมให้เข้มแข็ง และสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้พรั่งพร้อมยิ่งขึ้นแก่พหูชน

กล่าวอีกนัยหนึ่ง โดยเฉพาะสําหรับท่านซึ่งเป็นผู้นําในการเชิดชูธรรมและในงานสร้างสรรค์ประโยชน์สุข อายุของผู้ทรงธรรมก็เท่ากับหรือส่วนสําคัญแห่งอายุของธรรมที่จะรุ่งเรืองอยู่ในสังคมด้วย อายุของผู้บําเพ็ญคุณประโยชน์ก็เท่ากับเป็นส่วนสําคัญแห่งอายุของประโยชน์สุขในสังคมนั้นด้วย ยิ่งผู้ทรงธรรมมีอายุยืนเท่าใด ก็ยิ่งช่วยให้ธรรมมีกําลังรุ่งเรืองอยู่ในโลกหรือในสังคมนั้นยืน นานมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งผู้สร้างสรรค์ประโยชน์สุขมีอายุยืนนานมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งช่วยให้ประโยชน์สุขดํารงอยู่ในโลกหรือในสังคมนั้นได้ยืนนานมากขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุ นี้อายุของผู้ทรงธรรมและบําเพ็ญประโยชน์สุข จึงมีคุณค่ามาก เพราะมีความหมายสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรืออย่างน้อยก็เป็นเครื่องเกื้อหนุนแก่อายุของธรรม และอายุของประโยชน์สุขที่จะมีผลต่อสังคมหรือต่อ ประชาชน”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : ธรรมนิพนธ์ เรื่อง “อายุยืนอย่างมีคุณค่า” หัวข้อที่ ๔ หน้า ๑๕-๑๘, โหลดไฟล์ pdf หนังสือ “อายุยืนอย่างมีคุณค่า”  คลิกที่นี่  https://www.watnyanaves.net/th/book_detail/482


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: