วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2564

อกตญฺญุชาตกํ - ว่าด้วยคนอกตัญญู

อกตญฺญุชาตกํ - ว่าด้วยคนอกตัญญู

"โย  ปุพฺเพ  กตกลฺยาโณ,     กตตฺโถ  นาวพุชฺฌติ;

ปจฺฉา  กิจฺเจ  สมุปฺปนฺเน,     กตฺตารํ  นาธิคจฺฉตีติ ฯ

ผู้ใดอันคนอื่นทำความดี ทำประโยชน์ให้ในกาลก่อน แต่ไม่รู้สึกคุณ, ผู้นั้น เมื่อมีกิจเกิดขึ้นในภายหลัง ย่อมไม่ได้ผู้ช่วยเหลือ."

อกตัญญูชาดกอรรถกถา

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภท่านอนาบิณฑิกเศรษฐี ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า โย ปุพฺเพ กตกลฺยาโณ ดังนี้.

 ได้ยินว่า เศรษฐีชาวปัจจันตชนบทผู้หนึ่งได้เป็นอทิฏฐสหาย(สหายผู้ยังไม่เคยพบกัน)ของท่านอนาถบิณฑิกะ กาลครั้งหนึ่งเศรษฐีนั้นบรรทุกเกวียน ๕๐๐ เล่ม เต็มไปด้วยสิ่งของที่เกิดขึ้นในปัจจันตชนบท กล่าวกะพวกคนงานว่า „ไปเถิดท่านผู้เจริญทั้งหลาย, ท่านทั้งหลายจงนำของสิ่งนี้ไปสู่พระนครสาวัตถี ขายให้แก่มหาเศรษฐีอนาถบิณฑิกะ สหายของเราด้วยราคาของตอบแทนแล้วพากันขนของตอบแทนมาเถิด.“ 

คนงานเหล่านั้นรับคำของท่านเศรษฐีแล้ว พากันไปสู่พระนครสาวัตถี พบท่านมหาเศรษฐีอนาถบิณฑิกแล้วให้บรรณาการ แจ้งเรื่องนั้นให้ทราบแม้ท่านมหาเศรษฐีเห็นแล้วก็กล่าวว่า „พวกท่านมาดีแล้ว“ จัดการให้ที่พักและเสบียงแก่คนเหล่านั้นไต่ถามความสุขของเศรษฐีผู้เป็นสหาย รับซื้อภัณฑะไว้แล้วให้ภัณฑะตอบแทนไป คนงานเหล่านั้นพากันไปสู่ปัจจันตชนบท แจ้งเนื้อความนั้นแก่เศรษฐีของตน 

ต่อมา ท่านอนาถบิณฑิกะ ก็ส่งเกวียน ๕๐๐ เล่มอย่างนั้นแหละ ไปในปัจจันตชนบทนั้นบ้าง พวกมนุษย์ไปในปัจจันตชนบทนั้นแล้ว นำบรรณาการไปมอบให้ท่านเศรษฐีปัจจันตชนบทเศรษฐีนั้นถามว่า „พวกเจ้ามาจากที่ไหนเล่า?“ ครั้นพวกคนเหล่านั้นบอกว่า „มาจากพระนครสาวัตถี สำนักอนาถบิณฑิกะผู้เป็นสหายของท่าน“ ก็หัวเราะเยาะว่า „คำว่า อนาถบิณฑิกะ จักเป็นชื่อของบุรุษคนไหน ๆ ก็ได้“ แล้วรับเครื่องบรรณาการไว้ ส่งกลับไปว่า „พวกเจ้าจงไปกันเถิด“ มิได้จัดการเรื่องที่พักและให้เสบียงเลยคนเหล่านั้นต้องขายสิ่งของกันเอง พากันขนสิ่งของตอบแทนมาพระนครสาวัตถี ล้วนแจ้งเรื่องนั้นแก่เศรษฐี. 

อยู่ต่อมา เศรษฐีชาวปัจจันตชนบทส่งเกวียน ๕๐๐ เล่ม อย่างนั้นแหละ ไปสู่พระนครสาวัตถีซ้ำอีกครั้งหนึ่ง พวกมนุษย์น้อมนำบรรณาการไปพบท่านมหาเศรษฐี ฝ่ายพวกคนของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเห็นพวกนั้นแล้วกล่าวว่า „ท่านขอรับ พวกผมจักกำหนดที่พักอาหารและเสบียงของพวกนั้นเอง“ แล้วบอกให้พวกนั้นปลดเกวียนไว้ในที่เช่นนั้น ภายนอกพระนครกล่าวว่า „พวกท่านพากันอยู่ ที่นี่เถิด, ข้าวยาคูแลภัตรและเสบียงสำหรับพวกท่านในเรือนของพวกท่านจักพอมี“ แล้วพากันไปเรียกพวกทาสและกรรมกรมาประชุมกัน พอได้เวลาเที่ยงคืน ก็คุมกันปล้นเกวียนทั้ง ๕๐๐ เล่มแย่งเอาแม้กระทั่งผ้านุ่ง ผ้าห่มของคนเหล่านั้น ไล่โคให้หนีไปหมด ถอดล้อเกวียน ๕๐๐ เล่มเสียหมด วางไว้ที่แผ่นดินแล้วขนเอาแต่ล้อเกวียนทั้งหลายไป. พวกชาวปัจจันตชนบท ไม่เหลือแม้แต่ ผ้านุ่ง ต่างกลัวพากันรีบหนีไปสู่ปัจจันตชนบท ฝ่ายคนของท่านเศรษฐี พากันบอกเรื่องนั้นแก่ท่านมหาเศรษฐี. 

ท่านมหาเศรษฐีคิดว่า „บัดนี้มีเรื่องนำข้อความที่จะกราบทูลแล้ว“ จึงไปสำนักพระบรมศาสดา กราบทูลเรื่องราวทั้งหมดตั้งแต่ต้น พระศาสดาตรัสว่า "ดูก่อนคฤหบดี เศรษฐีชาวปัจจันตชนบทนั้น เป็นผู้มีปกติประพฤติอย่างนี้ ในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้“ แม้ในกาลก่อนก็ได้มีปกติประพฤติเช่นนี้มาแล้วเหมือนกัน“ อันท่านเศรษฐีกราบทูลอาราธนา จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :- 

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้เป็นเศรษฐีมีสมบัติมากในพระนครพาราณสี เศรษฐีชาวปัจจันตชนบทผู้หนึ่งได้เป็นอทิฏฐสหายของท่านเรื่องอดีตทั้งหมด เป็นเหมือนกับเรื่องในปัจจุบันนั่นแหละ(แปลกกันแต่ว่า ) พระโพธิสัตว์เมื่อคนของตนแจ้งให้ทราบว่า „วันนี้พวกผมทำงานชื่อนี้" ดังนี้แล้ว ก็กล่าวว่า „พวกนั้นไม่รู้อุปการะที่เขาทำแก่ตนก่อน จึงพากันได้รับกรรมเช่นนี้ในภายหลัง“ เพื่อจะแสดงธรรมแก่บริษัทที่ประชุมกัน จึงกล่าวคาถานี้ว่า :- „ผู้ใดอันท่านทำดีให้ก่อน ทำประโยชน์ให้ก่อน แต่ไม่รู้จักคุณ, ผู้นั้นเมื่อมีกิจการเกิดขึ้นภายหลัง ย่อมไม่ได้ผู้ช่วยเหลือ.“

ในคาถานั้นประมวลข้ออธิบายได้ดังนี้ :- บรรดาชนมีกษัตริย์เป็นต้น บุรุษผู้ใดผู้หนึ่ง มีความดี อันบุคคลอื่น คือมีอุปการะอันท่านผู้อื่นกระทำให้ก่อน คือทีแรก มีประโยชน์อันคนอื่นกระทำให้ คือมีผู้ช่วยเหลือทำกิจการให้สำเร็จได้ก่อนมิได้รู้สำนึกคุณงามความดีและประโยชน์ที่ผู้อื่นกระทำไว้ในตนนั้นเลย ผู้นั้นเมื่อกิจการของตนเกิดขึ้นในภายหลัง ย่อมหาคนช่วยทำกิจการนั้นให้ไม่ได้.

พระโพธิสัตว์แสดงธรรมด้วยคาถานี้ ด้วยประการฉะนี้แล้ว กระทำบุญทั้งหลาย มีให้ทานเป็นต้นแล้วก็ไปตามยถากรรม.  พระศาสดา ทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วทรงประชุมชาดกว่า เศรษฐีชาวปัจจันตชนบทในครั้งนั้นได้มาเป็นเศรษฐีปัจจันตชนบทคนนี้แหละ ส่วนพาราณสีเศรษฐีได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล. 

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: