วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ปัญหาของคำว่า “สุญญตา” “ความว่าง”

ปัญหาของคำว่า “สุญญตา” “ความว่าง” ตามที่พระพุทธองค์ตรัสว่า  “เธอจงเป็นผู้มีสติ มองเห็นโลก โดยความเป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อเถิด”

คําที่เป็นปัญหามากที่สุดในพระพุทธศาสนาเรา ก็คือคําว่า “ความว่าง” หรือ “สุญญตา” พระนิพพานนั้นถูกเรียกว่าเป็น “ปรมสุญญตา” คือ เป็นความว่างอย่างยิ่ง เมื่อสิ่งสูงสุดในพระพุทธศาสนาคือ “พระนิพพาน” แล้ว สิ่งที่เรียกว่า ความว่างอย่างยิ่งนั้นก็เป็นสิ่งสูงสุด, เป็นปัญหาสําคัญ นี้หมายถึงสิ่งที่เป็นที่ตั้งแห่งความปรารถนา เป็นวัตถุประสงค์ของการปฏิบัติพระพุทธศาสนา

ทีนี้ ลดลงมามองดูถึงการปฏิบัติตามหลักแห่งการปฏิบัติก็มีว่า ให้มองดูสิ่งทั้งปวงโดยความเป็นสุญญตาหรือความว่างอยู่เสมอ ; ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ โมฆราช สทา สโต = เธอจงเป็นผู้มีสติ มองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อเถิด”.   นี้เรียกว่าในทางปฏิบัตินั้นก็ต้องปฏิบัติด้วยการมองให้เห็นความว่างของสิ่งทั้งปวง ที่รวมเรียกกันว่า “โลก” ในที่นี้ ผู้ใดเห็นโลกโดยความเป็นของว่าง ผู้นั้นไม่มีความทุกข์ ; เพราะจะมองเห็นเป็นสิ่งที่ไม่เกิดไม่ดับไปหมด จึงไม่มีความทุกข์ได้

แต่ปัญหามันมามีอยู่ว่า คนทั้งหลายจะมองเห็นโลกเป็นของว่างไปได้อย่างไร? เพราะว่าคนทั้งหลายมองเห็นโลกนี้ว่าเต็มไปด้วยสิ่งต่างๆ นี้เป็นเครื่องแสดงว่า คําว่า “ว่าง” ในความรู้สึกของคนทั่วไปนั้นไม่ใช่อย่างเดียวกันกับคําว่า “ว่าง” ชนิดที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเสียแล้ว

คําว่า “ว่าง” ตามความรู้สึกของคนธรรมดาเป็นอย่างหนึ่ง ; คําว่า “ว่าง” ตามความหมายของพระพุทธเจ้านั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง เราจึงเข้าใจคําของท่านไม่ได้; ในเมื่อท่านบอกให้มองดูโลกโดยความเป็นของว่างอยู่ทุกเมื่อดังนี้ เราก็ไม่เข้าใจ. หรือเมื่อบอกว่านิพพานนั้นเป็นของว่างอย่างยิ่ง เราก็ยังไม่เข้าใจ และยิ่งไม่ต้องการนิพพาน โดยเข้าใจไปว่ามันว่าง ไม่มีอะไร ทั้งที่เราไม่เคยเห็นสิ่งนั้น และไม่เข้าใจในสิ่งนั้น

ทีนี้ เราลองมาพิจารณากันดูถึงความหมายของคําว่า “ว่าง” มันขัดขวางกันอยู่อย่างไร ? หรือมันกลับกันอยู่อย่างไร? เราจึงเข้าใจไม่ได้ ถ้าจะเข้าใจเรื่องนี้ให้ได้ก็ต้องระลึกนึกถึงคําที่กล่าวแล้วว่า คําคําเดียวมีความหมาย ๒ อย่าง เสมอไป ; ถึงแม้คําว่า “ว่าง” หรือ “ความว่าง” นี้ก็เหมือนกัน คําว่า ว่าง ทางวัตถุนั้นก็อย่างหนึ่ง, คําว่า ว่าง ในทางจิตหรือทางนามธรรมนั้นก็อย่างหนึ่ง

คําว่า ว่าง ในทางวัตถุนั้น หมายถึงไม่มีอะไรจริงๆ จึงจะเรียกว่า ว่าง

ส่วนคําว่า ว่าง ในทางธรรมะ หรือทางที่ไม่ใช่วัตถุนั้น ไม่ได้หมายความว่าว่างนั้นคือไม่มีอะไร หมายความไปอีกอย่างหนึ่งว่า คําว่า ว่าง นั้น มันหมายถึง “ไม่มีอะไรที่เราจะต้องสนใจหรือยึดถือ”. ดังนั้น มันจะมีอะไรให้มากมายไปสักเท่าไรก็ตามใจ เราไม่ยึดถือโดยความเป็นสิ่งที่น่ายึดถือ, หรือต้องยึดถือก็แล้วกัน  ความว่างชนิดนี้แหละเป็นความว่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอน โดยบทที่ว่า “ให้เห็นโลกโดยความเป็นของว่าง”. ในโลกนี้มีอะไรทุกอย่าง หรือว่าจะสรุปแล้วก็คือ สิ่งที่เรารู้จักได้ทาง ตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ หกทางนี้ แต่แล้วมันมีมากมายหลายหมื่นหลายแสน หลายล้าน หลายพันล้านอย่าง, ถ้ามองดูในทางวัตถุมันก็ไม่ว่าง. แต่ถ้ามองดูในทางธรรมะ ทางสติปัญญา ทางจิตใจ หรือทางปรัชญา ก็อาจจะมองเห็นได้ว่า มันว่างอยู่ในลักษณะหนึ่ง, คือ ว่างจากการที่จะมีตัวมันเองโดยเด็ดขาดและว่างจากส่วนที่เราจะไปยึดมั่นถือมั่นมันว่า เป็นตัวเรา หรือ เป็นของเรา.

ที่ว่าเมื่อมองดูด้วยสติปัญญาแล้ว จะเห็นว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่างนั้น ก็เพราะว่า บรรดาสิ่งเหล่านั้นมีความเกิดขึ้นและมีความดับไปเป็นธรรมดา   มีการเกิดดับอยู่เสมอดังนี้แล้ว ก็หมายความว่า “ไม่มีตัวตนที่ถาวร”, หรือ “ไม่มีตัวตนที่แท้จริง” ดังนั้น จึงเรียกว่าว่างจากตัวตนที่แท้จริง แม้ว่าจะมีอะไรเป็นปรากฏการณ์ต่างๆนานาสารพัดอย่าง ปรากฏได้แก่เราทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางผิวหนัง ทางจิตใจ ทุกอย่างทุกทางนี้ ; แต่แล้วมันก็ว่างจากความเป็นตัวตนที่แท้จริง, “เป็นเพียงมายา” ที่ผ่านไปแผล็บ ๆ แผล็ว ๆ เรื่อยไป ไม่มีที่สิ้นสุดตามเหตุตามปัจจัยของมันเอง ซึ่งเรียกว่าการเกิดและการดับ. ถ้าใครผู้ใดมองเห็นความจริงข้อนี้ ก็แปลว่าเป็นผู้มองเห็นความว่างในทางนามธรรมหรือทางจิตใจ หรือทางสติปัญญา อาจที่จะเข้าใจได้ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “โลกเป็นของว่าง.”

ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า โลกนี้ว่าง หรือ เป็นของว่าง นั้น ท่านหมายความว่า “ว่างจากตัวตน” หรือ “ว่างจากของตน” ดังที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง. ถ้ามันมีตัวตน มันก็ควรจะมีความถาวร หรือเป็นตัวมันเองได้ ไม่อยู่ในกระแสแห่งการเกิดดับเรื่อยไปเช่นนั้น , หรือว่า ถ้ามันมีตัวตนเป็นของตน มันก็ควรจะควบคุมตัวเองได้. เดี๋ยวนี้ไม่มีอะไรที่จะเป็นตัวตน, หรือเป็นไปตามความต้องการของตนได้ จึงเรียกว่า ว่างจากตัวตน ว่างจากของตน ; มีแต่กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง คือ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป, เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป, ซึ่งเรียกว่า กระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้เท่านั้น ดังนั้น จึงเรียกว่า สิ่งเหล่านั้นว่างจากตัวตน หรือว่างจากของตน ; และมีหลักที่จะกําหนดจดจําได้โดยง่ายว่า “ ที่เรียกว่าว่างนั้น เพราะว่างจากตัวตน หรือ ว่างจากของตน ”.

พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอน ให้มองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างนั้น ก็คือ ให้เห็นความว่างจากตัวตน และ ของตน อย่างนี้ และที่ตรัสให้มีสติอยู่เสมอก็หมายความว่า ให้เห็นความว่างชนิดนี้อย่างแจ่มแจ้งอยู่เสมอไป. อย่าได้เผลอหลงเห็นเป็นตัวเป็นตน ที่น่ายึดถือแต่ประการใดขึ้นมา เมื่อใดเผลอไปเกิดความรู้สึกเห็นเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาแล้ว เมื่อนั้นเรียกว่าเกิด และเป็นทุกข์ เพราะ มีตัวตน ; มีความรู้สึกเป็นตัวตนหรือเป็นของของตน ก็ต้องมีความทุกข์ เพราะความวิตกกังวล ความยึดมั่นถือมั่น”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : อาสาฬหบูชาเทศนา หัวข้อเรื่อง “นิโรธธัมมอุปายกถา ธรรมอันเป็นอุบายเพื่อความดับแห่งทุกข์” เทศนาเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๐๙ ณ ศาลาโรงธรรม สวนโมกขพลาราม จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “อาสาฬหบูชาเทศนา” หน้า ๔๙๙ – ๕๐๒

โลกนี้คือสิ่งซึ่งเป็น “อนัตตา” “สุญญตา”

โลกนี้ คือสิ่งซึ่งเป็น “อนัตตา”, เป็น “สุญญตา”, โลก คือ สิ่งที่ไม่ใช่ตน และว่างจากตัวตน พระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสอย่างนี้ “เมื่อใดมองเห็นโลกโดยความเป็นของว่าง มัจจุราชก็จะไม่มองเห็นท่าน คือจับตัวท่านไม่ได้อีก” คําว่า “ว่าง” ในที่นี้หมายความว่าหาสิ่ง หาส่วนหาอะไรที่จะควรแก่คําว่า “ตัวตน” นั้นมันไม่ได้ มันไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงเสียเรื่อย จะเอาตรง ไหนเป็นตนได้; และทุกๆ อย่างมันไม่มีอะไรมากไปกว่าการที่ปรากฏแก่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ. ถึงเจ้า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นของที่ไหลเรื่อย เปลี่ยนแปลงเรื่อย มันจะเอาจริงกันที่ตรงไหนก็ไม่ได้ เมื่อของข้างในคือสิ่งที่จะรับเอาโลกนั้นเข้ามา มันก็เป็นของที่เปลี่ยนแปลงเรื่อยเสียเองอย่างนี้ ทั้งหมดก็เลยพลอยเปลี่ยนแปลงเสียหมดด้วย. นี้ก็เรียกว่าว่างเหมือนกัน ว่างจากตัวตน

คําว่า “ตัวตน” นี้ มันมาจากความยึดถือสิ่งที่รัก ที่ถูกใจ ที่พอใจ ได้อย่างใจ จึงเรียกว่าตัวตน. ถ้าไม่ได้อย่างใจก็ไม่เรียกว่าของตนหรือตัวตน. ทีนี้เราไปเข้าใจว่ามันได้อย่างใจ เลยมีตัวตนขึ้นมา พวกที่ยังไม่รู้ว่าทุกอย่างมันไม่อยู่ในอํานาจหรือในวิสัยของใคร มันเปลี่ยนไปตามเรื่องของมัน เรายังไม่ทันรู้ เราจึงไปเข้าใจเอาว่าตัวเรา ว่าของเรา, ว่าตัวกู ว่าของกู : เงินทองข้าวของก็เป็นของกู จิตใจที่ยังไม่คิดทําอะไรขึ้นมา ก็เรียกว่าตัวกู

ที่ละเอียดยิ่งไปกว่านี้ คือสรุปให้มันเหลือน้อยเข้าก็ว่า “โลกนี้ คือ ธรรมชาติล้วนๆ” ไม่ทราบว่าจะใช้คําพูดว่าอะไรดี ก็ถือเอาตามตัวหนังสือ ตามบาลีนั้น ๆ โดยที่บาลีมันมีอยู่ว่า  “สุทธํ ธมฺมสมุปฺปนฺนํ” แปลว่า เป็นของเกิดขึ้นแห่งธรรมชาติล้วนๆ, “สุทฺธํ สงฺขารสนฺตตึ” เป็นเพียงการสืบต่อของสังขารล้วนๆ พึงฟังดูให้ดี ว่า “เป็นเพียงการเกิดขึ้นแห่งธรรมชาติล้วน ๆ เป็นเพียงการสืบ

ต่อเนื่องกันของสังขารล้วนๆ” นี้ก็คือ “โลก” ล่ะ ไม่มีตัวตน ไม่มีอะไรที่ไหน นอกจากการเกิดขึ้นอย่างธรรมชาติล้วน ๆ, ธรรมชาติล้วนๆ ก็หมายความว่าไม่ใช่พระเจ้า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล อะไรอื่น นอกจากว่าเป็นธรรมชาติล้วน ๆ : แล้วก็เป็นการสืบต่อของสังขารล้วนๆ สังขาร คือ สิ่งที่มันได้รับการปรุงแต่ง, และปรุงแต่งสิ่งอื่นต่อไป นี้เรียกว่า “สังขาร” ไม่มีตัวเองที่ไหน

ทุกสิ่งที่เรียกว่า “สังขาร” นั้น หมายความว่ามันเกิดขึ้นมาด้วยสิ่งอื่นปรุงแต่ง ไม่มีเนื้อหาสาระเป็นแก่นสารตัวตนอะไรที่ไหน, มันปรากฏขึ้นมาในลักษณะหนึ่งได้ เพราะมีอะไรๆหลายๆอย่างปรุงแต่งสร้างขึ้นมา แล้วมันเองก็ปรุงแต่งสร้างสิ่งอื่นต่อไป”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายหัวข้อเรื่อง “โลกในทรรศนะของพุทธบริษัทคืออะไร” เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๔ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่ม “สันทัสเสตัพพธรรม” หน้า ๑๖๐-๑๖๑

อธิบายความหมายของคำว่า… “สุญญตา” “โลกว่าง” “จิตว่าง”

“พระพุทธเจ้าตรัสว่า “โลกนี้ว่าง เพราะไม่มีสิ่งใดที่ควรถือว่าเป็น “ตัวตน” หรือ “ของตน” เป็น“ตัวเรา” หรือ“ของเรา”...   จิตที่ไม่ยึดถืออะไร ว่าเป็นตัวตน ของตน หรือกำลังไม่ยึดถืออะไร ว่าเป็นตัวตน ของตน นี้ ขอเรียกว่า “จิตว่าง” เพราะไม่มีคำอื่นที่ดีกว่านี้

มีคำอธิบายใน “ธัมมัปปโชติกา ภาค ๑” ว่า   “ ราคโทสโมเหหิ สุญฺญตตฺตา สุญฺญโต” (แปลว่า) ชื่อว่า สุญญตา เพราะว่าว่างจาก ราคะ โทสะ โมหะ เพราะจิตในขณะนั้นประกอบด้วยปัญญาเห็นว่าโลกว่าง 

ด้วยเหตุนี้แหละ พระพุทธเจ้าท่านจึงตรัสสอนว่า “จงมองดูโลกนี้โดยความเป็นของว่างอยู่เสมอ” เหมือนอย่างทรงสอน โมฆราช ใน #โสฬสปัญหา ว่า “ สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ โมฆราช สทา สโต = ดูก่อน โมฆราช เธอจงเป็นผู้มีสติ มองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างอยู่เสมอไป” เมื่อเห็นโลกโดยความเป็นของว่าง จิตก็ไม่มีความยึดถืออะไรด้วยอุปาทาน ความว่างอย่างนี้ของจิตเราเรียกว่า “สุญฺญตา”

ฉะนั้น เราได้ใจความครั้งแรกว่า “โลกนี้ว่าง” เพราะว่างจาก ตัวตน ของตน ได้ใจความถัดมาว่า “จิตว่าง” เพราะว่างจาก ราคะ โทสะ โมหะ โดยเหตุที่จิตนี้ได้มองเห็นว่า..โลกนี้ว่าง ไม่มีอะไรที่ควรยึดถือ ว่าตัวตน-ของตน นี่คือความหมายของคำว่า “สุญญตา”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายเรื่อง “สุญฺญตา หัวใจของพุทธศาสนา”

“การเห็นสุญญตา”

“การเห็นสุญญตา กล่าวคือ การเห็น นาม และ รูป หรือสิ่งทั้งปวง ว่าเป็นของ “ว่างจากตัวตน”โดยสิ้นเชิง จะทำให้เห็นความไม่มีการเกิดของอะไรๆทั้งสิ้น

ไม่มีใครเกิดมาเสียตั้งแต่แรก แล้วจะมีใครตายได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ความตายจึงไม่มี.    การเห็นสุญญตาทำให้ไม่มีตัวคนเรา หรือตัวตนของใครเลย มีแต่ “ สุทฺทธมฺมา ปวตฺตนฺติ : ธรรมชาติล้วนๆไหลไป ”   จิตไม่มีความรู้สึกยึดว่า เราเกิดขึ้น เรามีอยู่ เราดับไป.   ฉะนั้น ความตายจึงไม่มี สำหรับจิตที่มองเห็นสุญญตาอย่างถูกต้อง”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยาย หัวข้อเรื่อง “ตายก่อน ก่อนตาย ชีวิตที่ชนะความเกิด แก่ เจ็บ ตาย”

ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ - รวบรวม



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: