วันอาทิตย์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ความร้ายกาจของสิ่งที่เรียกว่า “สุขเวทนา”

ความร้ายกาจของสิ่งที่เรียกว่า “สุขเวทนา”

“สุขเวทนา” ที่เกิดมาจากกามารมณ์นี้ เป็นตัวอย่างที่ใครๆก็เรียกกันว่าเป็น “ความสุข” เพราะให้เกิดสุขเวทนาในขณะนั้น แต่โดยหลักธรรมะที่แสดงอยู่ว่าสิ่งที่เรียกว่าเวทนานั้น ย่อมเป็นเพียง “สังขาร” ชนิดหนึ่ง คือมีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง แล้วก็ต้องเกิดๆดับๆ ความที่ต้องดับนั้นต้องทำให้เกิดทุกข์แก่บุคคลผู้ยึดถือว่า“เป็นของตน” และอยากให้อยู่คงทนถาวร หรือว่าอาการที่มันเกิดๆดับๆนั้น มันย่อมทรมานจิตใจคนที่ยึดถือว่า“เป็นของตน” หรือว่าอาการที่เกิดๆดับๆนั้น ย่อมแสดงความว่างจากสาระ ที่จะไปจับฉวยเอาเป็นจริงเป็นจังได้ เพราะมีแต่การเกิดๆดับๆ

สิ่งที่เรียกว่า “สุขเวทนา” กำลังหลงไหลมัวเมากันว่า เป็นความสุข สนุกสนาน เอร็ดอร่อยเพลิดเพลินนั้น ที่แท้ก็คือ..การเกิดการดับที่ถี่ยิบของสังขาร หมายความว่า เวทนานั้นย่อมเกิดขึ้นมาจากผัสสะ ซึ่งเป็นการกระทบ มีการเกิด-ดับ เกิด-ดับ เกิด-ดับ อยู่ทุกขณะที่ความคิดหรือความรู้สึกนั้นเปลี่ยนแปลงไป

ความรู้สึกเป็นสุขหรือสนุกสนานนั้น มันต้องเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่ว่ามันจะนิ่งแน่ตายตัวลงไปอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วหยุดอยู่ ความสนุกสนานที่เดินไปเป็นเรื่องเป็นราวอย่างนั้นอย่างนี้นั้น คืออาการของการเกิดดับแห่งสังขาร คือที่ปรุงเป็นความรู้สึกคิดนึกขึ้นมาได้ มองดูในลักษณะเช่นนี้ ก็จะเห็นได้ว่าเป็นมายาชนิดหนึ่ง เหมือนกับพยับแดด ซึ่งหลอกให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เข้าไปใกล้ก็ไม่มีอะไร ความรู้สึกที่เป็นสุขเวทนาที่รู้สึกอยู่ในใจก็เป็นอย่าง(พยับแดด)นั้น ถ้าโมหะครอบงำก็จะเห็นว่าเป็นตัวเป็นตน แต่พอสติปัญญาหรือความจริงเข้ามาเท่านั้น ก็ไม่มีตัวไม่มีตน กลายเป็นของที่เป็นเพียงมายา ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีความเที่ยงแท้ถาวร จึงให้เกิดความทุกข์แก่บุคคลที่เข้าไปยึดถือว่า “สุขเวทนานี้ของเรา”

สิ่งที่เรียกว่า “สุขเวทนา” นั้น เป็นที่สรุปของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งครอบงำใจสัตว์ แต่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงไม่ค่อยสนใจ ในสิ่งที่เรียกว่าสุขเวทนา ในฐานะที่เป็นที่ตั้งของความทุกข์  ไปถือเสียว่าเป็นส่วนที่ควรจะยึดถืออย่างใดอย่างหนึ่ง และมิได้เป็นปัญหาที่สำคัญ

โดยที่แท้นั้น สุขเวทนาที่เป็นของหลอกๆหรือเป็นมายานั่นแหละ เป็นมูลเหตุแห่งความทุกข์ทั้งหลาย เพราะเราจะเห็นได้ว่าความขวนขวายทุกสิ่งทุกอย่างของสัตว์นั้น มีความประสงค์มุ่งหมายตรงที่ “สุขเวทนา” อย่างเดียวเท่านั้น

การที่อุตส่าห์ศึกษาเล่าเรียนเพื่อให้มีความรู้ความสามารถ คล้ายๆกับว่าไม่ได้คำนึงถึงสุขเวทนาอันจะมีมาข้างหน้า แต่โดยที่แท้แล้ว การศึกษาเล่าเรียนฝึกฝนอบรมตนให้มีสติปัญญาความรู้ความสามารถนั้น มันก็ไปจบลงแค่ความปรารถนาในสุขเวทนาทางเนื้อทางหนัง หรือจะกล่าวว่า ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็ได้ รวมความแล้วก็คือทางเนื้อทางหนัง เพราะว่าต้องอาศัยวัตถุเป็นปัจจัยสำคัญ

ลองพิจารณาดูว่า ความขวนขวายของคนหรือของสัตว์เดรัจฉานก็ตาม ความขวนขวายไหนบ้างที่ไม่มุ่งหมายไปยังสุขเวทนา แม้แต่การทำบุญให้ทานก็มุ่งหมายจะได้สุขเวทนากันเป็นส่วนใหญ่ มุ่งหมายจะให้ได้สวรรค์ ได้เกิดในสวรรค์ แล้วความหมายของสวรรค์นั้นก็ไม่มีอะไรนอกจากสุขเวทนา คือความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ทางวัตถุ หรือทางเนื้อทางหนัง ดังที่กล่าวแล้ว ไม่ต้องกล่าวถึงการขวนขวายที่ต่ำลงไปกว่าการทำบุญ

เมื่อการทำบุญเองก็มุ่งหมายสุขเวทนาดังนี้เสียแล้ว การทำบาปหรือการทำอย่างอื่น ก็ต้องต่ำลงไปกว่านั้นมาก คนพาล คนเขลา หรือปุถุชน ประกอบกรรมอันเป็นบาป เป็นอกุศล เป็นความชั่ว ก็เพราะเหตุอย่างเดียวคือ เหตุที่ตกเป็นทาสของสุขเวทนานั่นเอง คือใคร่จะได้ความสุขสนุกสนานทางวัตถุ ทางเนื้อทางหนัง แล้วก็ประกอบกรรมอันไม่ควรกระทำ เพราะว่าแสวงหาจากกรรมอันสุจริตไม่ได้ ก็ต้องแสวงหาด้วยกรรมที่เป็นทุจริต มีการลักการขโมย หรือการล่วงละเมิดต่างๆ ซึ่งเป็นไปในทางทุจริต ทำสิ่งที่ไม่ควรทำได้ทุกอย่าง กระทั่งถึงฆ่าบิดามารดาของตัวเองก็ได้ ในเมื่อสุขเวทนานั้นเป็นนายเหนือจิตเหนือใจมากขึ้น 

ผู้ที่ตกเป็นทาสของกามคุณ ย่อมมืดมัวจนถึงกับฆ่าบิดามารดาของตนได้ หรืออกตัญญูต่อบิดามารดาของตนได้ นี้นับว่าเป็นไปถึงที่สุด อาจจะทำทุกอย่างซึ่งเป็นอนันตริยกรรมเท่าๆกัน เพราะอำนาจของการตกเป็นทาสของสุขเวทนา นั้นเอง”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมเทศนา “อันธตมมุยหกถา” เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๑ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่ม  “มาฆบูชาเทศนา”

“สุขเวทนา”ทางเนื้อทางหนัง

“ความพอใจใน“สุขเวทนา”ทางเนื้อทางหนังนั้น เป็นกิเลสประจำสันดานของสิ่งที่มีชีวิตทุกชีวิตทีเดียว มันสลับซับซ้อน จนถึงกับกล่าวได้ว่า ธรรมชาตินี้ฉลาดเหลือเกิน ได้สร้างเหยื่อมาสำหรับ“ล่อคน” ให้สมัครใจตกเข้าไปเป็นทาสของความทุกข์หรือกิเลสอย่างไม่มีสร่าง เหยื่ออันนี้ก็ไม่ใช่อะไรอื่น คือ“สุขเวทนา”ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

ถ้าในโลกนี้ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า“สุขเวทนา”ทางเนื้อทางหนังแล้ว พญามารทั้งหลายก็จะตายไปหมดแล้ว โลกนี้ก็จะไม่มีความทุกข์เหลืออยู่ให้เป็นปัญหาสำหรับพวกเราอีกต่อไป แต่บัดนี้ โดยเหตุที่สุขเวทนาเป็นสิ่งที่มีอยู่ในโลก ธรรมชาติได้ใช้เป็นเหยื่อ สำหรับล่อลวงสัตว์ให้ตกเป็นทาสของความทุกข์ คือ สมัครเป็นทุกข์ สมัครที่จะทนทุกข์ มองเห็นความทุกข์เป็นของน่าทน หรือควรทน เพื่อจะได้สุขเวทนานี้เอง

คนที่ตกเป็นทาสของกามคุณ ย่อมยอมทนทุกข์หน้าชื่นตาบาน ยอมทนทุกข์ทุกอย่างทุกชนิด แม้แต่ชีวิตก็อาจจะสละได้ นี้ก็เพื่อประโยชน์แก่สุขเวทนาทางเนื้อทางหนัง นิดเดียวเท่านั้น ไม่มีสาระอะไร ก็กลับเห็นเป็นสิ่งที่มีสาระอันใหญ่หลวง ถึงกับกล้าเสียสละชีวิตแลกเอามาซึ่งสุขเวทนานั้น ดังที่เราจะได้เห็นกันอยู่บ่อยๆว่า สัตว์ได้เสียชีวิตไป เพราะเห็นแก่สุขเวทนาทางเนื้อทางหนัง ยิ่งในสัตว์เดรัจฉานก็ยิ่งเห็นได้มาก เห็นได้ง่ายยิ่งขึ้น แต่ในหมู่มนุษย์นี้ก็ไม่ใช่น้อย....พระพุทธเจ้าท่านจึงได้ตรัสระบุลงไปที่“สุขเวทนา”นั้นว่า เป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ แต่ปวงสัตว์ไปหลงใหล เห็นเป็นที่ตั้งแห่งความสุข อย่างที่เรียกว่า “สุขเวทนา” คำที่ใช้เรียกนี้มันก็หลอกลวงให้หลงอยู่อย่างเต็มที่แล้ว คือเรียกว่า“สุขเวทนา” แต่ตัวสุขเวทนาอันแท้จริงนั้น คือตัวให้เกิดความทุกข์ หรือเป็นความทุกข์อยู่ในตัว”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมเทศนา “อันธตมมุยหกถา” เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๑ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่ม  “มาฆบูชาเทศนา”

สิ่งที่ร้ายกาจที่สุดสิ่งหนึ่ง คือ “เวทนา”

“เรื่องพุทธศาสนานี้ ไม่มีเรื่องอะไรนอกจากเรื่อง “ความดับทุกข์” อย่างเดียว หรือขยายออกไปเป็นเรื่อง ทุกข์ กับ ความดับทุกข์ สองเรื่อง, หรือขยายออกไปอีก ทุกข์นั้นแยกออกเป็น ๒ ส่วน คือ ตัวทุกข์ กับ เหตุให้เกิดทุกข์, ความดับทุกข์นั้นก็มี ๒ คือ ความดับทุกข์ กับ วิธีที่จะให้ได้มาซึ่งความดับทุกข์ มันกลายเป็น ๔ เรื่อง เป็น “อริยสัจ” ขึ้นมา อย่างนี้ นี่คือทั้งหมดในพุทธศาสนาพุทธศาสนาทั้งหมดมีแต่เพียง ๔ เรื่องนี้ 

ถ้าย่นก็เหลือ ๒ พระพุทธเจ้าท่านตรัส ๔ เสมอ คือ “ อริยสัจ ๔ ” แต่ในบางที่บางแห่งนั้นท่านตรัสแต่เพียง ๒ ระบุว่า “เมื่อก่อนก็ตาม เดี๋ยวนี้ก็ตาม ฉันพูดแต่เรื่องทุกข์ กับเรื่องความดับทุกข์” เรื่องอื่นไม่พูด แต่มันขยายออกไปได้เป็น ๘๔,๐๐๐ ข้อ ตามสมมุติกัน ไม่มีใครเคยนับ คาดคะเนกัน สมมุติกันว่าพระธรรมในพุทธศาสนาในพระไตรปิฎกทั้งหมดนี้นับดูจะได้ ๘๔,๐๐๐ หัวข้อของเรื่องคือประเด็น

แม้อย่างนั้นก็ยังพูดได้ว่า ถ้ามัน ๘๔,๐๐๐ ประเด็นจริง มันก็ไปรวมอยู่ที่คำว่า “เวทนา” คำเดียว มันเป็นเรื่องของ ความทุกข์, เหตุให้เกิดทุกข์, ความดับทุกข์, ทางถึงความดับทุกข์, เพราะพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า อริยสัจ ๔ บัญญัติสำหรับบุคคลผู้กำลังมีเวทนาอยู่ พอเขาไม่มีเวทนา กำลังไม่มีเวทนาอะไร ตอนนั้นไม่มีเรื่องอริยสัจ พอมีเวทนาขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็จะมีความจำเป็นที่จะต้องมี จะต้องการเรื่องอริยสัจ แล้วก็มีอริยสัจ

นี่จำไว้ ที่ว่าอริยสัจคือตัวพุทธศาสนา ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของ “บุคคลผู้มีเวทนา” พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้อย่างนั้น นี่ว่าเรื่องตัวศาสนาแท้ๆ ก็มีต้นเหตุมาจากสิ่งที่ร้ายกาจที่สุดสิ่งหนึ่ง คือ  “เวทนา”

พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายหัวข้อเรื่อง “จุดสำคัญที่สุดตั้งต้นที่เวทนา” เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๑๔ จากหนังสือชุดธรรมโฆษณ์ เล่ม “นวกานุศาสน์” หน้า ๒๕๒-๒๕๓

ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ - รวบรวม. 



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: