วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2564

สิ่งทั้งหลายคือกระแสเหตุปัจจัย

อิมสฺมึ   สติ   อิทํ   โหติ,   อิมสฺสุปฺปาทา   อิทํ   อุปฺปชฺชติ,    อิมสฺมึ   อสติ   อิทํ   น   โหติ,   อิมสฺส   นิโรธา   อิทํ   นิรุชฺฌติ.    เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี  เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น  เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ก็ดับ(ด้วย)

สิ่งทั้งหลายคือกระแสเหตุปัจจัย

หลักปฏิจจสมุปบาท แสดงให้เห็นอาการที่สิ่งทั้งหลายสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นเหตุปัจจัยต่อกันอย่างเป็นกระแส ในภาวะที่เป็นกระแสนี้ ขยายความหมายออกไปให้เห็นแง่ต่างๆ ได้ คือ

- สิ่งทั้งหลายมีความสัมพันธ์เนื่องอาศัยเป็นปัจจัยแก่กัน

- สิ่งทั้งหลายมีอยู่โดยความสัมพันธ์

- สิ่งทั้งหลายมีอยู่ด้วยอาศัยปัจจัย

- สิ่งทั้งหลายไม่มีความคงที่อยู่อย่างเดิมแม้แต่ขณะเดียว

- สิ่งทั้งหลายไม่มีอยู่โดยตัวของมันเอง คือ ไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน

- สิ่งทั้งหลายไม่มีมูลการณ์ หรือ ต้นกําเนิดเดิมสุด

พูดอีกนัยหนึ่งว่า อาการที่สิ่งทั้งหลายปรากฏเป็นรูปต่างๆ มีความเจริญ ความเสื่อม เป็นไปต่างๆนั้น แสดงถึงสภาวะที่แท้จริงของมันว่า เป็นกระแสหรือกระบวนการ ความเป็นกระแสแสดงถึงการประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบต่างๆ รูปกระแสปรากฏเพราะองค์ประกอบทั้งหลายสัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน กระแสดําเนินไปแปรรูปได้เพราะองค์ประกอบต่างๆไม่คงที่อยู่แม้แต่ขณะเดียว องค์ประกอบทั้งหลายไม่คงที่อยู่แม้แต่ขณะเดียวเพราะไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน ตัวตนที่แท้จริงของมันไม่มี มันจึงขึ้นต่อเหตุปัจจัยต่างๆ เหตุปัจจัยต่างๆสัมพันธ์ต่อเนื่องอาศัยกัน จึงคุมรูปเป็นกระแสได้ ความเป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องอาศัยกัน แสดงถึงความไม่มีต้นกําเนิดเดิมสุดของสิ่งทั้งหลาย

พูดในทางกลับกันว่า ถ้าสิ่งทั้งหลายมีตัวตนแท้จริง ก็ต้องมีความคงที่ ถ้าสิ่งทั้งหลายคงที่แม้แต่ขณะเดียวก็เป็นเหตุปัจจัยแก่กันไม่ได้ เมื่อเป็นเหตุปัจจัยแก่กันไม่ได้ก็ประกอบกันขึ้นเป็นกระแสไม่ได้ เมื่อไม่มีกระแสแห่งปัจจัยความเป็นไปในธรรมชาติก็มีไม่ได้ และถ้ามีตัวตนที่แท้จริงอย่างใดในท่ามกลางกระแส ความเป็นไปตามเหตุปัจจัยอย่างแท้จริงก็เป็นไปไม่ได้ กระแสแห่งเหตุปัจจัยที่ทําให้สิ่งทั้งหลายปรากฏโดยเป็นไปตามกฎธรรมชาติดําเนินไปได้ก็เพราะสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่คงอยู่ เกิดแล้วสลายไป ไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมัน และสัมพันธ์เนื่องอาศัยกัน

ภาวะที่ไม่เที่ยง ไม่คงอยู่ เกิดแล้วสลายไป เรียกว่า “อนิจจตา” ภาวะที่ถูกบีบคั้นด้วยเกิดสลาย มีความกดดันขัดแย้งแฝงอยู่ ไม่สมบูรณ์ในตัว เรียกว่า “ทุกขตา” ภาวะที่ไร้ตัวตนที่แท้จริงของมันเอง เรียกว่า “อนัตตตา”

“ปฏิจจสมุปบาท” แสดงให้เห็นภาวะทั้ง ๓ นี้ในสิ่งทั้งหลาย และแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ต่อเนื่องเป็นปัจจัยแก่กันของสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น จนปรากฏรูปออกมาเป็นต่างๆในธรรมชาติ

สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏมี จึงเป็นเพียงกระแสความเป็นไปแห่งเหตุปัจจัยที่สัมพันธ์ส่งผลสืบทอดกันมา อาจเรียกสั้นๆว่า “กระบวนธรรม” ซึ่งถือได้ว่าเป็นคําแปลของคําบาลีที่ท่านใช้ว่า “ธรรมปวัตติ” ( ธมฺมปฺปวตฺติ )

ภาวะและความเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทนี้ มีแก่สิ่งทั้งปวง ทั้งที่เป็นรูปธรรม ทั้งที่เป็นนามธรรม ทั้งในโลกฝ่ายวัตถุ ทั้งแก่ชีวิตที่ประกอบพร้อมด้วยรูปธรรมนามธรรม โดยแสดงตัวออกเป็นกฎธรรมชาติต่างๆ คือ 

“ธรรมนิยาม” กฎความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล 

“อุตุนิยาม” กฎธรรมชาติฝ่าย อนินทรียวัตถุ 

“พีชนิยาม” กฎธรรมชาติฝ่าย อินทรียวัตถุ รวมทั้งพันธุกรรม 

“จิตตนิยาม” กฎการทํางานของจิต

“กรรมนิยาม” กฎแห่งกรรม ซึ่งมีความเกี่ยวข้องเป็นพิเศษกับเรื่องความสุขความทุกข์ของชีวิต และเป็นเรื่องที่จริยธรรมจะต้องเกี่ยวข้องโดยตรง

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : จากหนังสือ “พุทธธรรม ฉบับเดิม”



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: