วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

จิตที่กำหนดรู้ขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริงย่อมปรารถนาความหลุดพ้น


จิตที่กำหนดรู้ขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริงย่อมปรารถนาความหลุดพ้น เหมือนเจ้าของเรือนเมื่อเห็นเรือนถูกไฟไหม้ก็กลัว ปรารถนาการออกจากกองไฟฉะนั้น

ถ้าผู้ปฏิบัติหมั่นกำหนดรู้ด้วยการพิจารณา หรือหมั่นกำหนดรู้โดยสามัญลักษณะ คือทำความรู้จักขันธ์ ๕ คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ โดยพิจารณาเห็นความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เช่นว่า “รูปไม่เที่ยง มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน” ดังนี้เป็นต้น หรือโดยอาการอื่นๆ เช่นว่า “รูปเป็นสภาพที่ถูกบีบคั้นจนทนอยู่ไม่ได้ เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ เป็นโรค เป็นแผล เป็นฝี  เป็นภัย เป็นอุปสรรค ไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่พึ่ง เป็นมูลของความลำบาก เป็นสิ่งปฏิกูล มีกลิ่นเหม็น น่ารังเกียจ มีการเกิดแก่เจ็บตาย ไม่มีใครเป็นใหญ่ ไม่อยู่ในอำนาจของใคร ดังนี้เป็นต้น,  ในเบื้องต้น แม้ใจจะยังรักใคร่ผูกพันอยู่ในรูปเป็นต้นเหล่านั้น และยังมีความยึดถือว่า “เป็นเรา เป็นของเรา” ก็จริง  แต่เมื่อหมั่นพิจารณาขันธ์ ๕ โดยอาการเหล่านั้นบ่อยๆ ใจก็จะคลายจากความกำหนัด ความรักใคร่ ความยินดีพอใจในรูปเป็นต้นเหล่านั้นได้  

อุปมาเหมือนเจ้าของเรือนหลังงาม เขาบริโภคอาหารในตอนเย็นแล้วก็เข้าสู่ที่นอน นอนหลับไป แต่ในคืนนั้น ไฟเกิดลุกไหม้เรือนของเขา เขาตื่นขึ้นเห็นไฟก็กลัวจึงคิดว่า “จะเป็นการดี ถ้าเรายังไม่ถูกไฟไหม้เอา ควรออกไปเสียก่อน” มองหาทางออก พอเห็นทางออก ก็รีบออกมาสู่ที่ปลอดภัยโดยเร็ว ฉันใด

จิตของผู้ดำเนินสัมมาปฏิปทาจนเห็นไตรลักษณ์แล้วหยั่งรู้สังขารโดยปรากฏเป็นของน่ากลัว ดังเจ้าของเรือนเห็นไฟแล้วกลัว ย่อมหาทางหลุดพ้น ปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น จนออกไปหยุดอยู่ในแดนที่ปลอดภัยคือพระนิพพานได้ ฉันนั้น.

สาระธรรมจากวิสุทธิมรรคภาค ๓ (สังขารุเบกขาญาณ)

พระมหาวัชระ  เชยรัมย์  (ติกฺขญาโณ)

21/5/64


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: