วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๑๘)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๑๘)  ปัญหาที่ ๒ สัพพัญญุภาวปัญหา 

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระสัพพัญญู ผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง จริงหรือ ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระสัพพัญญูจริง แต่ว่าพระญาณทัศนะ (ความรู้ความเห็น) ของพระผู้มีพระภาคจะเป็นอันปรากฏอยู่เป็นประจำสม่ำเสมอ ก็หาไม่ พระญาณทัศนะของพระผู้มีพระภาคเป็นของเนื่องกับการนึก คือทรงนึก (ถึงสิ่งที่ทรงต้องการรู้) ก่อน แล้วจึงทรงรู้ได้ตามที่ทรงต้องการ.   พระเจ้ามิลินท์, ถ้าอย่างนั้นนะ พระคุณเจ้านาคเสน พระพุทธเจ้าไม่ทรงเป็นพระสัพพัญญูจริงหรอก ถ้าหากว่าพระองค์จะทรงมีพระญาณรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้ ก็ในเมื่อต้องมีการค้นหา (สิ่งที่จะทรงรู้โดยการนึกก่อน) ไซร้.   พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เมื่อนับข้าวเปลือกวางกองไว้ (ทีละเมล็ด) ได้แสนโกฏิเมล็ด แล้ว ก็พึงถึงการจบสิ้นเสีย หยุดเสีย ย่อมเป็นจำนวนเทียบได้กับจิตที่เป็นไปชั่วขณะดีดนิ้วมือครั้งเดียว (แสนโกฏิเมล็ด แปลรวบรัดตามที่อรรถกถาชี้แจง เพราะปาฐะที่ว่า วาหสตํ – ๑๐๐ วาหะเป็นต้น เข้าใจยากเพราะเป็นมาตราตวงที่ไม่ได้ใช้แล้วในสมัยปัจจุบันนี้)

ในบรรดาจิตที่เป็นไปนั้น จิตเหล่านี้ย่อมเป็นไปเป็น ๗ อย่าง ขอถวายพระพร จิตของบุคคลผู้มีราคะ มีโทสะ มีโมหะ มีกิเลส ยังไม่ได้อบรมกาย ยังมิได้อบรมศีล ยังไม่ได้อบรมจิต (สมาธิ) ยังไม่ได้อบรมปัญญา นั้น ย่อมเกิดขึ้นได้อืดอาด เป็นไปช้า ถามว่าเพราะเหตุไร ตอบว่า เพราะเขายังไม่ได้อบรมจิต ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า เมื่อบุคคลดึงลำไม้ไผ่ที่แผ่ขยายออกไปกว้างขวาง มีรกชัฏแห่งกิ่งก้านเกี่ยวพันกันอยู่ ย่อมมีอันดึงมาได้อืดอาดชักช้า เพราะเหตุไร เพราะมีกิ่งก้านทั้งหลายประสานเกี่ยวพันกันอยู่ ฉันใด ขอถวายพระพร จิตของบุคคลผู้มีราคะ มีโมหะ มีกิเลส ยังไม่ได้อบรมกาย ยังไม่ได้อบรมศีล ยังไม่ได้อบรมจิต ยังไม่ได้อบรมปัญญา นั้น ย่อมเกิดขึ้นได้อืดอาด เป็นไปชักช้า เพราะเหตุไร เพราะถูกกิเลสทั้งหลายผสานเกี่ยวพันไว้ ฉันนั้น เหมือนกัน นี่คือจิตอย่างที่ ๑

ในบรรดา จิต ๗ อย่างนั้น ต่อไปนี้คือจิตที่ถึงการจำแนกเป็นอย่างที่ ๒

ขอถวายพระพร จิตของบุคคลผู้เป็นพระโสดาบัน ผู้ปิดอบายได้แล้ว ผู้บรรลุด้วยทิฐิแล้ว ผู้รู้แจ้งคำสอนของพระศาสดาแล้วนั้น ย่อมเกิดขึ้นรวดเร็ว เป็นไปรวดเร็ว ในฐานะ ๓ ย่อมเกิดขึ้นได้อืดอาด เป็นไปชักช้า ในภูมิทั้งหลายที่เหนือขึ้นไป เพราะเหตุไร เพราะจิตเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ในฐานะ ๓ และเพราะยังละกิเลสที่เหนือขึ้นไปไม่ได้ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า เมื่อเขาดึงลำไม้ไผ่ที่ได้ลิดข้อปมใน ๓ ปล้องออกไปแล้ว ยังมีรกชัฏแห่งกิ่งก้านตอนเหนือขึ้นไป เกี่ยวพันกันอยู่เทียว ลำไม้ไผ่ ๓ ปล้อง (ที่ได้ลิดข้อปมออกไปแล้ว) เท่านั้น เคลื่อนมาได้เร็ว เหนือขึ้นไปกว่านั้นเคลื่อนมาได้ลำบาก เพราะเหตุไร เพราะได้ลิดข้อปมตอนล่างออกไปแล้ว เหนือขึ้นไปยังมีรกชัฏแห่งกิ่งก้านเกี่ยวพันกันอยู่ ฉันใด ขอถวายพระพร จิตของบุคคลผู้เป็นพระโสดาบัน ผู้ปิดอบายได้แล้ว ผู้บรรลุด้วยทิฐิแล้ว ผู้รู้แจ้งคำสอนของพระศาสดาแล้ว นั้น ย่อมเกิดขึ้นรวดเร็ว เป็นไปรวดเร็ว ในฐานะ ๓ ย่อมเกิดขึ้นได้อืดอาด เป็นไปชักช้า ในภูมิทั้งหลายที่เหนือขึ้นไป เพราะเหตุไร เพราะจิตเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ในฐานะ ๓ และ เพราะยังละกิเลส ที่เหนือขึ้นไปไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน นี่คือจิตอย่างที่ ๒

ในบรรดาจิต ๗ อย่างนั้น ต่อไปนี้คือจิตที่ถึงการจำแนกเป็นอย่างที่ ๓

ขอถวายพระพร จิตของบุคคลผู้เป็นพระสกทาคามี ผู้มีราคะ โทสะ และโมหะ เป็นธรรมชาติที่เบาบางแล้วนั้น ย่อมเกิดขึ้นรวดเร็ว เป็นไปรวดเร็ว ในฐานะ ๕ ย่อมเกิดขึ้นได้อืดอาด เป็นไปชักช้า ในภูมิทั้งหลายที่เหนือขึ้นไป เพราะเหตุไร เพราะจิตเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ในฐานะ ๕ และ เพราะยังละกิเลสที่เหนือขึ้นไปไม่ได้ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า เมื่อเขาดึงลำไม้ไผ่ที่ได้ลิดข้อปมใน ๕ ปล้องออกไปแล้ว ยังมีรกชัฏแห่งกิ่งก้านตอนเหนือขึ้นไป เกี่ยวพันกันอยู่เทียว ลำไม้ไผ่ ๕ ปล้อง ที่ได้ลิดข้อปมออกไปแล้ว เท่านั้น เคลื่อนมาได้เร็ว เหนือขึ้นไปกว่านั้น เคลื่อนมาได้ลำบาก เพราะเหตุไร เพราะได้ลิดข้อปมตอนล่างออกไปแล้ว เหนือขึ้นไปยังมีรสชาติแห่งกิ่งก้านเกี่ยวพันกันอยู่ ฉันใด ขอถวายพระพร จิตของบุคคลผู้เป็นสกทาคามี ผู้มีราคะ โทสะ และโมหะ เป็นธรรมชาติที่เบาบางแล้วนั้น ย่อมเกิดขึ้นรวดเร็ว เป็นไปรวดเร็ว ในฐานะ ๕ ย่อมเกิดขึ้นได้อืดอาด เป็นไปชักช้า ในภูมิทั้งหลายที่เหนือขึ้นไป เพราะเหตุไร เพราะจิตเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ในฐานะ ๕ และเพราะยังละกิเลสที่เหนือขึ้นไปไม่ได้ ฉันนั้น เหมือนกัน นี่คือจิตอย่างที่ ๓

ในบรรดาจิต ๗ อย่างนั้น ต่อไปนี้คือจิตที่ถึงการจำแนก เป็นอย่างที่ ๔

ขอถวายพระพร จิตของบุคคลผู้เป็นพระอนาคามี ผู้มีโอรัมภาคิยสังโยชน์ (สังโยชน์ อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ) ๕ อย่าง อันละได้แล้วนั้น ย่อมเกิดขึ้นรวดเร็ว เป็นไปรวดเร็ว ในฐานะ ๑๐ ย่อมเกิดขึ้นอืดอาด เป็นไปช้า ในภูมิทั้งหลายที่เหนือขึ้นไป เพราะเหตุไร เพราะจิตเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ในฐานะ ๑๐ (และ) เพราะยังละกิเลสที่เหนือขึ้นไปไม่ได้ ขอถวายพระพรเปรียบเหมือนว่า เมื่อเขาดึงลำไม้ไผ่ที่ได้ลิดข้อ ปมใน ๑๐ ปล้อง ออกไปแล้ว ยังมีรกชัฏแห่งกิ่งก้านตอนเหนือขึ้นไป เกี่ยวพันกันอยู่เทียวมา ลำไม้ไผ่ ๑๐ ปล้อง (ที่ได้ลิดข้อปมออกไปแล้ว) เท่านั้น เคลื่อนมาได้เร็ว เหนือขึ้นไปกว่านั้น เคลื่อนมาได้ลำบาก เพราะเหตุไร เพราะได้ลิดข้อปมตอนล่างออกไปแล้ว เหนือขึ้นไปยังมีรกชัฏแห่งกิ่งก้านเกี่ยวพันกันอยู่ ฉันใด ขอถวายพระพร จิตของบุคคลผู้เป็นพระอนาคามี ผู้มีโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ อย่าง อันละได้แล้วนั้น ย่อมเกิดขึ้นรวดเร็ว เป็นไปรวดเร็วในฐานะ ๑๐ ย่อมเกิดขึ้นได้อืดอาด เป็นไปชักช้า ในภูมิทั้งหลายที่เหนือขึ้นไป เพราะเหตุไร เพราะจิตเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ในฐานะ ๑๐ และเพราะยังละกิเลสที่เหนือขึ้นไปไม่ได้ฉันนั้นเหมือนกัน ฉันนั้นเหมือนกัน นี่คือจิตอย่างที่ ๔

ในบรรดาจิต ๗ อย่างนั้น ต่อไปนี้เป็นจิตที่ถึงการจำแนกเป็นอย่างที่ ๕

ขอถวายพระพร จิตของบุคคลผู้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ผู้ล้างมลทินไปแล้ว สำรอกกิเลสได้แล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ได้ทำกิจที่ควรทำแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนได้ตามลำดับแล้ว มีสังโยชน์ในภพอันสิ้นแล้ว บรรลุปฏิสัมภิทาได้แล้ว บริสุทธิ์อยู่ในภูมิของสาวกนั้น ย่อมเกิดขึ้นรวดเร็ว เป็นไปรวดเร็ว ในวิสัยของสาวก ย่อมเกิดขึ้นอืดอาด เป็นไปชักช้าในภูมิของพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะเหตุไร เพราะจิตบริสุทธิ์ในวิสัยของสาวก และ เพราะจิตไม่บริสุทธิ์ในวิสัยของพระปัจเจกพุทธเจ้า ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า เมื่อเขาดึงลำไม้ไผ่ที่ได้ลิดข้อปมหมดทุกปล้องแล้วมา ก็จะมีอันดึงมาได้เร็ว ไม่ชักช้า เพราะเหตุไร เพราะได้ลิดข้อปมหมดทุกปล้องแล้ว เพราะลำไม้ไผ่หากอรกไม่ได้แล้ว ฉันใด ขอถวายพระพร กิ๊กของผู้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ผู้ล้างมลทินได้แล้ว สำรอกกิเลสได้แล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ได้ทำกิจที่ควรทำแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนได้ตามลำดับแล้ว มีสังโยชน์ในภพอันสิ้นแล้ว บรรลุปฏิสัมภิทาได้แล้ว บริสุทธิ์อยู่ในภูมิของสาวก นั้น ย่อมเกิดขึ้นรวดเร็ว เป็นไปรวดเร็ว ในวิสัยของสาวก ย่อมเกิดขึ้นได้อืดอาด เป็นไปชักช้า ในภูมิของพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะเหตุไร เพราะจิตบริสุทธิ์ในวิสัยของสาวก และ เพราะจิตไม่บริสุทธิ์ในวิสัยของพระปัจเจกพุทธเจ้า ฉันนั้นเหมือนกัน นี่คือจิตอย่างที่ ๕

ในบรรดาจิต ๗ อย่างนั้นต่อไปนี้คือจิตที่ถึงการจำแนกเป็นอย่างที่ ๖

ขอถวายพระพร จิตของพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้เป็นเอง ไม่มีอาจารย์ เที่ยวไปคนเดียวเหมือนแรด ผู้มีจิตบริสุทธิ์ปราศจากมลทินในวิสัยของตนนั้น ย่อมเกิดขึ้นรวดเร็วเป็นไปรวดเร็วในวิสัยของตน ย่อมเกิดอืดอาด เป็นไปชักช้า ในภูมิของพระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะเหตุใด เพราะจิตบริสุทธิ์ในวิสัยของตน และ เพราะวิสัยของพระสัพพัญญูพุทธเจ้ากว้างใหญ่ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บุรุษผู้ไม่ขลาด กลัวแม่น้ำน้อยอันเป็นวิสัยของตน พึงหยั่งลงในตอนกลางคืนก็ได้ ในตอนกลางวันก็ได้ ตามที่ปรารถนา แต่ถ้าว่าต่อมาพอเห็นมหาสมุทรที่ลึกกว้าง หยั่งไม่ได้ มองไม่เห็นฝั่งเข้า ก็พึงกลัวจึงโอ้เอ้ ไม่กล้าจะหยั่งลง เพราะเหตุไร เพราะคุ้นเคยแต่แม่น้ำน้อยอันเป็นวิสัยของตน และเพราะมหาสมุทรกว้างใหญ่ ฉันใด ขอถวายพระพร จิตของพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้เป็นเองไม่มีอาจารย์ เที่ยวไปคนเดียวเหมือนแรด ผู้มีจิตบริสุทธิ์ปราศจากมลทินในวิสัยของตนนั้น ย่อมเกิดขึ้นรวดเร็ว เป็นไปรวดเร็ว ในวิสัยของตน ย่อมเกิดขึ้นอืดอาด เป็นไปชักช้า ในภูมิของพระสัพพัญญูพุทธเจ้าทั้งหลาย เพราะเหตุไร เพราะจิตบริสุทธิ์ในวิสัยของตน และ พระวิสัยของพระสัพพัญญูพุทธเจ้ากว้างใหญ่ ฉันนั้นเหมือนกัน นี่คือจิตอย่างที่ ๖

ในบรรดาจิต ๗ อย่างนั้น ต่อไปนี้คือจิตที่ถึงการจำแนกเป็นอย่างที่ ๗

ขอถวายพระพร พระจิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นพระสัพพัญญู ทรงพระกำลัง ๑๐ ประการ แกล้วกล้าด้วยพระเวสารัชชญาณ ๔ อย่าง ประกอบพร้อมด้วยพระพุทธธรรม ๑๘ อย่าง ชนะมารหาที่สุดไม่ได้ มีพระญาณหาเครื่องขวางกั้นมิได้นั้น ย่อมเกิดขึ้นรวดเร็ว เป็นไปรวดเร็ว ในฐานะทั้งปวง เพราะเหตุไร เพราะทรงมีพระจิตบริสุทธิ์ในฐานะทั้งปวง ขอถวายพระพร ลูกธนูที่เขาหลอมดีแล้ว ปราศจากสนิม ไม่มีปุ่มปมเฉียบคม ไม่คด ไม่งอ ไม่โก่ง ที่นายขมังธนูยกขึ้นสู่แล่งแข็งแรงแล้วยิงอย่างมีกำลังแรงไปที่ผ้าเปลือกไม้เนื้อละเอียดบ้าง ที่ผ้าฝ้ายเนื้อละเอียดบ้าง ที่ผ้ากัมพลเนื้อละเอียดบ้าง ย่อมมีอันเล่นทะลุไปได้ช้า หรือว่ามีอันติดขัดหรือไร ? พระเจ้ามิลินท์, หามิได้พระคุณเจ้า เพราะเหตุไร เพราะถ้าเป็นผ้าเนื้อละเอียด เพราะลูกธนูก็ถูกหลอมไว้ดี และเพราะการยิงไปก็มีกำลังแรง

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระจิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นพระสัพพัญญู ทรงพระกำลัง ๑๐ ประการ แกล้วกล้าด้วยพระเวสารัชชญาณ ๔ อย่าง ประกอบพร้อมด้วยพระพุทธธรรม ๑๘ อย่าง ชนะมารหาที่สุดมิได้ มีพระญาณหาเครื่องขวางกั้นมิได้ นั้น ย่อมเกิดขึ้นรวดเร็ว เป็นไปรวดเร็ว ในฐานะทั้งปวงเพราะเหตุไร เพราะทรงมีพระจิตบริสุทธิ์ในฐานะทั้งปวง นี่คือจิตอย่างที่ ๗.  ขอถวายพระพร ในบรรดาจิตเหล่านั้น จิตของพระสัพพัญญูพุทธเจ้า เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์และรวดเร็ว ล่วงพ้นจำนวนนับแห่งจิตทั้ง ๖ อย่าง ด้วยพระคุณอันไม่อาจนับได้ ขอถวายพระพร เพราะเหตุที่ทรงมีพระจิตเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์และรวดเร็ว ล่วงพ้นจำนวนนับแห่งจิตทั้ง ๖ นั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงพระยมกปาฏิหาริย์ได้ ขอถวายพระพร ผู้อื่นพึงทราบได้ว่า จิตของพระผู้มีพระภาคทั้งหลาย เป็นไปรวดเร็วได้อย่างนี้ ก็ในคราวที่ทรงแสดงพระยมกปาฏิหาริย์ ในการที่ทรงแสดงพระยมกปาฏิหาริย์ได้นั้น ใครๆไม่อาจกล่าวเหตุอื่นที่ยิ่งกว่า (เหตุที่ทรงมีพระจิตบริสุทธิ์เป็นไปรวดเร็วยิ่งนี้) ได้ ขอถวายพระพร พระปฏิหาริย์แม้นเหล่านั้น เทียบกับจำนวนนับพระจิตของพระสัพพัญญูพุทธเจ้าแล้ว ก็ไม่ถึงแม้สักเสี้ยวหนึ่ง แม้สักส่วนแห่งเสี้ยวหนึ่ง ขอถวายพระพร พระสัพพัญญุตญาณของพระผู้มีพระภาค เนื่องด้วยการนึก คือทรงนึกก่อนแล้ว จึงทรงรู้ได้ตามที่ทรงต้องการ

ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บุรุษคนหนึ่งย้ายของอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่วางอยู่บนฝ่ามือข้างหนึ่ง ให้มาวางอยู่บนฝ่ามือข้างที่ ๒ เผยอปากเปล่งวาจา กลืนของกินที่อยู่ในปาก ลืมตาแล้วหลับตาบ้าง หลับตาแล้วลืมตาบ้าง เหยียดแขนที่คู้อยู่ออกไปบ้าง คู้แขนที่เหยียดอยู่เข้ามาบ้าง ขอถวายพระพร การกระทำไปพร้อมๆกันดังกล่าวนี้ ยังนับว่าช้ากว่า พระสัพพัญญุตญาณของพระผู้มีพระภาคเร็วกว่า คือทรงนึกได้รวดเร็วยิ่ง ทรงนึกแล้ว ก็ทรงรู้ได้ตามที่ทรงต้องการ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย จะชื่อว่าไม่ใช่สัพพัญญู เพราะเหตุสักว่ายังมีการที่ต้องนึก (ถึงอารมณ์ที่ทรงประสงค์จะรู้) เป็นข้อบกพร่องอยู่ ก็หาไม่.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระพุทธเจ้าก็ยังทรงกระทำการแสวงหา (อารมณ์) แม้ด้วยการนึก เอาเถอะในข้อที่ว่านั้นขอท่านจงทำให้ข้าพเจ้าได้เข้าใจ ด้วยเหตุผลเถิด.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บุรุษผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีเครื่องใช้สอยมาก มีเงินและทองมากพอ มีอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจมากพอ มีทรัพย์สินธัญญาหารมากพอ จะพึงมีข้าวสาลี ข้าวเปลือก ข้าวเหนียว ข้าวสาร งา ถั่ว ผักดิบ ผักสุก เนยใส น้ำมัน นมสด น้ำผึ้ง น้ำตาล น้ำอ้อย อยู่ในหม้อ ตะกร้า ยุ้งฉาง หรือภาชนะมากมาย และบุรุษผู้นั้น มีแขกมาหา ซึ่งเป็นผู้ควรต้อนรับด้วยอาหาร เป็นผู้ที่หวังจะได้อาหาร แปลว่าอาหารที่หุงต้มไว้แล้วในเรือนของบุรุษผู้นั้น หมดไปแล้ว เขาจึงเอาข้าวสารจากหม้อที่เก็บมาหุงเป็นอาหาร (แล้วเลี้ยงแขก) ขอถวายพระพร บุรุษผู้มีทรัพย์มากมายผู้นั้นเพิ่งกลายเป็นผู้ชื่อว่า มีทรัพย์น้อย ยากจน เพราะเหตุสักว่าของกินพร่องไปเท่านั้นหรือ ?

พระเจ้ามิลินท์, หามิได้พระคุณเจ้า จะป่วยกล่าวไปใย ถึงในเรือนของผู้เป็นคฤหบดีเท่านั้นเล่า แม้ในพระราชมณเฑียรของพระเจ้าจักรพรรดิ บางคราว นอกเวลา ก็ยังมีเรื่องให้อาหารต้องพร่องไปบ้าง.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระสัพพัญญุตญาณ มีการนึกถึงเป็นข้อบกพร่อง คือทรงนึกก่อนแล้วจึงทรงรู้ได้ตามที่ทรงต้องการ.  ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า ต้นไม้ผลิผล ห้อยย้อยเป็นช่อๆ เพียบหนักเต็มต้น ใต้ต้นไม้นั้นจะพึงมีผลตกหล่นอยู่บ้างเล็กน้อย ขอถวายพระพร ต้นไม้นั้นจึงชื่อว่าเป็นต้นไม้ที่ให้ผลน้อย ด้วยเหตุสักว่าพร่องไปด้วยผลที่ตกหล่น (โดยถูกคนทำให้ตกหล่นลงมา) บ้างเท่านั้นหรือไร.  พระเจ้ามิลินท์, หามิได้พระคุณเจ้า ผลไม้เหล่านั้น เนื่องอยู่กับการตกหล่น เมื่อตกหล่นแล้ว คนก็ย่อมได้ตามที่ต้องการ.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน พระสัพพัญญุตญาณของพระตถาคต เรื่องอยู่กับการนึก คือทรงนึกก่อน แล้วก็ทรงรู้ได้ตามที่ต้องการ.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระพุทธเจ้าทรงนึกไปเสียก่อนแล้ว จึงทรงรู้ได้ตามที่ทรงต้องการหรือ ?

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ถูกต้องแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงนึกไป นึกไปเสียก่อนแล้ว จึงทรงรู้ได้ตามที่ทรงต้องการ.  ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า ในเวลาที่พระเจ้าจักรพรรดิทรงระลึกถึงจักรแก้ว เมื่อทรงระลึกว่า ขอจักรแก้วจงเข้ามาหาเรา ดังนี้แล้ว จักรแก้วก็จะเข้าไปหาพระองค์ ฉันใด ขอถวายพระพร พระตถาคตก็ทรงนึกไป นึกไปเสียก่อนแล้ว ก็ทรงรู้ได้ตามที่ทรงต้องการ ฉันนั้นเหมือนกัน.  พระเจ้ามิลินท์, เป็นเหตุผลที่หนักแน่นดี พระคุณเจ้านาคเสน พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระสัพพัญญูจริง ข้าพเจ้าขอยอมรับว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นพระสัพพัญญูจริง.  จบพุทธสัพพัญญุภาวปัญหาที่ ๒

คำอธิบายปัญหาที่ ๒

คำว่า พุทธสัพพัญญุภาวปัญหา แปลว่า ปัญหาที่เกี่ยวกับความเป็นพระสัพพัญญูของพระพุทธเจ้า.  คำว่า เมื่อนับได้แสนโกฏิเมล็ดแล้ว ฯลฯ ย่อมเป็นจำนวนเทียบได้กับจิตที่เป็นไป ชั่วขณะดีดนิ้วมือครั้งเดียว มีความหมายว่า ชั่วขณะดีดนิ้วมือครั้งเดียวนั้นมีจิตเกิดขึ้น ดับไป สืบต่อกันไปถึงแสนโกฏิขณะ.  

ในจิตอย่างที่ ๑ : คำว่า ยังไม่ได้อบรมกาย ได้แก่ไม่ได้อบรมกาย โดยการปรนเปรอร่างกายด้วยการรับประทานอาหารเท่าที่ต้องการจนเต็มท้องบ้าง ด้วยสุขในการเอนบ้าง ด้วยสุขในการนอนหลับบ้าง เป็นต้น.  คำว่า ยังไม่ได้อบรมศีล คือยังไม่ได้อบรม ยังไม่ได้เจริญจตุปาริสุทธิศีล มีปาฏิโมกข์สังวรศีลเป็นต้น.  คำว่า ยังไม่ได้อบรมจิต คือยังไม่ได้อบรมสมาธิ ด้วยว่าแม้สมาธิก็ตรัสเรียกชื่อว่า จิต เพราะเป็นความตั้งมั่นแห่งจิต.  คำว่า ยังไม่ได้อบรมปัญญา คือยังไม่ได้อบรมวิปัสสนาปัญญา และ มรรคปัญญา.  คำว่า เพราะเขายังไม่ได้อบรมจิต ความว่า เมื่อไม่ได้อบรมกาย ไม่ได้อบรมศีล ไม่ได้อบรมจิต (สมาธิ) ไม่ได้อบรมปัญญา อันเป็นไปเนื่องกับจิต ก็ชื่อว่าไม่ได้อบรมจิต ย่อมเป็นจิตที่มีราคะเป็นต้น ครอบงำอยู่ในเนือง ๆ.  

ในจิตอย่างที่ ๒ : คำว่า ผู้ปิดอบายได้แล้ว คือผู้ปิดประตูเข้าไปในอบายภูมิทั้งหลาย มีนรกเป็นต้น โดยการทำลายกิเลสอันเป็น เหตุไปอบายได้โดยประการทั้งปวง.  คำว่า ผู้บรรลุด้วยทิฏฐิแล้ว คือผู้บรรลุพระนิพพานด้วยทิฏฐิ คือทัสสนมรรค (โสดาปัตติมรรค) แล้ว.   คำว่า ผู้รู้แจ้งคำสอนของพระศาสดาแล้ว คือผู้รู้แจ้งคำสอนของพระศาสดา ที่พระศาสดาทรงอนุสาสน์ไว้แล้ว คำว่า ในฐานะ ๓ ได้แก่ในฐานะ ๓ เหล่านี้ คือในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งมิจฉาทิฏฐิ ๑ ในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) ๑ ในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสทั้งหลายที่เป็นเหตุไปอบาย ๑ เพราะกิเลส ๓ อย่าง มีมิจฉาทิฏฐิเป็นต้น ที่เป็นเหตุติดขัดเกาะเกี่ยวอยู่ในฐานะเหล่านี้ถูกท่านกำจัดเสียได้แล้ว.  คำว่า ในภูมิทั้งหลายที่เหนือขึ้นไป คือในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสที่เหนือกว่ากิเลส ๓ อย่าง มีมิจฉาทิฏฐิเป็นต้น อันเป็นกิเลสที่พระโสดาบันยังละไม่ได้.  

ในจิตอย่างที่ ๓ : คำว่า เป็นธรรมชาติที่เบาบาง ความว่า ชื่อว่าเป็นธรรมชาติที่เบาบาง ก็เพราะมีความกลุ้มรุมอ่อน มีกำลังอ่อน และนานๆ จึงจะบังเกิดสักครั้งหนึ่ง ไม่บังเกิดอยู่บ่อยๆ.  คำว่า ในฐานะ ๕ ได้แก่ ในฐานะ ๕ เหล่านี้ คือในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส ๓ อย่าง มีมิจฉาทิฏฐิเป็นต้น ตามที่กล่าวแล้วในจิตอย่างที่ ๑ในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งกามราคะอย่างหนาแน่น ๑ ในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งพยาบาท (โทสะ) อย่างหนาแน่น ๑.  

ในจิตอย่างที่ ๔ : คำว่า โอรัมภาคิยสังโยชน์ แปลว่า สังโยชน์ (กิเลสเครื่องผูกสัตว์เข้าไว้กับทุกข์) อันเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ คือเป็นเหตุไปกามาวจรภูมิ อันเป็นภูมิเบื้องต่ำกว่ารูปาวจรภูมิ และอรูปาวจรภูมิ อีกนัยหนึ่ง ชื่อว่าเป็นไปในส่วนเบื้องต่ำ เพราะเป็นสังโยชน์ส่วนที่มรรคเบื้องต่ำกว่าอรหัตตมรรคจะพึงละให้หมดไป ได้แก่สังโยชน์ ๕ อย่าง คือ สักกายทิฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ และ ปฏิฆะ เป็นสังโยชน์ที่พระอนาคามีละได้.  คำว่า ในฐานะ ๑๐ คือในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส ๕ อย่าง ตามที่กล่าวแล้วในจิตอย่างที่ ๔ และในธรรมทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งแห่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ อย่าง

ในจิตอย่างที่ ๕ : คำว่า อรหันต์ แปลว่าผู้ไกลจากกิเลส.  คำว่า ขีณาสพ แปลว่าผู้สิ้นอาสวะ คือกำจัดอาสวะ ๔ มีกามอาสวะเป็นต้นได้สิ้นแล้ว.  คำว่า ผู้ล้างมลทินได้แล้ว คือชำระล้างมลทินอันได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ ได้แล้วด้วยพระอรหัตตมัคคญาณ.  คำว่า สำรอกกิเลสได้แล้ว คือคายกิเลสออกได้แล้วด้วยพระอรหัตตมัคคญาณนั้นนั่นแหละ.  คำว่า อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว คืออยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของครู หรือแม้ในหนทางของพระอริยเจ้าจบสมบูรณ์แล้ว.  คำว่า ได้ทำกิจที่ควรทำแล้ว ความว่า กิจที่ควรทำเพื่อความสิ้นทุกข์ หรือเพื่อบรรลุธรรมอันเป็นที่สิ้นไปแห่งทุกข์ใด ได้ทำกิจนั้นมาตั้งแต่ครั้งปุถุชน จนสำเร็จเสร็จสิ้นในคราวบรรลุอรหัตมรรค ดำรงอยู่ในความเป็นพระอรหันต์ ในบัดนี้ไม่มีจิตอื่นที่จะต้องทำเพื่อความสิ้นทุกข์เหลืออยู่อีก.  คำว่า ปลงภาระลงได้แล้ว ความว่า ปลงภาระ (ของหนัก) ๓ อย่างเหล่านี้ คือขันธภาระ – ภาระคือขันธ์ ๑, กิเลสภาระ – ภาระคือกิเลส ๑, อภิสังขารภาระ – ภาระคืออภิสังขาร (กรรมดี, กรรมชั่ว) ๑ ด้วยอำนาจแห่งความไม่ยึดมั่น ด้วยอํานาจแห่งการละเสียได้ และด้วยอำนาจแห่งการตัดปัจจัย.  คำว่า บรรลุประโยชน์ตนได้ตามลำดับแล้ว ความว่า ความเป็นพระอรหันต์ ชื่อว่า ประโยชน์ตนในที่นี้ ได้บรรลุ ประโยชน์ตนคือความเป็นพระอรหันต์ ตามลำดับแห่งปฏิปทา ที่ปรารภมาตั้งแต่ต้นแล้ว.  คำว่า มีสังโยชน์ในภพอันสิ้นแล้ว ความว่า สังโยชน์ ๑๐ อย่าง มีสักกายทิฏฐิ (ความเห็นผิดว่าเป็นอัตตาในกายที่มีอยู่) เป็นต้น ชื่อว่าสังโยชน์ในภพ เพราะอรรถว่าผูกสัตว์ให้ติดอยู่ในภพ หรือผูกภพเข้าไว้กับภพ พระอรหันต์ชื่อว่าเป็นผู้มีสังโยชน์ในภพอันสิ้นแล้ว เพราะได้ทำลายสังโยชน์ ๑๐ อย่างนี้ ได้สิ้นแล้ว.  คำว่า บรรลุปฏิสัมภิทาได้แล้ว คือบรรลุปฏิสัมภิทา ๔ มีอรรถปฏิสัมภิทาเป็นต้น ได้แล้ว.  คำว่า ในภูมิของสาวก คือในธรรมทั้งหลายที่พระอริยสาวกอาจรู้ทั่วถึงได้ ที่เป็นวิสัยของพระอริยสาวก จะรู้ทั่วถึงได้หรือที่เป็นสาธารณะแก่ปัญญาของพระอริยสาวกทั้งหลาย.  คำว่า ในภูมิของพระปัจเจกพุทธเจ้า คือในธรรมทั้งหลายที่ท่านผู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้น จะพึงรู้ได้ ไม่ใช่วิสัยของผู้เป็นสาวก แม้ว่าเป็นพระอรหันต์.  

ในจิตอย่างที่ ๖ : คำว่า ปัจเจกพุทธ แปลว่า ผู้รู้เฉพาะตนคนเดียว คือตรัสรู้สัจธรรม เฉพาะตนแต่ละคนเท่านั้น ไม่อาจโปรดผู้อื่นให้ตรัสรู้ตามได้.  คำว่า ผู้เป็นเอง เพื่อสำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าด้วยตนเองไม่มีผู้อื่นเป็นปัจจัย.  คำว่า เที่ยวไปคนเดียวเหมือนแรด นี้ แสดงถึงความเป็นผู้มีปกติยินดีในการหลีกเร้น ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ แห่งพระปัจเจกพุทธเจ้า.  คำว่า ในภูมิของพระสัพพัญญูพุทธเจ้า คือในธรรมทั้งหลายที่ท่านผู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าเท่านั้น จะทรงรู้ได้ ไม่สาธารณะด้วยบุคคลอื่น

ในจิตอย่างที่ ๗ : คำว่า ทรงพระกำลัง ๑๐ ประการ คือทรงพระญาณที่เป็นกำลัง ๑๐ ประการ มีพระญาณที่รู้ฐานะ (เหตุ) และอฐานะ (ไม่ใช่เหตุ) เป็นต้น.  คำว่า แกล้วกล้าด้วยพระเวสารัชชญาณ ๔ คือ แกล้วกล้าด้วยพระญาณ ที่เป็นเหตุแห่งเวสารัชชะ (ความแกล้วกล้า) ๔, เพื่อมิให้เกิดความเย่นเย้อในที่นี้ บัณฑิตพึงทราบคำอธิบายเกี่ยวกับพระเวสารัชชญาณ ๔ และพระพุทธธรรม ธรรมที่สร้างความเป็นพระพุทธเจ้า ๑๘ เป็นต้น ตามที่ท่านกล่าวไว้ในปกรณ์อรรถกถาทั้งหลายเถิด.  คำว่า ล่วงพ้นจำนวนนับแห่งจิตทั้ง ๖ อย่าง คือล่วงพ้นจำนวนแสนโกฏิขณะ ที่เป็นไปชั่วขณะดีดนิ้วมือครั้งเดียว ที่กล่าวไว้สำหรับจิต ๖ อย่างข้างต้น ความว่า เป็นไปรวดเร็วยิ่ง ชั่วขณะดีดนิ้วมือครั้งเดียวมีพระจิตเป็นไปก้าวล่วงคือมากกว่าแสนโกฏิขณะนัก.  คำว่า พระยมกปาฏิหาริย์ คือพระอิทธิปาฏิหาริย์ที่ทรงกระทำ ๒ อย่างพร้อมๆ กัน เช่น ขณะที่ทรงกระทำให้มีลำไฟพวยพุ่งออกมาจากพระกรรณข้างขวา ขณะเดียวกันนั้นนั่นแหละ ก็ทรงกระทำให้มีธารน้ำพวยพุ่งออกมาจากรักกันข้างซ้ายด้วย อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยจิตที่เป็นไปรวดเร็วยิ่ง จึงจะทำได้ อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น ทรงกระทำได้ บุคคลนอกนี้ไม่อาจทำได้ และเพราะเหตุที่พระปาฏิหาริย์แต่ละอย่างกว่าจะสำเร็จได้ พระจิตของพระองค์ ก็เป็นไปแล้ว สิ้นจำนวนที่พ้นหนทางจะนับได้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า พระปาฏิหาริย์แม้เหล่านั้น เทียบกับจำนวนนับพระจิต ก็ไม่ถึงแม้สักเสี้ยวหนึ่ง แม้สักส่วนแห่งเสี้ยวหนึ่ง ดังนี้

พระสัพพัญญุตญาณของพระผู้มีพระภาค เป็นไปคล้อยตามพระอาวัชชนจิต (จิตที่ทำหน้าที่นึกถึงอารมณ์ที่ต้องการรู้) กล่าวคือพระอาวัชชนจิตเกิดขึ้นนึกถึงอารมณ์ที่ทรงต้องการจะรู้ก่อน เมื่อพระอาวัชชนจิตนั้นดับไปแล้ว พระชวนจิตก็เกิดขึ้นเล่นไปในอารมณ์นั้น พระสัพพัญญุตญาณเกิดขึ้นประกอบพร้อมกับพระชวนจิตนั้น ทำการหยั่งรู้อารมณ์นั้น เพราะเหตุนั้นท่านจึงกล่าวว่า ขอถวายพระพร พระสัพพัญญุตญาณของพระผู้มีพระภาคเนื่องด้วยการนึก คือทรงนึกก่อน แล้วจึงทรงรู้ได้ตามที่ทรงต้องการ ดังนี้.  อุปมาทั้งหลายที่ท่านยกมาใช้เป็นเครื่องเปรียบเทียบให้เห็นว่า การที่ทรงต้องนึกอารมณ์นั้นก่อน แล้วจึงทรงรู้ได้นั้นไม่ใช่ข้อบกพร่องที่จะใช้เป็นเหตุปฏิเสธว่า พระพุทธเจ้าไม่ใช่พระสัพพัญญู ที่แปลว่าผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่างจริง ได้เลยนั้น ทราบง่ายอยู่แล้ว บัณฑิตพึงทราบว่า การที่พระราชาทรงยกข้อนี้มาเป็นเหตุปฏิเสธความเป็นพระสัพพัญญูของพระพุทธเจ้านั้น ก็ด้วยทรงมีความคิดเห็นว่า พระพุทธเจ้าจะทรงได้รับการขนานพระนามว่า พระสัพพัญญู ได้ ก็ต่อเมื่อทรงมีพระญาณที่เป็นอิสระในอันจะรู้สิ่งที่ทรงประสงค์จะรู้ ไม่เนื่องด้วยสิ่งอื่นเท่านั้น คือเมื่อทรงประสงค์จะรู้ ก็ทรงรู้ได้เลย ไม่ต้องอิงอาศัยสิ่งอื่น มีจิตที่นึกถึงอารมณ์นั้นเป็นต้น ฉะนี้แล.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๒.  จบมิลินทปัญหา (ตอนที่ ๑๘)

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา :  http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: