วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๓๒)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๓๒) ปัญหาที่ ๑๐ วัณณภณนปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า

“มมํ   วา   ภิกฺขเว   ปเร   วณฺณํ   ภาเสยฺยุํ,   ธมฺมสฺส   วา,   สํฆสฺส   วา   วณฺณํ   ภาเสยฺฺยํ,    ตตฺร   ตุเมฺหหิ   น    อานนฺโท,   น   โสมนสฺสํ,    น   เจตโส   อุปลาวิตตฺตํ  กรณียนฺติ”  (ที.สี. ๙/๔)  ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย คนอื่นๆ พึงกล่าวสรรเสริญเราบ้าง พึงกล่าวสรรเสริญพระธรรมบ้าง พึงกล่าวสรรเสริญพระสงฆ์บ้าง พวกเธอไม่ควรทำความเพลิดเพลิน ไม่ควรทำความดีใจ ไม่ควรทำความปลาบปลื้มใจ ในคำที่เขากล่าวสรรเสริญนั้น ดังนี้ และ เมื่อเสลพราหมณ์กล่าวสรรเสริญตามความเป็นจริงอยู่ พระตถาคตก็ทรงเป็นผู้เพลิดเพลิน ดีพระทัย ปราบปลื้มพระทัย ประกาศคุณของพระองค์เองให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า  

“ราชาหมสฺมิ  เสลาติ,  ธมฺมราชา  อนุตตโร   ธมฺเมน  จกฺกํ  วตฺเตติ  จกฺกํ  อปปฏิวตฺติยํ”  (ม.ม. ๑๓/๕๐๕)     ดูก่อน ท่านเสละ  เราเป็นพระราชา  คือเป็นพระธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม ยังธรรมจักรให้หมุนไป ซึ่งเป็นธรรมจักรที่ใครๆไม่อาจหมุนกลับ (เปลี่ยนแปลง) ได้” ดังนี้

พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย คนอื่นๆ พึงกล่าวสรรเสริญเราบ้าง พึงกล่าวสรรเสริญพระธรรมบ้าง พึงกล่าวสรรเสริญพระสงฆ์บ้าง พวกเธอไม่ควรทำความเพลิดเพลิน ไม่ควรทำความดีใจ ไม่ควรทำความปลาบปลื้มใจ ในคำที่เขากล่าวสรรเสริญนั้น ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า เมื่อเสลพราหมณ์กล่าวสรรเสริญตามความเป็นจริงอยู่ พระตถาคตก็ทรงเป็นผู้เพลิดเพลิน ดีพระทัย ปลาบปลื้มพระทัย ประกาศคุณของพระองค์เองให้ยิ่งขึ้นไป ดังนี้ ก็ไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่า เมื่อเสลพราหมณ์กล่าวสรรเสริญตามความเป็นจริงอยู่ พระตถาคตก็ทรงเป็นผู้เพลิดเพลิน ดีพระทัย ปลาบปลื้มพระทัย ประกาศพระคุณของพระองค์เองให้ยิ่งขึ้นไป จริงใจ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย คนอื่นๆ พึงกล่าวสรรเสริญเราบ้าง พึงกล่าวสรรเสริญพระธรรมบ้าง พึงกล่าวสรรเสริญพระสงฆ์บ้าง พวกเธอไม่ควรทำความเพลิดเพลิน ไม่ควรทำความดีใจ ไม่ควรทำความปลาบปลื้มใจ ในคำที่เขากล่าวสรรเสริญนั้น ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ปัญหาแม้ข้อนี้มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย คนอื่นๆ พึงกล่าวสรรเสริญเราบ้าง ฯลฯ ไม่ควรทำความปลาบปลื้มใจ ในคำที่เขากล่าวสรรเสริญนั้น ดังนี้ จริง และเมื่อ เสลพราหมณ์กล่าวสรรเสริญตามความเป็นจริงอยู่ พระตถาคตก็ทรงเป็นผู้เพลิดเพลิน ฯลฯ ประกาศคุณของพระองค์เอง ให้ยิ่งขึ้นไป ว่า   "ดูก่อน ท่านเสละ เราเป็นพระราชา ฯลฯ ซึ่งเป็นธรรมจักรที่ใครๆไม่อาจหมุนกลับได้  ดังนี้"  จริง ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาค เมื่อจะทรงแสดงสภาวะที่มีลักษณะพร้อมทั้งรส ตามความเป็นจริง ที่ไม่คลาดเคลื่อน ที่เป็นจริง ที่แท้ ที่มีความเป็นของแท้แห่งพระธรรม จึงตรัสไว้ก่อนว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย คนอื่นๆ พึงกล่าวสรรเสริญเราบ้าง พึงกล่าวสรรเสริญพระธรรมบ้าง ฯลฯ ไม่ควรทำความปลาบปลื้มใจ ในคำที่เขากล่าวสรรเสริญนั้น ดังนี้ ส่วนข้อที่ เมื่อเสลพราหมณ์กล่าวสรรเสริญตามความเป็นจริงอยู่ พระผู้มีพระภาคก็ทรงประกาศพระคุณของพระองค์เองให้ยิ่งขึ้นไป ว่า ดูก่อน ท่านเถระ เราเป็นพระราชา คือเป็นธรรมราชา ดังนี้เป็นต้น ใด ข้อนั้น ทรงประกาศไว้ หาใช่เพราะเหตุแห่งลาภไม่ หาใช่เพราะเหตุแห่งยศไม่ หาใช่เหตุแห่งตนไม่ หาใช่เหตุแห่งพวกพ้องไม่ หาใช่เพราะความอยากได้ศิษย์ไม่ ทว่า ทรงประกาศเพื่อจะอนุเคราะห์ประโยชน์เกื้อกูล ด้วยพระมหากรุณา ดำริว่า พราหมณ์ผู้นี้และมานพอีก ๕๐๐ คน จะมีการตรัสรู้ทำได้โดยประการอย่างนี้ ดังนี้ แล้วจึงตรัสถึงพระคุณของพระองค์เอง อย่างนี้ว่า ดูก่อน ท่านเสละ เราเป็นพระราชา เป็นธรรมราชาผู้ยอดเยี่ยม ดังนี้เป็นต้น.  พระเจ้ามิลินท์, ดีจริงพระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับตามคำที่กล่าวมานี.  จบวัณณภณนปัญหาที่ ๑๐

คำอธิบายปัญหาที่ ๑๐

ปัญหาเกี่ยวกับคำกล่าวสรรเสริญ ชื่อว่า วัณณภณนปัญหา.   คำว่า ที่มีลักษณะพร้อมทั้งรส ตามความเป็นจริง คือ ที่มีสภาวะลักษณะพร้อมทั้งรถคืออรรถ (ความหมาย, ความมุ่งหมาย) ตามความเป็นจริง.   คำว่า ข้อนั้น ทรงประกาศไว้ หาใช่เพราะเหตุแห่งลาภไม่ เป็นต้น คือข้อที่ทรงประกาศพระคุณตามความเป็นจริงว่า ดูก่อน ท่านเสละ เราเป็นพระราชา คือเป็นพระธรรมราชา เป็นต้นนี้ หาใช่ว่าทรงประกาศไว้ เพราะทรงปรารถนา จะได้มาซึ่งลาภเป็นต้น ไม่.    จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๐

ปัญหาที่ ๑๑ อหิงสานิคคหปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า  “อหึสาย  จร  โลเก,  ปิโย  โหหิสิ   มํมิว” (ขุ.ขา. ๒๗/๒๙๖)  จงประพฤติแต่ความไม่เบียดเบียนในโลก ท่านจะเป็นที่รักเหมือนเราเทียวและยังตรัสไว้อีกว่า  “นิคฺคเณฺห  นิคฺคหารหํ,  ปคฺคเณฺห  ปคฺคหารหํ” (ขุ.ขา. ๒๗/๕๓๒)  พึงข่มผู้ที่ควรข่ม พึงยกผู้ที่ควรยก  ดังนี้.   พระคุณเจ้านาคเสน ขึ้นชื่อว่าการข่ม ก็ได้แก่การตัดมือ ตัดเท้า การฆ่า การจำจอง การให้ทำงานหนัก การทรมานจนตาย การทำลายเครื่องสืบต่อชีวิต คำว่า ข่มนี้ ไม่สมควรแก่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคไม่ควรจะตรัสคำนี้

พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่าพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า จงประพฤติ แต่ความไม่เบียดเบียน ในโลก ท่านจะเป็นที่รัก เหมือนเราเทียว ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า พึงข่มผู้ที่ควรข่ม พึงยกผู้ที่ควรยก ดังนี้ ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่า พระตถาคตตรัสไว้ว่า พึงข่มผู้ที่ควรข่ม พึงยกผู้ที่ควรยก ดังนี้จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ว่า จงประพฤติแต่ความไม่เบียดเบียนในโลก ท่านจะเป็นที่รัก เหมือนเราเทียว ดังนี้ก็ย่อมไม่ถูกต้อง ปัญหาแม้ข้อนี้ ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า จงประพฤติแต่ความไม่เบียดเบียนในโลก ท่านจะเป็นที่รัก เหมือนเราเทียว ดังนี้ จริง และตรัสไว้ว่า พึงข่มผู้ที่ควรข่ม พึงยกผู้ที่ควรยก ดังนี้ จริง ขอถวายพระพร คำว่า จงประพฤติแต่ความไม่เบียดเบียนในโลก ท่านจะเป็นที่รักเหมือนเราเทียว ดังนี้ นี้ เป็นคำที่พระตถาคตทุกพระองค์ทรงเห็นชอบ นี่เป็นคำที่ทรงอนุศาสน์ นี้เป็นธรรมเทศนาของพระตถาคตทุกพระองค์ ขอถวายพระพร เป็นความจริงว่า พระธรรมมีความไม่เบียดเบียนเป็นลักษณะ คำนี้จึงเป็นคำที่ตรัสไปตามสภาวะ ส่วนคำที่พระตถาคตตรัสว่า พึงข่มผู้ที่ควรข่ม พึงยกผู้ที่ควรยก ดังนี้ นี้ เป็นเพียงภาษา.   ขอถวายพระพร จิตที่ฟุ้งซ่าน พึงข่มเสีย จิตที่หดหู่ พึงยกขึ้น อกุศลจิต พึงข่มเสีย กุศลจิต พึงยกขึ้น อโยนิโสมนสิการ พึงข่มเสีย โยนิโสมนสิการ พึงยกขึ้น ผู้ปฏิบัติผิด พึงข่มเสีย ผู้ปฏิบัติชอบ พึงยกขึ้น ผู้ไม่ใช่พระอริยะ พึงข่มเสีย ผู้เป็นพระอริยะ พึงยกขึ้น ผู้เป็นโจร พึงข่มเสีย ผู้ไม่ใช่โจร พึงยกขึ้น ดังนี้

พระเจ้ามิลินท์, เอาล่ะพระคุณเจ้านาคเสน บัดนี้ ตัวท่านได้กลับมายังวิสัยของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าถามเพื่อประโยชน์ใด ข้าพเจ้าก็ได้บรรลุถึงประโยชน์นั้นแล้ว พระคุณเจ้านาคเสน ผู้ที่จะข่มโจร จะพึงข่มอย่างไร ?

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร ผู้ที่จะข่มโจรพึงข่มอย่างนี้ คือว่า ถ้าควรด่าก็ต้องด่า ถ้าควรลงทัณฑ์ก็ต้องลงทัณฑ์ ถ้าควรขับไล่ ก็ต้องขับไล่ ถ้าควรจองจำ ก็ต้องจองจำ ถ้าควรฆ่า ก็ต้องฆ่า.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระตถาคตเจ้าทั้งหลายทรงเห็นชอบการฆ่าพวกโจรหรือ ?   พระนาคเสน, หามิได้ มหาบพิตร.   พระเจ้ามิลินท์, โจรก็เป็นผู้ที่พระตถาคตทรงเห็นชอบว่าเป็นผู้ที่ควรอนุศาสน์ (พร่ำสอน) หรือ ?   พระนาคเสน, ขอถวายพระพร โจรที่ถูกฆ่า หาได้ถูกฆ่าเพราะพระคาถาคตทรงเห็นชอบไม่ โจรผู้นั้นถูกฆ่าเพราะกรรมที่ตนเองได้ทำไว้ ก็แต่ว่าพระตถาคตจะทรงอนุศาสน์ พวกโจรด้วยคำอนุศาสน์ คือธรรมเทศนา ขอถวายพระพร พระองค์ทรงอาจจับเอาบุรุษผู้มิได้ทำผิด ผู้หาโทษผิดไม่ได้ ซึ่งกำลังเดินอยู่ที่ถนนไปฆ่า ได้หรือไม่ ?  พระเจ้ามิลินท์, ไม่อาจทำได้หรอก พระคุณเจ้า.   พระนาคเสน, เพราะเหตุไรหรือ มหาบพิตร ?พระเจ้ามิลินท์, เพราะเขาไม่ใช่คนทำผิด พระคุณเจ้า.   พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกันแลโจรหาได้ถูกฆ่าเพราะพระตถาคตทรงเห็นชอบไม่ เขาถูกฆ่าเพราะความผิดที่ตนเองได้ทำไว้ ก็แต่ว่าในเรื่องนี้ผู้ที่อนุศาสน์ โจร จะได้รับโทษอะไรๆ บ้างหรือ ?  พระเจ้ามิลินท์, ไม่ได้รับหรอก พระคุณเจ้า.   พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น คำที่พระตถาคต อนุศาสน์พวกโจรก็ย่อมจัดเป็นคำอนุศาสน์โดยชอบ.  พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมาอย่างนี้ นี้.  จบอหิงสานิคคหปัญหาที่ ๑๑

คำอธิบายปัญหาที่ ๑๑

ปัญหาเกี่ยวกับความไม่เบียดเบียน และการข่มผู้ที่ควรข่มชื่อว่า อหิงสานิคคหปัญหา.  คำว่า กลับมายังวิสัยของข้าพเจ้า คือไม่อาจตั้งอยู่ในวิสัย คือมติอันเป็นเขตแดนของท่านได้ ทว่า กลับมาตั้งอยู่ในวิสัยของข้าพเจ้า ซึ่งเป็นโอกาสที่ข้าพเจ้าสามารถข่มขี่วาทะของท่าน ให้ท่านจำต้องยอมรับคำของข้าพเจ้า ไม่อาจปฏิเสธได้.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๑

ปัญหาที่ ๑๒ ภิกขุปณามิตปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า “อกฺโกธโน  วิคตขิโลหมสฺมิ”  (ขุ.สุ. ๒๕/๓๒๘)  เราเป็นคนมีปกติไม่โกรธ ปราศจากธรรมเครื่องแข็งกระด้าง (หรือปราศจากความโกรธเป็นดุจตะปู)  ดังนี้   แต่ว่าอีกครั้งหนึ่งพระตถาคตทรงขับไล่ท่านพระสารีบุตร และท่านพระโมคคัลลานเถระ พร้อมทั้งบริษัท ด้วยคำว่า    “คจฺฉถ  ภิกฺขเว  ปณาเมมิ  โว,  น  โว  มม  สนฺติเก  วตฺถพฺพํ”  (ม.ม. ๑๓/๑๗๗)   นี่แน่ะ ภิกษุทั้งหลาย จงไปเสียเถอะ เราขอขับไล่พวกเธอ พวกเธอไม่ควรจะอยู่ในสำนักของเรา ดังนี้

พระคุณเจ้านาคเสน พระตถาคตทรงกริ้วหรือจึงทรงขับไล่บริษัท หรือว่าทรงมีพระทัยดีอยู่ ก็ขับไล่เล่า ข้อนี้ท่านต้องรู้ก่อนเทียว พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่าพระตถาคตทรงกริ้ว จึงทรงขับไล่บริษัท ไซร้ ถ้าอย่างนั้นพระตถาคตก็ยังทรงเลิกละความโกรธไม่ได้ ถ้าหากว่า ทรงมีพระทัยดีอยู่ก็ยังทรงขับไล่ ไซร้ ถ้าอย่างนั้น ก็เป็นอันว่า ไม่ทรงรู้อยู่ จึงทรงขับไล่ในเรื่องที่ไม่สมควร ปัญหาแม้นี้ ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระตถาคตทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า เราเป็นคนมีปกติไม่โกรธ ปราศจากธรรมเครื่องแข็งกระด้าง (หรือปราศจากความโกรธเป็นดุจตะปู) ดังนี้จริง และท่านทรงขับไล่ท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานเถระ พร้อมทั้งบริษัทจริง แต่ว่า ข้อที่ทรงขับไล่บริษัทนั้นหาได้ทรงกระทำไปเพราะความขุ่นเคืองไม่ ขอถวายพระพร บุรุษบางคนในโลกนี้ พลาดล้มลงไปบนแผ่นดินใหญ่ ตรงที่มีแต่รากไม้ก็ดี ตรงที่มีแต่ตอก็ดี ตรงที่มีแต่ก้อนหินก็ดี ตรงที่มีแต่โคลนตมก็ดี ตรงพื้นดินที่ขรุขระก็ดี ขอถวายพระพร แผ่นดินใหญ่ขุ่นเคือง ทำบุรุษคนนั้นให้ล้มลงไปหรือหนอ ?

พระเจ้ามิลินท์, หามิได้พระคุณเจ้า แผ่นดินใหญ่หามีความขุ่นเคืองใจ หรือความชื่นชมไม่ แผ่นดินใหญ่ปลอดพ้นจากความดีใจ เสียใจ บุรุษผู้นั้นซุ่มซ่ามเองเทียว จึงพลาดล้มลงไป.     พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ก็ไม่ทรงมีความขุ่นเคืองหรือความชื่นชม พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงเป็นผู้ปลอดพ้นแล้ว จากความดีใจ เสียใจ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุเหล่านั้น ก็เป็นอันถูกขับไล่เพราะความผิดที่ตนได้ทำไว้เอง.     ขอถวายพระพร มหาสมุทรในโลกนี้ ย่อมไม่อยู่ร่วมกับซากสัตว์ตาย มหาสมุทรจะซัดซากสัตว์ตายที่มีอยู่ในมหาสมุทรให้ลอยขึ้นฝั่งไป ขอถวายพระพร มหาสมุทรขั่นเคืองคืนซากซากศพนั้นหรือ ?

พระเจ้ามิลินท์, หามิได้พระคุณเจ้า มหาสมุทรหามีความขุ่นเคือง หรือความชื่นชมไม่ มหาสมุทรปลอดพ้นจากความดีใจ ความเสียใจ.   พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใดอุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระตถาคตเจ้าทั้งหลายก็ไม่ทรงมีความขุ่นเคือง หรือความชื่นชม พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงเป็นผู้ปลอดพ้นแล้วจากความดีใจ ความเสียใจ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุเหล่านั้น ก็เป็นอันถูกขับไล่เพราะความผิดที่ตนได้ทำไว้เอง.    ขอถวายพระพร บุรุษผู้พลาดพลั้งบนแผ่นดิน ย่อมล้มลงไป ฉันใด ภิกษุผู้ผิดพลาดในพระศาสนาอันประเสริฐของพระชินเจ้า ย่อมถูกขับไล่ ฉันนั้น ขอถวายพระพร ซากสัตว์ตายในมหาสมุทร ย่อมถูกซัดไป ฉันใด ภิกษุผู้ผิดพลาดในพระศาสนาอันประเสริฐของพระชินเจ้า ย่อมถูกขับไล่ ฉันนั้น ขอถวายพระพร มหาบพิตร บรรดาภิกษุเหล่านั้น พระตถาคตทรงขับไล่ภิกษุผู้ที่รักตน ต้องการประโยชน์ ปรารถนาความสุข ใคร่ความบริสุทธิ์ ทรงดำริว่า  “ภิกษุเหล่านี้ จะบริสุทธิ์จากชาติ ชรา พยาธิ และมรณะได้ ก็โดยประการอย่างนี้”  ดังนี้แล้ว จึงทรงขับไล่.     พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำตามที่ท่านกล่าวมากระนี้ นี้.   จบภิกขุปณามิตปัญหาที่ ๑๒

คำอธิบายปัญหาที่ ๑๒

ปัญหาเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าทรงขับไล่พระภิกษุ ชื่อว่า ภิกขุปณามิตปัญหา.    มีเรื่องว่า ท่านพระสารีบุตรและท่านพระโมคคัลลานเถระ เป็นหัวหน้าภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ซึ่งเป็นพระอาคันตุกะ นำภิกษุเหล่านั้นเข้าไปรอเฝ้าพระพุทธเจ้า ภิกษุเหล่านั้นทักทายกับภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเจ้าถิ่น จัดแจงเสนาสนะเตรียมบาตรและจีวรด้วยเสียงดังอื้ออึง พระพุทธเจ้าทรงทราบจากพระอานนท์แล้ว ก็รับสั่งให้ภิกษุเหล่านั้นเข้ามาเฝ้า ทรงตำหนิติเตียนว่า ส่งเสียงดังอื้ออึงราวกับพวกชาวประมงแย่งชิงปลากัน แล้วทรงขับไล่ภิกษุเหล่านั้นให้ออกไป ว่า นี่แน่ะ ภิกษุทั้งหลาย จงไปเสียเถอะ เราขอขับไล่พวกเธอ ดังนี้เป็นต้น อันบัณฑิตพึงทราบความพิสดารใน จาตุมสูตร.    จบภิกขุปณามิตปัญหาที่ ๑๒.   จบปณามิตวรรคที่ ๓ ในวรรคนี้มี ๑๒ ปัญหา.    จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๓๒.

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us/

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: