วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2564

พระพุทธศาสนาสรรเสริญ “การฝึกฝนตน”

พระพุทธศาสนาสรรเสริญ “การฝึกฝนตน” มนุษย์เป็นสัตว์ที่ “ต้องฝึก ต้องศึกษา” จึงประเสริฐ

“คนเรานั้นพัฒนาได้ อันนี้เป็นความเชื่อที่สำคัญมากในพระพุทธศาสนา คือเชื่อว่ามนุษย์นี้เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ อย่างใน“พระพุทธคุณ” ถ้าท่านสังเกต สวดไปจะมีคำว่า  “อนุตฺตโร  ปุริสทมฺมสารถิ.” แปลว่า  เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ผู้ยอดเยี่ยม ไม่มีคนอื่นยิ่งกว่า ขอให้สังเกตว่าในคำว่า “ปุริสทมฺม” นั้น ตัว ทมฺม ไม่ใช่ ธมฺม ที่แปลว่า ธรรม ที่เป็นกุศลธรรมหรืออกุศลธรรม หรือ ธรรม ความดี ความชั่ว เป็น ท. ไม่ใช่ ธ.

“ทัมมะ” นี้เป็นรูปหนึ่ง เป็นรูปคุณนามของ “ทมะ” ที่กล่าวมาเมื่อกี้ แสดงว่า ทมะ มีความสำคัญ จึงมาปรากฏตัวอยู่ในบทพุทธคุณนี้ด้วย “ทมฺม” หมายความว่า คนเรานี้เป็นสัตว์ที่ฝึกฝนได้ ฝึกฝนได้ตั้งแต่ยังมีสัญชาตญาณป่าเถื่อน ไปจนกระทั่งสูงสุดเป็นพระพุทธเจ้า อย่างในคาถาเมื่อกี้ว่า “มนุสฺสภูตํ สมฺพุทฺธํ อตฺตทนฺตํ สมาหิตํ” แปลว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งที่เป็นมนุษย์นี่แหละ พระองค์ฝึกอบรมตนแล้ว เป็นผู้มีจิตตั้งมั่น ท่านบรรยายคุณสมบัติต่อไปอีกหลายอย่าง แล้วลงท้ายว่า แม้แต่ทวยเทพทั้งหลายก็นมัสการ นอบน้อมเคารพบูชา

เป็นอันว่า พระพุทธศาสนาสรรเสริญการฝึกฝนตน และถ้าจะเทียบศัพท์ปัจจุบันก็เรียกว่า  “มนุษย์มีศักยภาพ” พุทธศาสนาเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ อันนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก

แม้แต่ในหลักพระรัตนตรัย ข้อแรกในพระรัตนตรัยก็คือ “พระพุทธเจ้า” ความหมายอย่างหนึ่งของพระรัตนตรัยก็คือ สร้างความมั่นใจให้พุทธศาสนิกชนว่า พระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง เป็นผู้นำของเราที่แสดงว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ พระองค์ก็เคยเป็นมนุษย์ปุถุชนมาก่อน แต่ได้ทรงบำเพ็ญบารมีสร้างสมคุณธรรม จนกระทั่งผลที่สุดก็ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ถ้าเราทั้งหลายเชื่อในพระองค์ เชื่อในพระปัญญาที่ตรัสรู้ เราก็จะเชื่อในตนเองด้วยว่าเรานี้ก็มีความสามารถ มีศักยภาพในตัวที่จะฝึกฝนตนเองได้อย่างพระองค์

เราจะเห็นว่า พระพุทธศาสนาเน้นประวัติการฝึกตนของพระพุทธเจ้า ที่ท่านมี “คัมภีร์ชาดก” กันมากมาย ๕๕๐ ชาตินั้น จุดมุ่งหมายสำคัญก็เพื่อ..แสดงให้เห็นกระบวนการฝึกหัดอบรมตน หรือ การพัฒนาตนของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่เป็นปุถุชน ตั้งแต่เป็นสัตว์เดรัจฉาน จนกระทั่งได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น ถ้าเราเป็นพุทธศาสนิกชนแล้วต้องมีกำลังใจ อย่าไปท้อว่าเราไม่สามารถพัฒนาตนได้ แม้แต่จะ “ปรารถนาพุทธภูมิ” เป็นพระพุทธเจ้า ก็สามารถเป็นได้ด้วยการบำเพ็ญบารมี หลักพุทธคุณเป็นองค์พระรัตนตรัยข้อที่หนึ่ง ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นอันนี้ขึ้นมา

ที่กล่าวมานี้เป็นหลักเป็นฐานเบื้องต้นทีเดียว และพระพุทธศาสนายังสอนหลักธรรมเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้อีกมากมาย เช่น การจำแนกบุคคลเป็น ๔ ประเภท เป็นดอกบัว ๔ เหล่า เป็นการสอนเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล พระพุทธเจ้าก็จะต้องมีญาณหยั่งรู้ความแตกต่างแห่งบุคคล ท่านเรียกว่า “อินทริยปโรปริยัตตญาณ” ญาณหยั่งรู้ความยิ่งและหย่อนแห่งอินทรีย์ของสัตว์ทั้งหลาย ต้องรู้ว่ามนุษย์ยังอยู่ในระดับการพัฒนาตนต่างกันอย่างไร คนไหนควรจะสร้างความพร้อม ทำอินทรีย์ให้แก่กล้าขึ้นไปอย่างไร และทรงมีวิธีการของพระองค์ เพราะทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ยอดเยี่ยม พระองค์จึงทรงหาวิธีมาฝึกให้เขาพร้อม ให้มีอินทรีย์แก่กล้าขึ้นไปโดยลำดับ

หรืออีกข้อหนึ่ง ใน “ทศพลญาณ” เป็น “นานาธิมุตติกญาณ” ญาณหยั่งรู้อธิมุตติ คือความสนใจและแนวโน้มเอียงในบุคคลที่แตกต่างกัน เป็นต้น ซึ่งทำให้พระองค์เกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านั้น ในการสั่งสอนให้บรรลุผลสำเร็จ

เป็นอันว่า ในทางพระพุทธศาสนามีความเชื่อพื้นฐานว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ หรืออย่างที่ใช้ศัพท์สมัยปัจจุบันว่า “มีศักยภาพอยู่ในตัวที่จะพัฒนาได้”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : ธรรมนิพนธ์เรื่อง “หลักแม่บทของการพัฒนาตน”

มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ต้องศึกษา จึงประเสริฐ

“หลักการของพระพุทธศาสนา คือ ไตรสิกขา หรือ ไตรศึกษา ( อธิสีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา ) เพราะว่ามนุษย์เป็นสัตว์พิเศษ เราเรียกกันว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ.    หลักพระพุทธศาสนาสอนว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก เรียกว่า “ทัมมะ” และเพราะเป็นคนก็เรียกว่า “ปุริสทัมมะ”

 “ทัมมะ” เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ และต้องฝึก คำนี้จึงมาอยู่ในพระพุทธคุณ ๙ ประการ ว่า “อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ” พระพุทธเจ้าเป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษ(คือคนที่ต้องฝึก หรือพึงฝึก)ไม่มีใครยิ่งกว่า แสดงถึงธรรมชาติของมนุษย์ว่า เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก

“ฝึก” คือ ต้องเรียนรู้ ต้องฝึกฝน ต้องพัฒนา พูดสั้นๆว่า “ต้องศึกษา” นั่นเอง! ถ้าไม่ฝึกฝนพัฒนาแล้ว มนุษย์หามีความประเสริฐไม่ เพราะว่ามนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่โดยลำพังถ้าไม่มีการฝึกฝนพัฒนาแล้วสู้สัตว์ชนิดอื่นไม่ได้เลย สัตว์ชนิดอื่นอยู่ได้ด้วยสัญชาตญาณ เกิดมาจากท้องแม่วันนั้นก็เดินได้ ว่ายน้ำได้ หากินได้ แต่มนุษย์นั้นเกิดมา ถ้าทิ้งก็ตายทันที เลี้ยงมาตั้งปียังช่วยตัวเองไม่ได้ อยู่ไม่รอด...

พระพุทธเจ้าตรัสว่า  “ทนฺโต  เสฏฺโฐ  มนุสฺเสสุ.”  ในหมู่มนุษย์ ผู้ที่ฝึกแล้วประเสริฐ  พระพุทธเจ้าตรัสว่า มนุษย์ฝึกแล้วจึงประเสริฐต่างหาก  พระองค์ไม่เคยตรัสว่า  มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐขึ้นมาเฉยๆ มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐด้วยการฝึก หรือมนุษย์ที่ฝึกแล้วจึงเป็นสัตว์ประเสริฐ”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : จากธรรมนิพนธ์ “สถานการณ์พระพุทธศาสนา ทวนกระแสไสยศาสตร์”

ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ – รวบรวม



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: