วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

เห็นทุกข์ แต่เป็นสุข พุทธศาสนาสอนเริ่มต้นต้องรู้ทันทุกข์

เห็นทุกข์ แต่เป็นสุข พุทธศาสนาสอนเริ่มต้นต้องรู้ทันทุกข์

..“หลักพุทธสอนว่า ทุกข์เราต้องมองเห็น แต่สุขสำหรับจะมีจะเป็น พูดถึงตรงนี้ ก็ขอแทรกอีกนิด เป็นข้อสังเกตว่า พอมองที่หลัก “อริยสัจ” ก็เห็นว่า พระพุทธศาสนาเริ่มต้นด้วยทุกข์ บางทีคนภายนอกหรือแม้แต่คนภายในนี่เองมองว่าพระพุทธศาสนาสอนแต่เรื่องทุกข์ อะไรก็เป็นทุกข์ ชีวิตก็เป็นทุกข์ ฝรั่งบางทีก็ว่า พระพุทธศาสนาเป็น pessimism คือมองโลกในแง่ร้าย ไปอ่านดูเถอะ พวก encyclopaedia และหนังสือตำรับตำราฝรั่งจำนวนมากหรือส่วนมาก พอพูดถึงพระพุทธศาสนาก็เริ่มด้วยว่า พระพุทธศาสนามองว่าชีวิตเป็นทุกข์ บอกว่า life หรือ existence เป็น suffering อะไรทำนองนี้ ซึ่งชวนให้เกิดความเข้าใจผิด ตรงนี้ชาวพุทธเองจะต้องชัดเจน...

..คำตอบอยู่ที่หลัก “กิจในอริยสัจ” หรือ หน้าที่ต่อ อริยสัจ...พระพุทธศาสนาสอน “อริยสัจ ๔” เริ่มด้วย “ทุกข์” หน้าที่ต่อทุกข์ คือ “ปริญญา” คือ ต้องรู้ทันมัน เราไม่มีหน้าที่เป็นทุกข์ เพราะปัญหาเป็นสิ่งที่เราต้องรู้เข้าใจ ถ้าเราจับจุดปัญหาไม่ได้ เราก็แก้ปัญหาไม่ได้ ไม่เฉพาะตัวปัญหาเท่านั้น เราจะต้องรู้เข้าใจสิ่งที่เกี่ยวข้องกับปัญหา สิ่งที่รองรับหรือเป็นที่ตั้งของปัญหา คือรู้เท่าทันชีวิตสังขาร และรู้เท่าทันโลก อันนี้เป็นเรื่องของการรู้หน้าที่ต่อทุกข์ มีอย่างเดียวคือปริญญา พูดง่ายๆ ทุกข์นี้สำหรับปัญญารู้...จบแค่นี้

..ถ้าใครเอาทุกข์มาเข้าตัว ใครทำตัวให้เป็นทุกข์ แสดงว่าปฏิบัติผิด หลักไม่มีที่ไหนพระพุทธเจ้าสอนให้คนเป็นทุกข์ สอนแต่ให้รู้เท่าทันทุกข์ เพื่อจะแก้ไขได้ “มรรค” ต่างหาก ที่เรามีหน้าที่ปฏิบัติลงมือทำ ให้มีให้เป็นสุข ตรงข้ามกับทุกข์ 

สุขอยู่ในอริยสัจข้อไหน สุขอยู่ในข้อ “นิโรธ” คือ ในข้อจุดหมาย แต่เราไม่นิยมใช้คำว่า สุข เพราะสุขนี้จะเป็นสัมพัทธ์ตลอด เป็น relative เพราะตราบใดที่มีสุข ก็หมายความว่ายังมีทุกข์ปนอยู่ คือยังไม่พ้นทุกข์ ยังไม่ชัดว่าทุกข์หมดหรือยัง แต่ถ้าเมื่อไรทุกข์ไม่มีเหลือ อันนี้จะพูดว่าสุขหรืออย่างไรก็แล้วแต่ ถ้าพูดว่าสุขก็หมายถึงสุขสมบูรณ์เลย ไม่มีทุกข์เหลืออยู่ พุทธศาสนายอมรับมาตรฐานตัดสินต่อเมื่อไร้ทุกข์หรือไม่มีทุกข์เหลือเลย จุดหมายของพุทธศาสนาคือ “ไม่มีทุกข์เหลือเลย”

.. “นิโรธ” นั้น ที่แท้ไม่ได้แปลแค่ดับทุกข์ ขอให้สังเกตว่า “นิโรธ” นั้นแปลว่า “การไม่เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เพราะดับทุกข์” แสดงว่าเรามีทุกข์ จึงต้องดับมัน พอเราปฏิบัติไปถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนา ก็ถึงภาวะไร้ทุกข์ ไม่มีทุกข์เหลือ ไม่มีการเกิดขึ้นแห่งทุกข์อีกต่อไปเลย ส่วนในระหว่างปฏิบัติ ระหว่างที่เป็นสัมพัทธ์ ทุกข์จะน้อยลงและจะมีสุขมากขึ้น ฉะนั้น สุขจึงจัดอยู่ในฝ่ายนิโรธ ในฝ่ายจุดหมาย กิจหรือหน้าที่ต่อนิโรธ คือ “สัจฉิกิริยา” แปลว่า ทำให้ประจักษ์แจ้ง คือทำให้ประจักษ์แก่ตัวหรือบรรลุถึง สุขจึงเป็นภาวะที่เราบรรลุถึงเพิ่มขึ้นๆ หมายความว่าทุกข์เป็นสิ่งที่เรารู้ทัน แล้วก็หาทางแก้ เราจะก้าวไปสู่จุดหมาย คือมีสุขเพิ่มขึ้นเรื่อย ทุกข์น้อยลงเรื่อย จนกระทั่งหมดทุกข์ เป็นสุขที่แท้ คือ “นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ. นิพพานเป็นบรมสุข ระหว่างปฏิบัติเราก็ห่างทุกข์และมีสุขมากขึ้นเรื่อย”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต) , ที่มา : จากหนังสือ “ทุกข์สำหรับเห็น แต่สุขสำหรับเป็น” , ธรรมะเพื่อทางพ้นทุกข์ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: