วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ระบบที่เรียกว่า หนอๆ เดินหนอๆ กินหนอๆ

ระบบที่เรียกว่า หนอๆ เดินหนอๆ กินหนอๆ 

มันสักแต่ว่าอิริยาบถ กิริยาอาการตามธรรมชาติ ไม่มี “ตัวกู” ผู้เดิน ผู้กิน ฯ

ทีนี้ อาตมาจะพูดถึงระบบปฏิบัติ ที่เขาใช้กันอยู่โดยมากเวลานี้ ในสํานักวิปัสสนา สํานักปฏิบัติธรรมต่าง ๆ คือ ระบบที่เรียกว่า หนอๆ หนอๆ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ กินหนอ กลืนหนอ, อะไรที่เรียกว่าระบบหนอ ๆ แพร่หลายมากที่สุด.

เข้าใจว่าหลายคนคงเคยลองปฏิบัติมาแล้ว เพราะมันแพร่หลายนัก แต่รู้สึกว่ามันยังไม่ถูกต้องตามความลับหรือความจริงของธรรมชาติ, คือมันไม่ถูกเทคนิคของธรรมชาตินั้นเอง เราต้องมีการใช้เทคนิคการปฏิบัติ ระบบหนอๆ หนอๆ นี้กันเสียใหม่ให้ถูกต้อง ถ้าไม่ถูกต้องมันกลายเป็นตรงกันข้าม แทนที่จะให้ผลดีมันให้ผลร้าย.

คําว่า “หนอ” ตีความหมายได้ทั้ง ๒ ฝ่ายแหละ เช่นปฏิบัติกรรมฐานวันแรกก็ให้เดินจงกลม ว่า “เดินหนอๆ เดินหนอ” หรือจะซอยเป็นหลายจังหวะว่า ยกเท้าหนอ ยื่นเท้าหนอ เหยียบเท้าหนอ ยกเท้าหนอ ยื่นเท้าหนอ เหยียบเท้าหนอ มันก็คือ เดินหนอ อยู่นั่นแหละ, เราใช้คําว่า “เดินหนอ” ดีกว่า

ทีนี้ เดินหนอๆ เดินหนอ ถ้าว่าคนมันโง่ไปแล้ว มันก็ว่า “กูเดินหนอ กูเดินหนอ” ถ้าอย่างนี้แล้วมันผิดหมด มันเป็น “มีกู”เดินหนอ. ที่ถูก หนอๆ นี้มันมีความหมายว่า “มันสักแต่ว่าเป็นอิริยาบถที่เรียกกันว่าเดินตามธรรมชาติเท่านั้นหนอ”. สักว่ากิริยาอาการเดินตามธรรมชาติเท่านั้นหนอ “ไม่มีตัวกูผู้เดิน”. ที่เขาบอกว่าเดินหนอ เดินหนอ ให้มันปรากฏแจ่มแจ้งอยู่ในใจว่า มันสักว่ามีกิริยาที่สมมติเรียกกันว่าเดิน, เป็นอาการตามธรรมชาติ แล้วเรียกว่าเดิน, มันมีแต่สักว่าอาการเดินเท่านั้นหนอ ไม่มีตัวกูผู้เดิน, ฉะนั้น ถ้าบริกรรมว่า เดินหนอๆ เดินหนอ นั้น ให้รู้เถอะว่า มันมีแต่อาการที่เรียกว่าเดินเท่านั้นหนอ, เท่านั้นหนอ ไม่มีตัวฉันผู้เดิน ถ้าอย่างนี้เรียกว่าถูกเทคนิคของการที่มันจะขจัด“ตัวกู ของกู”ออกไป; ถ้าไปย้ำว่า กูเดินหนอ กูเดินหนอ กูเดินหนอ มันก็เพิ่มตายแหละ มันก็เพิ่ม“ตัวกู ของกู”มากกว่าเดิม มันก็ผิดแหละ

กินหนอ กินหนอ มันสักแต่กิริยาอาการที่เขาเรียกว่า “กิน” เท่านั้นแหละ “ไม่มีตัวกูผู้กิน”, ตามธรรมชาติร่างกายนี้ ระบบประสาทนี้มันก็ทํากิริยากินได้ พวกสัตว์ทั้งหลายมันก็กินได้, ต้นไม้นี้มันก็กินได้, มันเป็นอาการตามธรรมชาติ แล้วก็สักว่ามีอาหารเข้าไป ที่เรียกว่าการกิน เท่านั้นหนอ, สักว่ากิริยากินเท่านั้นหนอ “ไม่มี“ตัวกูผู้กิน” ถ้าทําอยู่อย่างนี้ มันก็ไม่มีตัวกูผู้กิน ไม่มีตัวกูผู้กินในเวลาที่กิน ถ้าไม่ทําอย่างนี้ จิตมันจะมีตัวกูผู้กิน, แล้วจะเอาอร่อย แล้วจะเอามาก แล้วจะเอาตามพอใจ. ฉะนั้น จึงมาบอกให้ป้องกันเสีย มันสักว่าเป็นกิริยากินตามธรรมชาติ ตามสมมติเท่านั้นหนอ, ไม่มีตัวใครที่เป็นผู้กิน

นี้ถ้าว่ามันอร่อยขึ้นมา เมื่อเคี้ยวอยู่ กินหนอ เคี้ยวหนอนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเคี้ยวอยู่ๆ มันก็เป็นอาการเคี้ยวตามธรรมชาติเท่านั้นหนอ, ไม่มีบุคคลผู้เคี้ยว. ทีนี้ ถ้ามันอร่อยขึ้นมา คํานั้นมันเกิดอร่อยขึ้นมา โอ นี่ความรู้สึกแก่ระบบประสาทในปากตามธรรมชาติเท่านั้นหนอ, ไม่มีกูผู้อร่อย, ไม่มีความอร่อยของกู มีแต่ความรู้สึกชนิดนี้ เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ปรากฏแก่ระบบประสาทที่ลิ้น แล้วเราเรียกมันว่าความอร่อย ฉะนั้น จึงกําหนดว่า มันเป็นสักว่าความรู้สึก ที่เรียกกันว่าความอร่อยเท่านั้นหนอ, ไม่มีตัวกูผู้อร่อย, หรือไม่มีความอร่อยเป็นของกู”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายประจำวันเสาร์ แห่งภาคอาสาฬหบูชา ๒๕๒๖ ครั้งที่ี ๕ หัวข้อเรื่อง “ฟ้าสางในเรื่องทางจิต” เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๒๖ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่มชื่อว่า “ฟ้าสางระหว่าง ๕๐ ปี ที่มีสวนโมกข์ ตอน ๒” หน้า ๑๘๘-๑๘๙


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: