วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ต้องตั้งจิตไว้ให้เป็น“อิสระจากความทุกข์” ที่มีอยู่ตามกฎของธรรมชาติ

ต้องตั้งจิตไว้ให้เป็น“อิสระจากความทุกข์” ที่มีอยู่ตามกฎของธรรมชาติ 

อะไรที่ทำให้มนุษย์มีความทุกข์ ค้นไปค้นมา ในที่สุดสิ่งที่ทำให้มนุษย์มีความทุกข์ก็คือ ความเป็นไปของกฎธรรมชาตินี่เอง ในที่สุดแล้ว มนุษย์ตกอยู่ภายใต้อำนาจครอบงำของ “กฎธรรมชาติ” การที่เรามีความเป็นไปอะไรต่างๆเหล่านี้ ก็เพราะกฎธรรมชาติ คือ “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา”

ดูง่ายๆ ความเปลี่ยนแปลง ความไม่เที่ยงนี้ เป็นไปในทุกสิ่งทุกอย่างตลอดทุกเวลา มันครอบคลุมและครอบงำทั้งชีวิตของเราและสิ่งทั้งหลายที่เราเกี่ยวข้อง รวมทั้งโลกที่เราอยู่นี้ทั้งหมด ไม่เว้นเลย

เมื่อสิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไป เราก็พลอยได้รับผล ถูกกระทบกระทั่งบีบคั้น ได้อย่างใจบ้าง ไม่ได้บ้าง ปรารถนาสมหวังบ้าง ไม่สมหวังบ้าง ที่อยากให้คงอยู่ก็หายสิ้นบ้าง ที่ไม่ชอบใจก็ต้องเจอบ้าง เราก็เกิดความทุกข์ เพราะเจ้าตัวกฎธรรมชาตินี่แหละ ที่ทำให้เกิดความเป็นไปต่างๆ ที่บีบคั้นเรา

แต่ที่จริง การที่ความเป็นไปต่างๆ นั้นบีบคั้นเรา ก็เพราะว่า เราไปวางท่าทีต่อมันผิด แล้วก็ไม่รู้เท่าทันมัน กับทั้งจะเอาแต่ที่ใจอยากและชอบ แต่รับกระทบ สิ่งที่เป็นไปดีๆมากมายก็ไม่เอา ไปคอยรับแต่ที่ขัดใจ และในที่สุดว่ากันตามจริงแท้ สิ่งทั้งหลายก็เป็นไปตามธรรมดาของมันนั้นแหละ ใจของเราตั้งรับผิดเองหรือเปล่า?

ในขั้นสุดท้ายก็คือ ทำอย่างไรจะไม่ให้กฎธรรมชาติมาครอบงำมีอิทธิพลต่อสุขทุกข์ของเรา อันนี้แหละ เป็นวิธีขั้นสุดท้าย คือถึงขั้น “อิสรภาพจากกฎธรรมชาติ” เลยทีเดียว อิสรภาพนี้ถือว่าสูงสุด หมายถึงการมีปัญญารู้ทันความจริงของสิ่งทั้งหลาย รู้เท่าทันเป็นกันเองได้แม้แต่กับ “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” รู้ว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามกระแสเหตุปัจจัยของมัน ความรู้อันนี้แหละ จะทำให้เราถอนตัวออกมาเป็นอิสระได้ จนกระทั่งว่า ความเปลี่ยนแปลงและความทุกข์ที่มีอยู่เป็นของธรรมชาติ ก็ปล่อยให้ธรรมชาติเป็นทุกข์ของมันไป ไม่ใช่เที่ยวเก็บเอาทุกข์มาใส่ตัว

ธรรมชาติ น่ะ! เป็นทุกข์อยู่ตามธรรมดา คือ มันเปลี่ยนแปลงไป คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ธรรมชาติเป็นทุกข์ ก็เป็นทุกข์ของมันไป ไม่มีใครไปห้ามได้ แต่เราไม่ต้องไปทุกข์ด้วย อันนี้แหละ คือความสำเร็จของการพัฒนามนุษย์ มนุษย์จะไม่ต้องขึ้นต่อธรรมชาติ ก็ตรงนี้

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : จากธรรมนิพนธ์ เรื่อง “พัฒนาคุณภาพชีวิต ด้วยจิตวิทยาแบบยั่งยืน”


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: