วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ผู้กลืนเบ็ดของ “มาร” เพราะเห็นแก่เหยื่อ จึงกลืนเบ็ด

ผู้กลืนเบ็ดของ “มาร” เพราะเห็นแก่เหยื่อ จึงกลืนเบ็ด

พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ดังนี้ ..“ภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนพรานเบ็ด ซัดเบ็ดที่เกี่ยวเหยื่อลงไปในห้วงน้ำลึก. ปลาที่เห็นแก่เหยื่อตัวใดตัวหนึ่งจะพึงกลืนเบ็ดนั้นเข้าไป. ..ภิกษุทั้งหลาย ! ด้วยอาการนี้แหละ ปลาที่กลืนเบ็ดตัวนั้น ถึงแล้วซึ่งความพินาศ ถึงแล้วซึ่งความฉิบหายเพราะพรานเบ็ด แล้วแต่พรานเบ็ดนั้นใคร่จะทำตามอำเภอใจอย่างใด.  ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น, เบ็ด ๖ ตัวเหล่านี้มีอยู่ในโลก เพื่อความฉิบหายของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อฆ่าสัตว์ทั้งหลาย. 

เบ็ด ๖ ตัวนั้นเป็นอย่างไรเล่า? 

เบ็ด ๖ ตัวนั้น คือ รูป ที่เห็นด้วยตาก็ดี, เสียง ที่ฟังด้วยหูก็ดี, กลิ่น ที่ดมด้วยจมูกก็ดี, รส ที่ลิ้มด้วยลิ้นก็ดี, โผฏฐัพพะ ที่สัมผัสด้วยกายก็ดี, และธรรมารมณ์ ที่รู้แจ้งด้วยใจก็ดี, มีอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ ที่ยวนตายวนใจให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ และเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ, ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ เมาหมกอยู่ ซึ่งอารมณ์ (๖ อย่างนี้) มี รูป เป็นต้น นั้นไซร้  ..ภิกษุ ทั้งหลาย ! ภิกษุนี้เราเรียกว่า "ผู้กลืนเบ็ดของมาร" ถึงแล้วซึ่งความพินาศ ถึงแล้วซึ่งความฉิบหาย แล้วแต่มารผู้มีบาปใคร่จะทำประการใด แล.”

พระบาลีไตรปิฎก  สฬา. สํ. ๑๘/๑๙๗/๒๘๙

หมายเหตุ : “โผฏฐัพพะ” คือ สิ่งที่ถูกต้องกาย , อารมณ์ที่จะพึงถูกต้องด้วยกาย เช่น เย็น ร้อน อ่อน นุ่ม แข็ง เป็นต้น  “ธรรมารมณ์” คือ สิ่งที่ถูกรับรู้ได้ทางใจ, สิ่งที่รู้ด้วยใจ, สิ่งที่ใจรู้สึกนึกคิด

พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ ดังนี้…“เราได้พ้นแล้วจากบ่วงทั้งปวง  ทั้งที่เป็นของทิพย์  ทั้งที่เป็นของมนุษย์  เราได้พ้นแล้ว  จากเครื่องพันธนาการมากมาย   แน่ะ! มารผู้กระทำซึ่งที่สุด  เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว  เราปราศจากความพอใจในอารมณ์เหล่านี้  คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นที่รื่นรมย์ใจ  แน่ะ! มารผู้กระทำซึ่งที่สุด  เราได้กำจัดท่านเสียแล้ว”

พระไตรปิฎกภาษาไทย   วิ. ม. ๔/๓๓/๔๑

ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ  รวมรวม. 



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: