วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

"ถ้าจะรักษาพระศาสนา จงรักษาวิถีชีวิตสงฆ์" โดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย (ตอนที่1)

บทความชุด: ถ้าจะรักษาพระศาสนา จงรักษาวิถีชีวิตสงฆ์ 

-๑- วิถีชีวิตสงฆ์ : เกราะป้องกันตัวเอง ป้องกันพระศาสนา และป้องกันสังคม

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว เมื่อเกิดเหตุพระภิกษุระดับพระเถระถูกจับดำเนินคดี ผมไปสนทนาธรรมกับหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ราชบุรี ร่วมกับคนวัดอีกบางคน  ในวงสนทนา ได้มีการถ่ายทอดข้อมูลทั้งเบื้องตื้นและเบื้องลึกสู่กันและกันจนตกผลึกดีแล้ว เราก็ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนั้นเป็นไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจในแวดวงนั้น  เมื่อเป็นความต้องการของผู้มีอำนาจ ก็เป็นอันว่าไม่ต้องถามถึงเรื่องถูก-ผิด  และก็เป็นอันว่าไม่ต้องพูดอะไรกันอีกต่อไป เพราะเราท่านย่อมซาบซึ้งดีโดยทั่วกันถึงพุทธภาษิตที่ว่า :- 

วโส  อิสฺสริยํ  โลเก.  แปลว่า-อำนาจเป็นใหญ่ในโลก  เมื่อเรายังไม่ใช่ผู้อยู่เหนือโลก ก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องอยู่ใต้อำนาจ สงวนกำลังไว้ทำกิจที่ควรทำ ดีกว่าเอาหัวชนกำแพง  เพราะกำแพงไม่พัง แต่หัวเราจะพัง จากสถานการณ์ครั้งนั้น ผมมีความเห็นว่า สิ่งที่ต้องดึงกลับมาอย่างเร่งด่วนก็คือ วิถีชีวิตสงฆ์

ผมเห็นว่า การที่สงฆ์ไม่ครองชีวิตตามวิถีชีวิตของสงฆ์นั่นเองที่เป็นพื้นฐานหรือรากเหง้าใหญ่ที่สุดของปัญหา และเป็นสาเหตุที่ถูกยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการกำจัดกวาดล้าง 

เสียงสะท้อนจากเหตุการณ์ครั้งนั้นมี ๒ กลุ่ม

กลุ่มหนึ่ง สมน้ำหน้าพระ สะใจที่ถูกกวาดล้างออกไปเสียได้ กลุ่มนี้เห็นว่าพระทำผิด และเชื่อว่าพระทำผิดจริง ผิดวินัย ผิดวิถีชีวิตสงฆ์ จึงสมควรโดน  อีกกลุ่มหนึ่ง เห็นใจพระ เห็นว่าพระไม่ได้มีเจตนาทำผิด เพียงแต่รู้ไม่ทันเล่ห์กลทางกฎหมาย จึงไปกระทำการอันเข้าทางของผู้มีอำนาจ

และเห็นต่อไปอีกว่า ผู้มีอำนาจก็ใช้อำนาจเกินควร เลือกปฏิบัติ และไม่เป็นยุติธรรม มีกรณีนั่นนี่โน่นอีกมาก-แม้แต่ข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับกรณีเดียวกับพระนี่เอง ก็ไม่เห็นผู้มีอำนาจจัดการอะไรเลย   ถ้าเป็นความผิด ก็เป็นการทำผิดเหมือนกัน แต่ถูกปฏิบัติต่างกัน  คนหนึ่งโดน แต่อีกคนหนึ่งไม่โดน  การที่ผู้คนมีความเห็นต่างกันเช่นนี้ รากเหง้าใหญ่ที่สุดก็มาจากการไม่มีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัยอันเป็นที่มาของวิถีชีวิตสงฆ์และเป็นเนื้อเป็นตัวของพระศาสนา  จริงอยู่ ถ้าผู้มีอำนาจไม่มีธรรม พระจะอยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์หรือไม่อยู่ก็คงต้องถูกโดนรังแกจนได้  แต่เสียงสะท้อนจะต่างกัน

ถ้าพระไม่ครองตนอยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์ แล้วถูกผู้มีอำนาจจัดการ ประชาชนจะสมน้ำหน้า จะยืนอยู่ข้างผู้มีอำนาจ  ถ้าพระครองตนอยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์ แล้วถูกผู้มีอำนาจจัดการ ประชาชนจะเห็นใจพระ จะยืนอยู่ข้างพระ  ในที่สุด ผู้มีอำนาจที่ไม่มีธรรมจะอยู่ไม่ได้  การครองตนอยู่ในวิถีชีวิตสงฆ์จึงเป็นเกราะป้องกันตัวเอง ป้องกันพระศาสนา และป้องกันสังคมนั้นเองด้วย  กิจที่จำเป็นอย่างยิ่งในการเอาวิถีชีวิตสงฆ์กลับมา ก็คือการศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัย ปฏิบัติตาม และบอกกล่าวสั่งสอนกันต่อๆ ไป  กิจเช่นนี้ควรเป็นหน้าที่ของคณะสงฆ์ที่จะต้องจัดต้องทำต้องดำเนินการ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย , ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔,  ๑๒:๐๖

"ถ้าจะรักษาพระศาสนา จงรักษาวิถีชีวิตสงฆ์" (ตอนที่1) ,  (ตอนที่2) ,  (ตอนที่3) ,  (ตอนที่4)


ที่มา : ทองย้อย แสงสินชัย


บทความชุด : ถ้าจะรักษาพระศาสนา จงรักษาวิถีชีวิตสงฆ์ -๑- วิถีชีวิตสงฆ์ :...

Posted by ทองย้อย แสงสินชัย on Saturday, May 8, 2021
Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: