วันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2564

อปณฺณกชาตกํ - ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ

อปณฺณกชาตกํ - ว่าด้วยการรู้ฐานะและมิใช่ฐานะ 

"อปณฺณกํ  ฐานเมเก,   ทุติยํ  อาหุ  ตกฺกิกา;   
เอตทญฺญาย  เมธาวี,   ตํ  คณฺเห  ยทปณฺณกนฺติ ฯ   

คนพวกหนึ่งกล่าวฐานะอันหนึ่งว่า ไม่ผิด, นักเดาทั้งหลายกล่าวฐานะอันนั้นว่า เป็นที่สอง, 
คนมีปัญญารู้ฐานะและมิใช่ฐานะนั้นแล้ว ควรถือ เอาฐานะที่ไม่ผิดไว้" (อปณฺณกชาตกํ ปฐมํ)

พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อเสด็จเข้าไปอาศัยพระนครสาวัตถี ประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ตรัสอปัณณธรรมเทศนานี้ก่อน. ถามว่า ก็เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะปรารภใคร ? ตอบว่า เพราะปรารภสาวกของเดียรถีย์สหายของท่านเศรษฐี. 

ความพิศดารมีว่า วันหนึ่งท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ชักพาพวกสาวกของอัญญเดียรถีย์ ๕๐๐ คน ผู้เป็นสหายของตน ให้ถือระเบียบดอกไม้ของหอม เครื่องลูบไล้เป็นอันมากและน้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยและผ้าเครื่องปกปิด ไปยังพระเชตวัน ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า บูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น สละเภสัชและผ้าถวายแก่ภิกษุสงฆ์แล้วนั่ง ณ ส่วนสุดข้างหนึ่ง โดยเว้นโทษของการนั่ง ๖ ประการ สาวกของอัญญเดียรถีย์แม้เหล่านั้นถวายบังคมพระตถาคตแล้วแลดูพระพักตร์ของพระศาสดาอันงามสง่าดุจพระจันทร์ในวันเพ็ญแลดูพระวรกายดุจกายพรหมอันประดับด้วยพระลักษณะและพระอันพยัญชนะ แวดวงด้วยพระรัศมีด้านละวาแลดูพระพุทธรังสีอันหนาแน่นซึ่งเปล่งออกเป็นวง ๆ(ดุจพวงอุบะ) เป็นคู่ ๆจึงนั่งใกล้ ๆท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี. 

ลำดับนั้น พระศาสดาได้ตรัสธรรมกถาอันไพเราะ วิจิตรด้วยนัยต่าง ๆด้วยพระสุรเสียงประดุจเสียงพรหม น่าสดับฟัง ประกอบด้วยองค์ ๘ ประการแก่สาวกของอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นปานประหนึ่งราชสีห์หนุ่มบันลือสีหนาทบนพื้นมโนศิลา เหมือนเมฆฤดูฝนเลื่อนลั่นอยู่ เหมือนทำคงคาในอากาศให้หลั่งลงมาและเหมือนร้อยพวงแก้ว ฉะนั้น. 

สาวกของอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว มีจิตเลื่อมใสลุกขึ้นถวายบังคมพระทศพล ทำลายสรณะของอัญญเดียรถีย์แล้วได้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ. จำเดิมแต่นั้น พวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นมีมือถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น ไปพระวิหาร ฟังธรรม ให้ทาน รักษาศีล กระทำอุโบสถกรรม พร้อมกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นนิตยกาล. 

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จจากกรุงสาวัตถีกลับไปกรุงราชคฤห์อีกแล. ในเวลาที่พระตถาคตเสด็จไปแล้ว สาวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นก็ได้ทำลายสระนั้นเสีย กลับไปถึงอัญญเดียรถีย์เป็นสรณะอีก ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นเค้ามูลเดิมของคนนั่นเอง ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยับยั้งอยู่ ๗-๘ เดือนได้เสด็จกลับไปยังพระเขตวันเหมือนเดิมอีก. ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็พาสาวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นไปเฝ้าพระศาสดาแม้อีก บูชาพระศาสดาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง. พวกสาวกอัญญเดียรถีย์แม้เหล่านั้นก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง. 

ลำดับนั้น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีกราบทูลแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงความที่พวกสาวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นเมื่อพระตถาคตเสด็จหลีกจาริกไปแล้วได้ทำลายสรณะที่รับไว้ กลับไปถืออัญญเดียรถีย์เป็นสรณะ ดำรงอยู่ในฐานะเดิมอีก. 

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเผยมณฑลพระโอษฐ์ ประดุจเปิดผอบแก้วอันเต็มด้วยของหอมต่าง ๆอันมีกลิ่นหอมด้วยของหอมอันเป็นทิพย์ เพราะอานุภาพของวจีสุจริตที่ทรงบำเพ็ญให้เป็นไปไม่ขาดสาย สิ้นโกฏิกปะนับไม่ถ้วน เมื่อจะทรงเปล่งพระสุรเสียงอันไพเราะ ตรัสถามว่า „ได้ยินว่า พวกท่านผู้เป็นอุบาสก ทำลายสรณะ ๓ เสียแล้วถึงอัญญเดียรถีย์เป็นสรณะ จริงหรือ ?“ 

ลำดับนั้น เมื่อพวกสาวกอัญญเดียรถีย์เหล่านั้นไม่อาจปกปิดไว้ได้พากันกราบทูลว่า „จริง พระเจ้าข้า“, 

พระศาสดาจึงตรัสว่า „ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย ในโลกธาตุ เบื้องล่างจดอเวจีมหานรก เบื้องบนจดภวัคคพรหมและตามขวางหาประมาณมิได้ชื่อว่าบุคคลเช่นกับพระพุทธเจ้าโดยพระคุณทั้งหลายมีศีลเป็นต้น ย่อมไม่มี, บุคคลที่ยิ่งกว่า จักมีมาแต่ไหน“, แล้วทรงประกาศคุณของพระรัตนตรัยที่ทรงประกาศไว้ด้วยพระสูตรทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ว่า „ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายมีประมาณเพียงใดไม่มีเท้าก็ตาม มี ๒ เท้าก็ตาม มี ๔ เท้าก็ตาม มีเท้ามากก็ตาม ฯลฯ พระตถาคตเรากล่าวว่า เป็นเลิศของสัตว์ทั้งหลาย มีประมาณเพียงนั้น“. 

(และพระสูตรว่า ) „ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ในโลกนี้หรือโลกอื่น ฯลฯ รัตนะอันนั้น เสมอด้วยพระตถาคตเจ้าไม่มีเลย“.  (และพระสูตรว่า ) „เมื่อบุคคลรู้จักธรรมอันเลิศ เลื่อมใสแล้วโดยความเป็นของเลิศ เลื่อมใสแล้วในพระพุทธเจ้าผู้เลิศ ฯลฯ แล้วจึงตรัสว่า „บุคคลจะเป็นอุบาสกหรืออุบาสิกาก็ตาม ผู้ถึงพระรัตนตรัยอันประกอบด้วยอุดมคุณอย่างนี้ชื่อว่าจะเป็นผู้บังเกิดในนรกเป็นต้น ย่อมไม่มี, อนึ่งพ้นจากการบังเกิดในอบายแล้ว ยังจะเกิดนั้นเทวโลกได้เสวยมหาสมบัติ, เพราะเหตุไร? พวกท่านจึงพากันทำลายสรณะเห็นปานนี้แล้วถึงอัญญเดียรถีย์เป็นสรณะ กระทำกรรมอันไม่สมควรเลย“. 

ก็ในที่นี้ เพื่อจะแสดงถึงความที่บุคคลผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะด้วยอำนาจความหลุดพ้นและด้วยอำนาจเป็นรัตนะอันสูงสุด จะไม่มีการบังเกิดในอบายทั้งหลาย บัณฑิตพึงแสดงพระสูตรเหล่านี้ว่า „ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งได้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ชนเหล่านั้นจักไม่เข้าถึงอบายภูมิ ละร่างกาย ของมนุษย์นี้ไปแล้ว จักยังกายเทพให้บริบูรณ์“.  

„ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งได้ถึงพระธรรมเป็นสรณะ ชนเหล่านั้นจักไม่เข้าถึงอบายภูมิ ละร่างกายของมนุษย์นี้ไปแล้ว จักยังกายเทพให้บริบูรณ์“.  „ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งได้ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ ชนเหล่านั้นจักไม่เข้าถึงอบายภูมิ ละร่างกายของมนุษย์นี้ไปแล้ว จักยังกายเทพให้บริบูรณ์“. 

"มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก ถูกภัย คุก คามแล้ว ย่อมถึงภูเขาบ้าง ป่าบ้าง อารามและต้นไม้ที่เป็นเจดีย์ บ้างว่า เป็นสรณะ,  นั่นแลมิใช่สรณะอันเกษม นั่น มิใช่สรณะอันอุดม เขาอาศัยสิ่งนั้น เป็นสรณะแล้ว ย่อมไม่พ้นจากทุกข์ทั้งปวง. 

ส่วนผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ว่า เป็นสรณะแล้ว เห็นอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญา อันชอบ คือทุกข์และตัณหาอันเป็นแดนเกิดขึ้นแห่งทุกข์ (คือสมุทัย)และความก้าวล่วงทุกข์ (คือนิโรธ)และมรรคมีองค์ ๘ อันไปจากข้าศึก ไห้ถึงพระนิพพานเป็นที่เข้าไประงับทุกข์นี้แล,  เป็นสรณะอันเกษมนี้เป็นสรณะอันอุดม เขาอาศัยสิ่งนี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ „ดังนี้แล. 

ก็พระศาสดาทรงแสดงธรรมมีประมาณเท่านี้เท่านั้นแก่พวกสาวก อัญญเดียรถีย์เหล่านั้นยังไม่สิ้นเชิง. อีกอย่างหนึ่งแลได้ทรงแสดงธรรมโดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า „ดูก่อนอุบาสกทั้งหลายชื่อว่าพุทธานุสสติกัมมัฏฐานธัมมานุสสติกัมมัฏฐาน สังฆานุสสิตกัมมัฏฐาน ย่อมให้โสดาปัตติมรรค ย่อมให้โสดาปัตติผล ย่อมให้สกทาคามิมรรค ย่อมให้สกทาคามิผล ย่อมให้อนาคามิมรรคย่อมให้อนาคามิผล ย่อมให้อรหัตมรรค ย่อมให้อรหัตผล, ครั้นทรงแสดงธรรมแล้วจึงตรัสว่า „พวกท่านทำลายสรณะชื่อเห็นปานนี้ การทำกรรมอันไม่สมควรแล้ว“, อนึ่ง พุทธานุสสติกัมมัฏฐานเป็นต้น อันเป็นทางให้ถึงโสดาปัตติมรรคเป็นต้นนี้พึงแสดงโดยพระสูตรทั้งหลาย มีอาทิอย่างนี้ว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมเอกอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้เพื่อนิพพาน ธรรมเอกเป็นไฉน ? คือพุทธานุสสติ „ดังนี้. 

ก็แหละ พระผู้-มีพระภาคเจ้าครั้นทรงโอวาทอุบาสกทั้งหลาย โดยประการต่าง ๆ อย่างนี้แล้วได้ตรัสว่า „ดูก่อนอุบาสกทั้งหลาย แม้ในกาลก่อน มนุษย์ทั้งหลาย ถือเอาสิ่งที่ไม่ใช่สรณะว่า เป็นสรณะ โดยการถือเอาด้วยการคาดคะเน โดยการถือเอาผิดได้ตกเป็นภักษาหารของยักษ์ในทางกันดาร ซึ่งอมนุษย์หวงแหนแล้วถึงความพินาศอย่างใหญ่หลวง ส่วนเหล่ามนุษย์ผู้ถือการยึดถือชอบธรรม ยึดถือความแน่นอน ยึดถือไม่ผิดได้ถึงความสวัสดีในทางกันดารนั้นนั่นเอง“, ครั้นตรัสแล้วได้ทรงนิ่งเสีย. 

ลำดับนั้นแลท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า กล่าวชมเชยแล้ว ประคองอัญชลีเหนือเศียรเกล้า กราบทูลอย่างนี้ว่า „บัดนี้ การที่พวกอุบาสกเหล่านั้นทำลายสรณะอันอุดมแล้ว ถือสรณะยึดถือเอาด้วยการคาดคะเน ยึดถือเอาอย่างผิด ๆ ปรากฏแก่ข้าพระองค์ก่อน, ส่วนในปางก่อนพวกมนุษย์ผู้ยึดถือด้วยการคาดคะเนมีความพินาศและพวกมนุษย์ผู้ยึดถือโดยชอบธรรม มีความสวัสดีในทางกันดารที่อมนุษย์หวงแหนยังลี้ลับสำหรับข้าพระองค์ ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์เลย ดังข้าพระองค์ขอโอกาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงกระทำเหตุนี้ให้ปรากฏ เหมือนยังพระจันทร์เต็มดวงให้เด่นขึ้นในอากาศฉะนั้น“. 

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า „ดูก่อนคฤหบดี เราแลบำเพ็ญ บารมี ๑๐ ทัศในกาลหาปริมาณมิได้ได้แทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณ ก็เพื่อจะคัดความสงสัยของชาวโลกนั่นแลท่านจงเงี่ยโสตฟังโดยเคารพ เหมือนบุคคลเอาถาดทองคำบรรจุเต็มด้วยน้ำมันเหลวแห่งราชสีห์ฉะนั้น“, แล้วทรงยังสติให้เกิดแก่เศรษฐีแล้วได้ทรงกระทำเหตุการณ์แม้อันระหว่างภพปกปิดไว้ให้ปรากฏ ดุจทำลายกลุ่มหมอกนำพระจันทร์เพ็ญออกมาฉะนั้น. 

ในอดีตกาล ได้มีพระราชาพระนามว่าพรหมทัตอยู่ในพระนครพาราณสีแคว้นกาสิกรัฐ. ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์ถือปฏิสนธิในตระกูลพ่อค้าเกวียน ถึงความเจริญวัยโดยลำดับได้เที่ยวกระทำการค้าด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม. พระโพธิสัตว์นั้น บางครั้งจากต้นแดนไปยังปลายแดน บางครั้งจากปลายแดนไปยังต้นแดน. ก็ในเมืองพาราณสีนั้นแหละมีบุตรพ่อค้าเกวียนอีกคนหนึ่ง. บุตรพ่อค้าเกวียนคนนั้น เป็นคนเขลา ไม่เป็นคนมีปัญญา ไม่ฉลาด ในอุบาย. ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์มาเอาสินค้ามีค่ามากจากเมืองพาราณสีบันทุกเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม ทำการเตรียมจะเดินทางแล้วพักอยู่. ฝ่ายบุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลานั้นก็บันทุกเต็มเกวียน ๕๐๐ เล่ม อย่างนั้นเหมือนกันแล้วทำการเตรียมเดินทางพักอยู่.

พระโพธิสัตว์คิดว่า ถ้าบุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลานี้จักไปพร้อม กับเราทีเดียวไซร้ เมื่อเกวียนพันเล่มไปพร้อมกัน แม้ที่ก็จักไม่พอเดิน ฟืนและน้ำเป็นต้น ของพวกมนุษย์ก็ดี หญ้าของพวกโคก็ดี จักหาได้ยาก บุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลานี้หรือเรา ควรจะไปข้างหน้า. 

พระโพธิสัตว์นั้นจึงเรียกบุตรพ่อค้าเกวียนนั้นมาบอกเนื้อความนั้นแล้วกล่าวว่า „เราทั้งสองไม่อาจไปรวมกันท่านจักไปข้างหน้าหรือข้างหลัง“. บุตรพ่อค้าเกวียนนั้นคิดว่า เมื่อเราไปข้างหน้าจะมีอานิสงส์มาก เราจักไปโดยหนทางยังไม่แตกเลย. พวกโคจักได้เคี้ยวกินหญ้าที่ยังไม่มีใครถูกต้อง พวกผู้คนจักมีผักอันเกื้อกูลแก่แกงซึ่งยังไม่ได้จับต้องน้ำจักใสเราเมื่อไปตามชอบใจ จักตั้งราคาขายสินค้าได้. บุตรพ่อค้าเกวียนนั้นจึงกล่าวว่า „สหายเราจักไปข้างหน้า“.

พระโพธิสัตว์ได้เห็นการไปข้างหลังว่า มีอานิสงส์มาก.

พระโพธิสัตว์นั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า คนเหล่านั้นเมื่อไปข้างหน้า จักกระทำที่อันขรุขระในหนทางให้สม่ำเสมอ เราจักเดินทางไปตามทางที่คนเหล่านั้นไปแล้ว เมื่อโคพลิพัทธ์ (คือโคใช้งาน) ซึ่งไปข้างหน้ากินหญ้าแก่และแข็ง โคทั้งหลายของเราจักเคี้ยวกินหญ้าอร่อยซึ่งงอกขึ้นใหม่ ผักซึ่งใช้ทำแกงของพวกมนุษย์ ซึ่งงอกขึ้นจากที่ที่ถูกเด็ดเอาไปจักเป็นของอร่อย ในที่ที่ไม่มีน้ำ คนเหล่านั้นจักขุดบ่อทำให้น้ำเกิดขึ้น เราจักดื่มน้ำในบ่อที่คนเหล่านั้นขุดไว้ชื่อว่าการตั้งราคาสินค้า เป็นเช่นกับการปลงชีวิตมนุษย์ เราไปข้างหลังจักขายสินค้าตามราคาที่คนเหล่านี้ตั้งไว้.

พระโพธิสัตว์นั้นเห็นอานิสงส์มีประมาณเท่านี้จึงกล่าวว่า ดูก่อนสหายท่านจงไปข้างหน้าเถิด. บุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลารับคำแล้วจึงเทียมเกวียนทั้งหลายเป็นการใหญ่ ออกไปล่วงพ้นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์ถึงปากทางกันดาร โดยลำดับ.  ชื่อว่ากันดารมี ๕ อย่าง คือ กันดารเพราะโจร ๑ กันดารเพราะสัตว์ร้าย ๑ กันดารเพราะขาดน้ำ ๑ กันดารเพราะอมนุษย์ ๑ กันดารเพราะอาหารน้อย ๑. 

ในกันดาร ๕ อย่างนั้นทางที่พวกโจรซุ่มอยู่ชื่อว่ากันดารเพราะโจร, ทางที่สีหะเป็นต้น ชุกชุมชื่อว่ากันดารเพราะสัตว์ร้ายอาศัยอยู่. สถานที่ที่ไม่มีน้ำอาบหรือน้ำกินชื่อว่ากันดารเพราะขาดน้ำ. ทางที่อมนุษย์สิงอยู่ชื่อว่ากันดารเพราะมีอมนุษย์สิงอยู่. สถานที่ซึ่งเว้นจากของควรเคี้ยวอันเกิดแต่หัวเป็นต้นชื่อว่ากันดารเพราะอาหารน้อย.  ในกันดาร ๕ อย่างนี้ กันดารนั้นหมายเอากันดารเพราะการขาดน้ำและกันดารเพราะมีอมนุษย์สิงอยู่. เพราะฉะนั้น บุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลานั้นจึงตั้งตุ่มใหญ่ ๆ ไว้บนเกวียนทั้งหลาย บรรจุเติมด้วยน้ำเดินทางกันดาร ๖๐ โยชน์. 

ครั้นในเวลาที่บุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลานั้น ถึงท่ามกลางทางกันดาร ยักษ์ผู้สิงอยู่ในทางกันดารคิดว่า เราจักให้พวกมนุษย์เหล่านี้ทิ้งน้ำที่บันทุกมาเสียทำให้กะปลกกะเปลี้ยแล้วกินมันทั้งหมด จึงนิรมิตยานน้อย น่ารื่นรมย์ เทียมด้วยโคพลิพัทหนุ่มขาวปลอด ห้อมล้อมด้วยอมนุษย์ ๑๒ คน ชุ่มด้วยน้ำและโคลนถืออาวุธพร้อมทั้งโล่เป็นต้น ประดับดอกอุบลและโกมุท มีผมเปียกและผ้าเปียกนั่งมาบนยานน้อยนั้น ประหนึ่งคนเป็นใหญ่มีล้อยานเปื้อนเปือกตม เดินสวนทางมา.  ฝ่ายพวกอมนุษย์ผู้เป็นบริวารของยักษ์นั้น เดินไปมาข้างหน้าและข้างหลัง มีผมเปียกและผ้าเปียก ประดับดอกอุบลและดอกโกมุท ถือกำดอกปทุมและดอกบุณฑริก เคี้ยวกินเหง้าบัว มีหยาดน้ำและโคลนหยดได้พากันเดินไป. 

ก็ธรรมดาว่า พ่อค้าเกวียนทั้งหลาย ในกาลใด ลมพัดมาข้างหน้า ในกาลนั้นจะนั่งบนยานน้อยห้อมล้อมด้วยคนอุปัฏฐาก หลีกเลี่ยงฝุ่นในหนทางไปข้างหน้า, ในกาลใด ลมพัดมาข้างหลัง ในกาลนั้น ก็หลีกไปทางข้างหลังโดยนัยนั้นนั่นแล. ก็ในกาลนั้นได้มีลมพัดมาข้างหน้า เพราะฉะนั้น บุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลานั้นจึงได้ไปข้างหน้า.  ยักษ์นั้นเห็นบุตรพ่อค้าเกวียนนั้น กำลังมาอยู่ จึงให้ยานน้อยของตนหลีกลงจากทางได้ทำการปฏิสันถารกับบุตรพ่อค้าเกวียนนั้นว่า „ท่านทั้งหลายจะไปไหน?“. 

ฝ่ายบุตรพ่อค้าเกวียนก็ยังยานน้อยของตนหลีกลงจากทาง ให้โอกาสเกวียนทั้งหลายไปแล้วยืน ณ ส่วนข้างหนึ่งกล่าวกะยักษ์ว่า „ท่านผู้เจริญ ฝ่ายพวกเรามาจากเมืองพาราณสี ส่วนท่านทั้งหลายประดับดอกอุบลและโกมุทถือดอกประทุมและบุณฑริกเป็นต้น เคี้ยวกินเหง้าบัว เปื้อนด้วยเปือกตม มีหยดน้ำไหล พากันมา ในหนทางที่ท่านทั้งหลายมา ฝนตกหรือหนอ มีสระน้ำดารดาษด้วยดอกอุบลเป็นต้นหรือ?“. 

ยักษ์ได้ฟังถ้อยคำของบุตรพ่อค้าเกวียนนั้นแล้วจึงกล่าวว่า „สหายท่านพูดอะไร? ที่นั้น ราวป่าเขียวปรากฏอยู่ ตั้งแต่ที่นั้น ไป. ป่าทั้งสิ้นมีน้ำอยู่ทั่วไป ฝนตกเป็นประจำ แม้แต่ซอกเขาก็เต็ม (ด้วยน้ำ) ในที่นั้น ๆมีสระน้ำดารดาษด้วยดอกปทุม“. 

เมื่อเกวียนทั้งหลายผ่านไปโดยลำดับ จึงถามว่า „ท่านพาเกวียนเหล่านี้มา จะไปไหนกัน ?“ บุตรพ่อค้าเกวียนกล่าวว่า „จะไปยังชนบทชื่อโน้น". ยักษ์กล่าวว่า „ในเกวียนเล่มนี้และเล่มนี้ มีสินค้าชื่ออะไ“ร. บุตรพ่อค้าเกวียนตอบว่า „มีสินค้าชื่อโน้นและชื่อโน้น". ยักษ์กล่าวว่า "เกวียนที่มาข้างหลังเป็นเกวียนหนักมาก กำลังมาอยู่ ในเกวียนนั้น มีสินค้าอะไร?“. 

บุตรพ่อค้าเกวียนกล่าวว่า „ในเกวียนเล่มนี้มีน้ำ". ยักษ์กล่าวว่า „ก่อนอื่นท่านทั้งหลายนำน้ำมาข้างหลังด้วยได้การทำความเนิ่นช้าแล้ว ก็ตั้งแต่นี้ไป กิจด้วยน้ำย่อมไม่มีข้างหน้ามีน้ำมากท่านทั้งหลายจงทุบตุ่ม เทน้ำทิ้งเสีย จงไปด้วยเกวียนเบาเถิด“. ก็แหละครั้นกล่าวอย่างนี้แล้วจึงพูดว่า „ท่านทั้งหลายจงไปเถอะ ความชักช้าจะมีแก่พวกเรา“, แล้วเดินไปหน่อยหนึ่ง ถึงที่ที่คนเหล่านั้นมองไม่เห็นก็ได้ไปยังนครยักษ์ของตนนั้นแล.  ฝ่ายพ่อค้าเกวียนผู้เขลานั้น เพราะความที่คนเป็นคนเขลาจึงเชื่อคำของยักษ์นั้น จึงให้ทุบตุ่มทั้งหลายทั้งทั้งหมดไม่เหลือน้ำแม้สักฟายมือเดียวแล้วขับเกวียนไป ข้างหน้าชื่อว่าน้ำแม้มีประมาณน้อย มิได้มี. 

มนุษย์ทั้งหลายเมื่อไม่ได้น้ำดื่มพากันลำบากแล้ว คนเหล่านั้นพากันไปจนพระอาทิตย์อัสดง จึงปลดเกวียน พักเกวียนให้เป็นวงแล้วผูกโคที่ล้อเกวียน. น้ำไม่มีแก่พวกโคหรือข้าวยาคูและภัตก็ไม่มีแก่พวกมนุษย์.  ฝ่ายพวกมนุษย์มีกำลังเปลี้ยลง ไม่ ใส่ใจพากันนอนหลับไปในที่นั้น ๆ. ในลำดับอันเป็นส่วนราตรี ยักษ์ทั้งหลายมา จากนครยักษ์ ยังโคและมนุษย์ทั้งหมดนั้นแลให้ถึงแก่ความตายแล้วกินเนื้อของโคและมนุษย์เหล่านั้นไม่ไห้เหลือแม้แต่กระดูกแล้วจึงพากันไป. 

ชนเหล่านั้นแม้ทั้งหมดถึงความพินาศ เพราะอาศัยบุตรพ่อค้าเกวียนผู้โง่เขลาคนเดียว ด้วยประการอย่างนี้ กระดูกมือเป็นต้นได้กระจัดกระจายไปในทิศน้อยทิศใหญ่ เกวียน ๕๐๐ เล่มได้ตั้งอยู่ตามที่บรรทุกไว้เต็มอย่างเดิมแล.  ฝ่ายพระโพธิสัตว์แล จำเดิมแต่วันที่บุตรพ่อค้าเกวียนโง่ออกไปแล้วก็ยับยั้งอยู่ประมาณกึ่งเดือน จึงพากันออกจากพระนครพร้อมกับเกวียน ๕๐๐ เล่ม ถึงปากทางกันดารโดยลำดับ.

พระโพธิสัตว์นั้นจึงยังตุ่มน้ำให้เต็ม ณ ปากทางกันดารนั้น พาเอาน้ำเป็นอันมากไปให้เทียวตีกลองป่าวร้องภายในกองค่ายให้พวกชนประชุมกันแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า „ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านยังไม่ขออนุญาตข้าพเจ้า อย่าได้เทน้ำ แม้สักเท่าซองมือหนึ่งชื่อว่าต้นไม้มีพิษย่อมมีในทางกันดาร ใบไม้ดอกไม้หรือผลไม้ท่านทั้งหลายไม่เคยกินในกาลก่อนมีอยู่ พวกท่านยังไม่ได้ไต่ถามแม้ข้าพเจ้าก็อย่าได้เคี้ยวกิน“ ครั้นให้โอวาทแม้แก่คนทั้งหลายอย่างนี้แล้วจึงเดินทางกันดารด้วยเกวียน ๕๐๐ เล่ม. 

เมื่อพระโพธิสัตว์ถึงท่ามกลางทางกันดาร ยักษ์นั้นได้แสดงตนในหนทางสวนกันแก่พระโพธิสัตว์ โดยนัยก่อนนั่นแหละ พระโพธิสัตว์พอเห็นยักษ์นั้นเท่านั้นได้รู้ว่า „ในทางกันดารนี้แหละ ไม่มีน้ำนี้ชื่อว่ากันดารเพราะไม่มีน้ำ อนึ่ง ผู้นี้ไม่มีท่าทีเกรงกลัว มีนัยน์ตาแดง แม้เงาของเขาก็ไม่ปรากฏ. บุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลาให้ทิ้งน้ำหมดพากันลำบาก พร้อมทั้งบริษัทจักถูกยักษ์นี้กินเสียแล้วโดยไม่ต้องสงสัย แต่ยักษ์นี้ เห็นจะไม่รู้ความที่เราเป็นบัณฑิตและความที่เราเป็นผู้ฉลาดในอุบาย“. 

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์นั้น กล่าวกะยักษ์นั้นว่า „พวกท่านจงไปเถิดพวกเราชื่อว่าเป็นพ่อค้า ยังไม่เห็นน้ำอื่นจะไม่ทิ้งน้ำที่บรรทุกเอามา แต่เราทั้งหลายจะทิ้งในที่ที่ได้เห็นแล้ว ทำเกวียนทั้งหลายให้เบาแล้วจักไป“. ฝ่ายยักษ์ ไปได้หน่อยหนึ่ง เข้าถึงที่ที่มองไม่เห็นแล้วไปนครยักษ์ของตนทีเดียว.  เมื่อยักษ์ไปแล้ว คนทั้งปวงจึงเข้าไปหาพระโพธิสัตว์แล้วกล่าวว่า „ข้าแต่เจ้านายคนเหล่านั้นกล่าวว่า นั่นแนวป่าเขียวปรากฏอยู่ จำเดิมแต่ที่นั้นไป ฝนจักตกเป็นนิตย์ เป็นผู้สวมมาลัยดอกอุบลและโกมุท ถือกำดอกปทุมและบุณฑริกเคี้ยวกินเหง้าบัว มีผ้าเปียกและมีผมเปียก มีหยาดน้ำและโคลนไหลหยดมาพวกเราจักทิ้งน้ำ มีเกวียนเบาจะไปได้เร็ว“. 

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ได้ฟังคำของคนเหล่านั้นแล้วจึงให้พักเกวียน ให้คนทั้งหมดประชุมกันแล้วถามว่า „พวกท่านเคยได้ฟังมาจากใคร ๆ หรือว่า ในที่กันดารนี้ มีสระน้ำหรือสระโบกขรณี“. คนทั้งหลายกล่าวว่า „ข้าแต่เจ้านาย ไม่เคยได้ยิน“, 

พระโพธิสัตว์กล่าวว่า „นี้ชื่อว่ากันดารเพราะน้ำไม่มี, บัดนี้ คนพวกหนึ่งพูดว่า เบื้องหน้าแต่แนวป่าเขียวนั้น ฝนตก ธรรมดาว่า ลมฝนจะพัดไปถึงที่มีประมาณเท่าไร ?“ คนทั้งหลายกล่าวว่า „พัดไปได้ประมาณ ๓ โยชน์ ขอรับ เจ้านาย“.

พระโพธิสัตว์ถามว่า ลมกับฝนกระทบร่างกายของบุคคลแม้คนหนึ่ง บรรดาพวกท่านมีอยู่หรือ ? คนทั้งหลายกล่าวว่า ไม่มีขอรับ. พระโพธิสัตว์ถามว่า ธรรมดาก้อนเมฆย่อมปรากฏในที่มีประมาณเท่าไร ? คนทั้งหลายกล่าวว่า ในที่ประมาณ ๓ โยชน์ ขอรับ. พระโพธิสัตว์ถามว่า ก็บรรดาท่านทั้งหลาย ใคร ๆเห็นก้อนเมฆก้อนหนึ่ง มีอยู่หรือ ? คนทั้งหลายกล่าวว่า ไม่มีขอรับ.  พระโพธิสัตว์. ธรรมดาสายฟ้าปรากฏในที่มีประมาณเท่าไร ? คนทั้งหลาย. ในที่ประมาณ ๔-๕ โยชน์ ขอรับ.  พระโพธิสัตว์. ก็บรรดาท่านทั้งหลาย ใคร ๆที่เห็นแสงสว่างของสายฟ้า มีอยู่หรือ ?  คนทั้งหลาย. ไม่มีขอรับ.  พระโพธิสัตว์. ธรรมดาเสียงเมฆจะได้ยินในที่มีประมาณเท่าไร ?  คนทั้งหลาย. ในที่ ๑-๒ โยชน์ ขอรับ.  พระโพธิสัตว์. ก็บรรดาท่านทั้งหลาย ใครๆ ที่ได้ยินเสียงเมฆ มีอยู่หรือ ?  คนทั้งหลาย. ไม่มีขอรับ.  พระโพธิสัตว์. ท่านทั้งหลายรู้จักคนเหล่านั้นหรือ ?  คนทั้งหลาย. ไม่รู้จักขอรับ. 

พระโพธิสัตว์กล่าวว่า „คนเหล่านั้นไม่ใช่มนุษย์ คนเหล่านั้นเป็นยักษ์พวกมันจักมาเพื่อยุให้พวกเราทิ้งน้ำ กระทำให้อ่อนกำลังแล้วจะเคี้ยวกิน บุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลาซึ่งไปข้างหน้า ไม่ฉลาดในอุบายเขาคงจักถูกยักษ์เหล่านี้ให้ทิ้งน้ำ ลำบากแล้วเคี้ยวกินเสียเป็นแน่ เกวียน ๕๐๐ เล่ม จักจอดอยู่ตามที่บรรทุกไว้เต็มนั่นแหละ วันนี้ พวกเราจักเห็นเกวียนเหล่านั้นท่านทั้งหลายอย่าได้ทิ้งน้ำแม้มาตรว่า ฟายมือหนึ่ง จงรีบขับเกวียนไปเร็ว ๆ“, 

พระโพธิสัตว์นั้นมาอยู่ เห็นเกวียน ๕๐๐ เล่ม ตามที่บรรทุกไว้เต็มนั่นแหละและกระดูกคางเป็นต้น ของมนุษย์ทั้งหลายและของเหล่าใด กระจัดกระจายอยู่ในทิศน้อยทิศใหญ่ จึงให้ปลดเกวียน ให้ตั้งกองค่ายโดยเอาเกวียนวงรอบ ให้คนและโคกินอาหารเย็น ต่อเวลายังวันให้โคทั้งหลายนอนตรงกลางคนทั้งหลายตนเองพาเอาคนผู้มีกำลังแข็งแรง มือถือดาบ ตั้งการอารักขาตลอดราตรีทั้ง ๓ ยามยืนเท่านั้น (ไม่นอน) จนอรุณขึ้น. 

วันรุ่งขึ้น พระโพธิสัตว์ทำกิจทั้งปวงให้เสร็จแต่เช้าตรู่. ให้โคทั้งหลายกินแล้วให้ทิ้งเกวียนที่ไม่แข็งแรงเสีย ให้ถือเอาเกวียนที่แน่นหนา ให้ทิ้งสิ่งของที่มีราคาน้อยเสีย ให้ขนสิ่งของที่มีค่ามากขึ้นไปยังที่ตามที่ปรารถนา ๆขายสิ่งของด้วยมูลค่า ๒ เท่า ๓ เท่าได้พาบริษัททั้งหมดไปยังนครของตน ๆนั่นแลอีก.  พระศาสดาครั้นตรัสธรรมกถานี้แล้วตรัสว่า „ดูก่อนคฤหบดี ในกาลก่อน คนผู้มีปกติยึดถือโดยการคาดคะเน ถึงความพินาศใหญ่หลวงด้วยประการอย่างนี้ ส่วนคนผู้มีปรกติยึดถือคามความจริง พ้นจากเงื้อมมือของพวกอมนุษย์ ไปถึงที่ที่ปรารถนา ๆ โดยสวัสดีแล้วกลับมาเฉพาะยังที่อยู่ของตนแม้อีก“ 

เมื่อจะทรงสืบต่อเรื่องแม้ทั้งสองเรื่องทรงเป็นผู้ตรัสรู้ยิ่งเองในอปัณณกธรรมเทศนานี้ จึงตรัสพระคาถานี้ว่า  คนพวกหนึ่งกล่าวฐานะไม่ผิด นักเดาทั้งหลาย กล่าวฐานะนั้นว่า เป็นที่สอง คนมีปัญญารู้ฐานะและมิใช่ฐานะนั้นแล้วควรถือเอาฐานะที่ไม่ผิดไว้. 

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปณฺณกํ ได้แก่ เป็นไปอย่างแน่นอนคือ ไม่ผิด เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์.  บทว่า ฐานํ ได้แก่ เหตุ. จริงอยู่ ในเหตุ เพราะเหตุที่ผลชื่อว่าย่อมตั้งอยู่ เพราะมีความเป็นไปต่อเนื่องกับเหตุนั้น ฉะนั้นท่านจึงเรียกเหตุนั้นว่า ฐานะและพึงทราบประโยคของบทว่า ฐานํ นั้นในประโยคมีอาทิว่า ฐานญฺจ ฐานโต อฐานญฺจ อฐานโต ฐานะโดยฐานะและมิใช่ฐานะ. โดยมิใช่ฐานะ. ดังนั้น 

แม้ด้วยบททั้งสองว่า อปณฺณกฏฺฐานํ ท่านแสดงว่า เหตุใดนำมาซึ่งความสุขโดยส่วนเดียว เหตุนั้น บัณฑิตทั้งหลายปฏิบัติแล้ว เหตุอันเป็นไปอย่างแน่นอน เหตุอันงามชื่อว่าอปัณณกะไม่ผิดนี้เป็นเหตุอันไม่ผิด เป็นเหตุเครื่องนำออกจากทุกข์ ความย่อในที่นี้ เพียงเท่านี้. แต่เมื่อว่า โดยประเภท สรณคมน์ ๓ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ปาฏิโมกขสังวร อินทรีย์สังวร อาชีวปาริสุทธิศีล ปัจจยปฏิเสวนะการเสพปัจจัย จตุปาริสุทธิศีลแม้ทั้งหมด ความคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ความรู้ประมาณในโภชนะ ชาคริยานุโยค ฌาน วิปัสสนา อภิญญาสมาบัติ อริยมรรค อริยผล แม้ทั้งหมดนี้ เป็นฐานะอันไม่ผิด อธิบายว่า ข้อปฏิบัติไม่ผิด ข้อปฏิบัติอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์.  

ก็แหละ เพราะเหตุที่ฐานะอันไม่ผิดนี้ เป็นชื่อของข้อปฏิบัติเครื่องนำออกจากทุกข์ เพราะฉะนั้นแหละ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงข้อปฏิบัติอันไม่ผิดนั้น จึงตรัสพระสูตรนี้ว่า „ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ เป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติอันไม่ผิด, เป็นผู้มีความเพียรและเป็นผู้ปรารภความเพียรนั้นเพื่อความสิ้นอาสวะทั้งหลาย ๓ ประการเป็นไฉน ?  "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ เป็นผู้ประกอบตามความเพียรเครื่องตื่นอยู่". 

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอย่างไรเล่า? ภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย. ดูก่อนภิกษุทั้งหลายภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยจักษุ ย่อมไม่ถือเอาโดยนิมิต ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย". 

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรเล่า? ภิกษุเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วบริโภคอาหาร มิใช่เพื่อเล่น มิใช่เพื่อมัวเมา มิใช่เพื่อประดับ มิใช่เพื่อตกแต่ง เพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ เพื่อให้ดำเนินไป เพื่องดเว้นการเบียดเบียนเพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ ดังนั้น เราจะบำบัดเวทนาเก่า ไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น การยังชีวิตให้ดำเนินไป ความไม่มีโทษและการอยู่ผาสุก จักมีแก่เรา. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะอย่างนี้". 

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรเล่า? ภิกษุจึงจะเป็นผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งความเพียรเครื่องตื่นอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ชำระจิตจากธรรมเครื่องกางกัน ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่งตลอดวัน ชำระจิตจากธรรมเครื่องกางกั้น ด้วยการจงกรม ด้วยกาฟัง ตลอดปฐมยามแห่งราตรี สำเร็จสีหไสยา โดยข้างเบื้องขวา เอาเท้าซ้อนเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำไว้ในใจถึงความสำคัญในการลุกขึ้น ตลอดมัชฌิมยามแห่งราตรีลุกขึ้นแล้ว ชำระจิตจากธรรมเครื่องกางกั้น ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ตลอดปัจฉิมยามแห่งราตรี. ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอย่างนี้แล ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งความเพียรเป็นเครื่องตื่นอยู่" ดังนี้. 

ก็ในพระสูตรนี้ตรัสธรรม ๓ ประการ อปัณณกปฏิปทา คือข้อปฏิบัติไม่ผิดนี้ ย่อมใช้ได้จนกระทั่งอรหัตผลทีเดียว. ในอปัณณกปฏิปทานนี้ แม้อรหัตผลก็ย่อมชื่อว่าเป็นปฏิปทาแก่การอยู่ด้วยผลสมาบัติและแก่ปรินิพพานที่ไม่มีขันธ์ ๕ เหลือ.  บทว่า เอเก ได้แก่ คนผู้เป็นบัณฑิตพวกหนึ่ง. แม้ในบทว่า เอเกนั้น ไม่มีการกำหนดลงไปอย่างแน่นอนว่า คนชื่อโน้น ก็จริง แต่ถึงกระนั้น คำว่า เอเก ที่ แปลว่า พวกหนึ่งนี้ พึงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายเอาเฉพาะพระโพธิสัตว์พร้อมทั้งบริษัท.  บทว่า ทุติยํ ที่สอง ในบทว่า ทุติยํ อาหุ ตกฺกิกา นักเดากล่าวว่า เป็นฐานะที่สองนี้ได้แก่ เหตุแห่งการยึดถือเอาโดยการเดา คือเหตุอันไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ว่า เป็นที่สอง จากฐานะอันไม่ผิดที่หนึ่ง คือ จากเหตุอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์. 

ก็ในบทว่า อาหุ ตกฺกิกานี้ มีการประกอบความกับบทแรก ดังต่อไปนี้ :- คนที่เป็นบัณฑิตพวกหนึ่ง มีพระโพธิสัตว์เป็นประธาน ถือเอาฐานะที่ไม่ผิด คือ เหตุอันเป็นไปอย่างแน่นนอนได้แก่ เหตุอันไม่ผิด เหตุอันเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ ส่วนนักคาดคะเน มีบุตรพ่อค้าเกวียนผู้เขลาเป็นประธานนั้น กล่าวคือได้ถือเอาฐานะที่เป็นไปโดยไม่แน่นอน คือ เหตุที่ผิดได้แก่ เหตุอันไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ ซึ่งมีโทษว่า เป็นที่สอง บรรดาชนทั้งสองพวกนั้น ชนที่ถือฐานะอันไม่ผิดนั้น เป็นผู้ปฏิบัติปฏิปทาขาว ส่วนชนที่ถือเหตุอันไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ กล่าวคือการยึดถือโดยคาดคะเนเอาว่า ข้างหน้ามีน้ำว่า เป็นที่สองนั้น เป็นผู้ปฏิบัติปฏิปทาดำ. 

ในปฏิปทาสองอย่างนั้น ปฏิปทาขาว เป็นปฏิปทาไม่เสื่อม ส่วนปฏิปทาดำ เป็นปฏิปทาเสื่อม เพราะฉะนั้น ชนผู้ปฏิบัติปฏิปทาขาว เป็นผู้ไม่เสื่อม ถึงแก่ความสวัสดี ส่วนชนผู้ปฏิบัติปฏิปทาดำ เป็นผู้เสื่อม ถึงแก่ความพินาศฉิบหาย.  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่อนาถบิณฑิกคฤหบดี ถึงเนื้อความดังพรรณนามานี้แล้ว ตรัสพระดำรัสนี้ให้ยิ่งขึ้นว่า คนมีปัญญา รู้ฐานะและมิใช่ฐานะนี้แล้วควรถือเอาฐานะที่ไม่ผิดไว้.  บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอตทญฺญาย เมธาวี ความว่า กุลบุตรผู้ประกอบด้วยปัญญาอันหมดจด สูงสุด ซึ่งได้นามว่าเมธา รู้คุณและโทษความเจริญและความเสื่อม ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ฐานะและมิใช่ฐานะในฐานะทั้งหลายกล่าวคือการยึดถือฐานะไม่ผิดและการยึดถือโดยการคาดคะเนทั้งสอง คือ ในฐานะที่ไม่ผิดและฐานะที่ผิดนี้. 

บทว่า ตํ คณฺเห ยทปณฺณกํ ความว่า ควรถือเอาฐานะที่ไม่ผิดคือที่เป็นไปโดยแน่นอน เป็นปฏิปทาขาว เป็นเหตุเครื่องนำออกจากทุกข์กล่าวคือปฏิปทาอื่นไม่เสื่อมนั้นนั่นแหละไว้. เพราะเหตุไร ? เพราะภาวะมีความเป็นไปแน่นอนเป็นต้น. ส่วนนอกนี้ไม่ควรถือเอา. เพราะเหตุไร ? เพราะภาวะมีความเป็นไปไม่แน่นอน.  จริงอยู่ ชื่อว่าอปัณณกปฏิปทาน เป็นปฏิปทาของพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระพุทธบุตรทั้งปวงแล. ก็พระพุทธเจ้าทั้งปวง ตั้งอยู่เฉพาะในอปัณณกปฏิปทาบำเพ็ญบารมีทั้งหลายด้วยความเพียรมั่นชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้าที่ลานต้นโพธิ. แม้พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ยังปัจเจกโพธิญาณให้เกิดขึ้น แม้พุทธบุตรทั้งหลายก็ตรัสรู้เฉพาะสาวกบารมีญาณ. 

พระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ทรงประทานกุศลสมบัติทั้ง ๓ กามาวจรสวรรค์๖และสมบัติในพรหมโลกแก่อุบาสกเหล่านั้นด้วยประการดังนี้ ในที่สุดทรงแสดงอปัณณกปฏิปทานี้ว่า ชื่อว่าปฏิปทาที่ไม่ผิด ให้อรหัตผล. ชื่อว่าปฏิปทาที่ผิด ให้การบังเกิดในอบาย ๔ และในตระกูลต่ำ ๕ แล้วทรงประกาศอริยสัจ๔ โดยอาการ ๑๖ ให้ยิ่งในรูป. ในเวลาจบอริยสัจ ๘ อุบาสก ๕๐๐ คนแม้ทั้งหมดนั้น ดำรงอยู่แล้วในโสดาปัตติผล. 

พระศาสดา ครั้นทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้แล้วทรงแสดงเรื่อง ๒ เรื่องสืบอนุสนธิกันแล้วทรงประมวลชาดกมาแสดงทรงทำพระเทศนาให้จบลงว่า บุตรพ่อค้าเกวียนผู้โง่เขลาในสมัยนั้นได้เป็นพระเทวทัต ในบัดนี้แม้บริษัทของบุตรพ่อค้าเกวียนโง่นั้นก็ได้เป็นบริษัทของเทวทัต ในบัดนี้บริษัทของบุตรพ่อค้าเกวียนผู้เป็นบัณฑิต ในครั้งนั้นได้เป็นพุทธบริษัทในบัดนี้ ส่วนบุตรของพ่อค้าเกวียนผู้เป็นบัณฑิตในครั้งนั้นได้เป็นเราตถาคต.

ที่มา : Palipage : Guide to Language - Pali




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: