วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

มงคลที่ ๓๓ อริยสจฺจานทสฺสนํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - การเห็นอริยสัจ เป็นอุดมมงคล

มงคลที่ ๓๓ การเห็นอริยสัจ - อะริยะสัจจานะ ทัสสะนัง

๏ การรู้เห็น ความจริง สิ่งเที่ยงแท้  ไม่ผันแปร สี่ชนิด ไม่ผิดหลง   ตัดตัณหา มูลราก พรากทุกข์ลง  เป็นการส่ง ข้ามฟาก จากสาคร ๛

อริยสัจ หมายถึงความจริงอันประเสริฐ หลักแห่งอริยสัจมีอยู่ ๔ ประการตามที่ท่านได้สั่งสอนไว้มีดังนี้

๑. ทุกข์  คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความเป็นจริงของสัตว์โลกทุกผู้ทุกนามต้องมีทุกข์ ๓ ประการคือ การเกิด ความแก่ ความตาย นอกจากนี้ก็มีความทุกข์ที่เป็นอาการ หรือเกิดจากสภาพแวดล้อมสรุปได้ดังนี้คือ  - ความโศกเศร้า (โสกะ)  - ความรำพันด้วยความเสียใจ (ปริเทวะ)  - ความเจ็บไข้ได้ป่วย (ทุกขะ)   - ความเสียใจ (โทมนัสสะ)   - ความท้อแท้ สิ้นหวัง คับแค้นใจ (อุปายาสะ)   - การตรอมใจ ผิดหวังจากสิ่งที่ไม่รัก (อัปปิเยหิ สัมปโยคะ)  - การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก (ปิเยหิ วิปปโยคะ)  - ความหม่นหมองเมื่อปรารถนาแล้วไม่ได้สิ่งนั้น (ยัมปิจฉัง นลภติ)

๒. สมุทัย  คือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ นอกจากเหตุแห่งทุกข์ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ต้นตอของทุกข์ก็อยู่ที่ใจของเราด้วยนั่นก็คือความอยาก ท่านว่าเป็นตัณหา ๓ อย่าง ซึ่งแบ่งออกได้เป็นดังนี้ คือ   - ความอยากได้ หมายรวมถึงอยากทุกอย่างที่นำมาสนองสัมผัสทั้ง ๕ และกามารมณ์ (กามตัณหา)   - ความอยากเป็น คือความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ (ภวตัณหา)  - ความไม่อยากเป็น คือความไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นอยู่ (วิภวตัณหา)

๓. นิโรธ  คือความดับทุกข์ ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป ความหลุดพ้น หรือหมายถึงภาวะของพระนิพพานนั่นเอง

๔. มรรค คือข้อปฏิบัติ หรือหนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ การเดินทางสายกลางเพื่อไปให้ถึงการดับทุกข์ คือ มรรคมี ๘ ประการ คือ   

- ความเห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) เช่นความศรัทธาในเบื้องต้นต่อหลักธรรม คำสอน เช่นการเชื่อว่ากรรมดีกรรมชั่วมีจริงเป็นต้น  

- ความดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ)  หรือความคิดชอบ มีความคิดที่ถูกต้องตามหลักธรรม เช่นการใช้ปัญญาพิจารณา ความไม่เที่ยงของสังขาร หรือการไม่คิดอยากได้ของเขามาเป็นของเรา เป็นต้น 

 - เจรจาชอบ (สัมมาวาจา)  คือการปฏิบัติตามหลักธรรม ไม่พูดโกหก ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อเป็นต้น  

- ทำการชอบ (สัมมากัมมันตะ)  หรือการมีการกระทำที่ไม่ผิดหลักศีลธรรม เช่นไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์เป็นต้น 

- เลี้ยงชีพชอบ  (สัมมาอาชีวะ)   คือการทำมาหากินในทางที่ถูก ไม่เบียดเบียนหรือทำความเดือดร้อนให้กับสัตว์หรือผู้อื่น อยู่ในหลักธรรมที่กำหนด เช่น ไม่มีอาชีพค้ามนุษย์ หรืออาชีพค้าอาวุธเป็นต้น

- ความเพียรชอบ (สัมมาวายามะ)  คือการหมั่นทำนุบำรุงในสิ่งที่ถูกต้อง อาทิเช่นการพยายามละกิเลสออกจากใจ หรือการพยายามสำรวม กาย วาจา ใจให้ดำเนินตามหลักธรรมของท่านเป็นต้น 

- ความระลึกชอบ  (สัมมาสติ)  คือมีสติตั้งมั่นในสิ่งที่ถูกต้องตามหลักธรรม เช่นการพึงระลึกถึงความตายที่ต้องเกิดกับทุกคนเป็นต้น

- จิตตั้งมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ) คือมีจิตที่มีสมาธิ ไม่ว่อกแวกหรือคิดฟุ้งซ่าน และการทำสมาธิภาวนาตามหลักการที่ท่านได้บัญญัติแนะนำเอาไว้ 

การทำให้แจ้งในพระนิพพาน

นิพพาน คือ ภาวะของจิตที่ดับกิเลสได้หมดสิ้น หลุดจากอำนาจกรรม และไม่ต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏอีก ซึ่งก็คือพ้นจากทุกข์นั่นเอง  ท่านว่าลักษณะของนิพพานมีอยู่ ๒ ระดับดังนี้ คือ  

๑. การดับกิเลสขณะที่ยังมีเบญจขันธ์เหลืออยู่ หรือการเข้าถึงนิพพานขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ - สอุปาทิเสสนิพพาน

๒. การดับกิเลสที่ไม่มีเบญจขันธ์เหลืออยู่เลย คือการที่ร่างกายเราแตกดับแล้ว ไปเสวยสุขอันเป็นอมตะในพระนิพพาน (ตรงนี้ไม่สามารถอธิบายให้กระจ่างมากไปกว่านี้ได้) - อนุปาทิเสสนิพพาน

การที่จะเข้าถึงพระนิพพานได้ ก็ต้องปฏิบัติธรรมและเจริญสมาธิภาวนาจนถึงขั้นสูงสุด 

ที่มา : http://www.dhammathai.org

อริยสจฺจานทสฺสนํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - การเห็นอริยสัจ เป็นอุดมมงคล

อะริยะสัจจานะ  ทัสสะนัง  ทุกขัง  ทุกขะสะมุทะโย  ทุกขะนิโรโธ  ทุกขะนิโรธะคามินีปะฎิปะทาอะริยะสัจจันตีติ.  บัดนี้ จักวิสัชนาในอริยสัจทั้ง ๔ จัดเป็นมงคลที่ ๓๓ ตามวาระ พระบาลี อรรถกถาว่า อะริยะสัจจานะทัสสะนัง แปลว่า ธรรมชาติอันใดที่เป็นของจริงแท้ย่อมไม่แปรผัน ธรรมชาตินั้นเรียกว่าอริยสัจ

บุคคลใดมีปัญญาพิจารณาเห็นอริยสัจของจริงทั้ง ๔ นี้แล้ว จัดเป็นมงคลอันประเสริฐ อริยสัจทั้ง ๔ นั้น คือ ทุกขสัจจะ ๑ สะมุทะยะสัจจะ ๑ นิโรธะสัจจะ ๑ มัคคะสัจจะ ๑ เป็น ๔ ดังนี้

ทุกขสัจนั้นได้แก่ชาติความเกิดเป็นรูปนาม ในกำเนิด ๔ คติ ๕ คือ มีขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ กำเนิด ๔ ธาตุ ๖ อินทรีย์ ๖ กำเนิด ๔ คือ เกิดด้วยอสุจิของบิดามารดา ๑ เกิดในฟองไข่ ๑ เกิดด้วยเหงื่อไคล ๑ ลอยไปเกิด ๑ คติ ๕ ในนรก ๑ เปรต ๑ สัตว์ดิรัจฉาน ๑ มุนษย์ ๑ เทวดา ๑ เรียกว่าชาติทุกข์ ชราทุกข์นั้น คือ ความแก่ชำรุดทรุดโทรมไปแห่งรูปนาม ๑

พยาธิทุกข์นั้น คือ ความเจ็บไข้ที่เบียดเบียนรูปนาม ๑ มรณะทุกข์นั้น คือ ความแตกดับทำลายแห่งรูปนาม ๑ ความโศกร่ำไร ความเหือดแห้งใจ ความปราถนาสิ่งใดไม่ได้สมความปรารถนา หรือได้มาแล้วรักษาไว้ไม่ได้ หรือความระคนปนอยู่ด้วยของที่ไม่รักใคร่

ว่าโดยสังเขปขันธ์ ๕ ที่ว่านี้เรียกว่าทุกขสัจ พระโยคาวจรผู้มีปัญญา พึงพิจารณากองทุกข์เป็นอารมณ์อยู่แล้ว ก็จะได้สำเร็จซึ่งมรรคและผล ยกตนให้พ้นจากอวิชชาตัญหา จึงจะชักนิทานมาให้เห็นเป็นตัวอย่างเช่นเรื่องภิกษุเรียนกรรมฐาน เรื่องพระเจ้ามันธาตุราชและเรื่องสรดาบส ฯลฯ เป็นต้น... 

ที่มา : http://larnbuddhism.com

มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36มงคลที่ 37มงคลที่ 38 ฯ


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: