วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2564

“ยามผจญกับการแก้แค้น”

“ยามผจญกับการแก้แค้น”

กาลครั้งหนึ่ง พระนางมาคันทิยาซึ่งเป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าอุเทนเจ้าผู้ครองนครโกสัมพี พระนางได้ผูกอาฆาตในพระศาสดาถึงกับให้ค่าจ้างแก่ชาวเมืองที่เป็นทาสและกรรมกร เพื่อให้ด่าให้บริภาษพระบรมศาสดาผู้เสด็จเข้าไปสู่ภายในพระนครไล่ให้หนีไป พวกคนมิจฉาทิฏฐิผู้ไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัยก็ติดตามด่าพระบรมศาสดา ด้วยถ้อยคำสำหรับด่า ๑๐ อย่าง เช่นเจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นพาล เจ้าเป็นบ้าเป็นต้น

พระอานนท์ฟังคำนั้นแล้วได้กราบทูลพระบรมศาสดาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชาวเมืองเหล่านี้ ย่อมด่า ย่อมบริภาษพวกเรา พวกเราจะไปในที่อื่นจากที่นี้” พระบรมศาสดาตรัสถามว่า "เราจะไปที่ไหน ? อานนท์" พระอานนท์กราบทูลว่า "ไปเมืองอื่น พระเจ้าข้า"  พระบรมศาสดาตรัสถามอีกว่า “เมื่อพวกมนุษย์ในเมืองนั้นด่าอีก เราจักไปในที่ไหนกันอีกเล่า ? อานนท์” พระอานนท์ก็กราบทูลว่า “พวกเราก็หนีไปเมืองอื่นแม้จากเมืองนั้นๆ” 

แต่พระบรมศาสดาทรงให้ข้อคิดว่า “การอดทนต่อถ้อยคำที่คนทุศีลเป็นจำนวนมากด่านั้นเป็นภาระของเรา เพราะเราเป็นเช่นกับช้างตัวก้าวลงสู่สงครามต้องอดทนต่อลูกศรที่พวกข้าศึกยิงมาจากทิศทั้ง ๔” แล้วทรงแสดงธรรมว่า "เราจักอดกลั้นถ้อยคำล่วงเกิน ดังพญาช้างอดทนต่อลูกศรซึ่งยิงมาจากแล่งธนูในสงคราม เพราะคนเป็นอันมากเป็นผู้ทุศีล ในหมู่มนุษย์ผู้ใดอดกลั้นถ้อยคำล่วงเกินได้ ผู้นั้นชื่อว่าฝึกตนแล้ว ย่อมเป็นผู้ประเสริฐที่สุด  ม้าอัสดรก็ดี ม้าอาชาไนยก็ดี ม้าสินธพก็ดี พญาช้างกุญชรก็ดี ตัวที่ฝึกแล้ว จัดเป็นสัตว์ประเสริฐ  แต่มนุษย์ผู้ฝึกตนเองได้แล้วเป็นผู้ประเสริฐกว่าสัตว์เหล่านั้น”

และพระบรมศาสดาตรัสห้ามว่า "อานนท์ เธออย่าคิดเลย คนเหล่านั้นจักด่าได้เพียง ๗ วันเท่านั้น ในวันที่ ๗ ก็จักเงียบไปเอง เพราะว่าอธิกรณ์ซึ่งเกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่เกิน ๗ วันก็จบ"

เพราะฉะนั้น เรื่องบางอย่างก็ต้องรอเวลาและต้องใช้ความอดทน เมื่อความจริงปรากฏทุกอย่างก็จบ ฯ

สาระธรรมจากธรรมบทภาค ๒ (เรื่องพระนางสามาวดี)

พระมหาวัชระ  เชยรัมย์  (ติกฺขญาโณ)

9/6/64




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: