วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

มงคลที่ ๒๑ อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย เป็นอุดมมงคล

มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย - อัปปะมาโท จะ ธัมเมสุ

๏ ไม่ประมาท คือมี สติพร้อม  คอยหน่วงน้อม ธรรมคุณ ไม่ผลุนผลัน  ธรรมอันใด ไม่ดี หลีกหนีพลัน  ธรรมดีนั้น ยึดแน่น ไม่แคลนคลอน ๛

ธรรมในที่นี้ก็คือ หลักปฏิบัติที่ทำแล้วมีผลในทางดี และเป็นจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงโปรดแนะทางไว้  คนที่ประมาทในธรรมนั้นมีลักษณะที่สรุปได้ ดังนี้ คือ  ๑. ไม่ทำเหตุดี แต่จะเอาผลดี  ๒. ทำตัวเลว แต่จะเอาผลดี  ๓. ทำย่อหย่อน แต่จะเอาผลมาก

สิ่งที่ไม่ควรประมาทได้แก่  ๑. การประมาทในเวลา คือการปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปโดยไม่ทำอะไรให้เกิดประโยชน์ หรือผลัดวันประกันพรุ่งเป็นต้น   ๒. การประมาทในวัย คือคิดว่าอายุยังน้อย ไม่ต้องทำความเพียรก็ได้เพราะยังต้องมีชีวิตอยู่อีกนานเป็นต้น   ๓. การประมาทในความไม่มีโรค คือคิดว่าตัวเองแข็งแรงไม่ตายง่ายๆ ก็ปล่อยปละละเลยเป็นต้น   ๔. การประมาทในชีวิต คือการไม่กำหนดวางแผนถึงอนาคต คิดอยู่แต่ว่ายังมีชีวิตอยู่อีกนานเป็นต้น   ๕. การประมาทในการงาน คือไม่ขยันตั้งใจทำให้สำเร็จ ปล่อยตามเรื่องตามราว หรือปล่อยให้ดินพอกหางหมูเป็นต้น   ๖. การประมาทในการศึกษา คือการไม่คิดศึกษาเล่าเรียนในวัยที่ควรเรียน หรือขาดความเอาใจใส่ที่เพียงพอ   ๗. การประมาทในการปฏิบัติธรรม คือการไม่ปฏิบัติสมาธิภาวนา หรือศึกษาหลักธรรมให้ถ่องแท้ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัวเป็นต้น 

ที่มา : http://www.dhammathai.org 

อปฺปมาโท จ ธมฺเมสุ  เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ - ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย เป็นอุดมมงคล

อัปปะมาโท จะ ธัมเมสุ นามะ กะตะโม อัปปะมาโท สะติมา โหติ กุสะลานัง ธัมมานัง อุปาทายาตีติ.  ณ บัดนี้ จักได้วิสัชนา อัปปะมาโท จัดเป็นมงคลที่ ๒๑ ตามพระบาลี อรรถกถา อัปปะมาโท จะ แปลว่า บุคคลใดไม่มีความประมาทในธรรมทั้งหลายจัดเป็นมงคลอันประเสริฐ.   ถามว่า ความไม่ประมาทนั้นได้แก่อะไร แก้ว่า ได้แก่สติที่ระลึกถึงซึ่งกุศลธรรมทั้งหลาย ที่ยังไม่บังเกิดขึ้นให้เกิดขึ้นในสันดาน จึงเรียกว่าไม่ประมาท.   อธิบายว่า บุคคลที่มีสติอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย ด้วยอิริยาบททั้ง ๔ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน ทั้ง ๔ นี้ ไม่ละเสียซึ่งสติมีความระลึกอยู่เป็นนิตยกาล เหมือนนายประตูมีความตรวจตราระวังรักษาอยู่เป็นธรรมดา เห็นใครแปลกหน้าเข้ามาแล้วก็ห้ามไว้ไต่ถามดูให้รู้การ ถ้าไต่ถามได้ความแล้วก็ให้เขาเข้าไป ถ้าเหลวไหลก็ขับไล่ให้กลับไปเสีย

อนึ่ง สติเหมือนนายคลังรักษาของหลวง ต้องตรวจตราอยู่ในกาลทั้งปวงทุกเวลา ด้วยของที่เข้ามาและจะใช้ออกไป จะหมดไปเท่าไร ยังอยู่เท่าไรก็ต้องกำหนดไว้ให้รู้ อนึ่ง สติเหมือนบุรุษที่ถือหางเสือ เรือจะตรงไปหรือเลี้ยวลดที่คดงอ หลีกหลักตอก็อาศัยแต่หางเสือ หรือจะให้เรือไปทิศใต้ทิศเหนือ อาศัยแต่หางเสือทั้งสิ้น อนึ่ง สติเป็นโสภณเจตสิกประคองจิตที่เป็นกุศลไว้ เหมือนพี่เลี้ยงแห่งทารกประคองทารกไว้มิให้ล้มไปฉะนั้น อนึ่ง สติเป็นผู้ตักเตือนซึ่งจิตให้ระลึกถึงธรรมทั้งหลาย ที่เป็นกุศลสุจริต ทางกายวาจาจิตให้ผ่องใสไกลจากกิเลส

อนึ่ง ความไม่ประมาทมีองค์ ๕ คือ ให้มีสติระลึกถึงการกุศลสุจริตทั้ง ๓ คือ กาย วาจา ใจ อยู่เนือง ๆ อย่าให้ขาด ๑ ให้มีสติระลึกถึงความละเว้นทุจริตทั้ง ๓ มีกายทุจริตเป็นต้นเนือง ๆ อย่าให้ขาด ๑ ให้มีสติระลึกถึงกองทุกข์ในอบาย และกองทุกข์คือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสารอยู่เนือง ๆ อย่าให้ขาด ๑

ให้มีสติระลึกถึงกรรมฐานภาวนาที่จะละราคะ โทสะ โมหะ ให้ปราศจากสันดานอยู่เนือง ๆ อย่าให้ขาด ๑ เมื่อรักษาพร้อมด้วยองค์ ๕ ดังกล่าวนี้ เรียกว่าความไม่ประมาท ความไม่ประมาทนี้ พระพุทธเจ้ากล่าวคำสรรเสริญและตรัสเทศนาแก่ภิกษุทั้งหลาย เืมื่อพระองค์จะเข้าสู่พระนิพพานว่า อานันตะยามิ โว ภิกขะเว ขะยะวะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตเรียกท่านทั้งหลายมาเตือนว่า ท่านทั้งหลายจงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท อันว่าสังขารธรรมทั้งหลายย่อมมีความสิ้นและความเสื่อมไป

อนึ่ง กุศลธรรมทั้งปวง ยอมประชุมลงด้วยความไม่ประมาท คือ มีสติทั้งสิ้น เปรียบเหมือนรอยเท้าแห่งสัตว์ทั้งปวง ยอมประชุมลงรอยเท้าช้างทั้งสิ้น อนึ่ง บุึคคลไม่มีความประมาทแล้ว ย่อมจะได้ซึ่งมรรคและผลยกตนให้พ้นจากตัญหา อันบุคคลใดไม่ประมาทอาจสามารถจะให้สำเร็จมรรคและผลได้ ดังเช่นนิทานเรื่องของพระจักขุบาลเถระ ฯลฯ เป็นต้น... 

ที่มา : http://larnbuddhism.com

มงคลที่ 1 , มงคลที่ 2 , มงคลที่ 3มงคลที่ 4 , มงคลที่ 5 , มงคลที่ 6 , มงคลที่ 7 มงคลที่ 8 , มงคลที่ 9 , มงคลที่ 10 , มงคลที่ 11 , มงคลที่ 12 , มงคลที่ 13 , มงคลที่ 14 , มงคลที่ 15 , มงคลที่ 16 , มงคลที่ 17 , มงคลที่ 18 มงคลที่ 19 , มงคลที่ 20 , มงคลที่ 21 , มงคลที่ 22 , มงคลที่ 23 , มงคลที่ 24 มงคลที่ 25 , มงคลที่ 26 , มงคลที่ 27 , มงคลที่ 28 , มงคลที่ 29 , มงคลที่ 30 , มงคลที่ 31 , มงคลที่ 32 , มงคลที่ 33 มงคลที่ 34 , มงคลที่ 35 , มงคลที่ 36มงคลที่ 37มงคลที่ 38 ฯ



Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: