วันเสาร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ชาวพุทธ ต้องไม่ถือมงคลตื่นข่าว ได้ยินว่ามีขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ที่โน่น ที่นี่ ก็ตื่นกันไป

ชาวพุทธ ต้องไม่ถือมงคลตื่นข่าว ได้ยินว่ามีขลัง ศักดิ์สิทธิ์ ที่โน่น ที่นี่ ก็ตื่นกันไป

..“ โยมต้องทราบว่า ชาวพุทธนั้นมีคุณสมบัติอะไรบ้าง อาตมาขอทวนว่า องค์ธรรมของอุบาสกอุบาสิกา ที่ถือกันเป็นหลักสําคัญทั่วไป มี ๕ ประการ คือ

๑. มีศรัทธามั่นในคุณพระรัตนตรัย เชื่อมีเหตุผล ไม่งมงาย   ๒. มีศีล คือ มีความประพฤติดีงาม สุจริต ตั้งอยู่ในศีล ๕ เป็นอย่างน้อย   ๓. ไม่ตื่นข่าวมงคล หวังผลจากกรรม ไม่หวังผลจากมงคล   ๔. ไม่แสวงหาทักขิไณย์ภายนอกหลักคําสอนของพระพุทธเจ้า   ๕. เอาใจใส่ส่งเสริมสนับสนุนกิจการพระพุทธศาสนา

..โยมฟังแล้วเห็นว่าข้อไหนสําคัญมากสําหรับยุคปัจจุบัน ( มีญาติโยมตอบว่า ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ) ..บอกแล้วว่าเวลานี้เป็นยุคข่าวสารข้อมูล คําว่าไม่ตื่นข่าวก็ตรงอยู่แล้ว ฉะนั้น ข้อที่ ๓ ถือว่ามีความสําคัญเป็นพิเศษในยุคนี้ ขอแปลว่า “ไม่ตื่นข่าวมงคล” ภาษาพระท่านเรียกว่า ไม่เป็นคนชนิด“โกตุหลมังคลิกะ” คือ ตื่นเต้นตื่นตูมไปตามข่าวมงคล ได้ยินว่ามีขลังที่โน่น มีศักดิ์สิทธิ์ที่นี่ มีฤทธิ์ที่นั่น พระดังที่โน้น ก็ตื่นกันไป ไปโน่น ไปนี่ จนกระทั่งว่าไม่เป็นอันได้ทํากิจหน้าที่การงาน ไม่เป็นอันได้ฝึกฝนพัฒนาตน ไม่เป็นอันได้ปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีหลัก ถ้าเป็นคนตื่นข่าวมงคลก็ไม่มีหลัก

..ถ้าเป็นชาวพุทธผู้อยู่ในหลักที่ถูกต้อง ก็จะหวังผลจากกรรม เชื่อกรรม คือหวังผลจากการกระทําด้วยความเพียรพยายามของ ตน โดยใช้สติปัญญาพิจารณาจัดทําตามเหตุตามผล อันนี้จะเป็นทางให้เราพัฒนาตัวเองได้ ถ้ามัวแต่ตื่นข่าวมงคลอยู่ก็เสียเวล่ำเวลา แล้วก็ไม่ได้ทําอะไรให้เป็นประโยชน์ สิ่งที่ควรจะทําก็ไม่ได้ทํา แล้วก็เลยไม่ได้พัฒนาตัวเองด้วย เพราะมัวไปมุ่งหวังพึ่งปัจจัย ภายนอกเสีย 

เราต้องมาหวังผลจากการกระทํา ชาวพุทธเชื่อกรรม หลักกรรมนี้เป็นเรื่องที่สําคัญมาก ถ้าเราจะเชื่ออะไรที่เป็นพิเศษออกไป จะยอมให้สิ่งนั้นมาขัดขวางหลักกรรมไม่ได้ มีแต่ว่าจะต้องให้มาสนับสนุนหลักกรรม สนับสนุนอย่างไร ก็คือ จะต้องมาทําให้เรามีความมั่นคงมีกําลังใจเข้มแข็งในการกระทําสิ่งที่ควรจะทํา ทําหน้าที่ หรือทําความดีนั้นให้หนักแน่นยิ่งขึ้น มิฉะนั้นแล้วก็จะกลายเป็นคนนั่งนอนรอคอยโชค หวังผลจากการดลบันดาล

ถ้ามัวหวังผลจากการดลบันดาล นั่งนอนรอคอยโชค ก็เป็นอันว่าผิดจากหลักกรรม อันนี้เป็นเรื่องสําคัญจะต้องตรวจสอบตัวเองและยึดหลักนี้ไว้ให้มั่น”

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ที่มา : ธรรมกถา “คำถามสำหรับชาวพุทธ” แสดงในงานเสริมธรรมเสริมปัญญา ณ วัดสวนแก้ว เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๗ จากหนังสือ “ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง”

พุทธพจน์  “ดูกรพราหมณ์ ท่านจงอาบตนในหลักธรรมนี้เถิด จงสร้างความเกษมแก่สัตว์ทั้งปวงเถิด ถ้าท่านไม่กล่าวเท็จ ไม่เบียดเบียนสัตว์ ไม่ทําอทินนาทาน เป็นผู้มีศรัทธา หาความตระหนี่มิได้ไซร้ ท่านจะต้องไปท่าน้ำคยา(เพื่อล้างบาป)ทําไม แม้น้ำดื่มของท่านก็เป็นแม่น้ำคยาแล้ว” [ ม. มู. ๑๒/๙๘/๗๐]

“ถ้าแม้นบุคคลจะพ้นจากบาปกรรมได้ เพราะการอาบน้ำ(ชําระบาป) กบ เต่า นาค จระเข้ และสัตว์เหล่าอื่น ที่เที่ยวไปในแม่น้ำ ก็จะพากันไปสู่สวรรค์ แน่นอน...ถ้าแม่น้ำเหล่านี้พึงนําบาปที่ท่านทําไว้แล้วในกาลก่อนไปได้ไซร้ แม่น้ำเหล่านี้ก็พึงนําบุญของท่านไปได้ด้วย” [ ขุ. เถรี. ๒๖/๔๖๖/๔๗๓ ]

“ความสะอาดจะมีเพราะน้ำ(ศักดิ์สิทธิ์) ที่คนจํานวนมากพากันไปอาบก็หาไม่ ผู้ใดมีสัจจะ มีธรรม ผู้นั้นจึงจะเป็นผู้สะอาด เป็นพราหมณ์” [ ขุ. อุ. ๒๕/๔๖/๘๑ ]

“ผู้ใดไม่ถือมงคลตื่นข่าว ไม่ถืออุกกาบาต ไม่ถือความฝัน ไม่ถือลักษณะดี หรือชั่ว ผู้นั้นชื่อว่าล่วงพ้นโทษแห่งการถือมงคลตื่นข่าว ข้ามพ้นกิเลสเทียมแอกที่ผูกสัตว์ไว้ในภพไปเสียได้ ย่อมไม่กลับมาเกิดอีก” [ ขุ. ชา. ๒๗/๘๗/๒๘ ]

ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ รวบรวม


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: