วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2564

โลมหํสชาตกํ - ว่าด้วยการแสวงหาอย่างประเสริฐ

โลมหํสชาตกํ - ว่าด้วยการแสวงหาอย่างประเสริฐ

"โสตตฺโต  โสสินฺโท  เจว,      เอโก  ภึสนเก  วเน;

นคฺโค  น  จคฺคิมาสีโน,         เอสนาปสุโต  มุนีติ ฯ

เรามีร่างกายเร่าร้อน มีตัวอันเปียกชุ่ม อยู่แต่ผู้เดียวในป่าที่น่ากลัว เป็นคนเปลือยกาย ถึงแม้ความหนาวเบียดเบียนก็ไม่ผิงไฟ เป็นมุนีขวนขวายด้วยการแสวงหาอย่างประเสริฐ."

โลมหังสชาดกอรรถกถา

พระศาสดาทรงอาศัยพระนครเวสาลี ประทับอยู่ ณปาฏิการามทรงปรารภท่านพระสุนักขัตตะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า โสตตฺโต โสสีโต ดังนี้.

ความพิสดารว่า สมัยหนึ่งท่านพระสุนักขัตตะเป็นผู้อุปัฏฐากพระศาสดาถือบาตรจีวรตามเสด็จไป เกิดพอใจธรรมของโกรักขัตติยปริพาชก ถวายบาตรจีวรคืนพระทศพล ไปอาศัยโกรักขัตติยปริพาชก ในเมื่อโกรักขัตติยปริพาชกนั้นไปเกิดในกำเนิดอสูรพวกกาลัญชิกะ จึงสึกเป็นคฤหัสถ์เที่ยวกล่าวติโทษพระศาสดาตามแนวกำแพงทั้ง ๓ ในพระนครเวสาลีว่า „อุตตริมนุษยธรรม คือญาณทัสสนอันวิเศษซึ่งพอแก่ความเป็นพระอริยเจ้า ของพระสมณโคดม ไม่มีดอก, พระสมณโคดมแสดงธรรมที่ตนกำหนดนึกเอาเอง ค้นคว้าเอาตามที่สอบสวน เป็นปฏิภาณของตนเอง, และธรรมที่พระสมณโคดมแสดงนั้นเล่า ก็มิได้นำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้ปฏิบัติตาม.“ 

คราวนั้นท่านพระสารีบุตรเถระเจ้า เที่ยวบิณฑบาตได้ยินเขากล่าวติโทษเรื่อยมา กลับจากบิณฑบาตแล้ว ก็กราบทูลข้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. 

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า „ดูก่อนสารีบุตรสุนักขัตตะเป็นคนมักโกรธ เป็นโมฆบุรุษ กล่าวอย่างนี้ด้วยอำนาจความโกรธเท่านั้น กล่าวอยู่ว่า ธรรมนั้นมิได้นำไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้ปฏิบัติตามนั้น ดังนี้ แม้ต้องอำนาจแห่งความโกรธมาก เพราะเหตุที่ไม่รู้จริง จึงกล่าวโทษเราอยู่ตลอดเวลา ก็เขาเป็นโมฆบุรุษ จึงไม่รู้คุณของเราเลย, ดูก่อนสารีบุตร ที่แท้คุณพิเศษที่ชื่อว่าอภิญญา ๖ ของเราก็มีแม้ข้อนี้ก็เป็นอุตตริมนุษยธรรมของเราเหมือนกัน, พล ๑๐ ก็มี, เวสารัชชญาณ ๔ ประการก็มี, ญาณที่จะกำหนดรู้กำเนิดทั้ง ๔ ก็มี, ญาณที่จะกำหนดรู้คติทั้ง ๕ ก็มี, แม้ข้อนี้ก็เป็นอุตตริมนุษยธรรมของเราเหมือนกัน, ก็ผู้ใดกล่าวว่า เราผู้ถึงพร้อมด้วยอุตตริมนุษยธรรมเพียงเท่านี้อย่างนี้ว่า อุตตริมนุสสธรรมของพระสมณโคดมไม่มีดอก, ผู้นั้นไม่ละคำนั้น ไม่ละความคิดนั้น ไม่ถอนคืนความเห็นนั้น ย่อมถูกฝังในนรกเหมือนกับถูกจับมาฝัง ฉะนั้น“ 

ครั้นตรัสพระคุณแห่งอุตตริมนุษยธรรม ที่มีในพระองค์อย่างนี้แล้วจึงตรัสว่า „ดูก่อนสารีบุตร ได้ยินว่า สุนักขัตตะ เลื่อมใสในมิจฉาตบะ ด้วยกิริยาแห่งกรรมอันบุคคลทำได้ยากของโกรักขัตติยะ เมื่อเลื่อมใสอยู่ ก็ไม่สมควรจะเลื่อมใสในเราทีเดียว ที่จริงในที่สุดแห่งกัป ๙๑ แต่ภัททกัปนี้เราทดลองมิจฉาตบะของลัทธิภายนอก เพื่อจะรู้ว่า สาระในตบะนั้นมีจริงหรือไม่ อยู่บำเพ็ญพรหมจรรย์อันประกอบด้วยองค์ ๔ เรากล่าวได้ว่า เป็นผู้เรืองตบะ เรืองตบะอย่างยอดเยี่ยม เป็นผู้เศร้าหมอง เศร้าหมองอย่างยอดเยี่ยม เป็นผู้น่าเกลียด น่าเกลียด อย่างยอดเยี่ยม เป็นผู้เงียบ เงียบอย่างยอดเยี่ยม“ ดังนี้ อันพระเถระเจ้ากราบทูลอาราธนา จึงทรงทำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :- 

ในอดีตกาลที่สุดแห่งกัปที่ ๙๑ พระโพธิสัตว์ดำริว่า เราจักทดลองตบะของพวกนอกลู่นอกทางดู จึงบวชเป็นอาชีวก ไม่นุ่งผ้า คลุกเคล้าด้วยธุลี เงียบฉี่อยู่คนเดียว เห็นพวกมนุษย์แล้วต้องวิ่งหนี เหมือนมฤคมีมหาวิกัติเป็นโภชนะ บริโภคโคมัยแห่งลูกโคเป็นต้น เพื่อจะอยู่ด้วยความไม่ประมาท จึงอยู่ในไพรสณฑ์เปลี่ยวตำบลหนึ่งในราวไพร.  เมื่ออยู่ในถิ่นนั้น เวลาหิมะตกตอนกลางคืน ออกจากไพรสณฑ์ อยู่กลางแจ้ง ชุ่มโชกด้วยน้ำหิมะเวลากลางวันก็ทำนองเดียวกัน ให้ตนชุ่มโชกด้วยหยาดน้ำที่ไหลจากไพรสณฑ์ เสวยทุกข์แต่ความหนาว ทั้งกลางวันกลางคืนอยู่อย่างนี้ 

อนึ่งในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน ตอนกลางวันก็ถึงความรุ่มร้อนด้วยแสงแดด ณ ที่โล่ง กลางคืนก็อย่างนั้นเหมือนกับถึงความรุ่มร้อนอยู่ในไพรสณฑ์ที่ปราศจากลม หยาดเหงื่อไหลออกจากสรีระ ครั้งนั้น คาถานี้ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยได้ปรากฏแจ่มแจ้งว่า :-  „เรารุ่มร้อนเพราะแดด มีตัวเปียกชุ่มด้วยหิมะ อยู่ผู้เดียวในป่าอันน่าสพึงกลัว เป็นคนเปลือย มีความหนาวบีบคั้นก็ไม่ได้ผิงไฟ เป็นมุนีขวนขวายแล้ว ในการแสวงบุญ.“

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  โสตตฺโต  ความว่า เราเร่าร้อนด้วยความแผดเผาจากดวงอาทิตย์.  บทว่า  โสสีโต  ความว่า เราหนาวเหน็บ คือชุ่มโชกด้วยน้ำหิมะ.  ด้วยบทว่า  เอโก  ภิสนเก  วเน  นี้ท่านแสดง ความว่า เราอยู่แต่ผู้เดียว ไม่มีเพื่อนเลย ในป่าชัฎอันน่าสพึงกลัวถึงกับทำให้ผู้ที่เข้าไปแล้วต้องขนลุกขนพองโดยมาก. ด้วยบทว่า  นคฺโค  น  จคฺคิมาสีโน นี้ท่านแสดงว่า เราเป็นคนเปลือย ทั้งไม่ได้ผิงไฟ คือแม้จะถูกลมหนาวเบียดเบียนก็มิได้อาศัยผ้านุ่งผ้าห่มเป็นต้นและไม่ได้ผิงไฟอีกด้วย.  ด้วยบทว่า  เอสนาปสุโต  นี้ท่านแสดงว่า แม้ในอพรหมจรรย์ก็มีความมั่นหมายว่า เป็นพรหมจรรย์ในความเพียรนั้น คือเป็นผู้ขวนขวายพากเพียร ถึงความมั่นหมายในการแสวงหาพรหมจรรย์นั้นอย่างนี้ว่า ก็แลข้อนี้เป็นพรหมจรรย์แท้ การแสวงหาและการค้นหาเป็นอุบายแห่งพรหมโลก.  ด้วยบทว่า  มุนี  ท่านแสดงว่าได้เป็นผู้อันชาวโลก ยกย่องอย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ ปฏิบัติเพื่อต้องการญาณเป็นเครื่องรู้เป็นมุนีแล. 

ก็พระโพธิสัตว์ประพฤติพรหมจรรย์ ประกอบด้วยองค์ ๔ อย่างนี้. เล็งเห็นลางนรกปรากฏชัดขึ้นในเวลารุ่งอรุณ ก็ทราบว่า การสมาทานวัตรนี้ไร้ประโยชน์ จึงทำลายลัทธินั้นเสียในขณะนั้นเอง กลับถือสัมมาทิฏฐิ เกิดในเทวโลกแล้ว.  พระบรมศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดกว่า สมัยนั้นเราตถาคตได้เป็นอาชีวกนั้นแล.

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: