งานพระศาสนาที่โดดเดี่ยวและว้าเหว่เป็นที่สุด
เมื่อวานนี้ (๕ เมษายน ๒๕๖๔) การตรวจข้อสอบบาลีประจำปี ๒๕๖๔ ของคณะสงฆ์ไทยก็ได้สำเร็จเสร็จสิ้นลง แม่กองบาลีสนามหลวงได้ประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านประโยคต่างๆ ไปเรียบร้อยแล้ว. เป็นที่น่ายินดีว่า ปีนี้มีพระภิกษุสามเณรสอบผ่านเปรียญธรรม ๙ ประโยคได้ถึง ๖๔ รูป ในจำนวนนี้เป็นสามเณร ๗ รูป มีผู้สอบบาลีศึกษา ๙ ได้ ๔ เป็นแม่ชี ๓ ฆราวาส ๑. ขอกราบอนุโมทนาสาธุกับทุกท่านด้วยความยินดีอย่างยิ่ง
เมื่อวันก่อนมีผู้ถามผมว่า ที่พระภิกษุสามเณรท่านเรียนบาลีกันนั้นท่านเรียนคัมภีร์อะไรกันบ้าง. ผมเห็นว่าเมื่อประกาศผลสอบการเรียนบาลีให้เป็นที่ชื่นใจทั่วกันแล้ว เราท่านก็ควรมีความรู้พร้อมกันไปด้วยว่า ที่พระภิกษุสามเณรตลอดจนแม่ชีและฆราวาสเรียนบาลีกันจนสอบได้เป็นที่น่าอนุโมทนานั้นท่านเรียนคัมภีร์อะไรกันบ้าง ซึ่งผมเชื่อว่าเราส่วนมากแทบไม่มีความรู้ในเรื่องนี้กันเลย
ปูพื้นสั้นๆ ว่า คัมภีร์ในพระพุทธศาสนาเถรวาทของเรานั้น -- ๑. สูงสุดคือ “พระไตรปิฎก” พิมพ์เป็นอักษรไทย ๔๕ เล่ม ๒. รองลงมาคือ “อรรถกถา” (คัมภีร์อธิบายพระไตรปิฎก) ” พิมพ์เป็นอักษรไทยเกือบ ๕๐ เล่ม (ยังไม่ได้สำรวจตัวเลขที่แน่นอน) ๓. รองจากอรรถกถาคือ “ฎีกา” (คัมภีร์อธิบายอรรถกถา) มีหลายเล่ม (ยังไม่ได้สำรวจตัวเลขที่แน่นอน) ๔. รองจากฎีกาคือ “อนุฎีกา” (คัมภีร์อธิบายฎีกา) มีหลายเล่ม
หลักๆ ก็มีเท่านี้ แต่ยังมีคัมภีร์ประกอบประเภทหลักไวยากรณ์และคำอธิบายพิเศษอื่นๆ อีกมากมาย มีให้เรียนกันไม่รู้จบ. คัมภีร์ทั้งหมดตั้งแต่พระไตรปิฎกลงมาเป็นภาษาบาลี และนี่เองคือเหตุผลที่ว่า ทำไมพระภิกษุสามเณรจึงเรียนบาลี
ต้นทางอยู่ที่เรียนบาลี
ปลายทางอยู่ที่ศึกษาพระไตรปิฎก-ซึ่งก็คือศึกษาพระธรรมวินัยอันเป็นตัวพระศาสนา. คราวนี้มาดูกันว่าที่สอบได้เป็น “มหา” จนถึง ป.ธ.๙/บ.ศ.๙ นั้น ท่านเรียนคัมภีร์อะไรกันบ้าง. คัมภีร์ที่ใช้เป็นแบบเรียนบาลีของคณะสงฆ์มีดังต่อไปนี้ -
๑. ธมฺมปทฏฺฐกถา
ธัมมปทัฏฐกถา คัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในธรรมบท แห่งขุททกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก พระพุทธโฆสาจารย์นำเนื้อความในอรรถกถาเก่าที่ใช้ศึกษาและรักษาสืบต่อกันมาในลังกาทวีป อันเป็นภาษาสิงหฬ เอามาเรียบเรียงกลับขึ้นเป็นภาษาบาลี เมื่อ พ.ศ. ใกล้จะถึง ๑๐๐๐ ดังที่ท่านเล่าไว้ในปณามคาถาของคัมภีร์นี้ว่า พระกุมารกัสสปเถระ (พระเถระรูปหนึ่งในลังกาทวีป ไม่ใช่ท่านที่เป็นมหาสาวกในพุทธกาล) คิดหวังว่า “อรรถกถาแห่งพระธรรมบทอันละเอียดลึกซึ้ง ที่นำสืบกันมาในตามพปัณณิทวีป ดำรงอยู่โดยภาษาของชาวเกาะ ไม่ช่วยให้ประโยชน์สำเร็จพร้อมบูรณ์แก่คนพวกอื่นที่เหลือได้ ทำอย่างไรจะให้อรรถกถาแห่งพระธรรมบทนั้นยังประโยชน์ให้สำเร็จแก่โลกทั้งปวงได้” จึงได้อาราธนาท่านให้ทำงานนี้ และท่านก็ได้นำอรรถกถานั้นออกจากภาษาสิงหฬ ยกขึ้นสู่ตันติภาษา (ภาษาที่มีแบบแผน ในที่นี้หมายถึงภาษาบาลี), ธัมมปทัฏฐกถานี้ รวมอยู่ในชุดที่มีชื่อเฉพาะว่า ปรมัตถโชติกา.
คัมภีร์นี้พิมพ์เป็นอักษรไทยแบ่งเป็น ๘ เล่ม เรียกว่า “ภาค”
ภาค ๑-๔ วิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ๑-๒, ภาค ๕-๘ วิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ป.ธ.๓ ภาค ๑ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ.๔ ภาค ๒-๔ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ.๕ ภาค ๕-๘ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ.๖
๒. มงฺคลตฺถทีปนี
มังคลัตถทีปนี ชื่อคัมภีร์อธิบายมงคล ๓๘ ประการ ในมงคลสูตร พระสิริมังคลาจารย์แห่งล้านนา รจนาที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๗ โดยรวบรวมคำอธิบายจากอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกาต่างๆ เป็นอันมาก พร้อมทั้งคำบรรยายของท่านเอง. คัมภีร์นี้พิมพ์เป็นอักษรไทยแบ่งเป็น ๒ ภาค
ภาค ๑ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ.๗ ภาค ๑ วิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ป.ธ.๔ ภาค ๒ วิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ป.ธ.๕
๓. สมนฺตปาสาทิกา
สมันตปาสาทิกา ชื่อคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในพระวินัยปิฎก พระพุทธโฆสาจารย์แปลและเรียบเรียงขึ้นเป็นภาษาบาลี เมื่อ พ.ศ. ใกล้จะถึง ๑๐๐๐ โดยอาศัยอรรถกถาภาษาสิงหฬที่มีอยู่ก่อน คือใช้คัมภีร์มหาอัฏฐกถา เป็นหลักพร้อมทั้งปรึกษาคัมภีร์ มหาปัจจรี และกุรุนที เป็นต้นด้วย. คัมภีร์นี้พิมพ์เป็นอักษรไทยแบ่งเป็น ๓ ภาค
ภาค ๑ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ.๘ ภาค ๑-๒ วิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ป.ธ.๗ ภาค ๓ วิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ป.ธ.๖
๔. วิสุทฺธิมคฺค
วิสุทธิมรรค, วิสุทธิมัคค์ ปกรณ์พิเศษอธิบายศีล สมาธิ ปัญญา ตามแนววิสุทธิ ๗ พระพุทธโฆสาจารย์ พระอรรถกถาจารย์ชาวอินเดียเป็นผู้แต่งที่มหาวิหารในเกาะลังกา; พระพุทธโฆสะหรือที่นิยมเรียกว่าพระพุทธโฆสาจารย์นี้เป็นบุตรพราหมณ์ เกิดที่หมู่บ้านหนึ่งใกล้พุทธคยา อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในแคว้นมคธเมื่อประมาณ พ.ศ.๙๕๖ เรียนจบไตรเพท มีความเชี่ยวชาญมาก ต่อมาพบกับพระเรวตเถระ ได้โต้ตอบปัญหากัน สู้พระเรวตเถระไม่ได้ จึงขอบวชเพื่อเรียนพุทธวจนะ มีความสามารถมาก ได้รจนาคัมภีร์ ญาโณทัย เป็นต้น พระเรวตเถระจึงแนะนำให้ไปเกาะลังกา เพื่อแปลอรรถกถาสิงหฬ กลับเป็นภาษามคธ ท่านเดินทางไปที่มหาวิหาร เกาะลังกา เมื่อขออนุญาตแปลคัมภีร์ ถูกพระเถระแห่งมหาวิหารให้คาถามา ๒ บท เพื่อแต่งทดสอบความรู้ พระพุทธโฆสาจารย์จึงแต่งคำอธิบายคาถาทั้งสองนั้นขึ้นเป็นคัมภีร์วิสุทธิมรรค จากนั้นก็ได้รับอนุญาตให้ทำงานแปลอรรถกถาได้ตามประสงค์ เมื่อทำงานเสร็จสิ้นแล้ว ท่านก็เดินทางกลับสู่ชมพูทวีป พระพุทธโฆสาจารย์เป็นพระอรรถกถาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด มีผลงานมากที่สุด. คัมภีร์นี้พิมพ์เป็นอักษรไทยแบ่งเป็น ๓ ภาค
ภาค ๑-๒-๓ วิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ป.ธ.๘ ภาค ๑-๒-๓ วิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ.๙
๕. อภิธมฺมตฺถวิภาวินี
อภิธัมมัตถวิภาวินี ชื่อคัมภีร์ฎีกา อธิบายความในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ พระสุมังคละผู้เป็นศิษย์ของพระอาจารย์สารีบุตร ซึ่งเป็นปราชญ์ในรัชกาลของพระเจ้าปรักกมพาหุที่ ๑ (พ.ศ. ๑๖๙๖–๑๗๒๙) รจนาขึ้นในลังกาทวีป. คัมภีร์นี้พิมพ์เป็นอักษรไทยเล่มเดียวจบ. ใช้เป็นแบบเรียนวิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ป.ธ.๙.
หมายเหตุ: อธิบายความชื่อคัมภีร์จากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต
จะเห็นได้ว่า ที่เรียกกันว่า “เรียนบาลี” ในคณะสงฆ์ไทยของเรานี้เรียนคัมภีร์เพียง ๕ คัมภีร์เท่านั้น ซ้ำเป็นคัมภีร์ชั้นอรรถกถาลงมาทั้งสิ้น ไม่มีคัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎก. ยกเว้นคัมภีร์ธมฺมปทฏฺฐกถา ซึ่งอธิบายความในคัมภีร์ “ธมฺมปท” หรือ “ธรรมบท” เพียงคัมภีร์เดียว. คัมภีร์ธรรมบทเป็นคัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎก เป็น ๑ ใน ๑๕ คัมภีร์ในกลุ่มขุทกนิกาย คัมภีร์ธมฺมปทฏฺฐกถายกข้อความเต็มๆ ทั้งหมดในคัมภีร์ธรรมบทมาอธิบายเป็นตอนๆ นักเรียนที่เรียนคัมภีร์ธมฺมปทฏฺฐกถาจึงเท่ากับได้เรียนคัมภีร์ธรรมบทในพระไตรปิฎกไปในตัว. กล่าวได้ว่า เรียนบาลีในคณะสงฆ์ไทยได้เรียนพระไตรปิฎกเพียงคัมภีร์เดียวเท่านั้น คือคัมภีร์ธรรมบท
พระไตรปิฎก ๔๕ เล่ม เนื้อๆ เต็มๆ ไม่ได้เรียน อรรถกถาอีกเป็นจำนวนมากมายก็ไม่ได้เรียน และที่น่าใจหายก็คือ ใครเรียนบาลีจนสอบประโยค ๙ ได้แล้ว ท่านถือกันว่าเรียนสำเร็จแล้ว จบการศึกษาเพียงแค่นี้ ไม่มีการเรียนพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาใดๆ อีกต่อไป. มีคำอธิบายแก้ต่างให้ว่า การจะเรียนพระไตรปิฎกอรรถกถาฎีกาใดๆ ต่อไปอีกย่อมเป็นไปตามอัธยาศัยส่วนตัว ไปกะเกณฑ์กันไม่ได้. และที่น่าใจหายเป็นที่สุดก็คือ คณะสงฆ์และผู้บริหารการพระศาสนาของเราก็ไม่มีนโยบายหรือแนวความคิดที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้พระภิกษุสามเณรศึกษาค้นคว้าไปจนถึงพระไตรปิฎกแต่ประการใดทั้งสิ้น
ผู้เรียนบาลีที่ทำงานศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกในบ้านเราจึงทำงานเพื่อพระศาสนาอย่างโดดเดี่ยวและว้าเหว่เป็นที่สุด
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย , ๖ เมษายน ๒๕๖๔, ๑๗:๐๘
ที่มา :
งานพระศาสนาที่โดดเดี่ยวและว้าเหว่เป็นที่สุด -------------------------------------------- เมื่อวานนี้ (๕ เมษายน ๒๕๖๔)...
Posted by ทองย้อย แสงสินชัย on Tuesday, April 6, 2021
0 comments: