วันอังคารที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ลัทธิรอโชคช่วย หวังผลดลบันดาล

ลัทธิรอโชคช่วย หวังผลดลบันดาล

“สังคมไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีปัจจัย ๒ อย่างนี้เป็นตัวทำลายล้างที่ยิ่งใหญ่ คือ :-   ๑. ความใฝ่เสพบริโภค ที่ทำให้เกิดความฟุ้งเฟ้อ สำรวย อ่อนแอและประมาท ค่านิยมบริโภคนี้เมืองไทยยังหนักมาก ต้องแก้ให้ได้    ๒. ลัทธิรอผลดลบันดาล ซึ่งก็ทำให้อ่อนแอและประมาทเช่นเดียวกัน เวลานี้ระบาดไปทั่วแล้ว

สองอย่างนี้ถ้าแก้ได้ เมืองไทยเดินหน้าไปแน่ๆ ย้ำอีกทีหนึ่งว่า :- 

๑. ค่านิยมเสพบริโภค หรือ ความใฝ่เสพบริโภค จะต้องแก้ให้ได้ อย่างน้อยให้มีความเป็นนักผลิตมาเข้าดุลกัน ถ้าเป็นนักเรียนก็ต้องฝึกหัดพัฒนาความใฝ่ศึกษาและใฝ่สร้างสรรค์ ต้องทำให้ได้ มิฉะนั้น จะเป็นนักเรียนนักศึกษาแต่เพียงชื่อ หรือโดยรูปแบบ หาสาระไม่ได้ ต้องแก้ปัญหาค่านิยมเสพบริโภคให้ได้ แล้วเอาเวลา แรงงาน และความคิดนั้นมาใช้ในการศึกษาและสร้างสรรค์ โดยมีความใฝ่ศึกษา ใฝ่สร้างสรรค์ ใฝ่รู้-สู้สิ่งยาก

๒. ไม่ยอมสยบแก่ลัทธิอ้อนวอนนอนคอยโชค หรือลัทธิรอผลดลบันดาล ต้องเข้มแข็ง มุ่งที่จะทำการให้สำเร็จผลด้วยเรี่ยวแรงความพากเพียรของตน ข้อนี้เป็นหลักพระพุทธศาสนาเชิงปฏิบัติที่ท่านย้ำด้วยตัวอย่างมากมาย เริ่มตั้งแต่การบำเพ็ญบารมีของพระพุทธเจ้า ทำไมเราไม่เอามาใช้

คติพระโพธิสัตว์นั้น เป็นแบบอย่างของการเพียรพยายามของการสู้ไม่ถอย ถ้าชาวพุทธหวังผลสำเร็จง่ายๆ ทางลัด อยากได้อะไรก็อ้อนวอนไปขอ พระพุทธศาสนาตัวจริงก็จะค่อยๆ เลือนลางหายไป เหลือแต่เปลือก หรือรูปแบบ.    ลัทธิขอความช่วยเหลือ ลัทธิรอโชคช่วย ลัทธิหวังผลดลบันดาล เวลานี้กลาดเกลื่อนแพร่ไปทั่วสังคมไทย เป็นลัทธิตรงข้ามกับพุทธศาสนา 

พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ลัทธิเหล่านี้ พระองค์อุตส่าห์มาประกาศอิสรภาพให้มนุษย์แล้ว มนุษย์โดยเฉพาะมนุษย์ไทยเรากลับถอยลงไป ไปอยู่ในสมัยก่อนพุทธกาลเสียนี่ เพราะฉะนั้น ตอนนี้ต้องเข้มแข็งกันเสียที อย่าเป็นคนอ่อนแอ ปวกเปียก ป้อแป้ พอเจอทุกข์ก็ท้อแท้ หมดกำลัง หรือเจอทุกข์ก็ไปติดยากล่อม สองอย่างนี้กำลังครอบงำคนไทย ถ้าไม่แก้อันนี้พัฒนาไม่สำเร็จ

พระพุทธศาสนามุ่งหมายให้คนเข้มแข็งก้าวหน้า

ก่อนที่พุทธศาสนาจะเกิดขึ้นในอินเดียนั้น ความเชื่อในสิ่งเหล่านี้แพร่หลายมาก และสภาพเช่นนี้เองเป็นเหตุให้พุทธศาสนาเกิดขึ้น พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ ถ้าสิ่งเหล่านี้ดีงามถูกต้องเป็นประโยชน์เพียงพอแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นมาเพราะสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถแก้ปัญหาของมนุษย์ได้

พระพุทธศาสนาดึงคนจากเทพมาสู่ธรรม หมายความว่า คนในยุคนั้นหวังโชคลาภ ความสำเร็จ ความปลอดพ้นจากภัยอันตราย ด้วยอำนาจดลบันดาลของเทพเจ้า คนจึงต้องเอาใจบูชาบวงสรวงเทพเจ้า จนกระทั่งมีการบูชายัญต่างๆ คนไม่ได้ดูว่าตัวเองจะต้องทำอะไร ตัวเองจะต้องแก้ไขปรับปรุงตนเองอย่างไร แต่มองไปว่าเราจะไปขอรับการช่วยเหลือจากเทพเจ้าองค์ไหน เราจะต้องเอาใจท่านอย่างไร เมื่อเราคิดว่าผลที่ต้องการอยู่ที่การดลบันดาลของท่าน เราก็ต้องพยายามเอาใจท่าน หมายความว่า จิตใจก็คิดแต่ว่าจะเอาใจท่านอย่างไร ให้ท่านโปรด ฉะนั้นก็ไม่เป็นอันได้ทำสิ่งที่ควรจะต้องทำด้วยความเพียรพยายามของตน

เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา พระองค์ตรัสว่า ดูนี่สิ สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ผลที่จะเกิดขึ้นย่อมเกิดจากเหตุ เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการผลอะไร ท่านก็ต้องทำเหตุของมัน เราจึงพูดว่าพระพุทธเจ้าจึงคนจากเทพมาสู่ธรรม คือมาสู่ความจริงแห่งกฎธรรมชาติ แห่งความเป็นไปตามเหตุและผลตามหลักที่ว่า “สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย” ซึ่งเรียกว่า หลักธรรม

จากหลักธรรม คือความจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ก็โยงมาสู่หลักกรรม คือการที่มนุษย์จะต้องทำเหตุปัจจัยเพื่อให้เกิดผลที่ตนต้องการ ดังนั้นพระพุทธศาสนา จึงเรียกว่ากรรมวาทะ และพระพุทธเจ้าจึงมีพระนามว่ากรรมวาที พร้อมกันนั้น คู่กับ "กรรม วาทะและกรรมวาที" ก็คือ พระพุทธศาสนาเป็น"วิริยวาทะ" และพระพุทธเจ้าเป็น"วิริยวาที" สองคำนี้จะต้องเรียกคู่กัน ไม่ขาดจากกัน กรรมวาทะและวิริยวาทะ เป็นชื่อของพระพุทธศาสนา กรรมวาทีและวิริยะวาที เป็นพระนามของพระพุทธเจ้า

กรรมวาทะ แปลว่าถือหลักการกระทำ วิริยวาทะ แปลว่าถือ หลักความเพียร เป็นคู่กัน เพราะว่าคนเราจะทำอะไรให้สำเร็จด้วยตัวเองก็ต้องใช้ความเพียร แต่ถ้าอ้อนวอนเทพเจ้าก็ไม่ต้องใช้ความเพียร เพียงแต่เธอยามเอาใจท่าน แล้วก็รอให้ท่านดลบันดาลให้เราไม่ต้องทำอะไร แต่ถ้าบอกว่าผลสำเร็จที่ต้องการเราต้องทำเอง เราก็ต้องใช้ความเพียรเพราะฉะนั้นกรรมจึงมาพร้อมกับความเพียรพยายาม แต่การกระทำของเขานั้นมีจุดสำคัญคือต้องถูกต้องตามกฎแห่งเหตุปัจจัยหรือกฎธรรมชาติด้วย แม้เขาจะมีความเพียรทำการต่างๆ แต่ถ้าการกระทำนั้นไม่ถูกต้องตามเหตุปัจจัยในกฎธรรมชาติ การกระทำนั้นก็จะไม่นำสู่ความสำเร็จที่ต้องการ ถึงเพียรพยายามทำไปก็เหนื่อยเปล่า

ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นอีกประการหนึ่งคือ จะทำอย่างไรให้กรรม หรือการกระทำของเรานั้นถูกต้องตามเหตุปัจจัย คำตอบก็คือเรา ต้องมีปัญญาที่รู้เหตุปัจจัย เพื่อจะทำเหตุปัจจัยให้ถูกต้อง และเพื่อ จะให้เกิดปัญญา จึงต้องมีการศึกษา

การศึกษา หรือ สิกขา ซึ่งเป็นหลักการทั้งหมดในทางปฏิบัติ ของพระพุทธศาสนา ใครๆ ก็รู้ว่าพระพุทธศาสนานี้ ภาคปฏิบัติทั้งหมดคือไตรสิกขา เป็นการศึกษาทั้งนั้น ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้ ฝึกฝน พัฒนาตน

การที่พุทธศาสนาดึงคนจากเทพมาสู่ธรรม ทำให้ต้องสอนหลักกรรม และความเพียร และการที่จะพัฒนาคนให้มีปัญญาที่จะทำกรรมได้ถูกต้อง จึงต้องมีการศึกษาที่เรียกว่าสิกขา คือ ต้องศึกษา ต้องเรียนรู้ ต้องพัฒนาตน การฝึกฝนแก้ไขปรับปรุงนี้ จึงเป็นภาคปฏิบัติทั้งหมดของพระพุทธศาสนา”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : ธรรมบรรยาย “เราจะกู้แผ่นดินกันอย่างไร?”


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: