วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๒๕)

มิลินทปัญหา (ตอนที่ ๒๕) คำอธิบายปัญหาที่ ๒ 

คำว่า กำมือแห่งอาจารย์ในธรรมทั้งหลาย เป็นต้นความว่า ในธรรมทั้งหลายที่ควรแสดงแก่สาวก พระตถาคตจะทรงเป็นอาจารย์ผู้มีกำมือ คือซ่อนเร้นปิดบังทำเหล่านั้น แม้สักอย่างหนึ่ง ดุจกำไว้ ในมือเพื่อไม่ให้ศิษย์ได้รู้เห็น ก็หาไม่

ประเด็นที่ขัดแย้งกันอยู่แห่งคำพูดใน ๒ ที่ ๒ แห่ง มีอยู่ว่า ถ้าหากตรัสว่า ตถาคตไม่มีกำมือแห่งอาจารย์ในธรรมทั้งหลาย ดังนี้จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น การที่ไม่ตรัสพยากรณ์ ตรัสเฉลย ปัญหาที่ท่านพระมาลุงกยบุตรทูลถามนั้น ก็ไม่ใช่เพราะทรงประสงค์จะปิดบัง ทำให้เป็นความลับ ทว่า ไม่ทรงพยากรณ์เพราะไม่ทรงรู้คำตอบ ถ้าหากทรงรู้คำตอบ แต่ก็ยังทรงพยากรณ์อีก ก็เป็นอันว่าไม่ทรงพยากรณ์ไม่ใช่เพราะไม่ทรงรู้ ทว่า เพราะทรงประสงค์จะปิดบัง ทำให้เป็นความลับ เมื่อเป็นเช่นนี้ คำที่ตรัสไว้ว่า ตถาคตไม่ทรงมีกำมือแห่งอาจารย์ ดังนี้ ก็ย่อมเป็นคำพูดที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นจริง.  คำว่า ปัญหาพยากรณ์ แปลว่า การทำปัญหาให้แจ่มแจ้งคือเฉลยปัญหา

คำว่า เอกังสพยากรณีปัญหา แปลว่า ปัญหาที่พึ่งพยากรณ์โดยส่วนเดียว ความว่า เป็นปัญหาที่พึงเฉลยได้โดยส่วนเดียว ไม่มีวิกัป ไม่มีแง่ โดยพลัน โดยทันทีที่คำถามจบลงว่า ใช่ หรือว่า ไม่ใช่ ว่า ถูกต้อง หรือว่า ไม่ถูกต้อง ว่า จริง หรือว่า ไม่จริง ว่า มีอย่างเดียวคือ หรือว่า มี ๒ อย่างคือ เป็นต้น ตามเรื่องที่ถาม ไม่ต้องมีการแยกแยะ เป็นต้น เพราะฉะนั้น คำถามที่ว่า รูปไม่เที่ยงหรือ จึงชื่อว่าเป็น เอกังสพยากรณีปัญหา เพราะพึงพยากรณ์ได้โดยส่วนเดียว ว่า ใช่ เพราะขึ้นชื่อว่ารูป ที่มีส่วนเป็นของเที่ยงได้บ้างแม้สักนิดหน่อย หามีไม่ รูปทั้งหมดล้วนไม่เที่ยง แม้คำถามว่า เวทนาไม่เที่ยงหรือ เป็นต้น ก็อย่างนี้เหมือนกัน

คำว่า แปลว่า วิภัชชพยากรณีปัญหา ปัญหาที่พึงแยกแยะพยากรณ์ ความว่า เป็นปัญหาที่ไม่อาจเฉลยได้โดยส่วนเดียว ทว่า มีอันต้องแยกแยะประเภทก่อน เพราะมีหลายอย่าง โดยนัยว่า หาใช่เฉพาะธรรมนี้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ที่เป็นอย่างนี้ แม้ธรรมอย่างอื่นก็เป็นอย่างนี้ได้เหมือนกัน เป็นต้น เพราะฉะนั้นคำถามที่ว่า สิ่งที่ไม่เที่ยงคือรูปหรือ จึงชื่อว่าเป็นวิภัชชพยากรณีปัญหา เพราะมึงแยกแยะเฉลยอย่างนี้ว่า สิ่งที่ไม่เที่ยง หาใช่เฉพาะรูปเท่านั้น เพราะแม้เวทนา แม้สัญญา แม้สังขาร แม้วิญญาณ ก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ดังนี้เป็นต้น แม้คำถามว่า สิ่งที่ไม่เที่ยง คือเวทนาหรือ เป็นต้น ก็อย่างนี้เหมือนกัน


คำว่า ปฏิปุจฉาพยากรณีปัญหา แปลว่า ปัญหาที่พึงย้อนถาม แล้วพยากรณ์ ความว่า คำถามบางอย่าง ผู้ถามมิได้ระบุถึงสิ่งที่ประสงค์จะรู้ให้แน่ชัดว่าคืออะไร เพราะสิ่งอื่นที่มีชื่อเดียวกับสิ่งนั้น มีหลายอย่าง ผู้ตอบ ถ้าหากไม่ย้อนถามให้มีการระบุให้แน่ชัดเจนก่อน ตอบไปทันทีที่ถาม เหมือนอย่างเป็น เอกังสพยากรณีปัญหา ก็อาจต่อไปไม่ตรงตามที่ผู้ถามประสงค์จะรู้ หรืออาจทำให้เขาเข้าใจผิด เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องย้อนถามให้ผู้ถามระบุให้ชัดเจนเสียก่อน คำถามอย่างนี้ ชื่อว่า ปฏิปุจฉาพยากรณีปัญหา เพราะฉะนั้นนั่นแหละ คำถามที่ว่า บุคคลรู้สิ่งทั้งปวงด้วยจักษุ (ตา) หรือ ดังนี้จึงชื่อว่าเป็นปฏิปุจฉาพยากรณีปัญหา เพราะสิ่งที่ชื่อว่าจักษุ มีหลายอย่าง ประสาทตาก็ชื่อว่าจักษุ โดยความหมายว่าเป็นอุปกรณ์มองเห็นภาพ อภิญญา ตาทิพย์ ก็ชื่อว่าจักษุ เพราะเห็นได้ชัดเจนดูดตาเทวดา ปัญญาก็ชื่อว่าจักษุ โดยความหมายว่ามองเห็น คือรู้สภาวะธรรมตามความเป็นจริง การที่จะตอบปัญหาให้ตรงคำถาม จึงจำต้องย้อนถามเสียก่อนว่า ท่านพูดถึงจักษุอะไรเล่า ถ้าหากเขาตอบว่า ปสาทจักษุ (ประสาทตา) ดังนี้แล้ว ก็จะตอบเขาได้ว่า ไม่ใช่หรอก ถ้าหากเขาตอบว่า ปัญญาจักษุ ดังนี้แล้ว ก็จะตอบเขาได้ว่า ใช่ ถูกต้อง ดังนี้เป็นต้น

คำว่า ฐปนียพยากรณีปัญหา แปลว่า ปัญหาที่พึงพักไว้ คือพึ่งนิ่งเฉย ไม่พึงพยากรณ์ ความว่า คำถามบางอย่างเป็นคำถามที่ผู้ถามถามเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงโดยประมาทโดยสำคัญว่าเป็นสิ่งมีอยู่จริงด้วยอำนาจแห่งมิจฉาทิฏฐิ เช่น คำถามเกี่ยวกับอัตตา สัตว์ บุคคลผู้เสวยทุกข์ เสวยสุข และเกี่ยวกับความเป็นไปของอัตตา เป็นต้น คำถามเห็นปานฉะนี้ ไม่ควรพยากรณ์ ไม่ควรตอบ ไม่ควรเฉลย ทว่าควรพักไว้ ควรนิ่งเฉยเสีย เพราะเหตุไร เพราะไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพราะเหตุนั้น ใน ปรัมมรณสูตร (สํ.นิ. ๑๖/๒๖๕) ท่านพระมหากัสสปะ เมื่อถูกท่านพระสารีบุตรถามเพื่อใครจะเทียบเคียงความรู้ ว่า :- 

"กินฺนุโข  อาวุโส  กสฺสป  โหติ  ตถาคโต ปรมฺมรณา. ท่านกัสสปะหลังจากตาย สัตว์จะมี จะเกิด อีกหรือไร ? ดังนี้เป็นต้น" 

แล้วท่านก็ตอบว่า “ท่าน ข้อที่ท่านถามว่า หลังจากตาย สัตว์จะมีอีกหรือไร ดังนี้ นี้ พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสพยากรณ์ไว้” ดังนี้เป็นต้น เมื่อท่านพระสารีบุตรเถระถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคจึงไม่ได้ตรัสพยากรณ์ไว้ ท่านพระมหากัสสปเถระก็ตอบว่า เพราะว่าคำถามนี้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ ไม่ได้เป็นไปพร้อมเพื่อความเบื่อหน่ายทุกข์ ไม่ได้เป็นไปพร้อมเพื่อความคลายตัณหา ไม่ได้เป็นไปพร้อมเพื่อความดับตัณหา ไม่ได้เป็นไปพร้อมเพื่อความสงบตัณหา ไม่ได้เป็นไปพร้อมเพื่อความรู้ยิ่งซึ่งธรรมที่ควรรู้ยิ่ง ไม่ได้เป็นไปพร้อมเพื่อความตรัสรู้อริยสัจ ๔ ไม่ได้เป็นไปพร้อมเพื่อพระนิพพาน เพราะฉะนั้น จึงเป็นคำถามที่พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสพยากรณ์ ดังนี้ นอกจากจะหาประโยชน์มิได้ตามประการดังกล่าวมานี้แล้ว ยังเป็นเหตุเพิ่มพูนทิฐิให้มีกำลังมั่นคงยิ่งขึ้นอีกด้วย

คำว่า โลกยั่งยืนหรือ มีอรรถาธิบายอย่างนี้ว่า สัตว์นั่นแหละ ชื่อว่าโลก เพราะเป็นที่ๆคนทั้งหลายมองเห็นผลของบุญของบาป เป็นคำกล่าวถึงอัตตาผู้เสวยสุข เสวยทุกข์ ผู้เสวยผลของบุญของบาป อันไม่มีอยู่จริงโดยปรมัตถ์ ก็โลกนั้นยั่งยืนหรือ คือหลังจากตายยังคงมีอยู่ด้วยอำนาจความอุบัติในภพใหม่ หรือ.  คำว่า โลกไม่ยั่งยืนหรือ ความว่า หลังจากตาย โลกจะไม่ยั่งยืน คือจะขาดสูญ ไม่อุบัติในภพอื่นอีกหรือ ส่วนคำว่า โลกมีที่สุด มีความหมายเป็นอันเดียวกันกับคำว่า โลกไม่ยั่งยืน และคำว่า โลกไม่มีที่สุด ก็มีความหมายเดียวกันกับคำว่า โลกยั่งยืน แม้คำว่า จะมีอีกหรือ จะไม่มีอีกหรือ ก็อย่างนี้เหมือนกัน.  อัตตาชื่อว่า ชีวะ เพราะอรรถว่าเป็นเหตุเป็นอยู่ได้ ส่วนคำว่า สรีระ เป็นชื่อของขันธ์ ๕ เพราะฉะนั้น คำถามว่า ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้นหรือ จึงมีความหมายว่า อัตตาอันไหน ขันธ์ ๕ ก็อันนั้นหรือ อัตตากับขันธ์ ๕ เป็นอันเดียวกันหรือ คำถามว่า ชีวะก็อย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง ก็มีความหมายว่า อัตตาอันไหน ขันธ์ ๕ จะเป็นอันนั้นด้วย ก็หาไม่หรือ อัตตากับขันธ์ ๕ เป็นคนละอย่างกันหรือ แม้คำที่เหลือก็พึงทราบโดยนัยนี้เถิด.  คำว่า เหตุ หรือการณ์ที่จะทรงบอกปัญหานั้นไม่มี ความว่า เหตุนั้นแหละชื่อว่าการณ์ เพราะอรรถว่ากระทำ คือสร้างผล ฐปนียปัญหา เป็นปัญหาที่หาเหตุ หาการณ์ เพื่อตรัสพยากรณ์ไม่ได้ ข้อนี้ มีอรรถาธิบายว่า พระผู้มีพระภาค เมื่อจะทรงพยากรณ์ปัญหา ย่อมทรงคำนึงถึงประโยชน์ที่บุคคลผู้สดับคำศัพท์พยากรณ์นั้นจะพึงได้รับ ถ้าหากทรงพิจารณาแล้วทรงเล็งเห็นว่า เป็นปัญหาที่มีประโยชน์ ก็จะทรงปรารภประโยชน์นั้นเป็นเหตุ เป็นการณ์ เพื่ออันตรััสพยากรณ์ ก็แต่ว่า ปัญหาที่เกี่ยวกับว่า โลกยั่งยืนหรือไม่ยั่งยืน เป็นต้น เป็นปัญหาที่ไม่มีประโยชน์ เพราะฉะนั้นจึงหาเหตุ หาการณ์เพื่ออันตรัสพยากรณ์ไม่ได้ พระองค์จึงไม่ตรัสพยากรณ์ ทรงพักไว้ นิ่งเฉย ไม่ทรงเฉลย เพราะเหตุนั้นนั่นแหละ จึงชื่อว่า ฐปนียปัญหา ฉะนี้แล.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๒

ปัญหาที่ ๓ มัจจุภายนาภายนปัญหา

พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน พระผู้มีพระภาคทรงภาษิตความข้อนี้ไว้ว่า :- “สพฺเพ  ตสนฺติ  ทณฺฑสฺส.  สัตว์ทั้งปวงย่อมหวาดหวั่นต่อการลงทัณฑ์" “สพฺเพ ภายนฺติ มจฺจุโน.  สัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวต่อความตาย ดังนี้"  ยังตรัสไว้อีกว่า  “อรหา สพฺพภยมติกฺกนฺโต.  พระอรหันต์เป็นผู้ล่วงความกลัวต่อทุกสิ่งทุกอย่างได้แล้ว ดังนี้".  พระคุณเจ้านาคเสน ผู้เป็นพระอรหันต์ยังหวาดหวั่นทัณฑภัยหรือหนอ อีกอย่างหนึ่ง สัตว์นรกในนรก ผู้ถูกไฟนรกแผดเผาลุกโพลงหมกไหม้อยู่ กำลังเคลื่อน จากมหานรกที่มีเปลวไฟลุกโพลงอยู่นั้น ยังกลัวต่อความตายอยู่อีกหรือหนอ (จึงได้ตรัสว่า สัตว์ทั้งปวง) พระคุณเจ้านาคเสน ถ้าหากพระผู้มีพระภาคตรัสว่า สัตว์ทั้งปวงย่อมหวาดหวั่นต่อการลงทัณฑ์ สัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวต่อความตาย ดังนี้จึงไซร้ ถ้าอย่างนั้นคำว่า พระอรหันต์เป็นผู้ล่วงความกลัวต่อทุกสิ่งทุกอย่างได้แล้ว ดังนี้ ก็ต้องเป็นคำพูดที่ผิด ถ้าหากว่าพระผู้มีพระภาคตรัสว่า พระอรหันต์เป็นผู้ล่วงความกลัวต่อทุกสิ่งทุกอย่างได้แล้ว ดังนี้ จริงไซร้ ถ้าอย่างนั้น คำว่า สัตว์ทั้งปวงย่อมหวาดหวั่นต่อการลงทัณฑ์ สัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวต่อความตาย ดังนี้ ก็ต้องเป็นคำพูดที่ผิด ปัญหานี้มี ๒ เงื่อน ตกถึงแก่ท่านแล้ว ขอท่านจงคลี่คลายปัญหานั้นเถิด.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร มหาบพิตร คำว่า สัตว์ทั้งปวงย่อมหวาดหวั่นต่อการลงทัณฑ์ สัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวต่อความตาย ดังนี้ นี้ พระผู้มีพระภาคไม่ได้จัดหมายเอาพระอรหันต์ด้วย ในเรื่องนั้นต้องยกเว้นพระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์ถอนเหตุแห่งความกลัวได้แล้ว ขอถวายพระพร บรรดาสัตว์ผู้มีกิเลสทั้งหลาย สัตว์เหล่าใด มีอัตตานุทิฏฐิ ประมาณยิ่ง และสัตว์เหล่าใด เป็นผู้มีความอ่อนไหวในสุขและทุกข์ พระผู้มีพระภาคทรงหมายเอาสัตว์เหล่านั้น ตรัสว่า สัตว์ทั้งปวงย่อมหวาดหวั่นต่อการลงทัณฑ์ สัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวต่อความตาย ดังนี้ ขอถวายพระพร พระอรหันต์ตัดคติทั้งปวงได้แล้ว กำจัดโยนิได้แล้ว เพื่อปฏิสนธิได้แล้ว หักซี่โครงเรือนได้แล้ว ถอนอะไรในภพทั้งปวงได้แล้ว ทำลายสังขารทั้งปวงได้แล้ว และกุศลและอกุศลได้แล้ว พรากอวิชชาได้แล้ว ทำวิญญาณให้ไม่มีพืชได้แล้ว เผากิเลสทั้งปวงได้แล้ว ก้าวล่วงโลกธรรมทั้งหลายได้แล้ว เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงไม่หวาดหวั่นภัยทั้งปวง.  ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่าพระราชาในโลกนี้ ทรงมีมหาอำมาตย์อยู่ ๔ คน ซึ่งเป็นองครักษ์ ได้รับพระราชทานยศ เป็นผู้สนิทสนมกับพระราชา พระราชาทรงตั้งไว้ในตำแหน่งที่ยิ่งใหญ่ ต่อมา เมื่อมีกรณียกิจบางอย่างเกิดขึ้น พระราชาก็ทรงออกพระราชโองการ ตรัสสั่งทุกคนเท่าที่มีในแว่นแคว้นของพระองค์ว่า ทุกคนเลยเทียว จงทำพลีกรรมแก่เรา นี่แน่ะ ท่านมหามาทั้ง ๔ ขอท่านจงจัดการทำกรณียกิจนั้นให้สำเร็จเถิด ดังนี้ ขอถวายพระพร มหาอำมาตย์ทั้ง ๔ นั้นจึงเกิดความหวาดหวั่นภัยคือพลีกรรมนั้นหรือไม่ ?  พระเจ้ามิลินท์, ไม่เกิดหรอกพระคุณเจ้า.  พระนาคเสน, เพราะเหตุใดหรือ ขอถวายพระพร.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า พวกอำมาตย์เหล่านั้นพระราชาทรงแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งที่สูงส่ง พวกอำมาตย์เหล่านั้นไม่มีพลีกรรม พวกเขาเป็นผู้พ้นการทำพลีกรรม พระราชารับสั่งหมายเอาชนที่เหลือเท่านั้น ว่า ทุกคนเลยเทียว จงทำพลีกรรมแก่เรา

พระนาคเสน, ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน คำนี้ พระผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสหมายเอาพระอรหันต์ด้วย ในเรื่องนั้นต้องยกเว้นพระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์ถอนเหตุแห่งความกลัวได้แล้ว ขอถวายพระพร บรรดาสัตว์ผู้มีกิเลสทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดมีอัตรานุทิฏฐิประมาณยิ่ง และสัตว์เหล่าใดเป็นผู้มีความอ่อนไหวในสุขและทุกข์ พระผู้มีพระภาคทรงหมายเอาสัตว์เหล่านั้น ตรัสว่า สัตว์ทั้งปวงย่อมหวาดหวั่นต่อการลงทัณฑ์ สัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวต่อความตาย ดังนี้ เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงไม่หวาดหวั่นภัยทั้งปวง.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน คำที่ตรัสไว้นี้ ไม่ใช่คำที่ยังมีส่วนเหลือ คำว่า สัตว์ทั้งปวง นี้ เป็นคำที่หาส่วนเหลือมิได้ ขอท่านจงบอกเหตุในคำที่ตรัสไว้นั้น แก่ข้าพเจ้าให้ยิ่งอีกหน่อยเถิด ขอจงอธิบายคำที่ตรัสไว้นั้น ให้หนักแน่นเถิด.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร นายบ้านผู้เป็นใหญ่ในหมู่บ้าน เพิ่งสั่งบ่าวผู้ประกาศคำสั่งว่า นี่แน่ะ นายผู้ประกาศคำสั่ง เธอจงไปบอกลูกบ้านทุกคนเท่าที่มีในหมู่บ้าน ให้รีบไปประชุมกันที่สำนักของฉันโดยเร็วเถิด บ่าวผู้ประกาศคำสั่งรับคำสั่งแล้วก็ไปยืนอยู่กลางหมู่บ้าน เปล่งเสียงให้ได้ยินถึง ๓ ครั้งว่า ลูกบ้านทุกคนเท่าที่มีในหมู่บ้านขอจงไปประชุมกันที่สำนักของนายท่านโดยเร็วเถิด ต่อจากนั้นไป พอพวกลูกบ้านเรานั้นรีบไปประชุมกันที่สำนักของนายบ้านตามคำของบ่าวผู้ประกาศคำสั่งแล้วก็แจ้งแก่นายบ้านว่า นายท่าน ลูกบ้านทุกคนมาประชุมกันแล้ว ขอท่านจงทำกิจที่ควรทำเถิด ดังนี้ ขอถวายพระพร ก็เป็นว่า นายบ้านผู้นั้นได้สั่งลูกบ้านที่เป็นชายในเรือน (หัวหน้าเรือน) ทุกคนให้มาประชุม ก็ลูกบ้านทั้งหลายเหล่านั้น พ่อถูกสั่งแล้วก็หามาประชุมทุกคนไม่ เฉพาะพวกผู้ชายในเรือน (หัวหน้าเรือน) เท่านั้น ที่มาประชุม และนายบ้านก็ยอมรับตามนั้นว่า ลูกบ้าน (ที่ต้องมาประชุม) ของเรา ก็มีเพียงเท่านั้น หญิง ชาย ทาสหญิง ทาสชาย ลูกจ้าง กรรมกร คนเจ็บ ซึ่งเป็นลูกบ้านคนอื่นๆ ตลอดจนโค กระบือ แพะ สุนัข ที่มิได้มาประชุมนั้น มีจำนวนมากกว่า นายบ้านมิได้นับเอา คนที่มิได้มาทุกคนเหล่านั้นด้วย เพราะที่สั่งว่า ทุกคนจงมาประชุม นั้น หมายเอาเฉพาะพวกผู้ชายในเรือน (หัวหน้าเรือน) เท่านั้น ขอถวายพระพร อุปมาฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน คำนี้ พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงหมายเอาพระอรหันต์ด้วย ในเรื่องนั้นต้องยกเว้นพระอรหันต์ พระอรหันต์ถอนเหตุแห่งความกลัวได้แล้ว ขอถวายพระพร บรรดาสัตว์ผู้มีกิเลสทั้งหลาย สัตว์เหล่าใดมีอัตตานุทิฏฐิประมาณยิ่ง และสัตว์เหล่าใดเป็นผู้มีความอ่อนไหวในสุขและทุกข์ พระผู้มีพระภาคทรงหมายเอาสัตว์เหล่านั้น ตรัสว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงย่อมหวาดหวั่นต่อการถูกลงทัณฑ์ สัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวต่อความตาย ดังนี้ เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงไม่หวาดหวั่นภัยทั้งปวง.  

ขอถวายพระพร คำพูดมีส่วนเหลือ อรรถก็มีส่วนเหลือก็มีอยู่ คำพูดมีส่วนเหลือ แต่อรรถหาส่วนเหลือไม่ได้ ก็มีอยู่ คำพูดหาส่วนเหลือไม่ได้ แต่อรรถมีส่วนเหลือ ก็มีอยู่ คำพูดหาส่วนเหลือมิได้ อรรถก็หาส่วนเหลือไม่ได้ ก็มีอยู่ บัณฑิตพึงรับรองอรรถได้ในเหตุนั้นๆ.   ขอถวายพระพร บัณฑิตพึงรับรองอรรถได้โดยเหตุ ๕ อย่าง คือโดยอาหัจจบท ๑, โดยรส ๑, โดยอาจริยวังสะ ๑, โดยอธิบาย ๑, โดยการณุตตริยตา ๑, ในบรรดาเหตุ ๕ อย่างเหล่านี้ พระสูตรท่านประสงค์ว่าเป็น อาหัจจบท คำพูดอนุโลมตามพระสูตรชื่อว่า รส วาทะของอาจารย์ชื่อว่า อาจริยวังสะ คำว่า อธิบาย ได้แก่มติของตน คำว่า การณุตตริยตา ได้แก่ การณะ (เหตุที่ใช้อ้าง) ที่สำเร็จได้ด้วยเหตุ ๔ อย่างเหล่านี้ ขอถวายพระพร มหาบพิตร บัณฑิตพึงรับรองอรรถได้ด้วยเหตุ ๕ อย่างเหล่านี้ แล ปัญหานั้นชื่อว่า เป็นอันได้วินิจฉัยดีแล้วก็โดยประการอย่างนี้.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ข้อที่สัตว์ทั้งหลายที่เหลือสะดุ้งกลัว ในเรื่องนั้นต้องยกเว้นพระอรหันต์นั้นข้าพเจ้าก็ยอมรับตามอย่างที่ท่านกล่าวนั้นละ ก็แต่ว่าพวกสัตว์นรกทั้งหลายผู้เสวยทุกขเวทนากล้าแข็งเผ็ดร้อนอยู่ในนรก มีอวัยวะใหญ่น้อยทั้งปวงถูกไฟเผาลุกโพลง มีหน้าชุ่มด้วยน้ำตา ร้องไห้คร่ำครวญบ่นเพ้ออยู่ มีทุกข์แรงกล้าเหลือทนครอบงำ ไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่พึ่ง เป็นผู้ที่สิ่งอื่นไม่อาจเป็นที่พึ่งให้ได้ มีความเศร้าโศกอาดูรไม่ใช่น้อย มีคติต่ำทรามเป็นที่สุด บ่ายหน้าไปหาความเศร้าโศกโดยส่วนเดียว ถูกไฟแผดเผาร้อนกล้าโหดร้าย เปล่งเสียงดังฟังน่าสยดสยอง น่ากลัวมีเปลวไฟ ๖ อย่าง ติดประสานเป็นพวงอยู่โดยรอบ เพลงเปลวไฟร้อนกล้าแผ่ไปตลอดที่ ๑๐๐ โยชน์โดยรอบ เมื่อเคลื่อนจากมหานรกร้อนทารุณ ก็ยังกลัวความตายอีกหรือ ?

พระนาคเสน, ใช่ยังกลัว ขอถวายพระพร.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน นรกเป็นคติที่ต้องเสวยแต่ทุกข์โดยส่วนเดียวเท่านั้นมิใช่หรือ เพราะเหตุไร พวกสัตว์นรกเหล่านั้น เมื่อจะเคลื่อนจากนรก ซึ่งเป็นคติที่ต้องเสวยแต่ทุกข์โดยส่วนเดียว จึงยังกลัวตายเล่า ยังรื่นรมย์ในนรกหรือไร ?  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร พวกสัตว์นรกเหล่านั้นหารื่นรมย์ในนรกไม่ พวกสัตว์เหล่านั้นมีแต่ความต้องการจะพ้นจากนรก ขอถวายพระพร ความตายนี้มีอานุภาพอันเป็นเหตุให้สัตว์เหล่านั้นเกิดความหวั่นกลัว.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้านาคเสน ข้อที่ว่าสัตว์นรกผู้ต้องการจะพ้นจากนรก เรื่องเกิดความหวั่นกลัวต่อการเคลื่อนจากนรกนี้ ข้าพเจ้าไม่เชื่อหรอก พระคุณเจ้านาคเสน ฐานะที่ว่านั้นน่าขัน ขอจงทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจด้วยเหตุผลเถิด.   พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ชื่อว่า ความตาย นี้เป็นฐานะที่น่ากลัวสำหรับสัตว์ทั้งหลายผู้ยังไม่เห็นสัจจะ คนเรานี้ ย่อมหวาดหวั่นพรั่นพรึงในความตายนี้ ขอถวายพระพร ผู้ใดกลัวงูเห่าดำ ผู้นั้นกลัวตายจึงกลัวงูเห่าดำ ผู้ใดกลัวช้าง กลัวสีหะ กลัวเสือโคร่ง และผู้ใดกลัวหอกหลาว ผู้นั้นกลัวตายจึงตัวหอกหลาว ขอถวายพระพร ข้อนั้นเป็นเดชานุภาพอันเป็นสภาวะพร้อมทั้งรสของความตาย เพราะเดชานุภาพอันเป็นสภาวะ พร้อมทั้งรสของความตายนั้น สัตว์ผู้มีกิเลสทั้งหลายจึงหวาดหวั่น จึงกลัวต่อความตาย.  ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนว่า บุรุษบางคนในโลกนี้มีต่อมไขมันในร่างกายบวมเป็นต่อมฝีขึ้น เขาเป็นทุกข์เพราะโรคนั้น ต้องการจะพ้นจากอันตราย จึงไปเชิญหมอผ่าตัดมา หมอผ่าตัดรับคำเชิญของเขาแล้ว ก็จัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับการถอนโรคนั้น ลับมีดไว้ให้คม เอาครีมลนไฟไว้ บดยาชะล้างแผลไว้ ขอถวายพระพร คนไข้ผู้กำลังย่ำแย่อยู่นั้น เพิ่งเกิดความหวั่นกลัวต่อทุกขเวทนา เพราะการผ่าตัดด้วยมีดคม เพราะการทำแผลให้ไหม้ด้วยคีม เพราะการใส่ยาชะล้างแผลขึ้นหรือไม่หนอ ?

พระเจ้ามิลินท์, ใช่พระคุณเจ้า เขาพึงเกิดความหวั่นกลัวขึ้น.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ก็เป็นอันว่า คนไข้ผู้ย่ำแย่อยู่ แม้นต้องการจะพ้นจากโรคนั้น ก็ยังเกิดความหวาดหวั่นกลัวภัยคือทุกเวทนา ขอถวายพระพร ข้อนี้มีอุปมาฉันใดพวกสัตว์นรกทั้งหลาย แม้ต้องการจะพ้นจากนรก ก็ยังเกิดความหวั่นกลัวภัยคือความตาย ฉันนั้นเหมือนกัน.  ขอถวายพระพร อีกอย่างหนึ่ง เปรียบเหมือนว่า บุรุษบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความผิดในท่านผู้เป็นใหญ่ เพราะถูกล่ามด้วยโซ่ตรวน ถูกขังไว้ในห้องขังแล้ว ก็พึงเป็นผู้ต้องการจะพ้นไป ท่านผู้เป็นใหญ่นั้นก็ต้องการจะปล่อย จึงให้เรียกเขามา ขอถวายพระพร บุรุษผู้มีความผิดในท่านผู้เป็นใหญ่ ผู้รู้อยู่ว่าเราได้ทำความผิดไว้ ดังนี้นั้น จะพึงเกิดความหวั่นกลัวต่อการที่จะต้องไปพบท่านผู้เป็นใหญ่หรือไม่ ?  พระเจ้ามิลินท์, ใช่ พระคุณเจ้า เขาจะต้องเกิดความหวั่นกลัว.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร ก็เป็นอันว่า บุรุษผู้มีความผิดในท่านผู้เป็นใหญ่นั้น แม้ว่าต้องการจะพ้นไป ก็ยังเกิดความหวั่นกลัวภัยจากท่านผู้เป็นใหญ่ ขอถวายพระพร ข้อนี้มีอุปมาฉันใด พวกสัตว์นรกทั้งหลาย แม้ว่าต้องการจะพ้นจากนรก ก็ยังเกิดความหวั่นกลัวมรณภัยฉันนั้นเหมือนกัน.  พระเจ้ามิลินท์, พระคุณเจ้า ขอจงบอกเหตุผลที่ยิ่งขึ้นไปแม้อย่างอื่นอีกเถิด ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ข้าพเจ้าปลงใจเชื่อได้.  พระนาคเสน, ขอถวายพระพร บุรุษบางคนในโลกนี้ถูกงูพิษกัดเอา เพราะพิษที่แพร่กระจายไปนั้น เขาจึงล้มกลิ้งเกลือกอยู่ไปมา ลำดับนั้น มีบุรุษอีกคนหนึ่ง ใช้บทมนต์ที่มีพลัง ชักนำงูพิษตัวนั้นมา บังคับให้ดูดพิษที่รอยกัดนั้นกลับคืนไป ขอถวายพระพร บุรุษผู้มีพิษงูซึมซาบอยู่นั้น เมื่องูพิษที่กัดนั้นเลื้อยเข้ามาใกล้ เพราะเหตุจะสร้างความสวัสดีให้ จะพึงเกิดความหวั่นกลัวขึ้นหรือไม่ ?

พระเจ้ามิลินท์ ใช่ล่ะ พระคุณเจ้า เขาจะต้องเกิดความหวั่นกลัว พระนาคเสน ขอถวายพระพร ก็เป็นอันว่า เมื่องูเห็นปานนั้นเลื้อยเข้ามาใกล้ เพราะเหตุจะสร้างความสวัสดีให้ บุรุษผู้นั้นยังเกิดความหวั่นกลัวได้ ข้อนี้มีอุปมาฉันใด พวกสัตว์นรกทั้งหลาย แม้ว่าต้องการจะพ้นจากนรก ก็ยังเกิดความหวั่นกลัวต่อมรณภัย ฉันนั้นเหมือนกัน ขอถวายพระพร ความตายไม่เป็นที่น่าปรารถนาสำหรับสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง เพราะฉะนั้นพวกสัตว์นรก แม้ว่าต้องการจะพ้นจากนรก ก็ยังกลัวตาย.   พระเจ้ามิลินท์, ดีจริง พระคุณเจ้านาคเสน ข้าพเจ้าขอยอมรับคำพูดของท่าน ตามประการที่ท่านกล่าวมากระนี้ นี้.  จบมัจจุภายนาภายนปัญหาที่ ๓

ปัญหาเกี่ยวกับความกลัวและไม่กลัวต่อความตาย ชื่อว่า มัจจุภายนาภายนปัญหา

คำว่า มี อัตตานุทิฏฐิประมาณยิ่ง ความว่า ความตามเห็นผิดในขันธ์ ๕ ว่ามีอัตตา ว่าเป็นอัตตา ชื่อว่าอัตตานุทิฏฐิ ได้แก่ เป็นผู้มีอัตตานุทิฏฐินั้นประมาณยิ่ง คือมีกำลังยิ่ง.   คำว่า มีความอ่อนไหวในสุขและทุกข์ ความว่า เมื่อได้เสวยสุขแม้เพียงเล็กน้อย ก็เกิดความยินดีเสียยิ่งนัก เมื่อได้เสวยทุกข์แม้เพียงเล็กน้อย ก็เกิดความเศร้าโศกเกินประมาณ.  คำว่า พระอรหันต์ปกติทั้งปวงได้แล้ว เป็นต้น ความว่า พระอรหันต์เป็นผู้ตัดคติคือภูมิอันเป็นที่ไปของสัตว์ทั้งหลายได้แล้ว ทั้งสุคติภูมิ ทั้งทุกข์คติภูมิ กำจัดโยนิ (กำเนิด) คืออาการที่เกิด ๔ อย่าง มีชลาพุชโยนิ กำเนิดของสัตว์ผู้เกิดในมดลูก เป็นต้น ได้แล้ว เพิกปฏิสนธิ คือถอนการปฏิสนธิในภพใหญ่พบน้อยทั้งหลายได้แล้ว หักซี่โครงเรือน คือหักทำลายตัณหาและกรรมอันเป็นซี่โครงเรือนคืออุปทานขันธ์ ๕ ได้แล้ว ถอนอะไรคือถอนปัญหาในภพทั้งปวงได้แล้ว ทำลายสังขารทั้งปวงคือละธรรมทั้งหลายอันเป็นเหตุแห่งสังขารทั้งปวงได้แล้ว ละกุศลและอกุศลได้แล้ว โดยการตัดขาดอนุสัยทั้งหลายได้ พรากอวิชชา คือขจัดอวิชา ด้วยการทำวิชาคือพระอรหันต์มรรคญาณให้เกิดขึ้นได้แล้ว ทำวิญญาณให้ไม่มีพืช คือทำวิญญาณไม่ให้มีการสืบต่อด้วยอำนาจปฏิสนธิในภพใหม่ได้แล้ว เผากิเลสทั้งปวง ด้วยไฟคือพระอรหันต์มรรคญาณได้แล้ว ก้าวล่วงโลกธรรม มีลาภ เสื่อมลาภ เป็นต้น โดยประการที่ไม่อาจครอบงำ ทำให้หวั่นไหวด้วยความยินดียินร้ายได้แล้ว.  คำว่า จงทำพลีกรรมแก่เรา คือจงทำการเสียสละแบ่งปันทรัพย์เงินทอง ที่ไร่นา ทาสหญิงทาสชาย เป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่เรา

ในคำว่า คำพูดมีส่วนเหลือ อรรถก็มีส่วนเหลือ ก็มีอยู่ เป็นต้นนี้ ประสงค์ให้ทราบว่า คำว่า สัตว์ทั้งปวงย่อมกลัวต่อความตาย ดังนี้ นี้ เป็นคำพูดที่หาส่วนเหลือมิได้ เพราะกล่าวว่า สัตว์ทั้งปวง แต่อรรถคือสิ่งที่พูดถึงมีส่วนเหลืออยู่เพราะไม่ได้ครอบคลุมถึงพระอรหันต์ พระอรหันต์เป็นส่วนที่เหลืออยู่.  ในคำว่า พระสูตรท่านประสงค์ว่า เป็นอาหัจจบท (บทที่ชักมาอ้าง) นี้ เพิ่งทราบว่า พระพุทธพจน์ตลอดทั้ง ๓ ปิฎกชื่อว่า สูตร ในที่นี้.  คำว่า คำพูดอนุโลมตามพระสูตร ชื่อว่ารส ความว่ามหาปเทส (คำชี้แจงของท่านผู้ยิ่งใหญ่ หรือคำชี้แจงที่ยิ่งใหญ่หรือที่น่าบูชา) ๔ อย่าง อันได้แก่ – พุทธาปเทส คำตรัสชี้แจงของพระพุทธเจ้า ๑, – สังฆาปเทส คำชี้แจงของพระสงฆ์ ๑, – พหุเถราปเทส คำชี้แจงของพระเถระหลายรูป ๑, – เอกเถราปเทส คำชี้แจงของพระเถระรูปเดียว ๑

ชื่อว่า คำอนุโลมตามพระสูตร ในบรรดามหาปเทส ๔ อย่างนั้น ยกเว้นพุทธาปเทสแล้ว มหาปเทส ๓ ที่เหลือ บัณฑิตพึงเชื่อถือยอมรับ ก็ในเมื่อลงกันได้กับในพระสูตรนั่นเทียว ถ้าหากว่าลงกันไม่ได้ก็ไม่พึงเชื่อถือยอมรับ ก็คำว่า มหาปเทส ว่าโดยความก็คือคำวินิจฉัยนั้นเอง คำอนุโลมตามพระสูตรคือมหาปเทส ๔ นี้ชื่อว่า รส เพราะอรรถว่าทำให้ยินดี.  คำว่า วาทะของอาจารย์ ชื่อว่า อาจริยวังสะ ความว่า อรรถกถา คำพูดอรรถาธิบายพระบาลี ชื่อว่า วาทะของอาจารย์ ก็วาทะของอาจารย์คืออรรถกถานั้นนั่นแหละ ชื่อว่า อาจริยวังสะ (วงศ์ ประเพณี ของอาจารย์).  คำว่า อธิบาย ได้แก่มติของตน ความว่า ฎีกา คำพูดทำอรรถกถาให้แจ้ง ชื่อว่าอัตโนมติ มติของตน ก็มติของตนนั้น ท่านเรียกว่าอธิบาย ก็เพราะอธิบายอรรถกถา.   คำว่า การณุตตริยตา ได้แก่ การณะที่สำเร็จได้ด้วยเหตุ ๔ อย่างเหล่านี้ ความว่า บัณฑิตจะพึงรับรองได้ว่าเป็นอรรถที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงประสงค์ ก็ต่อเมื่อมีการณะ คือ เมื่อเทียบเคียงกับเหตุ ๔ อย่างเหล่านี้ คือ เทียบเคียงกับพระสูตร เทียบเคียงกับคำอนุโลมตามพระสูตรเทียบเคียงกับวาทะของอาจารย์ เทียบเคียงกับมติของตนแล้ว ก็ลงกันได้ ฉะนี้แล.  จบคำอธิบายปัญหาที่ ๓.   จบมิลินทปัญหาตอนที่ ๒๕

ขอให้ การอ่าน การศึกษา ของทุกท่านตามกุศลเจตนา ได้เป็นพลวปัจจัย เพิ่มพูลกำลังสติ กำลังปัญญา ให้สามารถนำตนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ด้วยเทอญ

ณัฏฐ สุนทรสีมะ

ที่มา : http://dhamma.serichon.us

มิลินทปัญหา (ตอนที่ 50) ,  (ตอนที่ 49) ,  (ตอนที่ 48) ,  (ตอนที่ 47) ,  (ตอนที่ 46) ,  (ตอนที่ 45) ,  (ตอนที่ 44) ,  (ตอนที่ 43) ,  (ตอนที่ 42) ,  (ตอนที่ 41) ,  (ตอนที่ 40) ,  (ตอนที่ 39) ,  (ตอนที่ 38) ,  (ตอนที่ 37) ,  (ตอนที่ 36) ,  (ตอนที่ 35) ,  (ตอนที่ 34) ,  (ตอนที่ 33) ,  (ตอนที่ 32) ,  (ตอนที่ 31) ,  (ตอนที่ 30) ,  (ตอนที่ 29) ,  (ตอนที่ 28) ,  (ตอนที่ 27) ,  (ตอนที่ 26) ,  (ตอนที่ 25) ,  (ตอนที่ 24) ,  (ตอนที่ 23) ,  (ตอนที่ 22) ,  (ตอนที่ 21 ต่อ) ,  (ตอนที่ 21) ,  (ตอนที่ 20) ,  (ตอนที่ 19) ,  (ตอนที่ 18) ,  (ตอนที่ 17) ,  (ตอนที่ 16) ,  (ตอนที่ 15) ,  (ตอนที่ 14) ,  (ตอนที่ 13) ,  (ตอนที่ 12) ,   (ตอนที่ 11) ,  (ตอนที่ 10) ,  (ตอนที่ 9) ,  (ตอนที่ 8) ,  (ตอนที่ 7) ,  (ตอนที่ 6) ,  (ตอนที่ 5) ,  (ตอนที่ 4) ,  (ตอนที่ 3) ,  (ตอนที่ 2) ,  (ตอนที่ 1) ,  ประโยชน์​การอุปมา​อันได้จากการศึกษา​คัมร์ในทางพุทธศาสนา มีคัมภีร์​มิลินท์​ปัญหาเป็นต้น​ ,   มิลินทปัญหา ปัญหาเกี่ยวกับการไม่เคลื่อนไปก็ปฏิสนธิได้  ,  เหตุไร ตรัสให้คฤหัสถ์โสดาบันกราบไหว้ ลุกรับภิกษุสามเณรปุถุชนเล่า?  ,  นิปปปัญจปัญหา ​- ปัญหา​เกี่ยวกับ​ธรรม​ที่ปราศจาก​เหตุ​ให้เนิ่น​ช้าในวัฏฏทุกข์  ,   ถามว่า​ อานิสงส์​การเจริญเมตตา​ ห้ามอันตราย​ต่างๆ​ เหตุไรสุวรรณ​สามผู้เจริญเมตตา​จึงถูกยิงเล่า?




Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: