วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๒๔)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๒๔) ปัญหาที่ ๑๐ อิทธิพลทัสสนปัญหา 

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ ว่า

ดูก่อน อานนท์ อิทธิบาท ๔ ตถาคตได้เจริญแล้ว ได้ทำให้มากแล้ว ได้ทำให้เป็นยานแล้ว ได้ทำให้เป็นที่ตั้งอาศัยแล้ว ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ดูก่อน อานนท์ ตถาคตนั้น เมื่อหวังอยู่ ก็จะพึง ดำรงอยู่ได้ตลอดกัป หรือตลอดส่วนที่เหลือแห่งกัป ดังนี้  และตรัสไว้อีกคำหนึ่งว่า :- “ อิโต   ติณฺณํ   มาสานํ   อจฺจเยน   ตถาคโต  ปรินิพฺพายิสฺสติ ” (ที.มหา ๑๐/๑๔๐)  "ล่วงไป ๓ เดือนนับแต่นี้ ตถาคต จะปรินิพพาน ดังนี้".  

พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ดูก่อนอานนท์ อิทธิบาท ๔ ตถาคตได้เจริญแล้ว ฯลฯ หรือตลอดส่วนที่เหลือแห่งกัป ดังนี้ จริงแล้วไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำพูดที่ตรัสกำหนดกาลไว้ ๓ เดือน ก็ต้องเป็นคำพูดที่ผิด พระคุณเจ้า ถ้าหากพระตถาคตตรัสไว้ว่า ล่วงไป ๓ เดือนนับแต่นี้ ตถาคตจะปรินิพพาน ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้นคำที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อน อานนท์ อิทธิบาท ๔ ตถาคตได้เจริญแล้ว ฯลฯ หรือตลอดส่วนที่เหลือแห่งกัป ดังนี้ ก็ต้องเป็นคำพูดที่ผิด พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ไม่ทรงมีอันตรัสในฐานะที่ไม่เป็นจริงพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงมีพระวาจาเหลวเปล่า ทรงมีพระวาจาจริงแท้ ไม่ทรงมีพระวาจาเป็น ๒ อย่าง ปัญหาแม้นี้ มี ๒ เงื่อน ลึกซึ้งละเอียดอ่อนนัก เห็นได้ยาก ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงทำลายข่ายคือทิฏฐิ จงตั้งไว้ในส่วนเดียว จงทำลายปรปวาทะเสีย”

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า ดูก่อน อานนท์ อิทธิบาท ๔ ตถาคตได้เจริญแล้ว ฯลฯ หรือตลอดส่วนที่เหลือแห่งกัป ดังนี้จริง และตรัสกำหนดกาลไว้ ๓ เดือนจริง ก็แต่ว่า กัปที่ตรัสถึงนั้นคืออายุกัป มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้หาใช่ว่าจะทรงยกย่องพระกำลัง (ความสามารถ) ของพระองค์เองไม่ ทว่าเมื่อจะทรงยกย่องกำลังแห่งอิทธิบาท จึงได้ตรัสอย่างนี้ว่า ดูก่อนอานนท์ อิทธิบาท ๔ ตถาคตได้เจริญแล้ว ฯลฯ หรือตลอดส่วนที่เหลือแห่งกัป ดังนี้

ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า พระราชาทรงมีม้าอาชาไนยที่วิ่งเร็ว ฝีเท้าจัด พระราชาเมื่อจะยกย่องกำลังฝีเท้าของม้าอาชาไนยนั้น จึงรับสั่งในท่ามกลางชุมชนพวกข้าราชการ พราหมณ์ คฤหบดี อำมาตย์ พร้อมทั้งพวกชาวนิคม ชาวชนบททั้งหลาย อย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายเอ๋ย ม้าประเสริฐของเราตัวนี้ ถ้ามันต้องการ มันก็ย่อมท่องเที่ยวไปในแผ่นดินใหญ่จนจบขอบทะเล แล้วกลับมาถึงที่นี่ได้โดยพลัน ดังนี้ พระองค์มิได้ทรงทำฝีเท้าเร็วให้ปรากฏ (ให้เห็นกัน) ในบริษัทนั้น ก็ม้าอาชาไนยนั้นมีฝีเท้าเร็วจริง และม้าตัวนั้นก็มีความสามารถที่จะเที่ยวไปในแผ่นดินจนจบขอบทะเล แล้วกลับมาได้โดยพลันจริง อุปมาฉันใด ขอถวายพระพร อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกันแล พระผู้มีพระภาค เมื่อจะทรงยกย่องกำลังแห่งอิทธิบาทของพระองค์ จึงได้ตรัสอย่างนี้ ประทับตรัสคำนั้นท่ามกลางพระอรหันต์ขีณาสพผู้ปราศจากมลทิน ผู้ได้วิชชา ๓ ได้อภิญญา ๖ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ว่า ดูก่อนอานนท์ อิทธิบาท ๔ ตถาคตได้เจริญแล้ว ได้ทำให้มากแล้ว ได้ทำให้เป็นยานแล้ว ได้ทำให้เป็นที่ตั้งอาศัยแล้ว ตั้งมั่นแล้ว สั่งสมแล้ว ปรารภดีแล้ว ดูก่อน อานนท์ ตถาคตนั้น เมื่อหวังอยู่ ก็จะพึง ดำรงอยู่ได้ตลอดกัป หรือตลอดส่วนที่เหลือแห่งกัป ดังนี้ ขอถวายพระพร กำลังแห่งอิทธิบาทนั้นของพระผู้มีพระภาค ก็มีอยู่ และพระผู้มีพระภาคก็ทรงสามารถที่จะดำรงอยู่ตลอดกัป หรือตลอดส่วนที่เหลือแห่งกัป ด้วยกำลังแห่งอิทธิบาทได้ แต่ว่า พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงทำกำลังแห่งอิทธิบาทนั้น ให้ปรากฏในบริษัทนั้น ขอถวายพระพร พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้หาความต้องการด้วยภพทั้งปวงมิได้ ทั้งภพทั้งปวงก็เป็นสิ่งที่พระตถาคตทรงติเตียน ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสความข้อนี้ไว้ว่า

"เสยฺยถาปิ   ภิกฺขเว   อปฺปมตฺตโกปิ   คูโถ   ทุคฺคนฺโธ   โหติ,    เอวเมว   โข   อหํ   ภิกฺขเว   อปฺปมตฺตกํปิ   ภวํ   น   วณฺเณมิ   อนฺตมโส   อจฺฉราสํฆาตมตฺตํปีติ" (องฺ. เอกก. ๒๐/๔๗)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก้อนคูถ แม้เพียงก้อนเล็กๆ ก็เป็นของที่มีกลิ่นเหม็น แม้ฉันใด   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภพแม้มีเพียงนิดหน่อย โดยที่สุด แม้เพียงชั่วดีดนิ้วมือครั้งเดียว เราก็ไม่ขอสรรเสริญ  ฉันนั้น ดังนี้.  

ขอถวายพระพรพระผู้มีพระภาคทรงเล็งเห็นภพ คติ โยนิทั้งปวง เสมอด้วยก้อนคูถแล้ว จะอาศัย กำลังแห่งอิทธิบาท ธรรมฉันทราคะ ให้เกิดในภพทั้งหลายหรือ ขอถวายพระพร ?  พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า.   พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ถ้าอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์ยกย่องกำลังแห่งอิทธิบาท จึงทรงบันลือพุทธสีหนาทที่เป็นอย่างนี้.  พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับตามที่ท่านได้กล่าวมานี้ นี้.  จบอิทธิพลทัสสนทปัญหาที่ ๑๐

ปัญหาเกี่ยวกับการแสดงกำลังแห่งอิทธิบาทชื่อว่า อิทธิพลทัสสนทปัญหา

ชื่อว่า “อิทธิ” โดยความหมายว่าเป็นผลสำเร็จ ชื่อว่า “บาท” โดยความหมายว่าเป็นเหตุเบื้องต้น บาทแห่งอิทธิ คือ เหตุเบื้องต้นแห่งผลสำเร็จ ชื่อว่า อิทธิบาท มี ๔ อย่าง คือ  ๑.) ฉันทิทธิบาท (อิทธิบาทคือฉันทะ – ความพอใจ)  ๒.) วิริยิทธิบาท (อิทธิบาทคือวิริยะ – ความเพียร) ๓.) จิตติทธิบาท (อิทธิบาทคือจิต)  ๔.) วิมังสิทธิบาท (อิทธิบาทคือวิมังสา – ปัญญาตริตรอง)

ก็สภาวธรรม ๔ อย่าง มีฉันทะเป็นต้น ชื่อว่าเป็นอิทธิบาท ก็ในคราวที่เจริญอธิกุศลคือสมถะหรือวิปัสสนา โดยพระโยคาวจรกระทำธรรม ๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งนี้ ให้เป็นธุระคือให้ออกหน้า เป็นประธาน เป็นใหญ่ หมายความว่ามุ่งเจริญกุศล โดยมีความพอใจใคร่จะทำกิจนั้นเป็นใหญ่ หรือมีความเพียรในการทำกิจนั้นเป็นใหญ่ เป็นต้น  – คำว่า ใกล้เจริญแล้ว คือทำให้เกิดได้แล้ว – คำว่า ได้ทำให้มากแล้ว คือได้เพิ่มพูนแล้ว – คำว่า ได้ทำให้เป็นยานแล้ว คือได้ทำให้เป็นดุจยานพาหนะแล้ว ความว่า ถึงความชำนาญ มีกำลัง ถึงความแกล้วกล้า ในทุกๆสิ่งที่ต้องการ – คำว่า ได้ทำให้เป็นที่ตั้งอาศัยแล้ว คือได้ทำให้เป็นที่ตั้งมั่นแห่งจิต  – คำว่า ตลอดกัป ชื่อว่า กัป ในที่นี้ได้แก่กำหนดอายุกาล คือประมาณอายุของมนุษย์ในครั้งนั้นๆ ก็ประมาณอายุ อายุเฉลี่ยของมนุษย์ สูงสุดคืออสงไขยปี ต่ำสุดคือ ๑๐ ปี ในครั้งกาลแห่งพระศาสดาพระองค์นี้ ประมาณอายุของมนุษย์คือ ๑๐๐ ปี ผู้ใดอายุเกิน ๑๐๐ ปีไปบ้างก็เล็กน้อย ไม่ถึง ๒๐๐ ปี เพราะฉะนั้น เพราะอานุภาพแห่งพระอิทธิบาทที่ได้ทรงเจริญแล้วเป็นต้น ถ้าหากพระองค์ทรงหวังก็ทรงพระชนม์ชีพอยู่ได้ตลอดกัป คือ ๑๐๐ พรรษา – คำว่า หรือตลอดส่วนที่เหลือแห่งกัป ความว่า ในเวลานั้น พระองค์ทรงพระชนมายุ ๘๐ พรรษา กัปมี ๑๐๐ ปี เพราะฉะนั้น ส่วนที่เหลืออยู่แห่งกัปคือ ๒๐ ปี ถ้าหากทรงหวัง ก็จะทรงมีพระชนมายุยืนยาวต่อไปอีก ๒๐ พรรษา ครบกัป.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑๐.  จบอิทธิพลวรรคที่ ๑ ในวรรคนี้มี ๑๐ปัญหา

วรรคที่ ๒ อเภชชวรรค ปัญหาที่ ๑ ขุททานุขุททกปัญหา

พระเจ้ามิลินท์ พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า  “อภิญฺญายาหํ  ภิกฺขเว  ธมฺมํ เทเสสิโน  อนภิญฺญญาย” (องฺ. ติก. ๒๐/๓๕๖)  ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เรารู้แล้วจึงแสดงธรรม, ไม่ใช่ยังไม่รู้ก็แสดงธรรม ดังนี้.  และยังตรัสไว้ในพระวินัยบัญญัติ อย่างนี้อีกว่า  "อากงฺขมาโน  อานนฺท  สงฺโฆ  มมจฺจเยน ขุทฺทานุขุทฺกานิ  สิกฺขาปทานิ  สมูหนตุ" (ซิ.จุุ ๗/๓๑๖, ที.มหา. ๑๐/๑๗๙)  ดูก่อน อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์เมื่อต้องการ ก็จงเพิกถอนขุททานุขุททกสิกขาบท (สิกขาบทเล็ก สิกขาบทน้อย) ทั้งหลายเถิด ดังนี้

พระคุณเจ้านาคเสน ข้อที่รับสั่งให้ทรงเพิกถอนขุททานุขุททกสิกขาบททั้งหลายได้ในคราวที่พระองค์ทรงล่วงลับไปแล้วนั้น เป็นเพราะขุททานุขุททกสิกขาบททั้งหลาย เป็นสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ไม่ดีหรือไร หรือว่าเป็นเพราะเมื่อยังไม่มีเรื่องเกิดขึ้น พระองค์ทรงบัญญัติไว้ เพราะไม่ทรงรู้เล่า ? พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เรารู้แล้วจึงแสดงธรรม ไม่ใช่ยังไม่รู้ก็แสดงธรรม” ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ตรัสไว้ว่า “ดูก่อน อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์เมื่อต้องการ ก็จงเพิกถอนขุททานุขุททกสิกขาบททั้งหลาย เถิด” ดังนี้ ก็ต้องเป็นคำพูดที่ผิด ถ้าหากพระตถาคตตรัสไว้ในพระวินัยบัญญัติอย่างนี้ว่า “ดูก่อน อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์เมื่อต้องการ ก็จงเพิกถอนขุททานุขุททกสิกขาบททั้งหลาย เถิด” ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำที่ตรัสไว้ว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เรารู้แล้วจึงแสดงธรรม ไม่ใช่ยังไม่รู้ก็แสดงธรรม” ปัญหานี้มี ๒ เงื่อน สุขุมละเอียดอ่อน ลึกซึ้งแสนลึกซึ้ง มองเห็นยาก ปัญหานั้นตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงแสดงกำลังญาณที่แผ่ไพศาลของท่านเถิด

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า “ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย เรารู้แล้วจึงแสดงธรรม ไม่ใช่ยังไม่รู้ก็แสดงธรรม” ดังนี้จริง หากไว้แม้ในพระวินัยบัญญัติอย่างนี้ว่า ดูก่อน อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์เมื่อต้องการ ก็จงเพิกถอนขุททานุขุททกสิกขาบท (สิกขาบทเล็ก สิกขาบทน้อย) ทั้งหลาย เถิด ดังนี้จริง ขอถวายพระพร พระตถาคตเมื่อจะทรงทดสอบภิกษุทั้งหลายว่า “สาวกของเรา เมื่อเราอนุญาตอยู่ พอเราล่วงลับไปแล้ว จะพากันเลิกล้มขุททานุขุททกสิกขาบททั้งหลาย หรือว่าจะยังเอื้อเฟื้อกันอยู่หนอ” ดังนี้ จึงได้ตรัสคำในพระวินัยบัญญัตินั้นไว้ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า พระเจ้าจักรพรรดิทรงประสงค์จะทดสอบ จึงรับสั่งกับโอรสทั้งหลายว่า นี่แนะพ่อคุณ แว่นแคว้นใหญ่หลวงนี้ไปสิ้นสุดที่มหาสมุทรตลอดทิศทั้งปวง การที่พวกเจ้าจะอาศัยกำลังเพียงเท่านั้นรักษาแว่นแคว้นใหญ่มีเอาไว้ เป็นข้อที่ทำได้ยาก เมื่อพ่อล่วงลับไปแล้วพวกเจ้าจงสละหัวเมืองชายแดนเสียบ้างเถิด ดังนี้ มหาบพิตร เมื่อพระราชชนกสวรรนคตแล้ว พวกราชกุมารเหล่านั้นก็ยอมสละหัวเมืองชายแดนทั้งปวงที่อยู่ในเงื้อมมือตน ตามคำของพระราชชนกหรือ ขอถวายพระพร ?

พระเจ้ามิลินท์, หามิได้ พระคุณเจ้า พวกราชกุมารเหล่านั้น มีแต่จะแสวงหาหัวเมืองชนบทให้มากยิ่งขึ้นไปกว่านั้นเป็นทวีคูณ เพราะความโลภต่อราชสมบัติ ไฉนจะยอมสละเมืองที่อยู่ในเงื้อมมืออยู่แล้วเล่า ?   พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น พระตถาคตทรงประสงค์จะทดสอบภิกษุทั้งหลาย จึงรับสั่งอย่างนี้ว่า ดูก่อน อานนท์ เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์เมื่อต้องการ ก็จงเพิกถอนขุททานุขุททกสิกขาบททั้งหลาย เถิด ดังนี้ ขอถวายพระพร พระพุทธบุตรทั้งหลายมีแต่จะอบรม (รักษา) สิกขาบทอื่นๆ ๆยิ่งขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ เพราะมีความต้องการธรรมเพื่อความพ้นจากทุกข์ การสละทิ้งสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้แล้วตามปกติได้อย่างไร.   พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน คำที่ตรัสไว้ว่า “ขุททานุขุททกสิกขาบท” ดังนี้ใด ในคำนี้ คนเขายังสับสน เกิดความข้องใจ สงสัยกันอยู่ว่า ขุททกสิขาบทเป็นไฉน อนุขุททกสิขาบทเป็นไฉน.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร สิกขาบทที่เป็นทุกกฏ ชื่อว่าเป็นขุททกสิขาบท, สิกขาบทที่เป็นทุพภาษิตชื่อว่าอนุขุททกสิขาบท มหาบพิตร พระเถระแต่ครั้งก่อนก็ได้เกิดความข้องใจในขุททกสิขาบท ๒ อย่างเหล่านี้ นี้ เป็นปัญหาที่พระผู้มีพระภาคทรงเล็งเห็นแล้ว เว้นแต่พระเถระเหล่านั้นก็ไม่ได้รวบรวมไว้ ในคราวทำสังคายนา.  พระยามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ข้อลี้ลับของพระชินเจ้าที่เก็บงำกันไว้นาน ได้ถูกท่านทำให้เปิดเผย ให้ปรากฏแล้วในโลก ในวันนี้.  จบขุททานุขุททกปัญหาที่ ๑.  สิกขาบทเล็ก ชื่อว่าขุททกะ สิกขาบทน้อย คือเล็กยิ่งกว่านั้น ชื่อว่า อนุขุททกะ ปัญหาที่เกี่ยวกับ ขุททกสิกขาบท และ อนุขุททกสิกขาบท ชื่อว่า ขุททานุขุททกปัญหา

ปัญหาใน ๒ ที่ ๒ แห่ง ขัดแย้งกันอยู่อย่างนี้คือ ตรัสไว้ว่า “เรารู้แล้วจึงแสดงธรรม ไม่ใช่ยังไม่รู้ก็แสดงธรรม” ดังนี้จึงใช้ คำที่ตรัสไว้ว่า “สงฆ์เมื่อต้องการ ก็จงเพิกถอนขุททานุขุททกสิกขาบท ทั้งหลาย เถิด” ดังนี้ ก็ย่อมเป็นคำพูดที่ผิด ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า เมื่อพระองค์ทรงรู้คือทรงเป็นผู้มีความรู้แสดงธรรม ไม่ใช่ทรงแสดงไปทั้งๆ ที่ยังไม่ทรงรู้ ก็น่าจะทรงทราบเป็นอย่างดีก่อนแล้วว่า ควรจะทรงบัญญัติสิกขาบททั้งหลายไว้อย่างไร กี่ข้อ กี่ประเภท จะไม่ทรงบัญญัติสิกขาบทอีกหลายข้อที่เป็นสิกขาบทเล็กน้อย ที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สงฆ์ผู้ประพฤติตาม จนในภายหลังพระองค์เองต้องส่งแนะนำให้สงฆ์เพิกถอนได้อย่างนี้ หรืออีกอย่างหนึ่ง ถ้าหากตัดไว้ว่า “สงฆ์เมื่อต้องการ ก็จงเพิกถอนขุททานุขุททกสิกขาบท ทั้งหลาย เถิด” ดังนี้ จริงไซร้ คำที่ตรัสไว้ว่า “เรารู้แล้วจึงแสดงธรรม” ดังนี้เป็นต้น ก็ย่อมเป็นคำพูดที่ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า เมื่อทรงแนะนำให้เพิกถอนได้อย่างนั้น ก็แสดงว่าไม่ทรงรู้จริง เพราะทรงบัญญัติสิกขาบทหลายข้อที่ไม่เป็นประโยชน์ในอันจะรักษาไว้ ที่แม้ทรงต้องการจะเพิกถอนเสียบ้าง ก็ย่อมเพิกถอนได้ตามที่ต้องการ

ในคำเหล่านั้น คำว่า เรารู้แล้ว คือเรารู้แล้วด้วยพระพุทธญาณทั้งหลาย โดยเฉพาะด้วยพระสัพพัญญุตญาณ.  คำว่า เพิกถอน คือเมื่อต้องการ ก็เพิกถอนเถิด ถามว่า เพราะเหตุใดจึงมิได้ตรัสไว้โดยระบุแน่นอน ว่า “พวกเธอจงเพิกถอน” แต่กลับตรัสไว้โดยเป็นคำพูดที่มีวิกัป (มีเงื่อนไขมีข้อแม้) ว่า “ถ้าหากว่าสงฆ์ต้องการ ก็จงเพิกถอนเถิด” ดังนี้เล่า ? ตอบว่า เพราะทรงประสงค์จะให้พระมหากัสสปเถระได้แสดงพลานุภาพของท่าน ในอันที่จะธำรงธรรมวินัยที่ทรงแสดงไว้ ทรงบัญญัติไว้ ให้มีอายุยืนยาวไปได้ตลอดถึง ๕,๐๐๐ ปี ในคราวประชุมทำสังคายนาพระธรรมวินัย ภายหลังกาลเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระองค์ ทรงมองเห็นว่าพระมหากัสสปะผู้เป็นหัวหน้าในการประชุมทำสังคายนาจะไม่ยอมเพิกถอน จริงอย่างนั้น เมื่อท่านพระอานนท์เถระยกเอารับสั่งของพระผู้มีพระภาคขึ้นมากล่าวในที่ประชุมสงฆ์ ถูกท่านพระมหากัสสปเถระถามว่า สิกขาบทข้อไหนบ้างที่ตรัสว่าเป็นสิกขาบทเล็กสิกขาบทน้อย ท่านพระอานนท์ก็ตอบว่าท่านมิได้ทูลถามไว้ พระมหากัสสปะจึงปรึกษาเรื่องนี้ในที่ประชุมสงฆ์ พระเถระทั้งหลายมีมติผิดแปลกแตกต่างกัน บางท่านกล่าวว่า ยกเว้นข้อปาราชิกทั้ง ๔ แล้ว สิกขาบทที่เหลือทั้งหมด ชื่อว่าเป็นสิกขาบทเล็กสิกขาบทน้อย บางท่านกล่าวว่า ยกเว้นข้อปาราชิกทั้ง ๔ และข้อสังฆาทิเสสทั้ง ๑๓ เสียสิกขาบทที่เหลือ ชื่อว่าเป็นสิกขาบทเล็กสิกขาบทน้อย ดังนี้เป็นต้น เมื่อมีมติไม่ตรงกันอย่างนี้ ท่านพระมหากัสสปเถระจึงกล่าวในที่ประชุมสงฆ์ มีใจความย่อๆอย่างนี้ว่า

“ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สิกขาบทที่เกี่ยวข้องกับพวกคฤหัสถ์ก็มีอยู่หลายข้อ พวกคฤหัสถ์เหล่านั้น ก็พอจะรู้กันอยู่บ้าง ว่านี้สมควร สำหรับผู้เป็นสมณะศากยบุตร นี้ไม่สมควร ดังนี้เป็นต้น แล้วก็จะกล่าวติเตียนเอาได้ว่า สาวกของพระมหาสมณะโคตมะพากันศึกษาปฏิบัติในสิกขาบททั้งหลายกันอยู่ ก็ตราบเท่าที่พระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่เท่านั้น นับตั้งแต่พระศาสดาเสด็จปรินิพพานแล้ว บัดนี้ พวกสาวกเหล่านี้ ก็หาศึกษาปฏิบัติในสิกขาบททั้งหลายกันอยู่ไม่ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่าทรงจะยินดียอมรับ ข้าพเจ้าก็ขอเสนอญัตตินี้ ว่า สงฆ์จะไม่พึงบัญญัติสิกขาบทที่ยังมิได้ทรงบัญญัติ จะไม่พึงเพิกถอนสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว ท่านรูปใดเห็นชอบ ก็ขอให้นิ่งเฉย ท่านรูปใดไม่เห็นชอบ ก็ขอให้กล่าวคัดค้าน ดังนี้ เมื่อพระมหากัสสปเถระกล่าวอย่างนี้แล้ว สงฆ์ทั้งนั้นล้วนเห็นชอบ นิ่งเฉยกันอยู่ทุกรูป ความสามารถในอันทำภิกษุทั้งหลายให้ตระหนักเคารพยอมรับความเป็นสิ่งประเสริฐยิ่งใหญ่แห่งสิกขาบททั้งหลาย โดยประการที่ตกลงกันว่าจะไม่เพิกถอนสิกขาบททั้งหลาย แม้มีส่วนที่จะเรียกว่าสิกขาบทเล็กสิกขาบทน้อยของท่านพระมหากัสสปเถระ อย่างนี้นั้น ชื่อว่าเป็นพลานุภาพของท่าน การกระทำของท่านเป็นเหตุหนึ่งที่ช่วยให้อายุพระศาสนาดำรงอยู่ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกได้ยืนนานตลอด ๕,๐๐๐ ปี

คำว่า สิกขาบทที่เป็นทุกกฏ ชื่อว่าเป็นขุททกสิกขาบท ความว่า สิกขาบทที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าเป็นอาบัติทุกกฏ (ทำไม่ดี) แก่ผู้ล่วงละเมิดนั้น ชื่อว่าเป็นขุททกสิกขาบท เพราะเป็นสิกขาบทเล็กกว่าสิกขาบทข้างต้น มีปราชิกเป็นต้น ในบรรดากองอาบัติ ๗ นั้น เกี่ยวกับว่ามีโทษน้อยกว่า ทำคืน ปลงอาบัติ ได้ง่ายกว่า และไม่เป็นอาบัติแก่ผู้ล่วงละเมิดในบางกรณี เป็นต้น.  คำว่า สิกขาบทที่เป็นทุพภาษิต ชื่อว่าเป็นอนุขุททกสิกขาบท ความว่า สิขาบทที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นอาบัติทุพภาสิต (กล่าวได้ว่าไม่ดี) เป็นอนุขุททกสิกขาบท เพราะเป็นสิกขาบทเล็กยิ่งเสียกว่าสิกขาบทที่เรียกว่าขุททกสิกขาบทนั้นโดยนัยเดียวกันนั้น.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๑

ปัญหาที่ ๒ อัพยากรณียปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า  “นตฺถานนฺท    ตถาคตสฺส   ธมฺเมสุ   อาจริยมุฏฐิ” (ที.มหา. ๑๐/๑๑๙)  ดูก่อน อานนท์ กำมือแห่งอาจารย์ (อาจริยมุฏฐิ) ในธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่ตถาคต ดังนี้.  และอีกครั้งหนึ่งพระองค์ พอพระมาลุงกยบุตรเถระ ทูลถามปัญหา ก็ไม่ตรัสพยากรณ์ (ไม่ตรัสฉลย), พระคุณเจ้านาคเสน ปัญหานี้จะต้องเป็นปัญหาที่อาศัยเหตุอย่างหนึ่งในเหตุ ๒ อย่าง (จึงไม่ตรัสพยากรณ์) คือไม่ตรัสพยากรณ์เพราะไม่ทรงรู้ หรือไม่ก็เพราะจะทรงทำให้เป็นความลับ พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า กำมือแห่งอาจารย์ในธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่ตถาคต ดังนี้จึงไซร้ ถ้าอย่างนั้น ก็เป็นอันว่า เพราะไม่ทรงรู้ จึงไม่ตรัสพยากรณ์แก่ท่านพระมาลุงกยบุตรเถระ ถ้าหากว่าทรงรู้ (ปาฐะเป็นอชานนฺเตน – ไม่ทรงรู้) ก็ยังไม่ตรัสพยากรณ์แก่ท่านพระมาลุงกยบุตรเถระ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้นก็เป็นอันว่าพระตถาคตยังทรงมีกับมือแห่งอาจารย์ในธรรมทั้งหลายอยู่ ปัญหานี้มี ๒ เงื่อน ฯลฯ ขอท่านจงทำลายข่ายคือทิฏฐิเถิด.    

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ว่า ดูก่อน อานนท์ กำมือแห่งอาจารย์ในธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่ตถาคต ดังนี้จริง แต่ว่า ข้อที่ไม่ตรัสพยากรณ์ปัญหาที่พระมาลุงกยบุตรเถระทูลถามนั้น ไม่ใช่เพราะไม่ทรงรู้ ไม่ใช่เพราะจะทรงทำให้เป็นความลับ ขอถวายพระพร ปัญหาพยากรณ์ (การพยากรณ์ปัญหา) มี ๔ อย่างเหล่านี้ ปัญหาพยากรณ์ ๔ อย่างมีอะไรบ้าง ?  – ปัญหาบางอย่าง เป็นเอกังสพยากรณีปัญหา (ปัญหาที่พึงพยากรณ์ส่วนเดียว) ๑,  – ปัญหาบางอย่าง เป็น บางอย่าง เป็นวิภัชชพยากรณีปัญหา (ปัญหาที่พึงแยกแยะพยากรณ์) ๑,  – ปัญหาบางอย่างเป็นบางอย่าง เป็นปฏิปุจฉาพยากรณีปัญหา (ปัญหาที่พึงย้อนถามเสียก่อน แล้วจึง พยากรณ์) ๑, – ปัญหาบางอย่าง เป็นฐปนียปัญหา ปัญหาที่พึงพักไว้ คือพึงนิ่งเฉย) ๑ ดังนี้

ขอถวายพระพร เอกังสพยากรณีปัญหา เป็นไฉน ปัญหาว่า “รูปไม่เที่ยงหรือ” เป็นปัญหาที่พึงพยากรณ์โดยส่วนเดียว ปัญหาว่า “เวทนาไม่เที่ยงหรือ” ฯลฯ ปัญหาว่า “สัญญาไม่เที่ยงหรือ” ฯลฯ ปัญหาว่า “สังขารไม่เที่ยงหรือ” ฯลฯ ปัญหาว่า “วิญญาณไม่เที่ยงหรือ” เป็นต้น เป็นปัญหาที่พึงพยากรณ์โดยส่วนเดียว นี้ ชื่อว่า เอกังสพยากรณีปัญหา.   วิภัชชพยากรณีปัญหา เป็นไฉน ? ปัญหาว่า สิ่งที่ไม่เที่ยงคือรูปหรือ เป็นปัญหาที่พึงแยกแยะพยากรณ์ ปัญหาว่า “สิ่งที่ไม่เที่ยงคือเวทนาหรือ” ฯลฯ ปัญหาว่า “สิ่งที่ไม่เที่ยงคือสัญญาหรือ” ฯลฯ ปัญหาว่า “สิ่งที่ไม่เที่ยงคือสังขารหรือ” ฯลฯ ปัญหาว่า “สิ่งที่ไม่เที่ยง คือวิญญาณหรือ” เป็นต้น เป็นปัญหาที่พึงแยกแยะพยากรณ์นี้ ชื่อว่า วิภัชชพยากรณีปัญหา.  ปฏิปุจฉาพยากรณีปัญหาเป็นไฉน ? ปัญหาว่า “บุคคลรู้สิ่งทั้งปวงได้ด้วยจักษุ หรือ” เป็นต้น เป็นปัญหาที่พึงย้อนถามเสียก่อนแล้วจึงพยากรณ์ มีชื่อว่า ปฏิปุจฉาพยากรณีปัญหา.  ฐปนียปัญหาเป็นไฉน ? ปัญหาว่า “โลกยั่งยืนหรือ” เป็นปัญหาที่พึงพักไว้ ปัญหาว่า “โลกไม่ยั่งยืนหรือ” ว่า “โลกมีที่สุดหรือ” ว่า “โลกไม่มีที่สุดหรือ” ว่า “โลกมีที่สุดก็มี ไม่มีที่สุดก็มีหรือ” ว่า “โลกมีที่สุดก็ไม่ใช่ ไม่มีที่สุดก็ไม่ใช่หรือ” ว่า “ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้นหรือ” ว่า “ชีวะก็อย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่งหรือ” ว่า “หลังจากตาย สัตว์มีอีกหรือ” ว่า “หลังจากตาย สัตว์ไม่มีอีกหรือ” ว่า “หลังจากตายสัตว์ จะมีอีกก็ใช่ ไม่มีอีกก็ใช่” หรือ ว่า “หลังจากตาย สัตว์จะมีอีกก็ไม่ใช่ ไม่มีอีกก็ไม่ใช่หรือ” ดังนี้เป็นต้น เป็นปัญหาที่พึงพักไว้ นี้ชื่อว่า ฐปนียปัญหา ขอถวายพระพร ปัญหาของท่าน มาลุงกยบุตรเถระ นั้นเป็นฐปนียปัญหา พระผู้มีพระภาคจึงไม่ตรัสพยากรณ์ ก็เพราะเหตุไรเล่าปัญหานั้นจึงเป็นปัญหาที่พึงพักไว้ ตอบว่า ก็เหตุหรือว่าการณ์ที่จะตรัสเฉลยปัญหานั้นไม่มี เพราะฉะนั้นปัญหานั้นจึงเป็นปัญหาที่พึงพักไว้ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่ทรงมีการเปล่งพระวาจาอย่างปราศจากเหตุ ปราศจากการณ์ แล.  พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำพูดตามที่ท่านกล่าวมานี้.  จบอัพยากรณีปัญหาที่ ๒.  

คำอธิบายปัญหาที่ ๒ (ยังมีต่อ) จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๒๔

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ.

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: