วันอังคารที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2560

ความพร้อมเพรียงแห่งหมู่คณะ เป็นเหตุแห่งความสุข


ความพร้อมเพรียงแห่งหมู่คณะ เป็นเหตุแห่งความสุข

สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี สมคฺคานญฺจนุคฺคโห
สมคฺครโต ธมฺมฏฺโฐ         โยคกฺเขมา น ธํสติ.

ความพร้อมเพรียงของหมู่เป็นสุข และการสนับสนุนคนผู้พร้อมเพรียงกันก็เป็นสุข, ผู้ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน ตั้งอยู่ในธรรม ย่อมไม่คลาดจากธรรมอันเกษมจากโยคะ.
(พุทฺธ) ขุ.อิติ. ๒๕/๒๓๘.

ความพร้อมเพรียง หมายถึง ความร่วมแรงร่วมใจกัน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของมนุษย์หรือสัตว์ที่อาศัยกันอยู่เป็นกลุ่มๆ เช่น พวกมด พวกปลวก เป็นต้น มาจากคำบาลีว่า สามัคคี นั่นเอง ซึ่งท่านแบ่งออกได้ ๒ อย่าง คือ กายสามัคคี ความสามัคคีกันทางกาย และจิตตสามัคคี ความสามัคคีทางด้านจิตใจ
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ชอบอยู่อาศัยกันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชน ต้องการเพื่อน ไม่ชอบการอยู่อย่างโดดเดี่ยว ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ก็วางหลักธรรมสำหรับเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวความสามัคคีไว้ เรียกว่า สังคหวัตถุ ๔ ประการ คือ 

ทาน การเสียสละ แบ่งปันสิ่งของเครื่องใช้ให้แก่เพื่อนมนุษย์ ปิยวาจา การพูดจาสนทนาปราศรัยกันด้วยถ้อยคำไพเราะอ่อนหวาน น่าฟัง อัตถจริยา การบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่กันและกัน เช่น ช่วยเพื่อนทำงาน ช่วยรักษาพยาบาล ช่วยสงเคราะห์ด้านอื่นๆ เป็นต้น และสมานัตตตา คือ การวางตนได้อย่างเสมอกันระหว่างเพื่อนมนุษย์ไม่สูงเกินไป ไม่ต่ำเกินไป ความพร้อมเพรียงของมวลมนุษย์จะดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยธรรมะ ๔ ประการนี้

เมื่อคนมีความสามัคคีกัน ไม่แบ่งแยกเป็นกลุ่มเป็นพวก ก็จะได้รับแต่ความสุข ความเจริญ การสนับสนุนคนผู้พร้อมเพรียงเป็นปึกแผ่นสมานสามัคคีกันนั้น ก็จัดเป็นความสุขทั้งตัวผู้สนับสนุนและกลุ่มคนผู้สามัคคีกันนั้น เพราะว่าต่างฝ่ายก็ได้รับประโยชน์ที่ควรจะได้รับ ผู้ยินดีในคนผู้พร้อมเพรียงกัน ตั้งตนอยู่ในธรรมตามหลักศาสนาย่อมจะได้รับสุขสมบัติตามที่ปรารถนาทุกประการ ทั้งในชาตินี้และในชาติหน้า ซึ่งตรงกับคำกล่าวที่ว่า "รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย"

จาก : พุทธศาสนสุภาษิต เล่ม ๓ ฉบับมาตรฐาน (โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง)





Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: