วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

“ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง”

การปฏิบัติธรรมขั้น “ภาวนา” สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา หลักการ / ผลสำเร็จ

..“ ตัวหลักการของสมาธิอยู่ที่ไหน? การบำเพ็ญเพียรทางจิต การบำเพ็ญสมถะ การบำเพ็ญสมาธินั้น ตัวหลักการที่แท้อยู่ที่่ไหน? บางท่านงง การทำสมาธินี้ เดี๋ยวกำหนดลมหายใจ เดี๋ยวไปเพ่งกสิณ เดี๋ยวไปภาวนาพุทโธ เดี๋ยวไปเจริญเมตตา เดี๋ยวเจริญพรหมวิหาร อะไรกันแน่เป็น “สมาธิ”

ถ้าจับหลักได้แล้ว ก็นิดเดียวเท่านั้นเอง สมาธิไม่มีอะไร คือการที่สามารถทำให้จิตกำหนดแน่วอยู่กับสิ่งเดียวได้ตามที่ต้องการเท่านั้นเอง ..การที่เรากำหนดลมหายใจเพื่ออะไร ก็เพราะว่าใจของเรามันยังไม่แน่วแน่ ยังกำหนดสิ่งเดียวไม่ได้ มันฟุ้งซ่านเลือนลอยเรื่อยไป เราก็เลยพยายามหาเทคนิค หากลวิธี มาช่วยให้มันกำหนดแน่วแน่อยู่กับสิ่งเดียวให้ได้ สิ่งที่เอามาช่วยนั้นเราเรียกว่า “กรรมฐาน” (เขียน กัมมัฏฐาน ก็ได้) เป็นเครื่องมือ เป็นที่ทำงาน หรือ ที่ฝึกงานของจิตใจ

“กัมมัฏฐาน” แปลว่า ที่่ทำงาน คือ ที่่ทำงานหรือที่ฝึกงานของจิต เพื่อให้จิตได้รับการฝึกจนสามารถอยู่กับสิ่งเดียวได้ ฝึกให้จิตทำงานเป็น เพราะจิตทำงานไม่ได้ดี จิตยุ่งวุ่นวาย คอยจะเล่น เดี๋ยวก็ไปเที่ยวซุกซน ฟุ้งซ่าน จึงให้มันทำงาน ให้มันอยู่กับสิ่งเดียวให้ได้ เอาลมหายใจมาให้มันกำหนดบ้าง เอาเมตตามาให้มันกำหนดบ้าง เอาอสุภะมาให้มันกำหนดบ้าง เอากสิณมาให้มันเพ่งบ้าง เอามือมาเคลื่อนไหวให้มันตามให้ทันบ้าง เดินจงกรมบ้าง เอามาเป็นอุบาย เป็นเทคนิคต่างๆ แต่สิ่งที่ต้องการเมื่อเกิดผลสำเร็จแล้วมีอันเดียวคือ “จิตกำหนดจับอยู่กับสิ่งเดียวได้”

ถ้าเมื่อใดจิตกำหนดแน่วอยู่กับสิ่งเดียวได้ นั้นคือ “สมาธิ” ไม่ว่าท่านจะใช้วิธีการอย่างไรก็ตาม ขอให้ได้ผลสำเร็จนี้ก็ใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องเอาวิธีที่ท่านบอกไว้ก็ได้ แต่วิธีที่ท่านบอกไว้นั้น ท่านเคยได้ทดลองกันมาแล้วว่าได้ผล เป็นประสบการณ์ที่ได้บอกเล่ากันมาบันทึกกันไว้เป็นปริยัติ เราก็เชื่อปริยัติ ในแง่ที่ว่าเป็นประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติมาแล้ว ได้ผลมาแล้ว เราจะได้ไม่ต้องมาลองผิดลองถูกกันอีก

..เป็นอันว่าหลักการของ “สมถะ” มีอันเดียว คือทำให้จิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งเดียวที่ต้องการได้ แล้วก็ตามต้องการได้ด้วย.   อยู่กับสิ่งเดียวที่ต้องการ บางทีทำสำเร็จแล้วแต่ไม่ตามต้องการ เช่น มันอยู่ได้สักพักเดียวก็ไปเสียอีกแล้ว อย่างนี้เรียกว่าไม่ได้ตามต้องการ ถ้าจะสำเร็จจริงก็ต้องให้ได้ตามต้องการ จะเอาชั่วโมงก็ได้ชั่วโมง ครึ่งชั่วโมงก็ได้ครึ่งชั่วโมง สองชั่วโมงก็ได้สองชั่วโมง ถ้าอย่างนั้น เรียกว่า สมาธิจริง แน่วแน่ ต้องการให้อยู่กับอะไรนานเท่าาไรก็อยู่กับอันนั้นนานเท่านั้น ใจไม่วอกแวกไปอื่นเลย

ต่อไป “วิปัสสนา” จะมีวิธีปฏิบัติมีเทคนิคอย่างไรก็ตาม สาระหรือหลักการของมันมีอันเดียว คือ #การรู้เห็นตามเป็นจริง หรือรู้เห็นตามที่มันเป็น ไม่ใช่รู้เห็นตามที่เราคิดให้มันเป็น ไม่ใช่รู้เห็นตามที่อยากให้มันเป็น คนเรานี้มักจะเป็นอย่างนั้น คือรู้เห็นตามที่คิดให้มันเป็น เรียกว่าคิดปรุงแต่งไป แล้วมันก็เหมือนจะเป็นตามที่คิดอย่างนั้น เมื่อใดรู้เห็นตามที่มันเป็นของมันจริงๆ ก็เรียกว่า นี่ละเกิดวิปัสสนาความรู้แจ้งแล้ว วัตถุประสงค์ของวิปัสสนา ตัวหลักการที่แท้ก็เท่านี้เอง คือ #รู้เห็นตามที่มันเป็น แต่ว่าเพียงเท่านี้แหละมันยากนักหนา เพราะว่าคนเรารู้เห็นตามที่่ใจอยากให้มันเป็น หรือรู้เห็นตามที่คิดปรุงแต่งให้มันเป็นเสียมาก

ทีนี้ พอได้หลักการแล้ว ต่อไป เมื่อปฏิบัติได้ผลดีแล้ว “สมถะ” ก็จะนำไปสู่ผลสำเร็จที่เรียกว่า “ฌาน” กล่าวคือ พอได้สมาธิลึกๆแล้ว แน่วแน่ขึ้น ดีขึ้นตามต้องการ ต่อไปก็ได้ “ฌาน”

“ฌาน” คือ สภาพจิตที่มีสมาธิเป็นแกน ประกอบด้วยคุณสมบัติอื่นๆที่ดีงามอีก ๒-๓-๔-๕ อย่าง แล้วแต่ฌานขั้นไหน.  “ฌาน” เป็นผลที่ประสงค์สำคัญของ “สมถะ” หรือ “จิตตภาวนา”.  ฝ่าย“วิปัสสนา” ที่ว่ามีหลักการคือ รู้เห็นตามความเป็นจริงนั้น ผลที่เกิดขึ้นของมันคือ “ญาณ” ชื่อใกล้กันมาก ระวังสับสน 

ผลที่มุ่งหมายของ วิปัสสนา คือ “ญาณ”  ผลที่ประสงค์ของ สมถะ คือ “ฌาน”  พอถึงผลสำเร็จของ วิปัสสนา เป็น “ญาณ” “ฌาน” ของสมถะนั้น แปลว่า การเพ่งพินิจ แน่วแน่อยู่ จิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้  แต่  วิปัสสนา ทำให้เกิด “ญาณ” คือ ตัวความรู้ หรือ ความหยั่งรู้ “ญาณ”จึงเป็นผลที่มุ่งหมายของวิปัสสนา

ที่พูดมาแล้วนี้ เป็นผลสำเร็จทั่วไป ต่อไปเป็นผลสำเร็จขั้นสุดท้าย

ผลสำเร็จขั้นสุดท้ายของ “สมถะ” เมื่อทำให้จิตแน่วแน่เป็นอารมณ์เดียว เกิด“ฌาน” พอได้ฌานแล้ว จะเกิดความสำเร็จขั้นสุดท้ายขึ้น คือ จิตจะปลอดพ้นหลุดไป หมายถึง หลุดพ้นไปจากสิ่งที่ไม่ดีที่ไม่ต้องการทั้งหมด จิตใจของคนเรานี้มีความขุ่นมัว มีความเศร้าหมอง มีกิเลส มีเรื่องทุกข์ร้อนต่างๆมากมาย พอเราทำสมาธิได้“ฌาน”แล้ว จิตอยู่กับสิ่งที่ต้องการได้ สงบ มันก็พ้นไปจากสิ่งที่ไม่ต้องการ สิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่เป็นทุกข์ สิ่งที่เป็นความขุ่นมัวเดือดร้อนวุ่นวาย สิ่งที่เป็นกิเลสทั้งหมด ก็เรียกว่าเป็น ความหลุดพ้น แต่ความหลุดพ้นนั้นเป็นไปได้ชั่วคราว ตลอดเวลาที่เราอยู่ในสภาพจิตนั้น เมื่อไรเราออกจากสิ่งที่กำหนด ออกจากสมาธิ จิตของเราก็เข้าสภาพเดิม เราก็มีปัญหาได้อีก เราก็มีความทุกข์ได้อีก จิตใจของเราก็มีความขุ่นมัวเศร้าหมองได้อีก อันนี้ จึงถือว่าเป็น “ความหลุดพ้นชั่วคราว” ตอนนี้จะมีความยุ่งเรื่องศัพท์นิดหน่อย ศัพท์ไม่จำเป็นต้องจำ แต่ถือว่าฟังไว้ประดับความรู้ เรียกว่า “วิกขัมภนวิมุตติ”

วิกขัมภนวิมุตติ บางทีท่านเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สมยวิมุตติ แปลว่า #หลุดพ้นชั่วสมัย, สมย หรือ สมัย แปลว่า เวลา, วิมุตติ แปลว่า ความหลุดพ้น พ้นจากกิเลสและความทุกข์ สมย ชั่วสมัย คือชั่วเวลา ได้แก่ ชั่วเวลาที่เราอยู่ในสมาธิ แต่สมัยหลังมักเรียกกันว่า “วิกขัมภนวิมุตติ” แปลว่า #หลุดพ้นด้วยกดทับไว้ เหมือนอย่างเอาหินไปทับหญ้า ทำให้หยุดงอกงามไป พอเอาหินออกแล้วหญ้าก็กลับเจริญงอกงามต่อไปอีก เหมือนกับกิเลสและความทุกข์ พอได้สมาธิ กิเลสและความทุกข์ก็สงบเงียบ เหมือนกับหายไปหมดไป แต่พอออกจากสมาธิ กิเลสและความทุกข์นั้นก็เฟื่องฟูขยายตัวขึ้นมาได้อีก นี่คือ ผลสำเร็จสุดท้ายของสมาธิ หรือของสมถะ คือ สมยวิมุตติ หลุดพ้นชั่วคราว หรือ วิกขัมภนวิมุตติ หลุดพ้นด้วยกดทับหรือข่มไว้

ส่วน“วิปัสสนา” ทำให้เกิด“ญาณ” มีความรู้แจ่มแจ้ง รู้ตามที่เป็นจริง เมื่อรู้เห็นตามที่เป็นจริงแล้ว จิตจะเป็นอิสระหลุดพ้นจากสิ่งนั้นๆเด็ดขาดไปเลย.  เมื่อเรารู้เข้าใจสิ่งใดตามความเป็นจริงแล้ว จิตของเราก็จะหลุดพ้นจากความยึดติดในสิ่งนั้น แล้วเราก็ไม่ขุ่นมัว ไม่ขัดข้องเพราะสิ่งนั้น เมื่อยังไม่รู้ว่าอะไรเราก็ขัดข้องอยู่กับสิ่งนั้น เมื่อเรารู้ เราก็หลุด เราก็พ้นได้ รู้เมื่อไรก็หลุดเมื่อนั้น.   ทีนี้ ความรู้เห็นตามเป็นจริงก็นำไปสู่ความหลุดพ้น เป็นอิสระอย่างชนิดเด็ดขาดสิ้นเชิง เรียกว่า “อสมยวิมุตติ” คือ หลุดพ้นไม่จำกัดสมัย เรียกอีกอย่างว่า “สมุจเฉทวิมุตติ” คือ หลุดพ้นโดยเด็ดขาด.  นี้เป็นการให้หลักการทั่วๆไป เป็นอันว่า “ภาวนา” มี ๒ ทวนอีกครั้งหนึ่ง คือ  :- 

อย่างที่ ๑ จิตตภาวนา หรือ สมถภาวนา หรือ สมาธิภาวนา มีหลักการคือการทำให้จิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งเดียวที่กำหนดได้ตามที่ต้องการ แล้วก็ทำให้เกิด “ฌาน” ทำให้เกิดความหลุดพ้นจากความทุกข์ ความขุ่นมัวเศร้าหมอง จากกิเลสทั้งหลายได้ชั่วคราว

อย่างที่ ๒ ปัญญาภาวนา มุ่งเอา วิปัสสนาภาวนา มีหลักการสำคัญที่เป็นสาระคือ การรู้เห็นตามความเป็นจริง หรือ ตามสภาวะของมัน แล้วทำได้เกิด “ญาณ” ความหยั่งรู้ ทำให้เกิดความหลุดพ้นจากความทุกข์ความขุ่นมัวเศร้าหมอง และกิเลสทั้งหลาย อย่างไม่จำกัดกาลเวลา อย่างเด็ดขาดสิ้นเชิงตลอดไป”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : บรรยายแก่นิสิตปริญญาโท ในภาควิชาสารัตถศึกษา แห่งบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒ เมื่อพิมพ์เป็นหนังสือตั้งชื่อเรื่องใหม่ว่า “ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง” ข้อความข้างต้นนี้อยู่ใน ตอน ๓



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: