วันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ผู้เลือกเก็บดอกไม้


ผู้เลือกเก็บดอกไม้

โก  อิมํ  ปฐวึ  วิเชสฺสติ               ยมโลกญจ  อิมํ  สเทวกํ

โก  ธมฺมปทํ  สุเทสิตํ                 กุสโล  ปุปฺผมิว  ปเจสฺสติ.

เสโข  ปฐวี  วิเชสฺสติ                 ยมโลกญจ  อิมํ  สเทวกํ

เสโข  ธมฺมปทํ  สุเทสิตํ             กุสโล  ปุปฺผมิว  ปเจสฺสติ.

ใครจักรู้ชัดแผ่นดิน คืออัตภาพนี้ และยมโลกคือ อบายภูมิ ๔ พร้อมทั้งโลกนี้และเทวโลก ใครจักเลือกบทแห่งธรรมอันเราแสดงดีแล้ว เหมือนช่างดอกไม้เลือกเก็บดอกไม้ฉะนั้น พระเสขะจักรู้ชัดซึ่งแผ่นดิน คืออัตภาพนี้และยมโลกพร้อมทั้งโลกนี้และเทวโลก พระเสขะจักเลือกบทแห่งธรรมอันเราแสดงดีแล้ว เหมือนช่างดอกไม้เลือกเก็บดอกไม้ฉะนั้น

อธิบายความ

พระศาสดาทรงเปรียบอัตภาพคือร่างกายนี้ด้วยแผ่นดิน เมื่อภิกษุสนทนากันเรื่องแผ่นดิน พระองค์ผู้ทรงเป็นธรรมราชา ประกอบด้วยเทศนาโกศลอันยิ่งเยี่ยมไม่มีใครเสมอเหมือน มีพระประสงค์จะชักนำภิกษุให้มาสนใจในแผ่นดินภายใน คืออัตภาพนี้ว่าควรพิจารณาให้เห็นแจ้ง เพื่อได้ละความกำหนัดในกาย.   ในที่บางแห่งทรงเปรียบอัตภาพนี้ด้วยโลก ทรงบัญญัติโลก และความดับโลกในอัตภาพนี้ดังข้อความในโรหิตัสสสูตร ลังยุตตนิกายว่า

"อิมสฺมึ  พฺยามมตฺเต  กเฬวเร  สสญฺญมฺหิ  สมนเก  โลกญฺจเว  ปญฺญเปมิ  โลกสมุทยญฺจ" เป็นต้น ความว่า "เราบัญญัติโลกและความเกิดขึ้นแห่งโลก รวมทั้งความดับโลก และทางให้ถึงความดับโลกในร่างกายอันมีประมาณว่า หนึ่งนี้ ซึ่งมีสัญญา มีใจครอง" และตรัสต่อไปว่า

"คมเนน  น  ปตฺตพฺโพ  โลกสฺสนฺโต  กุทาจนํ  น  จ  อปฺปตฺวา  โลกสฺสนฺตํ  ทุกฺขา  อตฺถิ  ปโมจนํ.  ในกาลไหนๆ บุคคลไม่สามารถไปให้ถึงที่สุดแห่งโลก ได้ด้วยการไปธรรมดา และเมื่อยังไปให้ถึงที่สุดแห่งโลกไม่ได้ก็จะพ้นจากทุกข์ไม่ได้"

คำว่า "โลก" ในที่นี้ก็ทรงหมายถึงอัตภาพนั่นเอง คือเมื่อยังไม่รู้แจ้งกายนี้ โดยความเป็นของปฏิกูล ไม่สะอาด ไม่เที่ยง เป็นทุกข์เป็นอนัตตาแล้ว ก็จะพ้นจากทุกข์ไม่ได้ โลกภายในนี้จะไปให้ทั่วด้วยยานพาหนะใดๆ ก็ไม่ได้ หากจะไปต้องไปด้วยญาณ ไม่ใช่ด้วยยาน.   เมื่อรู้กายนี้โดยแจ่มแจ้งแล้วก็สามารถคลายความพอใจในกาย ละกิเลสได้ตามมรรคนั้นๆ ตามกำลังแห่งมรรคของตน.  ท่านกล่าวว่าพระเสขะสามารถรู้ชัดซึ่งแผ่นดิน คืออัตภาพนี้ได้ พระเสขะนั้นท่านหมายถึงพระอริยบุคคล ๗ จำพวก คือพระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ถึงอรหัตตมรรค พอบรรลุอรหัตตผล ก็เป็นพระอเสขะ แปลว่า ผู้ไม่ต้องศึกษา เพื่อบรรลุธรรมอีกต่อไป เพราะได้บรรลุหมดแล้ว

ในตอนที่สองทรงแสดงว่าพระเสขะนั่นเองเป็นผู้เลือกบทแห่งธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้ดีแล้ว เหมือนนายมาลาการคือช่างดอกไม้ผู้ฉลาดเลือกเก็บดอกไม้ที่ดีในสวนดอกไม้.   มองตามแง่นี้  ธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้าเปรียบเสมือนสวนดอกไม้อันสะพรั่งไปด้วยดอกไม้คือ ธรรมหลายหลาก ผู้ปฏิบัติสามารถเลือกไปปฏิบัติให้เหมาะสมแก่อัธยาศัยแห่งตน.   

พระธรรมเทศนานี้พระศาสดาทรงแสดงขณะประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุ ๕๐๐ รูป ผู้สนทนากันในเรื่องแผ่นดิน.     เรื่องภิกษุผู้สนใจในปฐวีกถา ความว่า สมัยหนึ่ง ภิกษุเหล่านั้นจาริกไปในชนบทต่างๆ กับพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อกลับมาถึงเชตวนารามแล้ว นั่งในหอฉันในเวลาเย็น สนทนากันถึงเรื่องแผ่นดิน หรือทัศนียภาพที่ตนได้เห็นมาว่า "สถานที่นั้นเป็นอย่างนั้นๆ เช่น สวยงาม ไม่สวยงาม มีโคลนมาก มีเปือกตมมาก มีกรวดมาก ดินดำ ดินแดง เป็นต้น"

พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสว่า  "ภิกษุทั้งหลาย เรื่องที่เธอสนทนากันอยู่นี้เป็นแผ่นดินภายนอก พวกเธอควรสนใจและทำบริกรรมในแผ่นดินภายใน คืออัตภาพนี้" ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาว่า "โก  อิมํ  ปฐิวํ  วิเชสฺสติ" เป็นอาทิ มีนัยดังพรรณนามาแล้วแต่เบื้องต้น

ที่มา : http://www.dharma-gateway.com/ubasok/wasin/wasin-048.htm

Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: