วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๑๙)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๑๙)  ปัญหาที่ ๓ เทวทัตปัพพัชชปัญหา 

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ใครบวชให้พระเทวทัต ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระ พรมหาบพิตร ขัตติยะกุมาร ๖ องค์เหล่านี้ คือ ท่านภัททิยะ ๑, ท่านอนุรุทธ์ ๑, ท่านอานนท์ ๑, ท่านภคุ ๑, ท่านกิมิละ ๑, ท่านเทวทัต ๑ และคนที่ ๗ คือ ช่างตัดผมชื่อ อุบาลี เมื่อครั้งที่พระศาสดาตรัสรู้ใหม่ๆ ได้ออกบวชตามพระผู้มีพระภาคในคราวที่เสด็จไปโปรดให้พวกศากยสกุลยินดี พระผู้มีพระภาคทรงโปรดให้ท่านเหล่านั้นได้บวช

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า พระเทวทัตบวชแล้วก็ยุยงส่งให้แตกแยกกันมิใช่หรือ ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ใช่ พระเทวทัตบวชแล้วก็ยุยงส่งให้แตกแยกกัน พวกคฤหัสถ์ก็ยุยงส่งให้แตกแยกกันมิได้ พวกพระภิกษุณีก็ยุยงส่งให้แตกแยกกันไม่ได้ พวกนางสิกขามานาก็ยุยงส่งให้แตกแยกกันไม่ได้ พวกสามเณรี ก็ยุยงส่งให้แตกแยกกันไม่ได้ ภิกษุผู้มีตนอยู่ตามปกติ มีการอยู่ร่วมเสมอกัน ดำรงอยู่ในสีมาเสมอกัน ย่อมยุยงสงฆ์ให้แตกแยกกันได้.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า บุคคลผู้ยุยงส่งให้แตกแยกกัน ย่อมถูกต้องกรรมอะไร ? พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เขาย่อมถูกต้องกัปปัฏฐิติกกรรม (กรรมที่เป็นเหตุให้ตั้งอยู่ในนรกตลอดกัป) 

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระพุทธเจ้าก็ทรงทราบอยู่ว่า พระเทวทัตบวชแล้วจะยุยงสงฆ์ให้แตกแยกกัน จะหมกไหม้อยู่ในนรกตลอดกัป เพราะยุยงสงฆ์ให้แตกแยกกัน ดังนี้ มิใช่หรือ ? พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากว่า พระพุทธเจ้าทรงทราบอยู่ว่า พระเทวทัตบวชแล้ว จะยุยงสงฆ์ให้แตกแยกกัน จะหมกไหม้อยู่ในนรกตลอดกัป เพราะยุยงสงฆ์ให้แตกแยกกัน ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้นนะ พระคุณเจ้านาคเสน คำพูดที่ว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้มีพระกรุณา อนุเคราะห์แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ขจัดสิ่งที่หาประโยชน์เกื้อกูลไม่ได้ มุ่งมั่นแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ดังนี้ก็ย่อมเป็นคำพูดที่ไม่ถูกต้อง ถ้าหากว่ายังไม่ทรงทราบเรื่องนั้นจึงทรงให้บวชไซร้ ถ้าอย่างนั้น พระพุทธเจ้าก็หาทรงเป็นพระสัพพัญญูไม่ แม้ปัญหานี้ ก็มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงถางรกชัฏใหญ่นี้ ขอจงทำลายวาทะโต้แย้งของฝ่ายอื่น ในกาลอนาคต ภิกษุทั้งหลายผู้มีความรู้เช่นอย่างท่าน จะเป็นบุคคลที่หาได้ยาก ขอท่านจงแสดงกำลัง ความสามารถ ของท่านในปัญหาข้อนี้เถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพรพระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้มีความกรุณา และทรงเป็นพระสัพพัญญู ขอถวายพระพรเมื่อทรงตรวจดูคติของพระเทวทัต ก็ทรงเล็งเห็นแล้วว่า พระเทวทัตขวนขวายทำแต่กรรมที่เป็นเหตุไปอบาย แล้วก็เป็นผู้ละจากนรกไปสู่นรก ละจากวินิบาตไปสู่วินิบาต ตลอดหลายแสนโกฏิกัป พระผู้มีพระภาคทรงทราบเรื่องนั้นด้วยพระสัพพัญญุตญาณแล้ว ก็ทรงดำริว่า กรรมที่ผู้นี้ทำไว้ หาที่สุดมิได้ เมื่อได้บวชในศาสนาของเราแล้ว ก็จะมีอันทำให้สิ้นสุดได้ เพราะได้อาศัยการบวชที่มีมาก่อน เขาก็จะมีอันทำทุกข์ให้สิ้นสุดไปได้ โมฆะบุรุษผู้นี้ แม้มิได้บวช ก็จะขวนขวายทำแต่กรรมที่มีวิบากตั้งอยู่ตลอดกัปอย่างเดียว ดังนี้แล้ว ก็ทรงโปรดให้พระเทวทัตได้บวชด้วยพระกรุณา

พระเจ้ามิลินท์, ถ้าอย่างนั้นนะ พระคุณเจ้านาคเสน ข้อที่พระพุทธเจ้านั้นประทานทุกข์แก่เขาก่อน แล้วจึงทรงจัดแจงสุขให้ในภายหลัง จัดว่าพระองค์ทรงโบยตีเขาเสียก่อน แล้วจึงทรงใช้น้ำมันทาให้ ทรงผลักให้เขาตกหน้าผาเสียก่อน แล้วจึงทรงเหยียดพระหัตถ์ให้จับ จงฆ่าเขาเสียก่อน แล้วจึงทรงชุบชีวิตให้ นะสิ.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พระคาถาคต แม้ว่าทรงโบยตี ก็โดยเกี่ยวกับว่าจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย แม้ทรงผลักให้ตกไป ก็โดยเกี่ยวกับว่าจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย แม้นทรงฆ่า ก็โดยเกี่ยวกับว่าจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย ขอถวายพระพร พระตถาคต แม้นทรงโบยตี ก็ชื่อว่าทรงจัดแจงแต่ประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายเท่านั้น แม้ทรงผลักให้ตกไป ก็ชื่อว่าทรงจัดแจงแต่ประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายเท่านั้น แม้ทรงฆ่า ก็ชื่อว่าทรงจัดแจงแต่ประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายเท่านั้น

ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า ธรรมดาว่ามารดาและบิดา แม้โบยตี แม้ผลัก ก็ชื่อว่าจัดแจงแต่ประโยชน์เกื้อกูลแก่บุตรทั้งหลายเท่านั้น ฉันใด ขอถวายพระพร พระตถาคตแม้ว่าทรงโบยตี ก็โดยเกี่ยวกับว่าจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย แม้ว่าทรงผลักให้ตกไป ก็โดยเกี่ยวกับว่าจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย แม้ว่าทรงฆ่า ก็โดยเกี่ยวกับว่าจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย ขอถวายพระพร พระตถาคต แม้ว่าทรงโบยตี ก็ชื่อว่าทรงจัดแจงแต่ประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายเท่านั้น แม้ทรงผลักให้ตกไป ก็ชื่อว่าทรงจัดแจงแต่ประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายเท่านั้น แม้ทรงฆ่า ก็ชื่อว่าทรงจัดแจงแต่ประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายเท่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน ความเจริญแห่งคุณธรรมจะมีแก่สัตว์ทั้งหลายได้ โดยวิธีการใดๆ พระองค์ก็จะทรงจัดแจงแต่ประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง โดยวิธีการนั้นๆ นั่นเทียว ขอถวายพระพร ถ้าหากว่าพระเทวทัตไม่ได้บวช ยังคงเป็นคฤหัสถ์ไซร้ ก็จะทำแต่กรรมชั่วที่เป็นไปพร้อมเพื่อนรกไว้เป็นอันมาก แล้วก็จะละจากนรกไปสู่นรก ละจากวินิบาตไปสู่วินิบาต เสวยทุกข์เป็นอันมาก ตลอดหลายแสนโกฏิกัป พระผู้มีพระภาค เมื่อทรงทราบความจริงข้อนั้นอยู่ จึงทรงโปรดให้พระเทวทัตได้บวชด้วยพระกรุณา ได้ทรงกระทำทุกข์หนักให้เบาบางไป ด้วยพระกรุณาว่า เมื่อพระเทวทัตได้บวชแล้ว ก็จะมีอันทำทุกข์ให้สิ้นสุดไปได้ ดังนี้

ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า บุรุษผู้มีกำลัง ด้วยกำลังคือทรัพย์ ยศ ความสง่างาม และญาติ รู้ว่าญาติหรือมิตรของตนถูกพระราชารับสั่งให้ต้องรับโทษทัณฑ์หนักแล้ว ก็ใช้ความสามารถจากความที่ตนเป็นผู้ที่คนมากมายเชื่อถือ กระทำโทษทัณฑ์หนักให้เบาบางไป ฉันใด ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคก็ทรงโปรดพระเทวทัตผู้ต้องเสวยทุกข์มากมายหลายโกฏิกัปให้ได้บวช ทรงใช้พระปรีชาสามารถ คือกำลังศีล กำลังสมาธิ กำลังปัญญา กำลังวิมุตติ กระทำทุกข์หนักให้เบาบางไป ฉันนั้นเหมือนกัน.  ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า หมอรักษาบาดแผลผู้เชี่ยวชาญ ย่อมใช้กำลัง คือยาที่มีกำลัง (ยาแรง) ทำให้โรคหนักให้เบาบางไป ฉันใด ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคผู้ทรงมีพระกำลังคือพระกรุณา ก็ทรงโปรดให้พระเทวทัต ผู้จะเสวยทุกข์ ตลอดหลายแสนโกฏิกัปได้บวช เพราะความที่ทรงมีพระปัญญารู้จักโรค ทรงใช้กำลังยาคือพระธรรมที่แข็งกล้า กระทำทุกข์หนักให้เบาบางไป ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคนั้น เมื่อทรงกระทำพระเทวทัต ผู้ต้องสวยทุกมากมาย ให้เสวยทุกข์แต่น้อยอยู่ จะทรงถึงซึ่งความผิดอะไรๆ บ้างหรือหนอ ?

พระเจ้ามิลินท์, จะไม่ทรงถึงความผิดอะไรๆ หรอก พระคุณเจ้า โดยที่สุด แม้เพียงเท่าหย่านมโคที่รีดได้เป็นอย่างแรก.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ขอพระองค์จงทรงยอมรับเหตุที่ทำให้พระพุทธเจ้าทรงโปรดให้พระเทวทัตได้บวช แม้ข้อที่ว่ามานี้ ว่าเป็นเหตุที่ใช้ได้ เถิด

ขอถวายพระพร ขอพระองค์จงสดับเหตุที่ทำให้พระผู้มีพระภาคทรงโปรดให้พระเทวทัตได้บวช แม้ข้ออื่นยิ่งอีกหน่อยเถิด ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าบุรุษคนหนึ่ง จับโจรผู้ประพฤติชั่วช้าได้แล้ว ก็พึงกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นเทพ ผู้นี้เป็นโจรผู้ประพฤติชั่วช้า พระเจ้าข้า ขอจงรับสั่งให้ลงทัณฑ์โจรผู้นี้ ตามที่ทรงปรารถนาเถิด พระเจ้าข้า พระราชาจึงรับสั่งแก่พนักงานทั้งหลายเหล่านั้นอย่างนี้ว่า ถ้าอย่างนั้นนะ พนาย จงนำโจรผู้นี้ออกไปนอกเมือง แล้วจงตัดหัวมันเสียที่ตะแลงแกง ดังนี้ พวกพนักงานเหล่านั้นทูลรับพระบัญชา พาโจรผู้นั้นออกไปนอกเมือง นำไปสู่ตะแลงแกง บุรุษผู้หนึ่งซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับพร ได้รับยศ ทรัพย์เครื่องใช้สอยจากสำนักของพระราชา เป็นผู้ที่พระราชาทรงยอมรับคำทูล เป็นผู้ที่ตัดสินใจกระทำด้วยกำลังได้ บุรุษผู้นั้นเกิดกรุณาโจรผู้นั้น จึงกล่าวกับพวกราชบุรุษเหล่านั้น ว่า อย่าเลยท่านผู้เจริญทั้งหลายเอ๋ย ประโยชน์อะไรแก่ท่านด้วยการตัดหัวโจรพรุ่งนี้เล่า เอาเถอะ ขอท่านจงเพียงแต่ตัดมือหรือเท้า รักษาชีวิตของโจรพรุ่งนี้เอาไว้เถิด เราจะให้คำตอบ เพราะเหตุที่ให้ทำเช่นนี้ ในสำนักของพระราชาเอง ดังนี้ พวกพนักงานเหล่านั้น อาศัยคำพูดรับรองแข่งขันของบุรุษผู้นั้น ตัดมือและเท้าของโจรผู้นั้น รักษาชีวิตไว้ ขอถวายพระพร บุรุษผู้นั้นทำอย่างนี้นั้นชื่อว่าเป็นผู้ทำกิจที่ควรทำแก่โจรนั้น หรือไม่ ?

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน บุรุษผู้นั้นเป็นผู้ให้ชีวิตแก่โจรผู้นั้น เมื่อได้ให้ชีวิต จะชื่อว่าไม่มีอันได้ทำสิ่งที่ควรทำแก่โจรนั้น อย่างไร.  พระนาคเสน, ก็แต่ว่า ทุกขเวทนา ในเพราะการถูกตัดมือหรือเท้าใด บุรุษผู้นั้นพึงถึงความผิดอะไรๆ เพราะทุกขเวทนา นั้นบ้างหรือไม่ ?  พระเจ้ามิลินท์, โจรผู้เสวยทุกขเวทนา เพราะกรรมที่ตนทำไว้ แปลว่าบุรุษผู้เป็นผู้ให้ชีวิตเขาจึงไม่ถึงซึ่งความผิดอะไรๆ.  พระนาคเสน, อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระผู้มีพระภาคทรงโปรดให้พระเทวทัตได้บวชด้วยพระกรุณาว่า เมื่อเขาได้บวชในศาสนาของเราแล้ว ก็จะมีอันทำทุกข์ให้สิ้นสุดไปได้ ดังนี้ ขอถวายพระพร พระเทวทัตจะมีอันได้กระทำทุกข์ให้สิ้นสุดไป เพราะในสมัยใกล้ตาย พระเทวทัตได้ ถึงพระผู้มีพระภาคว่า เป็นสรณะไปจนสิ้นลมหายใจ กล่าวว่า :- 

“อิเมหิ  อฏฺฐีหิ  ตมคฺคปุคฺคลํ  เทวาติเทวํ   นรทมฺมสารถึ   สมนฺตจกฺขุํ สตปุญฺญลกฺขณํ  ปาเณหิ  พุทฺธํ  สรณํ  อุเปมิ.   ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นยอดบุคคล ผู้ทรงเป็นเทพยิ่งเหล่าเทพ ผู้ทรงเป็นนายสารถี ฝึกนรชนผู้ควรฝึก ผู้ทรงมีสมันตจักขุ มีพระบุญรักษาตั้ง ๑๐๐ อย่างพระองค์นั้น ว่าเป็นสรณะด้วยกระดูก ด้วยลมหายใจเหล่านี้”  ดังนี้

ขอถวายพระพร ในกัปที่ท่านแบ่งไว้เป็น ๖ ส่วน ที่กำลังล่วงไปอยู่ พระเทวทัตได้ทำสงฆ์ให้แตกแยกกันในส่วนแรก หมกไหม้อยู่ในนรกใน ๕ ส่วน พ้นจากนรกแล้ว ก็จะสำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นามว่า อัฏฐิสสระ ขอถวายพระพรพระผู้มีพระภาค ผู้ทรงกระทำไว้อย่างนี้ ชื่อว่าทรงเป็นผู้ทำกิจที่ควรทำแก่พระเทวทัตหรือไม่หนอ ?  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ข้อที่พระตถาคตทรงทำให้พระเทวทัตได้บรรลุพระปัจเจกโพธิญาณ จัดว่าพระตถาคตทรงเป็นผู้ให้ทุกสิ่งทุกอย่างแก่พระเทวทัต ชื่อว่า กิจที่ควรทำแก่พระเทวทัต ที่พระตถาคตยังไม่ได้ทรงกระทำอะไรเล่ายังมีอยู่อีก

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เรื่องที่พระเทวทัตทำสงฆ์ให้แตกแยกกันแล้วหมกไหม้อยู่ในนรกใด พระผู้มีพระภาคทรงถึงความผิดอะไรๆ เพราะเรื่องนั้นบ้างหรือไม่ ?  พระเจ้ามิลินท์, ไม่ทรงถึงความผิดอะไรหรอก พระคุณเจ้า พระเทวทัตหมกไหม้อยู่ในนรก ตลอดกัป เพราะกรรมที่ตนเองทำไว้ พระศาสดาผู้ทรงมีแต่จะกระทำให้พระเทวทัตถึงที่สุดแห่งทุกข์ ไม่ทรงถึงซึ่งความผิดอะไร ๆ.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ขอพระองค์จงทรงยอมรับเหตุที่ทำให้พระผู้มีพระภาคทรงโปรดให้พระเทวทัตได้บวชแม้ข้อที่ว่ามานี้ ว่าเป็นเหตุที่ใช้ได้เถิด

ขอถวายพระพรขอพระองค์จงทรงสละเหตุที่ทำให้พระผู้มีพระภาคทรงโปรดให้พระเทวทัตได้บวช แม้ข้ออื่น ยิ่งอีกหน่อยเถิด ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า หมอรักษาบาดแผลผู้ชำนาญ เมื่อจะรักษาบาดแผลที่เข้าถึงความเจ็บปวดเพราะลมที่กระทบ ดีและเสมหะที่ก่อตัว อุตุที่เปลี่ยนแปลงและการบริหารที่ไม่สม่ำเสมอ มีปลายลูกศรเสียบติดอยู่ข้างในทะลุเป็นโพรง บ่มหนองและโลหิต ย่อมใช้ยาที่กล้าแข็ง ร้อนแรง ทาปากแผล เพื่อเผาให้ร้อน พอแผลร้อนถึงความอ่อนตัวไป ก็ใช้มีดผ่า ใช้แผ่นเหล็กที่เผาไฟทาบให้ร้อน ราดน้ำด่างแสบเค็ม ใช้ยาทาเพื่อสมานแผล ทำคนผู้เจ็บป่วยให้ถึงความสวัสดีได้ตามลำดับ ขอถวายพระพรหมอรักษาบาดแผลผู้นั้นเป็นผู้หากิจเกื้อกูลไม่ได้หรือไร จึงได้ใช้ยา ใช้แผ่นเหล็กเผาไฟ ภาพให้ร้อนราดน้ำด่างแสบเค็ม ?  พระเจ้ามิลินท์, หาไม่ได้พระคุณเจ้า หมอรักษาบาดแผลเป็นผู้มีจิตเกื้อกูล ใคร่ความสวัสดี จึงได้ทำกิจที่ควรทำเหล่านั้น.  พระนาคเสน, ก็แต่ว่า ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะการที่หมอกระทำกิจที่ควรทำด้วยยาใด หมอรักษาบาดแผลผู้นั้นพึงถึงความผิดอะไรๆ เพราะทุกขเวทนานั้น บ้างหรือไม่ ?  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า หมอผ่าตัดมีกิจเกื้อกูล ใคร่ความสวัสดี จึงทำกิจที่ควรทำเหล่านั้น หมอผ่าตัดผู้นั้นจะพึงถึงความผิดเพราะเหตุที่มีทุกขเวทนาเกิดขึ้นนั้น กระไรได้ พระคุณเจ้า หมอผ่าตัดผู้นั้นมีแต่ว่าจะได้ไปสวรรค์

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระผู้มีพระภาค ทรงมีพระมหากรุณา จึงทรงโปรดให้พระเทวทัตได้บวช เพื่อความพ้นจากทุกข์.  ขอถวายพระพร ขอพระองค์จงทรงสาเหตุที่ทำให้พระผู้มีพระภาคทรงโปรดให้พระเทวทัตได้บวช แม้ข้ออื่น ยิ่งอีกหน่อยเถิด ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บุรุษคนหนึ่งเป็นผู้ถูกหนามตำ ลำดับนั้น มีบุรุษอีกคนหนึ่งเป็นคนไข้ประโยชน์ ใคร่ความสวัสดี ใช้เข็มแหลมคมบ้าง ปลายมีดบ้าง บ่งโดยรอบ เมื่อเลือดกำลังหลั่งไหลอยู่ ก็คัดเอาหนามนั้นออกไปได้ ขอถวายพระพร บุรุษผู้นั้นใคร่ความหายนะหรือไร จึงได้คัดเอาหนามนั้นออก ?  พระเจ้ามิลินท์, หามิได้พระคุณเจ้า ผู้นั้นใคร่ประโยชน์ ใคร่ความสวัสดี จึงคัดเอาหนามนั้นออก ถ้าหากว่าบุรุษผู้นั้นไม่คัดเอาหนามนั้นออกไซร้ บุรุษผู้ถูกน้ำตามนั้นก็อาจถึงตายได้ หรือถึงทุกข์เจียนตาย เพราะเหตุนั้นได้.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระตถาคตทรงมีพระกรุณา จึงทรงโปรดพระเทวทัตได้บวช เพื่อความพ้นจากทุกข์ ถ้าหากว่าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงโปรดให้พระเทวทัตได้บวชไซร้ พระเทวทัตก็จะหมกไหม้ในนรกหลายภพชาติติดต่อกันไปแม้ตลอดแสนกัป

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระตถาคตได้ทรงช่วยพระเทวทัตผู้ไหลไปตามกระแสให้ไหลไปทวนกระแส ได้ทรงช่วยพระเทวทัตผู้เดินผิดทางให้เดินถูกทาง ส่งมอบสิ่งยึดเกาะแก่พระเทวทัตผู้ตกไปในเหว พระตถาคตทรงยกพระเทวทัตผู้ตกไปในที่ขรุขระให้ขึ้นไปสู่ที่ราบเรียบ พระคุณเจ้านาคเสน เหตุการณ์เหล่านี้ ยกเว้นบรรพชิตผู้มีความรู้เช่นท่านแล้ว บรรพชิตรูปอื่นๆ ไม่อาจชี้แจงได้.  จบเทวทัตตปัพพัชชปัญหาที่ ๓

คำอธิบายปัญหาที่ ๓

ปัญหาเกี่ยวกับการที่ทรงโปรดให้พระเทวทัตได้บวช ชื่อว่า เทวทัตตปัพพัชชปัญหา.  คำว่า ยุยงส่งให้แตกแยกกัน คือภิกษุผู้ยุยง ยุยงสงฆ์ที่อยู่ในสีมาเดียวกัน ให้แตกแยกเป็น ๒ ฝ่าย โดยตนเข้าสมทบกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แล้วแยกทำสังฆกรรมต่างหากแยกสวดปาฏิโมกข์ต่างหากจากอีกฝ่ายหนึ่ง.  พระเถระกล่าวว่า พวกคฤหัสถ์ก็ยุยงสงฆ์ให้แตกแยกกันไม่ได้ ดังนี้เป็นต้น ด้วยประสงค์จะรับรองยืนยันรับสั่งของพระราชาที่ว่า ถ้าหากพระเทวทัตมิได้บวชแล้วไซร้ ก็ไม่อาจทำกรรมหนักคือ การยุยงสงฆ์ให้แตกแยกกัน ข้อนี้ได้ เพราะได้บวชจึงทำได้ เพราะมีคำตรัสเกี่ยวกับบุคคลผู้ทำสังฆเภทนี้ อยู่อย่างนี้ว่า :- 

"น  โข  อุปาลิ  ภิกฺขุนี  สงฺฆํ  ภินฺทติ,  อปิจ  เภทาย  ปรกฺกมติ ฯ  น  สิกฺขมานา  สงฺฆํ   ภินฺทติ,  น  สามเณโรสงฺฆํ  ภินฺทติ,  น  สามเณรี  สงฺฆํ  ภินฺทติ,   น   อุปาสโก  สงฺฆํ  ภินฺทติ,  น  อุปาสิกา  สงฺฆํ   ภินฺทติ,  อปิจ  เภทาย  ปรกฺกมติ ฯ   ภิกฺขุ   โข   อุปาลิ   ปกตตฺโต   สมานสํวาสโก  สมานสีมายํ   ฐิโต  สงฺฆํ   ภินฺทตีติ"   (ซิ.จุ. ๗/๑๖๘)  

“ดูก่อน อุบาลี ภิกษุณีก็ทำสงฆ์ให้แตกแยกกันไม่ได้ ได้แต่เพียงพยายามเพื่อให้แตกแยกกัน นางสิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา ก็ทำสงฆ์ให้แตกแยกกันมิได้ ได้แต่เพียงพยายามเพื่อจะให้แตกแยกกัน ดูก่อนอุบาลี ภิกษุผู้อยู่ร่วมเสมอกัน ผู้อยู่ร่วมในเสมาเดียวกันตามปกติแล ย่อมทำสงฆ์ให้แตกแยกกันได้ ดังนี้”

คำว่า กัปปัฏฐิติกกรรม แปลว่า กรรมที่เป็นเหตุให้ตั้งอยู่ในนรกตลอดกัป คือกรรมที่เป็นเหตุให้ตั้งอยู่ในนรกตลอดอายุกัป อธิบายว่า พระเทวทัตได้ถูกต้องกรรมที่เป็นเหตุให้ตั้งอยู่ในนรกตลอดอันตรกัป เพราะว่าอายุกัปก็กำหนดด้วยอันตรกัป อันตรกัป (กัปในระหว่างอสงไขยกัป) นั้นกำหนดอย่างนี้ คือ เมื่อสัตว์ทั้งหลาย (มนุษย์) เป็นอันมาก เข้าถึงความเสื่อมแห่งอายุ เพราะมีอกุศลกรรมหนาแน่น จนมีอายุเฉลี่ยประมาณ ๑๐ ปี ก็กลับมีอายุเจริญขึ้นอีก จับตั้งแต่อายุ ๑๐ ปีจนถึงอสงไขยปี เพราะเกิดมีกุศลกรรมหนาแน่นขึ้นมาอีก แล้วก็กลับเสื่อมลงตามลำดับ จนเกิดมาเป็นผู้มีอายุเพียง ๑๐ ปี อย่างนั้นอีก ชั่วระยะเวลาจับตั้งแต่มีอายุ ๑๐ ปี แล้วเพิ่มขึ้นตามลำดับจนมีอายุได้อสงไขยปี และหลังจากนั้นก็กลับมีอายุลดลงอีก คือจากอสงไขยปี ลดลงตามลำดับจนเหลือเพียง ๑๐ ปี นี้เรียกว่า ๑ อันตรกัป.  คำว่า เพิ่มหรือลด คือจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงครั้งละ ๑ ปี ทุกๆ ๑๐๐ ปี.   คำว่า อสงไขย เขียนได้อย่างนี้ คือใส่เลข ๐ หลังเลข ๑ จำนวน ๑๔๐ ตัว.  สังฆเภท คือ การยุยงสงฆ์ให้แตกแยกกันเป็นกรรมที่ทำให้ตั้งอยู่ในนรก หมกไหม้อยู่ในนรกนั้น ตลอดอันตรกัป ในอรรถกถาอื่น จะพ้นจากนรกได้ ก็เมื่อถึงคราวกัปพินาศเพราะไฟเป็นต้น

ความหมายในปัญหามีอยู่ว่า ถ้าพระตถาคตทรงทราบอยู่แล้วว่า ถ้าหากพระเทวทัตได้บวชแล้ว จะเป็นผู้ยุยงสงฆ์ให้แตกแยกกัน จะหมกไหม้เสวยทุกข์แสนสาหัสในนรก เพราะยุยงสงฆ์ให้แตกแยกกัน ดังนี้แล้ว ยังทรงโปรดให้พระเทวทัตได้บวชอีก ก็เป็นอันแสดงว่าหาทรงมีความกรุณาต่อสัตว์โลกจริงอย่างที่สรรเสริญกันอยู่ทั่วไปไม่ เพราะยังทรงยินดีต่อการที่พระเทวทัตได้เสวยทุกข์ใหญ่หลวงเช่นนั้น ถ้าหากว่าไม่ทรงทราบอยู่ก่อนว่าพระเทวทัตจะทำกรรมอย่างนี้แล้วจะไปหมกไหม้ในนรกอย่างนี้ แล้วโปรดให้พระเทวทัตได้บวช ก็เป็นอันแสดงว่าหาเป็นพระสัพพัญญู ผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่างจริงไม่.  คำว่า ละจากนรกไปสู่นรก ละจากวินิบาตไปสู่วินิบาต ตลอดหลายแสนโกฏิกัป ความว่า เพราะได้ทำสังฆเภท พระเทวทัตจึงหมกไหม้อยู่ในนรก และจากนรกแล้วก็ไปสู่นรกอีกนั่นแหละ จนกว่ากัปจะพินาศจึงจะพ้นจากนรก ก็นรกนั่นแหละชื่อว่าวินิบาต ในที่นี้ เพราะเป็นสัตว์ที่พลาดตกลงไปจากความสุข.  คำว่า ในกัปที่ท่านแบ่งไว้เป็น ๖ ส่วนที่กำลังล่วงไปอยู่ คือในอันตรกัปที่ท่านแบ่งไว้เป็น ๖ ส่วนอย่างนี้ คือ อันตรกัป ทีแรกแบ่งเป็น ๒ ส่วนอย่างนี้ก่อน คือ อาโรหนกัป ๑, โอโรหนกัป ๑, กัปที่กำลังเจริญซึ่งอายุกับของมนุษย์เพิ่มขึ้นตามลำดับ จับตั้งแต่ ๑๐ ปี ไปจนกระทั่งถึงอสงไขยปีชื่อว่า อาโรหนกัป, กัปที่กำลังเสื่อมซึ่งอายุกับของมนุษย์ลดลงไปตามลำดับ จับตั้งแต่อสงไขยปีกระทั่งเหลือเพียง ๑๐ ปี ชื่อว่า โอโรหนกัป, ได้แก่แบ่งอาโรหนกัปเป็น ๓ ส่วน แบ่งโอโรหนกัป,เป็น ๓ ส่วน รวมกันเป็น ๖ ส่วน ความที่เหลือง่ายอยู่แล้ว.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๓.  จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๑๙

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ.  -ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: