วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ภิกษุถ้าประกอบด้วยองคสมบัติ ๑๑ ประการนี้ ก็จะเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัย คือ

ภิกษุถ้าประกอบด้วยองคสมบัติ ๑๑ ประการนี้ ก็จะเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัย คือ :- 

๑. ภิกษุนั้นเป็นผู้รู้จักรูป คือรู้เห็นมหาภูตรูปและอุปาทายรูป โดยแยกแยะออกไปตามส่วน แล้วพิจารณาโดย กายคตาสติ หรือ อสุภกัมมัฏฐาน หรือให้เห็นโดยนิสัตตธรรม นิชชีวธรรม ว่ามิใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา

๒. ภิกษุนั้นเป็นผู้ฉลาดในลักษณะ คือรู้จักลักษณะแห่งคนทั้งหลายว่า คนที่ประพฤติอย่างนี้เป็นพาลไม่ควรเข้าใกล้หรือเอาเยี่ยงอย่าง คนประพฤติอย่างนี้เป็นบัณฑิตควรคบหา หรือถือเอาเป็นเยี่ยงอย่าง

๓. ภิกษุนั้นเป็นผู้รู้จักเขี่ยไข่ขางออก คือกำจัดอกุศลวิตกภายใน ๓ ประเภทให้หมดไป

๔. ภิกษุนั้นเป็นผู้รู้จักปิดแผล คือเป็นผู้สำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มิให้ความยินดีหรือความโทมนัสครอบงำ เพราะอินทรีย์เหล่านั้นไปรับเข้ามาไว้

๕. ภิกษุนั้นเป็นผู้รู้จักสุมควัน คือศึกษาเล่าเรียนนวังคสัตถุศาสน์แล้ว พยายามสั่งสอนเผยแพร่แก่ชนทั้งหลาย

๖. ภิกษุนั้นเป็นผู้รู้จักท่า คือแสวงหา เข้าไปนั่งใกล้ท่านผู้ทรงความรู้พระธรรมวินัย รู้หลัก รู้อรรถาธิบาย สนทนา ไต่ถาม เพื่อให้ท่านอธิบาย กำจัดความสงสัยในข้อที่เป็นปัญหา

๗. ภิกษุนั้นเป็นผู้รู้จักดื่ม คือชื่นชมในการแสวงหาความรู้จากพระธรรมเทศนาที่ผู้ใดผู้หนึ่งแสดง มีปีติในพระธรรมเทศนานั้น

๘. ภิกษุนั้นเป็นผู้รู้จักทาง คือรู้จักปฏิบัติตนให้ดำเนินไปในองค์อริยมรรค ๘ 

๙. ภิกษุนั้นเป็นผู้ฉลาดในโคจร คือปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔ เป็นประจำ

๑๐. ภิกษุนั้นเป็นผู้รู้จักรีดนมมีส่วนเหลือไว้ คือให้รู้จักประมาณหรือมีขอบเขตอันสมควรในการรับ ในเมื่อมีทายกทายิกามีศรัทธาปวารณาถวายจตุปัจจัยไทยธรรม รับเท่าที่จำเป็น อย่าให้เกิดความโลภ และอย่าให้เขาเดือดร้อน

๑๑. ภิกษุนั้นเป็นผู้รู้บูชาพระเถระ คือมีความเคารพนับถือบูชา มีเมตตาทางกาย วาจา ใจ ในพระเถระผู้มีพรรษา บวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นผู้นำสงฆ์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง มีความละอายยำเกรง เชื่อฟังคำสั่งและโอวาทของท่าน

พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ได้นานเพราะยังมีภิกษุผู้ปฏิบัติตามพระพุทธโอวาทนี้อยู่ ถ้าภิกษุขาดคุณสมบัติ ๑๑ ประการดังกล่าวนี้แล้ว ก็จักไม่เจริญงอกงามในพระธรรมวินัย และพระธรรมวินัยก็คงจักดำรงอยู่นานไม่ได้ ถ้าไม่มีใครปฏิบัติตามพระพุทธโอวาทนี้.

ท่านสามารถอ่านพระสูตรฉบับเต็มได้จาก...  : มหาโคปาลสูตร มูลปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย หรือพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง เล่ม ๑๒ หน้า ๓๓๙ - ๓๔๕


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: