วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2564

“โลกวัชชะ: วาทกรรมของใคร ???”

 

“โลกวัชชะ: วาทกรรมของใคร ???”

“โลกวัชชะ” ได้กลายเป็น “วาทกรรม” ที่ถูกใช้เพื่อกล่าวหาพระภิกษุในประเทศไทย ว่ามีความย่อหย่อนในวินัยสงฆ์ เป็นเหตุให้ชาวบ้านติเตียน และทำให้ศาสนาเสื่อม วาทกรรม “โลกวัชชะ” ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายและต่อเนื่อง ที่เห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้นก็น่าจะเป็นช่วงที่เกิดกระแสการเร่งเร้าการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ภายใต้กรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช) ในปี 2557

สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้เสนอให้มีการปฏิรูปองค์กรพระพุทธศาสนา ใน ๔ ประเด็นหลัก คือ

1. เรื่องทรัพย์สินของวัดและพระสงฆ์ เนื่องจากเห็นว่า มีพระสงฆ์บางรูปแสดงความอวดรวย ใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ ทำให้เห็นว่าเป็นผู้สะสม มากกว่า เสียสละ และทรัพย์สินของวัดไม่มีการแสดงบัญชีทรัพย์สินให้พุทธศาสนิกชนได้รับรู้ถึงที่มาที่ไปของเงินบริจาค ไม่มีการตรวจสอบความโปร่งใส

2. เรื่องปัญหาของพระสงฆ์ที่ไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยนำมาซึ่งความเสื่อมศรัทธา เนื่องจากเห็นว่า มีพระสงฆ์บางรูปที่ประพฤตินอกลู่นอกทาง ประพฤติไม่เหมาะสม ทั้งนี้ เพราะไม่มีความรู้ในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน สั่งสอนประชาชนตามความเข้าใจของตัวเองที่คิดว่าถูกต้อง หรือสอนตามแบบอย่างโบราณาจารย์ที่เคยสั่งสอนกันมาจากอดีต

3. เรื่องการทำพระธรรมวินัยให้วิปริตและการประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย เนื่องจากมีพระภิกษุบางรูปที่มีความรู้ในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาพอสมควร แต่ดัดแปลงหลักธรรมคำสอนนั้นให้เอื้อประโยชน์แก่ตัวเอง สร้างความเข้าใจผิดแก่พุทธศาสนิกชนผู้เคารพนับถือและปฏิบัติตาม จนเข้าใจว่านั่นคือพระพุทธศาสนาที่แท้จริง

4. เรื่องฝ่ายอาณาจักรที่จะต้องเข้าไปสนับสนุน ปกป้องคุ้มครองกิจการพระพุทธศาสนา เพราะเห็นว่า องค์กรทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ไม่สามารถที่จะบริหารจัดการกิจการพระพุทธศาสนาให้เรียบร้อยดีงามได้ องค์กรทางพระพุทธศาสนาขาดความทันสมัย แก้ไขปัญหาได้ไม่ทันท่วงที

ต่อมา มีการออกประกาศของมหาเถรสมาคม คำสั่งเจ้าคณะปกครองสงฆ์ ในเรื่องควบคุมพฤติกรรมพระสงฆ์ ภายใต้แรงกดดันจากกระแสการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาดังกล่าว การระทำอันละเมิดกฎหมายบ้านเมือง และ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ การวิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงตนกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และความสงบสุขของประชาชน หรือส่อไปในทางยั่วยุ ปลุกปั่น ทำลาย ก้าวร้าวรุนแรง และไม่สร้างสรรค์

เชื่อได้ว่า ดุลยพินิจในการตีความของพระสังฆาธิการแต่ละรูปอาจมีความแตกต่างกัน ทำให้การวินิจฉัยพฤติกรรมของพระภิกษุสามเณรแตกต่างกันไป ซึ่งอาจไม่ถูกใจสังคมที่เต็มไปด้วยความรู้สึก แต่ขาดความเข้าใจพื้นฐานพระธรรมวินัย

“โลกวัชชะ” ใน “นิยามใหม่” ที่ว่า "โลกติเตียน" จึงอาจกลายเป็น “เครื่องมือ” ในการกำจัดพระภิกษุสามเณรบางรูป(ที่ไม่เป็นที่ชอบหน้า)ออกไปจากพระศาสนา โดยปราศจากข้อกล่าวหาอันเป็นความผิดโทษตามวินัยสงฆ์ และปราศจากข้อกล่าวหาอันเป็นความผิดกฎหมายบ้านเมือง

ในทางพระพุทธศาสนา “โลกวัชชะ” ใช้คู่กับ “ปัณณัตติวัชชะ” เสมอ เพื่อความเข้าใจที่ถูกตรง !!!

โลกวัชชะ ในพระพุทธศาสนาเถรวาทพบว่า การกระทำผิดที่ทางฝ่ายบ้านเมืองตำหนิติเตียนว่า ไม่ดีมีความผิด และแม้ปุถุชนชาวบ้านทั่วไปทำก็ไม่ดีมีความผิด  เช่น  ฆ่ามนุษย์  ลักขโมย เล่นการพนัน ดื่มเหล้า เป็นต้น แม้ว่าความผิดบางอย่างแม้วินัยไม่ระบุไว้ว่ามีความผิด แต่หากเป็นความผิดตามกฎหมายบ้านเมือง ภิกษุก็ทำไม่ได้เช่นเดียวกัน กล่าวได้ว่าเมื่อเกิดการประพฤติเสียหายขึ้นนอกจากจะผิดพระวินัยแล้วยังเป็นโลกวัชชะเป็นที่ติเตียนของชาวบ้าน

“ปัณณัตติวัชชะ” ในพระพุทธศาสนาเถรวาท คือ โทษทางพระวินัยบัญญัติ หรือเป็นโทษที่เกิดจากความประพฤติผิดพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ โทษทางพระวินัย ทำแล้วมีความผิดเฉพาะพระภิกษุ  ชาวบ้านไม่มีความผิด  เช่น การพูดอวดคุณพิเศษที่ไม่มีในตน ฉันอาหารที่ไม่มีผู้ประเคน โทษที่เกิดเพราะความละเมิดพระวินัย เรียกว่า “อาบัติ” มี ๗ อย่าง คือ (1) ปาราชิก (2) สังฆาทิเสส (3) ถุลลัจจัย (4) ปาจิตตีย์ (5) ปาฏิเทสนียะ (6) ทุกกฏ (7) ทุพภาสิต

“โลกวัชชะ” แปลว่า โทษทางโลก ความผิดทางโลก รวมถึงอาบัติที่มีโทษทางโลกด้วย" เช่น การเสพสิ่งเสพติด มียาเสพติดที่ผิดกฎหมาย การฆ่าคน เป็นต้น ที่จัดว่าเป็น โลกวัชชะ เพราะเป็นสิ่งที่กฎหมายบ้านเมืองจัดว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิด และกำหนดโทษเอาไว้

“โลกวัชชะ” จึงหมายถึง การกระทำที่แม้แต่คนทั่วไป(ที่มิใช่พระภิกษุ)ทำก็ถือเป็นความผิด เป็นความเสียหาย หรือที่เรียกกันว่า “ผิดกฎหมาย” เช่น เสพยาเสพติด โจรกรรม ฆ่ามนุษย์ ทุบตีกัน หมิ่นประมาทกัน เป็นต้น เพราะฉะนั้น เมื่อพระภิกษุรูปใดกระทำในสิ่งที่กฎหมายทางโลกบัญญัติไว้ว่าเป็นความผิด แม้พระภิกษุรูปนั้นจะไม่ผิดพระวินัย แต่ก็เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ต้องรับโทษดังคนทั่วไปไม่มีข้อยกเว้น

ส่วนโทษของชาวโลกหรือความผิดกฎหมายบ้านเมือง (มิใช่โทษทางพระวินัย) ที่เรียกชื่อว่า “โลกวัชชะ” โทษกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๘ โดยโทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้ (1) ประหารชีวิต (2) จำคุก (3) กักขัง (4) ปรับ (5) ริบทรัพย์สิน

“โลกวัชชะ” จึงมิได้มีความหมายว่า "โลกติเตียน" เหมือนที่พยายามนำมาใช้เป็นเครื่องมือทำอะไรบางอย่างกันอยู่ ณ เวลานี้ !!!

“โลกวัชชะ” ที่แท้จริง ปรากฏให้เห็นมาแล้วสด ๆ ร้อน ๆ คือกรณี “ปาร์ตี้หมูกระทะ” ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 ศาลแขวงจังหวัดเชียงใหม่ ได้พิจารณาจากพยานหลักฐาน พิพากษาให้จำคุกจำเลยทั้ง 8 คน เป็นเวลาคนละ 15 วัน และปรับคนละ 10,000 บาท ตามความผิดฐานรวมตัวมั่วสุมจัดกิจกรรม เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้เป็นเวลาหนึ่งปี และศาลยังสั่งปรับ ผู้ต้องหาอีก 4 คน เป็นเงินคนละ 12,500 บาท ในข้อหาเพิ่มในข้อหาบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวัดหรือสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551

นี่ถือเป็นโทษ “โลกวัชชะ” ที่แท้ ไม่ใช่ที่พยายามนิยามใหม่ให้กลายเป็นเรื่อง “โลกติเตียน”

ยิ่งทุกวันนี้ มีความพยายามในการใช้ “โลกวัชชะ” ในนิยามใหม่ที่ผิดเพี้ยนนี้ ไปดำเนินการเอาผิดพระภิกษุผู้ไม่ได้กระทำการใด ๆ อันเป็นความผิดกฎหมายบ้านเมือง กดดันเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ให้ถอดจีวรของพระภิกษุออกอย่างพร่ำเพรื่อ ถือเป็นการไม่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย โดยแท้

ช่วงนี้ก็มีกรณี Live ของ พส. พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต และ พระมหาไพวัลย์ วรวณฺโณ เป็นกรณี “ดราม่า” ใหม่ที่ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

“ไม่สำรวม” ???  “ไม่เหมาะสม” ???  “เอาผ้าเหลืองมาคลุมกาย เพื่อหาผลประโยชน์” ???  “ใช้ผ้าเหลืองเป็นแต้มต่อ” ???  “จำอวดหน้าจอ” ???  “พระรั่ว ตลกคาเฟ่” ???  “แปลก หลอกแดก” ???

ในยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์พุทธในประเทศไทย มีพระภิกษุแหวกประเพณีด้วยการ “ยืนเทศน์บนโพเดียม” ที่สายประเพณีนิยมมองว่า “ไม่สำรวม” และยังออกแนว “ขัดพระธรรมวินัย” ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่ากระทำผิดประเพณีนิยมทางพระพุทธศาสนาที่ต้องนั่งเทศน์บน “ธรรมาสน์” เพียงเท่านั้น

ครั้นต่อมาเมื่อมีพระภิกษุเข้าไปเทศน์ในโรงหนัง ก็ถูกล่าวหาว่า "ไม่เหมาะสม" เพราะมุมมองว่าโรงหนังเป็นที่ "อโคจร" ที่พระภิกษุไม่ควรเข้าไป การวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมอีกตามเคย

คราวนี้มาถึงการเทศน์ “ออนไลน์” !!! ภายใต้สังคมโลกยุค “Digital Disruption” ในปัจจุบันนี้

จึงมีคำถามตามมาว่า “ขัดพระธรรมวินัย” หรือไม่ ??? เป็น “โลกวัชชะ” หรือไม่ ???

หากยึดเอาความหมายดั้งเดิม ก็ไม่น่าจะมีอะไรที่ผิดโทษ “โลกวัชชะ” อย่างแน่นอน เว้นแต่จะมีพวกที่ชอบเอาความหมายใหม่ คือ “โลกติเตียน” ไปใส่พระโอฏฐ์ ก็จะบอกว่า “ผิด” พร้อมทั้งพยายามหาเหตุผลข้าง ๆ คู ๆ มาสนับสนุน เพื่อสนองความเชื่อของตนเอง

ส่วนจะมีความผิด “ปัณณัตติวัชชะ” คือผิดโทษตามพระวินัยหรือไม่ ก็ไม่น่าจะมีลายลักษณ์อักษรใดที่ได้กล่าวถึงโทษปัจจุบันเป็นแน่แท้ เพียงแต่อาจต้องเทียบเคียง ตีความ สืบย้อนหาเจตนารมณ์

ซึ่งก็แน่นอนว่าไม่น่าจะผิดตาม “ปัณณัตติวัชชะ” ถึงขั้นที่จะต้องเรียกร้องให้มีการ “ถอดจีวร” อย่างที่พวกหมั่นใส้ใช้ความกระสันอยากเฉพาะตนจำนวนหนึ่ง มุ่งมั่นพยายามให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ

เพียงอยากให้กลับมาพิจารณาโทษพระภิกษุในสังคมปัจจุบันอย่าง “พุทธะ” บนฐานพุทธธรรม คือ “ปัณณัตติวัชชะ” และ “โลกวัชชะ” โดยปราศจากอคติทั้งปวง ก้าวข้ามอารมณ์ความรู้สึกภายในของบุคคล ตรงไปตรงมา โทษใดเข้ากับบทใดก็ดำเนินการตามนั้น

ดังตัวอย่างของ “ศาลแขวงจังหวัดเชียงใหม่” จัดการ “โลกวัชชะ” ได้ตรงตาม “พุทธธรรม” อย่างน่าชื่นชม

ส่วนใครที่ทำเกินกว่านั้น ด้วยความกดดันจากใคร ภายใต้นิยามใหม่ “โลกติเตียน” ก็ถือเป็น “วิบาก” ติดตัวของใครคนนั้นไป ซึ่งไม่มีใครช่วยอะไรได้ !!! จะนรก จะสวรรค์ จะนิพพาน จากพฤติกรรมนิยาม “โลกวัชชะ” เกินเลยวิถีแห่งพุทธะ ก็เลือกเอาเอง!!!

Credit: PhramahaBoonchuay.doojai

ขอบคุณภาพ และศึกษาเพิ่มเติมที่

http://www.mahabunhome.com/lokavatcha.html , https://prachatai.com/journal/2017/11/73914 ,  https://www.facebook.com/NationalBuddhismReformCouncil/ , https://www.prachachat.net/general/news-48175 , http://www.buddhism4.com/.../9-1/3-2017-10-21-19-11-43https://brandinside.asia/dhamma-post-covid-era-with-phra.../


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: