วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

มงคลที่ ๒๕ กตญฺญุตา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - ความกตัญญู เป็นอุดมมงคล

มงคลที่ ๒๕ มีความกตัญญู - กะตัญญุตา

๏ กตัญญู รู้บุญ คุณพ่อแม่  คนเฒ่าแก่ แลอาจารย์ ท่านทรงศีล  จอมมุนินทร์ ปิ่นเกล้า เจ้าธานี  หาวิธี แทนคุณ สมดุลกัน ๛

คือ การรู้คุณ และตอบแทนท่านผู้นั้น บุญคุณที่ว่านี้มิใช่ว่าตอบแทนกันแล้วก็หายกัน แต่หมายถึงการรำลึกถึงพระคุณที่เคยให้ความอุปการะแก่เราด้วยความเคารพยิ่ง ท่านว่าสิ่งของหรือผู้ที่ควรกตัญญูนั้นมีดังนี้

 ๑. กตัญญูต่อบุคคล บุคคลที่ควรกตัญญูก็คือ ใครก็ตามที่มีบุญคุณควรระลึกถึงและตอบแทนพระคุณ เช่น บิดา มารดา อาจารย์ เป็นต้น

๒. กตัญญูต่อสัตว์ ได้แก่สัตว์ที่มีคุณต่อเราช่วยทำงานให้เรา เราก็ควรเลี้ยงดูให้ดีเช่นช้าง ม้า วัว ควาย หรือสุนัขที่ช่วยเฝ้าบ้าน เป็นต้น

๓. กตัญญูต่อสิ่งของ ได้แก่สิ่งของทุกอย่างที่มีคุณต่อเราเช่น หนังสือที่ให้ความรู้แก่เรา อุปกรณ์ทำมาหากินต่างๆ เราไม่ควรทิ้งคว้าง หรือทำลายโดยไม่เห็นคุณค่า 

ที่มา : http://www.dhammathai.org

กตญฺญุตา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - ความกตัญญู เป็นอุดมมงคล

เย  คุณา  อนุสฺสรนฺติ  กตมา  เทฺว  กตญฺญุตา  อิธ  ปุพฺพการี  อติทุลฺลภาติ.  บัดนี้ จักได้วิสัชนาในกตัญญู ในมงคลที่ ๒๕ ตามพระบาลีและอรรถกถาว่า  เย  คุณา อนุสสะรันติ.  แปลว่า  บุคคลทั้งหลายใดระลึกถึงคุณท่านผู้มีพระคุณ และกระทำตอบแทนซึ่งท่านผู้มีคุณ  จัดเป็นมงคลอันประเสริฐด้วยพระพุทธองค์ตรัสว่า  เทฺว เม   ภิกฺขเว   ทุลละภา.  ดูกรภิกษุทั้งหลาย คน ๒ จำพวก เราตถาคตกล่าวว่าหาได้ยากในโลก

คน ๒ จำพวกนั้น คือ จำพวกใด คือ บุพพการี คนที่ทำคุณไว้ก่อน ได้แก่บิดามารดา อุปัชฌาย์อาจารย์ เป็นต้น และคนที่ได้ทำเกื้อกูลอุดหนุนให้ตนได้ความสุขในชาตินี้ มีให้ซึ่งข้าวและน้ำ เป็นต้น เีรียกว่าบุพพการีผู้ทำคุณก่อน ผู้ที่รู้ตอบแทนซึ่งคุณแก่ท่านผู้มีคุณ ด้วยการให้ข้าวของ มีข้าวและน้ำเป็นต้นหรือช่วยกิจการงานต่าง ๆ หรือเจ็บไข้มีธุระอะไร ก็ช่วยไปตามกาล เรียกว่ากตัญญูกตเวทีบุคคล คน ๒ จำพวกนี้พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า หายากในโลก ด้วยคนทั้งหลายอวิชชาตัณหา เป็นต้น ยังครอบงำอยู่ในสันดาน.  อนึ่ง กตัญญูรู้คุณ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รู้คุณบุญกุศลที่นำตนมาเกิดในสุคติ ถ้ารู้คุณในที่ทั้งปวงดังกล่าวมานี้แล้ว ให้มีความกตเวที ทำการตอบแทนคุณในที่ทั้งปวง ดังกล่าวมาแล้วนั้นเถิด

ถามว่า จะให้ทำการตอบแทนในพระพุทธ เป็นต้นนั้น จะทำอย่างไร แก้ว่า ให้กราบไหว้บูชาระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อยู่เนือง ๆ อย่าได้มีความประมาท คิดทำกองการกุศลอยู่เนือง ๆ คือ ทาน ศีล ภาวนา ฟังธรรมเทศนาอย่าได้ประมาท เหมือนนางกุมารีที่ถวายข้าวตอกแก่พระมหากัสสปเถระ ครั้นงูขบนางตายไปก็ได้ไปบังเกิดเป็นนางฟ้าอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีวิมานทองงามโสภา มีนางฟ้าพันหนึ่งเป็นบริวาร ก็มีความชื่นบานหรรษา ประกอบด้วยกตัญญู กตเวทิตา ลงมาทำกุศลแรงกล้า คือ มาทำการปฎิบัติพระมหากัสสปเถระ มีกวาดวิหารและตักน้ำใช้น้ำฉันมาถวายแก่พระมหากัสสปเถระทุกวัน ๆ

ครั้นท่านห้ามเสียไม่ให้กระทำต่อไป นางเทพธิดาก็เสียใจ ร้องให้เหาะขึ้นบนอากาศเวหา ครั้งนั้น สมเด็จพระศาสดาจึงทรงเปล่งพระรัศมีไปสู่ที่เฉพาะหน้าตรัสเทศนาโปรดนางเทพธิดา ครั้นจบพระธรรมเทศนา นางเทพธิดาก็ได้สำเร็จพระโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลในพระศาสนา นางเทพธิดาก็กลับไปสู่วิมานเมืองฟ้า ในกาลครั้งนั้น ความว่า คนมีความกตัญญูรู้ทำบุญให้ทานการกุศล ย่อมให้ไปในสวรรค์ คนอกตัญญูไม่รู้คุณท่านผู้มีคุณ ย่อมบังเกิดในนรก ให้เสวยทุกขเวทนา ดังนิทานเรื่องพญาช้างฉัททันต์-พระเจ้าปทุมและเรื่องทุฏฐกุมาร ฯ ล ฯ... 

ที่มา : http://larnbuddhism.com 

มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36มงคลที่ 37มงคลที่ 38 ฯ


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: