วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ยึดมั่นสิ่งใด ก็หนักอกหนักใจเพราะสิ่งนั้น

ยึดมั่นสิ่งใด ก็หนักอกหนักใจเพราะสิ่งนั้น

“คำว่า “ทุกข์ เพราะยึดมั่น” เข้าใจง่ายกว่า

การพูดว่า... ทุกข์เพราะยึดมั่นนั้นถูกกว่า เข้าใจได้ง่ายกว่า กว่าที่จะพูดว่า “ทุกข์เพราะตัณหา” เพราะยึดมั่นสิ่งใดก็หนักอกหนักใจเพราะสิ่งนั้น และตาม“กฏปฏิจจสมุปบาท” ก็กล่าวว่า ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิด ภพ-ชาติ-ทุกข์ นั่นคือ ตัณหาต้องปรุงเป็นอุปาทานเสียก่อน คือ ยึดมั่นถือมั่นเสียก่อน จึงจะเกิดความหนัก และเป็นทุกข์ได้ ในบทว่า “ภารา หะเว ปัญจักขันธา ภาราทานัง ทุกขังโลเก” ดังนี้.” -พุทธทาสภิกขุ

..“สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ประโยคนี้เป็นภาษาบาลีก็มีว่า “สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย” ตามตัวพยัญชนะก็แปลว่า “ธรรมทั้งหลายทั้งปวงอันใครๆไม่ควรเพื่อเข้าไปยึดมั่นถือมั่น” หรือตามพยัญชนะจริงๆก็ว่า “ไม่ควรเพื่อจะฝังตัวเข้าไป” โดยอาศัยคำว่า “อภินิเวส” เป็นหลัก ซึ่งแปลว่า เข้าไปอย่างยิ่ง อย่างที่เราเรียกกันในภาษาไทยธรรมดาว่า ฝังจิตฝังใจ ฝังเนื้อเข้าไปในสิ่งนั้นๆจนหมดสิ้น นั่นแหละคืออาการที่เรียกว่า ความยึดมั่น คือมีจิตฝังเข้าไปยึดมั่นถือมั่น หรือว่ายึดมั่นด้วยการฝังจิตเข้าไป ด้วยความสำคัญมั่นหมายว่า “นี้ตัวเรา นี้ของเรา” ซึ่งกล่าวอย่างง่ายๆก็ได้แก่ ความรู้สึกว่า “ตัวกู-ของกู” ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั่นเอง

..คำกล่าวประโยคนี้ ควรจะถือว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา เพราะมีเรื่องราวกล่าวอยู่ในบาลีว่า เมื่อมีผู้มาทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงประมวลคำสอนทั้งสิ้นให้เหลือเพียงประโยคสั้นๆเพียงประโยคเดียว พระองค์ก็ทรงทำดังนี้ และได้ตรัสประโยคที่ว่า “สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย” และทรงยืนยันว่า ถ้าได้ฟังคำนี้ก็คือได้ฟังทั้งหมด ถ้าได้ปฏิบัติในข้อนี้ ก็คือได้ปฏิบัติทั้งหมด ถ้าได้รับผลจากการปฏิบัติข้อนี้ ก็คือได้รับผลจากการปฏิบัติทั้งหมด ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้ ดังนั้น จึงกล่าวว่า เป็นหัวใจของพุทธศาสนา.” - พุทธทาสภิกขุ

ที่มา : ธรรมบรรยายเรื่อง "สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น" เมื่อ วันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๐๔

สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย - ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น (สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น)

..“ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทของมิคารมาตา ณ บุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี ท้าวสักกะจอมเทพได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า  “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นแล้วด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “จอมเทพ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า “ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น” ถ้าข้อนั้นภิกษุได้สดับแล้วอย่างนี้ว่า “ธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น” ภิกษุนั้นย่อมรู้ยิ่งธรรมทั้งปวง ครั้นรู้ยิ่งธรรมทั้งปวงแล้ว...( แล้วทรงตรัสถึงผลหรืออานิสงส์ของข้อปฏิบัตินี้เป็นลำดับๆไป )

..จอมเทพ กล่าวโดยย่อ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ ภิกษุจึงชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นแล้วด้วยธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จสูงสุด มีความเกษมจากโยคะสูงสุด ประพฤติพรหมจรรย์ถึงที่สุด มีที่สุดอันสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”

จูฬตัณหาสังขยสูตร พระไตรปิฎกภาษาไทย (มจร.) ม. มู. ๑๒/๓๙๐/๔๒๐,   ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ - รวบรวม


Previous Post
Next Post

post written by:

0 comments: