วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2564

โลกนี้ คือสิ่งที่เป็นมายา

โลกนี้ คือสิ่งที่เป็นมายา

โลกนี้คือสิ่งที่เป็นมายา คือมันจะพ้องกับความเปลี่ยนแปลง แต่ว่ามันต่างออกไปอีกแง่หนึ่งเป็นมายา, เอาคําสอนของพระพุทธเจ้ามาพูดกันดีกว่า ว่า “เมื่อคนเห็นโลกอยู่ว่าเป็นเหมือนกับฟองน้ำ เหมือนกับพยับแดดแล้ว ความตายก็จะไม่มองเห็นคนนั้น” นี่สอนให้มองโลกนีัว่าเหมือนกับฟองน้ำหรือพยับแดด, ฟองน้ำนี้เกิดจากการกระทบกระเทือนที่ผิวน้ำ เกิดเป็นฟองขึ้นมา ในนั้นกลวงไม่มีอะไร เดี๋ยวก็แตกดับไป นี้เรียกว่าฟองน้ำ, ให้ดูโลกในลักษณะที่มันเป็นอย่างนี้, พยับแดดนั้นคือเมื่อแดดมันมีอากาศวิปริต กระทั่งตาเราก็ทนความร้อนไม่ได้ จนกระทั่งเห็นภาพต่างๆ ขึ้นในพยับแดด เป็นรูปร่างอย่างนั้นอย่างนี้ ที่จริงมิได้มี

ถ้ามองเห็นโลกว่าที่เห็นเป็นอย่างนั้นอย่างนี้นั้น นี่เพราะว่ามันมีความหลอกลวงเป็นมายา, ที่จริงมันเป็นของอย่างที่ว่ามาแล้ว เช่น ไม่เที่ยงเป็นต้น. “ ยถา  ปพฺพุฬกํ  ปสฺเส , ยถา  ปสฺเส  มรีจิกํ ”, - เมื่อมองเห็นโลกอยู่อย่างนี้ “ เอวํ  โลก  อเวกฺขนฺตํ  มจฺจุราชา  น  ปสฺสติ ” - ความตายจะไม่เห็นท่าน ความตายจะไม่ครอบงําท่าน. คือเมื่อมองว่ามันเป็นมายา ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา แล้ว มันไม่รู้ว่าใครจะตาย ไม่มีใครจะตาย ; นี้เรียกว่าความตายจะจับตัวท่านไม่ได้ เพราะมองไม่เห็นท่าน ; นี้เป็นคําสอนของพระพุทธเจ้า

นี่ มองดูเถอะทั้งโลกวัตถุ โลกมนุษย์ โลกสัตว์ แม้ก้อนหินนี้ก็มีความเป็นมายา แต่ยากที่จะมองเห็นว่าเป็นมายา, เพราะไปจับเข้าที่ไรก็เป็นก้อนหินแข็งเสียทุกที ไม่เหมือนฟองน้ำหรือพยับแดด. แต่ถ้ามองด้วยสติปัญญาที่สูงแล้ว ก็จะเห็นความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง : ทีแรกไม่มี แล้วก็มามีอยู่ แล้วก็จะหายไปในที่สุด อย่าว่าแต่ก้อนหินนี้เลย โลกทั้งโลกนี้มันก็มาจากไม่เคยมี มันก็มีขึ้นมา แล้วมันเปลี่ยนไป แล้วมันก็จักหายไป ไม่เหลือ , เพียงแต่เวลามันนาน เราไม่ทันอยู่เห็น เราไม่มีอายุยืนยาวพอจะอยู่เห็น

ถ้าสมมุติว่าเรามีอายุยืนกว่าโลกนี้สักหลายร้อยเท่าหลายพันเท่า เช่นว่า โลกมีอายุอยู่หลายแสนปีเราก็มีอายุอยู่หลายอสงไขยปี แล้วได้อยู่ดูเห็นโลกนี้แตกดับ - แตกดับ - แตกดับ - แตกดับ หลายๆ หน ; นั่นแหละเราจะเห็นได้ง่ายทันทีว่า โลกนี้เป็นมายา เหมือนฟองน้ำเหมือนพยับแดดด้วยเหมือนกัน ลองคํานึงสมมุติเอาซิว่า เรามีอายุยืนกว่าโลกหลายร้อยเท่า แล้วมองเห็นโลกนี้เกิดดับๆๆ ทั้งหลายหนก็จะเห็นก้อนหินนี้ว่าเป็นมายาได้ง่ายขึ้นเหมือนกัน. นี้เรียกว่า “โลกคือสิ่งซึ่งเป็นมายา หรือความเป็นมายานั่นแหละคือโลก”.

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายชุดสันทัสเสตัพพธรรม อันดับที่ ๕ หัวข้อเรื่อง “โลกในทรรศนะของพุทธบริษัทคืออะไร?” เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “สันทัสเสตัพพธรรม” หน้า ๑๕๘-๑๕๙

สิ่งทั้งหลายในโลกนี้ที่มาเกี่ยวข้องกับเรา ไม่มีอะไร ที่ไม่มีการเกิด-การดับ ในบรรดาสิ่งที่เกิดๆ ดับๆ ย่อมเป็นความทุกข์อย่างเดียว

“ความเป็นจริงมีอยู่ข้อหนึ่ง ซึ่งถือกันเป็นหลักว่า บรรดาสิ่งทั้งหลายที่มีการเกิดการดับได้นั้น มีแต่ “ความทุกข์” อย่างเดียวเท่านั้น หามีความสุขไม่, แล้วสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็ไม่มีอะไรนอกจากสิ่งที่เกิดๆ ดับๆ ในบรรดาสิ่งที่มาเกี่ยวข้องกับคนเรานั้น ไม่มีอะไรนอกไปกว่าสิ่งที่มีการเกิดๆ ดับๆ อยู่เสมอ แต่คนที่ไม่รู้หรือเป็นคนเขลา คนหลง ก็ยังมัวแสวงหาความสุขในสิ่งที่มีการเกิดๆ ดับๆ อยู่นั่นเอง.  มีพระบาลี(พระไตรปิฎก)ในสังยุตตนิกายว่า  

"ทุกฺขเมว  หิ  สมฺโภติ - ทุกข์อย่างเดียวเท่านั้นที่เกิดขึ้น"    "ทุกฺขํ  ติฏฺฐติ  เวติ  จ  -  ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่และดับไปหรือเปลี่ยนไป"   "นาญฺญตฺร  ทุกฺขา  สมฺโภติ – นอกจากความทุกข์แล้ว หาได้มีอะไรเกิดขึ้นไม่"  "นาญฺญตฺร  ทุกฺขา  นิรุชฺฌติ – นอกจากความทุกข์แล้ว หาได้มีอะไรดับไปไม่"

หลักข้อนี้เป็นเครื่องยืนยันตรงๆ ว่า ให้คนทั้งหลายได้พินิจพิจารณาดูให้เห็นตามที่เป็นจริงว่า ในบรรดาสิ่งที่เกิดๆ ดับๆ อยู่ในโลกนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมีแต่ความทุกข์อย่างเดียว ไม่มีความสุข. เขาจะต้องพิจารณาให้เห็นชัดเจนว่า “ไม่มีอะไรที่ไม่มีการเกิดการดับ” ในบรรดาสิ่งที่มาเกี่ยวข้องกับเรา; และในบรรดาสิ่งที่เกิด ๆ ดับๆ อยู่นั้น มันเป็นความทุกข์อยู่ในตัวความเกิดและความดับนั้นเองแล้ว เพราะฉะนั้น จึงไม่มีความสุขอันใดที่จะเกิดหรือดับ มีแต่ความทุกข์ แต่ที่เราไปสมมติเอาว่าเป็นสุขนั้น ก็เพราะเอาโมหะหรือความหลงเข้ามาช่วย คือหลงสําคัญผิดเป็นความสุขไปเอง

สมมติว่า สุขเวทนาที่เกิดมาจากกามารมณ์ นี้เป็นตัวอย่าง ที่ใครๆก็เรียกกันว่า “เป็นความสุข” เพราะให้เกิดสุขเวทนาในขณะนั้น ; แต่โดยหลักธรรมะที่แสดงอยู่ว่า สิ่งที่เรียกว่าเวทนานั้นย่อมเป็นเพียงสังขารชนิดหนึ่ง คือมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง แล้วก็ต้องเกิดๆ ดับๆ, ความที่ต้องดับนั้นต้องทําให้เกิดทุกข์แก่บุคคลผู้ยึดถือว่าเป็นของตน และอยากให้อยู่คงทนถาวร, หรือว่าอาการที่มันเกิดๆ ดับๆ นั้น มันย่อมทรมานจิตใจคนที่ยึดถือว่าเป็นของตน, หรือว่าอาการที่เกิดๆ ดับๆ นั้นย่อมแสดงความว่างจากสาระ ที่จะไปจับฉวยเอาเป็นจริงเป็นจังได้ เพราะมีแต่การเกิดๆ ดับๆ

สิ่งที่เรียกว่า “สุขเวทนา” กําลังหลงใหลมัวเมากันว่าเป็นความสุขสนุกสนาน เอร็ดอร่อย เพลิดเพลินนั้น ที่แท้ก็คือการเกิดการดับที่ถี่ยิบของสังขาร : หมายความว่า เวทนานั้นย่อมเกิดขึ้นมาจากผัสสะ ซึ่งเป็นการกระทบ มีการ เกิด-ดับ, เกิด-ดับ, เกิด-ดับ อยู่ทุกขณะที่ความคิดหรือความรู้สึกนั้นเปลี่ยนแปลงไป

ความรู้สึกเป็นสุขหรือสนุกสนานนั้น มันต้องเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่ว่ามันจะนิ่งวแน่ตายตัวลงไปอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วหยุดอยู่ ความสนุกสนานที่เดินไปเป็นเรื่องเป็นราวอย่างนั้นอย่างนี้นั้น คืออาการของการเกิด-ดับของสังขาร คือที่ปรุงเป็นความรู้สึกคิดนึกขึ้นมาได้ มองดูในลักษณะเช่นนี้ก็จะเห็นได้ว่า “เป็นมายา” ชนิดหนึ่ง เหมือนกับพยับแดด ซึ่งหลอกให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เข้าไปใกล้ก็ไม่มีอะไร ความรู้สึกที่เป็นสุขเวทนารู้สึกอยู่ในใจก็เป็นอย่างนั้น ถ้าโมหะครอบงำก็จะเห็นว่าเป็นตัวเป็นตน แต่พอสติปัญญาหรือความจริงเข้ามาเท่านั้น ก็ไม่มีตัวไม่มีตน กลายเป็นของที่เป็นเพียงมายา ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีความเที่ยงแท้ถาวร จึงให้เกิดความทุกข์แก่บุคคล ที่เข้าไปยึดถือว่า..สุขเวทนานี้ของเรา”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายชุดมาฆบูชาเทศนา หัวข้อเรื่อง “อันธตมมุยหกถา ความมืดสูงสุด คือความมืดของผู้ไม่เห็นธรรม” บรรยายเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๑ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “มาฆบูชาเทศนา” หน้า ๗๗-๗๘


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: