วันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

มงคลที่ ๑๙ อารตี วิรตี ปาปา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - การงดเว้นจากบาป เป็นอุดมมงคล

มงคลที่ ๑๙ ละเว้นจากบาป - อาระตี วิระตี ปาปา

๏ กรรมชั่วช้า ลามก ต้องยกเว้น  หากขืนเล่น ด้วยกัน ถูกมันผลาญ  งดเว้นบาป กำราบให้ ไกลสันดาน  ในดวงมาลย์ ไม่ร้อน และอ่อนเพลีย ๛

บาปคือสิ่งที่ไม่ดี เสีย ความชั่วที่ติดตัว ซึ่งไม่ควรทำ ท่านว่าสิ่งที่ทำแล้วถือว่าเป็นบาปได้แก่  อกุศลกรรมบถ ๑๐ คือ   ๑. ฆ่าสัตว์   ๒. ลักทรัพย์    ๓. ประพฤติผิดในกาม    ๔. พูดเท็จ    ๕. พูดส่อเสียด    ๖. พูดคำหยาบ   ๗. พูดเพ้อเจ้อ  ๘. โลภอยากได้ของเขา  ๙. คิดพยาบาทปองร้ายคนอื่น   ๑๐. เห็นผิดเป็นชอบ

ที่มา : http://www.dhammathai.org 

อารตี วิรตี ปาปา  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - การงดเว้นจากบาป เป็นอุดมมงคล

อารติ  นาม  ปาเป  อาทีนวทสฺสิโน  มนสา  เอว  อนภิรตีติ.   ณ  บัดนี้  จักได้วิสัชนาแก้ไข  อาระตี วิระตี ปาปา จัดเป็นมงคลที่ ๑๙ ตามบาลี อรรถกถาว่า อาระตี วิระตี ปาปา แปลว่า บุคคลทั้งหลายใดที่ไม่ยินดีในการทำบาปทั้งหลาย คือ มาเห็นโทษในการทำบาปหยาบช้า แล้วไม่ทำการทำบาปด้วยกาย วาจา จิต ทำการสุจริตซึ่งนำมาซึ่งประโยชน์ในชาตินี้และชาติหน้า

จัดเป็นมงคลอันประเสริฐ เรียกอาระตี มีความยินดีที่จะเว้นจากบาป บุคคลที่เว้นจากบาปนั้น อาศัยองค์ปัญญาที่จะพิจารณาเห็นโทษ คือ โทษชาตินี้และชาติหน้า โทษชาตินี้นั้น คือ เห็นว่านักปราชญ์ทั้งหลายที่เป็นมนุษย์และเทพยดา ยังเป็นปุถุชนหรือเป็นพระอริยเจ้าก็ดี ย่อมติเตียนซึ่งคนทั้งหลายที่ทำบาปในที่ลับและในที่แจ้ง

อนึ่ง เห็นว่าชาติที่เกิดเป็นมนุษย์เป็นชาติอันบริสุทธิ์ไม่ควรทำบาป หรือเห็นว่าอายุของเราแก่ชราไม่ควรทำบาป หรือเห็นว่าตระกูลของเราไม่ควรทำบาป ถ้าเราทำบาปแล้วตระกูลของเราก็จะเสื่อมไป หรือคิดว่าเราทำบาปแล้วก็จะเป็นโทษหลวง ต้องรับพระราชอาญาจองจำพันธนาติดอยู่ในเรือนจำให้ได้เสวยทุกข์ในชาตินี้ เห็นโทษในชาติหน้า คือ เห็นว่าทำบาปแล้วจะต้องไปทนทุกข์อยู่ใอบายทั้ง ๔ มีนรกเป็นต้น.  

เมื่อพิจารณาเห็นโทษในชาตินี้ชาติหน้าแล้วจึงคิดยินดีละเว้นซึ่งบาปต่าง ๆ ทางกาย วาจา ใจ ไม่มีสันดาน สา วิระติ อันว่าความวิรัติการเว้นมี ๓ ประการ คือ สัมปัตตริวัติ ๑ สมาทานวิรัติ ๑ สมุจเฉทวิรัติ ๑ เป็น ๓

สัมปัตตวิรัตินั้น คือ เว้นในที่เฉพาะหน้า เห็นสัตว์ควรจะฆ่าก็ไม่ฆ่า เห็นทรัพย์ควรจะลักก็ไม่ลัก เห็นหญิงควรทำกาเมสุมิจฉาจารก็ไม่ทำ ควรจะกล่าวมุสาวาทล่อลวงก็ไม่กล่าว ควรจะกินน้ำเมา คือ สุราเมรัยก็ไม่กิน ควรจะกล่าวด่าว่าด้วยคำหยาบด้วยความโกรธ ก็ไม่กล่าวโทษโกรธด่าคำหยาบ ควรจะโลภก็ไม่โลภ ควรจะหลงก็ไม่หลงซึ่งวัตถุที่บังเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ด้วยขันติและเมตตาเป็นประธาน เรียกว่า สัมปัตตวิรัติ เว้นด้วยการเห็นพร้อม ได้แก่ บุคคลที่ยังไม่ได้สมาทานสิกขากบททั้ง ๕ มีปาณาติบาติเป็นต้น ดังเช่นนิทานกาลนานเรื่องจักกะนะอุบาสกนางกุลธิดาและนางกาลียักษีณี  ฯลฯ 

ที่มา : http://larnbuddhism.com

มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36มงคลที่ 37มงคลที่ 38 ฯ


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: