วันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564

กูฏวาณิชชาตกํ - ว่าด้วยคนผู้เป็นบัณฑิต

กูฏวาณิชชาตกํ - ว่าด้วยคนผู้เป็นบัณฑิต

"สาธุ   โข   ปณฺฑิโต   นาม,        น   ตฺเวว   อติปณฺฑิโต;

อติปณฺฑิเตน   ปุตฺเตน,               มนมฺหิ   อุปกูฬิโตติ ฯ

ธรรมดาคนที่เป็นบัณฑิตเป็นคนดี, คนที่เป็นบัณฑิตเกินไปเป็นคนไม่ดี, เราถูกไฟลวกเพราะบุตรที่เป็นบัณฑิตเกินไป."

กูฏวาณิชชาดกอรรถกถา (พ่อค้าโกง)

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารทรงปรารภพ่อค้าโกงผู้หนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า  สาธุ  โข  ปณฺฑิโต  นาม  ดังนี้ :-

ความย่อว่า คนสองคนในเมืองสาวัตถี ร่วมทุนกันทำการค้าคุมขบวนเกวียนสินค้าไปสู่ชนบทได้ของแล้วพากันกลับ ในพ่อค้าทั้งสองนั้น พ่อค้าโกงคิดว่า "พ่อค้าผู้เป็นสหายเราคนนี้ตรากตรำด้วยการกินไม่ดีนอนลำบาก มาหลายวันแล้ว คราวนี้เขาจักกินโภชนะดี ๆด้วยรสเลิศต่าง ๆในเรือนของเขาจนพอใจ จักตายด้วยโรคอาหารไม่ย่อย, เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจักแบ่งของนี้ออกเป็น ๓ ส่วน ให้เด็ก ๆของเขาส่วนหนึ่ง, อีก ๒ ส่วนเราจักเอาเสียเอง“ เขาผลัดวันอยู่ว่า จักแบ่งในวันนี้ จักแบ่งในวันพรุ่งนี้ ดังนี้แล้ว ไม่อยากจะแบ่งภัณฑะเลย.

ฝ่ายพ่อค้าผู้เป็นบัณฑิต ก็คาดคั้นเขาผู้ไม่ปรารถนาจะแบ่ง ให้แบ่งจนได้แล้วไปสู่พระวิหาร ถวายบังคมพระศาสดาได้รับปฏิสันถารที่ทรงกระทำ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งถามว่า „ดูท่านชักช้านักมาถึงพระนครนี้แล้ว กว่าจะมาสู่ที่เฝ้าก็นาน“ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงทราบ.

พระบรมศาสดาตรัสว่า „ดูก่อนอุบาสก มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น ที่นายพาณิชนั้นเป็นพาณิชโกง แม้ในกาลก่อนก็เคยเป็นพาณิชโกงมาแล้วเหมือนกัน, แต่ในครั้งนี้มุ่งจะลวงท่าน, แม้ในครั้งก่อน ก็ไม่อาจจะหลอกลวงบัณฑิตได้“ อันอุบาสกกราบทูลอาราธนาแล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี  พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพ่อค้า ในพระนครพาราณสี ในวันขนานนาม หมู่ญาติตั้งชื่อให้ท่านว่า บัณฑิตท่านเจริญวัยแล้ว เข้าหุ้นกับพ่อค้าอื่นทำการค้า พ่อค้านั้นชื่อว่าอติบัณฑิต ทั้งคู่ชวนกันบรรทุกภัณฑะด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่มไปสู่ชนบท ทำการค้าได้ของมามากมาย พากันกลับมายังพระนครพาราณสี

ครั้นถึงเวลาที่จะแบ่งข้าวของกัน อติบัณฑิต ก็กล่าวว่า ข้าพเจ้าควรได้สองส่วน พระโพธิสัตว์ถามว่า เพราะเหตุไรเล่า ? เขาตอบว่า ท่านชื่อบัณฑิตข้าพเจ้าชื่ออติบัณฑิต บัณฑิตควรได้ส่วนเดียว อติบัณฑิตควรได้สองส่วน

พระโพธิสัตว์ถามว่า "ทุนที่ซื้อของก็ดี พาหนะมีโคเป็นต้นก็ดี แม้ของทั้งสองก็เท่า ๆ กันมิใช่หรือ? เหตุใดเล่าท่านจึงควรจะได้สองส่วน ?"   เขาตอบว่า "เพราะข้าพเจ้าเป็นอติบัณฑิต" ทั้งสองคนโต้เถียงกันอยู่อย่างนี้แล้วก็ทะเลาะกัน.

ลำดับนั้น อติบัณฑิตคิดได้ว่า ยังมีอุบายอยู่อีกอันหนึ่ง จึงให้บิดาของตนเข้าไปซ่อนอยู่ในโพรงไม้ต้นหนึ่ง สั่งไว้ว่า "เวลาเราทั้งสองมาถึงละก็คุณพ่อต้องพูดว่า อติบัณฑิตควรจะได้สองส่วนนะครับ" แล้วไปหาพระโพธิสัตว์กล่าวว่า „สหายรัก รุกขเทวดานั้นย่อมรู้การที่เราควรจะได้สองส่วน หรือไม่ควร มาเถิดท่านเราจักถามรุกขเทวดานั้นดู“ แล้วพากันไปที่ต้นไม้นั้นแหละกล่าวว่า „ข้าแต่รุกขเทวดา ผู้เป็นเจ้าไพร เชิญตัดสินคดีของเราด้วยเถิด.“

ครั้งนั้น บิดาของเขาก็เปลี่ยนเสียงให้เพี้ยนไปพูดว่า „ถ้าเช่นนั้น พวกท่านจงบอกเรื่องราว“ อติบัณฑิตก็พูดว่า „ข้าแต่เจ้าไพรท่านผู้นี้ชื่อบัณฑิตข้าพเจ้าชื่ออติบัณฑิต เราทั้งสองเข้าหุ้นกันทำการค้าขาย ในเรื่องนั้นเขาควรได้รับอย่างไร ?“

(มีเสียงดังขึ้นว่า ) „บัณฑิตได้ส่วนหนึ่ง อติบัณฑิตได้ ๒ ส่วน“ พระโพธิสัตว์ฟังคดีที่เทวดาวินิจฉัยแล้วอย่างนี้ คิดว่า „เดี๋ยวเถอะ จะได้รู้กันว่า เป็นเทวดาหรือไม่ใช่เทวดา“ แล้วไปหอบฟางมาใส่โพรงไม้จุดไฟทันที.  บิดาของอติบัณฑิต เวลาที่เปลวไฟถูกตนก็ร้อน เพราะสรีระเกือบจะไหม้ จึงทะลึ่งขึ้นข้างบน คว้ากิ่งไม้โหนไว้แล้วโดดลงดินพลางกล่าวคาถาว่า :-   „คนที่ชื่อบัณฑิตดีแน่, ส่วนคนที่ชื่อว่าอติบัณฑิตไม่ดีเลย, เพราะว่า เจ้าอติบัณฑิตลูกเรา เกือบเผาเราเสียแล้ว.“

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า  สาธุ  โข  ปณฺฑิโต  นาม  ความว่า บุคคลผู้ประกอบด้วยคุณเครื่องความเป็นบัณฑิต รู้เหตุและสิ่งที่ไม่ใช่เหตุ จัดเป็นคนดีงามในโลกนี้.  บทว่า  อติปณฺฑิโต  ความว่า คนโกง ๆเป็นอติบัณฑิตด้วยเหตุสักว่า ชื่อ ไม่ประเสริฐเลย.  บทว่า  มนมฺหิ  อุปกุฏฺฐิโต  ความว่า เราถูกไฟไหม้ไปหน่อยหนึ่ง รอดพ้นจากการไหม้ตั้งครึ่งตัวมาได้อย่างหวุดหวิดทีเดียว.

แม้คนทั้งสองนั้น ต่างก็แบ่งกันคนละครึ่ง ถือเอาส่วนเท่า ๆกันทีเดียวแล้วต่างก็ไปตามยถากรรม.

พระศาสดา ทรงนำเอาเรื่องในอดีตนี้มาสาธกว่า แม้ในครั้งก่อนพาณิชนั้น ก็เป็นนายพาณิชโกงเหมือนกันแล้วทรงประชุมชาดกว่า พ่อค้าโกงในครั้งนั้นได้มาเป็นพ่อค้าโกงในปัจจุบันนี้แหละส่วนพ่อค้าผู้เป็นบัณฑิตได้มาเป็นเราตถาคต ฉะนี้แล. 

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: