วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2564

จิตต้องว่างจากความรู้สึกเป็น“ตัวกู” เมื่อมีสิ่งเกี่ยวข้องกับอายตนะ

จิตต้องว่างจากความรู้สึกเป็น “ตัวกู” เมื่อมีสิ่งเกี่ยวข้องกับอายตนะ

“ปัญหาต่อไปอาจจะมีว่า เมื่อไรจิตจึงจะว่างจากความรู้สึกที่เป็น“ตัวกู” อย่างที่กล่าวแล้วนั้น ก็ตอบอย่างกําปั้นทุบดินอย่างเดิมอีกว่า เมื่อเห็นสิ่งต่างๆที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรา ที่เกี่ยวข้องอยู่กับเรานี้เป็นของว่าง หรือเห็นทั้งโลกเป็นของว่างเสียเลย อย่างพระพุทธเจ้าว่าจะดีกว่า เมื่อทุกสิ่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับเราหรือทั้งโลก พึงเห็นว่าเป็น “ของว่างจากตัวตน”

ตรงนี้ก็อยากจะพูดซ้ำหรือทวนให้ระลึกนึกถึงคําว่า “โลก” คําว่า “โลก” ไม่มีอะไรนอกจากสิ่งที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ของเรา  อะไรมีปริมาณเท่าไรที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรา โดยสัมผัสถูกต้องทางทั้ง ๖ นี้แล้วเราเรียกว่า “โลก”,  นอกจากนั้นก็ไม่มีความหมายหรือไม่ต้องมีความจําเป็นอะไรที่ต้องไปรู้ไปชี้กับมัน

เรื่องทั้งโลกก็มีเพียงแค่สิ่งที่มนุษย์จะรู้สึกได้ รู้จักได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ   ฉะนั้น สิ่งที่จะเรียกว่าโลกทั้งหมดทั้งสิ้น คือ “อารมณ์” (อารมณ์ มี ๖ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อายตนะภายนอก / ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ) ที่จะรู้สึกได้ด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  นั่นคือทั้งโลก, แล้วมันเข้ามากระทํากับเรา เข้ามาเกี่ยวข้องกับเราคราวละอย่าง เดี๋ยวทางตา เดี๋ยวทางหู เดี๋ยวทางจมูก เดี๋ยวทางลิ้น เดี๋ยวทางผิวหนัง เดี๋ยวทางจิตใจเอง,  อารมณ์จะเข้ามาพร้อมกันทุกทางไม่ได้ จะเข้ามาพร้อมกันทุกอย่างไม่ได้  โลกมันก็อยู่ที่โลกนั่นแหละ แต่แล้วมันเข้ามาเกี่ยวข้องกับจิตใจของคนเรานี้ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ฯลฯ เป็นคราวๆ แล้วก็คราวละอย่าง นี้คือโลก, ที่พูดว่าสิ่งที่มาเกี่ยวข้องกับเราคือโลก มาเกี่ยวข้องกับเรา เวลาใด เมื่อไร เท่าไร เราก็ต้องดูมัน และต้อนรับมันด้วยความรู้ของจิตว่าง ว่ามันเป็นของว่าง ไม่มีตัวตน ไม่มีสาระเป็นตัวตน มันเป็นตามธรรมชาติของมันอย่างนั้น ส่วนที่มันมากระทบจิตใจของเราก็เป็นอย่างนี้,  ส่วนที่มันยังไม่มากระทบจิตใจของเรามันก็เป็นอย่างนี้ แล้วก็ทั้งโลกเลย มันเป็นอย่างนั้น ที่เรียกว่า “โลกว่าง”

จะพูดว่าโลกว่าง คืออารมณ์ภายนอกที่จะมากระทบกับเราทั้งหมดทั้งสิ้นเป็นของว่าง อย่างนี้ก็ได้   แต่ที่ฉลาดละเอียดลึกซึ้งไปกว่านั้นมันก็ยังมีอยู่อีกความหมายหนึ่ง คือความหมายที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “โลกนี้คือทุกข์, ทุกข์นี้คือโลก”   ฉะนั้น “โลก” ก็คือ “ความทุกข์” นั่นแหละ โลกนั้นก็เป็นของว่าง เพราะความทุกข์นั้นเป็นของว่าง ถ้ามองเห็นความทุกข์เป็นของว่าง นี่แหละเป็นสิ่งที่วิเศษสุด ลัดสั้นที่สุด ทําให้หมดปัญหาเรื่องความทุกข์ไป.

มีใครคนหนึ่งเรียกการเห็นทุกข์เป็นของว่างอันนี้ว่า ฟิโลโซฟิคัล ยูโด กิเลสเป็นที่ตั้งแห่งการใช้ยูโด, เป็นยูโดทาง philosophy ทางปรัชญา หมายความว่า สามารถจะใช้วิธีการง่ายๆครั้งเดียว นิดเดียว ทําให้ความทุกข์นั้นสลายไปหมด ก็คือเรื่อง “ความว่าง” ไม่มีความทุกข์เกิดขึ้นเพราะทําให้ความทุกข์ว่างไป อย่างนี้ก็ไม่มีความทุกข์ คนโง่เห็นความทุกข์เป็นทุกข์  คนฉลาดเห็นความทุกข์เป็นความว่าง”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายชุดสุญญตาธรรม หัวข้อเรื่อง “สุญญตาเกี่ยวกับปริยัติ” บรรยายเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๑๔ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “สุญญตาปริทรรศน์ เล่ม ๒” หน้า ๓๓๐-๓๓๒


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: