วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

นี่คือ..จุดยอดของวิธีปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวง

นี่คือ..จุดยอดของวิธีปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวง

..“อริยสัจ”นั้น เป็นวิธีพูดหรือวิธีแสดง “กฎธรรมชาติ” ในแง่ที่มาเกี่ยวข้องกับมนุษย์ ซึ่งมนุษย์จะนำมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต หรือแก้ปัญหาชีวิตของตน พระพุทธเจ้าตรัสวางไว้ในรูปที่ใช้การได้ เรียกว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ..แต่ตัวความจริงในกฎธรรมชาติ ก็คือ “อิทัปปัจจยตาปฏิจจสมุปบาท” และ สภาวะที่เป็นจุดหมาย คือ “นิพพาน” ..ส่วนอีกหลักหนึ่ง คือ “สพฺเพ  ธมฺมา  นาลํ  อภินิเวสาย” แปลว่า ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น คือเราไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นไว้ได้

อันนี้ก็เป็นการสรุปหัวใจของการปฏิบัติ ที่โยงไปหาตัวความจริงของธรรมชาติ หรือสภาวธรรม ว่า..สิ่งทั้งหลายหรือปรากฏการณ์ทั้งหลายทั้งปวง หรือสิ่งที่แวดล้อมชีวิตของเรา หรืออะไรก็ตามที่เราเกี่ยวข้องนี้ มันไม่ได้อยู่ใต้อำนาจความปรารถนาของเรา แต่มันเป็นไปตามกฎธรรมชาติ เป็นไปตามเหตุปัจจัย หรือมีอยู่ดำรงอยู่ตามสภาวะของมัน เพราะฉะนั้น เราจึงไม่สามารถยึดมั่นถือมั่นมันได้ เราจะต้องวางใจปฏิบัติต่อมันให้ถูก  ..หลักนี้ เป็นการโยงธรรมดา ธรรมชาติ หรือ ความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย มาสู่ท่าทีปฏิบัติของมนุษย์ต่อสิ่งเหล่านั้น ซึ่งรวมสาระสำคัญว่า..เราต้องรู้ทันว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่เป็นไปตามใจปรารถนาของเรา มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน เราจะไปยึดมั่นถือมั่นตามใจของเราไม่ได้ แต่ต้องปฏิบัติด้วยปัญญา คือด้วยความรู้เท่าทันและให้ตรงตามเหตุปัจจัย

..เพราะฉะนั้น หลักนี้ก็เป็นแง่มุมหนึ่งของการประมวลวิธีปฏิบัติทั้งหมดต่อสิ่งทั้งหลาย ซึ่งก็เป็นพุทธพจน์เหมือนกัน  ..เรื่องมีอยู่ว่า พระสาวก(พระมหาโมคคัลลานะ) ทูลถามพระพุทธองค์ว่า..“สังขิตเตนะ” ด้วยวิธีการอย่างย่นย่อ ทำอย่างไรภิกษุจะเป็นผู้หลุดพ้นแล้วโดยความสิ้นไปแห่งตัณหา หมายความว่า..โดยย่อ ทำอย่างไรภิกษุจะเป็นผู้บรรลุนิพพาน พระพุทธเจ้าก็ตรัสพุทธพจน์นี้ขึ้นมาว่า ภิกษุได้สดับหลักการที่ว่า “สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย” (องฺ. สตฺตก. ๒๒/๕๘/๙๐) แปลว่า ธรรมทั้งปวงไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นได้ เพราะเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อรู้เข้าใจความจริงของมัน ก็จะไม่ยึดติดถือมั่นสิ่งใดในโลก จึงไม่ร่านรนเร่าร้อน ก็จะสงบเย็นนิพพาน

รู้ว่าธรรมทั้งปวงไม่อาจยึดมั่นได้ ก็คือ รู้สภาวะของมันที่เป็น “ทุกข์” ความยึดมั่นที่จะต้องละนั้น คือ “สมุทัย”ปัญญาที่ทำให้ละความยึดมั่นนั้นเสียได้ก็เป็น “มรรค” เมื่อละความยึดมั่นได้ ก็สงบเย็น นิพพาน คือ “นิโรธ” หลักนี้ นับว่าเป็น...“จุดยอดของการปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลาย” ในขั้นที่ถึงปัญญาเลย”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต ), ที่มา : จากธรรมนิพนธ์ “แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา”


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: