วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ฟังธรรมอะไรจะหายป่วยได้ ?

ฟังธรรมอะไรจะหายป่วยได้ ?

ณ เชตวัน ใกล้นครสาวัตถี พระอานนท์ได้กล่าวกับพระพุทธเจ้าว่า :- 

พระอานนท์ : ภันเต พระคิริมานนท์กำลังป่วยหนัก เป็นทุกข์มาก ขอท่านได้โปรดไปเยี่ยมด้วยเถิด. 

พระพุทธเจ้า : อานนท์ เธอจงเข้าไปหาคิริมานนท์แล้วกล่าวถึงสัญญา (การจำได้ ระลึกได้) 10 ประการ คิริมานนท์จะหายป่วยเพราะได้ฟังสัญญา 10 ประการนั้น 

10 ประการนั้นมีอะไรบ้าง 10 ประการนั้น คือ  อนิจจสัญญา, อนัตตสัญญา, อสุภสัญญา, อาทีนวสัญญา, ปหานสัญญา, วิราคสัญญา, นิโรธสัญญา, สัพพโลเกอนภิรตสัญญา, สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา, และอานาปานัสสติ

อนิจจสัญญา คือ การพิจารณาเห็นว่าร่างกาย (รูป) ไม่เที่ยง ความรู้สึก (เวทนา) ไม่เที่ยง ความจำ (สัญญา) ไม่เที่ยง ความคิด (สังขาร) ไม่เที่ยง การรับรู้ (วิญญาณ) ไม่เที่ยง ให้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของขันธ์ทั้ง 5

อนัตตสัญญา คือ การพิจารณาเห็นว่าตาเป็นอนัตตา (ไม่มีตัวตนของมันเอง มีแต่เหตุปัจจัยประกอบกันขึ้นมา) รูปเป็นอนัตตา หูเป็นอนัตตา เสียงเป็นอนัตตา จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตา สัมผัสเป็นอนัตตา ใจเป็นอนัตตา สิ่งที่ใจเข้าไปรับรู้เป็นอนัตตา ให้พิจารณาเห็นความเป็นอนัตตาในช่องทางรับรู้ทั้งภายในและภายนอกทั้งหลายเหล่านี้

อสุภสัญญา คือ การพิจารณาเห็นว่ากายนี้ตั้งแต่หัวจรดเท้าที่มีเส้นผมและหนังหุ้มโดยรอบ เต็มไปด้วยของไม่สะอาดต่างๆ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ลำไส้ใหญ่ ลำไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ ไขมันข้น เปลวมัน น้ำตา น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ให้พิจารณาเห็นความไม่งามในกายนี้ 

อาทีนวสัญญา คือ การพิจารณาเห็นว่ากายนี้มีทุกข์มาก มีโทษมาก ฉะนั้นจึงเกิดโรคต่างๆในกายนี้ ทั้งโรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคเกลื้อน โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราด โรคเรื้อนกวาง โรคอาเจียนเป็นเลือด โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง การเจ็บป่วยมีน้ำดี เสมหะ ลมเป็นที่ตั้ง เป็นไข้สั่น เกิดจากอากาศแปรปรวน ไม่ออกกำลังกาย หรือผลของกรรม ร่างกายมีความหนาว ร้อน หิว กระหาย ปวดหนัก ปวดเบา ให้พิจารณาเห็นความเป็นโทษในกายนี้ 

ปหานสัญญา คือ การลด ละ หรือทำให้หมดสิ้นไปซึ่งการครุ่นคิดหมกมุ่นในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส (กามวิตก) ในความพยาบาทเกลียดชัง (พยาบาทวิตก) ในการจะเบียดเบียนผู้อื่น (วิหิงสาวิตก) ในสิ่งอกุศลต่างๆ 

วิราคสัญญา คือ การพิจารณาเห็นความสงบละเอียดในธรรมชาติ ละความกำหนัดยินดี 

นิโรธสัญญา คือ การพิจารณาเห็นความสงบละเอียดในธรรมชาติ ดับกิเลสตัณหาและความทุกข์

สัพพโลเกอนภิรตสัญญา คือ การไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่พัวพันยินดี ไม่ยึดติดในโลกทั้งปวง

สัพพสังขาเรสุอนิจจสัญญา คือ การเบื่อหน่ายระอาในสังขารทั้งหลาย

อานาปานัสสติ คือ การมีสติอยู่กับปัจจุบัน รู้ลมหายใจเข้าออก ขณะหายใจเข้าออก ให้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เห็นการคลายกำหนัด เห็นการดับสนิท และเห็นการสลัดคืน 

อานนท์ เธอจงเข้าไปหาคิริมานนท์แล้วกล่าวถึงสัญญา 10 ประการนี้ คิริมานนท์จะหายป่วยเพราะได้ฟังสัญญา 10 ประการนี้

ที่มา: เรียบเรียงจากพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย เล่มที่ 38 (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต ภาค 5 สจิตตวรรค อาพาธสูตร ข้อ 60), 2559, น.189-193


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: